ชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกและเขตมรดกโลกทางธรรมชาติ ผืนป่าที่มีความสำคัญทั้งทางกายภาพ ความสมบูรณ์และความหลากหลายของพันธุ์พืช สัตว์ป่า และความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มคน เพราะนอกจากสิ่งมีชีวิตคือพืชพันธุ์และสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในผืนป่าแห่งนี้แล้ว ยังมีผู้คนอาศัยกระจายตัวและอาศัยอยู่ร่วมกับการพึ่งพิงธรรมชาติในผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเช่นกัน
ชุมชนบ้านจะแก มีชื่อเรียกมาจากห้วยน้ำที่ไหลผ่านหมู่บ้านคือ ห้วยจะแก หรืออีกความหมายหนึ่งที่หมายถึง การประสบความสำเร็จหรือประสบผลสำเร็จ ชาวบ้านได้กล่าวว่าจะแกมีชื่อมาจากชาวบ้านในอดีตที่ชื่อ เจอะแก (จะแก) ได้เสียชีวิตบริเวณห้วยดังกล่าว ชาวบ้านจึงได้เรียกชื่อลำห้วยแห่งนี้ว่า “ห้วยเจอะแก” จน การออกเสียงได้เพี้ยนมาเป็น “จะแก”
ชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกและเขตมรดกโลกทางธรรมชาติ ผืนป่าที่มีความสำคัญทั้งทางกายภาพ ความสมบูรณ์และความหลากหลายของพันธุ์พืช สัตว์ป่า และความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มคน เพราะนอกจากสิ่งมีชีวิตคือพืชพันธุ์และสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในผืนป่าแห่งนี้แล้ว ยังมีผู้คนอาศัยกระจายตัวและอาศัยอยู่ร่วมกับการพึ่งพิงธรรมชาติในผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเช่นกัน
ประวัติการตั้งถิ่นฐาน
ชุมชนบ้านจะแก หมู่ที่ 6 ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกและเขตมรดกโลกทางธรรมชาติ เป็นผืนป่าที่มีความสำคัญทั้งทางกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์ป่า และความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มคน เพราะนอกจากสิ่งมีชีวิตคือพืชพันธุ์และสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในผืนป่าแห่งนี้แล้ว ยังมีผู้คนอาศัยกระจายตัวและอาศัยอยู่ร่วมกับการพึ่งพิงธรรมชาติในผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเช่นกัน นั่นคือ กลุ่มชาติพันธุ์ “กะเหรี่ยงโผล่ว”
ตำบลไล่โว่ หรือที่ชาวกะเหรี่ยงโผล่วเรียกว่า ไล่โหว่ อันมีความหมายว่าหน้าผาสีแดง เป็นอีกตำบลหนึ่งที่ชาวกะเหรี่ยงโผล่วได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ตำบลไล่โว่ถูกตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการหลังการตั้งอำเภอสังขละบุรีขั้นในปี พ.ศ. 2445 ในขณะนั้นแบ่งการปกครองออกเป็น 2 ตำบล โดยยึดลำน้ำกษัตริย์ (แม่น้ำแมะกะสะ) เป็นหลักในการแบ่งเขตการปกครอง คือ 1) ตำบลไล่โว่ตั้งอยู่ทิศใต้ของลำน้ำกษัตริย์ ประกอบไปด้วยหมู่บ้านต่าง ๆ ดังนี้ บ้านไล่โหว่หรือไล่โว่ บ้านตะหนี่พุ่ง บ้านกองหม่อทะหรือกองม่องทะ บ้านเกาะสะเดิ่ง บ้านที่มู่คี่ บ้านที่พุโช่ว์ บ้านไล่วาบ่อง บ้านซ่าละหวะหรือซาละวะ และบ้านที่ช่วยโหว่ และ 2) ตำบลเลียงก่าหรือลังกาตั้งอยู่ทางทิศเหนือของลำนํากษัตริย์ขึ้นไป ประกอบไปด้วยหมู่บ้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ บ้านหมิ่งเซิ่ง บ้านที่ไล่ป่า บ้านปรุงดี่ บ้านนองนะโพ่ บ้านกุ่ยเสาะ บ้านเลียงก่าหรือลังกา บ้านจะแกหรือหินตั้ง บ้านเซซาโหว่หรือเซซาโว่ และบ้านที่ทะบ่อง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2496 ตำบลลังกาได้ถูกยุบรวมให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของตำบลไล่โว่มาจนถึง ปัจจุบัน และหมู่บ้านต่าง ๆ ที่มีจำนวนค่อนข้างมากชาวบ้านได้ถูกอพยพให้ย้ายมาอยู่รวมกันจนปัจจุบันในตำบลไล่โว่มีชุมชนหลัก ๆ เพียง 6 หมู่เท่านั้น ได้แก่ หมู่ที่ 1 บ้านสะเนพ่อง หมู่ที่ 2 กองม่องทะ หมู่ที่ 3 บ้านเกาะสะเดิ่ง หมู่ที่ 4 บ้านไล่โว่และซาละวะ หมู่ที่ 5 บ้านทิไล่ป่า และหมู่ที่ 6 บ้านจะแก ชุมชนเหล่านี้กระจายตัวอยู่ในผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกของประเทศไทย
การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของผู้คน
ชาวกะเหรี่ยงโผล่วคือกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่ได้อพยพย้ายเข้ามาอยู่ภายในชุมชนบ้านจะแก ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณหย่อมบ้านจะแก ประมาณ 10-20 หลังคาเรือน ดำรงชีพด้วยการพึ่งพิงอาศัยธรรมชาติ เช่น การทำไร่หมุนเวียน เก็บของป่า ล่าสัตว์ป่า ฯลฯ เรื่อยมา แต่ชาวบ้านจะไม่นิยมเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นไก่และหมู เพราะมีชาวบ้านมีความเชื่อในการนับถือพุทธและผีหรือนับถือฤๅษี รวมถึงเพื่อตัดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น ไก่และหมูเข้าไปทำลายพืชผักและผลผลิตทางการเกษตร ฯลฯ ทำให้ชาวบ้านไม่นิยมเลี้ยงสัตว์ หากต้องการจะนำมาทำอาหารจะนิยมออกไปล่าสัตว์ในป่า ต่อมาในชุมชนเกิดโรคระบาดคือโรคอหิวาตกโรค ซึ่งในตอนนั้นมีชาวบ้านเสียชีวิตจำนวนประมาณ 4-5 คน/ครัวเรือน ทำให้ชาวบ้านได้ตัดสินใจอพยพย้ายออกจากหย่อมบ้านจะแก ไปอยู่ที่บริเวณทิมู หย่อมบ้านพุจือ และหย่อมบ้านพุหม่อง เป็นระยะเวลากว่า 2 ปี เมื่อแน่ใจว่าไม่มีโรคระบาดเกิดขึ้น แล้วชาวบ้านจึงได้อพยพย้ายกลับเข้ามาอยู่ที่หย่อมบ้านจะแกเช่นเคย
บ้านจะแกเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากตัวอำเภอสังขละบุรีมากที่สุด ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร และเป็นชุมชนที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดของตำบลไล่โว่ มีหมู่บ้านหรือหย่อมบ้านทั้งหมด 8 หย่อมบ้าน คือ หัวนา จะแก แปดหลัง (ไกกนองเอ) กลางนา วาชูคุ พุจือ พุหม่อง และปางสนุก โดยมีขอบเขตของชุมชน ดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ อยู่ติดกับ รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า
- ทิศตะวันออก อยู่ติดกับ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
- ทิศตะวันตก อยู่ติดกับ รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า
- ทิศใต้ อยู่ติดกับ หมู่บ้านคลิตี้ ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
การตั้งบ้านเรือน
การแบ่งคุ้มบ้านของชุมชนบ้านจะแกจะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 8 หย่อมบ้านคือ หัวนา จะแก แปดหลัง กลางนา และวาชูคุ เป็นหย่อมบ้านที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน เป็นชุมชนดั้งเดิม และเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของชาวกะเหรี่ยงโผล่วเป็นส่วนใหญ่ ห่างออกไปอีกระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตรจะพบกับหย่อมบ้านพุจือ อันเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอเป็นส่วนใหญ่ และห่างออกไปอีกจากหย่อมบ้านพุจือเป็นระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นกลุ่มหย่อมบ้านพุหม่อง เป็นชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอที่นับถือศาสนาคริสต์ และหย่อมบ้านปางสนุก เป็นชาวกะเหรี่ยงโผล่ว ซึ่งชาวกะเหรี่ยงโผล่วจะนับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ ส่วนชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอจะนับถือ ศาสนาคริสต์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งชุมชนบ้านจะแก หมู่ที่ 6 จะมีสัญลักษณ์อันโดดเด่นที่ตั้งตระหง่านอยู่ ข้างวัดบ้านจะแกและหย่อมบ้านพุหม่อง เพราะหากเมื่อคนภายนอกเข้ามายังชุมชนจะต้องถ่ายรูปสถานที่ดำรงกล่าวกลับไปทุกครั้ง เพื่อยืนยันว่าตนได้มาถึงชุมชนบ้านจะแกแห่งทุ่งใหญ่นเรศวรอย่างแท้จริง นั่นคือหินตั้งและเขาทิทะบ่องหรือเขาปางสนุก เมื่อมาถึงยังชุมชนจะพบว่าชาวกระเหรี่ยงชุมชนบ้านจะแกไม่ได้มีวิถีการเกษตรเพียงการทำไร่หมุนเวียนเท่านั้น แต่ยังมีการทำนาและสวน ซึ่งหากพบบริเวณพื้นที่นาก็จะพบกับลำห้วยที่ไหลเทียบไปกับพื้นที่ท้องนาของชาวบ้านลำห้วยที่ชุมชนบ้านจะแกจะเป็นลำห้วยขนาดเล็กไว้สำหรับให้ชาวบ้านได้ใช้สำหรับการอุปโภคและบริโภค คือ ลำห้วยจะแก ชาวบ้านที่ใช้น้ำจากลำห้วยจะแกคือหย่อมบ้านหัวนา จะแก แปดหลัง กลางนา และวาชู คุ ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ลำห้วยพุจือ ชาวบ้านจึงใช้น้ำร่วมกัน
ชาวบ้านจะแก หมู่ที่ 6 นิยมตั้งบ้านเรือนกันบริเวณพื้นที่โล่งและกว้าง เพื่อจะใช้ พื้นที่ในการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ จึงเลือกตั้งบ้านเรือนกันบริเวณพื้นที่ราบเชิงหุบเขา และมีแหล่งน้ำไหลผ่าน ในอดีตมีจำนวนหลังคาเรือนและจำนวนประชากรไม่มากนัก จึงทำให้พื้นที่บริเวณบ้าน ของแต่ละหลังคาเรือนจะมีบริเวณกว้าง แต่เมื่อมีจำนวนสมาชิกในครัวเรือนเพิ่มขึ้น ซึ่งในอดีตชาวบ้านจะมีลูกจำนวนไม่น้อยกว่า 5 คนขึ้นไป จึงทำให้เมื่อสมาชิกในครัวเรือนแต่งงานและแยกบ้านออกไป จะเลือกตั้งบ้านเรือนกันบริเวณใกล้กับบ้านพ่อและแม่ หรือบริเวณของบ้านพ่อและแม่ ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าในพื้นที่หนึ่ง ๆ ที่มีการล้อมรั้วจะพบว่ามีบ้านที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว 3-4 หลังคาเรือน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องทางสายเลือดที่มากกว่าเครือญาติคนอื่น ๆ ในชุมชน แต่เมื่อพื้นที่ในการตั้งบ้านเรือนบริเวณพ่อและแม่ไม่เพียงพอ ลูกบางคนจะไปเลือกตั้งบ้านเรือนที่อื่น ๆ ที่อยู่ในชุมชน โดยมีลักษณะที่มีพื้นที่กว้างสำหรับการทำสวนและเลี้ยงสัตว์
การตั้งบ้านเรือนของชาวบ้านจะแก หมู่ที่ 6 จะมีความเชื่อสำหรับการเลือกพื้นที่ เพื่อสร้างบ้านใหม่ที่ไม่เป็นพื้นที่ต้องห้าม เช่น ห้ามปลูกบ้านกลางจอมปลวกสองลูก ห้ามปลูกบ้าน พื้นที่ ๆ มีลักษณะเป็นหลังเต่า ห้ามปลูกบ้านเหมือนสามเส้า ห้ามปลูกบ้านบริเวณเชิงเขา ห้ามปลูก บ้านบริเวณที่ดวงตะวันข้ามจั่วบ้าน ห้ามปลูกบ้านโดยเอาจั่วบ้านไปทิศตะวันออก ห้ามนอนตามจั่ว บ้าน และห้ามทำบันไดขึ้นตรงหัวนอน ฯลฯ เพราะเชื่อว่าหากเลือกพื้นที่สร้างบ้านไม่ดีก็จะทำให้ชีวิต ของคนอยู่อาศัยไม่เป็นสุขไปด้วย และสำหรับการสร้างบ้านใหม่จะต้องหาฤกษ์ยามวันดีเพื่อขึ้นเสาเอก ของบ้าน และก่อนที่จะขึ้นโครงบ้านจะต้องสาน (ทุยหม่องเจ) หนึ่งใบ กระบอกน้ำหนึ่งกระบอก ไม้ เล็กหนึ่งท่อน แล้วนำทุยหม่องเจไปแขวนไว้ตรงเสาเอกของบ้าน เพื่อป้องกันความจัญไร เมื่อปลูกบ้าน เสร็จสิ้นจะต้องทำที่หุงข้าวขนาด ยาว 2 ศอกกับ 1 คืบ กว้าง 2 ศอก และบันไดบ้าน 7 ขั้น สำหรับ การเคาะเรียกขวัญคนได้ และก่อนขึ้นไปนอนบนบ้านใหม่ จะต้องหาฤกษ์ยามวันดี เพื่อนำทรายผสม น้ำไปใส่ไว้ในกระบอก แล้วนำไปวางไว้บริเวณบันไดบ้านก่อน ในเย็นวันนั้นจึงจะสามารถขึ้นไปนอน บ้านใหม่ได้ แต่ก่อนที่จะขึ้นจะต้องเอาขาจุ่มลงไปในกระบอกที่เตรียมไว้ก่อนแล้วจึงจะสามารถขึ้นนอนบนบ้านใหม่ได้
ลักษณะภูมิอากาศ
บ้านจะแกมีสภาพภูมิอากาศโดยทั่วไป 3 ฤดูกาล อันได้แก่ ฤดูหนาว มีสภาพอากาศที่หนาวเย็น โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ย 10-18 องศา และจะเริ่มตั้งแต่ประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน จนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ จนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่ประมาณปลายเดือนพฤษภาคม จนถึงเดือนต้นเดือนพฤศจิกายน
ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ
- ที่ดิน : ชาวบ้านจะแกอาศัยอยู่ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก และป่ามติคณะรัฐมนตรี จึงทำให้ชาวบ้านไม่สามารถครอบครองพื้นที่หรือมีการครอบครองเอกสารสิทธิ์ในการถือครองที่ดินได้ แต่จะมีเพียงพื้นที่ร่วมกันของชุมชนสำหรับการทำการเกษตรไม่ว่าจะเป็นไร่หมุนเวียน สวน และตั้งบ้านเรือน หรือที่เรียกว่า “แนวเขตสํารวจพื้นที่ใช้ประโยชน์ชุมชนบ้านจะแก” ซึ่งจะครอบคลุมทั้งพื้นที่ของเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกและป่ามติคณะรัฐมนตรี แต่ถึงแม้ชาวบ้านจะไม่มีเอกสารสิทธิ์หรือกรรมสิทธิ์ในการครอบครองพื้นที่ หากภายในชุมชนเองก็มีการครอบครองพื้นที่กันเองสำหรับการทำนา การทำสวน การสร้างบ้าน และการทำไร่ จึงทำให้ภายในชุมชนมีเพียงการครอบครองพื้นที่อย่างไม่มีลายลักษณ์อักษร
- น้ำ : พื้นที่ของชุมชนบ้านจะแกมีแหล่งน้ำทางธรรมชาติที่สำคัญเป็นเพียงลำห้วยขนาดเล็กที่เกิดจากน้ำผุดบริเวณชุมชน คือ 1) ลำห้วยจะแก ไหลผ่านบริเวณหย่อมบ้านหัวนาจะแก แปดหลัง กลางนา และวาชูคุ 2) ลำห้วยพุจือ ไหลผ่านบริเวณหย่อมบ้านพุจือ และ 3) คลองเลตู ไหลผ่านบริเวณหย่อมบ้านพุจือ หม่อง และปางสนุก ชาวบ้านใช้น้ำสำหรับการอุปโภคและบริโภค รวมถึงทางการเกษตรในการทำนา สวน และพืชผักสวนครัว
- ป่าไม้ : ชุมชนบ้านจะแกตั้งอยู่ในพื้นที่ของเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก จึงทำให้มีความหลากหลายลักษณะของป่าผสมกันอยู่ตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดงดิบเขา และทุ่งหญ้า ผืนป่าสำหรับชาวกะเหรี่ยงถือว่ามีความสำคัญต่อชีวิตเป็นอย่างมาก นอกจากจะเป็นพื้นที่ของการดำรงชีพจากการทำเกษตรกรรมและเก็บของป่าแล้ว ยังเป็นพื้นที่ของวัฒนธรรมที่สำคัญอันบ่งบอกได้ว่าคือวิถีของคนกะเหรี่ยง คือการทำไร่หมุนเวียน ภายใต้การทำไร่หมุนเวียนล้วนประกอบไปด้วยความเชื่อและประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา เพื่อรักษาไว้ซึ่งความสมดุลระหว่างชาวกะเหรี่ยงและธรรมชาติ
- สัตว์ป่า : ภายในเขตอนุรักษ์พันธ์ุสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรจะพบว่ามีสัตว์ป่าหลากหลาย ชนิด ที่สามารถพบได้ค่อนข้างบ่อย คือ หมูป่า เก้ง ลิง ค่าง หนู กระรอก เม่น ฯลฯ ซึ่งสัตว์เหล่านี้จะเข้ามาหากินในช่วงก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตของชาวบ้าน ส่วนสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ เช่น เสือ กระทิง ช้างป่า กวาง ฯลฯ จะไม่สามารถพบได้บ่อยนัก เพราะส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในป่าลึก สัตว์ป่าถือได้ว่าเป็นอาหารชนิดหนึ่งของชาวบ้านมาตั้งแต่ในอดีต แต่ในปัจจุบันด้วยกฎหมายจึงทำให้ไม่สามารถล่าสัตว์ป่าได้อย่างเปิดเผย และจำนวนสัตว์ป่าบริเวณชุมชนมีจำนวนลดลงจึงทำให้ชาวบ้านหันไปบริโภคเนื้อสัตว์ แช่แข็งจากในเมืองเป็นส่วนใหญ่
ข้อมูลจากสาธารณสุขอนามัยบ้านจะแก (2562) ได้กล่าวว่าในปัจจุบันชุมชน บ้านจะแก หมู่ที่ 6 จำนวนประชากรทั้งหมด 1,059 คน แบ่งเป็นเพศชายจำนวน 559 คน และเพศ หญิงจำนวน 497 คน แต่ทั้งนี้จำนวนประชากรไม่มีความแน่นอนมากนัก เนื่องจากชาวบ้านบางคนมีบ้านพักอาศัยในหลายหมู่บ้าน หากมีชื่อในทะเบียนบ้านอยู่ที่บ้านจะแก แต่ตัวชาวบ้านเองไม่ได้พักอาศัยอยู่ที่บ้านจะแกอย่างถาวร จึงทำให้จำนวนประชากรไม่มีความแน่นอน รวมถึงจำนวนของบ้านในปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 284 หลังคาเรือน
ลักษณะครอบครัวและเครือญาติ
ในอดีตชาวบ้านชุมชนบ้านจะแกมักจะสมรสกับคนในพื้นที่ทั้งในระดับหมู่บ้าน เดียวกัน หรือในระดับตำบลเดียวกัน อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการแต่งงานในเครือญาติ แต่เป็นเครือญาติ ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันทางสายเลือดอย่างใกล้ชิด และเมื่อไม่มีการคุมการกำเนิดจึงทำให้มีจำนวน สมาชิกในครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5 คน ชุมชนบ้านจะแกมีลักษณะครอบครัวแบบขยาย กล่าวคือมีสมาชิกครอบครัวที่ประกอบไป ด้วย พ่อ แม่ และลูก แต่ก็เป็นการแยกบ้านออกจากพ่อแม่เมื่อแต่งงานแล้วเท่านั้น การตั้งบ้านเรือน ยังคงอยู่ในบริเวณที่ใกล้กับบ้านของพ่อและแม่และมีการไปมาหาสู่การเป็นประจำ ดังนั้นประชากรในชุมชนส่วนใหญ่จึงเป็นเครือญาติกัน อาจจะแตกต่างกันเพียงคนล่ะนามสกุลเท่านั้น แต่ในปัจจุบันพบว่ามีการสมรสกับคนนอกกลุ่มชาติพันธุ์ หรือคนนอกตำบลมากขึ้น
ปกาเกอะญอคนในชุมชนบ้านจะแก หมู่ที่ 6 ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรม ได้แก่ ข้าวไร่ ข้าวนา พริก หัวบุก พืชผักสวนครัว รับจ้างถอนหญ้า เผาถ่าน เป็นต้น อีกทั้งการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ หมู วัว ควาย เป็นต้น และบางส่วนประกอบอาชีพนอกภาคเกษตรกรรม ได้แก่ ครู เจ้า พนักงานสาธารณสุขชุมชน ภารโรง ค้าขาย ทอผ้า เป็นต้น และรวมถึงผู้ที่ย้ายถิ่นออกนอกชุมชนเพื่อการประกอบอาชีพ เช่น พนักงานโรงงาน ผู้สื่อข่าว พนักงานโรงแรม ฯลฯ
ปฏิทินการทำไร่ของชาวบ้านจะแก
- เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ : จะอยู่ในช่วงของการจองไร่และฟันไร่ การไปสํารวจพื้นที่ เมื่อเลือกพื้นที่ที่ตรงตามความต้องการแล้ว ในขั้นต่อไปคือการทำเครื่องหมาย โดยการใช้ไม้ปักลงดินทำเป็นเครื่องหมายกากบาท เพื่อบ่งบอกว่าพื้นที่นี้มีผู้จองสำหรับการทำไร่ในปีนั้นๆ แล้ว มีการจองไร่และทำพิธีขอใช้พื้นที่ทำไร่จากเจ้าที่ (คองกะชา) เจ้าป่า (เหม่งละชา) และเจ้าผืนดิน (โซ่งเถอะรี) โดยการเสี่ยงทายอธิษฐานจากไม้ตีป่า (ดู๊ หล่องเหม่งละ) ที่ทำขึ้นจากไม้ไผ่ยาว 1 วา วัดเทียบจากมือของเจ้าของไร่ พร้อมเตรียมดอกไม้และขี้ผึ้งใส่ไว้ในกรวยจากใบไม้ หลังจากนั้นเจ้าของจะจุดเทียนและกราบลงพื้นดิน 3 ครั้ง เพื่อแจ้งเจ้าที่ดิน หรือพระแม่ธรณีและเจ้าป่าเจ้าเขา ในการขอทำไร่ในรอบ 1 ปี รวมถึงมีความเชื่อสำหรับการเลือกลักษณะของพื้นที่ทำไร่อีกด้วย เช่น พื้นที่ลักษณะหลังเต่า มีลักษณะเป็นเนินคล้ายสันเขาแต่สั้นกว่าบนเนิน มีพื้นที่ราบไม่มาก ตามไหล่เขามีความลาดชันพอสมควร เพราะเชื่อว่าเจ้าที่บริเวณหลังเต่าไม่ได้มีหน้าที่ ที่ต้องยุ่งเกี่ยวกับคน เมื่อมีคนเข้าไปทำไร่ในพื้นที่ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความปกติสุขของเจ้าที่ ซึ่งจะทำให้ผู้ทําไร่หรือสมาชิกในครัวเรือนเจ็บไข้ได้ป่วย แต่หากมองในมิติทางภูมิศาสตร์จะพบว่าพื้นที่ ดังกล่าวเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ราบเรียบอาจจะส่งผลทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ทําไร่ได้ จึงห้ามทำในพื้นที่ดังกล่าว หรือ พื้นที่น้ำผุด เป็นบ่ออยู่กลางป่า เชื่อว่าห้ามทำไร่
- เดือนมีนาคม : ชาวบ้านจะเริ่มเผาไร่ หลังจากฟันไร่เสร็จสิ้น ชาวบ้านจะทิ้งไร่ไว้ประมาณ 1 เดือน เพื่อให้ต้นไม้ที่ตัดไว้แห้งสนิทดี จนสามารถเป็นเชื้อไฟที่ดีได้ การเผาไร่ของชาวบ้าน จะใช้วิธีการนัดวันในการเผาไร่ โดยเฉพาะผู้ที่ทำไร่อยู่ในบริเวณเดียวกัน หรือผู้ที่ทำไร่อยู่ไกลกันหรือคนละหมู่บ้านจะเผาในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกัน เนื่องจากต้องดูสภาพฝนฟ้าอากาศที่เหมาะสม และเพื่อ ป้องกันการลามของไฟ ในเวลาที่ไร่หลายผืนเผาพร้อมกันจะส่งผลทำให้ควันลอยขึ้นบนอากาศ ทำให้ เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้ผู้ที่ยังเผาไร่ต้องเลื่อนเวลาเผาไร่ออกไปอีกอย่างน้อย 3 วัน เพราะต้องดูพื้นที่ไร่ว่ามีแห้งสนิทดีหรือไม่
- เดือนมีนาคม-เมษายน : รื้อเผาเศษไม้ขอนไม้ในไร่ หลังจากเผาไร่เสร็จสิ้น เจ้าของไร่จะกลับมาดูว่าไร่นั้นไฟไหม้ดีหรือไม่ ถ้าพบว่ายังมีเศษไม้หรือขอนไม้ไฟไหม้ไม่หมด จะต้องนํามากองรวมกันและเผาอีกครั้ง โดยการนํามากองรวมกันเป็น 3 กอง เพื่อเป็นการแก้เคล็ดระหว่างรื้อ เผาไร่อีกครั้ง จึงจะลงมือปลูกพืชผักต่างๆ ในลำดับถัดไป
- เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน : ปลูกข้าว หยอดข้าว (ท้งบื๊ง) สำหรับการเตรียมหยอดข้าวไร่ รวมถึงไถนา และเพาะต้นกล้า
- เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม : ดายหญ้า กําจัดวัชพืชในไร่ ปลูกกระต๊อบ และดู ระดับน้ำในนา การดายหญ้าโดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือดายหญ้าครั้งที่ 1 เรียกว่า พิน้องมี้ คู้ เป็นการดายหญ้าหลังการเผาและรื้อไร่เสร็จ เพราะมีวัชพืชขึ้นมาอย่างหนาแน่น ดายหญ้าครั้งที่ 2 เรียกว่า พิน้องหยา หลังการหยอดข้าว เมื่อต้นกล้าข้าวเริ่มงอกมีความสูงพอประมาณ เพื่อไม่ให้วัชพืช บดบังแสงแดดของต้นข้าวและดายหญ้าครั้งที่ 3 หากมากกว่านั้นถือว่ามีหญ้าขึ้นรกมากและจะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
- เดือนตุลาคม-ธันวาคม : เกี่ยวข้าว โบกข้าว นําข้าวขึ้นยุ้งฉาง และเก็บผลผลิตภายในไร่
ศาสนา
การนับถือศาสนาของชาวบ้านชุมชนบ้านจะแกส่วนใหญ่มีการนับถือศาสนา พุทธเป็นหลัก รองลงมาคือศาสนาคริสต์ ซึ่งส่วนใหญ่มีการนับถือกันมากที่บ้านพุจือและพุหม่อง
ประเพณี
- เดือนมกราคม ประเพณีกินข้าวใหม่หรือบุญข้าวใหม่เป็นประเพณีที่ในอดีตจะจัดขึ้นทุกครัวเรือน หลังจากเก็บเกี่ยวข้าว ฟาดข้าว และนําข้าวขึ้นยุ้ง ชาวบ้านจะจัดการกินข้าวใหม่ โดยการนําเอาผลผลิตภายในไร่ คือเผือกและมันมาแกง รวมกับกุ้ง ปลา และหอย และหุงข้าวใหม่ที่ได้ จากการทำไร่ในปีนั้นๆ ซึ่งจะต้องตําข้าวและฟัดข้าวที่จะนํามาหุงสำหรับงานกินข้าวใหม่ให้เสร็จภายในวันนั้นเท่านั้น จึงจะสามารถนํามาหุงข้าวได้ในตอนเย็น เมื่อทําอาหารและหุงข้าวเสร็จ ชาวบ้านจะนําเอาอุปกรณ์การทำไร่ เช่น หินลับมีด ขวาน เสียม มีด ฯลฯ มารวมกันไว้ แล้วใช้เถาไม้ (ทูไก่คู) ภายในไร่มาพันอุปกรณ์ดังกล่าวไว้ รวมถึงเตาไฟและไม้พายหุงข้าว เพราะชาวบ้านมีความเชื่อว่าจะทำให้ข้าวหมดช้าและมีข้าวกินตลอดทั้งปี ต่อจากนั้นจึงนําเอาอุปกรณ์เหล่านี้มารวมกันไว้ และนําแกงและข้าวที่ทำเสร็จแล้วมาวางให้อุปกรณ์เหล่านี้ได้กินก่อน เพื่อเป็นการขอบคุณที่ทำงานหนักมาโดยตลอด และชาวบ้านจึงจะลงมือกินในภายหลัง การกินแกงและข้าวใหม่ชาวบ้านจะไม่กินให้หมดหม้อ แต่จะเหลือไว้เล็กน้อย เพราะมีความเชื่อว่าจะทำให้มีข้าวเหลือกินตลอดทั้งปี การจัดประเพณีกินข้าวใหม่ในปัจจุบัน ได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลไล่โว่ เพื่อสืบสานและรักษาวัฒนธรรมประเพณีของชาวกะเหรี่ยงไม่ให้หายไป จึงทำให้มีการ จัดงานโดยการหมุนเวียนไปในแต่ละชุมชนของตำบลไล่โว่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานใหญ่ประจำตำบลเพราะจะจัดเพียงปีละครั้งเท่านั้น งานบุญข้าวใหม่ในปีนี้ถูกจัดขึ้นที่ชุมชนบ้านจะแก หมู่ที่ 6 ใน ระหว่างวันที่ 7-10 มกราคม พ.ศ. 2563 แต่ชาวบ้านจะเริ่มเตรียมงานกันก่อนวันงานประมาณ 2 อาทิตย์ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงครัว ร้านค้าสวรรค์ ลานพระแม่โพสพ และทำความสะอาดลานวัด เป็นต้น
- เดือนกุมภาพันธ์ ประเพณีการทำบุญข้าวทิพย์หรือโบวย่าห์ฮุ เป็นการจัดงาน เพื่อถวายข้าวทิพย์แด่พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ หรือเป็นการสะเดาะเคราะห์อย่างหนึ่ง การจัดงานจะจัดขึ้นเพียง 1 วัน คือในวันขึ้น 15 ค่ำ ในช่วงเช้าชาวบ้านจะมารวมตัวกันที่วัดเพื่อทำบุญและรับศีล และเตรียมอุปกรณ์วัตถุดิบที่จะใช้สำหรับการกวนข้าวทิพย์มายังที่วัด ไม่ว่าจะเป็นข้าวเหนียว ถั่วลิสง งาดำ มะพร้าว น้ำมัน เกลือป่น กระทะ และไม้พาย ซึ่งสำหรับการกวนข้าวทิพย์ในแต่กระทะจะมีเจ้าภาพที่รับอาสาในการเตรียมอุปกรณ์และวัตถุดิบ เมื่อเตรียมอุปกรณ์และวัตถุดิบเสร็จสิ้นชาวบ้านจะร่วมกันกวนข้าวทิพย์ โดยให้ผู้ที่เป็นเจ้าภาพเป็นคนลงมือกวนก่อนแล้วชาวบ้านคนอื่นๆ จึงจะกวนตามได้
- เดือนมีนาคม ประเพณีบุญเจดีย์ หรือมาโบกลุ่ง เป็นงานประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อทำบุญให้กับเจดีย์ที่มีอยู่ในชุมชน คือเจดีย์ใหญ่โดยจะจัดงานทั้งหมด 3 วัน คือในวันแรกจะเป็นวันขึ้น 14 ค่ำ ชาวบ้านจะมารวมตัวกันที่วัดเพื่อทำบุญ สวดมนต์ และรับศีล ในวันที่สองจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ ชาวบ้านจะนําดอกไม้และเทียน ไปสักการบูชาเจดีย์และในวันสุดท้ายคือวันขึ้น 16 ค่ำ ชาวบ้านจะมารวมตัวกันเพื่อกรวดน้ำและถวายผ้าป่าให้กับวัด
- เดือนเมษายน ประเพณีเดือนปีใหม่ของชาวกะเหรี่ยงและการทำบุญสงกรานต์ หรือ โบกซองก่อง จะเป็นงานที่จัดขึ้น 4 คืน 3 วัน ซึ่งจะเริ่มในคืนวันขึ้น 13 ค่ำ หรือที่เรียกกันว่า “งานลง” จนถึงคืนแรม 1 ค่ำ ตลอดงานทั้ง 4 คืน 3 วัน จะประกอบไปด้วยพิธีกรรมหลักๆ คือเริ่มจากการค้ำต้นโพธิ์ (ชาวบ้านมีความเชื่อว่าจะช่วยสะเดาะเคราะห์และต่ออายุ) ขึ้นวัดรับศีล การสร้างสะพานหรือการขอขมาสะพาน (ชาวบ้านมีความเชื่อว่าอายุจะยืนขึ้น) และการกราบไหว้ขอขมาพ่อแม่ หรือบรรพบุรุษที่ได้ล่วงลับไปแล้ว
- เดือนพฤษภาคม ประเพณีบุญบ้องไฟ (ลิเกาะ) เป็นงานที่จัดขึ้นเพียง 1 วัน คือ ในวันขึ้น 15 ค่ำ
- เดือนมิถุนายน เป็นการถวายผ้าอาบน้ำฝน
- เดือนกรกฎาคม ประเพณีงานเข้าพรรษา เป็นงานที่ชาวบ้านจะเข้าวัดตลอดทั้ง 4 คืน 3 วัน ตั้งแต่คืนวันขึ้น 13 ค่ำ เพื่อรับศีลและตักบาตรในทุกเช้า พร้อมกับการถวายเทียนที่ทำมาจากขี้ผึ้งของชาวบ้านในแต่ละครัวเรือน
- เดือนสิงหาคม งานผูกข้อมือ หรือ ไคจูลาเคาะ เป็นงานทำบุญในวันขึ้น 15 ค่ำ เพื่อเรียกขวัญคนทั้งชุมชน ภายในพิธีการชาวบ้านจะเตรียมข้าวเหนียว งา ข้าวเหนียวตูดแหลม อ้อย กล้วย ข้าวเหนียวหุงสุก ดอกไม้ น้ำด้ายขาว และไม้เคาะเรียกขวัญ
- เดือนกันยายน งานทำบุญเรือสำเภา หรือ มาโนกะบ๋อง เป็นการทำบุญถวาย อาหารให้แก่พระสงฆ์ โดยงานจะจัดทั้งหมด 3 วัน ในวันแรกจะเป็นการขึ้นวัดทำบุญ วันที่สองจึงจะเป็นสร้างเรือสำเภาจากไม้ไผ่ และวันที่สามเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ ชาวบ้านจะนำเทียน 1,000 เล่ม กรวย และดอกไม้ 1,000 ดอก ธนูพร้อมลูกธนู (สะหนู) 1,000 อัน และธง (โกไค) 1,000 อัน นํามาตกแต่งที่เรือ พร้อมกับนําเสบียง เช่น กล้วย มะพร้าว หมาก ต้นข้าว พริก ฯลฯ มาใส่ไว้ข้างในเรือ แล้วจึงนําถวายให้กับพระ ชาวบ้านมีความเชื่อว่าจะทำให้ได้ผลผลิตดีไม่อดยาก
- เดือนตุลาคม งานประเพณีออกพรรษา จะจัดงานทั้งหมด 3 วัน ในวันแรก ชาวบ้านจะขึ้นวัดทำบุญ สวดมนต์ฟังเทศน์ วันที่สองชาวบ้านจะเริ่มสร้างเจดีย์ไฟ (ปงมี่) จากไม้ไผ่ เพื่อไว้สำหรับจุดเทียน ในคืนวันที่สามชาวบ้านจะนําเทียนที่ทำเองจากขี้ผึ้ง ซึ่งเทียนแต่ละเล่มจะมีไส้ เทียน ทำมาจากด้ายขาวที่ไม่เท่ากันตามอายุของเจ้าของเทียน โดยจะต้องเพิ่มจำนวนด้ายอีก 1 เส้น หรือให้เกินอายุจริงเจ้าของเทียน 1 ปี ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการต่ออายุหรือสะเดาะเคราะห์ แต่ในปัจจุบันขี้ผึ้งสำหรับการทำเทียนหาได้ยากมากขึ้น หากไม่ทำไว้ในปีก่อนๆ ชาวบ้านจะนิยมซื้อมาแทน การทำขึ้นเอง มาปักไว้บริเวณเจดีย์ หลังการขึ้นวัดไหว้พระเสร็จสิ้น
- เดือนพฤศจิกายน งานบุญกฐิน หรือ โบวเลี่ยกะเท่อ จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ โดยชาวบ้านจะจัดทำกระทงจากไม้ไผ่ (ปุงคะกู) และนําผลผลิตภายในไร่ ไม่ว่าจะเป็น ข้าว ฟักเขียว เผือก พริก ดอกไม้ เป็นต้น ใส่ลงไปในกระทง แล้วจึงนําไปลอยในน้ำ เพื่อเป็นการทำบุญให้แก่พระอุปคุต ชาวบ้านมีความเชื่อว่าจะช่วยให้ผลผลิตภายในไร่งามและชีวิตมีความสุข
- เดือนธันวาคม ประเพณีงานฟาดข้าว (โบพอบือ) เป็นงานประเพณีที่จัดขึ้นหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวของชาวบ้าน เพื่อเป็นการบูชาและขอขมาพระแม่โพสพ ในอดีตชาวบ้านจะจัดงานของแต่ละบ้าน แต่เมื่อได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลไล่โว่ ให้จัดงานฟาดข้าวเป็นงานบุญใหญ่ประจำตำบล ซึ่งจะจัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำในเดือนธันวาคมและจะจัดหมุนเวียน ผลัดเปลี่ยนเป็นเจ้าภาพกันปีละชุมชน ในปีนี้งานฟาดข้าวได้ถูกจัดขึ้นที่ชุมชนบ้านจะแก หมู่ที่ 6 โดยเริ่มตั้งแต่การเลือกไร่เจ้าภาพสำหรับการปลูกข้าวและจัดงานฟาดข้าวประจำปี เมื่อได้เจ้าภาพแล้วชาวบ้านจะร่วมกันลงมือฟันไร่ เผาไร่ ปลูกข้าว เกี่ยวข้าว ตลอดจนการเตรียมสถานที่จัดงาน สำหรับการเตรียมสถานที่จัดงานของชุมชนบ้านจะแก จะใช้วิธีการแบ่งการทำงานออกเป็นบ้าน เนื่องจาก ชุมชนบ้านจะแกเป็นชุมชนที่มีขนาดใหญ่มีหลายๆ หมู่บ้านในหนึ่งหมู่ จึงทำให้ต้องแบ่งการทำงาน ออกเป็นหมู่บ้าน สำหรับการเตรียมงานชาวบ้านจะเริ่มดำเนินการก่อนวันงานประมาณ 3 อาทิตย์ก่อน วันงาน เริ่มจากการถอนหญ้า ตอข้าว และตอข้าว เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการฟาดข้าว ลานจอดรถ โรงครัว ห้องน้ำ และที่พักแขก ในปีนี้เป็นการจัดงานใหญ่เพราะมีแขกที่เข้าร่วมงานเป็น “บุคคลสำคัญ” คือ ผู้ช่วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี รวมถึงบุคคลภายนอกที่เข้ามาร่วมงาน พร้อมกับการนําอาหารและสิ่งของมาแจกจ่ายให้กับผู้เข้าร่วมงาน เช่น กลุ่มคนเติมฝัน มูลนิธิหลวงพ่อสมหวัง เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ฯลฯ และร้านค้าที่มาจากทั้งฝั่งประเทศไทยและพม่า
ความเชื่อ
ความเชื่อในต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ พูพาคู๋ หรือ ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ คือต้นไม้ที่ชาวบ้านมีความเชื่อว่าเป็นต้นไม้มีสิ่ง ศักดิ์สิทธิ์สิงสถิตอยู่ ซึ่งจะคอยดูแลปกปูองชาวบ้านและคนนอกชุมชนที่เข้ามาอย่างหวังดีกับชุมชน โดยจะมีผู้ที่ดูแลพูพาคู๋เป็นผู้สูงอายุในชุมชน พูพาคู๋จะตั้งอยู่ใกล้บ้านกับผู้ดูแล หรือต้องอยู่ฝั่งเดียวกับผู้ดูแลโดยติดกับลำห้วย เพราะเมื่อมีผู้ทําผิดในชุมชน ดังต่อไปนี้ผู้ดูแลจะต้องมีการขอขมากับเจ้าบก เจ้าน้ำ และพูพาคู๋ คือ
- หนุ่มสาวที่จะแต่งงานกันต้องบอกกล่าวเจ้าที่บกและเจ้าที่น้ำก่อน โดยมีค่าครูให้กับผู้ดูแลพูพาคู๋ คือ หญิง 5 สลึง และชาย 5 สลึง
- หญิงตามไปกับชายก่อนจัดงานแต่งงานจะต้องมีค่าครู คือ หญิง 5 บาท และชาย 5 บาท
- เมื่อมีการย่องสาว ก่อนจัดงานแต่งงานจะต้องมีค่าครู คือ หญิงและชายคน ละ 7 บาท 50 สตางค์
- ท้องก่อนแต่งงาน เสียค่าครูทั้งชายและหญิงคนละ 33 บาท ข้าวหนึ่งจาน แกงหนึ่งถ้วย ผู้อาวุโสสองสามคนก็พอเสร็จพิธี
ความเชื่อในผีบรรพบุรุษ (อ่องเค๋) ชาวกะเหรี่ยงโผล่วมีความเชื่อในเรื่องของผีบรรพบุรุษ โดยแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ อ่องเค๋ และ บาโพ กล่าวคือ อ่องเค๋ คือผีบรรพบุรุษที่ชาวบ้านกล่าวว่าจะมีอิทธิฤทธิ์ มากกว่าบาโพ เพราะหากคนในบ้านมีการทำผิดพิธีหรือความเชื่อ อ่องเค๋จะทำให้คนในบ้านป่วยหรือมีอันเป็นไป สำหรับการไหว้อ่องเค๋จะต้องใช้เครื่องเซ่นไหว้ คือ “ปลาซิว” หรือ “อ้น” เป็นต้น ตามแต่ที่บรรพบุรุษต้องการ และหากบ้านหลังใดใช้อ้นในการไหว้บรรพบุรุษ แสดงว่าผีบรรพบุรุษในบางหลังนั้นมีอิทธิฤทธิ์ที่แรงมาก ส่วนบาโพชาวบ้านจะไหว้ด้วยดอกไม้และเทียนเท่านั้น สำหรับการไหว้ผีบรรพบุรุษชาวบ้านจะนิยมไหว้กันในเดือนพฤษภาคม หรือตามความสะดวก เพราะในการไหว้แต่ละหลังในแต่ละบ้าน สมาชิกภายในบ้านจําต้องอยู่ครบพร้อมหน้าพร้อมตากันทุกคน ในช่วงของการไหว้สมาชิกในครอบครัวห้ามออกจากบ้านหรือห้ามมีคนภายนอกครอบครัวมาเรียกขานในช่วงของการไหว้ผีบรรพบุรุษ เพราะจะถือว่าพิธีล้มและจะต้องทำการไหว้ใหม่จนกว่าจะสำเร็จพิธี การถือผีของบรรพบุรุษของชาวกะเหรี่ยงโผล่วจะถือผีของ “ฝ่ายหญิง” เนื่องจากการแต่งงานของกะเหรี่ยงโผล่วฝ่ายชายจะต้องย้ายมาอาศัยอยู่กับฝ่ายหญิง การนับถือผีของฝ่ายชายที่แยกครัวเรือนแล้วจึงต้องมานับถือตามฝ่ายหญิง และสำหรับการแยกเรือนของฝ่ายหญิงนั้น ในบรรดาพี่น้องถ้าสมาชิกที่เป็นผู้หญิงแต่งงานเป็นคนแรกจะต้องรอให้พี่น้องผู้หญิงคนต่อไปแต่งงาน ก่อนจึงจะสามารถแบ่งผีบรรพบุรุษหรือแยกบ้านสำหรับการไหว้ผีบรรพบุรุษได้ จนเหลือสมาชิกเพศหญิงคนสุดท้ายหรือเป็นน้องเล็กที่สุดที่จะต้องอยู่ร่วมบ้านกับบิดามารดา เพื่อดูแลบิดามารดาและรวมถึงการไหว้ผีบรรพบุรุษร่วมกับบิดามารดา
ความเชื่อวันกำหนดฤกษ์ ชาวกะเหรี่ยงโผล่วมีความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดวันสำหรับการทำงาน หรือจัดงานมงคล เช่น งานแต่งงาน งานบุญ ฯลฯ โดยจะถือว่าวันดังต่อไปนี้เป็น “วันไม่ดี” ไม่เหมาะสมกับการทำงานสำคัญ เช่น เกี่ยวข้าว หยอดข้าว ฯลฯ หรืองานมงคล เช่น งานแต่งงาน งานบุญ ฯลฯ ในระหว่างที่ผู้ศึกษาได้อาศัยอยู่ในชุมชน ช่วงเวลานั้นเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวนา ผู้ศึกษาได้เข้าร่วมกับชาวบ้านในการเก็บเกี่ยวข้าว และได้สังเกตเห็นว่ามักจะพบ “รวงข้าว” ที่ถูกเก็บเกี่ยวไว้ ก่อนแล้ววางอยู่บริเวณคันนาแต่จะไม่ได้พบทุกครั้ง ในวันหนึ่งผู้ศึกษาได้ขอซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของชาวบ้าน เพื่อไปช่วยเตรียมงานประเพณีฟาดข้าว และได้สอบถามถึงจุดหมายปลายทางของชาวบ้าน ชาวบ้านได้กล่าวว่าจะเดินทางไปที่นา เพื่อไปเก็บเกี่ยวข้าวก่อน เพราะจะเกี่ยวข้าวในวันจริง คือพรุ่งนี้ ซึ่งเป็นวันเสาร์ อันถือว่าเป็นวันไม่ดีในเดือนธันวาคม ชาวบ้านจึงต้องมาเกี่ยวข้าวก่อนเพื่อเป็นการแก้เคล็ด และสำหรับวันที่ถือว่าเป็นวันไม่ดีในความเชื่อของชาวกะเหรี่ยงจะแตกต่างกันไป ดังต่อไปนี้
- เดือนมกราคม พฤษภาคม และกันยายน ถือว่าวันพุธและศุกร์
- เดือนกุมภาพันธ์ มิถุนายน และตุลาคม ถือว่าวันจันทร์และอาทิตย์
- เดือนเมษายน สิงหาคม และธันวาคม ถือว่าวันพฤหัสบดีและเสาร์
- เดือนมีนาคม กรกฎาคม และพฤศจิกายน ถือว่าวันอังคารและพุธ (ในตอนเช้า ถึงเที่ยง)
อาหาร
การอยู่ในป่าทำให้ชาวกะเหรี่ยงโผล่วมีการบริโภคที่สามารถหาวัตถุดิบได้ตามแหล่งธรรมชาติ ทั้งพืชผักและสัตว์ป่า เช่น เก้ง กวาง เม่น ควายป่า ฯลฯ โดยนำมาทำได้หลากหลายเมนู แต่ที่เป็นเมนูเด่น ๆ ในช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยว ชาวบ้านจะมีพืชผลจากไร่ เช่น พริก แตง ฟัก ฟักทอง มัน ข้าว ฯลฯ เมนูอาหารจึงทำได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำพริกแตงเปรี้ยว (น้ำพริกประจำของชาวกะเหรี่ยงโผล่ว) ทองโยะ (ขนมมงคลที่ทำมาจากข้าวเหนียวนำไปตำในครกกระเดื่องจนกลาย มาเป็นแป้ง สามารถนำไปทอด ย่าง หรือรับประทานได้เลย และสามารถเก็บไว้ได้เป็นระยะเวลานาน) เป็นต้น
การแต่งกาย
ชาวกะเหรี่ยงโผล่วจะมีวัฒนธรรมการแต่งกายเป็นของตนเอง ผู้ที่ยังไม่แต่งงาน เพศหญิงจะสวมใส่ชุด “ไชคูกี่” มีลักษณะเป็นชุดขาวคลุมยาวทั้งตัว และมีการปักลายผ้าบริเวณคอ ไหล่ และแขนของชุด ซึ่งการปักลายผ้าจะมีลักษณะมาจากธรรมชาติหรืออุปกรณ์ทางการเกษตร เช่น ลายเวมิ (สวิง) ลายตะตองทาย (กล้ามกุ้ง) ฯลฯ และเพศชายที่ยังไม่แต่งงานจะสวมใส่ชุด “ไชพู” มีลักษณะของชุดและการปักลายผ้าเช่นเดียวกับเพศหญิง แต่จะมีความแตกต่างกันที่ลายปักผ้า เช่น ลายชะคูล้า ลายทีลูก่า ลายโปวกี่ ฯลฯ สำหรับผู้ที่แต่งงานแล้วเพศหญิงจะสวมใส่ชุดที่ประกอบไปด้วย “แชงโหว” คือเสื้อมีความยาวถึงครึ่งตัวและมีลวดลายการถักทอแบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ และ “นิบุ” คือผ้า มีการปักลายผ้าที่มาจากธรรมชาติหรืออุปกรณ์ทาง การเกษตรและเพศชายที่แต่งงานแล้วจะสวมใส่ “แชงโม่งคู” คือเสื้อที่มีสีขาวและมีลักษณะเหมือนเสื้อม่อฮ่อม และสวมใส่ “ทูดุ่ง” คือโสร่ง มีลักษณะเป็นเหมือนผ้าถุงแต่จะมีสีชมพูทั้งผืนเป็นหลัก และมีลวดลายที่แตกต่างกันออกไป
ในปัจจุบันจึงพบการแต่งกายชุดประจำกลุ่มชาติพันธุ์จะนิยมสวมใส่กันในวันสำคัญเป็นส่วนใหญ่ เช่น งานบุญ งานแต่งงาน งานต้อนรับบุคคลสำคัญ ฯลฯ ซึ่งในบางครั้งก็เป็นการแต่งกายด้วยชุดของกลุ่มกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ นอกจากนี้ในปัจจุบันยังพบว่าภายในชุมชนมีเพียงไม่กี่ครัวเรือนที่ยังมีการทอผ้าทั้งสำหรับการสวมใส่เองภายในครัวเรือนและสำหรับจําหน่ายให้กับคนในชุมชนและนอกชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มทอผ้าของชุมชน ที่ยังมีการพยายามอนุรักษ์ลายผ้าและคิดค้นลายผ้าใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ ในอดีตชุดแต่งกายจะทอมาจากฝ่ายที่ปลูกภายในชุมชน และเป็นสีที่ย้อมจากธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงมาเป็น เส้นด้ายสังเคราะห์มากขึ้น แต่เมื่อได้รับการสนับสนุนให้มีการทอผ้าด้วยเส้นด้ายย้อมสีธรรมชาติจาก “มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร” ทำให้ในขณะนี้กลุ่มทอผ้าเริ่มมีการปรับเปลี่ยนมาใช้เส้นด้ายที่ย้อมจากสี ธรรมชาติมากขึ้น รวมถึงการคิดค้นหาวัตถุดิบจากธรรมชาติ เพื่อนำมาย้อมเส้นด้านสำหรับการทอผ้า
กองทุนชุมชนและแหล่งกู้ยืม
การกู้ยืมของคนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นการหยิบยืมภายในชุมชนเอง และการกู้ยืมจากพ่อค้าที่รับซื้อหัวบุก ด้วยวิธีการที่จะจ่ายเงินให้กับคนในชุมชนก่อน เมื่อถึงฤดูกาลการเก็บหัว บุกพ่อค้าก็จะเข้ามารับผลผลิตจากผู้ที่กู้ยืมเงินตามจำนวนที่กู้ยืมไป
กลุ่มทางการเมือง
ชาวบ้านบ้านจะแกาไม่มีการแบ่งกลุ่มทางการเมืองมากนัก ส่วนใหญ่จะ เป็นการแบ่งกลุ่มผู้นำชุมชน และเมื่อมีการเลือกตั้งภายในชุมชน ก็มักจะมีการแข่งขันปกติ แต่ไม่มี เหตุการณ์รุนแรง เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่มีลักษณะที่เป็นเครือญาติกัน
ในอดีตมีการศึกษาเขียนและอ่านภาษากะเหรี่ยงที่วัดบ้านจะแก ต่อมามีการจัดตั้งโรงเรียนบ้านจะแกขึ้นส่งผลทำให้การเรียนการสอนภาษากะเหรี่ยงที่วัดบ้านจะแกเริ่มหายไป เนื่องจากเมื่อมีระบบการศึกษาเข้ามาเด็กจำต้องเข้ารับการศึกษาเรียนภาษาไทยตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับ จึงทำให้การเรียนภาษากะเหรี่ยงน้อยลงโดยเฉพาะภาษาอ่านและเขียนได้เริ่มหายไปจากชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่จะพบว่าผู้ที่ยังสามารถเขียนและอ่านภาษากะเหรี่ยงได้นั้นเป็นวัยผู้สูงอายุ ส่วนวัยเด็กและเยาวชนตอนนี้พบว่าไม่สามารถที่จะอ่านและเขียนภาษากะเหรี่ยงได้เลย
ภาครัฐได้เข้ามาจัดตั้งการปกครองให้กับชุมชน การตั้งอยู่ในป่าลึกและเป็นแนวชายแดนของประเทศไทย ทำให้ในขณะนั้นสภาพเส้นทางและการคมนาคมสัญจรมายังชุมชนเป็นไปอย่างยากลําบาก รวมถึงความเสี่ยง ทำให้ภาครัฐต้องเข้ามาจัดตั้งการปกครองให้กับชุมชน ซึ่งในขณะนั้นเดินทางโดยการใช้ช้างเป็นสัตว์พาหนะ ผู้นำชุมชนที่ทางการได้จัดตั้งเป็นคนแรกให้กับชุมชน คือ นายปันจอ และสาเหตุที่เลือกนายปันจอเป็นผู้นำชุมชน เนื่องจากนายปันจอเป็นคนที่แข็งแรง เข้มแข็ง กล้าหาญ และชาวบ้านมีความเกรงกลัว เพราะนายปันจอดำรงชีพด้วยการเป็นโจร จึงทำให้ทางการเลือกนายปันจอขึ้นเป็นผู้นำชุมชน เพื่อที่จะสามารถดูแลปกครองชาวบ้านได้และผู้นำคนต่อมาก็คือนายหม่องชี เป็นผู้ที่มีคุณธรรม ชื่นชอบในเรื่องของศาสนา และเป็นผู้ที่รู้หนังสือ จึงได้รับเลือกให้เป็นผู้นำชุมชนบ้านจะแก ในระหว่างการปกครองของผู้ใหญ่บ้านหม่องชี เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2500-2512
ชุมชนบ้านจะแก เป็นชุมชนที่มีพื้นที่แนวเขตตั้งอยู่ติดต่อกับประเทศพม่า จึงทำให้ประชากรภายในชุมชนทั้งผู้มีสัญชาติไทยและไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อพยพย้ายถิ่นมาจากประเทศพม่า โดยได้รับการชักชวนจากญาติพี่น้องที่อาศัยอยู่ฝั่งไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ของหย่อมบ้านพุหม่องและหย่อมบ้านพุจือ ซึ่งจากการลงพื้นที่ศึกษาและอาศัยอยู่ในชุมชน พบว่า แม้ว่าคนในชุมชนจะมีสิทธิในการรับรัฐสวัสดิการต่าง ๆ จากภาครัฐก็ตาม แต่หากกล่าวถึงความสามารถในการเข้าถึงยังพบว่าคนในชุมชนไม่สามารถเข้าถึงสิทธิและรัฐสวัสดิการที่ควรจะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงการรักษาพยาบาล การเข้าถึงการศึกษา การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การเข้าถึงระบบสาธารณูปโภค เป็นต้น
การเข้ามาของระบบสาธารณูปโภค ท่อประปา คือสิ่งแรกที่ชาวบ้านได้รับในการพัฒนาระบบประปาภูเขาของชุมชนหลังการออกจากพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะในอดีตชาวบ้านจะใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติสำหรับการอุปโภคและบริโภค ซึ่งจะไปใช้โดยตรงที่ลำห้วยจึงเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ทางสังคมของชาวบ้านในการพูดคุยซึ่งกันและกัน แต่เมื่อมีการพัฒนาระบบน้ำประปาภูเขาขึ้นทำให้ชาวบ้านเกิดความสะดวกสบาย และเกิดการพัฒนาห้องน้ำและห้องอาบน้ำขึ้น ในปัจจุบันมีการต่อจากน้ำผุดที่อยู่บริเวณชุมชน ในบริเวณหย่อมบ้านหัวนา จะแก แปดหลัง กลางนา และวาชูคุ จะมีการต่อจากบริเวณน้ำผุดที่อยู่ทางทิศใต้ของชุมชน โดยแบ่งออกเป็นหลายสาย ส่วนหย่อมบ้านพุจือมีการ่อ จากห้วยพุจือ หย่อมบ้านพุหม่องและปางสนุกต่อจากน้ำผุดบริเวณหย่อมบ้าน
แผงโซล่าเซลล์เป็นระบบสาธารณูปโภคที่ชาวบ้านได้รับการสนับสนุนในยุคของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในช่วงปี พ.ศ. 2546 จึงทำให้ชาวบ้านเริ่มที่จะมีไฟฟ้าใช้จากระบบการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์มาจวบจนกระทั่งในปัจจุบัน และในปัจจุบันมีการใช้ไฟจากการปั่นไฟโดยใช้เครื่องของรถคูโบต้า ซึ่งนิยมใช้ในช่วงเวลาที่ต้องการใช้ไฟในปริมาณมาก เช่น งานบุญประเพณี การขึ้นบ้านใหม่ งานเลี้ยงฉลอง ฯลฯ ต่อมาคือสัญญาณอินเทอร์เน็ตดาวเทียม เนื่องจากในพื้นที่ของชุมชนไม่มีสัญญาณการติดต่อสื่อสารในพื้นที่ มีเพียงสัญญาณอินเทอร์เน็ตจากช่องสัญญาณดาวเทียมที่ปล่อยให้ชาวบ้านได้ใช้ สำหรับการติดต่อสื่อสารในชุมชนบ้านจะแกจะมีบริเวณที่ปล่อยสัญญาณให้กับชาวบ้านคือ หน่วยทหารพราน สาธารณสุขบ้านจะแก โรงเรียนบ้านหินตั้ง ซึ่งชาวบ้านที่หย่อมบ้านหัวนา จะแก แปดหลัง กลางนา วาชูคุ และพุจือ จะมาใช้บริการที่สถานที่ดังกล่าว และหย่อมบ้านพุหม่องและปางสนุกจะนิยมไปใช้ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านปางสนุก
สาธารณสุขชุมชนบ้านจะแกเป็นอีกหนึ่งการพัฒนาที่เข้ามาในหมู่บ้าน ในอดีตชาวบ้านใช้การรักษาพยาบาลโรคภัยไข้เจ็บ การบาดเจ็บ หรือการคลอดลูก ด้วยวิธีการใช้แพทย์แผนโบราณ กล่าวคือภายในชุมชนจะมีชาวบ้านที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการวินิจฉัยโรคและรักษาตามอาการของผู้ป่วย โดยการใช้ความเชื่อและยาสมุนไพรจากพืชในชุมชนควบคู่กันไปด้วย เช่น หมอเป่า หมอจับเส้น หมอสมุนไพร หมอตําแย ฯลฯ ในการรักษาพยาบาลของชาวบ้านจะไม่ใช่การรักษาแบบมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มากนัก แต่จะแฝงไปด้วยความเชื่อที่มีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น หากเกิดอาการเจ็บป่วยโดยไม่รู้สาเหตุอาจจะเกิดจากการละเมิดสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (วางเสาบ้านไม่ถูกตำแหน่ง ทำไร่ในพื้นที่ต้องห้าม เป็นต้น) ฯลฯ ดังนั้นการรักษาพยาบาลของชาวบ้านจะไม่ใช่เพียงการถามถึงสาเหตุที่มาของการเจ็บป่วย และให้ยาตามอาการเจ็บป่วยเท่านั้น แต่จะมีการรักษาด้วยความเชื่อของชาวบ้าน ซึ่งสังเกตได้จากการเรียกค่ารักษาพยาบาลว่า “ค่าครู” พร้อมกับการถวายเทียนและดอกไม้ แต่เมื่อมีการรักษาแบบแพทย์ปัจจุบันเข้ามา ทำให้ชาวบ้านมีทางเลือกในการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น และเริ่มเปลี่ยนจากการใช้ยาสมุนไพรไปเป็นการใช้ยาแผนปัจจุบัน ในปัจจุบันจึงพบว่าพืชสมุนไพรเริ่มจะหายไปจากชุมชน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในการใช้ยาสมุนไพรหรือการรักษาพยาบาลอื่น ๆ เพราะชาวบ้านที่มีความต้องการเข้ามาเรียนรู้เรื่องการรักษาพยาบาลแบบโบราณมีจำนวนลดลง รวมถึงมีทางเลือกในการรับการรักษาที่สาธารณสุขชุมชน
มีการเข้ามาของระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เมื่อ พ.ศ. 2528 ทําให้เกิดโรงเรียนบ้านจะแก ซึ่งได้รับการเปลี่ยนชื่อมาเป็นโรงเรียนบ้านหินตั้งในภายหลัง โดยผู้อํานวยการโรงเรียนในขณะนั้นคือ ผอ.สมเจตน์ พงษ์วิสุวรรณ์ เนื่องด้วยได้เล็งเห็นถึง “เขาหินตั้ง” อันเป็นสัญลักษณ์ของบ้านจะแกว่าสามารถที่จะนำมาทําเป็นสัญลักษณ์ของโรงเรียนได้ จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเพื่อให้สอดคล้องกับสัญลักษณ์ของโรงเรียน เริ่มแรกโรงเรียนบ้านจะแกมีระดับชั้นการศึกษาถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และต่อมาจึงได้ขยายระดับชั้นการศึกษาถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 คุณครูส่วนใหญ่ที่เดินทางเข้ามาสอนยังโรงเรียนบ้านจะแกเริ่มแรกเป็นคนนอกชุมชนมาจากอําเภอสังขละบุรี แต่เมื่อเด็กที่ชุมชนเริ่มจบการศึกษาและลงไปศึกษาต่อยังข้างนอกในระดับที่สูงขึ้น บางส่วนได้เลือกเข้าศึกษาในคณะครุศาสตร์และกลับมาสอนยังชุมชนของตนและหลังจากการเกิดขึ้นของโรงเรียนบ้านจะแกส่งผลทําให้การเรียนการสอนภาษากะเหรี่ยงที่วัดบ้านจะแกเริ่มหายไป เนื่องจากเมื่อมีระบบการศึกษาเข้ามาเด็กจําต้องเข้ารับการศึกษาตามสิทธิขั้นพื้นฐาน จนปัจจุบันไม่พบการเรียนการสอนภาษากะเหรี่ยงอยู่ในชุมชน ทําให้ภาษากะเหรี่ยงโดยเฉพาะภาษาอ่านและเขียนได้เริ่มหายไปจากชุมชน ชาวบ้านหลายคนได้กล่าวว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงว่าในอนาคตการอ่านและเขียนภาษากะเหรี่ยงจะหายไปจากชุมชนและอาจจะหมายรวมถึงภาษาพูดเช่นกัน เพราะยิ่งได้รับวัฒนธรรมจากภายนอกผ่านการสื่อสารกับคนนอกชุมชน เพลง ละคร เป็นต้น มากขึ้นเท่าไรก็จะยิ่งทําให้ชาวบ้านซึมซับและเรียนรู้จนอาจจะลืมภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ตนไป
นอกจากนี้การศึกษายังเป็นเครื่องมือที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับชาวบ้านได้ เพราะเมื่อชาวบ้านได้รับการศึกษาในโรงเรียน ทําให้ได้เรียนรู้ภาษาไทยและความรู้อื่น ๆ ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดในระดับที่สูงขึ้นไปได้ หรืออาจจะกล่าวได้ว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้มีทางเลือกในการดําเนินชีวิตมากขึ้น ในอดีตอาชีพที่นึกถึงในชุมชนอาจจะหนีไม่พ้นการทําเกษตรกรรม แต่เมื่อได้รับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นสามารถที่จะเลือกทางเดินของชีวิตได้ เช่น บางคนอาจจะเลือกเป็นครูหรือหมออนามัย ฯลฯ หรือบางคนวุฒิการศึกษาสามารถนำไปใช้ในการสมัครงานได้ และนำมาซึ่งรายได้ประสบการณ์และความรู้ สําหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งตนและครอบครัว ชุมชนบ้านจะแก มีสถาบันการศึกษาอยู่ทั้งหมด 4 แห่ง ดังต่อไปนี้
- ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านจะแก ศูนย์พัฒนาเก็ดเล็กบ้านพุจือและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านปางสนุกอยู่ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนตําบลไล่โว่ (อบต.ไล่โว่)
- โรงเรียนบ้านหินตั้งเป็นโรงเรียนที่อยู่ภายใต้การดูแลของสํานักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลศึกษาปีที่ 1 จนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
- โรงเรียนตํารวจตระเวนชายแดนบ้านปางสนุก เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลศึกษาปีที่ 1 จนถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
- ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
ในปี พ.ศ. 2517 พื้นที่อยู่อาศัยรวมถึงที่ดินทำกินของชาวบ้านได้ถูกประกาศให้เป็น “เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก” และในปี พ.ศ. 2534 ก็ถูกประกาศเป็น “พื้นที่มรดกทางธรรมชาติของโลก” การกลายมาเป็นพื้นที่ทางธรรมชาติอันทรงคุณค่าของระดับประเทศและระดับโลก ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตของชาวบ้านเป็นอย่างมาก เพราะวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในผืนป่าต้องอิงอาศัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งอาหาร สร้างที่อยู่อาศัย เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิถีการทำไร่หมุนเวียน ที่มักจะถูกเข้าใจว่าเป็นการ “การทำไร่เลื่อนลอย”
กล่าวคือการบุกรุกพื้นที่ไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีคติทางวัฒนธรรมแฝงอยู่ เสมือนการทำไร่หมุนเวียนจึงถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยร้ายทำลายธรรมชาติ เพราะต้องบุกรุกป่าเพื่อทำการเกษตรไปเรื่อย ๆ และวิธีการการบุกรุกป่า ไม่ว่าจะเป็นการฟันทำลายต้นไม้ การเผาซากป่า เป็นต้น ล้วนเป็นกระบวนการที่ทำให้ ภาครัฐได้กล่าวว่าคนกะเหรี่ยง “เป็นผู้บุกรุกและทำลายป่า” จึงไม่อาจที่จะอาศัยอยู่ภายในผืนป่าได้ ซึ่งกระบวนการความคิดดังกล่าวเกิดจากความไม่เข้าใจถึงวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ว่าไม่ใช่การทำลายหรือบุกรุกผืนป่าไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีการคำนึงและฟื้นฟูรักษาป่า เพราะแม้ว่าในอดีตชาวบ้านจะนิยมเลือกพื้นที่ป่าที่มีอายุมากกว่า 10 ปีหรือไม่เคยผ่านการเป็นไร่มาก่อน ซึ่งก็เปรียบเสมือนการบุกรุกป่า แต่ในกระบวนการทำไร่ของชาวบ้านนั้นแฝงไปด้วยความเชื่อตั้งแต่การเลือกพื้นที่ทำไร่ เช่น ห้ามทำไร่ในพื้นที่อยู่ในบริเวณที่มีน้ำผุดและน้ำมุด ห้ามทำไร่ในพื้นที่ต้นน้ำ ฯลฯ เพราะมีความเชื่อว่าจะทำให้เกิดความเดือดร้อนในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยจนถึงขั้นเสียชีวิต จนไปถึงกระบวนการเก็บเกี่ยวผลผลิตล้วนแล้วแต่มีคติความเชื่อของชาวกะเหรี่ยงและได้รับการถ่ายทอดเรื่อยมาจนเป็นวัฒนธรรมอันสำคัญที่สะท้อนได้ถึงตัวตนของชาวกะเหรี่ยง รวมถึงความเชื่ออื่น ๆ ที่ชาวกะเหรี่ยงล้วนมีต่อผืนป่าพื้นที่ที่ให้ชีวิตแก่พวกเขา
แต่ภาครัฐได้กลับเอาวัฒนธรรมเหล่านี้มาทำลายและผลักดันให้ชาวกะเหรี่ยงไม่สามารถอาศัยอยู่ในผืนป่าได้ โดยการนําเอา “กฎหมาย” ตัวหนังสือที่ถูกเขียนขึ้นโดยชนชั้นผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศ เข้ามาจัดการ จำกัด และควบคุมชีวิตของชาวกะเหรี่ยงผู้อาศัยอยู่ในผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกมานับกว่า 200 ปี และยังมีประวัติศาสตร์ในการเป็นผู้ดูแลรักษาชายแดนให้กับสยามประเทศ แต่เรื่องราวเหล่านี้กับได้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์หลักของชาติไทย จนทำให้ชาวกะเหรี่ยงกลายมาเป็นเพียงชนชายขอบผู้บุกรุกและทำลายผืนป่าอันทรงคุณค่าแห่งการรักษาไว้โดยปราศจากมนุษย์
ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก
นภาพร อติวานิชยพงศ์. (2553). โครงการถอดบทเรียนพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ (รายงานการวิจัย). กรุงเทพฯ: ม.ป.พ..