ชุมชนหมู่บ้านของชาวไทดำหรือลาวโซ่งที่มีการตั้งถิ่นฐานมากว่า 100 ปี โดยชุมชนแห่งนี้ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของชาวชาติพันธุ์ไทดำ โดยเฉพาะในด้านวิถีชีวิตที่ยังคงมีการประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำนาที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ รวมถึงในด้านวัฒนธรรมที่ยังคงรักษาความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรมไว้ได้อย่างดี เช่น การนับถือผี พิธีกรรมเสนเรือน การเล่นคอน (เทศกาลอิ้นก้อน) การลงข่วง
สำหรับชื่อชุมชนเกาะแรตนั้น หลังการตั้งชุมชนได้มีชื่อเรียกว่า “เกาะแรต” ซึ่งมาจากบริเวณนี้เป็นที่สูง พื้นที่เป็นที่ดอนและมีคลองล้อมรอบทำให้ในพื้นที่มีลักษณะคล้ายกับเกาะ มีต้นไม้ขึ้นอยู่มากจนมีลักษณะเป็นป่า ชาวบ้านเชื่อกันว่าน่าจะมีสัตว์ป่าจำนวนมากอาศัยอยู่ โดยเฉพาะแรด มีคำบอกเล่าว่าชาวบ้านบางคนพบเห็นแรด 2 ตัว นอนเล่นโคลนอยู่บริเวณนี้หรือบางคนก็บอกเล่าว่าพบเห็นกระดูกแรด ดังนั้นทั้งหมดทั้งมวลเมื่อนำมารวมกันจึงทำให้ชุมชนแห่งนี้มีชื่อว่า ชุมชนเกาะแรต
ชุมชนหมู่บ้านของชาวไทดำหรือลาวโซ่งที่มีการตั้งถิ่นฐานมากว่า 100 ปี โดยชุมชนแห่งนี้ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของชาวชาติพันธุ์ไทดำ โดยเฉพาะในด้านวิถีชีวิตที่ยังคงมีการประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำนาที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ รวมถึงในด้านวัฒนธรรมที่ยังคงรักษาความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรมไว้ได้อย่างดี เช่น การนับถือผี พิธีกรรมเสนเรือน การเล่นคอน (เทศกาลอิ้นก้อน) การลงข่วง
ชุมชนบ้านเกาะแรต ตำบลบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เป็นชุมชนที่อยู่อาศัยส่วนมากของชาวไทยทรงดำ หรืออาจเรียกว่า ไทดำ ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประวัติการอพยพเข้าสู่ประเทศไทยมาอย่างยาวนาน โดยการเรียกชาวไทดำ หรือ ไททรงดำมาจากกลุ่มชนเผ่าไทดังกล่าว นิยมสวมเสื้อผ้าสีดำอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งย้อมด้วยต้นห้อมหรือต้นคราม ส่วนการที่เรียกชนกลุ่มนี้ว่า "ลาวโซ่ง" ไม่ได้เป็นเพราะชนชาติพันธุ์นี้เป็นลาว แต่เหตุที่เรียกเช่นนี้เป็นเพราะว่าชนกลุ่มนี้มีการอพยพผ่านดินแดนลาวลงมายังสยามจึงทำให้เรียกว่าลาวโซ่งนั่นเอง
ซึ่งแต่เดิมก่อนการอพยพมาตั้งถิ่นฐานภายในประเทศไทย ชาวไทดำมีถิ่นที่อยู่ในบริเวณแคว้นสิบสองจุไท ซึ่งในหลักฐานพงศาวดารเมืองไตได้กล่าวถึงแคว้นสิบสองจุไทว่า “เมืองที่พวกผู้ไทดำอยู่นั้น คือเมืองแถงหนึ่ง เมืองควายหนึ่ง เมืองตุงหนึ่ง เมืองม่วยหนึ่ง เมืองลาหนึ่ง เมืองโมะหนึ่ง เมืองหวัดหนึ่ง เมืองซางหนึ่ง รวมเป็น 8 เมือง เมืองผู้ไทขาว 4 เมือง ผู้ไทดำ 8 เมือง เป็น 12 เมือง จึงเรียกว่าเมืองสิบสองผู้ไท แต่บัดนี้เรียก “สิบสองจุไท” จากพงศาวดารแสดงให้เห็นว่าชาวไทดำอาศัยกระจายอยู่มากในแคว้นสิบสองจุไทตามเมืองต่าง ๆ โดยชาวไทดำเหล่านี้ได้มีการอาศัยอยู่ร่วมกับชาวชาติพันธุ์ไทขาว (ไทด่อน) ภายในแคว้นสิบสองจุไท อย่างไรก็ตามแม้ว่าสองชาติพันธุ์นี้จะอยู่อาศัยปะปนร่วมกันภายในแคว้นสิบสองจุไท แต่มักจะมีเมืองและจุดศูนย์กลางตามชาติพันธุ์ของตนอยู่เช่นกัน โดยชาวไทขาวจะมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่เมืองไต ส่วนชาวไทดำจะมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่เมืองแถนหรือเมืองแถง ซึ่งเดิมเคยเป็นเมืองใหญ่ในแคว้นสิบสองจุไท ปัจจุบันเมืองแถงแห่งนี้ คือ จังหวัดเดียนเบียนฟู ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเวียดนาม มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศลาวและในด้านทิศเหนือติดต่อกับตอนใต้ของประเทศจีน
ทั้งนี้การเดินทางอพยพของชาวไทดำเข้าสู่ประเทศไทยนั้น พบว่ามีการอพยพเข้ามากว่า 200 ปีมาแล้ว โดยการเข้ามาด้วยกันหลายครั้งนับตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีจนถึงรัตนโกสินทร์ ซึ่งในครั้งที่ 1 คือ ในสมัยกรุงธนบุรี อันเป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์สงครามเวียงจันทน์ ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2321 กล่าวคือ พระเจ้ากรุงธนบุรีได้โปรดเกล้าให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทำการยกกองทัพจากเมืองหลวงไปตีกรุงเวียงจันทน์ และได้ให้กองทัพจากเมืองหลวงพระบางเข้าทำการเข้าตีเมืองทันต์ (ซือหงี่)และเมืองม่วย ซึ่งเมืองเหล่านี้เป็นเมืองของชาวไทดำ หลังตีเมืองแล้วได้ทำการกวาดต้อนชาวไทดำเข้ามาไทยจำนวนมาก ซึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรีได้โปรดให้ชาวไทดำเหล่านี้ไปตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ที่เพชรบุรี ชาวไทดำที่อพยพมาครั้งนี้ถือว่าเป็นชาวไทดำรุ่นแรกที่อพยพเข้ามาสู่ประเทศไทย
ในการอพยพของชาวไทดำเข้าสู่ประเทศไทยในครั้งที่ 2 คือ ในสมัยรัชกาลที่ 1 ประมาณ พ.ศ. 2335 ช่วงเวลานี้เมืองแถง เมืองพวน ได้มีการแข็งข้อต่อเมืองเวียงจันทน์ ทำให้เจ้าเมืองเวียงจันทน์จึงยกกองทัพไปปราบเมืองเหล่านี้ หลังการตีเมืองได้จึงมีการกวาดต้อน ชาวไทดำ ชาวลาวพวง ชาวลาวเวียง นำมาถวายแก่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่กรุงเทพฯ เพื่อสร้างความดีความชอบ โดยชาวไทดำที่ถูกกวาดต้อนมาครั้งนี้มีจำนวนประมาณ 4,000 คน รัชกาลที่ 1 จึงได้ทรงโปรดให้ชาวไทดำที่ถูกกวาดต้อนมาในครั้งนี้เดินทางไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เพชรบุรีรวมกับกลุ่มที่เข้ามาในระลอกแรก ทำให้ยิ่งส่งเสริมพื้นที่เพชรบุรีมีจำนวนไทดำมากขึ้น
ในสมัยรัชกาลที่ 3 ในช่วงเวลานั้นได้เกิดเหตุการณ์อันนำไปสู่การกวาดต้อนชาวไทดำเข้าสู่ประเทศไทยครั้งใหญ่หลายครั้ง คือ ครั้งที่3-6 โดยการอพยพในครั้งที่ 3 เกิดขึ้นในช่วงเวลานับตั้งแต่ พ.ศ. 2378 หลังจากการปราบเจ้าอนุวงศ์ (กบฏเจ้าอนุวงศ์ พ.ศ. 2369-2371) พบว่าหัวเมืองเล็ก ๆ ต่าง ๆ ที่เคยขึ้นอยู่กับเมืองเวียงจันทน์ได้ก่อปัญหาและเป็นชวนสงครามของสยามกับญวน โดยกลุ่มหัวเมืองเล็กได้หันไปเข้ากับฝั่งญวน ทำให้ญวนเข้าครอบครองพื้นที่ดินแดนเหล่านี้ได้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทราบข่าวการแข็งข้อและการที่ญวนเข้ามามีอิทธิพลในหัวเมืองบริเวณสิบสองจุไท จึงได้โปรดเกล้าฯให้ยกทัพไปตีเมืองเหล่านี้เข้ามาขัณฑสีมาตามเดิม โดยการปราบเมืองพวนนำทัพโดยกองทัพพระราชวรินทร์ ส่วนเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกและเมืองแถง (เมืองที่อยู่ของชาวไทดำ) มีกองทัพที่นำทัพโดยเจ้าพระยาธรรมมาธิบดีเข้าปราบปราม สงครามได้ยืดเยื้อจนถึง พ.ศ. 2378 กองทัพสยามจึงได้ชัยชนะและการกวาดต้อนชาวลาวพวนและชาวไทดำจากเมืองเล็ก ๆ เหล่านี้มาที่กรุงเทพฯ โดยการเข้าปราบเมืองแถงในครั้งนี้ได้ปรากฎถึงเหตุการณ์นี้ในบันทึกของจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี กล่าวไว้เมื่อคราวเป็นแม่ทัพไปปราบฮ่อในสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2430 ไว้ว่า “พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาธรรมาฯ ยกกองทัพขึ้นมาเมืองถึงเมืองแถง จัดราชการเรียบร้อยแล้วได้เอาครัวเมืองแถงและสิบสองจุไทซึ่งเป็นไทดำลงมากรุงเทพฯ เป็นอันมาก เพราะขืนไว้จะเกิดการยุ่งยากแก่ทางราชการขึ้นอีกครั้ง แล้วพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้พวกไทดำเหล่านั้น ไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ ณ เมืองเพชรบุรี จนได้ชื่อว่าลาวโซ่ง" จากบันทึกจะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ให้ชาวไทดำที่ถูกอพยพมาในครั้งนี้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เพชรบุรีเช่นกันกับกลุ่มพวกที่อพยพมาในระลอกก่อน
การอพยพของชาวไทดำในครั้งที่ 4 เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2379 เมืองหืม (ฮึม) เมืองคอย เมืองควร มีความได้มีความกระด้างกระเดื่องและแข็งข้อต่อเมืองหลวงพระบางที่ควบคุมอยู่ตอนนั้น เจ้าอุปราช เจ้าราชวงศ์แห่งเมืองหลวงพระบาง จึงแต่งตั้งให้ท้าวพระยาศรีมหานามยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองดังกล่าวและกวาดต้อนชาวไทดำในพื้นที่ลงมามอบที่กรุงเทพฯ ทำให้เกิดการอพยพของชาวไทดำในช่วงเวลานี้
ในปี พ.ศ. 2381 เกิดการอพยพของชาวไทดำครั้งที่ 5 โดยครั้งนี้เกิดมาจากเจ้าอุปราชและเจ้าราชวงศ์ได้มีการวิวาทระหว่างกัน เจ้าราชวงศ์จึงได้คุมชาวไทดำลงมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของรัชกาลที่ 3 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งกลุ่มไทดำนี้ถูกเคลื่อนย้ายไปสู่เพชรบุรีเช่นกัน
ในการอพยพครั้งที่ 6 เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2382 จดหมายเหตุเกี่ยวกับเขมรและญวนได้บันทึกไว้ว่า เมืองหลวงพระบางได้ส่งครัวของชาวไทดำที่กวาดต้อนได้จากเมืองแถง โดยมีจำนวนร้อยกว่าคนลงมาถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กรุงเทพฯ จะเห็นได้ว่าในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการอพยพของชาวไทดำเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง ซึ่งกลุ่มที่อพยพเข้ามาทั้งหมดพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้ไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่เพรชบุรีทั้งสิ้น
การอพยพครั้งที่ 7 และ 8 ซึ่งถือเป็นรุ่นสุดท้ายของของชาวไทดำในการเทครัวมาที่ประเทศไทย โดยการอพยพครั้งนี้อยู่ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในปี พ.ศ. 2407 ได้เกิดความระส่ำระสายในแคว้นตังเกี๋ย สิบสองจุไท และลาวเหนือ พวกจีนฮ่อได้บุกเข้ามาก่อกวนในแถบแม่น้ำดำ แม่น้ำแดง และที่ราบสูงทรานนินท์ ซึ่งกองทัพหลวงพระบางไม่สามารถต้านได้ จนทำให้จีนฮ่อสามารถบุกเข้ายึดเมืองเชียงคำ เชียงขวางและบุกลงสู่เมืองเวียงจันทน์และหนองคาย ทำให้เจ้าเมืองหนองคายจึงขอความช่วยเหลือมายังกรุงเทพฯ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ส่งกองทัพขึ้นไปปราบจีนฮ่อเหล่านี้ในปี พ.ศ. 2421 โดยได้โปรดให้พระยาภูธราภัย หรือ พระยาชมภู เป็นแม่ทัพไปปราบฮ่อที่ฝั่งหลวงพระบาง เมื่อตีทัพแตกได้อพยพไทดำจากเมืองแถงและเมืองพวนในแคว้นสิบสองจุไทลงมากรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2425 ต่อมาในปี พ.ศ. 2426 จีนฮ่อได้บุกเข้ามาอีกครั้ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงส่งกองทัพเข้าปราบปราม ทำให้หลังการปราบปรามเสร็จสิ้น พ.ศ. 2430 ได้มีการกวาดต้อนชาวไทดำเข้ามาสยามอีกครั้งหนึ่ง
เป็นข้อน่าสังเกตว่าหลังการอพยพเข้ามาสยามของชาวไทดำ พบว่าพระมหากษัตริย์ไทยได้โปรดเกล้าฯ ให้ชาวไทดำเหล่านี้เข้าไปอยู่ที่พื้นที่จังหวัดเพชรบุรีก่อนเป็นที่แรก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะในขณะนั้นพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีมีลักษณะภูมิประเทศคล้ายกับภูมิประเทศบ้านเกิดของชาวไทดำอย่างเมืองแถงและแคว้นสิงสองจุไทคือ มีป่าและหุบเขาจำนวนมาก อีกทั้งยังมีห้วย ลำธาร น้ำไม่สามารถท่วมถึง ทำให้เหมาะในการอยู่อาศัยของชาวไทดำที่ได้อพยพเข้ามาอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามต่อมาชาวไทดำเหล่านี้ต่อมาได้ค่อย ๆ เริ่มกระจายออกไปสู่พื้นที่อื่นในประเทศไทย โดยสาเหตุการกระจายของผู้คนไทดำไปยังที่ต่าง ๆ มีอยู่ 2 ประการ ประการแรกเป็นเพราะชาวไทดำรุ่นก่อนมีความปรารถนาที่จะกลับถิ่นฐานบ้านเกิดของตนจึงพยายามเดินทางกลับ โดยเดินทางขึ้นไปทางเหนือเมื่อถึงฤดูฝนจะพักที่ใดที่หนึ่ง เพื่อหาเสบียงสำหรับการเดินทางไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งคนสูงอายุได้เสียชีวิตไปในระหว่างการเดินทาง ลูกหลานจึงไม่สามารถจะเดินทางกลับได้ ทำให้ต้องตั้งหลักแหล่งอาศัยอยู่ตามทางเป็นแห่ง ๆ ไปต่อมาที่เหล่านี้ได้กลายเป็นชุมชน เหตุผลประการต่อมาคือพื้นที่ไม่เพื่อพอเพราะเพชรบุรีมีคนอาศัยกันอย่างหนาแน่นทำให้เกิดการแออัดและแย่งที่ทำกินที่มีอยู่จำกัดชาวไทดำส่วนหนึ่งจึงต้องอพยพไปหาที่ทำกินใหม่ในบริเวณอื่นที่ไกลออกไป ซึ่งบรรพบุรุษไทดำรุ่นแรกของชุมชนบ้านเกาะแรตประสบปัญหาจากเหตุผลในด้านนี้คือที่ทำกินไม่เพียงพอจึงต้องการหาที่ราบลุ่มแห่งใหม่ในการประกอบอาชีพทำให้เกิดการเดินทางมาตั้งถิ่นฐานที่ชุมชนบ้านเกาะแรต จ.นครปฐม
โดยพื้นที่ชุมชนบ้านเกาะแรต อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐมถือเป็นพื้นที่หนึ่งที่ไทดำได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยในราวปี พ.ศ. 2441 โดยชาวไทดำกลุ่มหนึ่งซึ่งตั้งหลักแหล่งบริเวณบ้านคลอง ในตำบลวังตะโกอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ได้ประสบปัญหาที่ทำกินไม่เพียงพอโดยเฉพาะพื้นที่ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำนาเพราะความหนาแน่นของชาวไทดำที่มีมากขึ้นในพื้นที่ อีกทั้งในพื้นที่ยังเจอเข้ากับปัญหาภัยแล้ง จึงทำให้บรรพบุรุษไทดำเกาะแรตเดินทางอพยพหาที่ทำกินแหล่งใหม่ที่อุดมสมบูรณ์กว่าเดิม ชาวไทดำเหล่านี้ได้เดินทางมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือผ่านเขตอำเภอบางคนฑี จังหวัดสมุทรสงคราม ติดต่อกับเขตอำเภอดำเนินสะดวกจังหวัดราชบุรี เดินทางต่อถึงบางแฝก (ปัจจุบันคือบางนกแขวก อำเภอบางคนฑี จังหวัดสมุทรสงคราม) และข้ามแม่น้ำแม่กลองเลาะตามคลองดำเนินสะดวก (สมัยนั้นเป็นเพียงลำธารธรรมดา) ผ่านบ้านบางบัวลอย (ปัจจุบันคือบ้านบัวงาม) แล้วเดินทางต่อไปถึงทุ่งหนองผำหรือหนองผักชี (ซึ่งเป็นบ้านเกาะแรตในปัจจุบัน) จากนั้นเดินทางข้ามแม่น้ำท่าจีนไปทางทิศตะวันออกถึงเขตคลองนกกระทุง ตำบลบางภาษี อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ปรากฏว่าเป็นที่ลุ่มที่ไม่เหมาะที่จะตั้งบ้านเรือน จึงเดินทางย้อนกลับไปทางทิศตะวันตก ข้ามแม่น้ำท่าจีนเลาะตามลำธารที่แยกจากแม่น้ำท่าจีน (ปัจจุบันคือ คลองท่าสารบางปลา) ผ่านลาดบัว บ้านบางหวายพบบริเวณนี้ถูกจับจองหมดแล้ว ชาวไทดำจึงได้เดินทางต่อมาจนไปถึงบ้านเกาะแรต เห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำเพียงพอในการประกอบการเกษตรเป็นทำเลที่เหมาะแก่การทำมาหากิน จึงได้เริ่มตั้งบ้านเรือนในพื้นที่นี้และกลายมาเป็นชุมชนเกาะแรตในเวลาต่อมา โดยหัวหน้าหมู่บ้านของชาวไทดำคนแรกคือ นายทรัพย์ เพชรต้อม ซึ่งนายทรัพย์และพวกไทดำรุ่นแรกจำนวนหนึ่งยังถือเป็นบรรพบุรุษผู้ริเริ่มในการก่อตั้งชุมชนแห่งนี้ขึ้นมาอีกด้วย
สำหรับชื่อชุมชนเกาะแรตนั้นหลังการตั้งชุมชนได้มีชื่อเรียกว่า “เกาะแรต” ซึ่งมาจากบริเวณนี้เป็นที่สูง พื้นที่เป็นที่ดอนและมีคลองล้อมรอบทำให้ในพื้นที่มีลักษณะคล้ายกับเกาะ มีต้นไม้ขึ้นอยู่มากจนมีลักษณะเป็นป่า ชาวบ้านเชื่อกันว่าน่าจะมีสัตว์ป่าจำนวนมากอาศัยอยู่ โดยเฉพาะแรด โดยมีคำบอกเล่าว่าชาวบ้านบางคนพบเห็นแรด 2 ตัว นอนเล่นโคลนอยู่บริเวณนี้หรือบางคนก็บอกเล่าว่าพบเห็นกระดูกแรด แต่การพบเห็นนั้นเป็นเพียงการบอกเล่าของต่อ ๆ กันของชาวบ้าน ซึ่งปัจจุบันไม่ได้มีการพบเห็นแรดแต่อย่างไร ดังนั้นทั้งหมดทั้งมวลเมื่อนำมารวมกันจึงทำให้ชุมชนแห่งนี้มีชื่อว่า ชุมชนเกาะแรต
ภายหลังการตั้งชุมชนพบว่าในช่วงแรกชาวบ้านจะสร้างบ้านเรือนอยู่ริมคลองบางปลาฝั่งตะวันออก โดยจะสร้างด้วยไม้ไผ่หลังคามุงแฝกและมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทดำและยังไม่มีการผสมผสานกับรูปแบบสถาปัตยกรรมอื่น ซึ่งชาวบ้านในเกาะแรตจะสร้างบ้านลักษณะไทดำนี้อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มโดยที่บ้านแต่ละหลังจะตั้งห่างกันไม่ไกลนัก ทั้งนี้ในส่วนด้านการประกอบอาชีพในช่วงแรกหลังการตั้งชุมชนพบว่าชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนจะมีการประกอบอาชีพทำเกษตรกรรม เพราะชาวไทดำมีความถนัดในการทำนาสืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยพื้นที่ทำนาของชาวบ้านเกาะแรตจะอยู่ถัดจากคลองออกไปประมาณ 1-2 กิโลเมตร ซึ่งพื้นที่นี้เป็นที่ลุ่มตลอดทั้งปีเหมาะแก่การทำเกษตรกรรม แต่เดิมชาวบ้านได้ถางป่าที่มีอยู่ในชุมชนและเข้าจับจองให้เป็นพื้นที่เพื่อทำนา โดยแต่ละครอบครัวในเกาะแรตส่วนใหญ่จะมีการทำนาและมีที่นาของตัวเองครอบครองหลายสิบไร่ มีการสร้างยุ้งข้าวในเขตบ้านเรือนเพื่อเก็บผลผลิต ซึ่งการทำนาข้าวนี้ชาวบ้านจะทำเพื่อยังชีพเก็บไว้บริโภคในครัวเรือนเป็นอันดับแรกและหากมีผลผลิตเหลือกินในครัวเรือนก็จะนำเอาไปขายเกิดเป็นรายได้แก่ครอบครัวนั้น ๆ อาจกล่าวว่าช่วงแรก ๆ ของชุมชนการทำเกษตรกรรมถือเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านที่อาศัยในชุมชนเกาะแรตนั่นเอง
ทั้งนี้การที่ชุมชนมีการทำเกษตรกรรม จึงมีส่วนทำให้ในพื้นที่ชุมชนเกาะแรตในอดีตจึงมีตลาดที่มาจากการชุมนุมของชาวบ้านอีกด้วย โดยตำแหน่งพื้นที่ริมคลองภายในชุมชนบริเวณเหนือหมู่บ้านขึ้นไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร จะมีตลาดที่ชื่อว่า “ตลาดเกาะแรต” โดยผู้คนแถบนั้นจะมาชุมชนซื้อขายสินค้าและผลผลิตระหว่างกัน พ่อค้าแม่ค้าจะค้าขายและมีการขนส่งกันทางน้ำออกไปสู่แม่น้ำท่าจีน ส่วนพวกชาวนาชาวไร่จะเดินทางมาชุมนุมด้วยเกวียน มีการนำข้าวเปลือก (ข้าวเปลือกจากการทำนาที่เหลือจากการบริโภคชาวบ้านจะนำออกมาขาย) ขนใส่เกวียนมาขายในพื้นที่กันอย่างคึกคัก โดยภายในตลาดแห่งนี้ยังมีท่าเทียบเรือแก่เรือสินค้าต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดความสะดวกในการขนถ่ายสินค้าภายในพื้นที่กับเรือสินค้าที่เข้ามา ดังนั้นด้วยความคึกคักของตลาดแห่งนี้อาจกล่าวได้ว่าตลาดเกาะแรตถือเป็นชุมนุมทางการค้าที่มีความรุ่งเรืองอย่างมากในสมัยนั้น
ในส่วนของด้านวัฒนธรรมในชีวิตประจำวัน ความเชื่อ พิธีกรรมและประเพณีของชาวเกาะแรตนั้น หลังจากการอพยพจากเพชรบุรีมาอยู่ที่เกาะแรตในช่วงแรกก่อนการเข้ามาของกระแสโลกาภิวัตน์ พบว่ายังมีความเข้มข้นของวัฒนธรรมรูปแบบไทดำสูงมาก ส่วนนี้ทำให้การแต่งกายต่าง ๆ ยังคงรูปแบบไทดำที่เคยสืบทอดมา ในด้านภาษาชาวไทดำในเกาะแรตในช่วงเวลานี้ยังคงสามารถใช้ภาษาการพูดของกลุ่มไทดำ รวมถึงสามารถอ่านเขียนภาษาของไทดำโดยเฉพาะได้ ส่วนในด้านความเชื่อพิธีกรรม รวมถึงประเพณีต่าง ๆ รูปแบบชาวไทดำที่สืบทอดมา พบว่าชาวไทดำบ้านเกาะแรตในช่วงแรกหลังการตั้งชุมชนก็ยังคงมีความเชื่อ พิธีกรรม รวมถึงประเพณีตามแบบฉบับไทดำเดิมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษก่อนอพยพ เช่น มีความเชื่อเรื่องนับถือผีบรรพบุรุษ มีประเพณีเสนเรือน มีประเพณีแต่งงาน มีพิธีศพ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามเมื่อกระแสโลกาภิวัตน์เข้ามาในพื้นที่ชุมชนเกาะแรต โดยนับตั้งแต่ ทศวรรษที่ 2500 เป็นต้นมา จวบจนถึงปัจจุบัน เทคโนโลยีและรวมถึงความเจริญต่าง ๆ จากภายนอกได้เข้าสู่ชุมชนเกาะแรต ส่งผลให้ชุมชนแห่งนี้เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่เคยมีมาภายในชุมชน บางประการได้ถูกกลายสภาพไปตามพลวัฒน์ของกระแสสังคมจากภายนอกที่เข้ามา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนเกาะแรตแห่งนี้สามารถอธิบายออกเป็นหลายประการต่าง ๆ ดังนี้ ประการแรกรูปแบบบ้านเรือนของชาวบ้านที่แต่เดิมนิยมสร้างเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมของเรือนชาวไทดำก็มีการเปลี่ยนมาเป็นการสร้างลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรมของบ้านชาวไทยทั่ว ๆ ไปมากขึ้น โดยมักสร้างเป็นเรือนไทยประยุกต์ที่ทำด้วยไม้หรือปูนแทนตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแต่อย่างไรก็ตามแม้สถาปัตยกรรมจะถูกแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลาแต่ชาวไทดำเกาะแรตยังคงมีการคำนึงถึงการวางผังบ้านให้สอดคล้องกับความเชื่อในการนับถือผีไว้อยู่เช่นเดิม
ในส่วนการเปลี่ยนแปลงต่อมาคือ การประกอบอาชีพพบว่าการทำนายังคงมีอยู่เช่นเดิม แต่ก็ได้มีการเปลี่ยนมาเป็นเพื่อการค้ามากกว่ายังชีพ จุดนี้ทำให้มีความเจริญของเทคโนโลยีแรงงานเครื่องจักรเข้ามาประกอบทุ่นแรงงานของคนและสัตว์มากขึ้น ซึ่งการมีเครื่องจักรนี้เองก็ได้มีส่วนสำคัญที่ส่งผลให้การสร้างยุ้งข้าว วิถีชีวิตและเครื่องมือเครื่องใช้อันเกี่ยวข้องกับการทำนาที่เคยมีมาได้ถูกยกเลิกไปด้วยเช่นกัน ทั้งนี้นอกจากการทำนาที่มีมาแต่อดีตแล้วด้วยสังคมและยุคสมัยและภาวะรายจ่ายต่างๆที่เปลี่ยนไปได้ทำให้ผู้คนในชุมชนมีการประกอบอาชีพที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยใกล้หมู่บ้านได้มีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นหลายแห่ง ทำให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งเลือกหันมาประกอบอาชีพรับจ้างให้แก่โรงงานเหล่านี้ ส่วนคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาก็มีเจตคติเปลี่ยนไปมีทางเลือกในการประกอบอาชีพที่มากขึ้น จึงก่อให้เกิดความหลากหลายทางด้านอาชีพของชาวบ้านในชุมชนนั่นเอง
ทั้งนี้ความเปลี่ยนแปลงต่อมาที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรมคือการเปลี่ยนแปลงทางระบบสาธารณูประโภคภายในชุมชน โดยสาธารณูประโภคประการแรกคือชุมชนมีการพัฒนาด้านการประปา มีการวางโครงข่ายระบบประปาในปี พ.ศ. 2525 จุดนี้ทำให้ชาวบ้านมีน้ำใช้สะดวกมากขึ้นและไม่ต้องสร้างระบบคูน้ำ บ่อน้ำหรือสระเก็บน้ำอีกต่อไป อีกทั้งสามารถเอาพื้นที่ไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ แทน นอกจากนี้ระบบสาธารณูประโภคต่อมาที่ถูกพัฒนาคือ การสร้างถนน โดยนับตั้งแต่ พ.ศ. 2500 บริเวณพื้นที่บริเวณใกล้ชุมชนได้มีการสร้างถนนทางหลวงของจังหวัดตัดผ่านหมู่บ้านระหว่างจังหวัดนครปฐม-อำเภอดอนตูม-อำเภอบางเลน ซึ่งการสร้างถนนได้ทำให้การคมนาคมทางบกในพื้นที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น ทำให้ชาวบ้านจึงหันมาสัญจรกันโดยใช้รถมากขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้การพัฒนาถนนยังไปสัมพันธ์กับความเจริญที่ลดลงของตลาดเกาะแรตที่เคยมีมายาวนาน โดยกล่าวว่าเมื่อมีการคมหาคมทางถนนที่สะดวกสบายการสัญจรทางน้ำจึงถูกลดความสำคัญลงไปผู้คนที่สัญจรทางน้ำได้ลดน้อยลงเรื่อย ๆ ส่งผลให้ตลาดที่ตั้งอยู่ริมน้ำอย่างตลาดเกาะแรตจึงค่อย ๆ ซบเซาลง ทั้งนี้เมื่อประกอบกับการที่ถนนทำให้ผู้คนสามารถเดินทางไปซื้อสินค้าที่มีความหลากหลายภายในเมืองสะดวกมากขึ้น ทั้งหมดจึงทำให้ตลาดในชุมชนแห่งนี้จึงเริ่มหมดความนิยมลงและถูกย้ายหายไปนั่นเอง
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนประการต่อมาคือ ในด้านวัฒนธรรมของชาวบ้านในชุมชน โดยพบว่าด้านวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของชาวไทดำได้จืดจางลงรวมถึงหายไปหลังความเจริญและอิทธิพลสังคมภายนอกได้เข้ามาสู่ภายในชุมชน ตัวอย่างเช่น การแต่งกายที่แต่เดิมชาวไทดำนิยมแต่งกายแบบไททรงดำเป็นปกติทุกวันก็ได้ปรับเปลี่ยนมาแต่งกายตามแบบธรรมดาสามัญอย่างคนไทยทั่วไปตามยุคสมัยมากขึ้น ส่วนการแต่งกายแบบไทยทรงดำนั้นจะเปลี่ยนมาแต่งแค่เฉพาะในวันสำคัญหรือพิธีสำคัญเท่านั้น ในด้านภาษาของชาวไทดำ โดยชาวไทดำรุ่นหลังนี้ไม่สามารถเขียนภาษาหรืออ่านภาษาไทดำได้แล้วจะมีแค่ผู้สูงอายุเท่านั้นที่สามารถอ่านและเขียนได้ ส่วนภาษาพูดคนรุ่นใหม่ยังใช้การสื่อสารภาษาไทดำอยู่แต่ใช้เฉพาะกับคนในครอบครัวเท่านั้น ส่วนการสื่อสารทั่วไปโดยมากมักนิยมสื่อสารเป็นภาษาไทยกลางมากกว่า
อย่างไรก็ตามแม้ว่าวัฒนธรรมในชีวิตประจำวันของชาวไทดำจะสูญสลายไปตามอิทธิพลของสังคมภายนอกและกระแสโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้น แต่มีสิ่งหนึ่งที่ชาวไทดำเกาะแรตแห่งนี้สามารถรักษาไว้และเปลี่ยนแปลงไปน้อยที่สุด คือ ในด้านความเชื่อ พิธีกรรมและประเพณีที่เคยมีมาของชาวไทดำ โดยชาวไทดำสมัยใหม่ยังคงรักษาความเชื่อ พิธีกรรม ประเพณีไว้ได้อย่างดี อาจมีการปรับให้เข้าตามยุคสมัยใหม่บ้างแต่ก็ยังคงความเชื่อ พิธีกรรม ประเพณีไว้ ทั้งนี้เนื่องจากชาวไทดำมีการปลูกฝังลูกหลานอยู่เสมอทั้งในจิตสำนึกรักในชาติพันธุ์ตน การมีความเคารพต่อบรรพบุรุษ การรู้ถึงบุญคุณและมีความกตัญญู ทำให้สิ่งเหล่านี้จึงฝังรากลึกและแน่นแฟ้นในลูกหลานชาวไทดำทุกคนและได้กลายมาเป็นเกาะป้องกันอย่างดีที่ทำให้ความเชื่อต่าง ๆ อันก่อให้เกิดพิธีกรรมและประเพณีไม่สลายหายไป โดยพบว่าปัจจุบันชาวบ้านยังคงมีการนับถือผีบรรพบุรุษ มีประเพณีเสนเรือนที่ปัจจุบันยังคงปฏิบัติไว้แต่อาจปรับให้สะดวกมากยิ่งขึ้น มีพิธีศพยังคงมีการประกอบพิธีเช่นเดิมแต่อาจมีการรับความเชื่อศาสนาพุทธเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างการนำพระมาสวดศพ มีเพณีแต่งงานที่ยังคงดำเนินเช่นเดิมโดยเฉพาะกับชาวไทดำด้วยกัน แต่หากมีการแต่งงานกับคนอื่นที่ไม่ใช่ไทดำพิธีการมีการปรับตามความเหมาะสมของผู้คนและสถานการณ์เป็นต้น
อาจกล่าวได้ว่าแม้อิทธิพลสังคมภายนอก ความเจริญรวมถึงการพัฒนาต่าง ๆ จะทำให้วัฒนธรรม วิถีชีวิตบางอย่างสูญสลายไปตามกาลเวลาแต่กนั้นก็ไม่ใช่ทั้งหมด โดยพบว่าชาวบ้านในชุมชนบ้านเกาะแรตแห่งนี้ยังคงมีการสืบทอดและรักษาวิถีชีวิตวัฒนธรรมดั้งเดิมบางส่วนไว้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะวัฒนธรรมอันเกี่ยวข้องกับความเชื่อ พิธีกรรมและประเพณี ซึ่งจุดนี้เป็นส่วนทำให้หมู่บ้านเกาะแรตยังสามารถคงความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นแบบไทดำไว้ภายในชุมชน ดังนั้นใน พ.ศ. 2530 จนถึง พ.ศ. 2531 เมื่อภาครัฐได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและความเป็นเอกลักษณ์เหล่านี้ จึงส่งผลให้หมู่บ้านเกาะแรตได้รับการพัฒนาจนเป็นหมู่บ้านในโครงการแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง ซึ่งเมื่อลงแข่งขันก็ยังได้รับรางวัลหมู่บ้านพัฒนาดีเด่นทั้งในระดับจังหวัด ระดับภาค รวมถึงยังได้รับรางวัลชมเชยระดับประเทศด้วย โดยในปัจจุบันนี้ด้วยวิถีชีวิต วัฒนธรรมบางส่วนรวมถึงความเชื่อประเพณีที่ยังมีอยู่ในชุมชนเกาะแรตแห่งนี้ได้เป็นจุดดึงดูดให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่ต้องการศึกษาวิถีชีวิตต่างเดินทางสู่ที่ชุมชนเกาะแรตจำนวนมาก ทำให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งก็ได้มีการรวมกลุ่มตอบสนองต่อการท่องเที่ยวมีการผลิตสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้านออกมาขายเป็นสินค้าOTOPแก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมอีกด้วยนั่นเอง
ชุมชนบ้านเกาะแรต เป็นชุมชนในตำบลบางปลา อำเกอบางเลน จังหวัดนครปฐม อยู่ในเขตการปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลบางปลา อยู่ห่างจากอำเภอบางเลนมาทางทิศใต้ตามเส้นทางสายบางเลน-ดอนตูม ประมาณ 9 กิโลเมตร หรือ ทางหลวงหมายเลข 3296 กิโลเมตรที่ 5 โดยพื้นที่ของชุมชนเกาะแรตนี้ได้ครอบคลุม 4 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 11 บ้านเกาะแรต หมู่ที่ 12 บ้านเกาะแรต หมู่ที่ 14 บ้านเกาะแรตพัฒนา และหมู่ที่ 15 บ้านเกาะแรตท่าสาร ซึ่งแต่ละหมู่บ้านอาณาเขตพื้นที่ดังนี้
- หมู่ 11 บ้านเกาะแรต มีพื้นที่ทั้งหมด 2.,509 ไร่ เป็นที่ราบ 2,000 ไร่ พื้นที่แหล่งน้ำ 400 ไร่ และพื้นที่อื่น ๆ 109 ไร่
- หมู่ 12 บ้านเกาะแรต มีพื้นที่ทั้งหมด 1,489 ไร่ เป็นที่ราบ 1, 189 ไร่ พื้นที่แหล่งน้ำ 200 ไร่ และพื้นที่อื่น ๆ 100 ไร
- หมู่ 14 บ้านเกาะแรตพัฒนา มีพื้นที่ทั้งหมด 2,400 ไร่ เป็นที่ราบ 1,900 ไร่ พื้นที่แหล่งน้ำ 300 ไร่ และพื้นที่อื่น ๆ 200 ไร่
- หมู่ 15 บ้านเกาะแรตท่สาร มีพื้นที่ทั้งหมด 1,100 ไร่ เป็นที่ราบ 950 ไร่ พื้นที่แหล่งน้ำ 150 ไร่
ลักษณะทางกายภาพ
ชุมชนเกาะแรตแห่งนี้ส่วนใหญ่ มีพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่านด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ภายในชุมชนยังมีคลองท่าสาร-บางปลาที่รับน้ำจากเขื่อนกั้นแม่น้ำแม่กลองไหลสู่แม่น้ำท่าจีน ซึ่งคลองแห่งนี้มีความสำคัญเพราะเป็นเส้นทางของแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน ในฤดูฝนชุมชนเกาะแรตจะมีน้ำขึ้นสูง มีน้ำหลากแต่ทว่าไม่ท่วม ในส่วนของลักษณะดินภายในชุมชนส่วนมากจะเป็นดินเหนียวตกตะกอนที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ อันส่งผลดีต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนา ทำสวน เป็นต้น
ทั้งนี้ภายในชุมชนและบริเวณใกล้เคียงชุมชนเกาะแรตยังมีสถานที่สำคัญต่าง ๆ ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจ สถานที่ให้บริการ รวมถึงดูแลชาวบ้านภายในชุมชน ได้แก่ สถานศึกษา 5 แห่ง (โรงเรียนวัดบางปลา โรงเรียนวัดเกาะแรต โรงเรียนตลาดเกาะแรต โรงเรียนปริยัติธรรม ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน) วัด 4 แห่ง (วัดเกาะแรต วัดบางปลา วัดพุทธาราม วัดศรีประชาวัฒนนาราม) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 1 แห่ง สถานีตำรวจ 1 แห่ง เป็นต้น
ในส่วนของการคมนาคมภายในชุมชนพบว่า มีถนนสายหลัก 3 สาย ได้แก่ 1. ถนนสายบางเลน-ดอนตูม ตัดผ่านเป็นถนนสายหลักของชุมชน ชุมชนวางเป็นแนวตามเส้นทางถนนสายนี้ โดยตัดถนนซอยจากถนนสายหลักเข้าสู่ชุมชน แบ่งชุมชนออกเป็นหมู่บ้านต่าง ๆ 2. ถนนสายเกาะแรต-บางพระ เป็นถนนที่เชื่อมต่อระหว่างชุมชนเกาะแรตกับชุมชนอื่น ๆ ด้านทิศเหนือของชุมชน สองข้างถนน เป็นบ้านเรือน สวนและไร่นา 3. ถนนสายบางเลน - บางภาษี เป็นถนนอีกเส้นหนึ่งที่เชื่อมชุมชนเกาะแรตกับชุมชนอื่น ๆ ด้านทิศตะวันตก
ชุมชนเกาะแรตมีชาวบ้านอาศัยตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ใน 4 หมู่บ้าน ในตำบลบางปลา อำเกอบางเลน จังหวัดนครปฐม โดยเมื่อนับรวมทุกหมู่บ้านแล้วจะมีประชากรรวมทั้งสิ้น 1,960 คน เป็นชาย 948 คน เป็นหญิง 1,012 คน และมีจำนวนครัวเรือน 606 ครัวเรือน ซึ่งสามารถแบ่งเป็นรายละเอียดแต่ละหมู่บ้านได้ดังนี้ หมู่ 11 บ้านเกาะแรต มี 146 ครัวเรือน จำนวน 462 คน ชาย 221 คน และหญิง 241 คน, หมู่ 12 บ้านเกาะแรต มี 269 ครัวเรือน จำนวน 882 คน ชาย 443 คนและหญิง 439 คน, หมู่ 14 บ้านเกาะแรตพัฒนา มี 120 ครัวเรือน จำนวน 403 คน ชาย 191 คน และหญิง 212 คน, และหมู่ 15 บ้านเกาะแรตท่าสาร มี 71 ครัวเรือน จำนวน 213 คน ชาย 93 คน และหญิง 120 คน อย่างไรก็ตามประชากรบ้านเกาะแรตไม่ได้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำทั้งหมด เพราะมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นปะปนในชุมชนเช่นกัน ซึ่งยังไม่มีการสำรวจออกมาเป็นตัวเลขแน่นอนเพียงแต่ยอมรับกันว่าในชุมชนบ้านเกาะแรตประชากรส่วนที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่เป็นชาวไทดำ ทั้งนี้ชาวไทดำส่วนมากที่บ้านเกาะแรตแห่งนี้จะมีนามสกุลจะขึ้นต้นด้วย “เพชร” เช่น เพชรเต้น เพชรย้อย เพชรยวน เป็นต้น ซึ่งนามสกุลนี้เริ่มมีในช่วงรัชกาลที่ 6 โดยชาวไทดำตั้งเพชรนำหน้านามสกุลเพื่อระลึกถึงการอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวไทดำจากถิ่นเดิมอย่างเพชรบุรี
ทั้งนี้ในการประกอบอาชีพพบว่าชาวบ้านในชุมชนเกาะแรตมีอาชีพที่หลากหลายในปัจจุบัน โดยอาชีพหลักที่โดดเด่นในชุมชนแห่งนี้คือการทำนา ซึ่งการทำนาเป็นอาชีพที่ชาวไทดำซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนถนัดเพราะทำมาตั้งแต่บรรพบุรุษ นอกจากการทำนาแล้วชาวบ้านยังประกอบอาชีพรับจ้างให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม ส่วนชาวบ้านลูกหลานที่ได้รับการศึกษาที่สูง กลุ่มเหล่านี้จะประกอบอาชีพที่ค่อนข้างมั่นคง เช่น รับราชการหรือพนักงานบริษัทเอกชน เป็นต้น
ครอบครัวและเครือญาติ
ครอบครัวของชาวไทดำแต่เดิมเป็นครอบครัวขยาย (Extended Family) คือ มีปู มีย่า พ่อแม่ลูก พี่ป้าน้าอา อยู่บ้านเดียวกัน ซึ่งหลังแต่งงานฝ่ายชายจะนำภรรยาไปอยู่ที่บ้านของตนรวมกับครอบครัว โดยอำนาจของครอบครัวจะอยู่ที่ผู้นำส่วนใหญ่เป็นผู้ชายที่อาวุโสที่สุดของบ้านหรืออีกนัยนึงอาจกล่าวได้ว่าอำนาจของครอบครัวอยู่ที่ผู้ชาย เพราะผู้ชายไทดำจะเป็นผู้ที่สืบสายสกุล ส่วนผู้หญิงแต่งงานไปอยู่ครอบครัวสามีก็จะถูกเปลี่ยนมาสืบสายสกุลทางสามี แต่ทั้งนี้ในปัจจุบันครอบครัวไทดำมีขนาดเล็กลงเพราะลูกชายนิยมที่จะพาภรรยาแยกครอบครัวไปตั้งบ้านเรือนใหม่ แบบครอบครัวเดี่ยว (Nuclear Family) ที่มีเฉพาะ พ่อแม่ ลูกเท่านั้น ซึ่งอำนาจครอบครัวจะอยู่กับผู้เป็นพ่อและการสืบสายสกุลก็จะนับทางฝ่ายพ่อ ทั้งนี้ชาวไทดำบ้านเกาะแรตส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับครอบครัวและเครือญาติเป็นอย่างมาก ซึ่งระบบเครือญาติไทดำประกอบไปด้วย ญาติทางสายโลหิต ญาติทางการแต่งงาน ญาติผีเดียวกัน โดยมีการเรียกตามลำดับความเป็นพี่น้องว่า “การหย้ำ” คล้ายกับคนไทยที่เรียก ลุง ป้า อา น้า เป็นต้น ถ้าเรียกลำดับเครือญาติกันทั้งหมด จะเรียกว่า “หว้าปีน่อง”
ไทดำโครงสร้างทางสังคมของชุมชน
ชาวไทดำมีแนวคิดดั้งเดิมขึ้นอยู่กับระบบเครือญาติ โดยชุมชนไทดำประกอบด้วยครอบครัวที่เป็นเครือญาติกัน เมื่อมีการประกอบพิธีกรรมใด ๆ ก็จะมีเครือญาติมาร่วมในพิธีมากมาย ดังนั้นด้วยพื้นฐานนี้จึงทำให้มีการจัดลำดับชั้นทางสังคมโดยใช้ระบบวงศ์ตระกูลเป็นเกณฑ์ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนชั้น
- ชนชั้นผู้ท้าว หมายถึง กลุ่มคนที่เชื่อว่าเกิดในตระกูลซึ่งเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากเจ้า หรือผู้ปกครองเมือง
- ชนชั้นผู้น้อย หมายถึง กลุ่มคนในตระกูลซึ่งเชื่อว่าเป็นตระกูลสามัญชน อยู่ภายใต้การปกครองของผู้ท้าวในสมัยก่อน
ซึ่งการอยู่ในระบบชนชั้นนี้ชาวไทดำทุกคนจะทราบดีว่าใครเป็นผู้ท้าวหรือผู้น้อยโดยดูจาก “สิง” (ตระกูล) ถ้าอยู่ในสิงลอจะเป็นผู้ท้าว ถ้าเป็นสิงเรือง สิงลู สิงกวางและสิงตองจะเป็นผู้น้อย โดยกล่าวว่าการจัดระบบนี้จึงทำให้ในปัจจุบันยังคงมีความแตกต่างกันในด้านระเบียบวิธีการปฏิบัติทางพิธีกรรม คือระหว่างชนชั้นจะไม่ปะปนทำพิธีกรรมร่วมกัน แต่อย่างไรก็ตามในชีวิตประจำวันผู้ท้าวกับผู้น้อยก็มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี มีความร่วมมือ ช่วยเหลือกันตามปกติของสังคม
กลุ่มอาชีพ
- กลุ่ม OTOP บ้านเกาะแรต ตั้งอยู่ที่ หมู่ 12 เกาะแรต ตำบลบางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม เป็นกลุ่มที่รวมตัวโดยธรรมชาติของชาวบ้านชุมชนเกาะแรต ในการหาอาชีพเสริมสร้างรายได้แก่ตนเองหลังจากที่มีเวลาว่างจากการทำฤดูเก็บเกี่ยวเกษตรกรรมหรือทำนาเสร็จแล้ว โดยสมาชิกส่วนใหญ่ของกลุ่มนี้มักเป็นผู้สูงอายุที่มีความรู้จากการสืบทอดภูมิปัญญาและวัฒนธรรมจากบรรพบุรุษ ซึ่งกิจกรรมภายในกลุ่มนี้จะมีการผลิตหรือทำสินค้าผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ออกมาเป็นสินค้า OTOP ของชุมชนชนเพื่อจัดจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจ โดยสินค้าผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม OTOP บ้านเกาะแรตที่มีจำหน่ายนั้นจะค่อนข้างมีความหลากหลายอันสะท้อนถึงอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของชาวไทดำในชุมชน โดยสินค้าเหล่านี้มีทั้งอาหาร งานประดิษฐ์ งานฝีมือ เป็นต้น โดยสาเหตุของความหลากหลายของสินค้าที่เกิดขึ้นภายใต้กลุ่ม OTOP บ้านเกาะแรตแห่งนี้นั้นเป็นเพราะภายในกลุ่ม OTOP มีกลุ่มผลิตแยกย่อยของชาวบ้านในการสินค้าผลิตสินค้าต่าง ๆ แต่ละชนิดถึง 10 กลุ่มด้วยกัน อันได้แก่ กลุ่มตัดเย็บชุดไทยทรงดำ กลุ่มผ้าทอพื้นเมือง กลุ่มจักสานเส้นพลาสติก กลุ่มเพาะเห็ด กลุ่มปักผ้าลายวัฒนธรรม กลุ่มพริกแกง กลุ่มปลาร้าข้าวคั่ว กลุ่มปลาร้าทรงเครื่อง กลุ่มกระเป๋าผ้าดิบ กลุ่มพวงกุญแจไทยทรงดำ ทั้งนี้สินค้าที่ได้รับความนิยมและขึ้นชื่อที่มากที่สุดในบรรดากลุ่มผลิตแห่งนี้คือ เสื้อฮี ที่ทอจากลุ่มทอผ้าพื้นเมืองและตัดเย็บจากกลุ่มตัดเย็บชุดไทยทรงดำ และปลาร้าทรงเครื่องที่ผลิตจากกลุ่มปลาร้าทรงเครื่องบ้านเกาะแรตนั่นเอง
ชุมชนบ้านเกาะแรต เป็นชุมชนที่มีการอยู่อาศัยโดยมากของชาติพันธุ์ชาวไทดำ ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าวิถีชีวิตด้านต่าง ๆ ของชุมชนแห่งนี้จึงมีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์อย่างมาก ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
ชาวไทดำบ้านเกาะแรตมีวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจคือการประกอบอาชีพทำนา โดยชาวไทดำจะมีความถนัดในการทำนามาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษก่อนที่จะอพยพมา ทั้งนี้แม้ว่าในปัจจุบันผู้คนชาวบ้านส่วนหนึ่งจะมีการทำอาชีพอื่นที่หลากหลายนอกจากการทำนาข้าว แต่ก็ยังมีผู้คนอีกส่วนหนึ่งที่ยังคงสืบสานการทำนาที่ชุมชนนี้อยู่ตามวิถีชีวิตแบบเดิม โดยการทำนาของชุมชนแห่งนี้จะมีคลองบางปลาเป็นแหล่งน้ำสำคัญในการทำนา ทำให้สามารถใช้น้ำทำนาได้ตลอดทั้งปี ส่วนพื้นที่ที่ทำนานั้นจะตั้งกระจายบริเวณโดยรอบของคลองเส้นนี้ ทั้งนี้การทำนาในสมัยก่อนจะเป็นการทำนาแบบยังชีพชาวบ้านจะทำนาเพื่อเก็บไว้กินในครัวเรือนก่อนแล้วหากเหลือก็จะค่อยนำไปขาย ซึ่งการทำนาของชาวบ้านแต่ก่อนจะเน้นใช้แรงงานคนและสัตว์ในการทำเป็นหลัก มีการลงแขกเกี่ยวข้าว การใช้ควายไถนา การนวดข้าว เป็นต้น นอกจากนี้สมัยก่อนการทำนาของชาวบ้านในเกาะแรตจะมีปฏิทินการทำนาด้วย โดยหนึ่งปีจะสามารถทำนาได้ 1 ครั้ง ซึ่งเป็นระบบการทำนาในรอบปีที่ค่อนข้างแน่นอน คือ ในเดือนอ้ายจะเป็นฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วจะแล้วเสร็จในเดือนสาม เดือนสี่ถึงเดือนห้าชาวบ้านจะว่าง ทำให้ช่วงเวลานี้ชาวบ้านมักจะทำงานหัตถกรรม เช่น ทอผ้า เย็บปักถักร้อย จักสาน เป็นต้น หรือ ชาวบ้านบางรายที่เป็นวัยรุ่นหนุ่มสาวอาจจะพักผ่อน ท่องเที่ยวในเวลานี้ ต่อมาเมื่อเข้าในเดือนหกชาวบ้านจะเตรียมการเพาะปลูกมีการเริ่มไถคราดเตรียมดิน เมื่อเข้าสู่เดือนเจ็ดถึงสิบสองชาวบ้านก็จะมีการทำนา ระบบนี้ยึดถือเรื่อยมาจนเมื่อความเป็นสมัยใหม่เข้ามามีการทำนาได้หลายครั้งระบบการทำนานี้จึงหายไป
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันพบว่าการทำนามีการประยุกต์ไปตามแบบสมัยใหม่มากขึ้น โดยเนื่องมาจากรูปแบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปประกอบกับความเจริญของเครื่องมือเครื่องใช้และเทคโนโลยีในการทำนา สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้ชาวบ้านหรือชาวไทดำมีการทำนาตลอดทั้งปี โดยปีละ 2-3 ครั้ง เรียกว่า นาปีและนาปรัง ซึ่งหลังจากทำนาได้ผลผลิตแล้วชาวไทดำเหล่านี้ก็จะเน้นการส่งขายก่อนและหากเหลือจึงเก็บข้าวไว้บริโภคในครัวเรือน โดยการทำนาลักษณะนี้เรียกว่าเศรษฐกิจเพื่อการค้า ชาวบ้านที่ทำนาในปัจจุบันจึงจะเน้นทำเพื่อการค้าเป็นส่วนใหญ่ เน้นได้ผลผลิต รูปแบบวิถีการทำนาจึงมีความเป็นสมัยใหม่ร่วมด้วย กล่าวได้ว่าการทำนาในปัจจุบันยังคงอยู่เพียงแต่ปรับเอาวิธีการสมัยใหม่เช่นพวกเทคโนโลยีมาทุนแรงงานคนและแรงงานสัตว์เพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้นอันเป็นการตอบสนองต่อระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป จุดนี้จึงมีส่วนที่ทำให้วิถีชีวิตและเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำนาแบบดั้งเดิมบางประการได้หายไปนั่นเองนั่นเอง
ทั้งนี้ในการทำนาของชาวบ้านในชุมชนเกาะแรตแห่งนี้ยังมีการนับถือหรือเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเกี่ยวกับความเชื่อร่วมกับการนาทำไปด้วย โดยเชื่อว่าจะทำให้ผลผลิตดีขึ้นและปกปักคุ้มครองพื้นที่นาของตน โดยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถือ ได้แก่ ผีนา (ความเชื่อชาวไทดำเดิมมีความผูกพันกับการนับถือผี) ผีนาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยคุ้มครองดูแลนา ต้นข้าว รวมถึงเจ้าของที่นา โดยชาวบ้านนิยมสร้างศาลผีนาไว้ประจำทุกผืนนาที่ปลูกข้าว และทุกครั้งหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จสิ้นชาวบ้านจะจัดเครื่องเซ่นไหว้ เช่น เหล้าขาว หมากพลู ไก่ หัวหมู ขนมหวาน ดอกไม้ ธูปเทียน บูชาศาลผีนาแห่งนี้เป็นประจำทุกครั้ง นอกจากผีนาแล้วชาวบ้านยังนับถือพระแม่โพสพ ทำให้ชาวบ้านจึงปฏิบัติดีปฏิบัติชอบต่อข้าว ไม่เหยียบย่ำหรือเทข้าวทิ้งเพราะเชื่อว่าหากทำแบบนั้นจะเนรคุณ ในสมัยก่อนที่มียุ้งข้าวจะมีพิธีกรรมเรียกขวัญข้าวอันแสดงถึงความเคารพต่อพระแม่โพสพด้วยแต่ในสมัยนี้ไม่มีการสร้างยุ้งข้าวแล้วพิธีกรรมนี้จึงยกเลิกไป
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
ชุมชนเกาะแรตถือเป็นชุมชนที่สามารถรักษาความเชื่อ พิธีกรรม รวมถึงประเพณีดั้งเดิมของตนไว้ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากชาวไทดำให้ความสำคัญในการรักษาและส่งต่อความเชื่อดั้งเดิมที่เป็นประโยชน์กับลูกหลานของตนเองกันอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะความเชื่อในการนับถือผี แถนและเรื่องขวัญที่มีมาอย่างยาวนาน อีกทั้งชาวไทดำในชุมชนยังมีการปลูกจิตสำนึกแก่ลูกหลานให้มีความรักในชาติพันธุ์ตน มีความเคารพต่อบรรพบุรุษ มีการรู้ถึงบุญคุณและมีความกตัญญู ดังนั้นสิ่งเหล่านี้เมื่อถูกฝังรากลึกกันอย่างแน่นแฟ้นในความคิดและความเชื่อของลูกหลานภายในชุมชน จึงส่งผลทำให้ประเพณี วัฒนธรรม รวมถึงพิธีกรรมที่สำคัญในชุมชนมีการปฏิบัติสืบทอดกันอย่างเหนียวแน่นมาจนถึงปัจจุบัน โดยประเพณีและพิธีกรรมที่สำคัญในชุมชนเกาะแรต อาทิเช่น
ประเพณีเสนเรือน เป็นประเพณีสำคัญกับชาวบ้านในชุมชนเกาะแรตอย่างมาก มีการสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต โดยชาวบ้านในชุมชนจะขาดและละเลยประเพณีนี้ไม่ได้ เพราะแสดงถึงความกตัญญูและระลึกถึงบุญคุณของบรรพบุรุษ ซึ่งการเสนเรือนนี้ก็คือเซ่นการไหว้ผีบรรพบุรุษหรือผีเรือน โดยผีบรรพบุรุษนี้ก็จะช่วยปกป้องคุ้มครองคนในครอบครัวให้มีความสุข ความเจริญและทำมาค้าขึ้นและถ้าหากไม่ทำก็จะส่งผลให้ผีบรรพบุรุษอดอยากและไม่พอใจ จนอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่คนในครอบครัวได้ การทำพิธีเสนเรือนนี้จะทำเป็นประจำทุก ๆ 3-5 ปีต่อครั้ง ซึ่งนิยมจัดงานกันในเดือนคู่ เช่น 2, 4, 6, 8 และ 12 แต่ไม่นิยมทำในเดือน 9 , 10 เนื่องจากเชื่อว่าผีเรือนผู้ท้าวจะไปเฝ้าเทวดาหรือแถนไม่อยู่กับเรือน อีกทั้งส่วนใหญ่ชาวบ้านจะทำพิธีกันในข้างขึ้นมากกว่าข้างแรมเพราะยังเชื่อว่าจะได้ทำมาค้าขึ้น ทั้งนี้ถ้ามีคนที่นับถือผีเดียวกันเสียชีวิตลงก็จะงดการจัดงานเสนเรือนเว้นไป 1 ปี อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีการปรับเวลาให้สะดวกกับผู้จัดมากขึ้นคือจัดตามเดือนที่ไม่มีภาระและเว้นว่างจากการทำงานนั่นเอง
ในส่วนการทำพิธีกรรมนั้น ปัจจุบันอาจมีการปรับให้เข้ากับทุนทรัพย์และความสะดวกของผู้จัดมากขึ้นคือเรื่องของเซ่นไหว้ อาจใช้วัตถุดิบหมูหรือไก่เซ่นไหว้แทนวัวควาย เป็นต้น อย่างไรแม้จะมีการปรับบางอย่างให้เข้ากับความสะดวกตามยุคสมัยไปบ้าง แต่มีสิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านไม่เปลี่ยนแปลงไปเลย คือขั้นตอนการปฏิบัติต่าง ๆ ในพิธียังคงยึดถือตามรูปแบบที่เคยมีมา คือ ในพิธีกรรมเสนเรือนจะมี หมอเสน เป็นผู้ประกอบพิธีกรรม ญาติพี่น้องต่าง ๆ รวมถึงเจ้าภาพจะแต่งกายด้วยชุดไทดำ มีการจัดเตรียมปานเผือน (ภาชนะคล้ายกระจาดขนาดใหญ่ บรรจุอาหารเครื่องเช่นผีเรือน) ปานข้าว(ภาชนะใส่อาหารในหม้อเสน) ตั้งก่ำ (เก้าอี้หรือม้านั่ง สำหรับหมอเสนนั่งทำพิธีในห้องผีเรือน) และอาหารที่เป็นเครื่องเช่นต่าง ๆ ทั้งคาวหวาน ผลไม้ ข้าวเหนียวนึ่ง 7 ห่อ ตะเกียบ 7 คู่ หมากพลู บุหรี่ และเหล้า เป็นต้น เมื่อได้เวลาเซ่นไหว้ เจ้าภาพจะจัดเครื่องเซ่นต่าง ๆ บรรจุลงในปานเผือนที่เตรียมไว้และยกเข้าไปวางไว้ในห้องผีเรือนที่เรียกว่า "กะล่อห่อง" ซึ่งเป็นสถานที่ทำพิธี หมอเสนจะเริ่มเซ่นไหว้ ด้วยการเรียกหรือกล่าวเชิญบรรดาผีเรือน ที่เป็นบรรพบุรุษของเจ้าภาพ โดยเรียกชื่อบรรพบุรุษตามบัญชีรายชื่อ ที่เจ้าภาพจดร่วมกันไว้ในสมุดผีเรือน เรียกว่า "ปี๊บผีเรือน" หรือ "ปั๊บ" จนครบทุกรายชื่อเป็นจำนวน 3 ครั้ง แต่ละครั้ง หมอเสนจะใช้ตะเกียบคีบหมู กับขนมทิ้งลงไปในช่องเล็ก ๆ ข้างขวาห้องผีเรือนทีละครั้ง แล้วเซ่นเหล้าแก่ผีเรือนอีก 2 ครั้ง เพราะการเช่นเหล้าเป็นสิ่งสำคัญอันไม่อาจขาดหรืองดได้ เพื่อให้ผีเรือนได้กินอาหารและดื่มเหล้าอย่างอุดมสมบูรณ์
หลังจากเซ่นไหว้ผีเรือนเรียบร้อยแล้ว หมอเสนจะทำพิธีเสี่ยงทายให้แก่เจ้าภาพเรียกว่า “ส่องไก่” ด้วยการพิจารณาลักษณะของตีนไก่ในแกงหน่อไม้เปรี้ยวที่เจ้าภาพนำมาให้ โดยทำนายหากตื่นไก่หงิกงอแสดงว่า ไม่ดีจะมีเรื่องร้าย เกิดขึ้น แต่ถ้าตีนไก่เหยียดตรง แสดงว่าทุกคนในครอบครัวของเจ้าภาพจะประสบแต่ความสุขความเจริญ เป็นต้น หลังจากเรียบร้อยเจ้าภาพจะทำพิธีขอบคุณหมอเสนเรียกว่า "ฟายหมอ" แล้วจึงเลี้ยงอาหารแขกที่มาช่วยงานเป็นอันเสร็จพิธีเสนเรือน
ประเพณีเสนกินปางหรือเสนตั้งบั้ง เป็นพิธีเซ่นไหว้ผีปู่ย่า หรือผีบรรพบุรุษที่มีวิชาอาคมและเป็นหมอรักษาโรคภัยไข้เจ็บ เรียกว่า หมอมนต์ ซึ่งลูกหลานจะเชิญขึ้นหิ้ง พิธีเสนกินปางจะเริ่มตอนบ่าย หลังจากเสร็จพิธีเสนเรือน หมอเสนจะเข้าพิธีเสนกินปาง โดยมีหมอปีใหญ่ 1คน หมอปีเล็ก 1 คน และหมอเก็บข้าวหรือหมอเสี่ยงทายว่าหมอมนต์พอใจหรือเปล่าที่ลูกหลานทำพิธีเซ่นไหว้ในวันนี้ ถ้าพอใจก็เชิญหมอมนต์มาเข้าร่างหมอเสนกินปาง เรียกว่า หมอเมือง จากนั้นชาวไทยทรงดำ 5 คน จะถือไม้ไผ่คนละลำ และชาวไทยทรงดำ อีกคนหนึ่งจะนั่งตีถาดที่ครอบบนฝาโอ่งขนาดเล็ก เพื่อตีเป็นจังหวะ ส่วนผู้ถือไม้ไผ่จะกระทุ้งไม้ไผ่ลงพื้นเป็นจังหวะ หมอเมืองจะนำเดินรอบเสาที่เตรียมไว้ โดยผู้สืบผีจะถือร่มให้หมอเมือง และผู้ที่เป็นญาติพี่น้องจะมาร่วมกันประมาณ 3 ครั้ง ๆ ละ 3 รอบ หรือตาม แต่หมอมนต์จะพอใจบางครั้งอาจเรียกว่า เต้นกินรำกินก็ได้ เพราะในระหว่างการรำไปนั้นจะกินไปด้วย จากนั้นหมอเมืองจะผูกแขนให้กับเจ้าของบ้านและลูกหลาน ผู้หญิงจะผูกแขนซ้าย ผู้ชายผูกแขนขวา เสร็จพิธีจะมีการเลี้ยงอาหารเย็น เรียกว่า แลงหมอ เป็นอันเสร็จพิธี
ประเพณีแปงขวัญหรือเรียกขวัญ เป็นพิธีเรียกขวัญให้กับบุคคลที่เจ็บไข้ได้ป่วย เสียใจหรือตกใจ หรือทำเพื่อเสริมกำลังใจให้ผู้สูงอายุ และอาจทำให้กับคนที่ไปคลุกคลีกับสิ่งที่ไม่เป็นมงคล โดยหมอขวัญอาจเป็นได้ทั้งชายและหญิง เรียกว่า “มด” หรือ “แม่มด” ซึ่งเป็นเครือญาติที่สืบทอดกันมาหรือผู้ที่สนใจ ทั้งนี้พิธีเรียกขวัญจะเริ่มด้วยการจุดไฟด้วยท่อนฟืนเรียกขวัญบริเวณหน้าบ้านพร้อมเอาสวิงที่ใส่เสื้อของคนที่ขวัญไม่ดีหรือที่เรียกว่า “เจ้าเสื้อ” ห่อข้าว ห่อไก่หรือหมู แล้วเอาห่อของในสวิงไปมอบให้เจ้าเสื้อ แล้วให้ผู้มาร่วมพิธี พร้อมลูกหลานช่วยกันยกปานขวัญ (พานใส่ของ) จากนั้นจะทำพิธีตามขวัญหรือเรียกขวัญ โดยใช้ภาษาไทดำ ระหว่างพิธี หมอขวัญจะรินเหล้าให้เจ้าของเสื้อและผู้มาร่วมพิธีดื่ม เสร็จพิธีให้ผู้มาร่วมพิธียกปานขวัญให้เจ้าเสื้อ พร้อมนำด้ายสายสิญจน์ที่เตรียมไว้ผูกข้อมือพร้อมอวยพรให้มีอายุมั่นขวัญยืน
ประเพณีการเกิด ไทยทรงดำจะมีพิธีกรรมเกี่ยวกับเด็กแรกเกิด คือ “พิธีเสนฆ่าเกือด” หรือพิธีเสนฆ่าแม่เดิมของเด็กแรกเกิด (เกือด-เกิด) ไทยทรงดำเชื่อว่าเด็กแรกเกิดจะมีแม่เดิม เป็นผีคอยติดตามและจะเอาชีวิตเด็กกลับคืนไป มักทำให้เด็กเจ็บป่วยบ่อยหรืออาจเสียชีวิตได้จึงต้องทำพิธีเสนฆ่าแม่เดิม ซึ่งเป็นผีนั้นเสียก่อน เด็กแรกเกิดจะได้อยู่รอดและเจริญเติบโตต่อไป สัญลักษณ์ของเด็กแรกเกิด ผู้ชายเรียกว่า "ไต๊" ผู้หญิงเรียกว่า "หอยา" เป็นเครื่องจักสานที่เป็นตัวแทนขวัญของเด็กแรกเกิด และนำไต๊และหอยาไปไว้ตรงเสาในห้องผีเรือน เพื่อให้ผีเรือนคุ้มครอง นอกจากนี้แรกคลอดอาจมีการทำพิธีเซ่นสู่ขวัญสำหรับเด็กเกิดใหม่เพื่อดูแลรักษาและคุ้มครองเด็กที่เกิดมานี้ ในฝั่งของผู้เป็นแม่หลังทำการคลอดบุตรต้องนั่งอยู่ไฟเป็นเวลา 1 เดือน เรียกว่า “อยู่กำเดือน” ขณะอยู่ไฟต้องอาบน้ำร้อนต้มผสมใบไม้ที่เป็นสมุนไพรพื้นบ้านจนครบเดือน ทั้งนี้ในระยะแรกของการอยู่ไฟจะนั่งอยู่ที่เตาไฟตลอด 3 วัน เรียกว่า “อยู่กำไฟ” ผู้หญิงที่อยู่ไฟจะรับประทานได้เฉพาะข้าวเหนียวนึ่งกับเกลือคั่วหรือเกลือเผาจนครบ 3 วัน จึงออกกำไฟ
ประเพณีการแต่งงาน อาจเรียกว่า งานกินหลองหรือกินดอง หมายความว่า งานเลี้ยงเพื่อเกี่ยวดองเป็นญาติด้วยการแต่งงาน ชายหนุ่มหญิงสาวมีความรักใคร่ซอบพอถึงขั้นจะแต่งงาน ฝ่ายชายจะส่งผู้ใหญ่ไปสู่ขอพ่อแม่ฝ่ายหญิง ไปโลมเมียหรือไปโอ้โลมเป็นการไปเจรจาสู่ขอ ของที่เตรียมมีห่อหมากพลู บุหรี่ 2 ชุด (ใส่ไว้ในกะเหล็บ) พร้อมหญิงสาว 2 คน เป็นผู้สะพายกะเหล็บ ต้องสวมเสื้อฮีและนุ่งผ้าชิ่นลายแตงโมให้ถูกต้องตามประเพณี ถ้าหากเจรจาตกลงกันเรียบร้อยแล้วก็จะนัดหมายการแต่งงาน โดยมีขั้นตอน 4 ขั้น คือ สอง สู่ ส่ง สา ดังนั้น ขั้นส่องคือ ไปหมั้น ฝ่ายชายจะไปเยี่ยมฝ่ายหญิงเป็นครั้งคราวเรียกว่า ไปหยามห่อมะปู ขั้นสู่คือ การไปเยี่ยมระหว่างการหมั้นเป็นระยะ ๆ หรือไปมาหาสู่ ขั้นส่ง คือ นัดวันแต่งงานหรือนัดมื้อส่ง หมายความว่าเป็นตอนที่จะส่งตัวเจ้าสาวให้แก่เจ้าบ่าว และขั้นสา คือ แต่งงานแล้วยังไม่ส่งตัวเจ้าสาว ฝ่ายชายต้องไปทำงานรับใช้อยู่บ้านฝ่ายหญิงประมาณ 1-5 ปี (เรียกว่า สาหรืออาสา) ด้วยสาเหตุในกรณีบ้านนี้มีลูกสาวคนเดียวและมีลูกสาวหลายคน แต่เจ้าสาวเป็นลูกคนโต เป็นต้น และบางครั้งพ่อแม่ฝ่ายหญิงไม่เรียกสินสอดทองหมั้น ฝ่ายชายต้องอาสาทำงานทดแทนบุญคุณ
ทั้งนี้ในด้านพิธีแต่งงานนั้น วันแต่งงาน เจ้าบ่าวจะนำขบวนแห่ขันหมากไปบ้านเจ้าสาวพร้อมกับสินสอดและของต่าง ๆ เช่น หมากพลูที่ใส่ในกระเหล็บ ถ้าเป็นผู้ท้าวใช้กะเหล็บ 4 ใบ ผู้น้อยใช้กระเหล็บ 2 ใบ มีที่นอน ขนม 8 ถาด มีเหล้า 1 เทเลี้ยงผู้ร่วมงาน นอกจากนี้ยังต้องเตรียมของสำหรับไหว้ผีเรือนมี เช่น หมู ไก่ เหล้า ขนม เป็นต้น ทั้งนี้พอไปถึงบ้านเจ้าสาวฝ่ายเจ้าสาวจะมีขันน้ำและขันหมากมาต้อนรับและพาเจ้าบ่าวขึ้นบ้าน จากนั้นจะนำเหล้า 1 ขวด ไก่ 1 ตัว หมากพลูไปไหว้ผีเรือนบ้านเจ้าสาวเพื่อบอกกล่าวและฝากตัวเป็นลูกหลาน และทำพิธีมอบสินสอดทองหมั้นกัน หลังจากมอบสินสอดเจ้าบ่าวจะไหว้ญาติฝ่ายเจ้าสาว เรียกว่า “ไหว้เฮา” มีผู้กล่าวนำ เรียกว่า “องลาม” ซึ่งการไหว้จะใช้เพื่อนเจ้าบ่าว 5-8 คน บุคคลทั้งหมดต้องสวมเสื้อฮีและสวมส้วงฮีเท่านั้น โดยมีการยืนเรียงหน้ากระดานเจ้าบ่าวจะยืนคนที่ 2 จากขวามือเพื่อไหว้ผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิง โดยขณะไหว้ขจะนำมือขวาจับมือซ้ายแล้วนำมือยกประสานกันและวนมือ 3 ครั้ง ตุกเข่าลงไปและก้มกราบ เมื่อไหว้เสร็จญาติผู้ใหญ่จะให้พร ส่วนฝ่ายเจ้าสาวก็จะมีการไหว้ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าวเช่น เรียกว่า ตั้ก พร้อมกับหัวหน้านำกล่าว เรียกว่า แม่ตั๊ก ซึ่งเมื่อไหว้เสร็จญาติผู้ใหญ่จะให้พรก็เป็นอันเสร็จพิธีบ้านฝ่ายหญิง ต่อมาคือพิธีบ้านฝ่ายชาย จะมีพิธีการดึงสะใภ้ขึ้นเรือนโดยคนอาวุโสบ้านฝ่ายชายจะเป็นคนดึงพิธีนี้แสดงถึงความต้อนรับฝ่ายหญิง จากนั้นเมื่อขึ้นเรือนเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะไหว้ผีเรือนบ้านฝ่ายชายเพื่อบอกกล่าวและฝากตัว หลังจากไหว้ผีเรือนต่อมาจะมีการเข้าพิธีสู่ขวัญหรือ อู่สู่ขวัญแก่เจ้าบ่าวเจ้าสาวเมื่อเสร็จสิ้นหลังจากนั้นก็จะส่งบ่าวสาวเข้าหอ ซึ่งในห้องหอจะมีพิธีกางมุ้งหรือกางก่วงกางหยัน โดยผู้เฒ่าผู้แก่จะกางมุงปูผ้าปูที่นอนให้บ่าวสาวกล่าวได้ว่าพิธีนี้เพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลแก่บ่าวสาวคู่ใหม่นั่นเอง หลังจากส่งบ่าวสาวเรียบร้อยแล้วก็จะเป็นการจบสิ้นพิธี
ทั้งนี้ในปัจจุบันด้วยทัศนคติต่าง ๆ การเลือกคู่แต่งงานจึงมีความหลากหลายมากขึ้น คือ มีการแต่งงานกับคนภายนอกที่ไม่ใช่ไทดำส่งผลทำให้บางคู่มีการแต่งงานด้วยพิธีแบบชาวไทยทั่วไป แต่อย่างไรก็ตามหากเป็นการแต่งงานระหว่างไทดำด้วยกันแล้ว พิธีกรรมและประเพณีเหล่านี้ก็ยังคงใช้ดำเนินอยู่ในการแต่งงานของชาวไทดำจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าพิธีกรรมและประเพณีแต่งงานรูปแบบไทดำนี้ยังคงมีการสืบทอดกันถึงปัจจุบัน โดยจะเกิดขึ้นจำกัดอยู่เฉพาะบุคคลที่แต่งงานกันระหว่างชาติพันธุ์ไทดำเท่านั้นเอง
ประเพณีงานศพ ของชาวไทดำนั้นถือว่าสำคัญมากเช่นกันเพราะเชื่อว่าการจัดงานศพจะทำให้วิญญาณผู้ตายกลับมาปกป้องคุ้มครองลูกหลานต่อไป ซึ่งชาวไทดำจะมีการทำพิธีกรรมและตั้งศพที่บ้านเป็นส่วนใหญ่เพราะเชื่อว่าวิญญาณจะไม่สามารถเข้าบ้านได้ ยกเว้นแต่ว่าศพนั้นจะเสียชีวิตแบบผิดธรรมชาติหรือตายโหงจะไม่นำเข้าบ้านแต่จะเป็นการทำที่วัดแทน โดยในพิธีการทำศพนั้นเมื่อมีผู้เสียชีวิตญาติจะอาบน้ำศพและสวมเสื้อฮีให้กับศพ จากนั้นนำธูปเทียนดอกไม้ใส่ที่มือพร้อมลูกช่วงเล็ก ๆ เรียกว่า มะกอนมือ พร้อมกับไม้ลูกชิ้นที่พับด้วยด้ายสีแดง สัม ขาว สลับกันใส่ที่ข้อมือทั้ง 2 ข้าง มีการนำผ้าดิบและผ้าแพรปูบนที่นอน แล้วนำศพหรือขอน (ชาวไทดำเรียกศพว่าขอน) วางบนผ้า จากนั้นนำผ้าคลุมให้มิดชิดและนำไม้แหลมขัดที่ด้านข้างของศพทั้ง 2 ข้าง ซึ่งการทำแบบนี้เรียกว่า วิธีการลอยขอน ทั้งนี้ต่อมาญาติจะนำศพลงโลงและนำศพไปตั้งบริเวณขื่อของบ้าน ซึ่งถ้าเป็นชายจะตั้งไว้ใต้ขื่อบ้านแต่ถ้าเป็นหญิงจะวางไว้ใต้ขื่อบ้านถัดออกมา โดยโลงศพจะคลุมด้วยเสื้อฮี 3 ผืนแล้วโยงสายสิญจน์รอบศพ ตรงที่ตั้งศพจะมีไม้ไผ่ผูกแขวนไว้เหนือโลงศพเรียกว่า ขอด้วน ซึ่งจะมีการนำผ้าดิบ ผ้าแพรพาดบนขอด้วนอีกที หลังจากตั้งศพแล้วจะมีการนำไข่ต้ม 1 ฟองและข้าว 1 ปั้น ใส่ก้นสวิงจากนั้นก็สวดอภิธรรมศพตามประเพณีไทย
ทั้งนี้ต่อมาเมื่อถึงวันฌาปนกิจศพ ลูกผู้ตายจะใส่เสื้อต๊กปีกหัวขาว ส่วนลูกเขย ลูกสะใภ้จะใส่เสื้อฮี ส่วนภรรยาผู้ตายจะปล่อยผมเอาด้ายดิบมาผูก พร้อมทั้งเลาะตีนผ้าชั่นออก ตัดแขนเสื้อ ก้อมเป็นแขนสามส่วน ตัดกระดุมออกบางเม็ด แล้วนำไม้มาขัดแทนเป็นการไหว้ทุกข์ ก่อนนำศพออกจากบ้านหมอพิธี เรียกว่า เขย จะทำพิธีบอกให้ศพหรือขอนกินข้าวหรือกินงาย จากนั้นก็จะเดินวนรอบโลงศพ 3 รอบ และมีผู้สูงอายุถือสวิงเพื่อเรียกขวัญหรือช้อนขวัญลูกหลานไม่ให้ไปกับผู้ตาย จากนั้นนำศพลงจากบ้านแล้วนำไปเผาที่วัด
เมื่อเผาเสร็จวันรุ่งขึ้นจะเก็บกระดูกผู้ตายโดยเก็บใส่โกศบูชาที่กะล้อห่องส่วนหนึ่งและอีกส่วนใส่หม้อดินพร้อมสตางค์ ต่อจากนั้นจะทำการปลูกเรือนแก้วหรือบ้านจำลองขนาดเล็ก ๆ ให้ผู้ตายเรียกว่า “การเฮ็ดแฮว” คร่อมหม้อดินไว้ 1 หลัง พร้อมวางของใช้ไว้ใต้ถุนบ้านมีการทำรั้วรอบ ๆ บ้าน พร้อมทั้งโยงไหมสีเหลืองที่เรียกว่าสายใจระหว่างหม้อกระดูกกับบนบ้านไว้ด้วย ส่วนที่หน้าเรือนประมาณ 1 เมตร จะมีการปักเสาหลวงที่เตรียมมา ธงที่เตรียมมาจะผูกติดกับเสาหลวงให้ห้อยลงมา หงส์และร่มจะผูกติดไว้ที่ปลายเสาหลวง ส่วนเสื้อผ้า เช่น เสื้อฮี ผ้าซิ่น ฯลฯ จะแขวนไว้กับเสาหลวง ทั้งนี้เมื่อเรียบร้อยแล้วหมอพิธีก็จะทำพิธีกรรมมีการบอกกล่าวและอุทิศต่าง ๆ รวมถึงบอกทางให้กับผีได้ไปเมืองเดิมคือเมืองแถนซึ่งเป็นเมืองเทวดา เมื่อเรียบร้อยแล้วบรรดาลูกหลานและญาติจะยืนเข้าแถวแล้วทำความเคารพเป็นอันเสร็จพิธี หลังงานศพต่อมาประมาณ 1-2 วัน จะมีการทำพิธีแผ้วเรือน คือ พิธีการเรียกขวัญคนในบ้านและการทำความสะอาดบ้านเพื่ออยู่อาศัยต่อไป
อย่างไรก็ดีชาวไทดำมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องผีบรรพบุรุษ ทำให้จึงให้ความสำคัญกับผีของคนในครอบครัวที่เสียชีวิต ดังนั้นหลังจากงานศพและพิธีต่าง ๆ เรียบร้อยแล้วผู้ที่ล่วงลับนี้จะเปรียบเสมือนผีบรรพบุรุษของครอบครัว ทำให้ลูกหลานจะมีพิธีกรรมการเชิญผีหรือผู้ตายนี้ขึ้นเรือนเพื่อเซ่นไหว้และให้เป็นผีเรือน โดยพิธีกรรมนี้จะมีการจัดตามความพร้อมของเจ้าภาพ เรียกว่า “เอาผีขึ้นเฮือน” และหลังจากมีการเชิญเป็นผีเรือนแล้ว ลูกหลานสมาชิกครอบครัวจะทำการเซ่นไหว้ในมื้อเวนตงทุก ๆ 10 วัน โดยเรียกว่า “การป๊าดตง” อีกทั้งในทุก ๆ 3-5 ปี จะมีประเพณีเสนเรือน เป็นการเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษของชาวไทดำในเรือนซึ่งเป็นพิธีกรรมใหญ่อีกด้วย
ประเพณีสงกรานต์ ของไทดำเกาะแรตจะมีการจัดขึ้นประจำทุกปีนับตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยจะมีการจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 14-15 เมษายนบริเวณทุ่งนาระหว่าง ซอย 4 กับ ซอย 5 (หมู่ 12 บ้านเกาะแรต) สาเหตุที่จัดงานในบริเวณนี้ก็เนื่องมาจากเป็นบริเวณที่มีชาวไทดำอาศัยอยู่มากที่สุด และเป็นที่ตั้งของศาลประจำหมู่บ้านอันเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในพิธีวันสงกรานต์ของชาวเกาะแรต โดยศาลแห่งนี้มีชื่อว่า ศาลเจ้าพ่ออุลุม โดยในอดีตชาวลาวใซ่งได้สร้างไว้ด้วยความคิดที่จะพึ่งพาอาศัยให้คุ้มครองหมู่บ้านและเป็นที่พึ่งทางใจ ทั้งนี้ในงานสงกรานต์ของหมู่บ้านเกาะแรตนั้นจะเริ่มขึ้นตั้งแต่ เวลา 8.00 น. ของวันที่ 14 เมยายน ซึ่งจะเริ่มต้นด้วยพิธีการไหว้ศาลตาปู่อันเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน โดยชาวบ้านจะหาบกระจาดหรือปิ่นโตใส่อาหาร เช่น ขนมต้มแดงต้มขาว ข้าวต้มมัด ผลไม้ เหล้า ธูปเทียน มะพร้าวปอกเปลือก เป็นต้น มาทำพิธีไหว้ศาลประจำหมู่บ้าน โดยชาวบ้านจะเรียกพิธีนี้ว่า “วันเลี้ยงตาปู่” หลังจากที่ชาวบ้านนำของที่เอามาใส่ถาดเรียงแถวตั้งไว้บนลานปูนแล้วจะมีการจุดธูปเทียนขึ้นไปไหว้สักการะสัญลักษณ์ของเจ้าพ่อบนศาลอันแสดงถึงการสักการะพ่อปู่ โดยบางรายก็อาจมีการอธิษฐานและบนบานต่อพ่อปู่อีกด้วย เมื่อเสร็จแล้วชาวบ้านก็จะรอคอยการทรงของพ่อปู่ โดยขณะที่รอการทรงจากร่างทรงนั้นบรรยากาศโดยรอบจะมีการตีกลองยาว เปิดเพลงแคน คนสูงอายุจะออกมาร่ายรำสนุกสนาน ต่อมาประมาณ 9.00 น. คนทรงพ่อปู่มาถึงก็จะมีการไหว้และอัญเชิญพ่อปู่ลงมาประทับ เมื่อพ่อปู่ประทับเรียบร้อยชาวบ้านจะมีการกล่าวเป็นภาษาไทดำในสักการะต่อพ่อปู่ เมื่อเสร็จสิ้นคนทรงพ่อปู่จะตักน้ำมนต์ในกระถางหน้าศาลสาดพรมแก่ชาวบ้านที่มาร่วมพิธี หลังเสร็จพิธีช่วงนี้แล้วจะเข้าสู่การละเล่นเพื่อความสนุกสนาน ที่เรียกว่า การตีคลี (การตีมะพร้าวที่ปอกเปลือกแล้ว) โดยคนทรงจะถือลูกมะพร้าวพร้อมกับร่ายรำตามจังหวะเพลงต่อหน้าคนตี 2 คนที่ถือไม้ไว้ ซึ่งคนตีนี้ก็จะร่ายรำตามเพลงด้วยเช่นกัน หลังจากนั้นคนทรงก็จะโยนมะพร้าวเพื่อให้ชายทั้ง 2 คนตีจนหมดเข่ง โดยขณะโยนนั้นจะมีการหยอกล้อของผู้ที่โยนมะพร้าวกับผู้ตีอีกด้วยหลังจากเสร็จการละเล่นนี้ก็เป็นการจบพิธีในช่วงเช้า
ต่อมาในช่วงบ่ายประมาณ 16.00 น. จะมีการนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพุทธมนต์ และมีการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญผู้สูงอายุในหมู่บ้านเพื่อแสดงถึงความกตัญญู จากนั้น 17.00 หนุ่มสาวไทดำในชุมชนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีดำผู้ชายจะสวมเสื้อฮี และส้วงฮี (กางเกงขายาว) มีผ้าสีคล้องคอ ส่วนผู้หญิงจะสวมเสื้อแขนกุด และนุ่งผ้าชิ่นตาหมี่หรือผ้านุ่งลายแตงโม ซึ่งหนุ่มสาวเหล่านี้จะมีการเล่นลูกช่วงกันในช่วงเวลานี้ เรียกว่า “อิ๋นกอน” โดยการละเล่นนี้จะแบ่งชายหญิงออก เป็น 2 ฝ่าย โดยจะโยนลูกช่วง เรียกว่า “ต้อดมะกอนหรือต้อดกอน” กันไปมา ต่างฝ่ายต่างต้องรับลูกช่วงนี้ให้ได้ การละเล่นลูกช่วงหรืออิ๋นกอนนี้ถือว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวในชุมชนได้มองหาคนที่ถูกใจคล้ายกับการหาคู่ ทั้งนี้ระหว่างการที่เล่นอิ๋นกอนกันจะมีการเป่าแคนฟ้อนรำไปด้วยอย่างสนุกสนาน โดยจะเรียกรวมกันว่า “อิ๋นกอนฟ้อนแคน” นั่นเอง ต่อมาเมื่อเข้าสู่ในช่วงเวลา 19.00 น.เป็นต้นไป จะมีการฟ้อนแคนหรือรำแคนกัน โดยจะมีวงแคนมาบรรเลงเพลงและชาวบ้านในชุมชนจะมาร่วมฟ้อนรำกันเป็นวงครื้นเครง พอเข้าสู่ช่วงเวลาประมาณ 21.00 น. จะมีการกล่าวเปิดงานสงกรานต์อย่างเป็นทางการและฟ้อนรำร้องเพลงร่วมกัน คือเพลงไทดำรำพัน ซึ่งหลังจากกล่าวเปิดงานเรียบร้อยก็จะร้องรำกันต่ออย่างสนุกสนานกันถึงเที่ยงคืน รุ่งเช้าวันที่ 15 เมษายน เวลา 07.00 น. จะมีการนิมนต์พระมาที่หมู่บ้านเพื่อร่วมกันทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนบุญให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว จากนั้นรดน้ำกระดูกปู่ย่าตายาย และรดน้ำขอพรผู้สูงอายุเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัว เมื่อพิธีเรียบร้อยแล้วก็จะเป็นการเสร็จสิ้นประเพณีสงกรานต์ของชาวไทดำชุมชนบ้านเกาะแรตนั่นเอง
ทุนทางภูมิปัญญา
ทุนทางภูมิปัญญาอย่างหนึ่งของชาวไทดำ คือ การรักษาอาการเจ็บป่วย โดยคนที่มีอาการไม่สบาย เจ็บป่วยไข้ ปวดหัวตัวร้อน เจ็บปวดตามร่างกาย หรือโรคทั่วไปที่ไม่รุนแรง เช่น โรคชาง งูสวัด และคนป่วยที่ไปหาหมอที่โรงพยาบาลแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือระยะพักฟื้น คนป่วยเหล่านี้มักจะไปรักษากับหมอพื้นบ้านที่มีความรู้สืบทอดมาจากบรรพบุรุษให้มาทำพิธีกรรม (ผู้ที่ทำพิธีกรรมรักษาหรือเรียกว่าหมอ หากเป็นผู้หญิง จะเรียกว่า แม่มด ส่วนผู้ชาย เรียกว่า หมอเสน) ซึ่งหมอเหล่านี้จะมีการทำพิธีต่าง ๆ เช่น การขับมด การแปงขวัญ การเสนตัว การเสนเต็ง การเสนแก้เคราะห์ เป็นต้น ให้แก่คนป่วย โดยการรักษานี้อาจใช้เวลาทั้งวันหรือทั้งอาทิตย์ กล่าวว่าวิธีนี้ปัจจุบันยังคงมีการสืบทอดอยู่ควบคู่กับการรักษาแผนปัจจุบัน นอกจากการรักษาด้วยพิธีกรรมแล้วยังพบว่าชาวบ้านยังใช้พืชสมุนไพรพื้นบ้านในการทำการรักษาอีกด้วย
ทุนวัฒนธรรม
บ้านเรือนของชาวไทดำ ถือว่าเป็นรูปแบบที่มีเอกลักลักษณ์และโดดเด่นอย่างมาก โดยเฉพาะรูปแบบสถาปัตยกรรมบ้านเรือนไทดำดั้งเดิมที่คงกลิ่นอายของวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมถิ่นที่อยู่เดิมของชาวไทดำอย่างแคว้นสิบสองจุไท แต่อย่างไรก็ตามด้วยยุคสมัยของสังคมที่เปลี่ยนไป ส่งผลทำให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบสถาปัตยกรรมของบ้านเรือนชาวไทดำในชุมชนเหล่านี้ไปตามยุคสมัยและแบบไทยมากขึ้น ทั้งนี้แม้ว่าปัจจุบันชาวไทดำเกาะแรตจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบบ้านเรือนไปแล้วก็ตาม แต่ในด้านของการวางผังบ้านนั้นพบว่าชาวบ้านยังคงคำนึงถึงความเกี่ยวข้องทางความเชื่อและจิตวิญญาณอยู่เช่นเดิม เนื่องมาจากชาวไทดำยังคงมีระบบคิดและความเชื่ออันแน่นแฟ้นเกี่ยวกับการนับถือผีบรรพบุรุษ (ชาวไทดำต้องเซ่นไหว้ผีเรือน) ดังนั้นจึงทำให้การวางผังบ้านต่าง ๆ จะต้องทำให้ถูกลักษณะตามความเชื่อที่มีมา ซึ่งบ้านสมัยใหม่แม้จะมีการเปลี่ยนรูปลักษณะไปแล้วแต่ก็ยังคำนึงถึงการวางผังบ้านต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับความเชื่อของชาวไทดำเช่นเดิมนั่นเอง ทั้งนี้สามารถอธิบายเกี่ยวกับรูปแบบสถาปัตยกรรมและการวางผังบ้านของชาวไทดำในอดีตและปัจจุบันได้ดังนี้
1.รูปแบบสถาปัตยกรรมบ้านเรือนของชาวไทดำในอดีตหรือรูปแบบบ้านเรือนไทดำดั้งเดิม
บ้านเรือนไทดำดั้งเดิมจะมีการสร้างบ้านในลักษณะยกสูงและมีการใช้วัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น เช่นไม้ไผ่ หญ้าแฝกหญ้าคา ต้นไม้ต่าง ๆ มาประกอบทำเรือน โดยเริ่มจากเสาของเรือนจะทำด้วยต้นไม้เนื้อเข็งทั้งต้นที่มีง่าม ( ไว้สำหรับวางคาน ) ส่วนพื้นบ้านจะเป็นฟากสับที่ทำด้วยไม้ไผ่ทุบให้แบนเป็นชิ้น ๆ และแผ่ออกให้เป็นแผ่นติดกัน ทั้งนี้บางเรือนอาจเป็นกระดานไม้จริงที่เลื่อยและถากให้เป็นแผ่น ในส่วนหลังคาจะมีการมุงหลังคาด้วยแฝก และสร้างให้หลังคาให้โค้งยาวคลุมลงมาเสมอพื้นเรือน โดยคลุมปิดผนังบ้านทุกด้าน (หลังคาเช่นนี้สามารถป้องกันลมหนาวที่พัดแรงได้ดีเพราะถิ่นเดิมของชาวไทยทรงดำ อยู่ในอาณาเขตที่ค่อนข้างหนาวเย็นมาก่อน ) ซึ่งลักษณะของหลังคาเมื่อมองภายนอกแล้วจะมีลักษณะที่โก้งเป็นกระโจมหรือคล้ายกับกระดองเต่า จึงมีการเรียกเรือนรูปแบบนี้ว่า “เรือนกระดองเต่า” ในส่วนของยอดจั่วจะมีการประดับด้วยไม้แกะสลักเป็นกึ่งคล้ายเขาควายไขว้กัน เรียกว่า “ขอกุด” (เป็นเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่เด่นของชาวไทยทรงดำ) ในส่วนใต้ถุนบ้านปล่อยโล่ง ความสูงเดินลอดได้อย่างสะดวกสบาย ซึ่งพื้นที่ใต้เรือนส่วนใหญ่จะเอาไว้ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ทอผ้า ตำข้าว สีข้าว เลี้ยงหมูเก็บรักษาเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำนา เป็นต้น ส่วนบันไดบ้านจะมี 2 ทาง คือ ทอดขึ้นทางชานหน้าบ้านและหลังบ้าน ส่วนภายในตัวบ้านจะมีการกั้นด้วยฝาสกัดหัวท้ายบ้าน ฝ่าด้านข้างเอนออกจากแนวตั้งเสาและมีความสูงไม่ถึงหลังคา
ในส่วนการวางผังบ้านของชาวไทยทรงดำนั้นพบว่าภายในบ้านจะเป็นพื้นที่โล่งปล่อยกว้างตามขนาดของตัวบ้านไม่มีการกั้นห้อง แต่จะมีการแบ่งสัดส่วนพื้นที่ในการใช้สอยทำกิจกรรมต่าง ๆ คือ พื้นที่ส่วนแรกจะเป็นพื้นที่สำหรับที่อยู่อาศัย พื้นที่รับประทานอาหารและทำเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ ส่วนต่อมาคือพื้นที่ในบริเวณมุมหนึ่งของเสาบ้านพื้นที่นี้จะใช้สำหรับเซ่นไหว้ผีเรือน เรียกว่า “กะล้อฮ่อง”ซึ่งแปลว่า มุมห้อง โดยในพื้นที่สำหรับเซ่นไหว้ผีจะมีขันน้ำและชามวางอยู่เป็นประจำ เมื่อมีการเซ่นไหว้หรือพิธีการปาดตงและประเพณีเสนเรือนจะมีการทำกันในบริเวณนี้ ทั้งนี้ในส่วนต่อมาคือพื้นที่ครัวไฟ พบว่าพื้นที่ของครัวไฟจะอยู่ในบริเวณริมกลางเรือนด้านข้างนึงของพื้นที่บ้าน โดยปลายด้านบนของฝาบ้านบริเวณนี้จะมีการทำเป็นหิ้งไว้สำหรับวางของเครื่องใช้ในครัว ส่วนพื้นที่ของเตาไฟนั้นพบว่าจะวางอยู่ใต้หิ้งนี้อีกที
นอกจากการสร้างเรือนที่อยู่อาศัยแล้ว ในบริเวณบ้านชาวไทดำยังมีการสร้าง “ยุ้งข้าว” หรือ “เรือนยุ้งข้าว” ไว้ด้วย เนื่องจากชาวไทดำมีการทำนาเป็นการประกอบอาชีพหลัก จึงต้องมีการเก็บข้าวเปลือกไว้ขายดังนั้นจึงต้องมียุ้งข้าวไว้เก็บข้าวเปลือกเหล่านี้ โดยการสร้างยุ้งข้าวจะสร้างสูงกว่าเรือนที่อยู่อาศัย เนื่องจากข้าวมีพระแม่โพสพสถิตอยู่ ซึ่งมีบุญคุณต่อการดำรงชีวิต ดังนั้นจะเหยียบย่ำและไว้ที่ต่ำไม่ได้เด็ดขาดนั่นเอง
2.รูปแบบสถาปัตยกรรมบ้านเรือนของชาวไทดำในปัจจุบัน
การเปลี่ยนแปลงของบ้านเรือนดั้งเดิมชาวไทดำนั้นพบว่าชาวไทดำมีการปรับบ้านให้กลมกลืนกับวัฒนธรรมไทยอยู่เป็นระยะ ซึ่งเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดในช่วงประมาณ รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ ุ6 บ้านเรือนของชาวไทดำได้เริ่มเปลี่ยนเป็นลักษณะเรือนไม้แบบไทยภาคกลางมากขึ้น คือ มีจั่วยอดแหลม ฝาผนังบ้านเป็นฝาปะกน ใต้ถุนสูง มีนอกชานหน้าบ้าน ห้องกั้นทึบที่ตัวเรือนมีเรือนครัวขวางไว้ที่หัวสกัดของชานบ้านด้านหนึ่ง มีการต่อชายคาบ้านรอบด้านให้ยาวคลุมลงมาเกือบเสมอพื้นบ้าน ทำให้ผนังเตี้ยสามารถเจาะหน้าต่างเป็นช่องเล็ก ๆ หรือไม่ก็ตีฝาเป็นลูกกรง ส่วนภายในบ้านมีพื้นเรือนกว้างออกไปทางด้านข้างมากขึ้นไว้สำหรับเป็นที่นอนของสมาชิกในครอบครัวได้เพิ่มขึ้น และเหมาะในการทำพิธีต่าง ๆ ที่กลางบ้านอย่างยิ่ง ส่วนใต้ถุนบ้านยังคงสูงและมีพื้นที่ทำสำหรับกิจกรรมได้ต่าง ๆ ทั้งนี้บางบ้านในช่วงเวลานี้ก็ยังอาจพบการสร้างที่คล้ายคลึงกับแบบบ้านดั้งเดิมเพียงแต่เปลี่ยนหลังคาให้เป็นทรงจั่วอย่างบ้านไทยแบบบ้านชาวนาไทยที่มีการลากปีกนกออกมายาวเสมอชายคาบ้านมุงด้วยกระเบื้องหรือสังกะสี และฝาผนังบ้านสูงขึ้นกว่าบ้านแบบเดิม มีเรือนครัวและมีใต้ถุนสูงอย่างบ้านคนไทยภาคกลางทั่ว ๆไป อย่างไรก็ดีรูปแบบบ้านได้มีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ตามยุคสมัย ซึ่งในปัจจุบันนี้ชาวไทดำรุ่นใหม่ได้ปรับปรุงบ้านจนมีรูปแบบต่าง ๆ ทั้งเปลี่ยนเป็นเรือนไทยประยุกต์สร้างด้วยปูนแทนไม้ สร้างด้วยมุงกระเบื้องแบบบ้านยุโรป และสร้างด้วยปูนเป็นบ้านสไตล์ยุโรปสมัยใหม่ ซึ่งการสร้างเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับความพอใจของเจ้าของบ้านนั่นเอง ทั้งนี้นอกจากลักษณะบ้านที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสของโลกาภิวัตน์แล้วยังพบว่ายุ้งข้าวที่เคยมีมาตั้งแต่อดีตของบ้านเรือนชาวไทดำก็ได้ถูกยกเลิกไปด้วยในปัจจุบัน เนื่องจากปัจจุบันข้าวเปลือกไม่ได้มีการนำมาเก็บไว้ที่ยุ้งข้าวแล้ว เพราะว่าสมัยใหม่มีเครื่องนวดข้าวเปลือกด้วยเครื่องจักรละบรรจุลงกระสอบที่ทุ่งนาเลย ทำให้เกิดความสะดวกอย่างมาก จุดนี้จึงส่งผลให้ยุ้งข้าวจึงหมดความสำคัญลงและถูกยกเลิกไปนั่นเอง
ทั้งนี้ปัจจุบันแม้ว่าความเจริญรวมถึงความนึกคิดทัศนคติแบบใหม่ ๆ จะเข้ามาสู่ชาวไทดำในชุมชนเกาะแรตอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่ก็พบว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้กระทบต่อความเชื่อที่มีมานับตั้งแต่อดีตของชาวไทดำเลย โดยชาวไทดำยังคงสามารถดำรงและรักษาระบบความคิดความเชื่อโดยเฉพาะในเรื่องของการนับถือผีที่มีมาในอดีตเหล่านี้ได้อยู่เป็นอย่างดี ดังนั้นจุดจึงนี้เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้การวางผังบ้านของชาวไทดำนั้นยังคงคำนึงถึงเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อไว้อยู่เช่นเดิม โดยกล่าวว่าแม้รูปลักษณะของบ้านไทดำปัจจุบันจะมีความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยใหม่ก็ตาม แต่ในส่วนของการวางผังบ้านของชาวไทดำนั้นยังคงไม่ต่างจากเดิม คือบ้ารของชาวไทดำยังคำนึงถึงการมีพื้นที่สำหรับความเชื่อและยังคงคำนึงถึงการวางผังบ้านที่ถูกลักษณะของความเชื่ออีกด้วย ดังนั้นในปัจจุบันบ้านชาวไทดำจึงยังคงมีการสืบทอดการมีห้องผีเรือนหรือกะล้อฮ่องอยู่เช่นเดิม รวมถึงในด้านการวางผังบ้านก็ยังคงคำนึงถึงความถูกลักษณะในทางความเชื่อร่วมด้วย ดังจะเห็นได้จากชาวไทดำจะสร้างห้องผีเรือนตั้งไว้บริเวณหัวสกัดด้านหนึ่งของบ้าน โดยจะไม่มีการตั้งหรือสร้างครัวไฟบังห้องผีเรือนนี้เด็ดขาดเพราะเชื่อว่าครัวไฟเป็นสิ่งที่ไม่สะอาด ทำให้บ้านชาวไทดำนี้จึงมีการวางผังเรือนที่ต้องย้ายและสร้างครัวไฟไว้ที่หัวสกัดชานบ้านหรือระเบียงบ้านแทนนั่นเอง ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าบ้านชาวไทดำในชุมชนเกาะแรตปัจจุบันนั้นแม้ว่าจะมีลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยแล้วก็ตาม แต่ในด้านการวางผังบ้านชาวไทดำพบว่ายังคงมีรูปแบบเดิมคือยังผูกอยู่กับระบบของความคิดความเชื่อและจิตวิญญาณอยู่ จุดนี้จึงเป็นเอกลักษณะของบ้านชาวไทดำในชุมชนเกาะแรตนั่นเอง
วัดเกาะแรต เป็นวัดสำคัญอย่างมากของชาวไทดำชุมชนเกาะแรต โดยชาวไทดำแม้จะมีเชื่อและการปฏิบัติที่เคร่งครัดในการนับถือผี แต่หากก็มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาไปพร้อม ๆ กันด้วย ดังนั้นวัดเกาะแรตอันเป็นวัดที่อยู่ใกล้กับชุมชนเกาะแรตมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่การก่อตั้งของชุมชนของชาวไทดำ จึงกลายเป็นศูนย์กลางสำคัญในการปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนาของชาวบ้านไทดำในชุมชนเกาะแรตนั่นเอง ทั้งนี้ วัดเกาะแรตแห่งนี้ได้มีการก่อตั้งมาตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2407 ก่อนที่จะได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2482 ซึ่งวัดแห่งนี้ได้รับการบริจาคที่ดินในการสร้างวัดจาก นางดำ เป็นจำนวน 9 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวา ในอดีตมีหลวงพ่อตุ้มเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก แต่ในปัจจุบันมีพระครูสิริปุญญากร ทำหน้าที่ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสของวัด โดยภายในวัดจะมีศาลาไม้สักโบราณทั้งหลังที่มีอายุยาวนานกว่าร้อยปี อีกทั้งยังมีอุโบสถที่ในปัจจุบันกำลังมีการสร้างอุโบสถหลังใหม่รูปทรงทรงล้านนา ซึ่งจะมีการประดิษฐานพระประธานปางเชียงแสนหน้าตัก 109 นิ้วไว้ภายใน นอกจากนี้วัดแห่งนี้ยังมีวัตถุมงคลหรือพระเครื่องที่มีชื่อเสียงและถือเป็นของหายากในปัจจุบัน คือเหรียญหลวงพ่อตุ้ม วัดเกาะแรตอีกด้วย
ศาลเจ้าพ่อประจำหมู่บ้านเกาะแรต ตั้งอยู่ที่ซอย 4 บ้านเกาะแรตหมู่12 เป็นศาลจำนวน 3 หลังที่มีการสร้างขึ้นมานับตั้งแต่การก่อตั้งของชุมชนเกาะแรต โดยมีการสร้างขึ้นเพื่อคุ้มครองภัยอันตรายไม่ให้เกิดกับชาวบ้านภายในหมู่บ้าน ซึ่งผู้ที่สร้างศาลแห่งนี้คือบรรพบุรุษรุ่นแรก ๆ ที่อพยพมาจากเพชรบุรี อันได้แก่ นายย้อย เพรชติ่ง นายลี เพชรก๋ง นายสอง เพรชโอ ซึ่งทั้งหมดดได้จัดสร้างศาลขึ้นมา 3 ศาล คือ ศาลที่ 1 เป็นศาลทรงไทย ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ เป็นที่ประทับของพ่อปูอุมลุมหรือตาปู่ พ่อเวศสุวรรณ พ่ออินทร์ พ่อบุญน้อย พ่ออินทร์พรหม ศาลที่ 2 เป็นศาลปูน ที่ประทับของพ่อพัน พ่อพวง พ่อน้ำฝน พ่อปูเสือ พ่อปูมั่น เจ้าพ่อสิงห์ทอง เจ้าแม่สามสี พ่อมาลัยทอง และศาลที่ 3 เป็นศาลไม้ ที่ประทับของแม่นางหอม และแม่นางทอง กล่าวได้ว่าศาลทั้ง 3 หลังนี้มีความศักดิ์สิทธิ์และมีความสำคัญกับชาวบ้านเกาะแรตอย่างมาก โดยเฉพาะศาลเจ้าพ่ออุมลุมที่นอกจากคนจะมาไหว้ขอพรอยู่เสมอแล้วในวันสงกรานต์ (วันที่ 14 เมษายน) ศาลเจ้าพ่ออุมลุมแห่งนี้จะมีงานเซ่นไหว้ศาลประจำปีอีกด้วย
ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมไทยทรงดำ บ้านเกาะแรต ตั้งอยู่ที่ หมู่11 ต.บางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม โดยอยู่ในพื้นที่ใกล้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก บ้านเกาะแรต และบริเวณเดียวกับบ้านนายกำจร เพชรยวน (อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 ) ซึ่งผู้ก่อตั้งศูนย์ฯแห่งนี้คือ กำนันไพศาล หรือกำนันแดง (ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว) ท่านเป็นผู้ดูแลศูนย์ฯแห่งนี้เรื่อยมาจนเมื่อท่านเสียชีวิตลง นายกำจรจึงรับช่วงต่อการดูแลศูนย์ฯแห่งนี้แทน ทั้งนี้ในด้านเป้าหมายของการจัดตั้งศูนย์ฯแห่งนี้คือ มาจากการที่ผู้คนในหมู่บ้านวิตกกังวลว่าความเจริญที่เข้ามาในหมู่บ้าน จะทำให้ประเพณี วัฒนธรรม และพิธีกรรมที่เกี่ยวกับไทดำสูญหายไป จึงริเริ่มที่จะก่อตั้งศูนย์ฯเพื่อเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ทางด้านไทดำ และยังช่วยสืบต่อความรู้ไทดำไปยังกลุ่มคนอื่น ๆ โดยตัวอาคารของศูนย์ฯแห่งนี้เป็นอาคารชั้นเดียว มีพื้นที่จัดแสดงประมาณ 40 ตร.ม. จัดแสดงข้าวของที่เกี่ยวข้องกับไทดำ เช่น เชี่ยนหมาก อุปกรณ์จับปลา โห้ ปานเผือน ที่ปั่นด้าย และชุดการแต่งกายของชาวไทดำทั้งชายและหญิง อีกทั้งศูนย์ฯแห่งนี้ยังมีการนำสื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมมาจัดแสดงให้มีความเข้าใจมากขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนการผลิตจากนักศึกษาที่เข้ามาเก็บข้อมูลจัดแสดงแห่งนี้อีกด้วย ทั้งนี้ด้านข้างของศูนย์ฯ จะเป็นศาลาเปิดโล่งชั้นเดียว จัดแสดง เครื่องสีข้าวมือ และครกกระเดื่อง ซึ่งผู้เยี่ยมชมสามารถเข้ามาทดลองเล่นเครื่องมือเหล่านี้ได้
อาหาร ของไทดำบ้านเกาะแรตพบว่ามีอยู่ 2 ประเภท คืออาหารในชีวิตประจำวันและอาหารในพิธีกรรม โดยอาหารในชีวิตประจำวัน พบว่าชาวบ้านไทดำเกาะแรตจะมีการรับประทานอาหารโดยจะนิยมรับประทานข้าวเจ้ามากกว่าข้าวเหนียว และยังนิยมในการรับประทานอาหารรสจัด เช่น แจ่วปลาร้า แจ่วเฮือดด้าน แกงหน่อไม้ แกงหน่อส้ม แกงผำ แกงกบหรือปลาซิว แกงหน่อปึ้ง แกงหยวก แกงบอน ปลาเค็มทอดหรือปิ้ง เป็นต้น ทั้งนี้ในพริกแกงของชาวไทดำจะมีการใส่มะแข่น (พริกพราน) ลงไปด้วยทำให้อาหารต่าง ๆ จึงมีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ นอกจากนี้ชาวไทดำยังนิยมรับประทานผักจุ๊บ ซึ่งเป็นอาหารประเภทผักยำอีกด้วย กล่าวว่าอาหารที่ชาวไทดำรับประทานในชีวิตประจำวันเหล่านี้นั้นจะประกอบขึ้นจากวัตถุดิบที่ชาวบ้านหาได้ในท้องถิ่นธรรมชาติภายในพื้นที่ รวมถึงจากกรรมวิธีถนอมอาหารของชาวบ้านภายในครัวเรือน เช่น ปลาร้าและดองหน่อไม้ ซึ่งชาวไทดำมักจะถนอมอาหารกันทุกครัวเรือนเมื่อถึงฤดูของวัตถุดิบนั้น ๆ โดยปลาร้าจะทำในฤดูน้ำหลากปลาชุกชุม ส่วนฤดูหน่อไม้ก็จะนำหน่อไม้ที่ได้มาดอง วัตถุดิบเหล่านี้เมื่อผ่านกรรมวิธีการถนอมอาหารจะสามารถนำมาทำอาหารต่าง ๆ รับประทานได้ตลอดทั้งปี อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้ชาวไทดำในหมู่บ้านเกาะแรตได้มีการนิยมรับประทานอาหารแบบไทยภาคกลางทั่วไปมากขึ้น โดยวัตถุดิบต่าง ๆ สามารถซื้อได้ตามตลาดซึ่งสะดวกสบายอย่างมาก ทำให้อาหารแบบไทดำดั้งเดิมบางประการที่เคยกินนั้นหากินยากมากยิ่งขึ้นในพื้นที่
ทั้งนี้ในส่วนของอาหารที่ใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ ของชาวไทดำ เช่น พิธีเสนเรือน เสนเรียกขวัญ เป็นต้นนั้น อาหารประเภทนี้ชาวไทดำจะมีการทำขึ้นมาเป็นพิเศษบางอย่าง โดยจะมีการนำมาประกอบกับข้าวเหนียวและอาหารไทดำดั้งเดิมหรืออาหารไทดำทั่วไป เช่น ผักจุ๊บ แกงผำ แกงหน่อส้ม น้ำพริกแจ่ว กบโอ๋ เป็นต้น เพื่อใช้ในการเซ่นไหว้ ซึ่งอาหารพิเศษที่ทำขึ้นเฉพาะเพื่อใช้ในพิธีกรรมนั้น อาทิเช่น
- หมู่จุ๊ม เป็นอาหารสำคัญของไทดำที่ใช้สำหรับพิธีเสนเรือนโดยเฉพาะ ประกอบด้วยเนื้อหมู และเครื่องในหมู ยำกับหน่อไม้ดอง ใบมะม่วงอ่อน หรือใบมะขามอ่อน ปรุงด้วยพริกเผา และน้ำปลาร้า จัดเป็นอาหารสำคัญในการเซ่นผีเรือนอันจะขาดไม่ได้
- แกงไส้หมูถั่ว เป็นอาหารสำหรับพิธีเสนเรือนประกอบด้วยเครื่องแกง เนื้อหมูสามชั้นหมูเนื้อแดง ไส้หมู ตับหมู และหยวกกล้วย โดยมีวิธีทำเช่นเดียวกับแกงคั่วของชาวไทยแต่จะมีการผสมน้ำปลาร้าเข้าไปด้วย
- ลาบเลือด เป็นอาหารประจำสำหรับพิธีเสนเรือนประกอบด้วย เครื่องแกง เช่น ข่า ตระไคร้ พริก หอม กระเทียมผา และเลือดหมู โดยการทำจะนำวัตถุดิบทั้งหลายมาคั่วในกระทะจนกระทั่งสุกและปรุงรสก่อนที่จะคลุกเคล้าให้ทั่วเป็นอันเสร็จ
- ควายลุย มีลักษณะอย่างเดียวข้าวเหนียวเปียกกะทิสดและข้าวต้มมัด ซึ่งจัดเป็นอาหารหวานสำคัญในพิธีเสนเรือน โดยปกติอาหารหวานที่ใช้ในพิธีเสนเรือนจะเป็นอะไรก็ได้ที่หามาได้สะดวก แต่ต้องมีข้าวเหนียวหรือข้าวต้มมัดรวมอยู่ด้วยห้ามขาดโดยเด็ดขาดดังนั้นขนมนี้จึงนิยมทำเพื่อเซ่นไหว้ในงาน
การแต่งกาย พบว่าชาวไทดำมีวัฒนธรรมการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์และแตกต่างจากจากคนไทยหรือคนเชื้อสายอื่น ๆ ทั่วไป โดยการแต่งกายของชาวไทดำนั้นมีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษที่อยู่ในแคว้นสิบสองจุไท ซึ่งเมื่ออพยพมาอยู่ในประเทศไทยแล้วชาวไทดำก็ได้นำเอาการแต่งกายอันเป็นวัฒนธรรมเหล่านี้เข้ามาด้วย ซึ่งในการแต่งกายนั้นจะเห็นชัดเจนว่าชาวไทดำมักสวมใส่เสื้อผ้ามีสีดำอันมาจากการย้อมด้วยครามหรือน้ำฮ่อมถือเป็นเอกลักษณ์เด่นที่ทำให้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้ว่า ไทยทรงดำ โดยการแต่งกายของชาวไทดำนั้นสามารถแบ่งออกได้ดังนี้
การแต่งกายของผู้ชาย
ผู้ชายไทดำหรือไทยทรงดำจะมีการแต่งกายคือในส่วนของกางเกงจะมีการนุ่งกางเกงขาสั้นปลายแคบเรียวยาวปิดเข่า ขอบกางเกงตรงเอวกล้างแบบคล้ายกางเกงจีน ตัวกางเกงจะทำด้วยผ้าฝ้ายทอมือและย้อมสีดำ ซึ่งกางเกงรูปแบบนี้เรียกว่าส้วงก้อมหรือส้วงขางต้น กางเกงนี้ส่วนใหญ่จะใช้ในการนุ่งทำงานทั่วไปและทำงาน นอกจากนี้ยังมีส้วงฮี กางเกงขาเรียวแนบลำตัวที่มีการต่อเป้าเฉลียงพอดีตัวหรือต่อเป้าทำให้เป้าหย่อน ลักษณะคล้ายกางเกงขาก๊วย กางเกงนี้ส่วนใหญ่ผู้ชายจะใส่ในพิธีกรรม ใส่ในงานสำคัญหรือใส่ไปเที่ยว ในส่วนของเสื้อพบว่าผู้ชายจะมีการใส่เสื้อซอน (เสื้อไต) ที่มีลักษณะคือ เป็นเสื้อแขนยาวทรงกระบอกแคบ คอตั้งผ่าหน้าตลอด ไม่มีปกตัดเย็บเข้ารูปติดกระดุมเงินเรียงกันถี่ ๆ ประมาณ 10-12 เม็ด จ้ำเอว และใช้ผ้าเสริมตะเข็บทั้งสองข้างใต้เอวให้ชายเสื้อถ่างออกตรงรอยผ่าสาบเสื้อด้านล่างจะแหวกออกให้ห่างกัน เสื้อซอนนี้จะใช้ในโอกาสต่างๆที่เป็นงานพิธีมากกว่าใส่อยู่บ้าน (ชีวิตประจำวันส่วนมากผู้ชายจะไม่ใส่เสื้อ) นอกจากเสื้อและกางเกงแล้วการแต่งกายของเพศชายไทดำยังมีกระเป๋าคาดเอวในการแต่งกายด้วย โดยเป็นกระเป๋าทำด้วยผ้าสีดำสลับสีแดงและสีเหลือง ปลายสายเย็บกลึงให้กลมเรียวเล็กตอนปลายมีพู่ทำด้วยด้ายสีต่างๆ ทั้ง 2 ปลาย ตรงกลางสายเป็นผ้าตัดเย็บติดประดับสวยงาม เมื่อนำไปตาดเอวแล้วกระเป๋าจะติดชิดกับเอว ซึ่งกระเป๋าคาดเอวนี้จะใช้สำหรับใส่ของใช้ประจำตัว
การแต่งกายของผู้หญิง
ผู้หญิงไทดำหรือไททรงดำจะมีการแต่งกายคือ จะมีการนุ่งซิ่นที่เป็นผ้าถุงสีพื้นดำ มีลายเป็นเส้นสีขาวขนาดเล็ก ๆ ยาวตามแนวตั้ง ทอด้วยด้ายสีดำสลับด้ายสีขาวหรือฟ้าอ่อนเป็นลาย ซึ่งมีการเรียกลายที่ทอนี้ว่าลายแตงหรือลายแตงโม ผ้าชิ่นผืนหนึ่งประกอบด้วย ผ้า 3 ชั้น คือ ท่อนบนของชิ่น ตัวซิ่น และตีนชิ่น ซึ่งตีนชิ่นนี้เมื่อสามีของผู้ใส่ซิ่นตายผู้หญิงที่ใส่ซิ่นจะมีการเลาะออก เพื่อเป็นการไว้ทุกข์และจะมีการเย็บต่อเมื่อออกทุกข์ ทั้งนี้ในส่วนของการนุ่งผ้าชิ่นพบว่าจะมีการหยิบขอบของผ้าซิ่นทั้งด้านช้ายและด้านขวา ป้ายให้มาทับกันตรงกลางเอว แล้วทับขอบลงมาม้วนกับเข็มขัดเงินส่งผลให้ชายผ้าซิ่นด้านหน้าสูงกว่าด้านหลัง ซึ่งการนุ่งแบบนี้ก็เพื่อความสะดวกในการก้าวเดิน ทั้งนี้ในส่วนของเสื้อพบว่าผู้หญิงไทดำจะสวมเสื้อที่เรียกว่าเสื้อก้อม โดยมีลักษณะเป็นผ้าฝ้ายทอมือที่ย้อมด้วยสีดำ แขนยาวทรงกระบอก ตัดเย็บเข้ารูป คอตั้งและมีการผ่าหน้าตลอด มีการติดกระดุมเงินถี่เรียงกัน 10-15 เม็ด ซึ่งเสื้อก้อมนี้ผู้หญิงไทดำส่วนใหญ่จะใส่ในพิธีกรรมหรืองานสำคัญ ส่วนในชีวิตประจำวันผู้หญิงไทดำจะใส่ผ้าฮ่างนมหรือผ้าแถบคาดอกแทน ทั้งนี้ในการแต่งกายของผู้หญิงยังพบว่าผู้หญิงไทดำจะมีผ้าสำหรับโพกหัว พาดบ่าหรือผ้าห้อยคอด้วย ซึ่งผ้านั้นเรียกว่าผ้าเปียว โดยผ้าเปียวถือเป็นเอกลักษณ์ที่พบเห็นในชาวไทดำเท่านั้น โดยจะเป็นผ้าแถบสีดำกว้างประมาณ 20-30 เซนติเมตร ที่ชายผ้าทั้งสองข้างจะปักลวดลายด้วยเส้นไหมเป็นลายก้านขด มีสีแดง สีส้มและสีเขียว ซึ่งผู้หญิงส่วนใหญ่จะมีการใส่ผ้าเปียวนี้โพกที่ศีรษะ ห้อยคอพาดบ่าไปงานรื่นเริงต่าง ๆ แต่หากเป็นหญิงชราจะใช้ผ้าเปียวทำเป็นสไบเฉียงและใส่ในการไปทำบุญที่วัดนั่นเอง
ทั้งนี้นอกจากการแต่งกายที่กล่าวข้างต้นของผู้ชายและผู้หญิงแล้ว ยังพบว่าการแต่งกายที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของชาวไทดำทั้งชายและหญิง ก็คือ การใส่เสื้อฮี โดยเสื้อฮีของชาวไทดำจะเป็นเสื้อที่สำคัญและมักจะนิยมใส่ในงานสำคัญต่าง ๆ อันเกี่ยวข้องกับความเชื่อของชาวไทดำ เช่น งานแต่งงาน งานเสนเฮือน งานศพ และที่สำคัญที่สุดคือในวันตายเสื้อฮีนี้จะถูกใส่ไปกับศพของผู้ตายด้วย เพราะมีความเชื่อกันว่าถ้าใส่เสื้อฮีไปกับศพผู้ตายจะทำให้ผู้ตายได้ไปพบญาติ พ่อ แม่ พี่ น้อง ที่ตายไปแล้วและจะได้จำกันว่าเป็นเผ่าพันธุ์สกุลเดียวกัน ถ้าหากไม่ใส่เชื่อว่าจะทำให้ไม่ได้พบกับญาติของตนอีกด้วย ทั้งนี้ลูกหลานของชาวไทดำจำเป็นจะต้องมีเสื้อฮีกันคนละ 1 ตัวนับตั้งแต่เข้าวัยหนุ่มสาวเพื่อสำหรับใส่ในการเข้าพิธีกรรมและประเพณีต่าง ๆ ของชาติพันธุ์ตน ซึ่งเสื้อฮีผู้ชายจะมีลำตัวยาว แขนยาว คอกลม ผ่าหน้ามีกระดุมป้ายไปติดทางซ้ายของลำตัว ตกแต่งลวดลายตรงรักแร้และตะเข็บด้านข้างลำตัวอย่างสวยงามด้วยลายดอกจันหรือลายดอกแปดและด้านข้างของเสื้อฮีจะปักด้วยขอกุด (คล้ายหนวดตำลึง) ในชายเสื้อจะตกแต่งด้วยดอกจัน ดอกมะลิหรือดอกแปดก็ได้ ทั้งนี้ในส่วนเสื้อฮีของผู้หญิงจะมีลักษณะคือ ตัวยาวคลุมเขา ไม่ผ่าหน้าใช้สวมหัว คอเสื้อเป็นคอวี ติดกุ๊นรอบคอสีแดง มีกระดุมคอ 1 เม็ด แขนเสื้อเป็นทรงกระบอกยาวถึงข้อศอก เหนือสะดือจะเว้าเข้าประมาณ 1.5 นิ้ว มีแถบผ้าสีดำเงาเป็นสาบเสื้อจากคอลงมาถึงชายเสื้อเรียกว่า “ลั๊วเสื้อ” ชายเสื้อตกแต่งด้วยลายดอกแปดเป็นเส้นเฉียง ลวดลายของเสื้อฮีจะใช้สีแดงเลือดหมู สีส้ม สีขาว มีการตกแต่งลวดลายที่ใต้รักแร้ด้วยด้ายสีต่าง ๆ ติดกระจกชิ้นเล็ก ๆ เป็นลวดลายสวยงาม ซึ่งลวดลายที่ตกแต่งเรียกว่า “ขอกุด” ทั้งนี้เสื้อฮีของผู้หญิงจะสามารถใช้ได้ทั้ง 2 ด้าน ด้านนอกสำหรับงานมงคลตกแต่งไว้เพียงเล็กน้อย ส่วนด้านในที่ใช้สำหรับงานอวมงคล ใช้คลุมโลงศพเวลาที่เสียชีวิต จะมีลวดลายที่สวยงามกว่าด้านนอก ส่วนเสื้อฮีของผู้ชายจะสามารถใช้ได้เพียงด้านเดียว
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันการแต่งกายแบบไทดำหรือไททรงดำของชาวบ้านเกาะแรตสามารถพบเห็นได้น้อยลง เนื่องจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไปได้ส่งผลทำให้การแต่งกายในชีวิตประจำวันของชาวบ้านหันมานิยมในการแต่งกายแบบสามัญธรรมดาอย่างคนไทยทั่วไปแทน ส่วนการแต่งกายรูปแบบไทดำนั้นแม้ว่าชาวบ้านยังคงมีการแต่งกายรูปแบบนี้อยู่แต่ก็ถูกจำกัดเฉพาะในพิธีกรรมสำคัญ ๆ ของหมู่บ้านหรือชาติพันธุ์เท่านั้น เช่น งานพิธีเสนเรือน งานพิธีศพ งานสงกรานต์ งานชุมนุมประจำปี เป็นต้น ส่วนในชีวิตประจำวันการแต่งกายรูปแบบไทดำนี้ไม่ได้รับความนิยมในการแต่งกายอีกต่อไปนั่นเอง
ชาวไทดำมีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเองเรียกว่า ภาษาไทดำ โดยมีมานับตั้งแต่มีถิ่นฐานอยู่ที่สิบสองจุไทแล้ว ซึ่งภาษาของชาวไทดำจัดอยู่ในตระกูลภาษาไท (Tai Language Family) กลุ่มตะวันออกเฉียงใต้ เช่นเดียวกับภาษาไทยและภาษาลาว โดยรูปแบบอักษรของชาวไทดำพบว่าจะมีความสวยงามมีลักษณะคล้ายกับอักษรของลาวและคล้ายกับอักษรไทยโบราณบางตัวด้วยเช่นกัน ซึ่งพบว่าอักษรไทดำนั้นจะมีพยัญชนะ 34 ตัว แบ่งเป็นพยัญชนะธรรมดา 26 รูปและมีพยัญชนะไทดำพิเศษ 8 รูป ในส่วนของสระและเครื่องหมายต่างๆในอักษรของไทดำพบมีด้วย 18 รูป ส่วนในด้านตัวเลขไม่ปรากฏเป็นหลักฐานแต่มักปรากฏเป็นการเขียนเป็นตัวหนังสือแทน ทั้งนี้สำเนียงพูดของคนไทดำแต่ละท้องถิ่นจะแตกต่างกันบ้างแต่ไม่มากนัก ซึ่งสำเนียงการพูดของชาวไทดำจะคล้ายคลึงกับสำเนียงทางภาคอีสานของไทยและมีบางส่วนใกล้เคียงกับภาคเหนือ แต่ว่าสำเนียงการออกเสียงมีเสียงที่สั้นกว่าภาษาไทยเล็กน้อย เช่น ออกลูก ไทดำจะออกเสียงว่า “เอาะละ” หรือ คำว่า ยาก ไทดำจะออกเสียง “ยะ” คำว่ารากไม้ จะออกเสียงเป็น “ฮะไม้” เป็นต้น
ทั้งนี้ในปัจจุบันภาษาของไทดำโดยเฉพาะภาษาเขียนไม่เป็นที่นิยมใช้อีกต่อไป มีการใช้น้อยลงเนื่องจากคนที่สามารถเขียนได้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุที่ได้รับความรู้จากการร่ำเรียนจากบรรพบุรุษ ซึ่งผู้สูงอายุเหล่านี้ที่มีความรู้ก็มิได้สืบทอดต่อให้คนรุ่นใหม่อาจเพราะคนรุ่นใหม่ในชุมชนไม่ได้มีผู้ที่สนใจเรียนภาษาเขียนอีกต่อไป ส่วนภาษาพูด คนรุ่นใหม่ในชุมชนเกาะแรตยังคงมีการใช้ภาษาพูดหรือฟังภาษาพูดแบบไทดำได้อยู่เพียงแต่ใช้ติดต่อกันระหว่างไทดำด้วยกันเท่านั้น ส่วนการสนทนากับบุคคลอื่นทั่วไปที่ไม่ใช่คนไทดำจะใช้ภาษาไทยกลางในการพูด อย่างไรก็ดีแม้คนรุ่นใหม่จะสามารถพูดไทดำได้ แต่ปัจจุบันก็ไม่นิยมที่จะพูดไทดำเช่นกันจะนิยมที่จะพูดภาษาไทยกลางเสียมากกว่า ดังนั้นหากเปรียบเทียบการสูญหายของวัฒนธรรมการใช้ภาษาระหว่างภาษาพูดกับภาษาเขียนจะพบว่า การใช้ภาษาพูดสูญหายทางภาษาได้น้อยกว่าภาษาเขียน เพราะภาษาพูดมีลักษณะการสืบทอดทางวัฒนธรรมภาษาที่ง่ายกว่า โดยเพียงแค่ใช้ความคุ้นเคยและการได้ยินได้ฟังจากครอบครัวก็สามารถฟังรู้เรื่องแตกต่างกับภาษาเขียนที่ต้องผ่านการศึกษาเล่าเรียน ซึ่งต้องอาศัยการใฝ่รู้จึงจะสามารถเขียนได้ ทำให้คนรุ่นใหม่ๆในชุมชนเกาะแรตแห่งนี้ไม่สามารถเขียนภาษาไทดำได้แต่สามารถฟังและพูดได้เพียงแต่ส่วนใหญ่ไม่นิยมนั่นเอง
ชาวไทดำเป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยราชอาณาจักรที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย ทำให้ต้องปฏิบัติตามกฎหมายแบบคนไทยยกตัวอย่าง เช่น ชาวไทดำนั้น ต้องมีบัตรประชาชนและมีทะเบียนบ้านเพราะว่าชาวไทดำต้องมีหลักฐานเพื่อเป็นคนไทยคนหนึ่งตามกฎหมาย ไทดำที่เพศชาย เมื่อมีอายุครบ 21 ปี จะต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารตามกฎหมาย เพื่อปลูกฝังให้เกิดความรักชาติไทย และที่สำคัญชาวไทดำเมื่ออายุครบ 18 ปี ก็มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง เลือกผู้แทน ต่าง ๆ เข้ามาบริหารประเทศ ทำให้ชาวไทดำมีทัศนะในการตัดสินใจที่เป็นปัจเจกมากขึ้น เหล่านี้จึงไม่น่าแปลกที่สภาพสังคมของชาวไทดำจะเปลี่ยนแปลงใกล้เคียงกับสังคมเมืองเป็นลำดับไป ปัจจุบันชาวไทดำได้เข้ามามีบทบาทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น โดยผู้นำชุมชนของชาวไทดำ ได้ก้าวเข้ามาเป็นผู้นำทางการเมืองของท้องถิ่น เช่น สมาชิก อบต. ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีโอกาสได้เป็นผู้เข้าร่วมในการปรึกษาหารือในเวทีการประชุมของท้องถิ่น มีโอกาสแสดงความคิดเห็นและเสนอแนวทางการพัฒนาหมู่บ้านให้กลุ่มที่ประชุมเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์วัฒนธรรมของชาวไทดำ ในการสนับสนุนด้านงบประมาณและผลักดันวัฒนธรรมของชาวไทดำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นอีกด้วยนั่นเอง
ปัจจุบันนี้ความเจริญต่าง ๆ ทั้งในด้านเทคโนโลยี การคมนาคม การสื่อสาร สิ่งเหล่านี้ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่ของชาวบ้านไทดำในชุมชนเกาะแรตแห่งนี้อย่างมาก โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจที่พบว่าความเจริญเหล่านี้ได้เข้ามาทำให้ระบบเศรษฐกิจของชาวไทดำในชุมชนเกาะแรตมีได้มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม กล่าวคือแต่เดิมในอดีตจะเห็นได้ว่าชาวไทดำมีระบบเศรษฐกิจการทำนาเพื่อยังชีพและมีความเป็นอยู่ค่อนข้างดีไม่เดือดร้อน โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนจะมีการทำนา ซึ่งชาวบ้านเกาะแรตแห่งนี้มีวิธีการทำนาที่มีคุณภาพอันมาจากวัฒนธรรมการทำนาข้าวที่ยึดถือกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษของชาวไทดำ อีกทั้งยังมีความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งที่ตั้งชุมชน สิ่งเหล่านี้จึงทำให้การทำนาของชาวไทดำบ้านเกาะแรตจึงได้ผลผลิตที่ดีมาก ซึ่งผลผลิตที่ได้มานี้ชาวบ้านจะเก็บไว้กินในครัวเรือนทำให้ไม่ต้องไปซื้อข้าวจากภายนอก ส่วนหากเหลือจากเก็บไว้บริโภคในครัวเรือนก็จะเอาไปขายเพื่อให้มีรายได้ ชาวไทดำจึงมีฐานะความเป็นอยู่ค่อนข้างดีไม่เดือดร้อน มีเงินเก็บไว้ใช้เมื่อยามจำเป็น นอกจากนี้ชาวบ้านในชุมชนก็ไม่ค่อยมีรายจ่ายอีกด้วย เนื่องจากอาหารการกินของชาวบ้านก็ไม่ต้องซื้อเพราะมีวัตถุดิบจากภายในชุมชนที่อุดมสมบูรณ์ เช่น ปลาจากคลองบางปลา ผักต่าง ๆ จากบริเวณชุมชน เป็นต้น อีกทั้งข้าวของเครื่องใช้ในบ้านเรือนชาวบ้านก็มีการประดิษฐ์จากวัสดุที่หาได้ในชุมชนทำให้ไม่ต้องซื้อข้าวของเครื่องใช้ด้วย เช่น งอบสาน กระบุง ปานเผือน เป็นต้น ส่วนเสื้อผ้าก็มีการทอใส่กันเองในชุมชน กล่าวได้ว่าในอดีตชาวไทดำมีรูปแบบเศรษฐกิจแบบยังชีพและแทบไม่ต้องมีการใช้จ่าย ทำให้ชาวบ้านแต่ละครัวเรือนภายในชุมชนในอดีตจึงมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีและค่อนข้างสุขสบายนั่นเอง
ทั้งนี้ในอดีตภายในชุมชนเกาะแรตแห่งนี้ยังมีแหล่งเศรษฐกิจอย่างตลาดอยู่ด้วย โดยสมัยก่อนด้วยความเจริญยังไม่เข้าถึงทำให้ตลาดต่าง ๆ ยังอยู่ห่างไกล เช่น ตลาดบางปลา การเดินทางก็ไม่ค่อยที่จะสะดวกเพราะยังเป็นป่า มีต้นไม้อยู่มาก ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงเห็นโอกาสเริ่มการรวมตัวกันขึ้นมาเป็นตลาดชื่อว่า ตลาดเกาะแรต โดยพ่อค้าแม่ค้าที่ค้าขายจะใช้บ้านเรือนที่ตั้งอยู่ริมคลองของตนทำเป็นร้านค้า ซึ่งทำการค้าขายและจะขนส่งสินค้ากันทางน้ำโดยใช้เรือเป็นพาหนะ โดยบางส่วนได้มีการค้าขายและขนส่งกันทางน้ำออกไปสู่แม่น้ำท่าจีนอีกด้วย ทั้งนี้นอกจากพ่อค้าแม่ค้าที่ตั้งบ้านเรือนทำเป็นร้านค้าในการขายสินค้าแล้วนั้น พบว่ายังชาวบ้านบางส่วนโดยเฉพาะพวกชาวนาชาวไร่ในพื้นที่ได้เดินทางมาชุมนุมด้วยเกวียน มีการนำข้าวเปลือก (ข้าวเปลือกจากการทำนาที่เหลือจากการบริโภคชาวบ้านจะนำออกมาขาย) มาค้าขายบริเวณนี้เช่นกัน กล่าวได้ว่าตลาดแห่งนี้ในอดีตได้มีความคึกคักเจริญรุ่งเรืองอย่างมากเพราะชาวบ้านสามารถซื้อของต่าง ๆ สะดวกใกล้ชุมชน อีกทั้งยังมีท่าเทียบเรือที่สะดวกในการขนส่งสินค้าอีกด้วย
อย่างไรก็ดีสภาพเศรษฐกิจต่าง ๆในอดีตที่กล่าวข้างต้นเหล่านี้ได้ดำเนินไปรูปแบบนี้มาเรื่อย ๆ จนกระทั่งเมื่อความเป็นสมัยใหม่ได้เข้ามาในชุมชนเมื่อประมาณ พ.ศ. 2500 ทั้งการเข้ามาของการพัฒนาสาธารณูปโภคต่าง ๆ การเข้ามาของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ความเจริญเหล่านี้ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อเศรษฐกิจภายในชุมชนเกาะแรตอย่างมาก โดยกล่าวว่าแม้ว่าชาวบ้านยังคงมีการทำนาเป็นอาชีพหลักเฉกเช่นอดีตที่เคยมีมาแต่จะพบว่าชาวบ้านได้มีการปรับเปลี่ยนจากการทำนาเพื่อการยังชีพ ไปเป็นการทำนาเพื่อการค้ามากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่าง ๆ ได้เข้ามาช่วยทุ่นแรงในการทำนา ทำให้ชาวบ้านได้ผลผลิตหรือข้าวในปริมาณที่สูงขึ้น (จากการทำนาปีละ 1 ครั้งเป็นปีละ 2-3 ครั้ง) ดังนั้นเมื่อการผลิตมีผลผลิตในปริมาณที่มากขึ้นนี้ ส่งผลให้สามารถนำผลผลิตไปขายออกสู่ตลาดได้มากขึ้นตามไปด้วย ทั้งเมื่อประกอบกับถนนหนทางมีความสะดวกสบายและตลาดก็มีความขยายตัวกว่าแต่ก่อน สิ่งเหล่านี้ก็ยิ่งล้วนผลักดันให้เศรษฐกิจของชุมชนขยายวงกว้างออกไปและกลายเป็นการผลิตเพื่อการค้ามากขึ้นกว่าเดิม โดยจะพบว่าชาวบ้านมักเน้นผลิตเพื่อขายก่อนหากเหลือจึงจะเก็บผลผลิตไว้กินในครัวเรือน (ในอดีตเน้นผลิตไว้กินในครัวเรือนก่อนหากเหลือจึงขาย) โดยจากการเปลี่ยนรูปแบบทางเศรษฐกิจนี้ได้ทำให้ชาวบ้านมีรายรับจากการผลิตเพื่อการค้านี้เพิ่มมากขึ้นกว่าการทำนาเพื่อยังชีพแบบเดิมนั่นเอง
ทั้งนี้แม้ว่าเศรษฐกิจเพื่อการค้าจะทำให้รายได้จากการทำนาจะดีขึ้นก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ทำให้ชาวบ้านมีเงินเก็บมากกว่าแต่ก่อนหรือชาวบ้านมีฐานะที่ดีขึ้นกว่าเดิมเลย โดยสาเหตุเพราะรายจ่ายของสิ่งต่าง ๆ นั้นก็ได้เพิ่มสูงตามไปด้วย เช่น การลงทุนในการทำนาที่ต้องลงทุนที่มากขึ้นโดยมาจากต้นทุนที่สูงขึ้น หรือ การที่อัตราค่าครองชีพต่าง ๆ และรายจ่ายในชีวิตประจำวันที่เพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมาจากปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของชาวบ้านได้เปลี่ยนไปตามสังคมสมัยใหม่ เช่น ชาวบ้านมักใช้จ่ายซื้อสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันหรือสิ่งอำนวยความสะดวกแทนการประดิษฐ์หรือทำเองแบบแต่ก่อนเพราะไม่ต้องเสียเวลาและแรงงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ในสังคมสมัยใหม่ก็หาซื้อง่ายตามท้องตลาดทั่วไป นอกจากนี้ชาวบ้านหันมาก็ใส่ใจการศึกษามากขึ้น จึงทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายเรื่องการศึกษาของบุตรหลานอีกด้วย จึงกล่าวได้ว่ารายรับจากการทำนาของชาวบ้านจึงมีพอ ๆ กับรายจ่ายที่มี ซึ่งทำให้รายได้ที่เหลือเก็บจริง ๆ ของชาวจึงมีน้อยหรือไม่มีเลย ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงไม่ได้มีฐานะที่ดีกว่าแต่ก่อนแต่อย่างใด อีกทั้งหากชาวบ้านประสบกับปัญหาผลผลิตไม่เป็นไปตามคาดบางฤดูกาลหรือภาวะราคาข้าวในตลาดผันผวน ข้าวขายไม่ได้ราคา ชาวบ้านเหล่านี้ก็แทบไม่เหลือกำไรในการทำนาและอาจขาดทุนด้วย ดังนั้นจากรายได้ที่พอ ๆ กับรายจ่าย รวมไปถึงความไม่มั่นคงของรายได้จากการประกอบอาชีพทำนา จึงเป็นสาเหตุให้ในปัจจุบันชาวบ้านส่วนหนึ่งต้องหารายได้เสริมจากการทำงานอื่น ๆ ร่วมกับการทำนา หรือบางส่วนก็หันหลังให้กับการทำนาและไปประกอบอาชีพอย่างอื่นแทน เช่น ประกอบอาชีพพนักงานโรงงาน หรือค้าขายสินค้า เป็นต้น ส่วนบุตรหลานสมัยใหม่นั้นผู้ปกครองมักจะส่งเสริมให้มีการศึกษาที่สูงและมีการให้เปลี่ยนอาชีพเป็นอย่างอื่นแทนการทำนาแบบที่เคยมีมานั่นเอง
ทั้งนี้นอกจากความเจริญได้เข้ามาส่งผลให้ชาวบ้านเปลี่ยนวิถีทางเศรษฐกิจจากการทำนาเพื่อยังชีพมาเป็นเพื่อการค้าแล้วนั้น ยังพบด้วยว่าความเจริญได้ส่งผลทำให้ตลาดภายในชุมชนอย่างตลาดเกาะแรตที่เคยเจริญในอดีตได้ค่อย ๆ ถูกลดความสำคัญลงไปด้วย กล่าวคือประมาณปี พ.ศ. 2500 มีการสร้างถนนทางหลวงจังหวัดตัดผ่านหมู่บ้าน ระหว่างจังหวัดนครปฐม-อำเภอดอนตูม-อำเภอบางเลน ทำให้การคมนาคมทางบกมีความสะดวกมากขึ้น ผู้จึงหันมาคนนิยมในการสัญจรกันโดยใช้รถ ส่วนการสัญจรทางน้ำนั้นพบว่าผู้คนสัญจรน้อยลงเรื่อย ๆ ร้านค้าต่าง ๆ ที่อยู่ริมน้ำจึงค่อย ๆ ซบเซาลง อีกทั้งการที่คมนาคมทางบกที่เจริญได้ทำให้การเดินทางสามารถติดต่อเชื่อมโยงไปถึงในเมืองได้ อันส่งผลให้ชาวบ้านสามารถเดินทางไปซื้อสินค้าในเมืองที่มีความหลากหลายมากกว่าตลาดท้องถิ่นได้สะดวกมากขึ้น เมื่อไม่ค่อยมีคนจับจ่ายซื้อสินค้าตลาดแห่งนี้จึงค่อย ๆ เงียบเหงาลง ทั้งนี้เมื่อประกอบกับการที่ชาวนาชาวไร่ที่เคยขนของผ่านเกวียนมาขายของที่แห่งนี้ก็ไม่ได้มาชุมนุมขายเฉกเช่นในอดีต เพราะมีรถสามารถเข้ามารับและซื้อขายได้ในพื้นที่ที่นาและที่สวนเลย ทั้งหมดทั้งมวลจึงทำให้ตลาดแห่งนี้ค่อย ๆ ถูกลดความสำคัญลงและได้ถูกย้ายหายไปจากชุมชนในที่สุดนั่นเอง
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมของชาวไทดำพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ๆ จนทำให้ปัจจุบันชาวไทดำเริ่มกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมใหญ่ กล่าวคือชุมชนชาวไทดำในช่วงเริ่มแรกเรียกได้ว่าเป็นชุมชนของผู้อพยพ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมีการติดต่อคบค้าสมาคมกับกลุ่มสังคมอื่น ๆ โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ของประเทศที่ได้อพยพมาอย่างชาวไทย เป็นผลให้เกิดเปลี่ยนแปลงและปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกลมกลืนกับสภาพสังคมนั้น ๆ ซึ่งการปรับตัวทางสังคมของชาวไทดำเป็นไปในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้า ๆ เกิดกระบวนการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิต มีการแลกรับเจตคติ ค่านิยม วัฒนธรรมและมีการลอกเลียนแบบต่าง ๆ โดยผ่านช่องทางการสื่อสารในหลาย ๆ รูปแบบ ซึ่งในปัจจุบันนี้สถานภาพทางสังคมของชาวไทดำได้เป็นที่ยอมรับและกลมกลืนกับสังคมมากขึ้นกว่าแต่ก่อน อันเนื่องมาจากการซึมซับและปฏิบัติตนในการดำเนินชีวิตเข้ากับคนส่วนใหญ่ในสังคมได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
ในอดีตหลังการตั้งชุมชนบ้านเกาะแรตของชาวบ้านแล้ว พบว่าเมื่อมีการขยายครัวเรือนของชาวบ้านคือการแยกครอบครัวใหม่ชาวบ้านมักจะตั้งครัวเรือนในบริเวณที่ถัดจากริมคลองออกมา ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่ริมคลองเต็มไปด้วยผู้คนอยู่อาศัยเต็มพื้นที่แล้ว ซึ่งการที่ผู้คนได้เริ่มขยับมาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยถัดจากริมคลองนี้ทำให้ต้องมีการทำคู่ส่งน้ำจากคลองบางปลาออกไปยังบ้านเรือนเพื่อเป็นที่ใช้ของชาวบ้าน ดังนั้นในอดีตแต่ละบ้านจึงจะมีคูส่งน้ำและสระน้ำสำหรับบริโภคภายในครัวเรือน อย่างไรก็ดีระบบนี้ได้ถูกเปลี่ยนไปเมื่อมีการวางโครงข่ายระบบประปาในปี พ.ศ.2525 ซึ่งการวางระบบโครงข่ายการประปานี้ได้ทำให้บ้านเรือนไม่จำเป็นต้องใช้ระบบคูส่งน้ำอีกต่อไป คูน้ำและบ่อน้ำที่เคยมีในบ้านเรือนของผู้คนจึงเริ่มถูกถมและนำเอาที่ดินตรงส่วนคูน้ำนี้ไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ แทน
ส่วนระบบการคมนาคมนั้นกล่าวว่า ทางสัญจรในอดีตของชุมชนเกาะแรตนั้นจะเป็นการสัญจรทางน้ำเป็นส่วนใหญ่ชาวบ้านมักใช้เรือนในการสัญจรไปในพื้นที่ต่าง ๆ ส่วนพื้นที่ทางบกจะใช้เกวียนหรือเพื่อต้อนวัวควายไปยังที่นาเท่านั้น รูปแบบการคมนาคมทางน้ำได้ดำเนินมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งเมื่อความเจริญและการพัฒนาระบบคมนาคมทางบกได้เข้ามาในพื้นที่เกาะแรตส่งผลให้มีการตัดและปรับปรุงถนนภายในบริเวณชุมชนจนเกิดการคมนาคมทางบกที่ความสะดวกอย่างมาก กล่าวคือนับตั้งแต่ พ.ศ. 2500 บริเวณพื้นที่บริเวณใกล้ชุมชนได้มีการตัดถนนทางหลวงของจังหวัดตัดผ่านหมู่บ้านระหว่างจังหวัดนครปฐม-อำเภอดอนตูม-อำเภอบางเลน ทำให้การสัญจรต่าง ๆ เกิดความสะดวกโดยเฉพาะการสัญจรไปยังตัวเมือง นอกจากนี้เส้นทางตรอกซอยต่าง ๆ ภายในชุมชนยังมีการปรับปรุงลาดยางอย่างดีขึ้น ซึ่งการพัฒนาคมนาคมทางบกที่เกิดขึ้นเหล่านี้ได้ส่งผลให้การเดินทางของผู้คนรวมถึงชาวบ้านเปลี่ยนจากการสัญจรทางน้ำมาเป็นทางบก โดยการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ของผู้คนก็ได้เปลี่ยนมาใช้รถยนต์เป็นหลักหลักแทนการโดยสารด้วยเรือแบบในอดีต
ชาวชุมชนไทดำเกาะแรตแต่เดิมมักมีการดูแลรักษาสุขภาพเมื่อเกิดโรคภัยไข้เจ็บ ด้วยการรักษาจากยาสมุนไพรหรือยาหม้อ ซึ่งหมอรักษาพื้นบ้านจะตรวจไข้แล้วนำใบสั่งยาไปสั่งยาที่ร้านขายยาแผนโบราณ โดยที่ตลาดเกาะแรต มีร้านขายยาแผนโบราณตั้งอยู่ โดยการรักษารูปแบบนี้จะร่วมกับการรักษาผ่านทางความเชื่อของชาวไทดำด้วย เช่น การขับมด การแปงขวัญ การเสนตัว การเสนเต็ง การเสนแก้เคราะห์ เพราะชาวไทดำเชื่อว่าการเจ็บป่วยอาจเป็นเพราะเรื่องเหนือธรรมชาติเป็นผู้กระทำหรือผีกระทำให้เกิดความเจ็บป่วย นอกจากยังเชื่อด้วยว่าการเจ็บป่วยนี้อาจเป็นเพราะขวัญประจำตัวของคนผู้ที่เจ็บป่วยนั้นออกจากตัว (ทุกคนมีขวัญประจำตัวไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่) ดังนั้นต้องทำพิธีกรรมต่าง ๆ เพื่อช่วยให้หายจากการเจ็บป่วย ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าการรักษาโรคในอดีตจึงผูกพันอยู่กับความเชื่อของชาวไทดำที่มีมานั่นเอง
แต่ทั้งนี้ในปัจจุบันพบว่าการรักษาโรคของชาวไทดำได้มีความเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต โดยชาวไทดำได้หันมาให้ความสำคัญในการรักษาโรคแผนปัจจุบันกันมากขึ้น เพราะความเจริญได้ทำให้มีโรงพยาบาลที่เกิดขึ้นไม่ไกลจากหมู่บ้านมากนักอันส่งผลชาวบ้านเมื่อเจ็บป่วยก็ให้สามารถเดินทางเข้ารักษาสะดวกทันที นอกจากนี้ทัศนคติต่อการรักษาโรคของผู้คนชาวบ้านก็เปลี่ยนไปมาก ซึ่งมาจากการได้รับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับวิทยาการทางการแพทย์สมัยใหม่และการที่ลูกหลานปัญญาชนชาวไทดำรุ่นใหม่ได้รับการพัฒนาการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น กล่าวได้ว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนมีส่วนผลักดันทำให้ชาวไทดำมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเข้ารับการรักษาแบบสมัยใหม่มากขึ้น อย่างไรก็ตามการรักษาโรคแบบสมัยใหม่นี้ไม่ได้ทำให้วิธีการรักษาโรคตามความเชื่อแบบโบราณ ของชาวไทดำสูญหายไป โดยการรักษาด้วยความเชื่อเหล่านี้ยังคงมีอยู่ในหมู่บ้านเกาะแรต เพียงแต่ได้กลายมาเป็นวิธีการรักษาที่เสริมจากการรักษาทางการแพทย์สมัยใหม่ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยรักษาโรคโดยหมอจากโรงพยาบาลตามปกติแต่ก็มีการทำพิธีกรรมแปงขวัญเพื่อเรียกขวัญกลับมา เป็นต้น
ในอดีตลูกหลานชาวบ้านภายในชุมชนไม่ได้รับการศึกษาที่สูงมากนัก ทั้งนี้เนื่องด้วยปัญหาของสถานที่ทางการศึกษาที่อยู่ห่างไกลจากชุมชน ทุนทรัพย์ รวมไปถึงทัศนคติต่อการตื่นตัวต่อการศึกษาที่น้อย ชาวบ้านส่วนใหญ่ในอดีตนิยมให้ลูกหลานทำไร่นาและมองว่าการมีอาชีพเลี้ยงตัวเองก็เพียงพอแล้วสิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้โอกาสทางการศึกษาของลูกหลานภายในชุมชนในอดีตจึงมีน้อยและหลาย ๆ คนจึงไม่ได้รับการศึกษา แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันพบว่าลูกหลานชาวบ้านในชุมชนได้รับการศึกษาที่สูงขึ้นแล้ว โดยกล่าวว่าปัจจุบันรัฐบาลมีการกำหนดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อต้องการยกระดับความรู้ของเด็กไทยให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น โดยบังคับให้เด็กไทยต้องเข้าสู่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน จุดนี้จึงเหมือนเป็นข้อบังคับที่ทำให้ผู้ปกครองต้องส่งบุตรหลานเข้าโรงเรียนเพื่อให้ได้รับการศึกษาอีกด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าทัศนคติของชาวบ้านหรือผู้ปกครองในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปมาก โดยเกิดความตื่นตัว และเห็นความสำคัญของการศึกษามากขึ้น เกิดค่านิยมและเจตคติของผู้ปกครองชาวไทดำที่ต้องการให้ลูกหลานมีโอกาสได้เรียนหนังสือที่สูงขึ้น จากทัศนคตินี้จึงมีการต้องการส่งบุตรหลานเข้าโรงเรียนเพื่อรับการศึกษามากขึ้น โดยเฉพาะครอบครัวไหนที่มีฐานะดีก็มักจะส่งลูกหลานให้ได้รับการศึกษาที่สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้นบุตรหลานไทดำหลายคนจึงมีการศึกษาที่สูง นอกจากนี้ปัญหาการเดินทางที่ยากลำบากอันขัดขวางต่อการศึกษาในปัจจุบันก็ไม่มีแล้ว เพราะปัจจุบันนอกจากสถานศึกษาจะมีการเปิดใกล้เคียงกับชุมชนแล้ว บริเวณชุมชนยังมีการพัฒนาการคมนาคมจนสะดวกในการเดินทางซึ่งเอื้อให้การเดินทางไปยังสถานศึกษาต่าง ๆ ที่อยู่ห่างไกลด้วย ดังนั้นไม่ว่าโรงเรียนใกล้ชุมชนหรือโรงเรียนไกลชุมชนผู้ปกครองก็สามารถส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนได้นั่นเอง กล่าวได้ว่าด้วยเหตุผลที่กล่าวข้างต้นเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้บุตรหลานของคนในชุมชนปัจจุบันได้รับการศึกษาที่สูงขึ้นมากกว่าในอดีต โดยเด็กจะเข้าโรงเรียนแต่ยังเล็ก ซึ่งจะได้รับการเรียนการสอนที่ทำให้เด็กรู้จักการทำงานเป็นกลุ่ม รู้จักทักษะการเข้าสังคม เด็ก ๆ ชาวไทดำรุ่นใหม่ ๆ จึงกล้าคิด กล้าพูดกล้าทำ กล้าแสดงออกมากขึ้น ส่งผลให้เกิดค่านิยมและเจตคติที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้เมื่อสำเร็จการศึกษา บรรดาหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ เหล่านี้จึงมีการเปลี่ยนอาชีพ ที่หลากหลายไปจากเดิม อาทิการไปทำงานโรงงาน เป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้า บ้างก็เข้ารับราชการ งานด้านสายการธนาคาร หรือไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น บางรายถึงขั้นมีโอกาสไปศึกษาต่อยังต่างประเทศอีกด้วย
ในอดีตชาวบ้านเกาะแรตมีการรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมหลายประการไว้ได้อย่างดีและไม่ผิดเพี้ยนไปจากวัฒนธรรมถิ่นเดิมที่เคยมีมากนัก ทั้งนี้เนื่องมาจากกระแสสังคมภายนอกและความเจริญต่าง ๆ ยังไม่สามารถเข้าถึงคนในชุมชนได้ง่าย ดังนั้นในอดีตชาวไทดำในหมู่บ้านเกาะแรตจึงสามารถรักษาวัฒนธรรมต่าง ๆ ไว้ได้อย่างดีแต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันวัฒนธรรมของชาวไทดำภายในชุมชนเกาะแรตบางส่วนได้เปลี่ยนแปลงไปมาก อันเนื่องมาจากความเจริญในการพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ได้ทำให้มีการเข้ามาของกระแสสังคมโลกาภิวัตน์ รวมไปถึงกระแสของวัฒนธรรมหลักภายนอกและทัศนคติแบบสมัยใหม่ต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เคยมีมาของชาวไทดำต้องถูกกลืนหรือกลายสภาพไปตามพลวัฒน์ของกระแสต่าง ๆ เหล่านี้ โดยจะยกตัวอย่างได้เช่น
ในด้านวัฒนธรรมบ้านเรือนของชาวไทดำแต่เดิมพบว่าจะมีรูปแบบเป็นบ้านเรือนดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากนับตั้งแต่บรรพบุรุษเมืองแถน แต่เมื่อกระแสวัฒนธรรมหลักและความเป็นสมัยใหม่เข้ามาบ้านเรือนเหล่านี้ก็จะมีรูปแบบที่เปลี่ยนไป พบมีการสร้างเป็นเรือนไทยประยุกต์บ้าง ไม้บ้าง หรือสไตล์ยุโรปบ้างเป็นต้น
ในด้านวัฒนธรรมการแต่งกายจะพบว่าทั้งในชีวิตประจำวันและในพิธีกรรมต่าง ๆ ของชาวไทดำในอดีต ชาวไทดำจะมีการแต่งกายด้วยชุดชาติพันธุ์ตน เช่น การเสื้อฮี การใส่เสื้อชอน การใส่ส้วงฮี การนุ่งซิ่น การใส่เสื้อก้อม เป็นต้น แต่เมื่อความเป็นยุคสมัยใหม่เข้ามาการแต่งกายเช่นนี้จึงได้ถูกเปลี่ยนแปลงไป โดยปัจจุบันจะพบว่าในชีวิตประจำวันชาวไทดำได้เปลี่ยนมาแต่งกายตามแบบสามัญตามสมัยทั่วไป ส่วนการแต่งกายแบบเดิมแม้จะไม่หายไปแต่ก็ถูกลดความนิยมลงเพราะดูล้าสมัย ดังนั้นชาวบ้านส่วนใหญ่จึงจะนำเครื่องแต่งกายดั้งเดิมเหล่านี้ของตนออกมาแต่งกายกันแค่เฉพาะงานหรือพิธีสำคัญ ๆ เท่านั้น
ในด้านวัฒนธรรมภาษาแต่เดิมบรรพบุรุษชาวไทดำรุ่นแรก ๆ ของชุมชนเกาะแรตสามารถที่จะเขียนอ่าน รวมถึงพูดภาษาไทดำได้ แต่ในปัจจุบันจะพบว่าด้วยการเข้ามาของภาษาจากวัฒนธรรมหลักผ่านการศึกษาในสถานศึกษาได้ผลักดันให้ชาวไทดำรุ่นใหม่มีการพูดหรืออ่านเขียนแบบไทย ซึ่งเป็นผลทำให้ชาวไทดำรุ่นใหม่มักมีการพูดภาษาไทยมากขึ้น จุดนี้ทำให้ความนิยมที่จะพูดภาษาไทดำน้อยลง โดยคนรุ่นใหม่เหล่านี้จะมักพูดภาษาไทดำกับคนในครอบครัวเท่านั้น ส่วนหากพูดกับคนนอกที่ไม่ใช่ชาวไทดำไม่จึงไม่นิยมที่จะพูดภาษาไทดำแต่จะใช้การพูดภาษาไทยแทนนั่นเอง ภาษาพูดจึงถูกจำกัดเฉพาะมากขึ้น นอกจากนี้ในภาษาเขียนชาวไทดำพบว่าโดยส่วนใหญ่ที่ยังพอจะเขียนหรืออ่านได้มักเป็นผู้สูงวัยในชุมชน ส่วนคนรุ่นใหม่ในชุมชนนั้นไม่สามารถที่จะเขียนหรืออ่านได้ ทั้งนี้เพราะภาษาไทดำไม่เป็นที่นิยม อีกทั้งไม่ได้จำเป็นต่อการเรียนรู้เท่ากับภาษาไทยที่เรียนในสถานศึกษาคนรุ่นใหม่จึงไม่ได้ต้องการใฝ่ที่จะเรียนภาษาไทดำนี้อีก ดังนั้นภาษาเขียนจึงไม่มีการสืบทอดต่อนั่นเอง
อย่างไรก็ตามแม้ว่าวัฒนธรรมไทดำในบ้านเกาะแรตบางส่วนจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากในปัจจุบัน แต่ก็มีวัฒนธรรมบางส่วนเช่นกันที่พบว่าชาวบ้านในชุมชนเกาะแรตสามารถรักษาดำรงและสืบทอดวัฒนธรรมนี้ตามวิถีรูปแบบดั้งเดิมไว้ได้อย่างดี อันส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในวัฒนธรรมที่น้อยมาก ซึ่งวัฒนธรรมที่กล่าวมานี้ก็คือวัฒนธรรมในด้านความเชื่อ พิธีกรรมและประเพณี โดยจะเห็นว่าวัฒนธรรมในด้านนี้ที่มีมานับตั้งแต่อดีตนั้นชาวบ้านภายในชุมชนยังคงมีความเชื่อ ยึดถือ สืบทอดและมีการปฏิบัติวิถีแบบนี้มาจนถึงปัจจุบัน เช่น ความเชื่อในการนับถือผีที่ชาวบ้านในปัจจุบันยังคงเชื่อและนับถืออยู่ในปัจจุบัน ประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ อันเกี่ยวข้องกับการไหว้ผีที่ชาวบ้านยังคงมีการปฏิบัติแบบเดิม เป็นต้น โดยแม้ว่าบางประการจะมีการปรับให้มีสะดวกมากขึ้นแต่การปฏิบัติขั้นตอนต่าง ๆ ยังคงมีรูปแบบเหมือนเดิม อย่างพิธีเสนเรือนที่ยังคงมีวิธีไหว้รูปแบบขั้นตอนที่เหมือนเดิมแต่อาจปรับในเรื่องของเวลาและวัตถุดิบในการเซ่นไหว้ให้สะดวกต่อผู้ไหว้นั้น ๆ นอกจากนี้บางประการอาจมีการปรับเอาวัฒนธรรมหลักของสังคมเข้ามาผสมด้วยแต่ก็ไม่ได้ทำให้วิถีวัฒนธรรมเดิมของชาวไทดำสูญสลายไป อย่างงานศพที่มีการนำศาสนาพุทธมาประยุกต์เข้ากับพิธีกรรมแบบไทดำคือให้พระมาสวดอภิธรรมศพด้วยในขั้นตอนงานศพ ส่วนขั้นตอนอื่น ๆ ชาวบ้านก็ยังคงปฏิบัติการทำศพตามความเชื่อของไทดำที่ยึดถือมา จะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมในด้านความเชื่อ พิธีกรรมและประเพณีนั้นเป็นวัฒนธรรมหนึ่งที่การเปลี่ยนแปลงไม่สามารถทำลายสิ่งที่เคยมีอยู่ได้ ทั้งนี้เนื่องมาวัฒนธรรมเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการบรรพบุรุษของตนและเกี่ยวข้องกับถิ่นกำเนิดชาติพันธุ์ตน ซึ่งรากฐานของชาวไทดำไทดำนั้นมีการปลูกฝังลูกหลานอยู่เสมอทั้งในจิตสำนึกรักในชาติพันธุ์ตน การมีความเคารพต่อบรรพบุรุษ การรู้ถึงบุญคุณและมีความกตัญญู ทำให้สิ่งเหล่านี้ได้จึงฝังรากลึกอย่างแน่นแฟ้นในความคิดทัศนคติภายในลูกหลานชาวไทดำทุกคนและได้กลายมาเป็นเกาะป้องกันอย่างดีต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เข้ามา ดังนั้นปัจจุบันแม้ว่าวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็น ด้านรูปแบบบ้านเรือน ด้านการแต่งกาย ด้านภาษา ของชาวไทดำจะได้รับผลกระทบจากภายนอกจนนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ แต่ในด้านของความเชื่อ พิธีกรรมและประเพณีนั้นชาวไทดำสามารถรักษาไว้ได้อย่างดี อันส่งผลให้ชุมชนบ้านเกาะแรตแห่งนี้จึงยังคงมีวัฒนธรรมที่ยังสามารถคงความโดดเด่นและความเป็นอัตลักษณ์ภายในท้องถิ่นไว้ได้นั่นเอง
ในอดีตหลังการตั้งชุมชนบ้านเกาะแรตของชาวไทดำในช่วงแรก ๆ พบว่าลักษณะพื้นที่บ้านเกาะแรตแห่งนี้คงอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติอยู่มาก โดยมีพื้นที่เป็นลักษณะราบลุ่ม มีแหล่งน้ำล้อมรอบ มีป่าและป่าไผ่ขึ้นอยู่ทั่วไปจำนวนมากรอบชุมชน ส่วนบริเวณตั้งบ้านเรือนก็เป็นที่ดอน หมู่บ้านตั้งกระจุกตัวกันริมคลองบางปลา มีพื้นที่นาเพื่อทำกินในครัวเรือน อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาเปลี่ยนผ่านความเจริญของสาธารณูปโภคและการขยายตัวของผู้คนในชุมชนได้ส่งผลทำให้ในปัจจุบันสภาพพื้นที่ซึ่งเคยเป็นป่าและป่าไผ่ได้เปลี่ยนไปเป็นที่พักอาศัยมากขึ้น โดยบ้านเรือนมีการกระจุกตัวกันหนาแน่น ครอบครัวใหม่แยกออกไปสร้างบ้านอยู่บนที่นาและป่าที่หลงเหลืออยู่ในชุมชน นอกจากนี้พื้นที่ว่างบางส่วนก็ถูกตัดกลายเป็นถนนหนทาง อาจกล่าวว่าพื้นที่ธรรมชาติภายในหมู่บ้านเกาะแรตแห่งนี้ในปัจจุบันได้เริ่มลดน้อยลงในพื้นที่
กูล ชมภูนิช. (2538). การศึกษาประเพณีของชาวไทยโซ่ง หมู่บ้านเกาะแรต. นครปฐม: เพชรเกษมการพิมพ์.
คลังเอกสารสาธารณะ. (2551). วัฒนธรรมการแต่งกายของไททรงดำ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2566, จาก http://www.openbase.in.th/
จิรเดช เกตุประยูรและคณะ. (2555). ศักยภาพในการพัฒนาหมู่บ้านไทยทรงดำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวํมนธรรม: กรณีศึกษาบ้านเกาะแรต ตำบลบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม. (รายงานการวิจัย). นครปฐม: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์.
จุรีวรรณ จันพลาและคณะ. (2554). การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ผ้าทอไทยทรงดำเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์. (รายงานการวิจัย). กรุงเทพฯ: กรมส่งเสริมวัฒนธรรม.
โชติมา จตุรวงศ์. (2540). เรือนไทดำ: กรณีศึกษา เพชรบุรี. วิทยานิพนธ์สถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ไทยทรงดำ เกาะแรต-นครปฐม. (2562). ผลิตภัณฑ์สินค้าโอทอป. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/
นำพวัลย์ กิจรักษ์กุล. (2535). หมู่บ้านลาวโซ่งที่นครปฐม. วารสารอักษรศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร, 15(1), 62-72.
นุกูล ชมภูนิช. (2530). ไทยโซ่งบ้านเกาะแรต. กรุงเทพฯ: กรุงสยามการพิมพ์.
บังอร ปิยะพันธุ์. (2541). ลาวในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ประทับใจ สิกขา. (2552). ผ้าในวิถีชีวิตไทดำ. อุบลราชธานี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.
พจนีย์ กงตาล. (2543). การศึกษาที่มาและประเพณีการเล่นคอน และฟ้อนแคนของชาวไทยโซ่ง ที่หมู่บ้านเกาะแรต ตำบลบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม. (รายงานการวิจัย). นครปฐม: สถาบันราชภัฎนครปฐม.
พรพิมล ศักดาและคณะ. (2559). การพัฒนาศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมไทยทรงดำบ้านเกาะแรต ตำบลบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม. (รายงานการวิจัย). นครปฐม: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์.
พรรณวดี คงสำรวย. (2551). การประยุกต์ใช้การจัดการพื้นที่แบบพื้นถิ่นในบริบทของชุมชนปัจจุบันกรณีศึกษา : บ้านเกาะแรต จังหวัดนครปฐม. วิทยานิพนธ์การวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต สาขาการวางแผนชุมชนเมืองและสภาพแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง.
เพชรตะบอง ไพศูนย์. (2549). ไทดำ: ความเป็นคนชายขอบในกระแสการเปลี่ยนแปลงโลกาภิวัตน์. ในเอกสารสัมมนา เรื่อง “แม่น้ำโขง-สาละวัน” ผู้คน ผืนน้ำ และสุวรรณภูมิของอุษาคเนย์. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
ไพโรจน์ แก้วเขียวและคณะ. (2564). การศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวโซ่ง: กรณีศึกษาตำบลบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม. วารสารวิจัยราชภัฎกรุงเก่า, 8(2), 51-62.
มหัศจรรย์สกลนคร. (2563). ชาวภูไท. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/mahatsachansakon/
เรณู เหมือนจันทร์เชย. (2557). ทุนวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนากลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำในจังหวัดนครปฐม. วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาพัฒนศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
เรณู เหมือนจันทร์เชย. (2558). ทุนวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนากลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำในจังหวัดนครปฐม. วารสารวิชาการVeridian E-Journal, Silpakorn University ฉบับภาษาไทย สาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์และศิลปะ, 8(2), 231-247.
เรณู เหมือนจันทร์เชย. (2558). หน้าที่ทางสังคมของความเชื่อผีบรรพบุรุษไทยโซ่งบ้านเกาะแรต จังหวัดนครปฐม. วารสารภาษาและวัฒนธรรม, 34(1), 51-62.
วิกิพีเดีย. (2556). ชาวไทดำ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2566, จาก https://th.wikipedia.org/
วิกิพีเดีย. (2556). วัดเกาะแรต. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2566, จาก https://th.wikipedia.org/
วิชุพันธ์ ไทยโพธิ์ศรี. (2553). การปรับตัวและการดำรงอยู่ของชุมชนลาวโซ่งกรณีศึกษา บ้านเกาะแรต อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม. วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพัฒนศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
สานิตย์ รัศมี. (2545). พิธีเสนตั้งบั้ง: กรณีศึกษาดนครีและพิธีกรรมของลาวโซ่งหมู่บ้านเกาะแรต จังหวัดนครปฐม. ปริญญานิพนธ์ศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขามานุษยดุริยางควิทยา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
สาวฐาปนีย์ เครือระยา. (2565). ถิ่นฐานไทในเวียดนาม (ไทขาว ไทดำ ไทเเดง). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2566, จาก https://art-culture.cmu.ac.th/
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม. (ม.ป.ป.). วิถีชีวิตและประเพณีสงกรานต์ไทยทรงดำ จังหวัดนครปฐม. นครปฐม: ศูนย์ราชการจังหวัดนครปฐม.
องค์การบริหารส่วนตำบลบางปลา. (ม.ป.ป.). สภาพและข้อมูลพื้นฐาน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.saobangpla.go.th/
องค์ประกอบสถาปัตยกรรมเรือนลาวโซ่ง. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.finearts.go.th/