ชุมชนท่าเตียน ถือว่าเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีความสำคัญของเขตพระนครและเกาะรัตนโกสินทร์ ที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ในอดีตเป็นตลาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ค้าขายส่งออกอาหารทะเล ได้แก่ ปลาแดดเดียว อาหารทะเลแห้ง เป็นต้น
จากการสืบค้น คำว่า "ท่าเตียน" สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ โดยเหตุการณ์ที่จะกล่าวถึงทั้งสามนี้ล้วนยังไม่มีข้อยุติให้เชื่อได้ว่า ชื่อ "ท่าเตียน" ได้มาจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง แต่หลักฐานจากเอกสารส่วนใหญ่จะโน้มเอียงเชื่อตามเหตุการณ์ทั้งสามมากกว่า
เหตุการณ์ที่ 1 ช่วงปี พ.ศ. 2316 ในเมืองญวนเกิดมีกบฏเกิดขึ้นที่เมืองเว้ บรรดาเชื้อพระวงศ์ญวนถูกฆ่าตายจำนวนมาก องเซียงชุน ราชบุตรองค์ที่ 4 ของจักรพรรดิญวนได้หลบหนีมาอยู่ที่เมืองบันทายมาศ ซึ่งญวนเรียกเมืองนี้ว่า "เมืองฮาเตียน" หลังจากนั้นได้อพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่นอกกำแพงพระนคร ฝั่งตะวันออก คือ บริเวณจากท่าเตียนไปจนถึงพาหุรัด ซึ่งเป็นบริเวณที่คนญวนอยู่ จึงมีการเรียกชื่อว่า "ฮาเตียน" เพราะเป็นญวนที่อพยพมาจากเมืองฮาเตียน แต่พอนาน ๆ เข้า ลิ้นของคนกรุงเทพฯ ได้เรียกเพี้ยนมาเป็น "ท่าเตียน" จนถึงปัจจุบัน ในภายหลังพวกญวนได้ย้ายจากบริเวณท่าเตียนไปตั้งบ้านเรือนที่ตำบลบ้านหม้อและพาหุรัด
เหตุการณ์ที่ 2 ตลอดสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเต็มไปด้วยเรือนแพของชาวบ้านที่มาอาศัยอยู่และค้าขายในแถบนี้ จนกระทั่งมาถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ทำให้บริเวณท่าเรือ เรือนแพต่าง ๆ ที่อยู่ริมน้ำตลาดท้ายวัง วังของเจ้าขุนมูลนาย และบริเวณใกล้เคียง ถูกเผาเรียบเป็นหน้ากลอง จึงสันนิษฐานว่าด้วยเพลิงไหม้ครั้งนี้จึงเป็นมูลเหตุที่มาของชื่อ “ท่าเตียน”
ชุมชนท่าเตียน ถือว่าเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีความสำคัญของเขตพระนครและเกาะรัตนโกสินทร์ ที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ในอดีตเป็นตลาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ค้าขายส่งออกอาหารทะเล ได้แก่ ปลาแดดเดียว อาหารทะเลแห้ง เป็นต้น
จากการศึกษาผ่านเอกสาร ได้กล่าวว่ากลุ่มคนที่เข้ามาใช้พื้นที่บริเวณท่าเตียนนี้มีหลายกลุ่ม ประกอบด้วย คนจีน คนญวน คนตะวันตก เจ้าขุนมูลนาย ข้าราชการ และสามัญชน
ช่วงแรก ช่วงก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ จากการศึกษาของสันติ (2544) พบว่าเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก พระเจ้าตากสินได้มาตั้งถิ่นฐานใหม่ในกรุงธนบุรี สาเหตุหนึ่งที่ท่านเลือกบริเวณเป็นที่ตั้งเมืองหลวงใหม่ เพราะว่ามีชาวต่างชาติอพยพเข้ามาในพื้นที่ย่านท่าเตียนจำนวนมาก อย่างการที่ชาวโปรตุเกสเข้ามาสร้างบ้านอยู่ตรงวัดซานตาครูส หรือจะเป็นชาวจีนตั้งบ้านเรือนตรงข้ามกับกรุงธนบุรี ซึ่งปัจจุบันคือพื้นที่บริเวณท่าเตียน นอกจากยังมีชาวญวนที่อพยพเข้ามาอยู่บริเวณท่าเตียนด้วยเช่นกัน ภายหลังกลุ่มชาวญวนได้ย้ายจากบริเวณท่าเตียนไปตั้งบ้านเรือนที่ตำบลบ้านหม้อและพาหุรัด และสันติยังได้กล่าวว่าในช่วงหนึ่งมีตลาดจีนในสมัยธนบุรีอยู่แถวท่าเตียน แต่ไม่ค่อยกล่าวถึงกัน เนื่องจากมีตลาดสำเพ็งที่ใหญ่กว่า ผู้คนจึงมุ่งให้ความสนใจและศึกษาตลาดสำเพ็งมากกว่า ซึ่งจากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่าชุมชนท่าเตียนนั้น เริ่มก่อกำเนิดขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแล้ว แต่ความเป็นชุมชนยังไม่หนาแน่นมากนัก ชุมชนที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการทำการค้ากับชาวต่างชาติในสมัยนั้น และการตั้งป้อมค่ายเพื่อป้องกันข้าศึก ยิ่งในช่วงสมัยธนบุรีที่ได้ย้ายราชธานีมาตั้งอยู่บนพื้นที่ฝั่งตะวันตก ตรงข้ามกับชุมชนท่าเตียน เป็นผลให้ชุมชนท่าเตียนเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้น
ช่วงที่สอง รัชกาลที่ 1-4 จากการศึกษาของสันติ (2544) พบว่าในช่วงนี้ตลาดท่าเตียนเป็นตลาดน้ำที่สำคัญ เพราะว่าในรัชกาลที่ 2 ตลาดท้ายวังหรือที่เรียกว่า ตลาดท้ายสนม ได้ยุบรวมเข้ากับตลาดท่าเตียน อีกทั้งอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวัง เลยไปอีกเป็นปากคลองตลาด และอยู่ตรงข้ามกับป้อมวิไชยประสิทธิ์ ซึ่งเป็นพระราชวังเดิมฝั่งธนบุรี โดยสันติกล่าวว่าบรรดาสินค้าจากหัวเมืองทั้งหลายรวมไปถึงสินค้าที่บรรทุกมาจากสำเภาเมืองจีน จะมาขนถ่ายกันที่ตลาดสองแห่ง คือตลาดท่าเตียน และตลาดปากคลองตลาด ซึ่งสันติยังได้บรรยายภาพวิธีการซื้อขายสินค้าในสมัยนั้นว่ามี 2 วิธี คือ (1) ถ้าเป็นสินค้าจากเมืองจีน บนดาดฟ้าสำเภาจีนที่มาจอดกลางแม่น้ำเจ้าพระยาจะถูกดัดแปลงเป็นแผงขายข้าวของ ผู้ต้องการจะซื้อต้องเดินขึ้นมาซื้อบนดาดฟ้าของเรือ และ (2) เรือสินค้าที่มาจากทางใต้และทางเหนือ จะมีการซื้อขาย โดยจะขนย้ายสินค้าลงมาวางขายบนบก ซึ่งจากที่กล่าวจะเห็นว่าในสมัยรัชกาลที่ 1-4 การก่อกำเนิดชุมชนมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ประกอบกับในช่วงนี้ประเทศไม่มีศึกสงคราม มีการสนับสนุนให้มีการพัฒนาด้านการค้ามากขึ้น และตลาดบริเวณพื้นที่ย่านท่าเตียนเริ่มมีการเจริญเติบโต ทั้งที่จากเดิมอาจเป็นแค่ตลาดสดเล็ก ๆ ตอบสนองแค่คนในชุมชน และผู้คนยังไม่ได้อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น เนื่องจากว่าเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ด้านตะวันตก ทำให้ความเจริญกระจุกตัวอยู่ทางฝั่งตะวันตกฝั่งเดียว แต่เมื่อรัชกาลที่ 1 ได้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ตรงข้าม เป็นผลให้ฝั่งตะวันออกเริ่มมีการพัฒนา ทั้งนี้ในบริเวณชุมชนท่าเตียนได้เริ่มมีการปลูกสร้างบ้านเรือนของพระราชโอรสหรือพระราชธิดา ขุนนางต่าง ๆ ทำให้ผู้คนปลูกสร้างบ้านเรือนหนาแน่นกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ซึ่งตรงตลาดท่าเตียนในปัจจุบันเคยเป็นที่ตั้งของตลาดน้ำ ที่ถัดขึ้นมาตรงถนนท้ายวังก็เคยเป็นตลาดบก ที่ถูกเรียกว่าตลาดท้ายวัง ต่อมาในรัชกาลที่ 2 ได้ทำการยุบตลาดท้ายวังมารวมกับตลาดท่าเตียนจนกลายมาเป็น "ตลาดสด" ที่สำคัญ แม้แต่ตลาดปากคลอง ตลาดนางเลิ้ง และตลาดยอด ยังต้องมารับสินค้าจาก "ตลาดท่าเตียน" แห่งนี้ไปขาย นับว่าเป็นพัฒนาการของตลาดท่าเตียนที่มีความต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ จนเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 5
ช่วงที่สาม รัชกาลที่ 5-8 จากการศึกษาพบว่าในรัชกาลที่ 5 ตลาดท่าเตียนพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจากรัชกาลที่ 4 ทำให้ตลาดท่าเตียนกลายเป็นแหล่งค้าส่งในภาคกลางที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เนื่องจากทางการเล็งเห็นว่าบริเวณนี้มีทำเลที่เหมาะสมที่จะตั้งตลาดรับสินค้าจากในสวนทางฝั่งธนบุรี คือจากในคลองบางหลวง และบางกอกน้อย ตลอดจนอาหารทะเลและสินค้าต่างเมือง เพราะอยู่ริมแม่น้ำที่มีที่เทียบจอดเรือ อีกทั้งอยู่ในพื้นที่เป็นใจกลางเมือง เขตชุมชน และไม่มีเจ้าของ ประกอบกับในช่วงรัชกาลที่ 2 ได้รวมเอาตลาดท้ายวังมารวมไว้ที่ริมแม่น้ำจึงส่งผลให้ตลาดท่าเตียนกลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญที่สุด ทั้งทางด้านอาหารสด ผัก ผลไม้ และสินค้านานาชนิดที่นำมาลงขายในตลาดท่าเตียน จนกระทั่งการค้าเจริญถึงขีดสุดในช่วงที่รัชกาลที่ 5 ได้มีการสร้างตึกแถวสไตล์ยุโรปที่มีความสูงสองชั้นขึ้นล้อมรอบตลาดไว้ ตามมาด้วยอาคารพาณิชย์ขนาดสูงสองชั้นถึงสามชั้นในบริเวณถัดจากตลาดจนไปถึงวังจักรพงษ์ มีท่าเรือในการขนส่งสินค้าหลายท่า มีท่าเรือจ้างข้ามฟากโดยใช้เรือกลไฟเป็นที่แรกแทนเรือจ้าง เป็นผลให้การขนย้ายผู้คนจากฝั่งธนบุรีได้จำนวนมากและรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีการตัดถนนและปรับปรุงถนนให้กว้างขึ้น จึงทำให้เส้นทางในการขนส่งสินค้าเข้ามายังพื้นที่ท่าเตียนมีหลายเส้นทาง แต่เรือก็ยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการสัญจรสำหรับการขนส่งสินค้า ซึ่งจากที่ได้กล่าวว่าในช่วงเวลานี้พื้นที่ย่านท่าเตียนได้กลายเป็นแหล่งการค้าที่ยิ่งใหญ่ เนื่องจากในขณะนั้นได้เป็นทั้งแหล่งพาณิชย์ โกดังเก็บสินค้า และแหล่งขายส่งสินค้า มีการก่อตั้งกลุ่มสมาคมผู้ค้าผักขึ้น โดยมีหน้าที่ในการควบคุมการค้าผักทั่วกรุงเทพ ต่อมาในรัชกาลที่ 6 ได้นำพื้นที่ศาลต่างประเทศและตึกข้าราชการต่างประเทศที่ถูกรื้อโดยพระราชประสงค์ของพระองค์มาจัดสร้างเป็นตึกของกรมการค้าภายในและตลาดกรมการค้าภายใน และได้สร้างตลาดท่าเตียนขึ้นใหม่ แทนตลาดใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 4 อีกทั้งในปี พ.ศ. 2455 ได้โปรดเกล้าฯ สร้างตึกแถว 2 ชั้นขึ้นบนบริเวณที่ธรณีสงฆ์ ซึ่งวัดโพธิ์ครอบครองอยู่ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นที่ที่ราษฎรใช้เป็นที่อยู่อาศัยปลูกโรงเรือนอยู่อาศัยอย่างรุงรัง ทั้งยังไม่ได้จ่ายค่าเช่าให้แก่วัด ดังนั้นพระองค์ทรงให้รื้อประตูนกยูงและฉนวนที่ผุผัง เพื่อสร้างตึกแถวใหม่มาทดแทน ดังนั้นจึงจะกล่าวได้ว่าในช่วงรัชกาลที่ 5 - 6 มีการพัฒนาทางด้านการค้าที่สืบเนื่องมาจากรัชกาลที่ 4 และตลาดบริเวณพื้นที่ย่านท่าเตียนได้เริ่มมีการเจริญเติบโต จากปัจจัยอย่างการสร้างโกดังเพื่อเก็บสินค้าไว้สำหรับแจกจ่ายภายในกรุงเทพฯ และเตรียมไว้เพื่อนำไปแจกจ่ายออกไปยังต่างจังหวัด ด้วยความเร็วของการขนส่งทางเรือกลไฟที่เข้ามาแทนเรือพายในอดีต
ช่วงที่สี่ รัชกาลที่ 8-9 จากเอกสารได้กล่าวถึงช่วงจอมพล ป. พิบูลสงคราม ช่วง พ.ศ. 2496 ที่ประชากรในกรุงเทพฯ เพิ่มมากขึ้นจึงทำให้ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นตาม ตลาดที่มีอยู่เดิม อาทิ ตลาดท่าเตียน ตลาดนางเลิ้ง ตลาดมหานาค เป็นต้น เกิดความแออัดไม่เพียงพอในการรองรับความต้องการทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยเฉพาะที่ตลาดท่าเตียนนั้น มีถนนที่คับแคบทำให้การจราจรไปมาไม่สะดวก นอกจากนั้น ตลาดท่าเตียนยังอยู่ติดกับท่าราชวรดิษฐ์ พระบรมมหาราชวัง และวัดโพธิ์ ทำให้ไม่สามารถที่จะขายตลาดให้กว้างขึ้นได้ ประกอบกับมีพ่อค้าจำนวนหนึ่งมาสร้างเพิงขายสินค้าและพักผ่อนบริเวณข้างวัดโพธิ์ ทางภาครัฐจึงมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เพราะวัดโพธิ์เป็นพระอารามหลวง และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ ซึ่งการไล่พ่อค้าแม่ค้ากลุ่มนี้จะทำให้พวกเขาเกิดความเดือดร้อนและไม่มีที่ทำกิน ดังนั้น ทางภาครัฐจึงทำการย้ายตลาดท่าเตียนประเภทสินค้าของสด ผัก และผลไม้ ไปไว้ที่ปากคลองตลาด ถือเป็นโอกาสย้ายตลาดผักสดของกรมภูธเรศธำรงศักดิ์ (ตลาดเก่า) มารวมอยู่ด้วยกันในคราวเดียว เป็นผลให้ปากคลองตลาดเป็นย่านพาณิชยกรรมที่สำคัญของกรุงเทพฯ ผู้คนต่างหลั่งไหลไปซื้อสินค้าที่ปากคลองตลาด ส่งผลให้ตลาดท่าเตียนลดบทบาทลงจากที่เคยเป็นตลาดส่งสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ กลายมาเป็นแค่ตลาดขนาดกลาง
ดังนั้น พัฒนาการของตลาดท่าเตียนในยุคปัจจุบัน ถูกลดบทบาทลง แต่การค้าในพื้นที่ก็ยังคงอยู่ ภาพร้านค้าส่ง โกดังเก็บสินค้า ร้านขายของชำ และปัจจุบันการค้าประเภทยาสมุนไพรหรือยาแผนโบราณ เริ่มเข้ามาจับจองคูหาบริเวณริมถนนมหาราชเพิ่มมากขึ้น (เป็นการศึกษาในช่วงปี พ.ศ. 2545)
ชุมชนท่าเตียนแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับวัดพระแก้ว และติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา มีอายุประมาณ 230 ปี โดยสร้างบ้านเรือนกันมาตั้งแต่สมัยธนบุรีเป็นเมืองหลวง อีกทั้งที่แห่งนี้ยังเคยเป็นเมืองท่าเก่าแก่ครั้งตั้งแต่การค้าสำเภาจีนของอยุธยา ดูได้จากหลักฐานถ้วยชามลวดลายจีนที่ถูกพบบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฉะนั้นชุมชนท่าเตียนจึงเป็นชุมชนการค้ามาตั้งแต่อดีต มีทั้งคนท้องถิ่นเดิม และลูกหลานของพ่อค้าชาวจีนที่ล่องเรือสำเภามาทำการค้าขาย นอกจากนี้ในสมัยรัตนโกสินทร์ ผู้คนในชุมชนท่าเตียนได้มีส่วนในการก่อสร้างบ้านเมือง เป็นทั้งที่พักของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มีส่วนในการก่อตั้งชุมชนแห่งนี้อย่างเป็นทางการ เพื่อให้คลายความคิดถึงถิ่นฐานที่เคยอยู่ ในเวลาต่อมาจึงเพี้ยนเป็นสำเนียงไทยว่า “ ท่าเตียน” อาจกล่าวได้ว่าบ้านญวนแห่งแรกบนเกาะรัตนโกสินทร์ คือ "บ้านญวน" ในแถบท่าเตียนถึงพาหุรัด เรียกว่า "ญวนฮาเตียน" หรือท่าเตียนในปัจจุบัน
บริเวณอาณาเขตโดยรอบชุมชนท่าเตียน ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับตรอกโรงโม่
- ทิศใต้ ติดกับบ้านจักรพงษ์
- ทิศตะวันออก ติดกับถนนมหาราช
- ทิศตะวันตก ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา
จากคำบอกเล่าของคนในชุมชน กล่าวว่าพื้นที่แท้จริงของท่าเตียน จะครอบคลุมตั้งแต่บริเวณที่เคยเป็นกรมการค้าภายในเรื่อยมาจนถึงซอยข้าง ๆ บ้านปราณีเลาะริมแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่รวมโรงเรียนราชินี เพราะชาวบ้านคิดว่าสถานที่นั้นเป็นที่ของเจ้านาย จึงไม่กล้าจะนำมารวมกับอาณาเขตชุมชน ซึ่งเป็นความจริงแล้วครอบคลุมถึงโรงเรียนราชินีอีกด้วย
ภายใน "ชุมชนท่าเตียน" แบ่งเป็นซอยได้ทั้งหมด 8 ซอย คือ ซอยท่าโรงโม่ (ซอยท้ายวัง), ซอยท่าเตียน, ซอยท่าสุพรรณ, ซอยประตูนกยูง, ซอยเพ็ญพัฒน์, ซอยปรีชาพาณิชย์, ซอยสหกรณ์ 3 และซอยสหกรณ์ 4 ภายใต้เจ้าของที่ดินหลากหลายองค์กร ได้แก่ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, เอกชนรายย่อย, วังพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒน์ (วัดพระเชตุพน), สกุลจักรพงษ์, ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง และโรงเรียนราชินี (ราชินีมูลนิธิ)
จากการศึกษาพบว่า ลักษณะพื้นที่กายภาพในปัจจุบันที่ได้สำรวจพื้นที่ย่านท่าเตียนในปี พ.ศ. 2545 นั้นมีความหลากหลายของอาชีพ อาทิ ร้านค้าส่ง ร้านค้าปลีก โรงเรียนสอนนวดแผนไทย ร้านนวดแผนโบราณ ร้านขายยาแผนโบราณ ธนาคาร 3 แห่ง ร้านขายลูกเต๋า ร้านอาหารตามสั่ง ร้านขายของที่ระลึก แหล่งผลิตปลาแดดเดียว ร้านขายส่งอาหารทะเลตากแห้ง อีกทั้งบริเวณใกล้เคียงล้วนเป็นแหล่งที่ตั้งสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ คือ วัดโพธิ์ วัดแจ้ง วัดพระแก้ว และพระบรมมหาราชวัง ซึ่งจากศึกษาลักษณะประชากรที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับพื้นที่ท่าเตียน ทำได้โดยจัดหมวดหมู่ของประชากรเหล่านี้ออกเป็นประเภทต่าง ๆ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยแบ่งการจัดหมวดหมู่ของประชากรตามความเกี่ยวข้องกับพื้นที่ออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
1. ประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ซึ่งอพยพมาจากต่างจังหวัด เพื่อเข้ามาหางานทำ โดยประชากรกลุ่มนี้จะอาศัยอยู่ที่พื้นที่ย่านท่าเตียนและประกอบอาชีพอยู่ที่ท่าเตียน ได้แก่ กลุ่มที่ประอาชีพปลาแดดเดียว, กลุ่มที่เข้ามาใช้แรงงานตามร้านค้าส่ง ร้านอาหาร ร้านค้าปลีก และกลุ่มที่เข็นรถขายอาหารและผลไม้ และกลุ่มรับจ้างทั่วไป นอกจากนี้ ยังพบว่าประชากรที่อาศัยอยู่ในท่าเตียนนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นคนไทยเชื้อสายจีน
2. กลุ่มคนที่เข้ามาประกอบอาชีพที่ท่าเตียน แต่อาศัยอยู่ที่อื่น ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่เช่ากับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และมีอาชีพค้าขายอาจจะเช่าสำหรับร้านขายส่ง โกดังเก็บสินค้า ขายยาแผนปัจจุบัน ร้านตัดผม ร้านขายอาหารทะเลตาแห้ง ยิ่งร้านที่อยู่ติดกับธนาคารกรุงเทพฯ จะเป็นร้านมาจากมหาชัย ร้านอาหารตามสั่ง ร้านขายน้ำตรงริมบันไดเดินเรือโรงโม่ ซึ่งกลุ่มร้านอาหารและน้ำเหล่านี้จะให้บริการแก่นักท่องเที่ยว และผู้คนที่ใช้บริการเรือโดยสายเข้าฝาก หรือเป็นเรือด่วนเจ้าพระยา และบริหารคนในชุมชนท่าเตียนไปพร้อม ๆ กัน นอกจากนี้ กลุ่มประชากรอีกกลุ่มหนึ่งที่เดินทางประกอบกิจกรรมในพื้นที่ย่านค้าท่าเตียนไปเช้าเย็นกลับ คือร้านขายยาแผนโบราณ และกลุ่มพ่อค้าขนมหวาน ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ค้ายาแผนโบราณจะเช่าห้องจากประชากรที่อาศัยที่พื้นที่ท่าเตียน เพื่อเปิดร้านขายยาแผนโบราณ ทว่าพ่อค้าขนมหวาน จะใช้พื้นที่ช่วงเวลากลางคืน พื้นที่ที่กลุ่มนี้จะเข้ามาใช้อยู่ตรงข้ามกับท่าเตียน คือช่วงบริเวณฝั่งที่ติดกับวัดโพธิ์
3. กลุ่มคนที่ใข้พื้นที่นี้เป็นทางผ่านเพื่อเปลี่ยนรูปแบบของการสัญจร และอาจใช้บริการบ้างตอนเดินผ่าน คือกลุ่มคนที่ใช้พื้นที่ย่านท่าเตียนเพื่อเป็นทางผ่านไปทำงานหรือไปเรียน จากการมีท่าเรือที่สำคัญถึง 2 ท่า และเป็นทางผ่านของรถประจำทางหลายสาย ทำให้บริเวณพื้นที่ย่านท่าเตียนกลายเป็นบริเวณเปลี่ยนรูปแบบของการสัญจรประจำวัน ระหว่างทางน้ำและทางบกของประชากรที่อาศัยแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นทางการเดินทางประจำวัน และเนื่องจากว่าพื้นที่ย่านท่าเตียนอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ของไทยหลายแห่ง คือ วัดแจ้ง วัดโพธิ์ พระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว ปากคลองตลาด เป็นต้น ซึ่งประชากรกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยเฉพาะตรงบริเวณซอยท่าเรือโรงโม่ เป็นทั้งท่าเรือข้ามฝากและท่าเรือด่วนเจ้าพระยา มีทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวไทย เข้ามาใช้บริการ
4. ประชากรที่จงใจมาใช้บริการจริง ๆ คือประชากรที่เดินทางจากที่ต่าง ๆ ที่จงใจมาใช้บริการเฉพาะอย่างในพื้นที่ ซึ่งมีประเภทกิจกรรมที่หลากหลาย ทำให้กลุ่มคนที่เข้ามาใช้บริการมีความหลากหลายตาม ซึ่งกลุ่มแรกที่เข้ามาใช้บริการแบบเจาะจง คือพ่อค้าส่งวัตถุดิบ หรือพ่อค้าส่งจากโรงงาน เพราะว่าต้องนำสินค้ามาส่งให้ร้านค้าในท่าเตียน และประชากรอีกกลุ่มคือชาวต่างชาติและชาวไทยที่จงใจเข้ามาเพื่อเรียนนวดแผนไทยที่วัดเชตุพนวิมลมังคลาราม นอกจากเรียนแล้วยังมีการใช้บริการร้านอาหารตามซอยต่าง ๆ
กล่าวได้ว่า ลักษณะของประชากรที่เข้ามาปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่ย่านท่าเตียนนั้น มีความหลากหลาย เนื่องจากรูปแบบกิจกรรมต่าง ๆ ของพื้นที่ท่าเตียน อีกทั้งประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ย่านท่าเตียนยังเป็นคนเก่าแก่ที่อยู่มานาน โดยเฉพาะบริเวณซอยประตูนกยูงไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับประชากร ประกอบกับพื้นที่ส่วนใหญ่นั้นมีการบุกรุกแทนที่ คือบริเวณที่เป็นเอกชนรายย่อย เนื่องจากการย้ายออก และการเสียชีวิตของคนเก่า ๆ
จีนจากการศึกษาพบว่า สภาพบริบททางสังคมที่ได้เปลี่ยนไปนั้น ทำให้การประกอบอาชีพภายในชุมชนค่อย ๆ แปรเปลี่ยน ซึ่งกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ที่เห็นได้ในท่าเตียน อาทิ อาชีพเกี่ยวกับค้าส่งค้าปลีก, อาชีพที่สัมพันธ์กับวัดโพธิ์, อาชีพที่มาพร้อมกับกระแสการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้น และอาชีพทั่วไป
- ผู้ค้าปลาแดดเดียวในพื้นที่ย่านท่าเตียน โดยอาชีพนี้มีความสำคัญและเป็นอาชีพที่อยู่ควบคู่มากับพื้นที่ย่านท่าเตียน แต่มักไม่ได้รับการเปิดเผยให้บุคคลทั่วไปได้รับรู้ว่ามีกลุ่มอาชีพอยู่ในพื้นที่ย่านท่าเตียน โดยกลุ่มอาชีพนี้อยู่ได้จากปัจจัยที่คอยสนับสนุนการดำรงอยู่ของกลุ่มผู้ค้าส่ง "ปลาแดดเดียว" คือ พื้นที่บริเวณอาคารริมน้ำท้ายตลาดท่าเตียน เป็นที่กำเนิดอาชีพการผลิตปลาแดดเดียวในย่านแห่งนี้ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของชุมชนท่าเตียน ตั้งอยู่บริเวณท้ายตลาดท่าเตียนในปัจจุบัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ติดอยู่กับแม่น้ำเจ้าพระยา
1. จุล ดุลยวิจิตรเกษม : ปราชญ์และหัวหน้าแห่งชุมชนท่าเตียน
จุล ดุลยวิจิตรเกษม หรือลุงจุ่น ชื่อเล่นที่ชาวท่าเตียนเรียกกัน เป็นเสมือนองค์ความรู้ที่มีลมหายใจของชุมชนท่าเตียน เนื่องจากลุงจุ่นอยู่ที่นี่ตั้งแต่วัยเยาว์ และเคยได้เรียนรู้ศึกษาอยู่ที่วัดโพธิ์จึงทำให้ลุงจุ่นเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวของท่าเตียนได้เป็นอย่างดี
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)
พื้นที่ของย่าน "ท่าเตียน" เป็นที่ตั้งของ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ตามประวัติสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงสมัยกรุงธนบุรี และเป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งในอดีต สรรพวิชาต่าง ๆ สงวนไว้เป็นตำรับตำรา - วิชาของตระกูล จนมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดให้นำสรรพวิชาจารลงหินอ่อนและสมุดไทย ติดประกาศไว้ที่วัดโพธิ์ เพื่อให้คนไทยทุกชนชั้นได้เข้าถึงความรู้อย่างเท่าเทียมกัน เพราะในเวลานั้น ‘วัดโพธิ์’ คือวัดกลางเมือง ใกล้ตลาด ผู้คนพลุกพล่าน วัดโพธิ์จึงได้รับการขนานนามว่าเป็น มหาวิทยาลัยแห่งแรก ของไทย และ ‘ยูเนสโก’ ขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์จำนวน 1,440 ชิ้น เป็นมรดกความทรงจำโลกในทะเบียนนานาชาติ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554
ท่าเรือ
บริเวณท่าเตียนนี้มีท่าเรือสำคัญแปดท่า คือ (1) ท่าเรือขาว (2) ท่าเรือเขียวในซอยประตูนกยูง (3) ท่าเรือสุพรรณ (4) ท่าเรือสีเลือดหมู (5) ท่าเรือแดง (6) ท่าขาวโพด (7) ท่าสหกรณ์ และ (8) ท่าโรงโม่ ซึ่งแต่ละท่ามีเส้นทางเดินเรือต่างกัน มีสินค้าขึ้น - ลงต่างกัน รวมถึงผู้คนจากท้องที่ต่างกัน แม่น้ำและท่าเรือ จึงเป็นเสมือนสื่อเชื่อมโยงคนเข้ามายังท่าเตียน ผู้คนในชุมชนท่าเตียนส่วนใหญ่เป็นชาวจีน โดยเป็นคนจีนที่มีเชื้อสายแต้จิ๋วราวร้อยละ 80 บ้างมาจากเมืองจีนเอง บ้างย้ายมาจากชุมชนอื่น เพราะเล็งเห็นแล้วว่าชุมชนมีความพร้อมและเหมาะกับการค้ามาก ชาวจีนจากหลายที่จึงเข้ามาจับจองค้าขายทำกิน และคนอีกกลุ่มหนึ่งในท่าเตียน คือคนที่อพยพมาจากต่างจังหวัด ตั้งแต่ราว พ.ศ. 2510 และคนที่มาเข้ามาประกอบอาชีพค้าขายในท่าเตียนแต่พักอาศัยอยู่ที่อื่นด้วย คนเหล่านี้เป็นคนที่มาจากท้องที่ที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน ตลอดจนผู้ที่อาศัยในจังหวัดต่าง ๆ ตามเครือข่ายลุ่มน้ำในภาคกลาง อาทิ นครสวรรค์ อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นนทบุรี เป็นต้น คนเหล่านี้เดินทางมาพร้อมกับเรือโดยสารและเรือบรรทุกสินค้าในช่วงที่การคมนาคมทางน้ำยังคงเป็นเส้นทางหลัก ส่วนหนึ่งอาจมาเพื่อนำสินค้า วัตถุดิบ ผลิตผลทางการเกษตรเข้ามาขายหรือเข้ามารับจ้าง
ท่าเตียนเป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์ของตัวเองมาร่วมหลายร้อยปี เพราะพื้นที่แห่งนี้เริ่มมีผู้คนกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เข้ามาอาศัยอยู่ตั้งแต่สมัยอยุธยา ทั้งไทย จีน มอญ ญวน แขก และชาติตะวันตก อาทิ โปรตุเกส อังกฤษ ฝรั่งเศส เป็นต้น ดังนั้นภาษาที่เขาใช้กันในอดีตมีความหลากหลายมาก แต่ในปัจจุบันการพูด หลงเหลือเพียงการใช้ภาษาไทย และภาษาจีนจากชาวจีนที่อยู่อาศัยทั้งในพื้นที่มานาน จากหลักฐานที่พอจะอ้างได้จากผู้คนที่อยู่อาศัยในชุมชนมาแล้วเมื่อประมาณ 60 – 70 ปี ได้รำลึกให้ทราบว่าเมื่อราว 70-100 ปีก่อน ท่าเตียนยังเป็นสถานที่สำคัญในฐานะสถานการค้า และแหล่งชุมชนชาวจีน โดยคุณลุงสุวิทย์ อายุ 68 ปี และ คุณยาย (อาม่า) บุญดี ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนมาตั้งแต่เกิด
การเปลี่ยนแปลงของตึกแถว
จากการศึกษาได้มีการเปรียบเทียบ "ท่าเตียน" กับ "ท่าพระจันทร์" โดยกล่าวว่า การที่ท่าเตียนได้เป็นท่าส่งของและโดยสาร เนื่องจากทั้งท่าช้างและท่าพระจันทร์นั้นล้วนแล้วแต่เป็นท่าที่ส่งของมาจากสวน และทั้งในสมัยก่อน ทั้งท่าช้างและท่าพระจันทร์มีความใกล้ชิดกับวังมาก เป็นเขตพระราชฐานไม่สามารถเป็นที่จับจ่ายข้าวของดั่งเช่นทุกวันนี้ได้ ซึ่งสมัยแรก ๆ ที่ท่าเตียนเป็นชุมชน ได้สร้างตึกแถวไว้ให้เช่าในราคา 8 บาท เมื่อถ้ามาเทียบกับค่าเงินเมื่อราว 80 ปีที่แล้วถือว่าไม่ถูกนัก แต่เพราะการทำการค้าที่นี่มีแต่กำไรเพราะคนมาก จึงมีการแย่งจับจองของคนทั่วไป
นับตั้งแต่แรกเริ่มสร้างจนมาถึงช่วงปัจจุบันนี้ ยังคงใช้รูปแบบเก็บค่าเช่ารายเดือน โดยทำสัญญาให้ปีต่อปี จาก 8 บาท จนกระทั่ง ปัจจุบันอยู่ที่ 1,740 บาทต่อเดือน นับว่าถูกมาก ไม่มีใครซื้อกรรมสิทธิ์เด็ดขาด กรรมสิทธิ์จึงยังคงเป็นของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม นับตั้งแต่ที่สร้างมาในช่วงชีวิตของท่านทั้งสอง (ผู้ให้คำสัมภาษณ์ในปี พ.ศ. 2547 โดยท่านทั้งสองอายุประมาณ 60-70 ปีและได้อยู่อาศัยในพื้นที่ย่านท่าเตียนมาตั้งแต่เกิด) โดยท่านได้กล่าวต่อว่าในพื้นที่ย่านท่าเตียนมีการปรับปรุงตึกแถวและชุมชน 3 ครั้ง ดังนี้
- ครั้งแรกในปีขาล เมื่อราว 50 ปีก่อน
- ครั้งที่สอง คือ ปี พ.ศ. 2539 คงสภาพแบบตึกนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
- ครั้งที่สาม ในปี พ.ศ. 2556 ได้รับการปรับปรุงจนมีลักษณะสวยงามเป็นระเบียบ
สถาปัตยกรรม : ตึกเหลือง
ห้องแถวที่ถูกเรียกตามสีของอาคาร ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของท่าเตียน เป็นสถาปัตยกรรมสไตล์ยุโรปในยุคนีโอคลาสสิก สร้างขึ้นมาในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ. 2451 เพื่อให้ตลาดเป็นระเบียบเรียบร้อยและมั่นคงแข็งแรง โดยสร้างเป็นอาคารรูปตัวยูจำนวน 26 ห้อง และเพิ่งมีการปรับปรุงครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2556 ให้มีรูปลักษณ์ที่งดงาม คงกลิ่นอายเดิมในสมัยเก่า ภายหลังมีกรมทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้ดูแล มีข้อห้ามในการใช้อาคารต่าง ๆ หลายข้อ อาทิ ให้ตอกตะปูเพื่อติดรูปพระมหากษัตริย์เท่านั้น หรือห้ามต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น
ศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์. (ม.ป.ป.). ชุมชนท่าเตียน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2566, จาก http://www.resource.lib.su.ac.th/rattanakosin/
วลัญช์ สุภากร. (2561). ท่าเตียน : ประวัติศาสตร์เกื้อกูลความเจริญริมน้ำเจ้าพระยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.bangkokbiznews.com/
nairobroo. (ม.ป.ป.). ท่าเตียน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.nairobroo.com/travel/tha-tien/
หนุ่มลูกทุ่ง. (2549). เที่ยว“ท่าเตียน”ชุมชนเก่าแก่คู่วัดโพธิ์. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2566, จาก https://mgronline.com/travel/
ประชาชาติธุรกิจ. (2566). Walking tour ประวัติศาสตร์ชุมชนท่าเตียน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.prachachat.net/
ภราดร ศักดา. (2557). ชุมชน 100 ปี ในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: แสงดาว.
ไกรอัมพร พงษ์ขจร (2548). การดำรงอยู่ของกลุ่มผู้ค้าส่งในพื้นที่ย่านท่าเตียน: กรณีศึกษาผู้ค้าส่งปลาแดดเดียว. วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขาสังคมวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
พรอาภร ก้อนแก้ว. (2549). ประวัติศาสตร์สังคมท่าเตียนจากสูงสุดสู่สามัญ : กรณีศึกษาบทบาททางเศรษฐกิจในชุมชนท่าเตียน. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.
อัจฉราวดี ศรีสร้อย. (2562). เทียบท่าเตียน ไม่เหี้ยน 'อาหารทะเลแห้ง'. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 25 มิถุนายน 2566, จาก https://urbancreature.co/