ชุมชนพหุวัฒนธรรม แหล่งมรดกโบราณสถานวัดพระธาตุศรีจอมทอง
ประวัติศาสตร์ความเป็นมาการก่อตั้งชุมชนบ้านหลวง ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่นั้น เกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนระบบการปกครองจากประเทศราช เป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล เป็นเหตุให้นครเชียงใหม่ซึ่งเป็นเมืองประเทศราชของสยามในขณะนั้นถูกลดบทบาทลงมาเป็นหัวเมืองหนึ่งในมณฑลพายัพ
พ.ศ. 2443 ทางราชการได้รวบรวมชุมชนโดยรอบวัดพระธาตุศรีจอมทอง (ปัจจุบันยกระดับเป็นวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร) ขึ้นเป็นเมือง โดยให้ชื่อว่า “แขวงจอมทอง” มีพื้นที่ปกครอง 4 แคว้น คือ แคว้นบ้านหลวง แคว้นสองแคว แคว้นเตี๊ยะ และแคว้นบ้านแปะ ต่อมาพื้นที่เมืองแขวงจอมทองเกิดความเปลี่ยนแปลง ทางการได้มีนโยบายเปลี่ยนการปกครองในพื้นที่ดังกล่าวให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศ โดยยกฐานะแคว้นทั้ง 4 จากแขวงจอมทองเดิม และบริเวณโดยรอบบางส่วนเป็นสภาตำบลบ้านหลวง ต่อมาใน พ.ศ. 2539 กระทรวงมหาดไทยได้มีการประกาศยกฐานะสภาตำบลบ้านหลวงเป็นองค์บริหารส่วนตำบลบ้านหลวง กระทั่ง พ.ศ. 2552 องค์การบริการส่วนตำบลบ้านหลวงได้รับการยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลบ้านหลวง ตามลำดับ
ปัจจุบันชุมชนบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ขยายตัวจนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีการแบ่งการปกครองภายในชุมชนมากถึง 23 หมู่ โดยประชากรภายในชุมชนนอกจากจะเป็นชาวพื้นเมืองเดิมแล้ว ยังมีชาวโพล่ง ชาวปกาเกอะญอ และชาวม้ง อาศัยอยู่ร่วมด้วย
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง และตำบลสันติสุข อำเภอดอยหล่อ
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลดอยแก้ว ตำบลสบเตี๊ยะ และเทศบาลตำบลจอมทอง อำเภอจอมทอง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทอง และตำบลดอยหล่อ อำเภอดอยหล่อ
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลช่างเคิ่ง ตำบลท่าผา และตำบลกองแขก อำเภอแม่แจ่ม
สภาพภูมิประเทศ
เนื่องจากชุมชนบ้านหลวงเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ลักษณะพื้นที่ของชุมชนจึงค่อนข้างที่จะมีความหลากหลาย บางส่วนเป็นพื้นที่ราบ บางส่วนเป็นพื้นที่เชิงเขา และบางส่วนเป็นพื้นที่เขาที่ตั้งทับซ้อนกับเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชน อีกทั้งยังเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของลำน้ำหลายสาย ทว่าในทางกลับกัน การที่ชุมชนบ้านหลวงมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่เขานั้นมีผลทำให้ชุมชนมีพื้นที่ราบสำหรับเพาะปลูกและทำการเกษตรค่อนข้างน้อย แม้ว่าจะมีแหล่งน้ำและสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การทำเกษตรกรรมมากเพียงใดก็ตาม
สภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
แม้ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนบ้านหลวงจะเป็นพื้นที่เขาซึ่งทับซ้อนในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ส่วนพื้นที่ราบสำหรับทำการเกษตรมีค่อนข้างน้อย ทว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวถูกล้อมรอบด้วยธารน้ำหลายสาย ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม ด้านลักษณะของพื้นที่เป็นดินสีดำเข้มไปจนถึงดำ มีจุดประสีน้ำตาลหรือน้ำตาลเทา และจุดประสีเหลืองเทา มีความสามารถในการระบายน้ำได้ช้า มีอินทรีย์วัตถุปานกลางปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ต่อพืชของดินชั้นบนปานกลางของดินชั้นล่างต่ำ ปริมาณโพแทสเซียมที่เป็นประโยชน์ต่อพืชของดินชั้นบนสูงมาก HP 4.5–5 เหมาะสมสำหรับปลูกข้าว
สถานที่สำคัญ
วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร
วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เดิมชื่อวัดพระธาตุเจ้าศรีจอมทอง ตั้งอยู่ถนนเชียงใหม่-ฮอด ในพื้นที่หมู่ 2 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 58 กิโลเมตร วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร บริเวณที่ตั้งเป็นเนินดินสูงประมาณ 10 เมตร เรียกกันมาตั้งแต่อดีตว่า ดอยจอมทอง ตามประวัติสันนิษฐานว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 20 แต่จากลักษณะทางศิลปกรรมของสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ภายในวัด ปรากฏเป็นลักษณะของศิลปกรรม ในสมัยหลังพุทธศตวรรษที่ 24 ซึ่งเป็นห้วงระยะเวลาของยุคฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่
อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ หรือดอยหลวง สถานที่ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อชาวชุมชนบ้านหลวง นอกจากจะเป็นแหล่งอาศัย และแหล่งอาหารแล้ว ดอยอินทนนท์ยังเป็นแหล่งรายได้เสริมสำคัญของชาวบ้าน เนื่องจากดอยอินทนนท์เป็นสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศ ชาวบ้านสามารถนำสินค้าหรือสิ่งของเครื่องใช้ หัตถกรรมงานฝีมือต่าง ๆ ไปจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว
สำหรับการเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวที่ดอยอินทนนท์นั้น สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคม–พฤษภาคม แม้อากาศจะร้อนอบอ้าว แต่บนยอดดอยยังมีอากาศเย็นสบาย โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ตามแหล่งท่องเที่ยวน้ำตกบนยอดดอยอินทนนท์ เป็นที่ผ่อนคลายความร้อนได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันมีโรงแรมและสถานพักตากอากาศจำนวนมากในเมืองจอมทอง มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน รองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาพักผ่อน นอกจากนี้ ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ยังมีน้ำตกน้อยใหญ่ที่มีชื่อเสียง และได้รับความนิยมจากกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ อาทิ น้ำตกแม่ยะ น้ำตกแม่กลาง น้ำตกวชิรธารหรือน้ำตกสิริภูมิ เป็นต้น
- น้ำตกแม่กลาง เป็นน้ำตกในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ มีขนาดใหญ่ชั้นเดียว สูงประมาณ 100 เมตร ต้นน้ำอยู่บนดอยอินทนนท์ มีน้ำไหลตลอดปี บริเวณโดยรอบถูกห้อมล้อมไปด้วยธรรมชาติที่งดงามและบรรยากาศอันร่มรื่น
- น้ำตกแม่ยะ เป็นหนึ่งน้ำตกในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ลักษณะการไหลของน้ำจะไหลลงจากหน้าผาสูงชันลงมากระทบโขดหินเป็นชั้น ๆ แล้วลงไปรวมกันที่แอ่งน้ำเบื้องล่าง บริเวณโดยรอบเป็นป่าเขาอันสงบเงียบ ห่างออกไปไม่ไกลเป็นที่ตั้งของศูนย์ประชาสัมพันธ์นักท่องเที่ยว
- น้ำตกวชิรธาร หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าน้ำตกสิริธาร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ระหว่างหมู่ 6 และ 22 ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เดิมชื่อตาดฆ้องโยง ตัวน้ำตกอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 750 เมตร น้ำจะดิ่งจากผาด้านบนตกลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง นักท่องเที่ยวสามารถเดินเท้าตามป้ายบอกทางบริเวณเชิงดอยอินทนนท์ลงไปประมาณ 500 เมตร หรืออีกเส้นทางหนึ่งคือทางแยกด้านขวาจากลานจอดรถ ซึ่งหากใช้เส้นทางนี้จะสามารถสัมผัสกับความงดงามของธรรมชาติรอบด้านตลอดทางเดิน
ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ มีหมู่บ้านในเขตปกครองทั้งหมด 23 หมู่บ้าน โดยประชากรในหมู่บ้านอาศัยอยู่ร่วมกันในรูปแบบสังคมพหุวัฒนธรรม เนื่องจากภายในชุมชนนอกจากชาวพื้นเมืองเดิมแล้ว ยังมีประชากรที่เป็นชาวชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่ม ได้แก่ ชาวโพล่ง ชาวม้ง และชาวปกาเกอะญอ ส่งผลให้ภายในชุมชนมีความหลากหลายทั้งวัฒนธรรม วิถีชีวิต และการดำรงอยู่
ปกาเกอะญอ, โพล่ง, ม้งชาวบ้านชุมชนบ้านหลวงส่วนใหญ่มีอาชีพหลัก คือ การทำเกษตรกรรมในรูปแบบของการทำไร่หมุนเวียน บางส่วนที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองจะประกอบอาชีพเป็นลูกจ้างแรงงานภาคเกษตรกรรมทั้งภายในและนอกชุมชน
ปัจจุบันโครงการหลวงอินทนนท์ได้เข้ามารับผิดชอบส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมให้แก่ชาวปกาเกอะญอ และชาวเขาเผ่าม้งในพื้นที่ โดยสนับสนุนการปลูกพืชเมืองหนาวหลากหลายชนิด เช่น คาร์เนชั่น เบญจมาศ และยิบโซ ฯลฯ ซึ่งแปลงเกษตรที่ใช้ปลูกพืชเหล่านี้จะเปิดรับให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชม ทั้งในส่วนของแปลงปลูกดอกไม้บริเวณปากทางเข้าโครงการ รวมถึงห้องทดลองสำหรับทำการขยายเพาะพันธุ์ด้วย
ชาวชุมชนบ้านหลวงมีความเคารพและความเชื่อในการใช้พื้นที่เพื่อการเกษตรกรรม โดยจะทำการกล่าวขออนุญาตและขอขมาแม่ธรณีด้วยน้ำดอกไม้และขมิ้น นอกจากนี้ ยังมีพิธีกรรมการเสี่ยงทายก่อนการเพาะปลูก โดยการนำเอาดินจากพื้นที่ที่จะทำการเพาะปลูกมานอนทับใต้หมอนเป็นเวลา 1 คืน จากนั้นก็ดูว่าจะฝันดีหรือฝันร้าย หากฝันดีแสดงว่าพื้นที่นี้เหมาะสำหรับตนเอง ผีไร่ผีนาอนุญาตให้ใช้ที่ดิน สามารถลงมือเพาะปลูกได้ แต่หากฝันร้าย แสดงว่าพื้นที่บริเวณนี้ไม่ดี เจ้าที่ไม่อนุญาตให้ทำกิน ก็ต้องจัดหาและจับจองพื้นที่ใหม่
ในการเตรียมพื้นที่สำหรับการเพาะปลูก เริ่มต้นด้วยการตัด ฟัน และแผ้วถางพื้นที่ให้โล่ง จากนั้นจะเก็บเศษไม้เศษวัชพืชมากองรวมกันเพื่อทำการเผา โดยมีความเชื่อว่าการเผาดินจะช่วยให้ดินมีปริมาณที่สูงขึ้น ส่งผลให้พืชผลเจริญงอกงามโดยไม่ต้องใช้สารเคมี
นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อเรื่องการปลูกตะไคร้เพื่อแก้เคล็ด ถ้าพื้นที่ใดไม่ปลูกตะไคร้ หากมีฟ้าผ่าลงมายังพื้นที่การเกษตร พื้นที่นั้นจะไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้อีก
1. นางลัดดา วงค์วิริยะ ผู้นำการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาประจำชุมชน
2. นายจรัญ ใจวะกะ ผู้นำทางความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ประจำชุมชน
หัตถกรรมจากภูมิปัญญาท้องถิ่น
ชุมชนบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมงานหัตกรรมการทอผ้าฝ้ายจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้รับการสืบทอดกันมาช้านาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน โดยมีแนวทางมาจากความคิดและความสามารถของคนในชุมชน ปรับประยุกต์เทคนิควิธีแบบพื้นบ้านร่วมกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้สอดคล้องพอดีกับความต้องการและความจำเป็นในการดำรงชีวิตตามสภาพของธรรมชาติ ไม่มุ่งแต่ประโยชน์จนทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม แสดงถึงจิตสำนึกอันสูงส่งในการรู้คุณค่าของทรัพยากร และความรอบรู้ด้านการจัดการใช้อาชีพผลผลิตสังคมชาวบ้านพึ่งพากันได้อย่างพอดีพอกิน
เนื่องจากชุมชนบ้านหลวงเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมที่มีผู้คนจากหลากกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกัน ภาษาที่ปรากฏภายในชุมชนจึงมีลักษณะเป็นพหุภาษาเช่นเดียวกัน แต่ภาษาที่ได้รับความนิยมสูงสุด และถือเป็นภาษากลางในการติดต่อสื่อสารภายในชุมชน คือ ภาษาไทย สำหรับภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์จะใช้ในการติดต่อสื่อสารกันภายในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันเท่านั้น
ปัจจุบันชุมชนบ้านหลวงกำลังประสบปัญหาอันเกิดจากพลวัตทางวัฒนธรรมกับการสูญหายของประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ทำให้วิถีชีวิตประชากรต้องเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ในชุมชนที่จำต้องปรับเปลี่ยนจากวิถีดั้งเดิมเป็นชุมชนสมัยใหม่ ซึ่งเกิดจากการเข้ามาของวิถีการผลิตแบบคนพื้นราบ ทั้งภาษา การแต่งกาย การเข้าวัด และการนับถือศาสนาพุทธแบบไทย จะเห็นว่าปัจจุบันการแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ลดน้อยลงจากเดิมมาก หรือที่เด่นชัดที่สุดเห็นจะเป็นการสูญสิ้นทางภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ เยาวชนรุ่นใหม่แทบจะพูดหรือเขียนภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ตนไม่ได้แล้ว อันเป็นผลจากการเข้าถึงการศึกษาในโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนด้วยภาษาไทย อีกทั้งบางครั้งยังพบว่าเด็กนักเรียนชาวชาติพันธุ์บางส่วนนั้นอายที่จะพูด และไม่พึงใจกับความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะเกรงว่าจะถูกล้อเลียนจากกลุ่มนักเรียนชาวไทย
ดอยอินทนนท์
ก่อชิ เพชรไพรพนาวัลย์. (2565). เทศบาลตำบลบ้านหลวง. [ออนไลน์]. ได้จาก: http://banloung.go.th/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566] .
เกวลิน หนูสุทธิ์. (2560). การจัดการผลกระทบจากการท่องเที่ยวโดยชุมชนในหมู่บ้านแม่กลางหลวงตำบลบ้านหลวงอำเภอจอมทองเชียงใหม่. [ออนไลน์]. ได้จาก: http://www.thaiexplore.net/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566].
ลักษณะภูมิประเทศชุมชนบ้านหลวง. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.google.com/maps/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566].
Gplace. (ม.ป.ป.). บ้านขุนกลาง ดอยอินทนน์. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.gplace.com/960949 [สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566].
ReviewThaitravel. (2563). น้ำตกแม่ยะ เชียงใหม่. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.reviewthaitravel.com/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566].
Thai-tour. (ม.ป.ป.). น้ำตกวชิรธาร เชียงใหม่. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.thai-tour.com/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566].
Thai-tour. (ม.ป.ป.). บ้านขุนกลาง เชียงใหม่. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.thai-tour.com/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566].
Thai-tour. (ม.ป.ป.). อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เชียงใหม่. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.thai-tour.com/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566].
Thesunsight. (ม.ป.ป.). น้ำตกแม่กลาง. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://thesunsight.com/namtokmaeklang/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566].
ลัดดา วงค์วิริยะ. ผู้ดูแลรักษามรดกชุมชนบ้านหลวง. (21 มกราคม 2566). สัมภาษณ์.