ชุมชนที่มีวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ภาษาเป็นของตนเอง และหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ ป้องกันไม่ให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย
ชุมชนที่มีวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ภาษาเป็นของตนเอง และหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ ป้องกันไม่ให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย
ประวัติศาสตร์ชุมชน
ชุมชนแม่ลิด เดิมนั้นมีเพียงหมู่บ้านเดียวชื่อบ้าน เซ กอ เด แปลเป็นภาษาไทย หมายถึง บ้านกิ่วไม้ก่อ ตั้งอยู่ระหว่างบ้านแม่ลิดน้อยกับบ้านสะลีในปัจจุบัน ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านคนแรกไม่มีปรากฏ ก่อตั้งมาแล้วประมาณ 400 กว่าปี เมื่อหมู่บ้านก่อตั้งได้ระยะเวลาหนึ่งมีจำนวนครัวเรือนเพิ่มขึ้น ต้องขยายพื้นที่ทำกินห่างไกลออกไปจากหมู่บ้านเพราะวิถีชีวิตชนเผ่าปกาเกอะญอ มีอาชีพทำไร่หมุนเวียน ใช้แรงงานครอบครัวขนส่งผลผลิต ถ้าที่ทำกินห่างไกลจากหมู่บ้านการขนส่งจะลำบาก ฉะนั้นที่ทำกินต้องอยู่ใกล้กับหมู่บ้าน ในช่วงเวลานั้นมีประมาณ 3 ครอบครัวย้ายไปตั้งหมู่บ้านใหม่ทางทิศตะวันออก ห่างจากหมู่บ้าน 5 กิโลเมตร ตั้งชื่อหมู่บ้านว่าบ้านแม่ลิดหลวง ผู้ก่อตั้งชื่อนายหม่อก่อแด เป็นผู้นำทั้งการปกครองและผู้นำทางพิธีกรรม
ต่อมามีประชากรเพิ่มมากขึ้นหลังจากหมู่บ้านก่อตั้งมาแล้ว 3 ช่วงอายุคน บ้านแม่ลิดหลวงจึงกลายเป็นหมู่บ้านใหญ่ที่มีหลายครัวเรือนในหมู่บ้าน เมื่อผู้นำคนแรกพ้นสภาพไปมีการสืบเชื้อสายคนต่อมาคือนายซิเสาะ คนต่อมาคือนายวิมู มีบุตรธิดาทั้งหมด 16 คน และได้มีครอบครัวทำให้ประชากรในหมู่บ้านเพิ่มขึ้น จึงมีประมาณ 5 ครอบครัวย้ายออกจากหมู่บ้านไปตั้งหมู่บ้านใหม่ชื่อบ้านป่าเห้ว ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านคือพ่อของนายมอพอ เมื่อประมาณ 300 กว่าปีที่แล้ว ห่างจากบ้านแม่ลิดหลวง 2 กิโลเมตร สาเหตุการตั้งหมู่บ้านคือต้องการอยู่ใกล้กับที่ทำมาหากิน
ต่อมาเมื่อหมู่บ้านก่อตั้งได้สักระยะเวลาหนึ่งหมู่บ้านก็เติบโตขึ้นต้องไปทำมาหากินห่างไกลออกไปอีก และในช่วงเวลานั้นนายแฮได้ก่อตั้งหมู่บ้านใหม่ชื่อบ้านขนุน ต่อมามีนายวอพอที่อยู่บ้านป่าเห้วย้ายมาสมทบและผู้ที่อยู่บ้านป่าเห้วจำนวนหนึ่งก็ย้ายไปตั้งหมู่บ้านใหม่ชื่อบ้านห้วยนา เมื่อประมาณ 150 ปีที่ผ่านมา ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านไม่ปรากฏชื่อ
ต่อมานายต๊ะทูก็พาครอบครัวจากบ้านแม่ลิดหลวงมาอยู่ที่บ้านห้วยนาและทำหน้าที่เป็นผู้นำปกครองหมู่บ้านและผู้นำทางพิธีกรรม หลังจากนั้นไม่นานมีประมาณ 3 ครอบครัว ชักชวนกันไปตั้งหมู่บ้านใหม่ชื่อบ้านสุดห้วยนาห่างออกไป 2 กิโลเมตร ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านคือนายพาเงาะ เมื่อประมาณ 120 ปีที่ผ่านมา ถัดมา 3 ปีมีครอบครัวหนึ่งย้ายไปที่ปางช้างห่างออกไป 1 กิโลเมตรครึ่ง ผู้นำครอบครัวชื่อนายสุบือ และในช่วงเวลาที่บ้านป่าเห้วแยกจากบ้านแม่ลิดหลวงผู้คนที่อาศัยอยู่ที่บ้าน เซ กอ เด มีจำนวนครัวเรือนเพิ่มขึ้น ชาวบ้านจึงชวนกันไปตั้งหมู่บ้านใหม่ชื่อบ้านลิดน้อย ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านชื่อนายชิบือ ทำหน้าที่ผู้นำปกครองและผู้นำพิธีกรรม หลังจากนั้นผู้คนที่อาศัยอยู่ที่บ้าน เซ กอ เด ได้ย้ายออกไปทั้งหมดตั้งหมู่บ้านใหม่ชื่อบ้านสะลี ห่างออกไป 1 กิโลเมตร เหตุเพราะทำผิดจารีตประเพณี หลังจากที่บ้านแม่ลิดน้อยก่อตั้งได้สักระยะก็มีประชากรเพิ่มขึ้น นายเปบือและครอบครัวพร้อมกับเพื่อนบ้านสองครอบครัวได้ย้ายไปตั้งหมู่บ้านชื่อบ้านแม่ลิดป่าแก่ เมื่อประมาณ 90 ปีที่ผ่านมา ทำให้ชุมชนแม่ลิดมีทั้งหมดเก้าหย่อมบ้านเป็นหมู่บ้านหลักสองหมู่บ้าน ดังนี้
- หมู่ที่ 1 บ้านแม่ลิดน้อย หย่อมบ้านบริวารได้แก่ บ้านสะลี บ้านแม่ลิดป่าแก่ บ้านขนุน และบ้านปางช้าง
- หมู่ที่ 2 บ้านแม่ลิดหลวง หย่อมบ้านบริวารได้แก่ บ้านป่าเห้ว บ้านห้วยนา และบ้านสุดห้วยนา
ประวัติศาสตร์สาธารณสุข
หลังจากที่มีการแยกหมู่บ้านแม่ลิดป่าแกได้ประมาณ 20 ปี ก็เกิดโรคระบาดคือไข้ทรพิษ ทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ชุมชนแม่ลิดทั้ง 9 หย่อมบ้านล้มป่วยและตายไปจำนวนมาก เพราะตอนนั้นยังไม่มีโรงพยาบาลและยารักษา จึงมีคนในชุมชนออกไปหาวิธีการรักษาและได้วิธีการรักษา โดยการนำเอาน้ำเหลืองผู้ที่เป็นไข้ไปฉีดเข้าคนที่ยังไม่ได้เป็น เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกัน ต่อมาโรคดังกล่าวก็หายไป ซึ่งโรคนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ทหารญี่ปุ่นเดินผ่านมาหมู่บ้านในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ประชากร
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากร
ชุมชนบ้านแม่ลิดป่าแก่ จำนวน 321 หลัง ประชากรรวมทั้งหมด 890 คน แบ่งเป็นประชากรชายได้ 456 คน แบ่งเป็นประชากรหญิงได้ 434 คน จำนวนครัวเรือนและประชากร
ชุมชนบ้านแม่ลิดหลวง จำนวน 274 หลัง ประชากรรวมทั้งหมด 696 คน แบ่งเป็นประชากรชายได้ 345 คน แบ่งเป็นประชากรหญิงได้ 351 คน (สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, 2565)
ปกาเกอะญอกลุ่มอาชีพ
การดำรงชีวิตของคนในชุมชนนั้นประกอบอาชีพเกษตรแบบผสมผสาน คือ ปลูกข้าวเป็นหลักเพื่อบริโภคในครัวเรือน เลี้ยงหมูเลี้ยงไก่เพื่อใช้ประกอบพิธีและบริโภค เลี้ยงโคกระบือเพื่อใช้แรงงานและขาย ซึ่งได้ปฏิบัติกันมายาวนาน เป็นการดำรงชีพที่สามารถเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพราะใช้แรงงานคนและสัตว์ในการผลิต แต่เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2520 มีการใช้รถไถนาในการทำนาและปลูกพืชเศรษฐกิจคือกะหล่ำปลี ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญกับชุมชนอย่างมาก นับว่าเป็นอาชีพรองลงมาจากการปลูกข้าวเพราะถือเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้และสร้างหนี้สินให้กับคนในชุมชน สาเหตุที่เป็นหนี้ของคนในชุมชนคือมีกองทุนหมู่บ้านเข้ามาเช่น กองทุนแก้ไขปัญหาความยากจน (กขคจ.) ในปี พ.ศ. 2539 เงินให้กู้จากธนาคารสหกรณ์เพื่อการเกษตรหรือ ธ.ก.ส. และกองทุนหมู่บ้านละล้าน บางครอบครัวก็อาชีพเสริมด้วยการค้าขายมีบางคนที่รับราชการและบางส่วนออกไปรับจ้างในเมืองจนถึงปัจจุบัน
วิถีชีวิต
แต่เดิมนั้นชุมชนแม่ลิดมีวิถีชีวิตอยู่แบบพอเพียงทำเกษตรไร่หมุนเวียนอาศัยทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีวิต พึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยการบูชาเจ้าป่าเจ้าเขาและวิญญาณบรรพบุรุษ เมื่อปีพุทธศักราช 2529 คนในชุมชน 4 ครอบครัวได้มานับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ต่อมาไม่นานก็มีศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์เข้ามาเผยแพร่โดยการมาฉายภาพยนตร์เกี่ยวกับประวัติของศาสนา หลังจากนั้นมีศาสนาพุทธเข้ามาโดยมีการสร้างวัดที่บ้านแม่ลิดน้อยและบ้านแม่ลิดป่าแก่ ต่อมาได้สร้างที่บ้านป่าเห้วและบ้านแม่ลิดหลวง ปัจจุบันมีคาทอลิกมากที่สุดรองลงมาคือศาสนาพุทธ ในชุมชนบ้านแม่ลิดทุกศาสนาอยู่ด้วยกันได้ มีการเคารพศาสนาซึ่งกันและกัน รวมถึงเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นสาธารณประโยชน์
พิธีกรรมที่สำคัญในรอบปีคือ พิธีผูกข้อมือขึ้นปีใหม่ และผูกข้อมือกลางปี พิธีเลี้ยงเจ้าเหมืองฝาย พิธีเลี้ยงเจ้าไร่เจ้านา พิธีแซะพอโข่ะของผู้ที่นับถือศาสนาดั้งเดิม กิจกรรมสำคัญของศาสนาคริสต์ทั้งนิกายโรมันคาทอลิกและนิกายโปรเตสแตนต์คือ คริสต์มาสและปัสกาหรือวันอีสเตอร์ คือวันที่องค์ศาสดาพระเยซูคริสต์ฟื้นจากความตายซึ่งเป็นความเชื่อของศาสนิกชนที่สำคัญและถือปฏิบัติ
กิจกรรมทางวัฒนธรรม
- ประเพณีผูกข้อมือเรียกขวัญขึ้นปีใหม่ (กี่จือหนิซอโซ่) คือการผูกข้อมือเรียกขวัญขึ้นปีใหม่ของชนเผ่าปกาเกอะญอ ซึ่งเป็นพิธีขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ประทานพรแก่คนในหมู่บ้าน หรือผู้คนในสังคมให้อยู่เย็นเป็นสุข ไปไหนให้เจอะเจอในสิ่งที่ดีงาม รวมทั้งสัตว์เลี้ยงและพืชผลให้อุดมสมบูรณ์ เจริญงอกงาม จะจัดขึ้นในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมของแต่ละปี เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตจากไร่นาเสร็จเรียบร้อยในรอบปีใหม่ โดยผู้นำหมู่บ้านจะแจ้งให้ลูกบ้านทราบถึงเวลาที่ต้องจัดงานประเพณี แล้วลูกบ้านทุกครอบครัวจะเตรียมต้มเหล้า ก่อนถึงวันงานประมาณ 4-5 วัน จะมีการทำขนมและของขบเคี้ยวซึ่งประกอบด้วยข้าวปุ๊ก ข้าวต้มมัด เพื่อเป็นของถวายและเป็นอาหาร ในวันงานทุกครอบครัวจะมีการผูกข้อมือเรียกขวัญขึ้นปีใหม่ และวันนั้นจะไม่มีใครออกนอกบ้าน ทุกคนต้องอยู่ร่วมงานถือเป็นวันพักผ่อน หลังจากการผูกข้อมือเรียกขวัญของแต่ละครอบครัวและรับประทานอาหารเรียบร้อยแล้ว ผู้นำหมู่บ้านและลูกบ้าน หรือตัวแทนของแต่ละครอบครัวจะพากันออกไปตามบ้านของลูกบ้านเพื่ออธิษฐานขอพร และอวยพรให้ทุกคนในครอบครัวมีความสุขความเจริญ รวมทั้งสัตว์เลี้ยง และพืชผลมีความอุดมสมบูรณ์ ทำแบบนี้ทุกครอบครัว ซึ่งเริ่มต้นที่บ้านของผู้นำหมู่บ้าน ช่วงเช้าของอีกวันจะมีการพักผ่อนต่ออีก 1 วัน และไม่ให้คนในหมู่บ้านออกไปทำงานอีกวัน ซึ่งเป็นประเพณีที่ทำให้ทราบถึงช่วงเวลาที่จะต้องเริ่มต้นการผลิตในปีต่อไป
- ประเพณีผูกข้อมือเรียกขวัญกลางปี (กี่จือลาคุปู) คือการผูกข้อมือเรียกขวัญกลางปีราวเดือนสิงหาคมของชนเผ่าปกาเกะญอ ซึ่งเป็นพิธีขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ได้ประทานความอุดมสมบูรณ์ทุกสิ่งทุกอย่างที่ขอในช่วงระยะเวลาจากการจัด ประเพณีผูกข้อมือหนิซอโซ จะจัดขึ้นในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคมของแต่ละปี เมื่อผลผลิตจากไร่นาเจริญงอกงามขึ้นผู้นำหมู่บ้านจะแจ้งให้ลูกบ้านทราบอีกครั้งว่าถึงเวลาที่จะต้องจัดงาน ซึ่งขั้นตอนการทำพิธีจะเหมือนกับประเพณีผูกข้อมือเรียกขวัญขึ้นปีใหม่ทุกขั้นตอน แต่จะต่างกันตรงที่การให้ความหมาย ก็คือประเพณีผูกข้อมือเรียกขวัญขึ้นปีใหม่จะเป็นพิธีขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ลงมาอวยพรพืชผลให้เจริญงอกงามดี ส่วนประเพณีผูกข้อมือเรียกขวัญกลางปีจะเป็นพิธีขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประทานความอุดมสมบูรณ์ทุกอย่างที่ขอจากงานประเพณีผูกข้อมือเรียกขวัญขึ้นปีใหม่ที่ผ่านมา
- พิธีเลี้ยงเจ้าเหมืองฝาย วิถีชีวิตชาวนาปกาเกอะญอทุกปีก่อนที่จะไถนาต้องถางพื้นที่รอบนาให้โปร่ง ขุดลอกเหมือง ซ่อมแซมจุดที่เสียหาย ถ้าลำเหมืองมีการใช้นำหลายครอบครัวจะนัดกันมาขุดลอกลำเหมือง มีการช่วยกันอย่างขยันขันแข็ง และนัดกันเรื่องการทำพิธีเลี้ยงเจ้าเหมืองฝายเพราะพิธีนี้เจ้าของนาหรือตัวแทนทุกคนต้องมาร่วม หัวหน้าเหมืองฝายไม่สามารถไปแจ้งให้ทุกคนทราบได้เพราะบางคนอยู่ต่างหมู่บ้าน จึงถือโอกาสนี้แจ้งให้ทราบแล้วกำหนดวันทำพิธี เพราะตามหลักต้องทำพิธีก่อนที่จะไถนา ก่อนไถนาต้องปล่อยน้ำเข้านาประมาณ 5-7 วัน เพื่อให้ดินอ่อนตัวลง ง่ายต่อการไถพรวน เมื่อได้วันที่ชัดเจนแล้ว หัวหน้าเหมืองฝายจะนัดสมาชิกทุกคนเตรียมต้มเหล้า โดยหัวหน้าฝายต้มก่อนหนึ่งวัน แล้วให้สมาชิกแต่ละครอบครัวต้มเหล้าในวันรุ่งขึ้น การเตรียมเหล้าจะมักข้าวไว้ 3-4 วันแล้วจึงต้มเหล้า สำหรับเครื่องถวายบูชา ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เคยใช้สมัยปู่ย่าตายาย ในวันทำพิธีหัวหน้าเหมืองฝายและสมาชิกทุกครอบครัวจะนำเหล้ามาครอบครัวละ 1-2 ขวด และนำเครื่องบูชาและเหล้าไปที่ต้นลำเหมืองสถานที่ที่จะใช้ประกอบพิธี เมื่อไปถึงจะเตรียมสถานที่ทำพิธี คือการสร้างศาลเจ้าเหมืองฝาย โดยสมาชิกจะช่วยกันคนละไม้ละมือ เมื่อช่วยกันสร้างเสร็จก็นำเครื่องบูชาขึ้นวางบนศาลเจ้า สำหรับหมูหรือไก่จะวางไว้ที่โคนต้นศาลเจ้า จากนั้นทุกคนในบริเวณสถานที่ประกอบพิธีจะร่วมกันกล่าวคำอธิษฐาน เมื่อกล่าวคำอธิษฐานจบแล้วจะฆ่าหมูหรือไก่แล้วนำเลือดไปป้ายไว้ที่เสาศาลเจ้า จากนั้นก็จะนำหมูหรือไก่มาประกอบอาหารหลายรูปแบบ มีการนำเอาอวัยวะสำคัญของหมูหรือไก่ เหล้า และข้าวถวายแด่เจ้าเหมืองฝายพร้อมทั้งกล่าวคำอธิษฐานตามหัวหน้าเหมืองฝาย เมื่อกล่าวคำอธิษฐานเสร็จก็จะร่วมกันดื่มเหล้าและรับประทานอาหารร่วมกัน เมื่อทานอาหารร่วมกันเสร็จจะเหลือเหล้าไว้แก้วหนึ่งเพื่อนำมากล่าวคำอธิษฐานอีกรอบ เมื่อจบคำอธิษฐานแล้วจะให้สมาชิกร่วมกันดื่ม เมื่อเหล้าก้นขวดหมดลงก็ถือว่าสิ้นสุดพิธีเลี้ยงเหมืองฝาย
- พิธีเลี้ยงเจ้าไร่ ชาวไร่ที่ทำไร่ปลูกข้าวจะหยอดข้าวช่วงเดือนเมษายน ใช้การปักหลุมลงบนดินในท้องไร่ หลังจากปักหลุมหยอดข้าวในไร่เสร็จแล้วถ้าฝนตกลงมาเร็วและต่อเนื่องประมาณหนึ่งอาทิตย์ ข้าวจะเริ่มงอก แต่บางทีถ้าปักหลุมหยอดข้าวเสร็จฝนยังไม่ตก แต่ไม่เสียหายมากนัก เมื่อฝนมาข้าวก็ยังงอกอยู่ ทำให้เห็นว่าอาชีพชาวไร่เกี่ยวข้องกับความเชื่อและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถือ จึงเป็นเหตุให้ต้องมีพิธีกรรมเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน หลังจากข้าวไร่งอกได้ประมาณ 1 เดือน จะมีการถางหญ้ารอบแรก และปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือนข้าวก็จะเจริญเติบโตเริ่มแตกหน่อแตกกอ หลังจากนั้นชาวไร่ก็จะถางหญ้ารอบที่สอง จะอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคม และช่วงนี้จะมีการทำพิธีเลี้ยงเจ้าไร่ โดยเริ่มจากมีการนัดวันทำพิธีเมื่อได้วันที่ต้องการจะจัดพิธีแล้ว จะมีการหมักข้าวไว้ 3-4 วัน เพื่อเตรียมต้มเหล้าในการทำพิธี และมีการเตรียมเครื่องถวายบูชา ได้แก่หมูหรือไก่ สถานที่ทำพิธีคือไร่ เริ่มจากตัดไม้มาสร้างเป็นศาลเจ้าทั้งหมด 4 ศาล ศาลแรกคือ ต่าหลื่อก่อ สร้างใกล้กับต้นไม้ใหญ่ ลักษณะเหมือนศาลเจ้าทั่วไปมีความแตกต่างในรายละเอียดแต่ละครอบครัว เป็นศาลเจ้าที่ใช้ถวายแด่เจ้าที่ เจ้าป่า เข้าเขา ศาลที่สองคือ ต่าแซะ สร้างอิงกับตอไม้ ลักษณะใช้ไม้ไผ่ที่ผ่าเป็นซี่ ๆ สานเป็นกรวย เป็นศาลสำหรับประกอบพิธีขจัดภัย ศาลที่สามและสี่คือ ต่าหลื่อเหมะ และ ต่าเตอะเมาะ สร้างคู่กันมีลักษณะเหมือนกัน เมื่อสร้างเสร็จจะเริ่มทำพิธีคือ นำเครื่องบูชาและเหล้าวางไว้ใต้ศาลเจ้า พร้อมพนมมือกล่าวคำอธิษฐานเพื่อเริ่มทำพิธีเลี้ยงเจ้าไร่ตามขั้นตอนของคนในชุมชนให้เสร็จสิ้น
- พิธีเลี้ยงเจ้านา ชาวนาปลูกข้าวในเดือนมิถุนายน หลังจากปลูกข้าวในช่วงเดือนสิงหาคมจะเป็นเดือนที่ฝนตกชุก ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวนาจะทำพิธีเลี้ยงเจ้านา จะมีการคุยกันก่อนว่าใครเริ่มทำก่อนเพราะต้องมีการทำทุกครอบครัว โดยจะมีการหมักข้าวไว้ 3-4 วัน เพื่อเตรียมต้มเหล้าในการทำพิธี รวมถึงเตรียมเครื่องถวายบูชา มีการสร้างศาลเจ้าเหมือนกับพิธีศาลเจ้าไร่และมีขั้นตอนทำคล้ายกันเพียงแต่คำอธิษฐานต่างกัน
- พิธีแซะพอโข่ะ หรือพิธีเลี้ยงยุ้งข้าว เป็นพิธีที่จัดทำขึ้นตามความเชื่อ ซึ่งชนเผ่าปกาเกอญอเชื่อว่าข้าวนั้นมีศัตรูที่จะคอยทำลายเชื้อพันธุ์ข้าว หากไม่มีวิธีการขจัดสิ่งชั่วร้ายเหล่านั้น จะส่งผลให้พันธุ์ข้าวที่จะปลูกในปีต่อไปเกิดความเสียหาย ได้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร อาจสูญพันธุ์ได้ หรืออาจส่งผลให้ผู้คนขาดแคลนอาหารไปด้วย ด้วยความเชื่อเหล่านี้ชนเผ่าปกาเกอญอจึงมีพิธีเลี้ยงยุ้งข้าว เพื่อขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์บันดาลให้คุณค่าของข้าวเป็นไปตามความเชื่อ
ภูมิปัญญาท้องถิ่น
- การจักสาน ในวิถีชีวิตชาวปกาเกอะญอได้ผูกพันกับธรรมชาติที่อยู่แวดล้อมตัวเราและได้นำทรัพยากรต่าง ๆ มาผลิตเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ ที่เป็นงานฝีมือที่มีความประณีตและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งผู้รู้และผู้ที่คุ้นเคยก็จะเห็นความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดไม่ว่าจะเป็นการจักสาน การตีเหล็ก การแกะสลัก การถักทอผ้า การประดิษฐ์ลวดลายต่าง ๆ ลงบนผ้าทอ เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องดนตรีต่าง ๆ เป็นต้น หัตถกรรมด้านการจักสานมีหลายชนิด เช่น การจักสานเสื่อ ก๋วย กระชุ เป็นต้น
- การถักทอ ชาวปกาเกอะญอมักจะดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย และสมถะโดยเฉพาะการแต่งกายของชนเผ่า สำหรับผู้หญิงจะมีการแต่งกายที่แบ่งอย่างชัดเจนระหว่างหญิงสาวโสดและหญิงที่แต่งงานแล้ว โดยหญิงสาวโสดจะสวมชุดกระโปรงทรงกระบอกสีขาว ยาวไปถึงข้อเท้าส่วนใหญ่จะทอผ้าใช้เองด้วยเครื่องทอมือแบบง่ายตามประเพณี ส่วนหญิงสาวที่แต่งงานแล้วจะไม่แต่งชุดสีขาวแต่จะสวมเสื้อคอวียาวถึงเอวที่ทำจากการถักทอ ชายเสื้อด้านล่างเย็บด้วยด้ายสี ประดับด้วยลูกเดือยหรือลูกปัดสีขาว แล้วจะสวมผ้าซิ่นสีแดงหรือลายอื่น ๆ ยาวถึงข้อเท้าและมีการโพกศีรษะ ซึ่งโพกทั้งหญิงสาวโสดและหญิงแต่งงานแล้ว แต่มีลักษณะการโพกที่แตกต่างกัน ผ้าทอที่ใช้ในวิถีชีวิตมีหลายชนิด เช่น กระเป๋า เสื้อ กระโปรง ผ้าโพกหัว ผ้าห่ม เป็นต้น
ชุมชนแม่ลิดมีถนนเข้ามาเมื่อประมาณปีพุทธศักราช 2490 โดยบริษัทที่ได้รับสัมปทานไม้สาละวิน ชื่อบริษัทพนาสิทธ์ ได้ทำการตัดถนนเข้ามาใช้ในการลำเลียงไม้ เมื่อระยะเวลาในการให้สัมปทานสิ้นสุดลงถนนก็มาได้รับการซ่อมแซม และใช้ประโยชน์เพราะในช่วงเวลานั้นยังไม่มีรถยนต์ ต่อมาเมื่อประมาณปีพุทธศักราช 2504 มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีหน่วยงานราชการของกรมประชาสงเคราะห์มาตั้งหน่วยที่บ้านแม่ลิดป่าแก่ มีการสำรวจสำมะโนครัวและได้ทำการตัดถนนใหม่เข้าหมู่บ้านสำหรับหมู่บ้านที่ไม่มีถนน และได้ทำการซ่อมแซมถนนเดิมให้สามารถสัญจรได้ หลังจากนั้นเมื่อพุทธศักราช 2539 มีหน่วยงานของทหารชื่อหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา มาปรับปรุงซ่อมแซมถนนให้มีการสัญจรได้สะดวกขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน
ปีพุทธศักราช 2517 ได้มีการก่อตั้งโรงเรียนขึ้นที่บ้านแม่ลิดหลวง เปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ได้ประมาณสามปีก็ย้ายไปตั้งโรงเรียนที่ท้ายหมู่บ้านและได้เปิดสอนอย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นเมื่อปีพุทธศักราช 2540 ได้เปิดเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาเปิดสอนมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 และปัจจุบันได้เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
เมื่อก่อตั้งหมู่บ้านชุมชนแม่ลิดช่วงแรก พื้นที่หมู่บ้านอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า และความเป็นธรรมชาติอย่างสมบูรณ์ เมื่อชุมชนมีการอาศัยอยู่ในชุมชนได้สักระยะหนึ่ง ก็ได้ขยายไปตั้งหย่อมบ้านต่าง ๆ เพื่อสะดวกแก่การประกอบอาชีพ ช่วงปี พ.ศ. 2520 มีบริษัทหนึ่งที่เข้ามาทำเหมืองแร่เงินที่ป่าต้นน้ำแม่ลิด โดยมีการตัดถนนเข้ามาและสร้างโรงถลุงแร่ พร้อมทั้งได้สร้างที่พักให้คนงาน แต่คนในชุมชนกังวลว่าการขุดแร่จะเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ชาวบ้านจึงมีการปรึกษาหารือกันและพูดคุยกับเจ้าของบริษัท แต่ไม่ได้ผล จึงได้ไปคุยกับทางอำเภอ ซึ่งทราบว่าทางบริษัทยังไม่ได้รับการอนุมัติ แต่ได้ดำเนินการขุดแร่ไปก่อนแล้ว จากนั้นผู้นำชุมชนจึงได้เข้าไปคุยกับทางบริษัทว่ากลัวจะไม่เหลือที่ดินทำกินให้กับลูกหลาน ขณะเดียวกันผู้นำชุมชนและผู้นำทางพิธีกรรมได้ทำพิธีบูชาขอเจ้าป่า เข้าเขา เจ้าน้ำ เพื่อซ่อนแร่ไม่ให้คนพบเห็น โดยทำพิธีหลื่อก่อร่วมกัน หลังจากทำพิธีเสร็จแล้ว ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะเวลาการทำเหมือง 3-4 ปี คือบริษัทประสบปัญหาขุดแร่ได้น้อยลง และเกิดอุบัติเหตุกับเครื่องจักรบ่อย ๆ และไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ทางบริษัทจึงยกเลิกกิจการไป
พรชัย นิธิไพจิตมาศ และคณะ. (2555). โครงการวิจัยสืบสานภาษาและวัฒนธรรมชนเผ่า ปกา เกอะ ญอ สู่การสร้างหลักสูตรท้องถิ่น. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ค้นคืนเมื่อ 1 มิถุนายน 2566, จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/
สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (2565). สถิติจำนวนประชากร ปี พ.ศ. 2565. ค้นจาก https://stat.bora.dopa.go.th/