ชุมชนชานกำแพงเมือง "ป้อมมหากาฬ" เป็นกลุ่มที่อยู่ต่อเนื่องกันมายาวนานมากกว่า 50 ปี โดยเข้ามาผสมผสานกับผู้คนที่อยู่มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ปลูกเรือนเก่าที่ยังหลงเหลืออยู่ในขณะนี้ มีวัดเทพธิดาราม และวัดราชนัดดาราม เป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อ รวมทั้งมีศาลเจ้าซึ่งสถิตอยู่ที่ป้อมมหากาฬเป็นที่กราบไหว้บูชาของคนในชุมชน
ชุมชนชานกำแพงเมือง "ป้อมมหากาฬ" เป็นกลุ่มที่อยู่ต่อเนื่องกันมายาวนานมากกว่า 50 ปี โดยเข้ามาผสมผสานกับผู้คนที่อยู่มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ปลูกเรือนเก่าที่ยังหลงเหลืออยู่ในขณะนี้ มีวัดเทพธิดาราม และวัดราชนัดดาราม เป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อ รวมทั้งมีศาลเจ้าซึ่งสถิตอยู่ที่ป้อมมหากาฬเป็นที่กราบไหว้บูชาของคนในชุมชน
ชุมชนป้อมมหากาฬ เป็นชุมชนบริเวณชานเมืองพระนคร โดยชุมชนนี้เป็นชุมชนเก่าแก่ที่อาศัยอยู่ริมกำแพงชั้นในของป้อมมหากาฬ ซึ่งเป็น 1 ใน 14 ป้อมสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดให้สร้างขึ้น ตั้งแต่เมื่อครั้งทรงสร้างพระนครและพระบรมมหาราชวัง ป้อมมหากาฬนั้นเป็นป้อมหนึ่งที่ประจำพระนครด้านตะวันออก ต่อมาในปี พ.ศ. 2492 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ต่อจากนั้นก็มีการบูรณะอย่างต่อเนื่อง
ในอดีตบริเวณชานเมืองกำแพงเคยเป็นท่าเรือสำหรับขุนนางและเจ้านายที่เดินทางมาตามลำคลองเข้าและออกไปนอกเมือง เพราะเป็นบริเวณที่จะต่อไปยังที่อื่นตามคลองมหานาค คลองแสนแสบ และตามลำคลองโอ่งอ่างไปยังรอบเมืองอื่นๆ ส่วนบริเวณภายนอกของแนวป้อมมหากาฬ คือที่อยู่อาศัยของข้าราชบริพาร มีการปลูกสร้างอาคารเป็นแนวยาวตลอด ตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศจรดแนวคูคลองวัดเทพธิดารามในปัจจุบัน เมื่อเวลาผ่านไปผู้ที่อาศัยอยู่เดิมได้โยกย้ายไปหาที่อยู่ใหม่ ทิ้งสิ่งปลูกสร้างไว้ให้ผู้อื่นเช่า ขณะเดียวกันก็มีอาคารบ้านเรือนเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ จึงเป็นที่มาของชุมชนป้อมมหากาฬ
บริเวณชุมชนนี้เดิมเป็นที่อยู่อาศัยของข้าราชบริพารในวังหลวง ได้แก่ นางลิเก และนางละคร ประมาณ 10 ครอบครัว ซึ่งถือได้ว่าเป็นชุมชนกลุ่มแรกที่เข้ามาอาศัยเมื่อ 65 ปีล่วงมาแล้วในพื้นที่ของวัดราชนัดดา โดยการเช่าที่ปลูกบ้าน ต่อมาเมื่อเริ่มมีความเจริญในกรุงเทพมหานครมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือประชาชนที่เข้ามาบุกรุกที่ดินของวัดราชนัดดาและของนายเล็ก นานา ซึ่งอยู่ถัดไป อีกจำนวน 25 หลังคาเรือน ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2500 - 2503 ซึ่งต่อมาทางวัดราชนัดดาและของนายเล็ก นานา เริ่มทำการเก็บค่าเช่าที่ดิน และทำการปลูกล้านให้เช่าในส่วนของพื้นที่ว่างอีกส่วนหนึ่งในทางทิศใต้ของชุมชนอีกประมาณ 10 หลังคาเรือน โดยการเก็บค่าเช่าในอัตราหลังละ 18 - 30 บาทต่อเดือน
พอถึงช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2513 นายเล็ก นานา เริ่มไม่เก็บค่าเช่า อาจะเป็นเพราะว่าตามเก็บเงินลำบาก ประชาชนที่อาศัยไม่ค่อยจะมีเงินให้เป็นค่าเช่า จึงให้อยู่โดยไม่ต้องเสียเงินตั้งแต่นั้นมา เป็นผลให้มีประชาชนอพยพเข้ามาเพิ่มอีกประมาณ 10 หลังคาเรือน
ทว่าในปี พ.ศ. 2514 ได้เกิดเพลิงไหม้ในชุมชนจนเหลือบ้านเพียง 2 หลังเท่านั้น แต่ประชาชนที่อาศัยเหล่านี้ได้รีบสร้างบ้านเพื่อพักอาศัยในทันที โดยใช้วัสดุเก่าเท่าที่จะสามารถนำมาใช้ได้ จนกระทั่งในช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 เป็นต้นมา ได้มีประชาชนบุกรุกเข้ามาเรื่อย ๆ โดนการปลูกสร้างบ้านพอที่จะพักอาศัยได้อีกประมาณ 10 หลังคาเรือน จนเต็มพื้นที่ของชุมชนทั้งหมด ซึ่งไม่สามารถขยายตัวไปได้อีก
ในปัจจุบัน ณ ปีพ.ศ. 2532 ของการศึกษา ทางกรุงเทพมหานครได้ทำการเวนคืนที่ดินของพล.ต.ต.ไสวรินทร์ เลขวณิชย์ ทางทิศเหนือของชุมชน และที่ดินของนายเล็ก นานา เพื่อที่จะอนุรักษ์พื้นที่บริเวณที่ติดกับกำแพงเมืองด้านนอกให้สวยงาม และป้องกันการทิ้งเศษวัสดุและน้ำเสียจากการใช้อุปโภคบริโภคลงสู่คลองโอ่งอ่าง ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วประมาณร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งหมด คิดเป็นเนื้อที่ 1 ไร่เศษ แต่ประชาชนที่อาศัยในบริเวณนี้ดื้อแพ่งไม่ยอมย้ายออกไป ซึ่งทางกรุงเทพมหานครเคยฟ้องไล่ที่ประชาชนที่อยู่บริเวณนี้ในปี พ.ศ. 2521 ประชาชนยังไม่ยอมออกไป และยอมเสียค่าปรับตามคำสั่งศาลในอัตราปีละ 500 บาท เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ชุมชนป้อมมหากาฬ เป็นชุมชนใหม่อายุไม่เกิน 150 ปี ซึ่งผู้อาศัยในชุมชนส่วนใหญ่จะทำการบุกรุกที่ดินเข้ามาตั้งบ้านเรือน โดยที่ตั้งและขนาดพื้นที่ของชุมชนแห่งนี้ คือวัดราชนัดดาราม กรุงเทพมหานคร และเอกชนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งหมด คิดเป็นเนื้อที่ 3 ไร่ 61 ตารางวา ซึ่งในพื้นที่มีบ้านเรือนอยู่อาศัย 73 หลังคาเรือน และมีประชากรจำนวน 535 คน (อ้างอิงจากข้อมูลศึกษาในปี พ.ศ. 2533)
อาณาเขตที่ดินที่ติดต่อชุมชน ดังนี้
- ทางด้านเหนือ ติดกับที่ดินของพล.ต.ต.ไสวรินทร์
- ทางด้านทิศใต้ ติดกับคลองหลอด
- ทางด้านทิศตะวันออก ติดกับคลองโอ่งอ่าง
- ทางด้านทิศตะวันตก ติดกับแนวกำแพงป้อมมหากาฬ
ชุมชนป้อมมหากาฬ เป็นชุมชนที่มีกลุ่มคนที่อยู่อาศัยต่อเนื่องกันมามากกว่า 50 ปี โดยมีการผสมผสานเข้ากับผู้คนที่อาศัยอยู่มาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นผู้มี่ปลูกบ้านเรือนเก่าที่ยังเหลืออยู่ในขณะนี้ อีกทั้งยังปลูกอาคารที่สัมพันธ์กับท่าเรือที่จอดอยู่ริมป้อมมหากาฬชุมชนแห่งนี้
แม้จะเป็นเพียงชุมชนขนาดเล็ก แต่กลับมีวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพที่น่าสนใจ ได้แก่
- การเลี้ยงนกเขาชวา และการทำกรงนกของ ไพบูลย์ ตุลารักษ์ หรือลุงติ่ง ที่ได้อาศัยอยู่ในชุมชนมานานกว่า 40 ปี จัดได้ว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งซื้อขายนกเขาชวาที่มีชื่อ และเป็นที่รู้จักกันดีของคนทั่วไปมากที่สุดแห่งหนึ่งในปัจจุบัน อีกทั้งกรงนกที่เป็นที่นิยมของลูกค้ามาก
- การเลี้ยงไก่ชนของสำเริง ดาวสุก ซึ่งเป็นอาชีพที่ทำต่อเนื่องกันมานานกว่า 30 ปี
- การปั้นเศียรพ่อแก่ (หัวฤาษี) และปั้นตุ๊กตาดินเผารูปฤาษีดัดตนในอิริยาบถต่าง ๆ กัน ของกุศล เชยบุปผา
ดังที่ยกตัวอย่างมานั้นล้วนเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน นอกจากนี้ ชาวชุมชนป้อมมหากาฬยังประกอบอาชีพการทำกระเพาะปลา และรับจ้างทั่วไป ซึ่งเป็นอาชีพที่เกิดมาในภายหลังที่เกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ขณะที่อาชีพดั้งเดิมก็ยังยืนหยัดอยู่ได้อย่างเหนียวแน่น อาทิ การทำกรงนก และเครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น
วิถีชีวิตของชาวชุมชนในอดีต ชาวชุมชนป้อมมหากาฬส่วนใหญ่ มีอาชีพทำกรงนก เครื่องปั้นดินเผา และอาชีพหลอมทอง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน ปัจจุบันหลังประสบปัญหาเศรษฐกิจทำให้เกิดอาชีพต่าง ๆ ตาม อาทิ การทำกระเพาะปลา และรับจ้างทั่วไป เป็นต้น ขณะที่อาชีพดั้งเดิมยังยืนหยัดอยู่ได้อย่างเหนียวแน่น อย่าง การทำกรงนก และเครื่องปั้นดินเผา
ชุมชนป้อมมหากาฬนี้มีสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่เหลืออยู่ เป็นอาคารบ้านเรือนที่มีอายุเก่าแก่ควรแก่การที่จะอนุรักษ์ไว้ นอกเหนือไปจากป้อมมหากาฬและแนวกำแพงเมือง ได้แก่
- บ้านเลขที่ 97 จากประวัติที่ชาวชุมชนได้พยายามสืบค้นมาพบว่า บ้านหลังนี้เจ้าของคนแรกคือ หมื่นศักดิ์แสนยากร ลักษณะโดยรวมเป็นบ้านทรงไทยหลังคาทรงสูง และยกใต้ถุนสูงในแบบฉบับมาตรฐานของเรือนไทยเดิมแบบภาคกลางที่พบมากในอดีต ก่อสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง หน้าจั่วทำเป็นแบบที่เรียกว่า "จั่วใบปรือ" ฝาเป็นฝาลูกฟักทั้งหมด และจากการสำรวจโดยรอบอาคาร พบว่าเรือนไทยหลังนี้เป็นเรือนไทยที่มีสัดส่วนสวยงามหลังหนึ่ง ถึงแม้สภาพปัจจุบันจะทรุดโทรม แต่ถ้าได้รับการดูแลรักษาตลอดจนมีการปรับปรุงและอนุรักษ์ที่ดีเพียงพอ เรือนหลังนี้จะกลายเป็นตัวอย่างของเรือนไทยที่งดงามหลังหนึ่งที่ยังคงเหลืออยู่ในกรุงรัตนโกสินทร์
- บ้านเลขที่ 123 ซึ่งเป็นภาพสะท้อนอย่างดีของบ้านเรือนที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อเนื่องมาจนถึงรัชกาลที่ 6 บ้านหลังนี้เป็นบ้านไม้ 2 ชั้นหลังคาทรงจั่ว มุมหลังคาไม่สูงชันเท่าเรือนทรงไทยแบบหลังแรก ชายคาไม่ยื่นออกมายาวมาก เมื่อพิจารณาจากรูปลักษณ์ภายนอกตลอดจนรายละเอียดบางส่วน แสดงให้เห็นว่าเป็นบ้านที่ปลูกขึ้นในแบบที่ได้รับอิทธิพลตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 5
ปัญหาการไล่รื้อที่ดินระหว่าง รัฐ และ ชาวบ้าน
พื้นที่ดังกล่าวของบ้านเรือนในป้อมมหากาฬมีเจ้าของที่ดินหลายโฉนดหลายแปลงทั้งของเอกชน และของวัดราชนัดดาฯ เมื่อต้องถูกพระราชบัญญัติเวนคืนที่ดิน เพื่อใช้สำหรับสร้าง "สวนสาธารณะ" ให้กับโครงการเกาะรัตนโกสินทร์ที่ถูกสร้างขึ้นมา เมื่อครั้งหลังยังมีกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ที่ต้อง "ปรับภูมิทัศน์" พื้นที่ต่าง ๆ ในย่านเมืองประวัติศาสตร์ โดยไม่เห็นความสำคัญของชุมชนที่อยู่อาศัยมาแต่เดิม และคงอยู่ในสภาพทรุดโทรม เพราะติดปัญหาในด้านทุนทรัพย์ซ่อมแซมในรุ่นลูกหลาน และเปลี่ยนมือเนื่องจากการย้ายออกไปของกลุ่มตระกูลและการย้ายเข้าของผู้มาใหม่ ซึ่งเป็นปกติของการอยู่อาศัยในย่านเมือง
การออกพระราชบัญญัติเวนคืนในยุคดังกล่าวนั้น มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาสืบตกทอดมาถึงปัจจุบัน คือไม่ได้ศึกษารอบด้านในเรื่องประวัติศาสตร์สังคมของชุมชนต่าง ๆ จนละเลย กระทั่งถืออภิสิทธิ์ไม่เคารพสิทธิชุมชน หรือกฎเกณฑ์ทางสังคมที่ถือเอากรรมสิทธิ์ทางกฎหมายปัจจุบันเป็นหลักแบบมัดมือชก เป็นที่น่าหดหู่เมื่อเกิดปัญหาการไล่รื้อชุมชน ซึ่งกรุงเทพมหานครให้ข่าวว่าจะกำหนดให้เสร็จสิ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2559 โดยไม่ได้เริ่มเจรจากับชุมชนแต่อย่างใด อีกทั้งชุมชนแห่งนี้ไม่สามารถเติบโตหรือสืบทอดการอยู่อาศัยในพื้นที่ชานพระนครได้มานาน เพราะการไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการปกครองของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากปัญหาทางกฎหมายจากพระราชบัญญัติเวนคืนและการควบคุมไม่ให้มีผู้คนเพิ่มจากที่มีอยู่เดิม
ช่วงเวลาแห่งการจากลา ระหว่างชาวบ้านในชุมชนกับพื้นที่ชุมชน "ป้อมมหากาฬ"
22 เมษายน พ.ศ. 2561 งานอำลาชุมชนป้อมมหากาฬ
25 เมษายน พ.ศ. 2561 วันสุดท้ายของคำว่า "ชุมชนป้อมมหากาฬ" เนื่องจากกรุงเทพมหานครสั่งรื้อย้ายชุมชนป้อมมหากาฬ สำนักการโยธารื้อบ้านหลายหลังตั้งแต่เช้าจรดเย็น
5 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ไถพื้นที่หลังกำแพงป้อมมหากาฬ หลังรื้อครบทุกหลัง โดย 2 หลังสุดท้ายที่ถูกรื้อถอน คือบ้านพรเทพ บูรณะบุรีเดช อดีตรองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ และบ้านของธวัชชัย วรมหาคุณ อดีตประธานชุมชน ซึ่งเป็นบ้านปี่พาทย์เก่าแก่ตระกูลไม่เสื่อมสุข โดยชาวบ้านกลุ่มสุดท้ายที่ย้ายออกได้แยกย้ายไปอาศัยในชุมชนกัลยาณมิตร ย่านบางซื่อ นอกจากนี้ บางครอบครัวยังเช่าบ้านอยู่ในชุมชนบ้านสายใกล้ชุมชนป้อมมหากาฬเดิม เนื่องจากประกอบอาชีพค้าขายในย่านดังกล่าว
17 มีนาคม พ.ศ. 2562 ชาวป้อมมหากาฬส่วนหนึ่ง ร่วมกันบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์บริเวณที่ดินย่านพุทธมณฑลสาย 2 โดยมีแผนการรื้อฟื้นชุมชนป้อมมหากาฬขึ้นใหม่ ด้วยการปลูกสร้างเรือนไม้จากไม้เก่าส่วนหนึ่งที่รื้อถอนจากเรือนเดิมในชุมชน เบื้องต้นมีชาวบ้านร่วมโครงการ 8 ครอบครัว บนที่ดินขนาด 106 ตารางวา ประกาศว่า จิตวิญญาณยังคงอยู่
29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ร้อยตำรวจเอก พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร ชวนชมความสวยงามของสวนสาธารณะหลังป้อมมหากาฬซึ่งจัดยาวไปถึงต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2564
ป้อมมหากาฬ
สร้างขึ้นเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ในปี พ.ศ. 2325 ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการขุดคูก่อสร้างกำแพงพระนคร พระบรมมหาราชวังและพระราชวังบวรสถานมงคล ในปี พ.ศ. 2326 ซึ่งในการก่อสร้างกำแพงพระบรมมหาราชวังนั้นได้สร้างป้อมสำหรับป้องกันพระนครเป็นระยะ ๆ รอบพระนครจำนวน 14 ป้อม ได้แก่ ป้อมพระสุเมรุ, ป้อมยุคนธร, ป้อมมหาปราบ, ป้อมมหากาฬ, ป้อมหมู่หลวง, ป้อมเสือทยาน, ป้อมมหาไชย, ป้อมจักรเพชร, ป้อมผีเสื้อ, ป้อมมหาฤกษ์, ป้อมมหายักษ์, ป้อมพระจันทร์, ป้อมพระอาทิตย์ และป้อมอิสินธร โดย "ป้อมมหากาฬ" อยู่ทางตะวันออกของพระนคร และไม่ปรากฏว่ามีวังเจ้านายประจำอยู่บริเวณป้อม สันนิษฐานว่าอาจมีวังเจ้านายเดิมอยู่แล้ว
ตามแนวกำแพงตั้งแต่ป้อมมหากาฬ ยังมีพื้นที่ "ชานกำแพง" เหลืออยู่อย่างสมบูรณ์ (พื้นที่ชานกำแพง คือ พื้นที่ยื่นล้ำจากกำแพงเมืองลงสู่แม่น้ำหรือลำคลองคูเมือง เป็นพื้นที่ให้เรือแพจอดเป็นท่าเรือ และผู้คนมาอาศัยปลูกเรือนที่อยู่อาศัยอยู่รายรอบตัวเมือง) เป็นพื้นที่ที่เคยเป็นท่าเรือ และมีบ้านเรือนของผู้คนอยู่เป็นชุมชนมาช้านาน โดยเฉพาะชุมชนนี้ ยังมีบ้านเรือนแบบโบราณ มีทางเดินตรอกที่ติดต่อระหว่างกัน บริเวณชานกำแพงเมืองที่เคยเป็นท่าเรือสำหรับขุนนางและเจ้านายที่เดินทางมาตามลำคลองเข้าเมืองและออกไปนอกเมือง เพราะเป็นบริเวณที่จะต่อไปยังที่อื่น เช่น ตามลำคลองมหานาค คลองแสนแสบ และคลองโอ่งอ่างไปยังชุมชนรอบเมืองอื่น ๆ ชุมชนชานกำแพงเมืองป้อมมหากาฬนี้เป็นกลุ่มที่อยู่ต่อเนื่องกันมามากกว่า 50 ปี โดยเข้ามาผสมผสานกับผู้คนที่อยู่มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ปลูกเรือนเก่าที่ยังหลงเหลืออยู่ในขณะนี้ มีวัดเทพธิดาราม และวัดราชนัดดาราม เป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อ รวมทั้งมีศาลเจ้าซึ่งสถิตอยู่ที่ป้อมมหากาฬเป็นที่กราบไหว้บูชาของคนในชุมชน
ภราดร ศักดา. (2557). ชุมชน 100 ปี ในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : แสงดาว.
อริยา อรุณินท์. (2555). เครื่องมือขยายเสียงจากชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนาที่ดิน กรณีศึกษาโครงการที่มีความขัดแย้งสูง. วารสารการจัดการสิ่งแวดล้อม, 8(1), 95-108.
จาตุรงค์ โพคะรัตน์ศิริ. (2555). ความไม่ลงรอยในเมืองเก่ากรุงเทพ : มรดก การท่องเที่ยว และเจนตริฟิเคชัน. วารสารหน้าจั่ว, 9, 121-135.
รุ้งนภา ยรรยงเกษมสุข. (2559). วัฒนธรรม ความขัดแย้ง และการเป็นตัวแทน. วารสาารเศรษฐศาสตร์การเมืองบูรพา, 4(2), 31-56.
ฐากร สิทธิโชค. (2561). ชุมชนป้อมมหากาฬ : การต่อสู้เพื่อแก้ปัญหาการไล่รื้อที่ดิน. วารสารอินทนิลทักษิณสาร มหาวิทยาลัยทักษิณ, 13(1), 9-29.
สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร. (2554). บางกอก บอกเล่า (เรื่อง). นนทบุรี: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด มหาชน.
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. (2540). ชื่อบ้านนามเมือง. กรุงเทพฯ : มติชน.
วีณา เอี่ยมประไพ. (2550). พลวัตทางสังคมของชุมชนบริเวณป้อมปราการในเกาะรัตนโกสินทร์. (รายงานวิจัย). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.
ศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์. (ม.ป.ป.). ชุมชนป้อมมหากาฬ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2566, จาก http://www.resource.lib.su.ac.th/rattanakosin/index.php/2014-10-27-08-52-32/2015-10-21-06-59-03.
อภิชาต พงษ์สวัสดิ์. (2562). การจัดการพื้นที่ทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ : กรณีศึกษาชุมชนป้อมมหากาฬ กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
จินตนา ประชุมพันธ์. (2560). ชุมชนป้อมมหากาฬ: พื้นที่ประวัติศาสตร์ที่ยังมีลมหายใจ กับภาพสะท้อนความล้าหลังของกฎหมายไทย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2566, จาก https://themomentum.co/momentum-feature-the-conflict-and-solutions-of-pom-mahakan/
Thai PBS. (2561). ปิดตำนาน "ชุมชนป้อมมหากาฬ" ขีดเส้นรื้อทุกหลัง 29 เม.ย.นี้. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/271857.
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. (2559). ความเจ็บปวดที่ชุมชนป้อมมหากาฬ “เมืองประวัติศาสตร์ต้องมีชุมชน.” (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2566, จาก https://lek-prapai.org/home/view.php?id=5133.
พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร. (2565). 4 ปี รื้อป้อมมหากาฬ 1,462 วัน ชีวิตที่ยังไม่มีบ้าน ความในใจอดีตประธานชุมชน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_3306534.
ภูริช วรรธโนรมณ์. (2562). ชาวชุมชนป้อมมหากาฬกับอดีตที่ยังเฝ้าถวิลหา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2566, จาก http://www.baankluayonline.co/culture-mahakan-bangkok/.
ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย. (2564). ป้อมมหากาฬ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2566, จาก https://db.sac.or.th/archaeology/archaeology/773.
ประสงค์ ไชยประดิษฐ์. (2551). แนวทางอนุรักษ์ชุมชนป้อมมหากาฬ. วิทยานิพนธ์ครุศาสตร์อุตสาหกรรมมหาบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง.
วิภาพรรณ ศิริพรรคชัย. (2550). เรื่องเล่าจากชุมชนที่ถูกไล่รื้อแห่งหนึ่ง. วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
จากรากสู่เรา ซีซัน 2 ชุมชนชานพระนคร ท่าเตียน ป้อมมหากาฬ. [วีดิทัศน์]. (2564, 18 ตุลาคม). กรุงเทพฯ: Thai PBS.