ถนนดินสอ หรือบ้านดินสอ มาจากอาชีพดั้งเดิมของชุมชนบ้านดินสอที่ถนนตัดผ่าน คือ อาชีพทำและจำหน่ายดินสอเหลือง ดินสอขาว สำหรับเขียน และจำหน่ายสมุดไทยต่าง ๆ
บ้านดินสอ หรือ ถนนบ้านดินสอ บริเวณใกล้เคียงโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า สันนิษฐานว่าที่มาของชื่อบ้านดินสอมีอยู่สองประการ คือ (1) เป็นชุมชนที่ผลิตดินสอพอง ซึ่งใช้ทาแก้พิษ ผดผื่นคัน ใช้ทำความสะอาดเครื่องเงิน และ (2) เป็นชุมชนทำดินสอที่ใช้เขียนกระดานตามคำสันนิษฐานของพระยาอนุมานราชธน
ถนนดินสอ หรือบ้านดินสอ มาจากอาชีพดั้งเดิมของชุมชนบ้านดินสอที่ถนนตัดผ่าน คือ อาชีพทำและจำหน่ายดินสอเหลือง ดินสอขาว สำหรับเขียน และจำหน่ายสมุดไทยต่าง ๆ
จากการศึกษาผ่านเรื่องราวของ ถนนดินสอ พบว่ามีประวัติความเป็นมาตามที่พบในเอกสารเก่าเรียกว่า "ถนนตรอกดินสอ" ส่วนในแผนที่เก่าจะใช้คำว่า “ถนนบ้านดินสอ” แต่ต่อมาอาจเกิดการใช้คำตกหล่น จนทำให้คำว่า “บ้าน” หายไป เพราะในย่านนี้มีสถานที่ที่ใช้คำว่าบ้านหลายแห่ง อาทิ บ้านบาตร บ้านพานถม เป็นต้น
การสร้างถนนในกรุงเทพฯ เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 แต่ยังมีเพียงไม่กี่สาย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงโปรดให้สร้างถนนแบบทันสมัย โดยใช้หินขนาดต่างๆ โรยบดเป็นชั้น ๆ ซึ่งในเอกสารบางเล่มได้สันนิษฐานไว้ว่าถนนดินสอน่าจะสร้างในช่วงเดียวกับถนนราชดำเนินในสมัยรัชกาลที่ 5 ในส่วนที่มาของชื่อ “ ถนนดินสอ” นี้ ในหนังสือ “ ฟื้นความหลัง” ของเสฐียรโกเศศ (พระยาอนุมานราชธน) ได้เล่าถึงดินสอที่ใช้กันในเมืองไทยที่มีมาแต่เดิมนั้น ทำจากดินดานผสมดินสอพองและขมิ้นผง นวดให้เข้าด้วยกัน ตัดเป็นแท่ง ๆ ตามขนาดที่ต้องการ แล้วตากแดดให้แห้ง ดินสอชนิดนี้ นอกจากจะนำมาเขียนหนังสือแล้ว ยังเป็นที่นิยมของสตรีมีครรภ์บางรายที่แพ้ท้อง ซึ่งถ้าหากบ้านดินสอจะเป็นหมู่บ้านที่ทำดินสอในอดีต คงจะเป็นไปได้เพราะย่านที่ทำดินสออย่างนี้พบหลักฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว
นอกจากนั้น ข้อสันนิษฐานที่ว่าบ้านดินสอเป็นแหล่งผลิตดินสอไทยนี้ ยังได้รับการยืนยันจากหนังสือเล่มเดียวกันนี้ว่า "…ส่วนดินสอนั้น อาจซื้อได้จากร้านที่เขามีกองไว้ขาย แต่เท่าที่นึกได้ ดูจะมีร้านขายดินสอชนิดนี้น้อยแห่งเต็มที ถ้าต้องการจะซื้อได้เสมอ ก็ต้องไปที่ตำบลเสาชิงช้าในเมือง…ตอนด้านตะวันตก ตรงข้ามกับเทวาลัย ซึ่งเรียกว่าโบสถ์พราหมณ์ มีร้านขายดินสอที่กล่าวนี้อยู่หลายร้าน ข้าพเจ้าเข้าใจว่าถนนดินสอ คงตั้งตามชื่อ จากร้านขายดินสอแถวนั้นเป็นแน่…" จากจุดนี้ อาจเป็นไปได้ว่าถนนดินสอในที่นี้เป็นการเรียกอาชีพที่ผู้คนนิยมทำกันในย่านนี้คือ ทำดินสอ
อย่างไรก็ตาม "บ้านดินสอ" หรือ "ถนนดินสอ" นี้ อาจเป็นไปได้เช่นกันว่าจะเป็นแหล่งผลิตดินสอพอง เพราะแม้ว่าที่นี่จะไม่เหลือร่องรอยการทำดินสอพองให้เห็น แต่ผู้ที่อยู่ในย่านนี้มายาวนานยังยืนยันว่า บ้านดินสอซึ่งอยู่ใกล้โบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้านั้น เป็นแหล่งผลิตดินสอพองเก่าแก่ ซึ่งในวิทยานิพนธ์ของวิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์ เรื่อง “การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในกรุงเทพฯ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น” ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า "…รอบ ๆ วัดสระเกศเป็นแหล่งผลิตสินค้าเครื่องใช้สำหรับเมืองที่สำคัญแห่งหนึ่งในพระนคร ชุมชนที่อยู่ในบริเวณนี้น่าจะเป็นที่รวมของไพร่ที่มีอาชีพและความสามารถในการผลิตที่เรียกชื่อบ้านตามลักษณะอาชีพ เช่น บ้านพานถมผลิตเครื่องถม ขันน้ำพานรอง… บ้านดอกไม้ผลิตดอกไม้เพลิงอยู่หน้าวัดสระเกศ ถัดออกไปทางวัดสุทัศน์มีย่านตีทองทำทองคำเปลว และบ้านดินสอทำดินสอพอง อยู่ใกล้โบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้าข้างวัดสุทัศน์…"
ถนนดินสอ เป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2441 เริ่มก่อสร้างถนนในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 การตัดถนนดินสอนี้ เนื่องจากตั้งแต่ถนนเฟื่องนครตอนต่อกับถนนรอบพระนครตรงมา ต้องอ้อมไปตามถนนบำรุงเมืองจนจดถนนรอบพระนคร จึงสมควรมีถนนเพื่อให้ประชาชนสัญจรไปมา รวมทั้งรถม้าด้วย กรมสุขาภิบาลจึงได้สำรวจทำแผนที่ตั้งแต่ตรอกดินสอผ่านสวนตึกดินไปออกวัดรังสีสุทธาวาสบรรจบถนนรอบพระนคร นอกจากนี้ ยังได้สร้างตึกแถวริมถนนดินสอตั้งแต่มุมถนนดินสอตอนจดถนนบำรุงเมือยาวไปตามถนนดินสอด้วย
ชื่อของถนนดินสอมาจากอาชีพดั้งเดิมของชุมชนบ้านดินสอที่ถนนตัดผ่าน คือ อาชีพทำและจำหน่ายดินสอเหลือง ดินสอขาว สำหรับเขียน และจำหน่ายสมุดไทยต่าง ๆ
ปัจจุบันถนนดินสอเป็นถนน 4 ช่องทางเดินรถ เริ่มต้นจากถนนบำรุงเมือง ใกล้ลานเสาชิงช้า ตรงไปตัดข้ามถนนราชดำเนินกลางที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตรงไปจดถนนพระสุเมรุตรงข้ามเชิงสะพานเฉลิมวันชาติ ระยะทาง 850 เมตร
แม้ว่าจะยังไม่สามารถหาข้อสรุปของอาชีพที่คนย่านถนนดินสอทำในอดีตได้ แต่ในปัจจุบันเห็นได้ชัดว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในย่านนี้ประกอบอาชีพ "ค้าขาย" เป็นหลัก จากการตั้งร้านรวงต่าง ๆ ทั้งถนนเส้นหลักและตามตรอก ซอก ซอย โดยเฉพาะการขายอาหารนับเป็นอาชีพที่พบมากที่สุดในย่านนี้ ทั้งอาหารคาว รวมไปถึงอาหารหวาน และที่สร้างชื่อเสียงให้กับถนนย่านนี้ คือ ร้านขายนมและขนมปังที่มีชื่อร้านว่า "มนต์นมสด" นอกจากนั้น ยังมีคนในย่านถนนดินสอบางส่วนที่เปิดสำนักงานหรือบริษัท อาทิ สำนักงานทนายความ และโรงเรียนสอนพิเศษด้านภาษาอังกฤษ เป็นต้น
คนส่วนใหญ่ที่ประกอบอาชีพบนถนนเส้นนี้ นอกจากจะเป็นคนในย่านนี้แล้ว ยังมีคนที่มาจากที่อื่น ๆ และต่างจังหวัด อย่างไรก็ตาม ลักษณะการตั้งร้านอาหารแบบถาวรจะพบว่าเป็นคนถิ่นนี้เท่านั้น ส่วนคนภายนอกมักจะเป็นลักษณะของการขายบนรถเข็นหรือหาบของขายมากกว่า
ถนนดินสอ เป็นถนนเริ่มต้นจากถนนบำรุงเมืองตอนใกล้ลานเสาชิงช้า ตัดข้ามถนนราชดำเนินกลางตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มาจนจดถนนพระสุเมรุ ชื่อถนนมาจากอาชีพของคนย่านนั้นในอดีต คือทำดินสอขาย
ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ มีย่านที่ขายดินสอชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะอยู่บริเวณใกล้ และตรงข้ามเสาชิงช้า หน้าโบสถ์พราหมณ์ เรียกกันว่า "บ้านดินสอ" หรือย่านบ้านดินสอ ต่อมาเมื่อย่านนี้มีทางเดินเล็ก ๆ เรียก "ตรอกสินสอ" และเป็นตำบลตรอกดินสอในเวลาต่อมา จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้พัฒนาบ้านเมืองด้วยการตัดถนนให้เป็นระเบียบ ครั้งนั้นโปรดให้ขยายตรอกดินสอให้กว้างขวางขึ้นและได้ขยายต่อมาจนถึงถนนพระสุเมรุ เรียกชื่อถนนตามเรื่องราวประวัติความเป็นมาของสถานที่นี้ในอดีตว่า ถนนดินสอ
ทว่า ในปัจจุบันถนนดินสอกลับเป็นสถานที่ที่มีสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ เทวสถาน (โบสถ์พราหมณ์) ซึ่งเป็นศาสนาสถานของผู้นับถือศาสนาพราพมณ์- ฮินดู, ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ที่นอกจากตัวตึกแล้ว ยังมีสิ่งที่น่าประทับใจคือ การจัดลานหน้าศาลากลางกรุงเทพมหานครเป็นเหมือนสวนพักผ่อน โดยมีที่จอดรถอยู่ลานด้านล่าง และบ้านขนมปังขิง เป็นสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นในแถบนี้ ด้วยลักษณะการสร้างบ้านที่เป็นแบบขนมปังขิง ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งยังคงมีสภาพสมบูรณ์อยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ในบริเวณซอยหลังโบสถ์พราหมณ์
ถนนดินสอ ในปัจจุบันเป็นแหล่งรวมร้านอาหารที่ขึ้นชื่อหลายร้านเช่นเดียวกับถนนที่อยู่ใกล้เคียง อาทิ ถนนตะนาว, ถนนมหรรณพ, ถนนแพร่งภูธร, ถนนแพร่งนรา มีอาหารหลากหลายชนิด ได้แก่ อาหารตามสั่ง, อาหารไทย, ข้าวแกง, โจ๊ก, นมสดและขนมปังปิ้ง, ข้าวมันไก่, เป็ดย่าง, เย็นตาโฟ, ขนมหวาน, ถั่วคั่ว, โบ๊กเกี้ย และขนมไทย เป็นต้น
ศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์. (ม.ป.ป.). ชุมชนถนนดินสอ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 23 พฤษภาคม 2566, จาก http://www.resource.lib.su.ac.th/rattanakosin/index.php/2014-10-27-08-52-32/2015-10-20-06-43-57.
วิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์. (2532). การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมใน "กรุงเทพ" สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พ.ศ. 2325-2411. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
กนกวรรณ ทองตะโก. (2556). ถนนดินสอ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2566, จาก http://legacy.orst.go.th/?knowledges=ถนนดินสอ-๔-กุมภาพันธ์-๒๕.
MGR Online. (2552). บ้านดินสอ ย้อนอดีตสู่แผ่นดินสยาม พลิกบ้านเก่า 85 ปี สู่สวรรค์บนดิน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2566, จาก https://mgronline.com/smes/detail/9520000012606.
HoneyBee. (2554). 'บ้านดินสอ' อาคารอนุรักษ์ย้อนยุคสวยคลาสสิก หวานแบบไทยภายในชุมชนเก่าแก่ตรอกตึกดิน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2566, จาก http://www.portfolios.net/profiles/blogs/2988839:BlogPost:2077493.
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. (2565). ถนนดินสอ ตัดข้ามถนนราชดำเนินกลางตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีประวัติย่านในอดีต. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2566, จาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_10701.
ภาวิดา สมวงศ์. (2560). ภาพเก่า-เล่าอดีต : ณ ถนนดินสอ. ศิลปากร, 60(4), 83-95.
ปราณี กล่ำส้ม. (2544). เมื่อวันวานที่ย่านถนนดินสอ. เมืองโบราณ, 27(1), 112-131.
ยุวรี โชคสวนทรัพย์. (2565). 100 เอกสารสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย : จากบ้านช่างฝีมือสู่ชุมชนการค้า. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2566, จาก http://sitawan112.blogspot.com/2013/09/100.html.
Man. (ม.ป.ป.). ทำไมถึงชื่อ ถนนดินสอ ถนนเส้นหนึ่งในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2566, จาก https://board.postjung.com/1441587