Advance search

ถนนสายเล็กที่มุ่งหน้าสู่หมู่บ้านเมืองลวง อบอวลด้วยวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อที่ได้เริ่มฟื้นฟูและอนุรักษ์วัฒนธรรม สร้างความภาคภูมิใจและรายได้สู่ชุมชน

หมู่ที่ 4, หมู่ที่ 5
บ้านลวงเหนือ
ลวงเหนือ
ดอยสะเก็ด
เชียงใหม่
เทศบาลลวงเหนือ โทร. 0-5310-4548
ไทลื้อ
ปวีณา สุริยา
9 มี.ค. 2023
ปวีณา สุริยา
14 มี.ค. 2023
บ้านเมืองลวง


ถนนสายเล็กที่มุ่งหน้าสู่หมู่บ้านเมืองลวง อบอวลด้วยวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อที่ได้เริ่มฟื้นฟูและอนุรักษ์วัฒนธรรม สร้างความภาคภูมิใจและรายได้สู่ชุมชน

บ้านลวงเหนือ
หมู่ที่ 4, หมู่ที่ 5
ลวงเหนือ
ดอยสะเก็ด
เชียงใหม่
50220
18.92548
99.14000
เทศบาลตำบลลวงเหนือ

การตั้งหมู่บ้าน หรือชุมชนของชนเผ่าไทต่างๆ ในเชียงใหม่ และจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือนั้น นักวิชาการส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าเป็นไปตามนโยบาย เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมืองของพระเจ้ากาวิละ โดยในสมัยนั้นพระองค์ได้ส่องกองทัพล้านนาออกไปเกลี้ยกล่อมและกวาดต้อนไพร่พลออกจากเมืองต่าง ๆ เช่น ในปี พ.. 2347 พระยาอุปราชธรรมลังกา ยกกองทัพไปตีเมืองของชาวไทลื้อและไทเขิน เช่น เมืองยอง บ้านยู้ เมืองหลวย เมืองกาย เมืองเลน เมืองเชียงขาง เมืองวะ เมืองลวง เมืองหุน เมืองแจ เมืองฮาย เมืองเชียงเจิง เมืองท่าล่อ เมืองพาน เมืองม้า เมืองล่า เมืองวัง เมืองมาง เมืองขวง เมืองถาด เมืองขาง และเมืองสูง กวาดต้อนไพร่พลมาใส่บ้านเมืองแยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่ตำบลต่าง ๆ ในอำเภอเมือง อำเภอสันทราย อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอสันกำแพง ของจังหวัดเชียงใหม่ และท้องที่จังหวัดใกล้เคียง โดยชุมชนเหล่านั้นยังรักษาชื่อบ้านเดิมของตนเอาไว้

การตั้งถิ่นฐานของชาวไทลื้อที่บ้านเมืองลวง ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านเมืองลวงเล่าสืบกันมาว่า บรรพบุรุษของชาวบ้านเมืองลวงอพยพมาจากแคว้นสิบสองปันนา ทางใต้มณฑลยูนนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เนื่องจากบ้านเมืองตกอยู่ในสภาวะศึกสงคราม ไม่อาจทำมาหากินเป็นปกติสุขได้ ระยะเวลาที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน หรือ วันตั้งบ้านชาวบ้านจารึกไว้ที่เสาหลักบ้านที่เพิ่งสร้างเพิ่มเติมใหม่  คือ วันเสาร์ที่ 3 เมษายน พ.. 1932 ดังนั้นชาวบ้านยึดถือวันเสาร์ว่าเป็นวันดี เป็นธรรมเนียมของหมู่บ้านว่าจะไม่ทำสิ่งที่ไม่เป็นมงคลในวันเสาร์ เช่น ไม่เสียศพวันเสาร์

ศักราชที่มาตั้งบ้านนั้นอยู่ในระหว่างรัชสมัยของพระเจ้าแสนเมืองมา (.. 1931 – 1954) กษัตริย์พระองค์ที่ 10 ของราชวงศ์มังราย พงศาวดารโยนกได้กล่าวถึงการที่พระเจ้าแสนเมืองมาและพระมเหสีเสด็จประพาสหัวเมืองต่าง ๆ ถึงสิบสองปันนา เป็นเวลาถึง 7 เดือน ขณะที่เสด็จกลับมาถึงพันนาฝั่งแกนได้ประสูติพระโอรสจึงขนานพระนามว่า เจ้าสามฝั่งแกนตามสถานที่ประสูติ ต่อมาเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.. 1954 ทรงโปรดให้สร้างวัดขึ้นที่พันนาฝั่งแกน เรียกว่าวัดพึงหรือวัดบุรฉัน เป็นวัดใหญ่ในตำบลฝั่งแกน ยิ่งกว่านั้นยังให้นำกัลปนา ค่าส่วยสำหรับพระสงฆ์ในที่ต่างๆ ไปขึ้นแก่วัดบุรฉันเพียงวัดเดียว เลยสร้างความไม่พอใจแก่พระสงฆ์อื่นเป็นอันมาก วัดบุรฉันต่อมาาเรียก วัดศรีมุงเมือง เป็นวัดประจำหมู่บ้านเมืองลวง ภายในวัดมีเจดีย์ 9 องศ์ สร้างเป็นพุทธบูชา โดยพระเจ้าสามฝั่งแกน

เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจและอาจเกี่ยวข้องกับการอพยพของชาวไทลื้อเข้ามาตั้งถิ่นฐานในล้านนาอีก 2 เหตุการณ์ คือ สงครามกับฮ่อในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน และการยกทัพไปตีสิบสองปันนาในสมัยพระเจ้าติโลกราช สงครามกับฮ่อในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนเกิดจากพระยาฮ่อลุ่มฟ้าเมืองแสหลวง ส่งคนมาทวงบรรณาการเป็นส่วยข้าว จำนวน 20,000 หาบ จากอาณาจักรล้านนา พระเจ้าสามฝั่งแกนทรงปฏิเสธไม่ยอมส่งให้ อ้างว่าธรรมเนียมดังกลุ่มถูกยกเลิกไปตั้งแต่สมัยพระเจ้ากือนาแล้ว พระยาฮ๋อลุ่มฟ้าจึงส่องกองทัพมาโจมตีเมืองเชียงแสน โดยตั้งทัพอยู่ที่เมืองเชียงรุ่งสืบสองปันนา การรบพุ่งยืดเยื้อมาเป็นเวลาถึง 3 ปี สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ถูกเกณฑ์แรงงานและเสบียง จนถึงกับ ไพร่พลเมืองแตกฉานออกไปอยู่ป่าอยู่เถื่อน ไม่เป็นบ้านเป็นเมืองในที่สุดพระเจ้าสามฝั่งแกนส่องกองทัพล้านนารุกเข้าโจมตีกองทัพฮ่อที่เมืองยอง ฮ่อพ่ายแพ้ถอยหนีจนถึงสิบสองปันนา

การยกทัพไปตีสิบสองปันนาของพระเจ้าติโลกราช ในปี พ.. 1998 นั้น พระองค์ทรงยกทัพหลวงไปเมืองเชียงรุ้ง ตีได้เมืองตุ่น เมืองลวง แล้วก็ถอยกลับ ปีต่อไปยกไปตีได้เมืองวิง บ้านแจ้ เมื่อประมวลเหตุการณ์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยใช้หลักฐานทางโบราณคดี และหลักฐานประวัติศาสตร์จากเอกสารและคำบอกเล่าแล้ว สรุปได้ว่า ในปีพุทธศตวรรษที่ 20 นั้น บ้านเมืองลวงและบริเวณใกล้เคียงมีชุมชนอยู่แล้ว เรียกว่า พันนาฝั่งแกน ในบริเวณหมู่บ้านเมืองลวงปัจจุบัน ห่างจากวัดศรีมุเมืองประมาณ 5 – 600 เมตร เป็นบริเวณเนินดินกว้าง มีคูน้ำเล็ก ๆ และคันดินล้อมรอบ สมัยก่อนเป็นดงไม้สีเสียดชาวบ้านเรียก เวียงเก่าหรือดงเวียงแก่น บริเวณนี้ดูจากแผนที่ทางอากาศจะเป็นเนินดินสูงขึ้นมา มีต้นไม้ครึ้มและที่น่าสังเกตคือ มีทางเดินอ้อมทั้ง ๆ ที่สามารถเดินตัดตรงผ่านได้เลย เหมือนว่าชาวบ้านไม่กล้าล่วงล้ำเข้าไป เพราะมีความเชื่อถือหรือกลัวอยู่ ชาวบ้านที่มาทำนาเคยขุดได้กล้องยาสูบ พระ และมีเศษอิฐอยู่บ้าง มีเศษถ้วยชามที่ชาวบ้านเก็บได้ ซึ่งเมื่อนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเครื่องถ้วยภาคเหนือ คือ อาจารย์จอห์น ซี ซอว์ ดูแล้ว ก็ลงความเห็นว่ามีน้ำเคลือบแบบเดียวกับที่พบที่เวียงท่ากาน อาจจะเป็นเครื่องถ้วยสมัยหริภุญไชย เชื่อว่าเป็นเวียงของพระเจ้าสามฝั่งแกนย้ายมาจากบริเวณวัดศรีมุงเมือง ดังนั้นจึงมีความยำเกรงสถานที่ เล่ากันว่าเจ้าที่แรง ใครที่รุกล้ำเข้าไปจะเจ็บป่วย ต้องทำพิธีเลี้ยงผีเจ้าที่ โดยเฉพาะบริเวณเนินดินที่มีต้นไม้ใหญ่ใกล้ฟาร์มเลี้ยงหมูของหนานจู ชัยมงคล นั้น ชาวบ้านเชื่อว่ามีผีเจ้าหน้าที่ที่มักปรากฏเป็นแสงเรือง ๆ ในวันพระ ขอบเขตของดงเวียงแก่นนี้เลยเข้าไปในเขตตำบลหนองแหย่ง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ด้วย

จากภาพถ่ายทางอากาศของบริเวณนี้ จะปรากฏเห็นคันดินเป็นรูปโค้งเรียบอย่างสวยงาม และเป็นทางขวางต่างจากรอยคันนาหรือทางน้ำธรรมดา ในการสำรวจพื้นที่ดังกล่าวพบว่า มีคันดินสูงประมาณ 2 เมตร เป็นระดับเดียวกับเวียงสวนดอก ทางตะวันออกมีร่องรอยเหมือนเป็นกำแพง 2 ชั้น แบบเวียงเจ็ดลิน ทางด้านใต้ของเมืองมีทางน้ำเก่าของแม่กวง สอดคล้องกับคตินิยมในการตั้งเมืองสมัยก่อนที่ใช้แม่น้ำเป็นคูเมืองธรรมชาติ ขนาดเวียงแก่นกว้างยาวประมาณ 600–700 เมตร ขนาดดังกล่าวเป็นขนาดของเมืองโบราณทั่ว ๆ ไป เช่น เมืองพร้าววังหิน รูปร่างของเวียงแก่นเป็นรูปคล้ายเมล็ดถั่ว ผ.. นวลศิริ วงศ์ทางสวัสดิ์ ให้ความเห็นว่าเป็นลักษณะแบบเดียวกับเมืองเก่า ๆ ของพวกชาวพื้นเมืองเดิม เช่น พวกลัวะ มักสร้างเมืองที่ไม่มีรูปร่างแน่นอน ภายหลังเมื่อคนไทเข้ามาตั้งเมืองจึงสร้างหรือปรับปรุงเป็นรูปเรขาคณิต เช่น กลม หรือสี่เหลี่ยมแบบเมืองเชียงใหม่ เชียงแสน เวียงแก่นนี้อาจเป็นเมืองเก่า การที่เวียงนี้ร้างไปสันนิษฐานว่าเป็นเพราะน้ำแม่กวงเปลี่ยนเส้นทางทำให้ขาดแคลนน้ำใช้ในการบริโภค และการเพาะปลูก ในสภาพปัจจุบันนี้บริเวณดังกล่าวมีการเพาะปลูก โดยอาศัยน้ำจากการชลประทาน แต่ชาวบ้านเล่าว่าสมัยก่อนไม่ค่อยมีคนมาทำการเพาะปลูกเป็น นาโหดน้ำ

สำหรับวัดศรีมุงเมืองหรือวัดบุรฉัน ตามตำนานว่าสร้างขึ้นเป็นวัดใหญ่ พระเจ้าสามฝั่งแกนมอบกัลปนา ค่าส่วยจากวัดอื่นๆ ไปขึ้นกับวัดศรีมุงเมืองทั้งหมด จึงสันนิษฐานว่าบริเวณที่ตั้งของวัดนี้ควรต้องเป็นชุมชนขนาดใหญ่พอสวมควร จึงสามารถรองรับเศรษฐกิจของวัดได้ ตามตำนานพงศาวดารไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเป็นชุมชนของชาวไทลื้อหรือไทยวน อาจเป็นชุมชนของชาวไทลื้อก็ได้ เพราะอาณาจักรล้านนานั้นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับดินแดนสิบสองปันนา จะเห็นได้ว่าพระราชมาดาของพระยามังราย คือ นางเทพคำข่าย หรือเทพคำขยายนั้นเป็นพระราชธิดาของท้าวรุ่งแก่นชาย เจ้าเมืองเชียงรุ่ง ข้อมูลจากพงศาวดารที่สนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้ก็คือ การที่พระเจ้าแสนเมืองมาเสด็จประพาสดินแดนสิบสองปันนาแล้วเด็จกลับมาถึงพันนาฝั่งแกนปี พ.. 1932 เป็นปี ตั้งบ้านของบ้านเมืองลวงพอดี ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่จะมีข่าวไทลื้อตามเสด็จกลับมาด้วย เมื่อถึงพันนาฝั่งแกนจึงได้ตั้งถิ่นฐานอยู่

เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับดินแดนสิบสองปันนาในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนและพระเจ้าติโลกราชนั้น แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่จะมีการตั้งชุมชนไทลื้อขึ้นในดินแดนล้านนา โดยที่ชาวไทลื้ออาจหนีภัยสงครามหรือถูกกวาดต้อนมาก็เป็นได้

จากข้อสันนิษฐานของนักวิชาการบางท่านที่ว่า การตั้งถิ่นฐานของชาวไทลื้อในบ้านเมืองลวงนี้เป็นผลมาจากนโยบาย เก็บผ้าใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมืองมีโอกาสเป็นจริง ถ้าพิจารณาในข้อมูลประวัติศาสตร์ที่ว่า ปลายพุทธศตวรรษที่ 23 นั้น สภาพบ้านเมืองของล้านนาเป็นกระจุกกระจวน บ้านห่างนาห่าง บ้านอุกเมืองรก ไปทางใต้ก็กลัวเสือ ไปทางเหนือก็กลัวช้างบ้านเมืองลวงคงตกอยู่ในสภาพเดียวกัน เมื่อบ้านเมืองสงบเรียบร้อย ชาวบ้านจึงกลับมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เดิม ส่วนชาวไทลื้อที่ถูกกวาดต้อนต้องมาใหม่ในช่วงปี พ.. 2347 โดยพระยาอุปราชธรรมลังกา ก็คงพอใจที่จะอยู่ร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันกับตนเอง จึงเป็นการเพิ่มจำนวนชาวไทลื้อที่บ้านเมืองลวงขึ้นมาอีก 

สภาพทั่วไปของหมู่บ้าน 

บ้านเมืองลวง เป็นชื่อที่ชาวบ้านทั่วไปใช้เรียกชื่อหมู่บ้านที่ 4 และหมู่ที่ 5 ของตำบลลวงเหนือ ซึ่งเป็นตำบลที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นที่ 2 ของอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ อาณาเขตของหมู่บ้านเมืองลวงมีดังนี้

  • ทิศเหนือ จดบ้านข้างน้ำ บ้านเมืองวะ บ้านดง
  • ทิศตะวันออก จดตำบลเชิงดอย
  • ทิศตะวันตก จดตำบลหนองแหย่ง อำเภอสันทราย
  • ทิศใต้ จดถนนเชียงใหม่ - ดอยสะเก็ด

ภูมิประเทศของหมู่บ้านเมืองลวงเป็นที่ราบกว้างแม้จะไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่ในบริเวณหมู่บ้าน แต่ก็มีลำเหมืองแม่ลาย ซึ่งเป็นลำเหมืองเก่าที่ชาวบ้านขุดใช้เองกับลำเหมืองชลประทานผ่านเข้ามาในหมู่บ้าน ทำให้สามารถเพาะปลูกพืชได้เป็นอย่างดี ดังนั้นที่ดินล้อมรอบหมู่บ้านจึงอยู่ในรูปของทุ่งนาที่ทำการผลิตเพื่อบริโภคและเป็นรายได้เลี้ยงชีพของชาวบ้านตลอดปี ในบริเวณหมู่บ้านนั้นร่มรื่นด้วยไม้ยืนต้นประเภทต่างๆ ที่มีจำนวนมากที่สุดคือ ต้นหมากและมะพร้าว นอกจากนี้ก็มีไม้ผลอื่นๆ ที่ใช้บริโภคในครัวเรือนและเป็นรายได้พิเศษของชาวบ้าน

ทรัพยากรธรรมชาติของหมู่บ้านเมืองลวงนี้ไม่ใช่ของป่าหรือแร่ธาตุที่มีค่า หากแต่เป็นพื้นดินที่อุดมสมบูรณ์ที่ชาวบ้านให้หยาดเหงื่อแรงงานของตนไถหว่านและเก็บเกี่ยวจนเป็นเงินเป็นทองขึ้นมา พืชผลของหมู่บ้าน เช่น ข้าว ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ยาสูบพริก ผัก ฯลฯ

เส้นทางคมนาคมเข้าสู่หมู่บ้านเมืองลวงเป็นถนนสายเล็ก แยกจากถนนสายเชียงใหม่ - ดอยสะเก็ด ภายในหมู่บ้านมีถนน 2 สาย คือ ถนนลาดยางผ่านวัดศรีมุงเมืองจนถึงทางแยกเข้าหมู่บ้านเมืองวะจึงเป็นถนนดินลูกรัง ถนนสายที่ ผ่านหลังวัดเป็นถนนดินลูกรังคู่ขนานไปกับลำเหมืองแม่ลาย เป็นเส้นทางติดต่อภายในหมู่บ้าน และมีซอยเล็ก ๆ อีกหลายซอย

ภายในหมู่บ้าน ชาวบ้านตั้งบ้านเรือนอยู่สองฝั่ง แนวลำเหมืองแม่ลาย มีการเรียกชื่อกลุ่มบ้านต่าง ๆ ดังนี้ ด้านตะวันตกของเหมืองแม่ลายมีบ้านเวียง บ้านหลวง บ้านพ่อเฒ่าก่ำ บ้านกิ่ว บ้านกอมะตี ด้านตะวันออกของลำเหมืองมีบ้านใหม่หล่ายหน้า บ้านหลวง บ้านกิ๋ว บ้านนาเกี๋ยง บ้านนาลาว เป็นการเรียกรวมกลุ่มย่อย ทั้งนี้เป็นเพราะสมัยก่อนการตั้งบ้านเรือนกระจัดกระจาย แต่ละหลังอยู่ห่างกัน จึงมีการเรียกชื่อให้ชัดเจนลงไป เช่น บ้านเวียงนั้นมีประวัติเล่าว่าเป็นเวียงเก่าของพระเจ้าสามฝั่งแกน ส่วนบ้านหลวงเป็นบ้านที่เริ่มตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นที่แรก และเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน

ลักษณะครอบครัวและญาติ

ชีวิตและครอบครัวของชาวไทลื้อที่บ้านเมืองลวงมีลักษณะเป็นแบบผัวเดียวเมียเดียว (Monogamy) ขนาดของครอบครัวมีขนาดเล็ก ประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูกที่แยกครอบครัวออกมาอยู่ต่างจากครอบครัวเดิมหลังแต่งงาน ลักษณะการสืบสายโลหิตของชาวไทลื้อจะให้ความสำคัญทั้งญาติทางพ่อและญาติทางแม่ คือบุตรจะใช้นามสกุลพ่อ แต่จะใกล้ชิดกับญาติทางแม่ เนื่องจากที่อยู่หลังการแต่งงานจะอยู่กับญาติทางฝ่ายหญิง

การใช้อำนาจภายในครอบครัวจะให้อำนาจแก่บิดาที่เป็นหัวหน้าครอบครัวในการตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ถ้ามารดาเป็นผู้ทำรายได้หลัก การใช้อำนาจจะเอนมาทางฝ่ายหญิงด้วยก็ได้ ลักษณะการสืบมรดก บิดา-มารดาจะแบ่งให้ลูกทุกคนเท่าเทียมกัน สิ่งที่นำมาแบ่งได้แก่ที่ดิน การแบ่งมรดกลักษณะนี้จะทำให้ที่ดินมีขนาดเล็ก เกิดปัญหาที่ี่ดินไม่พอในภายหลัง แต่มีบางครอบครัวที่ยังรักษาที่ดินผืนใหญ่ไว้โดยช่วยกันทำมาหากินที่ดินทั้งผืน แล้วนำผลผลิตมาแบ่งกัน บ้านและที่ดินบริเวณบ้าน มักยกให้ลูกสาวที่ออกเรือนทีหลังสุด มักจะเป็นลูกคนสุดท้อง

ชาวบ้านเมืองลวงเป็นชาวไทลื้อที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่อพยพมาจากแคว้นสิบสองปันนา ตอนใต้ของมณฑลยูนนานประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จีนเรียกชาวไทลื้อว่า Pai – i หรือ Shui – Pai – i แคว้นสิบสองปันนามีพื้นที่ประมาณ 6,000 ตารางไมล์ ทางใต้ติดต่อกับแคว้นพงสาลีและหลวงน้ำทาของประเทศลาว ทางตะวันตกเฉียงใต้จดดินแดนเมืองเชียงตุงและแคว้นไทยใหญ่ของพม่า ภูมิประเทศโดยทั่วไปคล้ายภาคเหนือของไทยและลาวมาก เป็นภูเขาเตี้ย ๆ สลับกับที่ราบริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งเป็นบริเวณที่ชาวไทลื้อตั้งถิ่นฐานอยู่ ไม่ปรากฎว่าชาวไทลื้อตั้งถิ่นฐานอยู่บนภูเขาเลยไม่ว่าจะอพยพไปอยู่ในดินแดนใดก็ตามจนกลายเป็นแบบแผนการตั้งถิ่นฐานของชาวไทลื้อว่าต้องอยู่บนที่ราบเสมอ ทำให้สะดวกในการติดต่อและมีการรวมตัวทางการเมืองที่มั่นคง แคว้นสิบสองปันนาประกอบด้วยเมืองต่าง ๆ ดังนี้ คือ ฟากตะวันตกของแม่น้ำมีเมืองเชียงรุ่ง เมืองฮำ เมืองแช่ เมืองลู เมืองออง เมืองลวง เมืองหน (เมืองหุน) เมืองพาน (เมืองปาน) เชียงเจียง (เชียงเจิง) เมืองราย (เมืองฮาย) เมืองงาด เชียงลอ เมืองบาง เมืองอาง ลำเหนือ เมืองขาง ฟากตะวันออกของแม่น้ำมี เมืองล่า เมืองบ่าง เมืองฮิง เมืองบ่าง เมืองลา เมืองวัง เมืองพง เหมือนหย่วน เมืองมาง เชียงทอง อีปาง อีงู เมืองอูเหนือ  และเมืองอูใต้ เมืองหลวงคือเรืองฮุ่ง  จีนเรียก เชลี โดยทั่วไปเรียกว่าเชียงรุ้ง แม่น้ำสำคัญคือ แม่น้ำโขง ชาวไทลื้อเรียกว่า “น้ำของจีนเรียกว่า แม่น้ำล้านช้าง

คำว่าสิบสองปันนา ไม่ได้หมายถึง เมือง 12 เมือง แต่หมายถึงพื้นที่นาหลาย ๆ เมืองรวมกันเข้าเป็น 1 ปันนา จำนวนรวมทั้งหมด 12 ปันนา ตามตำนานเมืองลื้อกล่าวว่า เมื่อ จ.ศ. 932 ตรงกับ พ.ศ. 2113 ท้าวเมืองอินทร์ พระเจ้าแผ่นดินเมืองลื้อได้แบ่งหัวเมืองต่างๆรวม 30 เมือง เป็น 12 กลุ่ม เพื่อความสะดวกในการเก็บภาษี ในทางการเมือง แคว้นสิบสองปันนาเคยยอมรับอำนาจของจีน พม่า และไทย จนถูกเรียกว่าดินแดน “สามฝั่งฟ้า” ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ถือเป็นดินแดนปกครองตนเองเรียก “Xishuang Banna Dai Autononmous Prefecture”

การที่มีความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์กับจีนทำให้ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากจีนมาก แต่ชาวไทลื้อยังมีชีวิตความเป็นอยู่แบบไทยอยู่มาก เช่น การรับประทานอาหารหลักของชาวไทลื้อ คือ ข้าวเหนียว กับข้าวนั้นมีรสชาติต่างจากของจีนคล้ายอาหารไทยและลาว มีกับข้าวที่นิยมในภาคเหนือของไทย เช่น ลาบหลู้ น้ำพริกต่าง ๆ การแต่งกายนิยมโพกศีรษะ ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ผู้ชายจะสวมกางเกงโย้งก้นใหญ่ ขาใหญ่ เสื้อสีคราม ผู้หญิงนุ่งผ้าถุงลายขวาง (ซิ่นก่าน) มีริ้วสีดำแดงและขาว เจาะรูใส่ลาน ปัจจุบันรับวัฒนธรรมตะวันตกบ้าง แต่ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เดิมชาวไทลื้อในแคว้นสิบสองปันนานับถือพุทธศาสนานิกายหินยาน มีความศรัทธาในศาสนาอย่างลึกซึ้ง ชาวบ้านนิยมทำบุญกันมาก ในรอบปีมีพิธีกรรมทางศาสนาแทบทุกเดือน ตามประเพณีดั้งเดิมเด็กชายชาวไทลื้อต้องบวชเรียนอย่างน้อย 1 ครั้ง  บางคนบวชถึง 2-3 ครั้ง เพราะเชื่อว่าได้กุศลมาก และสามารถแบ่งส่วนกุศลไปให้พ่อแม่และผู้มีพระคุณได้ นอกจากมีบทบาททางศาสนาแล้ว วัดยังเป็นศูนย์กลางทางวิชาการและคาถาอาคมต่าง ๆ โดยมีพระสงฆ์และผู้รู้เป็นผู้สอนให้ แต่ภายหลังเมื่อจีนเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ และมีการปฏิวัติวัฒนธรรม รัฐบาลได้พยายามให้คนเลิกนับถือศาสนา ทำให้ชาวไทลื้อรุ่นหลัง ๆ ไม่ได้รับการถ่ายทอดความเชื่อทางพุทธศาสนาวัดวาอารามถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น ลานวัดใช้ตากข้าว เลี้ยงสัตว์ พักผ่อน และทำประโยชน์อื่น ๆ พระสงฆ์ถูกสึกออกมาทำงานเหมือนกับฆราวาสทั่วไป ปัจจุบันรัฐบาลจีนผ่อนคลายความเข้มงวดทางศาสนาลง ชาวไทลื้อในสิบสองปันนาเริ่มรื้อฟื้นพุทธศาสนาขึ้นมาควบคู่ไปกับพุทธศาสนาคือความเชื่อเรื่องผี ขึด และไสยศาสตร์ต่าง ๆ เห็นได้ว่า ในหมู่บ้านมีลานกว้างเป็นที่ตั้งของศาลผีบ้าน เป็นเรือนไม้ขนาดเล็กตั้งอยู่บนเสาไม้ คงใช้เป็นที่ชุมนุมเลี้ยงผีของคนในหมู่บ้าน

ไทลื้อ

ลักษณะการปกครองหมู่บ้าน

ในชนบทผู้ปกครองชุมชน คือ แคว่นและแก่บ้าน ปัจจุบันเรียก กำนันและผู้ใหญ่บ้าน แคว่นมีตำแหน่งเป็นพญาและหมื่น เช่น พญาใจและหมื่นบุญเรืองวรพงษ์ ระดับหมู่บ้านเป็นการปกครองระดับล่างจึงไม่มีเจ้านายเข้ามาเกี่ยวข้อง แคว่นจะเป็นผู้ดูแลความสงบเรียบร้อยปกครองคนในหมู่บ้านและเก็บรวบรวมภาษีอากรให้เจ้านายที่เชียงใหม่ ที่บ้านเมืองลวงเคยมีเจ้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ ชาวบ้านเรียกว่าเจ้าแก้วเจ้าน้อย”  แต่เจ้าทั้งสองไม่มีบทบาทด้านการปกครองแต่อย่างใด เช่นเดียวกับเจ้าอื่นจำนวนมาก ทั้งนี้เพราะเจ้าของล้านนามีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีการจำกัดฐานะแบบเชื้อพระวงศ์ทางกรุงเทพฯ ทำให้เจ้าจำนวนมากไม่ได้มีหน้าที่ทางด้านการปกครอง แต่ดำเนินชีวิตแบบคนทั่วไป

หน้าที่ของแคว่นในแต่ละบ้าน คือ รับผิดชอบหมู่บ้านของตนเอง สมัยก่อนจะไม่ได้รับเงินเดือนประจำแต่ทางราชการจะให้ส่วนลดภาษีนา ปัจจุบันมีเงินเดือนค่าตอบแทนแต่ไม่มากและไม่ค่อยคุ้มกับหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบที่มากมาย ดังนั้นคนที่จะมาเป็นแคว่นต้องเป็นผู้ที่มีฐานะดี เกณฑ์ที่ชาวบ้านที่ใช้เลือกผู้นำหมู่บ้าน คือ

  1. ต้องเป็นผู้มีความรู้ดี อ่านออกเขียนได้
  2. เข้าใจกฎหมายบ้านเมือง
  3. พูดจาฉะฉาน สามารถเป็นผู้นำ และรักษาผลประโยชน์ให้กับชาวบ้าน

มีเกณฑ์เฉพาะสำหรับบ้านเมืองลวงคือ ต้องเป็นชาวไทลื้อที่เกิดในหมู่บ้าน คนต่างบ้านจะไม่ค่อยนิยม แม้ปัจจุบันจะมีกฎทางราชการว่าผู้ที่จะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้านจะต้องเข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 6 ปีก็ตาม ปัจจุบันวิธีเลือกผู้ใหญ่บ้านนั้นจะต้องเรียกประชุมชาวบ้านทั้งหมด  มีประธานและคณะกรรมการเลือกตั้ง โดยประธานมักจะเป็นนายอำเภอหรือปลัดอำเภอ ผู้ใหญ่บ้านคนเก่าอาจเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสม หลังจากนั้นชาวบ้านจะลงคะแนนเสียง ถ้าใครที่คะแนนเสียงมากที่สุด จะได้เป็นผู้ใหญ่บ้านคนต่อไป

กลุ่มทางสังคมของชาวไทลื้อ บ้านเมืองลวง

การรวมกลุ่มทางสังคมของชาวไทลื้อมีลักษณะที่ทำให้ชาวไทลื้อมีโครงสร้างของชุมชนที่แข็งแรงสามารถรักษาสถานะทางสังคมของตนไว้ได้ โดยมีการพัฒนาที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม การรวมกลุ่มทางสังคมของชาวไทลื้อ บ้านเมืองลวงมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ

ประเภทที่ 1 กลุ่มที่ทางการจัดตั้งขึ้น ซึ่งมีอยู่หลายประเภท ได้แก่ กลุ่มสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร กลุ่มยุวเกษตรกร กลุ่มอาชีพ กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มออมข้าว กลุ่มเยาวชน ฯลฯ กลุ่มที่ทางการจัดตั้งขึ้น ราษฎรยังให้ความสนใจในการเข้าเป็นสมาชิกไม่มากเท่าที่ควร เพราะยังไม่เข้าใจในหลักการ ขั้นตอนการปฏิบัติ หรือวัตถุประสงค์ของกลุ่มดีพอ

ประเภทที่ 2 กลุ่มที่ยอมรับว่าเป็นทาง ได้แก่

  • - กลุ่มสตรีแม่บ้าน มีบทบาทในการพัฒนาหมู่บ้านในวันสำคัญต่างๆ และยังคอยจัดหาอาหารไปถวายทางวัดในเวลาที่ทางวัดไม่มีงานบุญ

  • - กลุ่มหนุ่มสาว มีบทบาทในการต้อนรับแขกต่างถิ่นที่มาเยี่ยมงานเทศกาลต่าง ๆ ของหมู่บ้าน ประกอบด้วยสมาชิกที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปี ขึ้นไปจนถึงแต่งงาน ทั้งเพศชายและหญิง และยังมีบทบาทอย่างมากต่อการพัฒนาหมู่บ้านให้มีความเจริญในแง่ของความทันสมัย ขณะเดียวกันกลุ่มที่อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีบางอย่างไว้เป็นอย่างดี เช่น กลุ่มช่างฟ้อน เป็นต้น

  • - กลุ่มฌาปนกิจศพ เป็นการรวมกลุ่มที่ถาวร เพื่อช่วยงานศพของสมาชิก ซึ่งสมาชิกจะส่งเงินค่าสมัครครอบครัวละ 20 บาท 

ลักษณะอาชีพ

อดีตการเพาะปลูกที่สำคัญของชาวบ้านเมืองลวง คือ การทำนาปลูกข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวเหนียว ซึ่งเป็นอาหารประจำชาวบ้านปลูกข้าวเพื่อบริโภคเองเป็นส่วนใหญ่ที่เหลือจึงนำไปขาย ดังนั้นแทบทุกครัวเรือนจึงทำนาเป็นอาชีพหลัก แม้แต่บุคคลที่ไม่มีที่นาของตนก็ต้องไปช่วยผู้อื่นทำ เพื่อจะได้รับส่วนแบ่งเป็นข้าวไว้บริโภค ในการทำนานั้น ชาวบ้านต้องอาศัยน้ำฝนและน้ำจากเหมืองฝาย ฤดูทำนาเริ่มประมาณเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม ชาวบ้านเริ่มไถนาหว่านกล้าแล้วปักดำ ระหว่างฤดูทำนา แรงงานในหมู่บ้านส่วนใหญ่ร่วมกันทำงานในทุ่งนา เหลือเพียงเด็กและคนแก่เท่านั้นอยู่เฝ้าบ้าน ชาวบ้านเริ่มทำงานตั้งแต่เช้าตรู่กลับมากินข้าวในตอนสาย แล้วออกไปทำงานถึงเที่ยงมากินข้าวเที่ยงแล้วพักผ่อน หากมีงานค้างจะไปทำต่อจนถึงเย็นก็จูงวัวควายกลับบ้าน

นอกจากข้าวยังมีพืชอื่น ๆ เช่น หมาก พลู พริก หอม ถั่ว ฝ้าย คราม ยาสูบ และผักต่าง ๆ หมาก พลู และผลไม้นั้นปลูกไว้ในบริเวณบ้าน ส่วนพืชชนิดอื่น ๆ ชาวบ้านนิยมปลูกที่บริเวณผาแตก ซึ่งมีน้ำดีดินดี ชาวบ้านสมัยก่อนมักพูดว่า ไปทำสวนที่ผาแตกบริเวณดังกล่าวอยู่ห่างจากฝายผาแตกหรือฝายชลประทานแม่กวงประมาณ 5 - 6 กิโลเมตร ชาวบ้านเดินเท้าจากหมู่บ้านไปเพาะปลูกทิ้งไว้ จนเริ่มออกผลจึงทำ ห้างไว้นอนค้างเฝ้าดูแลจนเก็บเกี่ยวเสร็จ จะเห็นได้ว่าพืชผลที่ปลูกเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตทั้งสิ้น เช่น ฝ้ายนำมาปั่นทอเป็นผ้า ครามใช้ย้อมผ้า พืชผักอื่น ๆ ใช้บริโภคในครัวเรือน หากมีเหลือก็นำออกขายหรือแลกเปลี่ยนกับสินค้าที่จำเป็น เป็นการเพาะปลูกนอกฤดูทำนา ชาวบ้านเมืองลวงมักได้รับการกล่าวขวัญว่าขยันในการทำงาน ไม่อยู่นิ่ง การอยู่อย่างว่างเปล่าในขณะที่คนอื่นทำงานถือเป็นเรื่องน่าอาย ปัจจุบันการเพาะปลูกก็ยังเป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน

ชาวไทลื้อบ้านเมืองลวงยังมีอาชีพหลักในการทำนา ทำให้มีลักษณะของการผลิตเพื่อบริโภคหลงเหลืออยู่บ้าง เพราะผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่นำมาใช้สำหรับการบริโภคภายในครอบครัว เหลือจากนั้นก็นำไปขาย พื้นที่ดินบริเวณบ้านเมืองลวงสามารถทำการเกษตรได้ปีละ 1 ครั้ง บางปีหากมีน้ำพออาจปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียนแทนข้าวได้ด้วย เช่น ถั่วเหลือง พริก กระเทียม ระยะเวลาที่ใช้ในการเพาะปลูกตามปกติจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ระยะเวลาเหลือจากนั้นหากไม่เพาะปลูกพืชชนิดอื่นเพราะปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ชาวบ้านจะออกไปรับจ้างหรือทำหัตถกรรมในครัวเรือน เช่น การจักสาน มีรายได้ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดขณะนั้น

งานหัตถกรรมในบ้านนั้นเคยเป็นงานที่สำคัญมากในอดีต ชาวบ้านผู้ชายทำหน้าที่ผลิตเครื่องจักสาน เช่น กระบุง ตะกร้า หมวก พัด และเสื่อ ซึ่งเป็นเครื่องใช้ประจำภายในบ้าน ส่วนผู้หญิงจะทอผ้าโดยนำฝ้ายที่ปลูกเองมาปั่นเป็นเส้นด้าย ม้วนเป็นไจหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ต่องนำไปแช่ข้าวให้เหนียวยิ่งขึ้น หลังจากนั้นนำมาทอ ผ้าที่ทออาจนำมาย้อมเป็นผ้าหม้อฮ่อมซึ่งเป็นที่นิยมกันแพร่หลาย ความจำเป็นที่ต้องผลิตเครื่องนุ่งห่มเองทำให้ทุกบ้านมีหูกทอผ้าตั้งอยู่ใต้ถุนบ้าน สมัยก่อนเวลาพลบค่ำหญิงสาวที่ไม่ได้แต่งงานมักจุดตะเกียงนั่งปั่นด้ายทอผ้าพูดคุยกับชายหนุ่มที่มาเยี่ยมตามประเพณี อู้บ่าว อู้สาวเป็นการใช้เวลาให้เป็นประโยชน์และเป็นสิ่งที่แก้ความขัดเขินในขณะพูดคุยกัน

ผ้าที่ชาวบ้านทอเองจะใส่แล้วอุ่นสบาย ทน แต่ไม่สวยเท่าผ้าที่ทอจากเครื่องจักร การทอผ้าใช้เองนั้นค่อย ๆ ยุติลงในช่วง พ.. 2475 - 2490 เป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจชนบทของภาคเหนือเปลี่ยนจากการผลิตเพื่อเลี้ยงดูตนเองไปสู่การผลิตเพื่อขาย เป็นผลจากการสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ถึง เชียงใหม่ในปี พ.. 2464 ชาวบ้านมีโอกาศขายผลิตผลทางการเกษตรของตนมากขึ้น จึงมีรายได้พอที่จะซื้อสินค้าสำเร็จรูปต่างๆ ที่ขนส่งจากกรุงเทพฯ มายังตลาดกลางที่เชียงใหม่แล้วจึงกระจายสู่ชนบท

ประเพณี

พิธีแต่งงาน ประเพณีของชาวไทลื้อบ้านเมืองลวงมีความคล้ายคลึงกับชาวไทยวน หรือคนเมืองทั่ว ๆ ไป นับถือพุทศานานนิกายหินยาน ประเพณีที่แตกต่างจากหมู่บ้านอื่น คือ พิธีแต่งงาน ก่อนแต่งงาน หนุ่มสาวจะมีอิสระในการเลือกคู่ครอง ธรรมเนียมการจีบสาวของไทลื้อเหมือนชาวไทยวนทั่วไป คือเริ่มจีบกันตอนค่ำ จะไม่จีบตอนกลางวันเพราะเป็นเวลาทำงาน พอตกเย็นหนุ่มๆก็จะมานั่งพูดคุย ผู้หญิงทำงานไปด้วย คุยไปด้วย พอชอบพอรักใคร่ฝ่ายชายก็จะส่งผู้ใหญ่มาขอฝ่ายหญิง ในวันแต่งงานขบวนเจ้าบ่าวจะนำหอกดาบและหีบใส่เสื้อผ้าของเจ้าบ่าวมาที่บ้านเจ้าสาว ทั้งสองฝ่ายจะนำเงินมารวมกันเพื่อแจกแขกที่มา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือคนแก่ที่เป็นผู้ทำพิธีจะได้ 24 สตางค์ แขกผู้ใหญ่ได้ได้ 6-12 สตางค์ เด็ก ๆ ได้ 1 สตางค์ ธรรมเรียมการแจกเงินคล้ายกับการแจกของชำร่วยเป็นที่ระลึกในปัจจุบัน การแจกเงินแขกนี้ค่อย ๆ เลิกไปประมาณปี พ.. 2496 ในการแต่งงาน เจ้าบ่าวและเจ้าสาวต้องทำสวยดอกไม้ (กรวยดอกไม้) แลกเปลี่ยนกันนำไปไหว้ผีปู่ย่าของตนเอง 3 วัน หลังจากแต่งงานแล้วฝ่ายชายจะนอนที่บ้านฝ่ายหญิง แต่กลางวันจะกลับไปบ้านตนเอง เรียกว่า อยู่กรรมพอพ้นสามวันแล้วค่อยมาอยู่ที่บ้านฝ่ายหญิงตลอดไป  หลังแต่งได้ 15 วัน คู่สามีภรรยาจะนำผ้าถุง 1 ผืน เสื้อ 1 ตัว และไก่ต้ม 1 ตัว ไปมอบให้พ่อแม่ฝ่ายชาย ทำพิธีผูกมือเรียกขวัญให้อยู่ด้วยกันนาน ๆ ที่บ้านเมืองลวงฝ่ายชายมักมาอยู่บ้านผู้หญิง นอกจากฝ่ายชายมีฐานะดีกว่าฝ่ายหญิงและเป็นลูกคนเดียวของครอบครัว ก็จะอยู่บ้านฝ่ายหญิงสักระยะแล้วย้ายกลับไปอยู่ที่บ้านฝ่ายชาย ในสิบสองปันนามีธรรมเนียมเรียกว่า ตปี๋ไปตปี๋ป้อก” (ตปีไปตปีกลับ) คือ ผลัดกันอยู่บ้านของอีกฝ่ายครั้งละ 3 ปี ตามตกลงว่าจะอยู่ฝั่งไหนก่อน

ประเพณีตักบาตรดอกไม้ จัดทุกวันเข้าพรรษาของทุกปี คือ พระสงฆ์ทำพิธีปวรณาตัวเข้าพรรษา พระจะประกาศให้ชาวบ้านหาดอกไม้มาใส่บาตรเอาไปใส่บาตรพระ จากนั้นนำไปเทรวมกันและให้ชาวบ้านจัดใส่พานให้กับพระสงฆ์นำไปขอขมาพระผู้ใหญ่เพื่อเข้าพรรษา ชาวบ้านก็ได้ร่วมทำบุญ

ประเพณีทำบุญกลางใจบ้าน (เสื้อบ้าน) จัดขึ้นทุกวันที่ 13 เมษายนของทุกปี

พิธีกรรมเกี่ยวกับเหมืองฝาย ทุกปีหลังจากที่ชาวบ้านจัดการบำรุงรักษาเหมืองฝายก่อนทำการเพาะปลูกแล้ว จะมีพิธีกรรมอย่างหนึ่ง คือ การบูชาผีฝายที่ทำหน้าที่ดูแลเหมืองฝายให้มีน้ำพอสำหรับการใช้หมู่บ้านตลอดทั้งปี รวมทั้งช่วยดูแลป้องกันรักษาไม่ให้เหมืองฝายต้องได้รับความเสียหายจากภยันตรายต่าง ๆ พิธีกรรมนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ชาวบ้านก่อนที่จะเริ่มฤดูกาลเพาะปลูกต่อไป

ศาสนา

ชาวเมืองลวงนับถือพุทธศาสนา วัดประจำหมู่บ้าน คือ วัดศรีมุงเมือง เป็นวัดแก่แก่สร้างตั้งแต่ พ.. 1954 สมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน กษัตริย์ราชวงศ์มังรายในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ เรียกวัดนี้ว่า วัดบุรฉัน มาจากศัพท์ภาษาบาลีว่า ปุรจฉนนปุร แปลว่าเมือง ฉนน แปลว่า มุง สันนิษฐานว่าวัดนี้เป็นวัดใหญ่และมีความสำคัญในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน เพราะพระองค์ได้ทำนุบำรุงวัดนี้เป็นพิเศษ เอาค่ากัลปนาจากวัดอื่นๆมาให้แก่วัดนี้ รอบๆวัดศรีมุงเมือง มีวัดบริวาร 4 วัด วัดศรีมุงเมืองเดิมสังกัดมหานิกาย ต่อมาปีพ.. 2464 เปลี่ยนเป็นสังกัดนิกายธรรมยุต เพราะผู้นำหมู่บ้านคือ หมื่นบุญเรืองวรพงษ์ศรัทธาในตัวเจ้าคุณนพีศรีสารคุณ พระชั้นผู้ใหญ่ที่สังกัดธรรมยุตของวัดเจดีย์หลวง ชาวไทลื้อศรัทธาในพุทธศาสนามาก เห็นได้จากการพยายามทำนุบำรุงวัดให้อยู่ในสภาพที่ดี ชาวไทลื้อมีความผูกพันกับวัดเป็นอย่างมาก 

ความเชื่อ

ชาวบ้านเมืองลวงสมัยก่อนมีความเชื่อในเรื่องผี ขึด และอิทธิฤทธิปาฏิหาริย์ตามชาวบ้านอื่นๆ ภายในครอบครัวชาวบ้านมีผีปู่ย่าเป็นผีบรรพบุรุษฝ่ายหญิงคอยปกป้องคุ้มครองสมาชิกในครอบครัว ทุก ๆ ปีวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 เหนือ สมาชิกในครอบครัวต้องไปทำพิธีเลี้ยงผีบ้าน เก๊าผีซึ่งมีหอผีสำหรับลูกหลานมากราบไหว้ เอาไก่ 2 ตัวหรือหัวหมูพร้อมกรวยดอกไม้ธูปเทียน 12 กรวย กรวยหมากพลุ 12 กรวย มาเซ่นไหว้ หากมีผู้ป่วยในบ้านเชื่อว่าเป็นเพราะผีปู่ย่าโกรธ เนื่องจากมีผู้ ผิดผีการผิดผีคือ การที่หญิงชายแตะเนื้อต้องตัวกัน หรือ ไปสู่คือ ได้เสียกัน เป็นการทำผิดประเพณีทำให้ผีบรรพบุรุษไม่พอใจ ทำให้ญาติฝ่ายหญิงเจ็บป่วย ฝ่ายชายต้องเสียค่าผี ซึ่งแต่ละบ้านเสียค่าผีไม่เท่ากัน บ้านเมืองลวงเสียผีประมาณ 4 แถบ แต่บ้านเมืองวะที่อยู่ใกล้กันเสีย 9 แถบ ครอบครัวฝ่ายหญิงจะเลี้ยงผีโดยใช้หัวหมู หรือ เหล้าไหไก่คู่

ความเชื่อเรื่องผีพบเห็นได้เสมอเมื่อเกิดการเจ็บป่วย ชาวบ้านที่เชื่อในเรื่องผีจะรักษาโดยไปถามผีเจ้านายหรือถามผีหม้อนึ่ง ต้องนำดอกไม้ ธูปเทียน วัน เดือน ปีเกิด และเสื้อผ้าผู้ป่วยพร้อมเงินค่าบูชาครู หรือนำเงินพร้อมข้าวสารจำนวนหนึ่งไปมอบให้ผู้เข้าทรงหรือ ม้าขี่ซึ่งจะทำพิธีเข้าทรงแล้วบอกสาเหตุของการเจ็บป่วยและวิธีแก้ไขสาเหตุการเจ็บป่วย 

การแต่งกายของชาวไทลื้อ

หญิง สวมใส่เสื้อผ้าสีน้ำเงิน หรือดำ เป็นเสื้อรัดรูป ผ่าอก เอวสั้น แขนกระบอก ปล่อยแขนและมีสายหน้าเฉียงมาผูกกัน หรือใช้กระดุมเงินขนาดใหญ่ เรียกว่าเสื้อปั๊ด มีสีดำหรือคราม ตัวเสื้อรัดรูป เอวลอย ชายเสื้อยกลอยขึ้น ข้าง สาบเสื้อขลิบด้วยแถบผ้าสีต่าง ๆ ประดับด้วยกระดุมเงิน ผ้าซิ่นทำด้วยผ้าฝ้าย ลายขวาง มีลวดลายสีต่าง ๆ ต่อเชิงด้วยผ้าสีดำ ใช้เข็มขัดรัดเอว ไม่มีผ้าซ้อนชั้นในเหมือนของล้านนา ทรงผม นิยมเกล้าผม เหน็บด้วยหวี โพกศีรษะด้วยผ้าขาว หรือชมพูเรียกว่าผ้าแม็บ นิยมเกล้าผมมวยตรงยอด มวยมีการม้วนผมเป็นวงกลม เรียก มวยว้อง ปิ่นปักผมทำด้วยทองหรือเงิน นิยมเจาะหู ใส่เครื่องประดับประเภทเงิน สวมกำไลข้อมือทำด้วยเงิน

ชาย มีทั้งการนุ่งผ้าต้อย ผืนเดียวเพื่อให้เห็นรอยสักและชุดเต็มยศ คือ สวมเตี่ยวสะตอสีดำหรือคราม ปกติจะนุ่งเตี่ยวสะตอ และเสื้อย้อมด้วยเมล็ดนิลหรือคราม สวมเสื้อเอวลอยสีดำ ขลิบด้วยผ้าแถบสีต่าง ๆ และแบบปล่อยยาวถึงหัวเข่า แหวกปลายด้านล่าง ข้าง ยาวประมาณ คืบ ด้านหลังแยกเป็น แผ่น ยาวเท่า ๆ กันเป็นลักษณะ ชั้น ชาวไทลื้อเรียกเสื้อนี้ว่า เสื้อ ปีก แขนเสื้อเป็นแขนกระบอก ทรงผมตัดเกรียนท้ายทอย ไม่นิยมใส่น้ำมันผม โพกศีรษะด้วยผ้าขาว หรือผ้าสี เวลาไปทำงานจะพกถุงปื๋อ ซึ่งเป็นย่ามที่ทอเอง และชาวไทลื้อนิยมสักหมึก คือ สักลาย ผู้หญิงสักเป็นรูปดอกไม้ตรงข้อมือทั้ง ข้าง  

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

การทอผ้าไทลื้อ ผ้าทอไทลื้อถือว่าเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของชาวไทลื้อ เพราะมีลวดลายสวยงาม ผ้าทอไทลื้อได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ ซึ่งได้อพยพมาจากสิบสองปันนา และนำเอาเมล็ดฝ้ายติดตัวมา จึงปลูกฝ้ายเหล่านั้นเพื่อนำดอกฝ้ายมาผลิตเป็นเส้นด้าย สมัยก่อนลูกสาวแต่ละบ้านต้องตามแม่ไปเก็บดอกฝ้ายและช่วยปั่นด้ายเพื่อนำไปทอ หากลูกสาวคนไหนทอผ้าไม่เป็นก็จะถูกบังคับให้ทำและยังไม่ให้แต่งงาน การทอผ้าไทลื้อจึงถูกถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกนั่นเอง

คนไทลื้อมีทั้งภาษาพูดและตัวอักษรเขียนใช้เองมานาน ภาษาไทลื้อจัดอยู่ในกลุ่มภาษาตระกูลไท (ไต) คำบางคำคล้ายกับภาษาเหนือ ภาษาเหนือน่าจะมีรากฐานมาจากภาษาไทลื้อ เพราะมีบางคำที่คล้ายกัน 

ภาษาพูดไทลื้อมีลักษณะเด่น คือ  มีการเปลี่ยนแปลงเสียงสระภายในคำ โดยการเปลี่ยนแปลงระดับของลิ้น เช่น คำในภาษาไทย หรือภาษาล้านนามีเสียงสระแอ เออ โอ ตรงกับคำในภาษาลื้อที่มีเสียงสระอิ อึ อุ และอักษรไทลื้อ คือ อักษรธรรมล้านนา 



ลักษณะเศรษฐกิจแบบเลี้ยงตัวเอง (Self – Sufficient) เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้วในชุมชนบ้านเมืองลวง คือ ผลิตทางการเกษตรทุกรูปแบบผลิตขึ้นเพื่อบริโภคเอง ตลอดจนกิจกรรมอื่น ๆ ที่ชาวบ้านนิยมทำกันในยามว่างจากงานในท้องทุ่ง เช่น งานจักสานเครื่องใช้ งานทอผ้า ฯลฯ ทำเพื่อประโยชน์ใช้สอยภายในครอบครัวทั้งสิน หากครัวเรือนใด บ้านใด ขาดเหลือสิ่งอุปโภคบริโภคก็จะใช้วิธีแลกเปลี่ยนสิ่งของซึ่งกันและกัน

ระบบเงินตราถูกนำมาใช้ในชุมชนบ้านเมืองลวงในระยะแรกเพียงเพื่อใช้จ่ายในด้านพิธีกรรม เช่น การปรับไหม เพื่อเป็นสินสอดในการแต่งงาน ฯลฯ ต่อมาในระยะหลัง ระบบเงินตราได้เพิ่มความสำคัญให้กับตัวเอง และทำให้สภาพเศรษฐกิจของบ้านเมืองลวงเปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกับเศรษฐกิจหมู่บ้านชนบททั่ว ๆ ไปในภาคเหนือด้วย

การค้าและการตลาด

ในอดีตชาวบ้านเมืองลวงมีบทบาททางการค้าน้อย เหตุมาจากประการแรกคือลักษณะเศรษฐกิจแบบเลี้ยงดูตนเอง แต่ละบ้านต่างผลิตเพื่อบริโภคเองและผลิตสิ่งที่เหมือนกัน การทำกินในสมัยก่อนผู้อาวุโสของบ้านเมืองลวงมักกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ทำแค่พอกิน” เป็นการทำมาหากินไปวัน ๆ ประการที่สองการคมนาคมลำบาก ไม่มีถนนและยานพาหนะ แม้จะไปตลาดดอยสะเก็ดก็ต้องเดินข้ามทุ่ง การจะเข้ามาถึงตัวเมืองเชียงใหม่ต้องเดินเท้าหรือใช้เกวียน ซึ่งชาวบ้านมีน้อยออกเดินทางตั้งแต่เที่ยงคืนหรือตีหนึ่งมาถึงตอนเช้า ประการที่สาม สมัยก่อนไม่ค่อยมีสินค้าฟุ่มเฟือย ทำให้ชาวบ้านมีเงินเก็บมาก ในบ้านเมืองลวงถ้าใครมีเงินเก็บ 500 แถบ หรือเป็นเจ้าของรถจักรยานคันละ 15 – 20 แถบ นับว่าเป็นผู้มีอันจะกิน เพราะสมัยก่อนเงินหายากและมีค่ามาก ประการสุดท้าย เป็นลักษณะนิสัยของชาวบ้านไทลื้อที่ไม่นิยมการค้า มีงานเขียนหลายเล่มที่ระบุถึงนิสัยของชาวไทลื้อที่ไม่นิยมทำการค้า เร่ร่อนไปต่างถิ่น ต่างจากชาวไทใหญ่หรือเงี้ยวในพม่า

แต่ก็มีชาวบ้านเมืองลวงที่มีฐานะดี มีทุน สามารถทำการค้าระหว่างบ้านหรือระหว่างเมืองได้ เช่น พ่ออุ๊ยสาม บัวเย็น อายุ 91 ปี เป็นผู้อาวุโสของหมู่บ้าน ทำการค้าขาย โดยเริ่มจากบรรทุกข้าวจากหมู่บ้านไปขายที่สถานีรถไฟเชียงใหม่ ซึ่งโรงสีของชาวจีนรับซื้อจากชาวบ้านและพ่อค้าคนกลาง เพื่อส่งโดยทางรถไฟไปยังกรุงเทพ ต่อมาได้ร่วมทุนกับหนานมา พ่อน้อยเขียว หนานมัน หนานพุ่ม จัดขบวนวัวต่าง ๆ มีวัวประมาณ 25 ตัว ซื้อสินค้าจากดอยสะเก็ด เช่น สบู่ ไม้ขีด น้ำมันก๊าด ไปขายที่เมืองพร้าว ใช้เวลาเดินทางไปกลับ 10 คืน ยังมีการบรรทุกเกลือและข้าวสารไปแลกเปลี่ยนกับเมี่ยงที่เมืองหาง นำมาขายที่ตลาดดอยสะเก็ด ต่อมามีการเปลี่ยนจากขบวนวัวเป็นขบวนม้าเพื่อให้รวดเร็วขึ้น มีการซื้อสินค้าจากตลาดดอยสะเก็ดไปขายที่เมืองพร้าว เมืองฝาง ซื้อเมี่ยงจากเมืองเงี้ยวม่อนมลางไปขายที่แม่จัน ซื้อสินค้าจากแม่จันมาขายที่เมืองฝาง การค้าเมี่ยงมักจะซื้อข้าวที่เวียงป่าเป้าเอามาแลกเมี่ยงที่ป่าเมี่ยง แม่ตอน ดอยสะเก็ด แล้วนำเมี่ยงไปขายต่อ สินค้าที่ทำกำไรดีอีกอย่างคือ ยาสูบจากบ้านท่าฟ้า จังหวัดน่าน มาขายตามระยะทาง  

ชาวบ้านทั่ว ๆ ไปจะทำการค้าแลกเปลี่ยนที่ตลาดดอยสะเก็ด และหมู่บ้านใกล้เคียง สินค้าจากบ้านเมองหลวง ได้แก่ หมาก พลู ข้าว ผัก และผลไม้ ผู้หญิงจะนำสินค้าเหล่านี้ใส่เปี้ยด (กระบุงหายไปขาย โดยออกจกบ้านตั้งแต่เช้ามืด เดินข้ามทุ่งนาไปไปขายที่ตลาดดอยสะเก็ด แล้วซื้อของกลับเข้าบ้าน ที่ตลาดดอยสะเก็ดมีพ่อค้าจีน เงี้ยว และคนเมืองนำสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคมาจำหน่าย นอกจากนั้นยังมีแม่ค้าเมืองลวงนำพลูนึ่ง พลูสด หมากเสียบไปขายที่แม่ก๊ะ และเขตอำเภอสันกำแพง การนำสินค้าไปขายในเวียงนั้นจะไม่ค่อยทำ ชาวบ้านมักใช้เกวียนบรรทุกข้าวไปขายให้กับพ่อค้าจีนที่สถานีรถไฟบ้าง พวกผู้หญิงแม่ค้าก็หาบหมากพลู มะพร้าวไปขายเป็นครั้งคราว นาน ๆ ที พ่อค้าเงี้ยวจะเข้ามาขายสินค้าในหมู่บ้านเมืองลวง โดยตั้งเพิงอยู่หน้าวัด สินค้าของเงี้ยวที่ชาวบ้านนิยมมี งาขี้ม่อน แคบถั่วเน่า ปลาแห้ง พริก ชาวบ้านจะนำหมากดินหรือหมากแห้งที่ฝานแล้วร้อยเป็นพวงไปแลก สินค้าที่ชาวบ้านต้องการมาก คือ เกลือ น้ำมันก๊าด ไม้ขีดไฟ เสื้อ ผ้า และด้าย ของเหล่านี้ส่งมาจากกรุงเทพมาสู่่ตลาดเชียงใหม่แล้วส่งต่อไปยังตลาดชนบทเป็นทอดๆ ทำให้ราคาสูงขึ้นมากๆ เช่น น้ำมันก๊าดราคาในภาคเหนือสูงกว่าราคาในกรุงเทพประมาณ เท่า เกลือราคาสูงขึ้น 20 เท่า ชาวบ้านจะนำสินค้าของตนมาแลกเปลี่ยน ถ้าใช้เงินมักเป็นเงินแถบหรือเงินรูปีมากกว่าเงินไทยเพราะภาคเหนือติดต่อค้าขายกับพม่ามากกว่า อีกทั้งรัฐบาลไทยและรัฐบาลอังกฤษยอมให้ใช้เงินบาทหรือเงินรูปีก็ได้ การใช้เงินแถบนี้ค่อยๆ ลดลงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.. 2475 หลังจากนั้นเริ่มมีตลาดเล็ก ๆ ในหมู่บ้านที่เปิดเฉพาะตอนเย็น เรียกว่า กาดแลง มีการขายสินค้าอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ยังมีร้านค้าย่อยหรือร้านค้าปลีก จำนวน ร้าน ทำให้รูปแบบเศรษฐกิจของบ้านเมืองลวงเปลี่ยนแปลงไป


ในชนบทโรงเรียนมักตั้งอยู่ในวัดหรือติดกัน พระมีบทบาททางด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน สมัยที่ยังไม่มีโรงเรียนพ่อแม่ต้องนำบุตรชายไปเรียนกับพระในวัด พออายุมากก็บวชเป็นสามเณรหรือภิกษุ โรงเรียนบ้านเมืองลวงก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.. 2464 ศาลาบาตรบริเวณวัดศรีมุงเมืองเป็นห้องเรียน มีชื่อว่า โรงเรียนประชาบาล ตำบลลวงเหนือ (บำรุงราษฎร์วิทยาเป็นโรงเรียนสำหรับตำบลลวงเหนือทั้งหมด มีนายเหรียญ สายก้อนตา เป็นครูใหญ่คนแรก บุคคลที่ให้การสนับสนุนในการจัดตั้งโรงเรียน คือ หมื่นบุญเรืองวรพงษ์ (ติ๊บ บุญเรืองยากำนันตำบลลวงเหนือในเวลานั้น เริ่มสอนตั้งแต่ชั้นประถม 1-3 ตามหลักสูตรของรัฐบาล ต่อมาปี พ.. 2495 มีการสร้างสถานที่ใหม่ซึ่งเป็นบริเวณกับโรงเรียนในปัจจุบัน เปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนบ้านลวงเหนือ ต่อมาในปีพ.. 2514 มีการเพิ่มชั้นประถมปีที่ และเพิ่มชั้นประถมศึกษาปีที่ ในพ.. 2517

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

รัตนาพร เศรษฐกุล. (2527). การสำรวจทางชาติพันธุ์ของชนเผ่าไทในลุ่มแม่ น้ำปิง จังหวัดเชียงใหม่ (รายงานการวิจัยฉบับที่ 1). ...: ...

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน). (ม.ป.ป.). ชุมชนไตลื้อบ้านลวงเหนือ. ค้นจาก https://smartdastaapp.dasta.or.th/place/540

อุดาการ เยี่ยมลักษณ์. (2550). รายงานการวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตชาวไทลื้อโดยองค์กรชุมชนบ้านลวงใต้ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.

เทศบาลลวงเหนือ โทร. 0-5310-4548