Advance search

ชุมชนวัดสามพระยา เป็นอีกที่ที่มีของดีขึ้นชื่อ อย่าง ศิลปะที่ทำจาก "ใบลาน" แม้ในปัจจุบันศิลปะที่ว่าจะเลือนหาย แต่ยังมีของดีที่ต้องบอกต่อคือ "ข้าวต้มน้ำวุ้น" ของหวานขึ้นชื่อ และมีวัดสามพระยาวรวิหารที่เป็นศาสนสถานที่เก่าแก่เคียงคู่ชุมชนมาช้านาน

ซอยสามเสน 5 ถนนสามเสน
วัดสามพระยา
พระนคร
กรุงเทพมหานคร
จุฬาลักษณ์ วงค์สวัสดิ์โสต
16 มิ.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
10 ก.ค. 2023
จุฬาลักษณ์ วงค์สวัสดิ์โสต
16 มิ.ย. 2023
วัดสามพระยา

มีพระยาอยู่ 3 คนในชุมชนแห่งนี้ คือพระยาราชสสุภาวดี (ขุนทอง) พระยาราชนิกุล (ทองคำ) และพระยาเทพวรชุน (ทองหล่อ) ได้ร่วมกับบุตรน้องสาวขุนพรหมบริจาคทรัพย์สินบูรณะวัดให้เสร็จสมบูรณ์ขึ้นมาใหม่ แล้วน้อมเกล้าถวายแด่พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2366 พระองค์จึงพระราชทานนามว่า วัดสามพระยา ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา


ชุมชนวัดสามพระยา เป็นอีกที่ที่มีของดีขึ้นชื่อ อย่าง ศิลปะที่ทำจาก "ใบลาน" แม้ในปัจจุบันศิลปะที่ว่าจะเลือนหาย แต่ยังมีของดีที่ต้องบอกต่อคือ "ข้าวต้มน้ำวุ้น" ของหวานขึ้นชื่อ และมีวัดสามพระยาวรวิหารที่เป็นศาสนสถานที่เก่าแก่เคียงคู่ชุมชนมาช้านาน

ซอยสามเสน 5 ถนนสามเสน
วัดสามพระยา
พระนคร
กรุงเทพมหานคร
10200
13.766639020513
100.499424377052
กรุงเทพมหานคร

จากการศึกษาพบว่า ในหนังสือ "ประวัติศาสตร์ฉบับประชาชน ชุมชนวัดสามพระยา" จัดทำโดยเยาวชนชอาสาสมัครเกษตรบางลำพู ชุมชนวัดสามพระยา ประชาคมบางลำพู ซึ่งกุลวดี เจริญศรี เป็นผู้ประสานงานวิจัย ได้กล่าวไว้ในตอนหนึ่งว่า ในสมัยกรุงธนบุรี เกิดชุมชนขุนนางขึ้นบริเวณชานเมืองทั้งฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ภายหลังการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ราชธานีได้ย้ายจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา มาสู่ฝั่งตะวันออกทำให้ชุมชนทางฝั่งตะวันออกขอองแม่น้ำเจ้าพระยา มีผู้คนอาศัยอยู่จำนวนมาก แต่พื้นที่ส่วนใหญ่กลับยังคงเป็นที่สวน ทุ่งนา และที่รกร้าง

ขุนนางเชื้อสายรามัญที่มีบ้านเรือนอยู่ทางทิศเหนือของกำแพงพระนคร ได้สร้างวัดบางขุนพรหมในสมัยรัชกาลที่ 1 บริเวณตอนเหนือของคลองรอบกรุง ต่อมาวัดชำรุดทรุดโทรม ขุนนางผู้เป็นหลานขุนนางผู้สร้างวัด ซึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา 3 ท่าน ได้ร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดบางขุนพรหมใหม่จนเสร็จสมบูรณ์ และในเวลาต่อมาได้น้อมเกล้าถวายรัชกาลที่ 3 ซึ่งพระองค์ได้โปรดฯ รับไว้เป็นอารามหลวงและพระราชทานนามวัดขึ้นใหม่ว่า "วัดสามพระยาวรวิหาร"

 

จากการศึกษาพื้นที่ของชุมชนวัดสามพระยา ตั้งอยู่ถนนพายัพ แขวงวัดสามพระยา มีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่เศษ เป็นชุมชนที่มีลักษณะเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น สภาพมั่นคงแข็งแรง ทางเดินเท้าคอนกรีตอยู่ในสภาพที่ดี 

ชุมชนวัดสามพระยามีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนพายัพ
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนสามเสน
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ วัดสามพระยา
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ แม่น้ำเจ้าพระยา

ทว่า เมื่อการศึกษาผ่านเอกสารพบว่า ชุมชนวัดสามพระยานั้นได้เกิดขึ้นพร้อมกับการสร้างวัดสามพระยา ภายหลังที่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ไม่ต่ำกว่า 200 ปี เป็นผลให้ ผู้คน วิถีชีวิต บ้านเรือน ตลอดจนอาชีพ มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เริ่มต้นจากที่ตั้งชุมชนนั้น แต่เดิมเนื้อที่มีความกว้างมากพอสมควร แต่เมื่อกาลเวลาแปรเปลี่ยนได้มีการแบ่งออกมาชัด อยู่ระหว่างซอยสามเสน 3 กับซอยสามเสน 5 ซึ่งบ้านเรือนที่ปลูกกันสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นการปลูกเรือนแบบ 2 ชั้น หรือในรูปแบบสถาปัตยกรรมยุคก่อนเป็นเรือนปั้นหยา อย่างชุมชนอื่น ๆ อาทิ ชุมชนบ้านพานถม ชุมชนหลังป้อมมหากาฬ เป็นต้น ความใหญ่หรือความเล็ก ขึ้นอยู่กับฐานะความเป็นอยู่ของเจ้าของบ้าน อย่าง เรือนบรรพบุรุษของ "จอมพลประภาส จารุเสถียร" ทว่าบริเวณนี้มีเจ้าใหญ่นายโตเข้ามาพำนักอยู่มาก อาาทิ 3 ขุนอันเป็นที่มาของชื่อ วัดสามพระยา ทั้งนี้อาจเนื่องจากว่าในอดีตมีวังเจ้านายอยู่มาก อย่างเช่นทางข้ามไปทางถนนพระอาทิตย์นั้นเป็นที่เกิดของต้นราชสกุล เนาวรัตน์, สายสนั่น และจรูญโรจน์ ได้สืบมาจากสายสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนั้น วัดสามพระยาเกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับชุมชนสามพระยา ดังนั้น ชุมชนกับวัดจึงมีความสัมพันธ์กันแนบแน่น

ชุมชนวัดสามพระยา มีหลากหลายชาติพันธุ์เข้ามาอาศัยอยู่ จนมีเพลงไทยเดิมเกิดขึ้นเพลงหนึ่งที่เป็นที่คุ้นเคยกันมากในบรรดาเพลงไทยเดิม ได้แก่ เพลงแขกมอญบางขุนพรหม ซึ่งเป็นการแสดงถึงชาติพันธุ์ที่เข้ามาอาศัยอยู่ที่นี่ มีทั้งแขกและมอญ ถือได้ว่าชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนใหญ่และเก่าแก่มากที่สุดชุมชนหนึ่ง

มอญ

แม่นม

"แม่นม" คือหญิงที่ให้นมเด็กอื่นกินนมของตนแทนแม่ ซึ่งน้ำนมถือเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ความบริสุทธิ์ และความดี

โดยคุณยายอำนวย ชาวชุมชนวัดสามพระยา ผู้ซึ่งมีอาชีพเป็นแม่นมได้ถ่ายทอดความรู้และเรื่องราวของอาชีพแม่นมว่า รับจ้างเป็นแม่นมให้นมเด็กที่ชุมชนวัดสามพระยา รายได้ต่อเดือนประมาณ 300 บาท ซึ่งในสมัยก่อนถือว่าเป็นจำนวนเงินที่เยอะพอสมควร โดยแม่นม 1 คน จะให้นมต่อเด็ก 1 คนเท่านั้น ระยะเวลาในการให้เด็กจนกว่าจะหย่านม คือประมาณ 9 เดือน ซึ่งการให้นมจะแบ่งเป็นช่วงเวลา 6 ช่วงเวลา คือเก้าโมงเช้า เที่ยง สามโมงเย็น หกโมงเย็น สี่ทุ่ม และตีสอง โดยกิจการบ้านแม่นมที่ชุมชนวัดสามพระยาปัจจุบันไม่มีแล้ว ตามความเจริญขึ้นของสังคม 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จอมพลประภาส จารุเสถียร

จากการศึกษาพบว่า จอมพลประภาส จารุเสถียร นั้นมีความเชื่อมโยงกับพื้นที่ย่านชุมชนวัดสามพระยา เนื่องจากเป็นที่ตั้งของบ้านบรรพบุรุษของท่าน มีลักษณะเป็นเรือนหลังใหญ่ และเก่ามาก ตั้งตะหง่านอยู่คนละฝั่งกับตัววัดสามพระยา มีบรรดาลูกหลานเฝ้าอยู่ ถือว่ามีความสำคัญเป็นหลักฐาน หรืออนุสรณ์ของชาวชุมชนวัดสามพระยา ซึ่งควรได้รับการอนุรักษ์คงอยู่

กล่าวว่า "บ้านพายัพ" ของพระยาพายัพพิริยกิจ (เป้า จารุเสถียร) บิดาของจอมพลประภาส จารุเสถียร ตั้งอยู่ในซอยสามเสน 5 (ซอยพายัพ) ตรงข้ามวัดสามพระยา ยังค้นไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างบ้านหลังนี้มากนัก ทว่าในข้อมูลจากมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธ์ ได้กล่าวว่า“...บริเวณถนนวัดสามพระยาในปัจจุบัน เคยเป็นคลองขนาดพอ ๆ กับคลองหน้าวัดบางลำพูเดิม ทอดลงแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านบ้านเจ้าพระยารามราฆพที่บริเวณท่าเกษม ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ส่วนบริเวณริมคลองเป็นบ้านของพระยาพายัพพิริยกิจ (เป้า จารุเสถียร) บิดาของจอมพลประภาส จารุเสถียร ปัจจุบันบ้านหลังนี้ยังคงอยู่ ซึ่งคลองวัดสามพระยาถูกถมกลายเป็นถนน คือ สามเสน ๕ ภายหลังสามเสน ๑ นานหลายปี...”โดยภายในบ้านพายัพ ประกอบด้วย อาคารตึก 1 หลัง และเรือนไม้ ด้านข้าง 1 หลัง ปัจจุบันยังมีผู้ดูแลอาศัยอยู่ครับ ล่าสุด มกราคม พ.ศ. 2564 กรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ได้ขายซองประมูลให้เอกชนเข้ามาเช่าและพัฒนาบ้านและพื้นที่ดินกว่า 250 ตรว. ในเชิงพาณิชย์อนุรักษ์ เช่นเปิดเป็นโรงแรม หรือเกสต์เฮ้าส์ หรือร้านอาหาร หรืออื่น ๆ แต่สุดท้ายในปัจจุบันยกเลิกประมูลแล้ว เนื่องจากมีผู้มาร่วมประมูลเพียงรายเดียว ทำให้ ณ เวลานี้สภาพของบ้านหลงเหลือเพียงแต่ความทรุดโทรม

ครกหิน โม่แป้งหินโบราณ

สิ่งที่บ่งบอกถึงความเก่าแก่ของชุมชน ได้แก่ ครกหิน โม่แป้งหินแบบโบราณ เป็นวัตถุโบราณที่แสดงให้เห็นว่ามีการทำขนมเป็นอาชีพมาแต่ดึกดำบรรพ์ เล่ากันว่าตระกูล "เวิ่นทอง" ประกอบอาชีพทำข้าวต้มน้ำวุ้น เป็นการทำกันมาแต่สมัยประมาณ 60 ปีที่แล้ว โดยโม่แป้ง ครกหิน และบรรดาสิ่งของอีกหลายอย่างยังคงได้รับเก็บเป็นอนุสรณ์ไว้จนถึงปัจจุบัน นับว่าเป็นสิ่งของที่บ่งบอกถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชน "วัดสามพระยา" เป็นอย่างดี 

ข้าวต้มน้ำวุ้น

จากข้อมูลในพิพิธบางลำพูกล่าวว่า "ข้าวต้มน้ำวุ้น" มีที่มาจากขนมบ๊ะจ่างของชาวจีน โดยคุณปู่ "สมิง เวิ่นทอง" ชาวบางลำพูในละแวกวัดสามพระยา เป็นผู้ริเริ่มดัดแปลงการทำข้าวต้มน้ำวุ้นมาจากขนมบ๊ะจ่าง จนได้รับความนิยมและกลายเป็นอาชีพหลัก สร้างชื่อเสียงให้ชุมชนแห่งนี้ว่าเป็นแหล่งผลิตขนมข้าวต้มน้ำวุ้นที่มีชื่อเสียง ซึ่งปัจจุบันการทำข้าวต้มน้ำวุ้นเป็นอาชีพที่มีคนทำน้อยลงมาก แต่ยังสามารถหาชมได้ที่ "ชุมชนวัดสามพระยา" ในซอยสามเสน 5 ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ที่สืบทอดอาชีพทำข้าวต้มน้ำวุ้นกันมาตั้งแต่บรรพบุรษ 

ตัวอย่าง คุณป้าเรียม ปิ่นทอง อายุ 59 ปี ชาวชุมชนวัดสามพระยาที่ยังคงทำอาชีพทำข้าวต้มน้ำวุ้นส่งขาย เล่าว่า ตัวเองทำข้าวต้มน้ำวุ้นมากว่า 30 ปีแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นที่ละแวกบ้านได้มีการทำข้าวต้มน้ำวุ้นกันอยู่แล้วหลายบ้าน แต่เมื่อสัก 10 ปีมานี้แต่ละบ้านเลิกทำกันไป เพราะต้นทุนวัตถุดิบแพงขึ้น จึงเลิกทำกันไปหมดจนเหลือป้าเรียมทำอยู่จนปัจจุบันเพียงบ้านเดียว และสมัยนี้ตามร้านขนมหวานต่าง ๆ ไม่ค่อยมีข้าวต้มน้ำวุ้นขายแล้ว

ใบลาน

การทำใบลานเป็นสิ่งที่สืบทอดมาจนถึงชนรุ่นลูกหลาน นับเป็นต้นตำนวนของชุมชนวัดสามพระยา กล่าวว่าเมื่อสมัยปลายรัชกาลที่ 5 มีผู้ที่ทำอุตสาหกรรมใบลานสำหรับจารหนังสือหลายราย ซึ่งมีอยู่รายหนึ่งที่เป็นคหบดีตั้งบ้านเรือนอยู่บางขุนพรหม ริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้กับวัดสามพระยา ชื่อนามสกุลเป็นสามีนางแพ ได้ประกอบอาชีพ "ทำใบลาน" มาก่อน และเป็นที่นับถือชอบพอกับคุณแม่ หรือนางฟู ศรีโกเศศ (มารดาของนางศิริ สิทธิสรเดช) และครอบครัวได้มีจิตเมตตายกเครื่องมือในการทำใบลานทั้งหมดให้คุณแม่ เนื่องจากท่านหวังว่าทางคุณแม่คงจะดำเนินการแทนท่านต่อไปได้ ประกอบกับคุณแม่มีบ้านอยู่ติดถนนสามเสน ซึ่งลูกหลานได้อยู่อาศัยมาจนถึงบัดนี้ นับว่าเป็นทำเลที่ขายของได้สะดวก คุณแม่จึงรับงานนี้มาทำเพิ่มเติมจากการค้าขายของเล็ก ๆ น้อย ๆ ต่อไป แต่เมื่อสิ้นบุญของคุณแม่ นางศิริผู้เป็นลูกได้รับช่วงทำงานนี้ต่อ จากการศึกษาผ่านหนังสือชุมชน 100 ปีในกรุงรัตนโกสินทร์ ได้กล่าวถึงข้อเขียนของคุณธนิด สิทธิสรเดช ว่าท่านได้เล่าว่าในระหว่างปี พ.ศ. 2473 ในสมัยรัชกาลที่ 7 ประเทศไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจ รัฐบาล ณ ขณะนั้นจึงต้องตัดงบประมาณรายจ่ายโดยคัดข้าราชการออกจากงานจำนวนมาก ส่งผลให้การค้าผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ "ใบลานจารหนังสือ" ต้องจำยกเลิกกิจการลง ซึ่ง "ร้านลานทอง" ได้รับผลกระทบในระยะนั้นเช่นกัน เนื่องจากท่านโสภิตอักษรกาเจ้าของโรงพิมพ์ไทย เห็นว่าการจารหนังสือด้วยมือ มีแต่ความล่าช้า และต้นทุนสูง จึงพยายามปรับการใช้เครื่องพิมพ์

หลังจากนั้น มีโรงพิมพ์แถวเสาชิงช้าและโรงพิมพ์แถวถนนตะนาว หันมาจัดพิมพ์ใบลานขึ้น ทางกรมศาสนาจึงจัดตั้งโรงพิมพ์ขึ้นและใช้ใบลานพิมพ์หนังสือพระไตรปิฏก กิจการค้าขายใบล้านเจริญรุ่งเรืองจากการกลับมาใช้ใบลานมากขึ้น ทำให้ร้านจำต้องเสาะหาใบลาน ส่วนมากมีแต่ใบเล็ก ๆ ไม่ได้ขนาด แต่เนื่องจากการปัจจัยด้านการเดินทางเป็นผลให้หันมาทำที่ท่าริดและมะนาวหนาว ต่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 มีผู้เริ่มทำกิจการใบลานมากขึ้น จึงมีการประมูลสัมปทาน ค่าประมูลสูงถึง 150,000 บาท ซึ่งเป็นกิจารใบลานที่แพร่หลาย มีผู้คนสนใจกันมาก พวกหนังสือพิมพ์และวิทยุต่างมาขอสัมภาษณ์ เป็นผลให้คนรู้จักร้าน "ลานทอง" แม้การประกอบอาชีพทำใบลานจะมีความรุ่งเรืองดี แต่กลับมีปัญหาต่าง ๆ ตลอด จนกระทั่งในระยะหลังมามีการลักลอบตัดในเขตสัมปทาน และสัมปทานหลุดมือไป เป็นผลให้ทางร้านติดสินใจหันมารับซื้อจากผู้ที่ได้รับสัมปทานรายใหม่

โดยใบลานที่นำมาใช้นั้น มีหลายอย่าง อาทิ ทำงอบ ปลาตะเพียน พัดใบลาน ไปจนถึงใช้พิมพ์นามบัตร ซึ่งโรงแรมบางแห่งใช้พิมพ์รายการอาหาร อีกทั้งในสมัยก่อนนิยมใช้เป็นบัตรอวยพร การ์ดงานแต่ง หรือแม้แต่บัตรเชิญงานศพ นับเป็นเรื่องราวการทำใบลานอันเป็นกิจการของคนไทยซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านไทย ส่งผลให้เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ 

แต่ในท้ายที่สุด แม้ว่าการผลิตใบลานจะมีการแปรรูปที่หลากหลายกว่าเดิมมากขึ้น อย่าง หมวก กล่องใส่กระดาษทิชชู่ กลับจำต้องชะลอลงและอาจจะต้องหยุดกิจการลง ซึ่งเป็นความคิดในทายาทรุ่นที่ 4 เพราะกาลเวลาที่แปรเปลี่ยน เป็นผลให้พันโทศักดิ์สิทธิ์ สิทธิสารเดช ทายาทรุ่นที่ 4 และเป็นรุ่นสุดท้ายจะต้องปิดตำนานใบลานลง ถือว่าเป็นการสิ้นสุดของตำนาน "บ้านลาน" และร้าน "ลานทอง" ที่เคยรุ่งเรืองครั้งอดีตและเป็นที่เชิดหน้าชูตาแก่ชุมชนวัดสามพระยานับเวลาเป็นร้อย ๆ ปี

วัดสามพระยา 

วัดสามพระยา สร้างสมัยรัชกาลที่ 1 โดยหลวงวิสุทธิโยธามาตย์ (ตรุษ)  ขุนนางเชื้อสายมอญและญาติ ได้อุทิศที่ดินพร้อมบ้านเรือนของขุนพรหม (สารท)  ผู้เป็นน้องชาย ซึ่งเป็นนายช่างร่วมควบคุมการก่อสร้างพระมณฑปพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรี ตามพระบรมราชโองการของรัชกาลที่ 1 และได้เสียชีวิตลง ถวายเป็นวัดขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ขุนพรหม (สารท) แล้วตั้งนามว่า "วัดบางขุนพรหม"

สมัยรัชกาลที่ 3 วัดบางขุนพรหมชำรุดทรุดโทรม พระยาราชสุภาวดี (ขุนทอง) พระยาราชนิกุล (ทองคำ) และพระยาเทพวรชุน (ทองห่อ)  ซึ่งเป็นบุตรของนางพวา น้องสาวคนสุดท้องของหลวงวิสุทธิโยธามาตย์ (ตรุษ) และขุนพรหม (สารท) ได้ร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดสำเร็จแล้วน้อมเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานนามว่า "วัดสามพระยา" ได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวง เมื่อ พ.ศ. 2366

โดย "วัดสามพระยา" เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่เลขที่ 165 ถนนวัดสามพระยา แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 17 ไร่ 92 ตารางวา ซึ่งภายในวัดนั้นประกอบด้วยสิ่งสำคัญ ดังนี้

  • พระอุโบสถ
  • พระประธาน ในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง ประทับบนรัตนบัลลังก์
  • พระวิหาร
  • พระเจดีย์ ลักษณะก่ออิฐถือปูน ทรงเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองภายในกำแพงเขตพุทธาวาส และภายนอกกำแพงด้านขวาของพระวิหาร 25 องค์
  • พระเจดีย์ใหญ่ ทรงลังกา จำนวน 2 องค์ ตั้งอยู่ที่ลานพระอุโบสถ
  • หอระฆัง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น หลังคาทรงจตุรมุข มีเครื่องยอดอยู่ด้านบนและมีบันไดขึ้นลง ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของพระอุโบสถ
  • พระปรางค์ ลักษณะทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้ยี่สิบ 5 องค์ อยู่บริเวณรอบพระวิหาร
  • หลวงพ่อนั่ง พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ มีลักษณะพิเศษ คือพระหัตถ์ทั้งสองประคองบาตรวางอยู่บนเพลา จากลักษณะนี้เองทำให้คนส่วนใหญ่เรียก หลวงพ่อนั่งว่า พระนั่งอุ้มบาตร
  • หลวงพ่อนอน พระพุทธรูปปางไสยาสน์

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภราดร ศักดา. (2557). ชุมชน 100 ปี ในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : แสงดาว.

เสาวลักษณ์ บุญโพธิ์อภิชาติ. (2540). การพัฒนาเชิงอนุรักษ์ชุมชน แขวงวัดสามพระยา แขวงบ้านพานถม แขวงบางขุนพรหม. วิทยานิพนธ์การวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต สาขาการวางผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

บางลำพูและห้างนิวเวิลด์. (2563). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2566, จาก https://www.shuttergolf.com/content/8209/บางลำพูและห้างนิวเวิลด์.

จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์. (2560). “พระนคร ๑๐๑” ครั้งที่ ๑ “ชุมชนเก่าย่านวังหน้าย่านการค้าสำคัญของพระนคร บ้านดนตรีและย่านหัตถกรรม” พื้นที่ย่านบางลำพู ชุมชนวัดสามพระยา บ้านพาน บ้านบาตร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2566, จาก https://lek-prapai.org/home/slide.php?id=22.

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. (2559). เรื่องของวัดและชุมชน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2566, จาก https://lek-prapai.org/home/view.php?id=5176.

พิพิธภัณฑ์บางลำพู. (2561). ชุมชนวัดสามพระยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2566, จาก http://banglamphumuseum.treasury.go.th/news_view.php?nid=38.

พิพิธธนารักษ์. (2561). แม่นมชุมชนวัดสามพระยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2566, จาก http://watsamphrayacommunity.blogspot.com/.

MGR Online. (2557). "ข้าวต้มน้ำวุ้น" ชุมชนวัดสามพระยา ของกินอร่อยระดับตำนานคู่ย่านบางลำพู. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2566, จาก https://mgronline.com/travel/detail/9570000088591.

วัดสามพระยา. (ม.ป.ป.). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2566, จาก http://www.thapra.lib.su.ac.th/web-temple/index.php?option=com_content&view=article&id=38&Itemid=35.

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. (2566). ภูมิหลังบางลำพู ชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2566, จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_79142.

ThaiHealth Official. (2560). `บางลำพู` ประวัติศาสตร์มีชีวิต. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2566, จาก https://www.thaihealth.or.th/บางลำพู-ประวัติศาสตร์ม/.

เรื่องเล่าของรอยใบลาน. (2561). บ้านพายัพ ของพระยาพายัพพิริยกิจ (เป้า จารุเสถียร) บิดาของจอมพลประภาส จารุเสถียร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2566, จาก https://www.facebook.com/roybilan/posts/2081957815202502/?locale=th_TH.

ลลิตา อัศวสกุลฤชา. (2562). ร้านลานทอง: ร้านค้าใบลานแห่งสุดท้ายในย่านบางลำพู. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2566, จาก http://banglamphumuseum.treasury.go.th/news_view.php?nid=274.