Advance search

พาหุรัด

ย่านการค้าเก่าแก่ในกรุงเทพมหานคร อย่าง "พาหุรัด" เป็นย่านที่มีภาพจำเป็นร้านขายผ้าที่มีสีสันโดดเด่นและหลากหลาย ทั้งไทย จีน และความเป็นภารตะของอินเดีย ผู้ค้าที่เป็นชาวไทยเชื้อสายอินเดีย ได้จับจองพื้นที่ส่วนใหญ่ในพาหุรัด เพื่อขายสิ่งของเครื่องใช้ เสื้อผ้า เครื่องประดับ หรืออาหารอินเดียที่มีกลิ่นเครื่องเทศเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาจึงมีความเป็นชุมชนอินเดียเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในไทย

ถนนตรีเพชร
วังบูรพาภิรมย์
พระนคร
กรุงเทพมหานคร
จุฬาลักษณ์ วงค์สวัสดิ์โสต
16 มิ.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
17 ก.ค. 2023
จุฬาลักษณ์ วงค์สวัสดิ์โสต
16 มิ.ย. 2023
พาหุรัด

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนพาหุรัดขึ้นโดยทรงใช้ทรัพย์ส่วนพระองค์ของ “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์” พระราชธิดาซึ่งประสูติจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสิ้นพระชนม์ขณะทรงพระเยาว์ (พระชันษาเพียง 8 พรรษา) ด้วยเหตนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนเส้นนี้ขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลพระราชทาน และพระราชทานนามถนนว่า "ถนนพาหุรัด" ตามพระนามพระราชธิดา


ย่านการค้าเก่าแก่ในกรุงเทพมหานคร อย่าง "พาหุรัด" เป็นย่านที่มีภาพจำเป็นร้านขายผ้าที่มีสีสันโดดเด่นและหลากหลาย ทั้งไทย จีน และความเป็นภารตะของอินเดีย ผู้ค้าที่เป็นชาวไทยเชื้อสายอินเดีย ได้จับจองพื้นที่ส่วนใหญ่ในพาหุรัด เพื่อขายสิ่งของเครื่องใช้ เสื้อผ้า เครื่องประดับ หรืออาหารอินเดียที่มีกลิ่นเครื่องเทศเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาจึงมีความเป็นชุมชนอินเดียเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในไทย

ถนนตรีเพชร
วังบูรพาภิรมย์
พระนคร
กรุงเทพมหานคร
10170
สำนักงานเขตพระนคร โทร. 0-2281-8124
13.7445420735832
100.499529477844
กรุงเทพมหานคร

ในสมัยกรุงธนบุรีตั้งแต่ พ.ศ. 2319 องเชียงซุง ซึ่งเป็นราชบุตรองค์ที่สี่ของเจ้าเมืองเว้ได้อพยพเข้ามาในเมืองบางกอกพร้อมข้าราชบริพารและไพร่พล เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบภายในเมืองเว้ พระเจ้าตากสินจึงโปรดให้ชาวญวนกลุ่มนี้ตั้งบ้านเรือนบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันออก บริเวณวัดเชตุพนวิมลมังคลาราม ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีพระราชประสงค์ในที่ดินของชุมชนชาวญวนเพื่อสร้างวังท่าเตียน จึงโปรดเกล้าฯ ให้ชาวญวนย้ายไปตั้งชุมชนใหม่บริเวณถนนพาหุรัด ถนนตรีเพชร และถนนบ้านหม้อ

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดไฟไหม้บริเวณชุมชน ดังนั้นชาวญวนจึงย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่อื่น ทำให้เกิดเป็นพื้นที่ว่าง จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนพาหุรัดขึ้นในปี พ.ศ. 2441 โดยพระองค์มีพระราชดำริให้สร้างตึกแถวริมถนนพาหุรัด ซึ่งมีแขกจำนวนมากจับจองตึกแถวเปิดเป็นร้านขายผ้า และสินค้านำเข้าจากประเทศอินเดีย จนกลายเป็นย่านการค้าที่สำคัญในเวลาต่อมา

โดยสภาพชุมชนในปัจจุบัน มีการอยู่อาศัยปริมาณที่ลดลงอย่างมาก เนื่องจากอาคารส่วนใหญ่ได้ปรับเปลี่ยนเพื่อการพาณิชย์มากกว่าการอยู่อาศัย สำหรับอาคารต่าง ๆ ในตลาดไม่ได้รับการปรับปรุงให้เป็นระเบียบและดูแลรักษา ทำให้สภาพชุมชนมีลักษณะเสื่อมโทรม และในส่วนชุมชนพาหุรัดริมคลองรอบกรุงมีการดัดแปลงอาคารให้เป็นห้องเช่าจำนวนมากสำหรับนักท่องเที่ยวหรือที่เรียกว่า เกสท์เฮาท์ (Guess House) ที่เป็นชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวอินเดียและเนปาลจะนิยมมาพัก จึงเกิดเป็นธุรกิจอีกรูปแบบหนึ่งในชุมชน

พื้นที่ของตลาดพาหุรัดมีบริเวณกว้างจรดถนนหลายสาย แต่ส่วนที่เป็นตัวตลาดนั้นจะอยู่ใจกลางของพื้นที่ ซึ่งส่วนนี้จะเป็นตลาดเก่า โดยรอบจะเป็นร้านค้า อาคารพาณิชย์มีของขายหลายอย่างทั้งเสื้อผ้า เครื่องแต่งตัว อาหารและของใช้ต่าง ๆ ส่วนมากจะเป็นของแขก หรือเป็นย่านลิดเติ้ลอินเดียของกรุงเทพฯ

ชุมชนพาหุรัดมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้ 

  • ทิศเหนือ จรด ถนนพาหุรัด
  • ทิศใต้ จรด การไฟฟ้านครหลวง
  • ทิศใต้ จรด การไฟฟ้านครหลวง
  • ทิศตะวันตก จรด ถนนตรีเพชร

ในสมัยรัชกาลที่ 5 "ถนนพาหุรัด" นับว่าเป็นถนนสำคัญสายหนึ่งรองลงมาจากถนนเจริญกรุง บำรุงเมือง เฟื่องนคร เพราะเป็นย่านที่ติดต่อค้าขายกันเป็นส่วนมาก ในสมัยกรุงธนบุรีได้มีพวก "ญวน" มาตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ ซึ่งญวนพวกนี้ได้อพยพมาครั้งเมื่อเกิดการจลาจลวุ่นวายในเมืองเว้ พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดฯ ให้รับไว้แล้วพระราชทานที่ให้พักอาศัย คือที่แถวพาหุรัดอย่างในปัจจุบัน อดีตเรียกว่า บ้านญวน หรือถนนบ้านญวน จนกระทั่งสร้างถนนพาหุรัดจึงเปลี่ยนชื่อมาเรียกว่า "พาหุรัด" ตามชื่อถนน

"แขกอินเดีย" ในชุมชนรุ่นแรกอพยพในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยส่วนใหญ่มาจากรัฐปัญจาบ ต่อมาในปี พ.ศ. 2488 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทิ้งระเบิดบริเวณโรงไฟฟ้าใกล้วัดราชบูรณะวรวิหาร เป็นผลให้บ้านเรือนในชุมชนพาหุรัด ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงได้รับแรงระเบิดจนเสียหาย ทำให้คนจำนวนมากต้องอพยพย้ายไปอยู่พื้นที่อื่น ทางรัฐบาลจึงสร้างตลาดให้เอกชนเช่าเพื่อค้าขายและอยู่อาศัย เป็นการเปิดโอกาสให้ "ชาวจีน" จำนวนหนึ่งขยับมาจากชุมชนสำเพ็ง และชุมชนสะพานหันได้เข้ามาจับของพื้นที่ในตลาดเช่นกัน 

เป็นที่สังเกตว่าในปัจจุบันคนแขกจะอาศัยอยู่ในตรอกเอทีเอ็ม และตึกแถวริมถนนจักรเพชรเป็นจำนวนมาก ส่วนชาวจีนที่เข้ามาภายหลังจะอาศัยอยู่ในตลาดพาหุรัดและตึกแถวริมถนนตรีเพชร

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ตลาดพาหุรัด

ตลาดพาหุรัดแบ่งออกเป็น 2 ตลาด คือ (1) ตลาดเก่า (วัดเลียบ) สร้างขึ้นหลังจากพื้นที่ชุมชนถูกระเบิดของฝ่ายพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2488 และ (2) ตลาดใหม่ สร้างขึ้นเมื่อประมาณ 30 ปีก่อนพื้นที่ของเอกชน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวได้มาจากสัมภาษณ์คุณสิทธิพงษ์ หิรัญสัจจาเลิศ ในปี พ.ศ. 2549 เป็นบทสัมภาษณ์ในวิทยานิพนธ์เรื่อง "การศึกษาพัฒนาการของชุมชนการค้าของชาวต่างชาติในกรุงเทพมหานคร : กรณีศึกษาชุมชนสำเพ็งและชุมชนพาหุรัด"

คุรุดวาราศรีคุรุสิงห์สภา (วัดซิกข์) 

ถือได้ว่าเป็นวัดซิกข์แห่งแรกของไทย ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2476 ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน คำว่า “คุรุดวารา” หมายถึงประตูที่ทอดไปสู่พระศาสดา ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่ศาสนสถานแห่งนี้จะมีบทบาทอย่างสูงต่อชุมชน ทั้งทางกิจกรรมสังคมและเศรษฐกิจ 

ทว่าแต่เดิมชาวสิกข์ตั้งชุมชนอยู่แถบ "บ้านหม้อ" ก่อนย้ายมายังบริเวณตลาดพาหุรัด ได้ร่วมกันสร้างวัดเป็นศาสนสถานสำหรับผู้นับถือศาสนาสิกข์ โดยวัดมีต้นแบบมาจาก สุวรรณวิหาร ในเมืองอมฤตสระ รัฐปัญจาบ ประเทศอินเดีย

ดิโอลด์สยามช้อปปิ้งพลาซ่า 

อาคารสถาปัตยกรรมสีเหลืองอ่อนที่ผสมผสานความเป็นตะวันตก ภายนอกของ "ดิโอลด์สยาม" นับเป็นสิ่งที่ดึงดูดสายตาจากความสวยงามของสถาปัตยกรรม นอกจากความงามแล้วยังเป็นศูนย์รวมผ้าไหมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่นี่ยังมีสินค้าแบบไทย ๆ ประเภทอื่น ๆ เช่น เสื้อผ้า เครื่องทอง กระเป๋า รองเท้า เครื่องดนตรีไทย ฯลฯ วางจำหน่าย นอกจากนั้นยังมีลานเฟื่องนคร ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องร้านขนมไทยโบราณและอาหารไทย

ทว่าในอดีตพื้นที่แห่งนี้ เคยเป็นพื้นที่ของ "ตลาดมิ่งเมือง" แหล่งชุมชนช่างตัดเสื้อผ้า โดยสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมกับศาลาเฉลิมกรุง แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นบริเวณศูนย์การค้าดิโอลด์สยาม ในปี พ.ศ. 2502 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ออกนโยบายรื้อตลาดมิ่งเมือง แต่ไม่ได้มีผลอย่างแน่ชัด ทำให้ยังมีการเปิดตลาดอยู่จนถึงปี พ.ศ. 2521 จึงรื้อตลาดอย่างจริงจัง ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 ได้ทำการสร้างศูนย์การค้าดังที่ปรากฎในปัจจุบันขึ้นมาในพื้นที่ย่านตลาดพาหุรัด

ห้างไนติงเกล 

ห้างแห่งนี้ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของไทย ที่เปิดดำเนินกิจการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2473 ในยุคนั้นถือว่าได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากเป็นห้างที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา เยอรมนี ดังสโลแกนของห้างที่ว่า "คลังแห่งเครื่องกีฬา ราชาแห่งเครื่องดนตรี ราชินีแห่งเครื่องสำอาง" นอกจากนี้ ห้างไนติงเกลมีลักษณะภายนอกตึกที่แปลกตาจากการออกแบบ ส่วนภายในห้างยังคงกลิ่นอายความวินเทจด้วยสินค้าเก่า หายาก 

ตรอกเอทีเอ็ม หรือ ลิตเติ้ลอินเดีย 

"ลิตเติ้ลอินเดีย" อยู่ใกล้ห้างสรรพสินค้าเอทีเอ็มที่ตั้งอยู่ปากตรอก ซึ่งก่อนปี พ.ศ. 2534 ห้างยังไม่เปิดทำการบริเวณนี้เรียกว่าประตูเหล็ก มีชาวไทยเชื้อสายอินเดียจำนวนมากอาศัยในตรอกนี้ และเปิดกิจการขายสินค้านำเข้าจากประเทศอินเดีย ในปัจจุบันคือ "ศูนย์การค้าเอทีเอ็ม" ได้ถูกปิดและรื้อถอนไปแล้ว

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ตลาดพาหุรัด ย่านค้าผ้าที่เก่าแก่แห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร และแหล่งชุมชนอินเดีย หรือแขกซิกข์ ที่ได้อาศัยอยู่ในละแวกนี้มาช้านานแล้วนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จึงทำให้บริเวณดังกล่าวได้กลายเป็นเมืองย่อม ๆ จนได้ชื่อว่าเป็น "ลิตเติ้ลอินเดีย"

อย่างไรก็ตาม ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ตลาดพาหุรัดต้องประสบกับความขัดแย้งระหว่างเจ้าของแผงตลาดพาหุรัดและวัดราชบุรณราชวรวิหาร (วัดเลียบ) ที่เรื้อรังมานานเกือบทศวรรษ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ครั้งใหญ่ บริเวณด้านหลังของตลาดพาหุรัด เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 ส่งผลทำให้แผงร้านค้าได้รับความเสียหาย ประมาณ 120 - 150 แผง จากจำนวนแผงทั้งสิ้นประมาณ 600 แผง นับเป็นร้อยละ 30 ของทั้งหมด ผนวกกับความเก่าแก่ของตลาดพาหุรัดและเป็นชุมชนแออัด จึงทำให้หลังจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ ทางวัดราชบุรณราชวรวิหารได้พยายามเข้าไปเจรจาและขอปรับปรุงพื้นที่ที่ถูกเพลิงไหม้ แต่ปรากฎว่าเจ้าของแผงไม่ให้ความร่วมมือและไม่ยินยอมให้มีการปรับปรุงแต่อย่างใด ดังนั้นจึงส่งผลให้ตลาดพาหุรัดในปัจจุบัน อาคารสิ่งก่อสร้างมีสภาพทรุดโทรมและเป็นอันตราย สิ่งแวดล้อมไม่ถูกสุขลักษณะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรุงเทพมหานครได้มีหนังสือเร่งรัดให้มีการปรับปรุงตลาดให้มีความถูกสุขลักษณะและสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่เจ้าของร้านค้าแผงต่าง ๆ ไม่ให้ความร่วมมือและได้ต่อต้านการพัฒนาดังกล่าว เป็นเหตุให้ทางวัดราชบุรณราชวรวิหารไม่สามารถเข้าไปพัฒนาปรับปรุง ตลาดพาหุรัด  ได้

ทว่า ในปี พ.ศ. 2550 ทางวัดราชบุรณราชวรวิหารได้มีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุง จึงได้จัดตั้ง "โครงการพัฒนาตลาดพาหุรัด" เพื่อปรับปรุงพื้นที่เดิมให้มีความสะอาด ถูกสุขลักษณะ และปลอดภัย ทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณวัดให้มีความเหมาะสมเป็นระเบียบและให้มีการใช้พื้นที่อย่างเป็นสัดส่วน ตลอดจนสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการ ร้านค้า หรือผู้เช่ารายเดิมที่ยากจนได้มีโอกาสทำมาหากิน หากขาดแหล่งเงินทุน ทางวัดจะติดต่อธนาคารเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป ซึ่งการดำเนินการนั้นมีลักษณะเป็นไปอย่างเป็นขั้นตอน อาทิ การประชาสัมพันธ์ถึงโครงการฯ ในรูปแบบต่าง ๆ การประชุมกลุ่มย่อยและกลุ่มใหญ่ การใช้สื่อหรือการติดประกาศให้ทราบทั่วกัน การไกล่เกลี่ยเจรจาต่อรองและใช้เวลาพอสมควร เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเกิดความรู้ ความเข้าใจ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ในการดำเนินการโครงการพัฒนาฯ ภายใต้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวมีผลทำให้คนในชุมชนและผู้เช่าแผงให้การยินยอมเข้าร่วมโครงการพัฒนาฯ ถึงร้อยละ 80 ส่วนอีกร้อยละ 20 นั้นยังคงต่อต้าน ด้วยวิธีการแจกใบปลิวโจมตีทางวัดราชบุรณราชวรวิหาร และเจ้าอาวาสอย่างรุนแรง รวมทั้งการลงสื่อมวลชนและมีการทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวนมาก

แต่ในท้ายที่สุด โครงการพัฒนาตลาดพาหุรัดได้ดำเนินการจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในตลาดได้ โดยการชี้แจงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและลงสื่อสารมวลชนเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น


ถนนพาหุรัด

เหตุที่สร้าง "ถนนพาหุรัด" เนื่องมาจากเกิดเพลิงไหม้บ้านญวน ตำบลบ้านหม้อ และทำให้พื้นที่ที่ไหม้มีพื้นที่ติดต่อกันมีที่ว่างมาก จึงได้ตัดถนนขึ้นที่ตรงนั้น และนับว่าเป็นถนนที่กว้างแห่งหนึ่งทีเดียว คือกว้างถึง 20 เมตร ยาวตั้งแต่ถนนบ้านหม้อถึงถนนจักรเพชรเป็นระยะทาง 525 เมตร และที่ใช้ชื่อว่า "ถนนพาหุรัด"

เป็นการตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จเจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัยประไพพรรณพิจิตรนริศราชกุมารี ซึ่งเป็นพระองค์ที่ 1 ในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระบรมราชินีนารถ ในรัชกาลที่ 5 ตรงปลายที่ถนนพาหุรัดมาบรรจบกับถนนจักรเพชร

ปัจจุบันนี้มีตรอกหนึ่งซึ่งจะเข้าไปสู่ สะพานหัน ตรอกนี้ตั้งชื่อใหม่ว่า วานิช 1 บริเวณนี้เรียกว่า ตลาดสะพานหัน พื้นที่ของตลาดพาหุรัดมีบริเวณกว้างจรดถนนหลายสาย แต่ส่วนที่เป็นตัวตลาดจริงอยู่ใจกลางของพื้นที่ ซึ่งส่วนนี้จะเป็นตลาดเก่า โดยรอบเป็นร้านค้า อาคารพาณิชย์มีของขายหลายอย่าง ทั้งเสื้อผ้า เครื่องแต่งตัว อาหาร และของใช้ต่าง ๆ ส่วนมากเป็นของแขก หรือเป็นย่านลิดเติ้ลอินเดียของกรุงเทพมหานคร

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

TourismThailand. (2564). สัมผัสกลิ่นอายภารตะที่พาหุรัด ชุมชนชาวอินเดียที่ใหญ่ที่สุดในไทย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2566, จากhttps://thai.tourismthailand.org/Articles/สัมผัสกลิ่นอายภารตะที่พาหุรัด-ชุมชนชาวอินเดียที่ใหญ่ที่สุดในไทย.

ทรายทอง ทองเกษม. (2548). การศึกษาพัฒนาการของชุมชนการค้าของชาวต่างชาติในกรุงเทพมหานคร : กรณีศึกษาชุมชนสำเพ็งและชุมชนพาหุรัด. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

จากรากสู่เรา ซีซัน 2 พาหุรัด แหล่งค้าผ้า ประวัติศาสตร์ไร้พรมแดน. [วีดิทัศน์]. (2565, 31 มกราคม). กรุงเทพฯ: Thai PBS.

กิตติศักดิ์ ปลาทอง. (2555). การจัดการความขัดแย้งของชุมชนตลาดพาหุรัด กรุงเทพมหานคร. วารสารคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 29(3), 1-25.

ศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์. (ม.ป.ป.). ย่านพาหุรัด. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2566, จาก http://www.resource.lib.su.ac.th/rattanakosin/

หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ. (2565). ลิตเติ้ลอินเดีย : พาหุรัดที่ไม่ได้มีแค่ผ้า สนทนาชาวไทยเชื้อสายอินเดียเจนฯ 3. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2566, จาก https://www.bbc.com/thai/

ตลาดพาหุรัด. (ม.ป.ป.). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2566, จาก https://rattanakosinislandguide.wordpress.com/ตลาดพาหุรัด/.

ไอยวริญท์ วีระรักษ์. (2564). ความเป็นศูนย์กลางที่มีชีวิตของพื้นที่ย่าน ตลาดการค้า ในแขวงวังบูรพาภิรมย์ กรุงเทพฯ. วารสารวิชาการสถาปัตยกรรมศาสตร์, 73, 43-58.

กำธร กุลชล. (2564). การสํารวจมรดกทางวัฒนธรรมในกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก. วารสารหน้าจั่ว, 20, 11-39.

nukkpidet. (2564). ย่านพาหุรัด กับ เสน่ห์ของ Little India ที่เที่ยวกรุงเทพ ตลาดผ้าอันดับหนึ่งของไทย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2566, จาก https://travel.trueid.net/

คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. (2563). ชุมชนอินเดียในเมืองไทย ศาสนาซิกข์กับวิถีชีวิตย่านการค้า. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2566, จาก https://online.anyflip.com/

สุรักษ์ ขุนทอง และสินีนาถ ศุกลรัตนเมธี. (2563). ความสัมพันธ์ของการใช้พื้นที่เปิดโล่ง ริมคลองโอ่งอ่างกับชุมชนบริเวณโดยรอบ. วารสารวิชาการสถาปัตยกรรมศาสตร์, 70, 17-36.