บ้านใหม่ปางค่า เป็นหมู่บ้านใหญ่ของกลุ่มชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยนหรือกลุ่มชาติพันธุ์เมี่ยน จึงมีทั้งเรื่องความเชื่อ เช่น ภาพผีใหญ่ หิ้งบูชาของบรรพชน ตลอดจนมีเอกสารเรื่องราวความเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์
สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า "ปาง" หรือ "ป๋าง" ซึ่งหมายถึง ที่พักในลักษณะชั่วคราว ไม่ถาวร
บ้านใหม่ปางค่า เป็นหมู่บ้านใหญ่ของกลุ่มชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยนหรือกลุ่มชาติพันธุ์เมี่ยน จึงมีทั้งเรื่องความเชื่อ เช่น ภาพผีใหญ่ หิ้งบูชาของบรรพชน ตลอดจนมีเอกสารเรื่องราวความเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์
กลุ่มชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยน บ้านใหม่ปางค่า ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพมาจากประเทศจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานมาอยู่ในประเทศไทยประมาณเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา มีหลักฐานที่พบการอพยพมาในประเทศไทย ซึ่งหลักฐานนั้นเป็นหนังสือเดินทางข้ามภูเขาหรือที่คนส่วนใหญ่เรียกว่า “เกียเซ็นป๊อง” เป็นเอกสารการเดินทางหรือพระราชสาส์นที่ยาวที่สุดในโลกออกโดย “ผิงหวางฮ่องเต้” ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ที่ 13 ของราชวงศ์โจวตะวันออก ถือว่าเป็นเอกสารสำคัญที่พิสูจน์เอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเป็นทางการ อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์อันดีกับเจ้าผู้ครองนครน่าน จากนั้นเจ้าผู้ครองนครน่านก็ได้แต่งตั้งให้นายจั่นควร แซ่เติ๋น หรือพญาอินต๊ะคีรี ศรีสมบัติ ทำหน้าที่ปกครองชาวเมี่ยนและกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูงอื่น ๆ ในพื้นที่บริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดน่านกับจังหวัดพะเยาในปัจจุบัน (ประสิทธิ ลีปรีชา, ยรรยง ตระการธำรง, และวิสุทธิ์ เหล็กสมบูรณ์, 2547)
สำหรับพื้นที่บ้านใหม่ปางค่า ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา ปัจจุบันเป็นพื้นที่ตั้งของกลุ่มชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยนที่อาศัยอยู่กันมาอย่างยาวนานซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาโดยการนำของพญาอินต๊ะคีรี ศรีสมบัติ ซึ่งชื่อนี้ได้รับการแต่งตั้งโดยเจ้าผู้ครองนครน่าน โดยเข้ามาทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศลาว แขวงอุดมชัย หลวงน้ำทา และชาวเมี่ยนมีวัฒนธรรม ความเชื่อตามแบบกลุ่มชาติพันธุ์เมี่ยนที่นับถือเทวดาซึ่งเชื่อว่าทุกหนทุกแห่งมีเทวดาสิงสถิตอยู่ เช่น ภูเขา ต้นไม้ บ้าน ป่า บนสวรรค์หรือท้องฟ้า วิญญาณบรรพบุรุษ และมีการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ ตลอดช่วงชีวิตตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ และตายด้วยพิธีกรรมต่าง ๆ
สภาพพื้นที่กายภาพ
บ้านปางค่ามีลักษณะพื้นที่เป็นเนินเขาสลับกับภูเขาสูง มีที่ราบระหว่างภูเขาเล็กน้อย โดยทั่วไปเป็นป่าไม้และเทือกเขาสูงชัน วางตัวอยู่ในแนวตะวันออก-ตะวันตก ครอบคลุมพื้นที่กว่า 3,500 ไร่ สูงจากระดับน้ำทะเล 400-1,200 เมตร มีภูเขาประมาณร้อยละ 90 ของพื้นที่
ตำบลผาช้างน้อย ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอปง ห่างจากที่ว่าการอำเภอปง ประมาณ 37 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 1092 มีพื้นที่ประมาณ 215,312.50 ไร่ หรือประมาณ 344.5 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตพื้นที่ติดต่อกับตำบลใกล้เคียง ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลแม่ลาว อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลขุนควร อำเภอปง จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลยอด อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลงิม อำเภอปง จังหวัดพะเยา
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพอากาศทั่วไปของหมู่บ้านในเขตพื้นที่ตำบลผาช้างน้อยมีความคล้ายคลึงภูมิภาคเหนือตอนบนโดยทั่วไป จำแนกได้ดังนี้
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคม รวมระยะ 5 เดือน โดยในเดือนพฤษภาคม ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะพัดเข้ามา ฝนก็จะตกมาก ต่อมาในเดือนมิถุนายน ฝนจะลดปริมาณการตกลงอย่างชัดเจน
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์ รวมระยะเวลา 4 เดือน มีสภาพภูมิอากาศค่อนข้างหนาวเย็นมากเพราะสภาพพื้นที่ของตำบลกว่าร้อยละ 95 ตั้งอยู่พื้นที่เขตภูเขา
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนกลางเดือนพฤษภาคม รวมระยะเวลา 3 เดือน มีสภาพภูมิอากาศค่อนข้างร้อนถึงร้อนมาก
ลักษณะของดิน
ลักษณะดินของหมู่บ้านในเขตของตำบลผาช้างน้อยส่วนใหญ่เป็นดินภูเขา เป็นดินตื้นที่เกิดจากสลายตัวของหินภูเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เนื่องจากมีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา
ทรัพยากรทางธรรมชาติ
วนอุทยานภูลังกา เป็นเทือกเขาสลับซ้อนกันอยู่ในเทือกเขาสันปันน้ำ มีความสูง 900-1,720 เมตร และบริเวณยอดดอยภูลังกาที่สูงกว่า 1,720 เมตร เป็นสันเขาและหน้าผาสูง ซึ่งสามารถมองเห็นทะเลหมอกได้สวยงามในช่วงฤดูหนาว นอกจากนี้บริเวณดอยด้านบนยังมีน้ำตกภูลังกาเป็นน้ำตกขนาดเล็ก แต่มีความสวยงามอย่างมากในช่วงฤดูฝน โดยก่อนจะถึงยอดดอยนั้นจะมีทางแยกออกไปยังลานหินล้านปี และเป็นที่ตั้งของน้ำตก ซึ่งห่างออไปประมาณ 100 เมตร
ข้อมูลสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร จากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง เมื่อเดือนมกราคม 2566 พบว่า หมู่ที่ 1 บ้านปางค่า ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา มีประชากรรวมทั้งสิ้น 567 คน เป็นเพศชาย 281 คน และเพศหญิง 286 คน ประชากรกลุ่มหลักในหมู่บ้าน เป็นชาวกลุ่มชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยน โดยกลุ่มชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยนหรือเมี่ยน ส่วนใหญ่จะนับถือเทพยดา วิญญาณบรรพบุรุษ และวิญญาณทั่วไป ทุกบ้านจะมีหิ้งบูชาเป็นที่สิงสถิตของวิญญาณบรรพบุรุษและมีความเชื่อในเรื่องที่อยู่เหนือธรรมชาติ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตลอดจนการนับวันเดือนปี สิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน โชคลางและการทำนายพิธีกรรมที่สำคัญ
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ม้งที่อาศัยอยู่หมู่บ้านเดียวกันแต่แบ่งเขตกันระหว่างบ้านปางค่าเหนือกับบ้านปางค่าใต้ ซึ่งยังคงมีการนับถือวิญญาณบรรพบุรุษสิ่งศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่อยู่บนฟ้า ในลำน้ำ ประจำต้นไม้ภูเขา ไร่นา ฯลฯ ชาวม้งจะต้องเซ่นสังเวยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เหล่านี้ปีละครั้ง อีกทั้งยังมีคนไทยที่เข้ามาอยู่อาศัยในชุมชน ในลักษณะการผ่านการแต่งงานกับชาวเมี่ยนในชุมชนแล้วจึงย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในชุมชน
ตระกูลดั้งเดิมของชุมชน ได้แก่ ตระกูลศรีสมบัติ (แซ่เติ๋น) แซ่พ่าน แซ่ฟุ้ง เป็นต้น
ม้ง, อิ้วเมี่ยนการประกอบอาชีพ
อาชีพหลัก: เป็นงานเกี่ยวกับงานหัตถกรรม เช่น การทำเครื่องเงิน การตัดเย็บและปักผ้าลวดลายเฉพาะของกลุ่มชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยน
อาชีพเสริม: ได้แก่ การทำการเกษตร ทำไร่ ปลูกผลไม้ และสมุนไพรต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนภายในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจําเป็นในชีวิตประจําวัน เช่น อาหาร เครื่องปรุง เนื้อสัตว์ ผักสด ผ่านร้านขายของชําในชุมชน และตลาดเล็ก ๆ ในหมู่บ้าน สำหรับการซื้อขายแลกเปลี่ยนกับคนภายนอก ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าหัตถกรรม เช่น เครื่องแต่งกายลายเมี่ยน และเครื่องเงิน ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีทั้งคนนอกหมู่บ้านและในหมู่บ้านเข้ามาซื้อ อีกทั้งยังนำสินค้าส่งออกขายไปยังประเทศต่าง ๆ อาทิ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เป็นต้น
การรวมกลุ่มทางสังคม
เมื่อในหมู่บ้านมีวันสำคัญ หรือจัดพิธีกรรมต่าง ๆ คนในหมู่บ้านมักจะมารวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน เพราะชาวเมี่ยนให้ความสำคัญกับการประกอบพิธีกรรมอย่างมาก
การดําเนินชีวิตของชาวเมี่ยนในรอบปีจะผูกติดอยู่กับประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ อย่างแนบแน่น โดยจำแนกประเภทพิธีกรรมเป็นระดับ คือ พิธีกรรมระดับบุคคล เป็นพิธีกรรมระดับครัวเรือนที่เกี่ยวข้องกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้แก่ พิธีแจ้งชื่อเข้าสู่ระบบความเชื่อประจําตระกูล พิธีสะเดาะเคราะห์หรือพิธีสบชะตาให้แก่ผู้ที่เจ็บป่วย พิธีบนบานเพื่อขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง เป็นต้น พิธีกรรมระดับตระกูล ซึ่งจะจัดขึ้นจากกลุ่มเครือญาติที่มีแซ่สกุลและนับถือบรรพบุรุษเดียวกัน พิธีกรรมในระดับนี้มักใช้เวลาหลายวัน มีวัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะกระดาษประกอบพิธีกรรม สัตว์เลี้ยงที่ใช้เป็นเครื่องเซ่นไหว้ และต้องมีผู้ประกอบพิธีกรรมหลายคนเป็นผู้นำพิธี ได้แก่ พิธีบวชกว๋าตัง ที่เป็นพิธีเกี่ยวกับการเลื่อนสถานภาพทางสังคมให้ผู้ชายเมี่ยน พิธีบวชโต่วไซ ซึ่งเป็นพิธีบวชขั้นสูงสุด และพิธีเซียวแปง ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่ทำบุญให้กับเทพทหารประจำตระกูล ส่วนพิธีกรรมระดับชุมชน เป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความสงบสุขของหมู่บ้าน โดยพิธีกรรมที่สำคัญที่สุด ได้แก่ พิธีเลี้ยงผีท้องถิ่น หรือพิธีซิบตะปูงเมี้ยน เพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้องคุ้มครองชุนชน ดังนั้นซิบเมี้ยนเมี่ยนจึงเป็นผู้ที่มีบทบาทต่อการดำรงชีวิตของชาวเมี่ยน เพราะชาวเมี่ยนใช้การประกอบพิธีกรรมเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการติดต่อสื่อสารกับวิญญาณบรรพบุรุษ เทพศักดิ์สิทธิ์ สิ่งเหนือธรรมชาติต่าง ๆ (รฐษร ศรีสมบัติ, 2561)
ประเพณีและพิธีกรรมที่สำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยน
- ประเพณีปีใหม่ (เจี๋ยเซี่ยงเฮียง)
- ประเพณีสาร์ทจีน (เข้าพรรษา/เจี๋ยเจียนเฝย)
- ประเพณีการแต่งงาน (ตองจา)
- ประเพณีบวช (กว๋าตังและโต๋วไซ)
- ประเพณีงานฌาปนกิจศพ (เมี่ยนไต่โจซ๋วซิน)
- ประเพณีงานขึ้นบ้านใหม่ (เฟี่ยะเซี่ยวงเป้าว)
- ประเพณีดื่มน้ำสาบาน (โฮ๊ปอวมจ๋วย)
- ประเพณีอาบไฟ ลุยไฟ (เซียวแหง)
ประเพณีและพิธีกรรมที่สำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง
- ประเพณีแต่งงาน
- ประเพณีขึ้นปีใหม่หรือประเพณีฉลองปีใหม่
- ประเพณีกินข้าวใหม่ของม้ง
- ความเชื่อเรื่องการทำผี หรือการลงผี (การอั๊วเน้ง)
- ความเชื่อเรื่องการรักษาคนตกใจ (การไซ่เจง)
- ความเชื่อเรื่องการรักษาด้วยการเป่าด้วยน้ำ (การเช้อแด้ะ)
- ความเชื่อเรื่องการปัดกวาดสิ่งที่ไม่ดีออกไป (การหรือซู้)
- ความเชื่อเรื่องหมูประตูผี (อัวะบั๊วจ๋อง)
1. นายแคะเว่น ศรีสมบัติ อายุ 67 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านปางค่า ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา นายแคะเว่น ศรีสมบัติ เป็นปราชญ์กลุ่มชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยน อดีตเคยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านใหม่ปางค่า ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเครือข่ายอิ้วเมี่ยนแห่งประเทศไทย อีกทั้งเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับองค์ความรู้ต่าง ๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยน
ภูมิปัญญาชุมชน
1. ผ้าทอลายเมี่ยน เป็นงานหัตถกรรมที่มีลวดลายมาจากแนวคิดของปรัชญาลัทธิเต๋าที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับวิถีชีวิต วัฒนธรรมของชุมชน รวมถึงประวัติศาสตร์ของเผ่าพันธุ์และความสำนึกที่มีอยู่เสมอว่าตนเอง สืบเชื้อสายมาจากพระจักรพรรดิของจีน ที่เคยได้รับสิทธิพิเศษในการตั้งหลักแหล่งที่ไหนก็ได้ในประเทศจีนโดยไม่ต้องเสียภาษี เห็นได้จากลายปักชื่อเทพสุนัขมังกร ลายองครักษ์ ลายเครื่องประดับยศ เป็นต้น ซึ่งลายเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับจักรพรรดิและตำนาน ซึ่งถือว่าเป็นลายที่สำคัญและเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเมี่ยน ผ้าเมี่ยนทุกผืนจะต้องมีลายปักทั้ง 3 ลายที่กล่าวมานี้ ไม่ว่าจะเป็นเมี่ยนในพื้นที่ใด นอกจากเอกลักษณ์ของผ้าเมี่ยนจะมาจากคติความเชื่อและความภาคภูมิใจในเผ่าพันธุ์ของตนเองแล้ว สตรีเมี่ยนผู้ที่ปักผ้ายังได้ใส่จิตวิญญาณและศิลปะที่ตนเองสร้างสรรค์ลงไปในขณะที่ปักด้วย กล่าวคือ การปักผ้าเมี่ยนนั้นมีแบบแผนที่ชัดเจน ค่อนข้างตายตัวซึ่งมีองค์ประกอบของลายปัก คือ ลายที่แสดงถึงความเป็นเผ่าพันธุ์เมี่ยน ลายที่แสดงถึงความเชื่อและวิถีชีวิต และลายที่ออกมาจากการสร้างสรรค์ของผู้ปัก
2. เครื่องเงิน เครื่องเงินมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวเมี่ยน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้า การนำมาทำเป็นเครื่องประดับ รวมทั้งใช้เป็นสินสอดและสิ่งของในการสู่ขอหญิงสาวมาเป็นคู่ชีวิตเพื่อสร้างครอบครัว โดยฝ่ายชายจะต้องมีเครื่องเงินสำหรับใช้สู่ขอหรือเป็นเครื่องหมั้นหมายหญิงสาวที่ชายหนุ่มหมายปองไว้
ภาษาเมี่ยน เป็นภาษาหลักที่ใช้ในการสื่อสารกับคนในหมู่บ้าน ซึ่งอักษรภาษาเมี่ยนมีการยืมอักษรจีนมาใช้ในการเขียน และในชุมชนยังมีการสอนภาษาจีนให้กับเยาวชนอีกด้วย
ผู้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ มีจำนวนน้อยลง เนื่องจากต้องเข้ารับการบวชกว๋าตัง และบวชโต่วไซ ถือศีล กินเจ อีกทั้งอ่านเขียนภาษาจีนได้น้อยลง เพราะการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ต้องมีตำราหรือคัมภีร์ไว้อ่านอยู่เสมอ และต้องอ่านออกเสียงเป็นภาษาเมี่ยนที่เป็นภาษาระดับสูงขึ้นไป
กลุ่มชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยนมีความเข้าใจในเรื่องธรรมชาติ เพราะจะต้องอยู่กับป่า และในหมู่บ้านทุกบ้านจะต้องมีป่าอยู่ด้วย จะไม่ถางหญ้าจนเกลี้ยง มีการปลูกผลไม้ ต้นไม้ไว้บริเวณใกล้บ้าน แบ่งพื้นที่ทำกินไว้เป็นสัดส่วน อีกทั้งยังมีการปลูกป่าเพิ่ม
กำแพงเพชรศึกษา. (2565). ผ้าปักชาวเมี่ยน. จาก: https://acc.kpru.ac.th/
เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง. (2565). เครื่องเงิน : หัตถศิลป์และอัตลักษณ์ของชาวเมี่ยน. จาก: https://imnvoices.com/?p=3260
แคะเว่น ศรีสมบัติ. (4 กุมภาพันธ์ 2566). สัมภาษณ์
ที่นี่เมืองปง อำเภอปง จังหวัดพะเยา. (2561). สืบค้นเมื่.อ 6 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://web.facebook.com/pong1091/
ประสิทธิ ลีปรีชา, ยรรยง ตระการธำรง, และวิสุทธิ์ เหล็กสมบูรณ์. (2547). เมี่ยน : หลากหลายชีวิต จากขุนเขาสู่เมือง. เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
รฐษร ศรีสมบัติ. (2561). บทบาทของหมอผีหญิงชาวเมี่ยนในสังคมอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่. วารสารสังคมศาสตร์, 30(1), 31-63.