
บ้านช่างฝีมือที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งของพระนครอยู่รอบภูเขาทอง หรือชุมชนรอบวัดสระเกศ ฝั่งคลองโอ่งอ่าง เป็นย่านชุมชนเก่าแก่ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการสร้างวัด เป็นแหล่งผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญแห่งหนึ่งของพระนคร ชุมชนช่างฝีมือในละแวกนี้ อย่าง ชุมชน "บ้านดอกไม้" แหล่งผลิตดอกไม้ไฟ พลุ ตะไล
บ้านช่างฝีมือที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งของพระนครอยู่รอบภูเขาทอง หรือชุมชนรอบวัดสระเกศ ฝั่งคลองโอ่งอ่าง เป็นย่านชุมชนเก่าแก่ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการสร้างวัด เป็นแหล่งผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญแห่งหนึ่งของพระนคร ชุมชนช่างฝีมือในละแวกนี้ อย่าง ชุมชน "บ้านดอกไม้" แหล่งผลิตดอกไม้ไฟ พลุ ตะไล
จุดเริ่มต้นของการเกิดขึ้นของชุมชนแห่งช่างดอกไม้เพลิง
ในไทยมีการเล่นไฟในพิธีกรรมต่าง ๆ ปรากฏหลักฐานตั้งแต่สมัยสุโขทัย ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ความว่า "เมืองสุโขทัยนี้มีสีปากประตูหลวง เที่ยวย่อมคนเสียดกันเข้ามาดูท่านเผาเทียนท่านเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้มีดั่งจักแตก"
ต่อมาในสมัยอยุธยา การจุดดอกไม้ไฟได้เข้ามามีบทบาทในฐานะเครื่องสักการบูชาทางศาสนาในพระราชพิธีหลวง ทั้งที่เป็นงานสมโภชในโอกาสอันเป็นมงคลและในงานพระเมรุมาศ ซึ่งปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่าง ๆ อาทิ งานพระเมรุมาศพระบรมศพสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. 2225 ที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงสยาม โดยดอกไม้เพลิงในสมัยนั้นน่าจะมีหลายประเภท แต่ที่นิยมคือ "ระทา" จุดมุ่งหมายของการเล่น เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เพราะถือกันว่าการจุดดอกไม้เพลิง เป็นการบูชาที่มีองค์ประกอบครบสมบูรณ์คือ มีแสงเป็นพุ่มดอกไม้แทนดอกไม้ มีควันแทนธูป และมีแสงแทนเทียน สิ่งที่จะได้นอกเหนือจากนี้ก็คือความเพลิดเพลินของคนดู และความยิ่งใหญ่ของงาน และในสมัยกรุงธนบุรี มีการจุดดอกไม้เพลิงในลักษณะเดียวกับช่วงกรุงศรีอยุธยา ทว่าเป็นการจุดดอกไม้เพลิงที่ลดน้อยลงมาก เนื่องจากบ้านเมืองอยู่ในภาวะสงครามและภาวะเศรษฐกิจ จึงไม่เหมาะสมนักสำหรับการเล่นมหรสพ และการจัดงานพระเมรุมาศตามแบบประเพณีในสมัยกรุงศรีอยุธยา
จนกระทั่งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น การทำดอกไม้เพลิงและการเล่นดอกไม้เพลิงในพระราชพิธีต่างได้รับการรักษาไว้ โดยรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ กำหนดให้ชาวบ้านที่มีอาชีพทำดอกไม้ไฟออกมาตั้งหลักแหล่งบ้านเรือนรวมกันออกนอกเขตพระนครบริเวณริมคลองโอ่งอ่างด้านหลังวัดสระเกศ จัดตั้งเป็น "บ้านดอกไม้" เพื่อสืบทอดการทำดอกไม้เพลิง และป้องกันการเกิดอัคคีภัยไปในขณะเดียวกัน
ครั้นถึงรัชกาลที่ 2 การจุดดอกไม้ไฟกลายเป็นของที่จำเป็นและขาดไม่ได้ในงานพิธีต่าง ๆ ดังจะเห็นได้จากบันทึกเกี่ยวกับการจุดดอกไม้เพลิงทั้งหลักฐานจากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 2 และในช่วงรัชสมัยรัชกาลต่อ ๆ มาได้มีการเล่นดอกไม้เพลิงกันในพิธีต่าง ๆ เรื่อยมา เมื่อเข้าสู่ช่วงหลังจากสมัยรัชกาลที่ 5 การจุดดอกไม้ไฟในพระราชพิธีต่าง ๆ ได้สิ้นสุดลง เนื่องจากความจำเป็นของบ้านเมืองที่เจริญขึ้นพื้นที่ต่าง ๆ คับแคบลงไม่มีที่โล่งพอที่จะทำการจุดดอกไม้เพลิงได้อย่างปลอดภัย และเมื่อเข้าสู่รัชกาลที่ 6 จึงมีพระราชดำริที่จะงดการเล่นดอกไม้ไฟในพระราชพิธีดังปรากฏในระเบียบวาระ เรื่องการทำพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพ ให้เลิกการฉลองต่าง ๆ คือ ดอกไม้เพลิงและการมหรสพต่าง ๆ และไม่ต้องมีการตั้งโรงครัวเลี้ยง บทบาทของการเล่นดอกไม้ไฟในพระราชพิธีก็เป็นอันสิ้นสุดลง
ท้ายที่สุด บ้านดอกไม้สมัยก่อน มีบ้านเรือนรวมกันอยู่ประมาณ 20-30 บ้านแล้วจึงค่อย ๆ ลดน้อยลงเรื่อย ๆ เมื่อการเล่นดอกไม้เพลิงเริ่มไม่เป็นที่นิยม ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเป็นต้นมา เนื่องจากเหตุผลทางด้านความปลอดภัย เพราะเขตของเมืองเริ่มขยายออกมาเรื่อย ๆ จึงไม่เป็นการปลอดภัย ทั้งการตั้งร้านผลิตดอกไม้เพลิง ถึงการเล่นดอกไม้เพลิงในเมืองที่มีบ้านเรือนหนาแน่น ทำให้หลายครอบครัวเริ่มย้ายออกไปเรื่อย ๆ จนในปี พ.ศ. 2528 เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ขึ้นที่บ้านดอกไม้ ทำให้ประชากรบ้านดอกไม้ที่มีอาชีพทำดอกไม้เพลิงเหลืออยู่น้อยราย และในปัจจุบันชุมชนบ้านดอกไม้ไม่มีการสานต่ออาชีพและองค์ความรู้ในการทำดอกไม้เพลิง หรือพลุไทยโบราณอยู่ เนื่องจากคนส่วนมากที่เคยทำอาชีพเดียวกันได้ย้ายถิ่นฐานออกไป และประกอบอาชีพอื่น ๆ ทำให้องค์ความรู้เริ่มหายไป แต่ในชุมชนยังคงมีผู้ที่เคยประกอบอาชีพการทำดอกไม้ไฟอยู่ และเป็นผู้ให้ข้อมูลในการจัดการองค์ความรู้เกี่ยวกับดอกไม้เพลิงที่สำคัญ
บ้านดอกไม้ ชุมชนที่มีย่านทำดอกไม้เพลิงแบบโบราณคือ "หมู่บ้านดอกไม้" อยู่ติดกับบ้านบาตรที่อยู่ทางด้านทิศเหนือตั้งอยู่ติดกับ "คลองบ้านบาตร" เป็นแพรกที่แยกออกมาจากคลองโอ่งอ่าง อีกฝั่งหนึ่งติดกับเมรุและป่าช้าวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ด้านหนึ่งติดกับถนนบริพัตร และต่อเนื่องกับวังบ้านดอกไม้ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน
โดย "บ้านดอกไม้" เป็นหมู่บ้านผลิตและขายดอกไม้ไฟ อยู่ไม่ไกลจากเมรุหลวงวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร มีช่างดอกไม้ไฟที่มักจะใช้ในงานพระบรมศพหรืองานเมรุที่มีมาแต่ครั้งต้นกรุงฯ แล้ว เป็นการประดิษฐ์ดอกไม้เพลิงแบบโบราณ ซึ่งตั้งอยู่ติดกับทางถนนวรจักรและถนนหลวง อีกทั้งยังมีบ้านที่ทำดอกไม้ไฟแบบเก่าสืบต่อมาอยู่บ้างที่ชุมชนนี้จนถึงปัจจุบัน
จากการศึกษาภาพรวมของประชากรในชุมชนบ้านดอกไม้ ผ่าน "เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย" ถูกจัดเป็นสองประเภท ดังนี้
- ผู้ตั้งถิ่นฐานเดิม ได้แก่ ชาวจีนและชาวไทย อาศัยอยู่บริเวณแขวงป้อมปราบ วัดเทพศิรินทร์ บ้านบาตร และวัดโสมนัส โดย "ชุมชนบ้านดอกไม้" ตั้งอยู่ในแขวงบ้านบาตร
- ผู้ตั้งถิ่นฐานเดิม ได้แก่ ชาวมุสลิม ซึ่งอาศัยอยู่ริมคลองแสนแสบ ในสุเหร่ามหานาค แขวงคลองมหานาค
โดย แขวงบ้านบาตร มีจำนวนประชากร ชาย 3,084 คน หญิง 3,031 คน รวม 6,115 คน เป็นข้อมูลอัปเดต ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564
ดอกไม้เพลิง
กองกูร ชมเสาร์หัศ บุตรชายนายต่วน ชมเสาร์หัศ ปัจจุบันอายุ 85 ปี เล่าว่า เกิดที่บ้านดอกไม้ ซึ่งเป็นหมู่บ้านริมคลองโอ่งอ่าง หรือคลองเมือง ใกล้กับบ้านบาตรและเมรุปูนวัดสระเกศฯ เอกสารของกรมไปรษณีย์ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังเป็นหมู่บ้านที่ทั้งผลิตและขายดอกไม้ไฟ บางท่าน เช่น นายน้อยรับราชการเป็น “ขุนท่อง เจ้ากรมช่างดอกไม้เพลิง” ซึ่ง พลุนายต่วน เคยผลิตที่บ้าน สิ่งของที่ใช้ทำพลุ เช่น ดินประสิวนั้นเป็นสินค้าจาก จีน เยอรมัน ฯลฯ เป็นการรับมาจากท่าน้ำราชวงศ์ ส่วนสารเคมีที่ทำให้เกิดสีสันต่าง ๆ ซื้อจากร้านขายยาที่ได้รับอนุญาต ทว่าภายหลังรัฐบาลห้ามไม่ให้ขายดอกไม้ไฟ แต่บริเวณภูเขาทองไปจนถึงป้อมมหากาฬ ยังคงฝ่าฝืน และไปรับจากที่อื่นมาขายกันอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากไม่ได้รับการกวดขันดูแลที่ดี
เหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่
ในปี พ.ศ. 2528 เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ขึ้นที่ "บ้านดอกไม้" ทำให้ประชาชนบ้านดอกไม้ที่มีอาชีพทำดอกไม้เพลิง เหลืออยู่เพียง 6-10 บ้าน และมีร้านดั้งเดิมเหลืออยู่เพียง 2 ร้านคือ ร้านนายต่วน และร้านจ.ปานจินดา (ปัจจุบันดูแลกิจการโดยคุณบรรยง) และเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ขายเพียงอย่างเดียว
ดอกไม้เพลิงที่ขายส่วนมาก เป็นดอกไม้เพลิงวิทยาศาสตร์ที่ผลิตจากประเทศจีน ขายควบคู่ไปกับการขายไม้กลึง เพราะการยึดอาชีพขายดอกไม้เพลิงเพียงอย่างเดียวไม่สามารถเลี้ยงชีพได้ เนื่องจากใน 1 ปี จะมีการจุดดอกไม้เพลิงเพียง 2 ครั้งเท่านั้น คือเทศกาลลอยกระทง กับเทศกาลปีใหม่ ทว่าลูกหลานบ้านดอกไม้เหล่านี้ยังคงยึดมั่นตามรอยวิชาชีพของบรรพบุรุษบ้านดอกไม้ โดยการหาดอกไม้เพลิงของไทยมาขาย ซึ่งต้องออกไปซื้อตามต่างจังหวัด อาทิ สมุทรปราการ สระบุรี อยุธยา ราชบุรี สุพรรณบุรี นครปฐมฉะเชิงเทรา ชลบุรี เป็นต้น
ดอกไม้เพลิง. (ม.ป.ป.). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน 2566, จาก https://www.navanurak.in.th/
ชุมชนบ้านดอกไม้. [วีดิทัศน์]. (2559, 21 พฤศจิกายน). ม.ป.ท. : ม.ป.พ.
สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย. (2564). ข้อมูลทั่วไปของเขต. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน 2566, จาก https://webportal.bangkok.go.th/pomprapsattruphai/
มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. (2563). บ้านบาตร ย่านหัตถกรรมและสำนักดนตรีไทย (๓) บ้านดอกไม้. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน 2566, จาก https://www.facebook.com/Vlekprapaifoundation/photos/
เตชวัน ปัญญาวุฒิธรรม. (2566). “ชุมชนบ้านดอกไม้” ชุมชนที่มีชื่อว่าดอกไม้แต่ไม่มีดอกไม้ให้เชยชม. จาก https://www.museumsiam.org/