Advance search

ตรอกบ้านพานถม

บ้านพานถม ย่านบางขุนพรหม ปรากฏคำบอกเล่าว่า เป็นบ้านช่างฝีมือที่ประกอบอาชีพทำเครื่องถมประเภทขันน้ำและพานรองเป็นหลัก แต่ไม่มีหลักฐานบันทึกไว้แน่นอนว่าเกิดขึ้นเมื่อใด เครื่องถมของชุมชนนี้ได้รับเอารูปแบบมาจากกลุ่มคนที่อพยพมาจากเมืองนครศรีธรรมราช จึงเรียกกันทั่วไปว่า “ถมนคร” ปัจจุบันไม่หลงเหลืออยู่แล้ว

ถนนประชาธิปไตย
บ้านพานถม
พระนคร
กรุงเทพมหานคร
จุฬาลักษณ์ วงค์สวัสดิ์โสต
16 มิ.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
10 ก.ค. 2023
จุฬาลักษณ์ วงค์สวัสดิ์โสต
16 มิ.ย. 2023
บ้านพานถม
ตรอกบ้านพานถม


บ้านพานถม ย่านบางขุนพรหม ปรากฏคำบอกเล่าว่า เป็นบ้านช่างฝีมือที่ประกอบอาชีพทำเครื่องถมประเภทขันน้ำและพานรองเป็นหลัก แต่ไม่มีหลักฐานบันทึกไว้แน่นอนว่าเกิดขึ้นเมื่อใด เครื่องถมของชุมชนนี้ได้รับเอารูปแบบมาจากกลุ่มคนที่อพยพมาจากเมืองนครศรีธรรมราช จึงเรียกกันทั่วไปว่า “ถมนคร” ปัจจุบันไม่หลงเหลืออยู่แล้ว

ถนนประชาธิปไตย
บ้านพานถม
พระนคร
กรุงเทพมหานคร
10200
13.7601965969829
100.502779444872
กรุงเทพมหานคร

จากการศึกษาพบว่า ชุมชนตรอกบ้านพานถมเดิมนั้นที่เหล่านี้เคยเป็นสวนท้องร่องมาก่อน จัดเป็นชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งที่มีอายุมากกว่า 150 ปี กล่าวคือนับตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างกรุงเทพมหานคร โดยให้สร้างกำแพงพระนครและคูพระนครขึ้น เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 3 กรุงเทพมหานครยังคงมีความสำคัญแต่ในกำแพงพระนครเท่านั้น 

ชุมชนบ้านพานถมในสมัยนั้นอาจเป็นเพียงชุมชนเล็ก ๆ นอกกำแพงพระนคร มีสภาพเป็นชนบท พื้นที่เป็นเรือกสวน และมีผู้คนจำนวนไม่มาก โดยมี "คลองบางลำพู" ซึ่งถูกขุดขึ้นคราวสร้างพระนครในสมัยรัชกาลที่ 1 ในปี พ.ศ. 2326 คลองนี้ได้เอื้อประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ให้กับผู้คนที่อยู่อาศัยในอาณาบริเวณนี้ ไม่ว่าจะเป็นทาการคมนาคม การอุปโภคบริโภค ตลอดจนการทำเกษตรกรรม ถัดจากสะพานเฉลิมวันชาติมาจะมีสะพานไม้เล็ก ๆ ข้ามคลองบางลำพู ถัดลงมาอีกเป็นโรงไม้กับโรงเลื่อย บริเวณริมคลองหน้าโรงไม้นี้จะมีเรือลากไม้ซุงจอดอยู่ แต่ปัจจุบันโรงไม้และโรงเลื่อยดังกล่าวกลับกลายมาเป็นอาคารบ้านเรือนหมดแล้ว นอกจากนั้น สะพานไม้เล็ก ๆ ที่ไว้ข้ามคลองดังกล่าว ในปัจจุบันได้รับการก่อสร้างเปลี่ยนมาเป็นสะพานปูน ส่วนกำแพงพระนครได้ถูกรื้อออกแล้วเช่นกัน

ในสมัยก่อน "ชุมชนตรอกบ้านพานถม" เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าเป็นย่านอุตสาหกรรมผลิตเครื่องถม จากการเอกสารของคณะผู้วิจัยได้ลงสอบถามผู้คนที่เกิดและเติบโตในชุมชนพบว่า การทำพานถม ขันถม ของชาวบ้านที่นี่เลิกทำกันมาหลายสิบปีแล้ว ซึ่งช่วงที่ยังมีการทำเครื่องถมอยู่นั้น ชาวบ้านในชุมชนแทบทุกบ้านจะรับจ้างทำพานถมขันถมกันเป็นส่วนใหญ่ โดยมีคนในชุมชนรับเครื่องถมมาจากเจ้าของโรงงานภายนอกชุมชนเข้ามาว่าจ้างคนในชุมชนอีกทอดหนึ่ง

ขั้นตอนของการทำเครื่องถมนั้นจะทำกันด้วยมือล้วน และมีการแบ่งแยกรับจ้างทำเฉพาะในส่วนงานที่ตนมีความรู้ความชำนาญ เป็นต้นว่า ตอก เหยียบ และสลักลวดลาย

ประมาณ 30 ปีที่ผ่านมาชุมชนเริ่มมีการขยายตัว ผู้คนเริ่มเข้าจับจองเป็นเจ้าของที่ดินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภายหลังการพัฒนาเส้นทางคมนาคม ถนนต่างกว้างขวางทำให้มีความสะดวกสบาย ย่านความเจริญต่าง ๆ เกิดขึ้นตามมา และเนื่องจากตัวชุมชนตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร เป็นผลให้มีประชาชนอพยพเข้ามาในบริเวณชุมชนแห่งนี้มากขึ้นจนหนาแน่น ขณะเดียวกันความหลากหลายทางอาชีพก็มีจำนวนมากขึ้น ชาวบ้านหันไปประกอบอาชีพอื่น ๆ อีกทั้งอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องถมได้มีการนำเอากรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์และเครื่องจักรทุ่นแรงมาใช้ อาทิ ในการแกะสลักลายก็ใช้แม่พิมพ์ หรือว่าเครื่องปั๊ม นับว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถทำลวดลายได้งดงามและรวดเร็วกว่ามาก จึงเป็นเหตุให้นายจ้างเลิกจ้าง ตลอดจนความนิยมการใช้เครื่องถมได้มีจำนวนลดลง เนื่องจากมีการหันไปใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากอลูมิเนียมมากขึ้น เหตุผลนี้จึงทำให้ชาวบ้านค่อย ๆ เลิกทำพานถมขันถม 

ท้ายที่สุด ในปัจจุบันไม่มีบ้านใดทำพานถมกันแล้ว (เป็นการศึกษาในปี พ.ศ. 2540) คงเหลือเพียงคำบอกเล่าและรู้จัก "บ้านพานถม" ในฐานะชุมชนที่เคยปรากฎว่าเป็นแหล่งอุตสหกรรมผลิตเครื่องถมโบราณที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์

ชุมชนตรอกบ้านพานถม ตั้งอยู่บริเวณสะพานเฉลิมวันชาติ ถนนประชาธิปไตย แขวงบ้านพานถม มีเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ 2 งาน ซึ่งที่ดินเหล่านี้เคยเป็นสวนท้องร่องมาก่อน ลักษณะบ้านเรือนปลูกเป็นหลัง ๆ ขนานกับทางเท้า เป็นซอยทั้งหมด 7 ซอย โดยส่วนใหญ่เป็นบ้าน 2 ชั้น บางบ้านมีริ้วล้อมรอบเป็นบริเวณของตนเอง

มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ โรงเรียนวัดปรินายก
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนประชาธิปไตย, สะพานเฉลิมวันชาติ
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ คลองบางลำภู
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนวิสุทธิกษัตริย์

จากข้อมูลที่ศึกษาในปี พ.ศ. 2540 พบว่าจำนวนประชากรในตรองบ้านพานถมของสำนักงานเขตพระนคร ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีจำนวนทั้งหมดประมาณ 1,953 คน โดยมีจำนวนหลังคาเรือนประมาณ 250 หลังคาเรือน และมีจำนวนครอบครัวประมาณ 316 ครอบครัว โดยชาวบ้านในชุมชนกล่าวว่าในอดีตประชากรในชุมชนมีจำนวนไม่มาก แต่ในปัจจุบันผู้คนดูมากหน้าหลายตาขึ้นกว่าเมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับบ้านเรือนส่วนใหญ่ได้มีการเปลี่ยนแปลง โดที่เจ้าของบ้านในชุมชนทำการแบ่งพื้นที่บ้านโดยการกั้นห้องให้เช่า ขณะเดียวกันเจ้าของบ้านหลายหลังเลือกที่จะย้ายออกไปอยู่นอกชุมชนและเปิดบ้านให้เช่าแทน ซึ่งในปัจจุบันจำนวนห้องเช่าและบ้านเช่าในชุมชนบ้านพานถมมีจำนวนมากขึ้น

ชุมชนบ้านพานถมมีการแบ่งประชากรเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  1. กลุ่มผู้อยู่อาศัยมาตั้งแต่เกิด โดยประชากรกลุ่มนี้จะเป็นเจ้าของบ้านและที่ดิน ส่วนใหญ่ได้รับมรดกตกทอดติดต่อกันมาเป็นช่วง ๆ ประมาณ 3 ชั่วคน
  2. กลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชน ตั้งแต่ประมาณ 1 ปีขึ้นไปจนถึงประมาณ 30 ปี หรือมากกว่านั้น เป็นกลุ่มที่ประชากรมาอยู่ในฐานะผู้เช่นที่อยู่อาศัย จะแตกต่างกันแค่ระยะเวลามากหรือน้อยในการเช่าอยู่อาศัยเท่านั้น
  3. กลุ่มผู้อาศัยในชุมชนเป็นครั้งคราว ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะมีประชากรมาจากที่อื่นของกรุงเทพมหานคร และที่มาจากชนบทเกือบทุกภาคของประเทศ ที่พบมากที่สุด คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ

จากการศึกษาในช่วงปี พ.ศ. 2540 พบว่าในอดีตชาวบ้านในชุมชนบ้านพานถมประกอบอาชีพทำ "เครื่องถม" เป็นหลัก และบางพื้นที่เคยเป็นร่องสวนมาก่อน อาทิ ซอยปรินายก 6 สำหรับอาชีพการทำเครื่องถมชาวบ้านเลิกประกอบอาชีพนี้มาประมาณ 30 - 40 ปีแล้ว เนื่องจากอุตสาหกรรมเครื่องถมได้รับการพัฒนาจนมีความทันสมัยทางเทคโนโลยีทางการผลิตเข้ามาแทน เป็นผลให้ชาวบ้านจึงหันไปประกอบอาชีพอื่น ๆ อย่าง อาชีพค้าขายที่พบว่าในชุมชนมีร้ายค้าประเภทต่าง ๆ มากมาย อาทิ ร้ายขายของชำ ขายอาหาร ขายผลไม้ ขายไอศกรีม ขายน้ำ ขายเสื้อผ้า ขายหนังสือ เป็นต้น โดยลักษณะร้านค้าส่วนใหญ่จะเป็นการขายของเล็ก ๆ น้อย ๆ ในบ้าน แผงลอย และรถเข็นที่ตั้งขายอยู่ตามทางเดินทั่วไปในชุมชน เห็นได้ชัดเจนบริเวณถนนเลียบคลองบางลำพู โดยเฉพาะบริเวณตั้งแต่ซอยปรินายก 6 เรื่อยมาจนถึงสะพานเฉลิมวันชาติที่เป็นตลาดสด นอกจากนั้น พ่อค้าแม่ค้าบางคนได้ออกไปขายนอกพื้นที่ อาทิ บริเวณสนามมวย ตลาดบางลำพู สนามหลวง และเทเวศน์ เป็นต้น

นอกเหนือจากอาชีพที่กล่าวข้าวต้น อาชีพรับราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่พบในชุมชน แต่มีจำนวนเป็นส่วนน้อย อย่าง แพทย์ พยาบาล ครู บุรุษพยาบาล ทหาร ตำรวจ ฯลฯ

ชุมชนบ้านพานถมในสมัยนั้นอาจเป็นเพียงชุมชนเล็ก ๆ นอกกำแพงพระนคร มีสภาพเป็นชนบท พื้นที่เป็นเรือกสวน และมีผู้คนจำนวนไม่มาก โดยมี "คลองบางลำพู" ซึ่งถูกขุดขึ้นคราวสร้างพระนครในสมัยรัชกาลที่ 1 ในปี พ.ศ. 2326 คลองนี้ได้เอื้อประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ให้กับผู้คนที่อยู่อาศัยในอาณาบริเวณนี้ ไม่ว่าจะเป็นทาการคมนาคม การอุปโภคบริโภค ตลอดจนการทำเกษตรกรรม จากการสอบถามผู้สูงอายุที่เกิดและเติบโตในชุมชนได้กล่าวว่า คลองบางลำพูในสมัยก่อนนั้นน้ำในคลองใสสะอาด มีปลาชุกชมโดยเฉพาะในหน้าน้ำ ตกเย็นจะมีเด็ก ๆ มาเล่นน้ำบริเวณสะพานเฉลิมวันชาติอย่างสนุกสนาน ทว่าเมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป น้ำในคลองกลับสกปรกมากขึ้น เนื่องจากมีการระบายของเสียต่าง ๆ ของชาวบ้าน และบริเวณวัดปรินายกเดิมเคยเป็นสถานีจอดรถประจำทางสาย 17 เป็นผลให้น้ำในคลองเต็มไปด้วยคราบน้ำมัน เมื่อรถประจำทางเลิกกิจการไป ประกอบกับมีการพัฒนาชุมชนในด้านการระบายของเสียจากบ้านเรือนมากขึ้น น้ำในคลองจึงกลับมามีสถาพที่ดีขึ้น และในปัจจุบัน (เป็นเอกสารที่ศึกษาในปี พ.ศ. 2540) ทางกรุงเทพมหานครกำลังสร้างท่อบำบัดน้ำเสีย โดยโครงการนี้จะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2541

กลุ่มชุมชนบ้านพานถมได้สอบถามและทราบความจากผู้สูงอายุในชุมชนที่ยังมีชีวิตอยู่ว่า มีอยู่ 5 บ้านหลัก ๆ ซึ่งอยู่ในชุมชนนี้คือ

  1. บ้านคุณพระธนธารัตนพิมล
  2. ชลายนนาวิน
  3. บ้าน พ.อ.เจิม ดิษยบุตร
  4. บ้านนายเอื้อน
  5. บ้านคุณหญิงอาบพรโสภณ-น้ำยิ้ม

เครื่องถม พานถม

"บ้านพานถม" ใกล้กับแยกวิสุทธิกษัตริย์ ที่นี่ในอดีตได้ชื่อว่าเป็น บ้านพานถม เพราะในชุมชนสมัยต้นรัตนโกสินทร์มีการทำเครื่องถม พาน ขัน ผอบ ทำด้วยเงินหรือทองเป็นอาชีพ โดยได้รับเอารูปแบบมาจากเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งมีเครื่องถม "ถมนคร" เป็นชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ว

โดยในอดีตชุมชนแห่งนี้มีความเลื่องชื่อของช่างทำเครื่องเงินและเครื่องถม ที่มีมือประณีตลวดลายวิจิตรบรรจง โดยเฉพาะขันน้ำพานรอง แต่เมื่อการผลิตเชิงอุตสาหกรรมเริ่มเติบโตขึ้นมีการนำสแตนเลสมาใช้แทนการสลักด้วยมือทีละชิ้น ราคาถูกกว่า จึงทำให้เครื่องถมที่เคยนิยมจึงค่อย ๆ หายไปจากชุนชน จึงเหลือเพียงห้างไทยนครเท่านั้นในปัจจุบัน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภายในชุมชนบ้านพานถม มีสิ่งบริการสาธารณูปโภคครบทุกประเภท โดยสำหรับบริการขั้นพื้นฐาน ได้แก่ ไฟฟ้าและน้ำประปา ชาวบ้านในชุมชนมีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้เองแทบทุกหลังคาเรือน โดยไฟฟ้าชาวบ้านจพต่อตรงจากสายไฟของการไฟฟ้านครหลวง มีบ้างบางหลังคาเรือนที่ยังไม่มีการติดมิเตอร์ไฟฟ้าใช้เอง แต่ชาวบ้านแก้ปัญหาโดยพารต่อพ่วงจากเพื่อนข้างบ้านแล้วเสียค่าไฟฟ้าให้กับเจ้าของบ้านนั้น ๆ เอง ส่วนในน้ำประปาจากการสอบถาม (ศึกษาในปี พ.ศ. 2540) พบว่าน้ำประปาไหลแรง มีเพียงบางบ้านที่อยู่ท้าย ๆ ซอย โดยเฉพาะปรินายก 6 เท่านั้นที่น้ำไหลไม่แรง ซึ่งมักจะเกิดในช่วงเวลาเช้าและเย็น ที่มีประชาชนใช้น้ำกันจำนวนมาก  ทั้งนี้เนื่องจากบ้านต้นซอยหลายบ้านมีการติดตั้งเครื่องปั๊มน้ำ 

นอกจาก การบริการสาธารณูปโภค อย่าง น้ำประปาและไฟฟ้า ทางชุมชนยังมีการการบริการอื่น ๆ ได้แก่ (1) ระบบโทรศัพท์ส่วนตัวแทบทุกบ้าน หรือเป็นโทรศัพท์สาธารณะ (ตู้หยอดเหรียญ) (2) ทางระบายน้ำ (3) ไฟฟ้าตามทางเดินและถนน (4) การป้องกันอัคคีภัย ภายในชุมชนมีการติดตั้งเครื่องดับเพลิงเพื่อป้องกันการสูญเสียบ้านและทรัพย์สิน (5) การกำจัดขยะ (6) ตู้ยาสามัญประจำชุมชน และ (7) หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของนายแพทย์มารุต บุนนาค และนักศึกษาแพทย์และพยาบาลจากมหาวิทยาลัยมหิดล มาให้บริการตรวจสุขภาพกับชาวบ้านในชุมชน ประมาณปีละ 2 - 3 ครั้ง 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภราดร ศักดา. (2557). ชุมชน 100 ปี ในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : แสงดาว.

อรอุมา บัวสง่า. (2540). ปัจจัยที่ยังผลต่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของคนเมือง ศึกษาเฉพาะกรณีชุมชนตรอกบ้านพานถม กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาสันสกฤต คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

เสาวลักษณ์ บุญโพธิ์อภิชาติ. (2540). การพัฒนาเชิงอนุรักษ์ชุมชน แขวงวัดสามพระยา แขวงบ้านพานถม แขวงบางขุนพรหม. วิทยานิพนธ์การวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต สาขาการวางผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. (2559). ตรอกบ้านพาน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2566, จาก https://lek-prapai.org/home/view.php?id=5161

บางลำพูและห้างนิวเวิลด์. (2563). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2566, จาก https://www.shuttergolf.com/content/8209/บางลำพูและห้างนิวเวิลด์.

ชุมชนตรอกบ้านพานถม. (2558). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2566, จาก https://www.facebook.com/381248098740093/photos/a.382399155291654/382399138624989/.

หนุ่มลูกทุ่ง. (2552). จาก"บ้านบุ"ถึง "บ้านพานถม" ซอกแซกชุมชนอาชีพ นามนี้มีที่มา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2566, จาก https://mgronline.com/travel/detail/9520000052903