Advance search

นางเลิ้ง

บ้านสนามกระบือ, บ้านสนามควาย

บ้านนางเลิ้ง หรือ บ้านอีเลิ้ง คำว่า อีเลิ้ง เป็นภาษามอญ หมายถึง ตุ่มหรือโอ่ง สันนิษฐานว่าเป็นการนำเอาตุ่มและภาชนะดินเผาอื่น ๆ จากบ้านสามโคก ปทุมธานี ซึ่งเป็นชุมชนชาวมอญเข้ามาค้าขายในพระนครตามเส้นทางคลองผดุงกรุงเกษม ภายหลังพัฒนาเป็นตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้านานาชนิดมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ซอยนครสวรรค์
วัดโสมนัส
ป้อมปราบศัตรูพ่าย
กรุงเทพมหานคร
จุฬาลักษณ์ วงค์สวัสดิ์โสต
16 มิ.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
17 ก.ค. 2023
จุฬาลักษณ์ วงค์สวัสดิ์โสต
16 มิ.ย. 2023
นางเลิ้ง
บ้านสนามกระบือ, บ้านสนามควาย

"นางเลิ้ง" ว่ากันว่าเดิมที่มาจากคำว่า "อีเลิ้ง" ซึ่งคุณเอนก นาวิกมูล นักสะสมของเก่าตัวยง พบความหมายจากหนังสืออักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเลย์ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2416 ว่า "อีเลิ้ง" หมายถึง ม่อใหญ่สำหรับใส่น้ำนั้น

ทว่าที่ได้ชื่อนี้มานั้นเป็นเพราะย่านนี้แต่เดิมเป็นแหล่งขึ้นตุ่มอีเลิ้งจากคลองผดุง ก่อนหน้าที่กิจกรรมอื่น ๆ ที่ขึ้นชื่อในย่านนี้ไม่ว่าจะเป็นบ่อน ตลาด และสนามม้านางเลิ้ง (หรือ ราชตฤณมัยสมาคมฯ สนามม้าเก่าแก่ตั้งแต่รัชกาลที่ 6) จะตามมาในภายหลัง แต่คำว่า "อี" คนเมืองอาจจะฟังแล้วอาจจะไม่สบายหูนักจึงเปลี่ยนไปใช้คำว่า "นาง" แทน


บ้านนางเลิ้ง หรือ บ้านอีเลิ้ง คำว่า อีเลิ้ง เป็นภาษามอญ หมายถึง ตุ่มหรือโอ่ง สันนิษฐานว่าเป็นการนำเอาตุ่มและภาชนะดินเผาอื่น ๆ จากบ้านสามโคก ปทุมธานี ซึ่งเป็นชุมชนชาวมอญเข้ามาค้าขายในพระนครตามเส้นทางคลองผดุงกรุงเกษม ภายหลังพัฒนาเป็นตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้านานาชนิดมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ซอยนครสวรรค์
วัดโสมนัส
ป้อมปราบศัตรูพ่าย
กรุงเทพมหานคร
10100
สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย โทร. 0-2282-4902
13.7592651394649
100.512143281946
กรุงเทพมหานคร

การพัฒนาการและการปรับตัวของชุมชน "นางเลิ้ง" สามารถแบ่งออกเป็น 4 ช่วงเวลา ดังนี้

ช่วงเริ่มต้นของชุมชนนางเลิ้ง ในปี พ.ศ. 2325 - 2393 เป็นช่วงระยะของการสร้างบ้านเมือง เนื่องจากมีการย้ายราชธานีจากธนบุรีมาฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือฝั่งรัตนโกสินทร์ มีการขุดคูคลองเพื่อสร้างโครงข่ายการสัญจรทางน้ำ การสร้างวัง และการสร้างวัดเพื่อเป็นแหล่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คน ซึ่งชุมชนนางเลิ้ง หรือบ้านสนามกระบือ อยู่บริเวณพื้นที่นอกกำแพงพระนคร มีสภาพพื้นที่เป็นสวน ทุ่งนา และสร้างที่อยู่อาศัยประปราย ต่อมามีการขุดคลองรอบนอกพื้นที่พระนครเพื่อใช้เป็นเส้นทางการสัญจรในการทำการค้ากับจีน ทำให้ชุมชนนางเลิ้ง เป็นย่านการค้าริมน้ำ โดนมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการแลกเปลี่ยนสินค้า ดังสินค้าทางการเกษตร และการผลิตโอ่ง ตุ่ม ไห และหม้อดินเผา รวมถึงศิลปะการแสดง อย่าง โขน ลิเก ละครชาตรี และดนตรีปี่พาทย์ตามงานมหรสพต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงบทบาทการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยเป็นหลัก

ช่วงขยายตัวของชุมชนนางเลิ้ง ในปี พ.ศ. 2394 - 2443 เป็นยุคสมัยที่รุ่งเรืองในการพัฒนาด้านการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม การคมนาคม และการออกแบบชุมชนเมือง เพื่อสร้างกรุงเทพมหานครให้ทันสมัย เนื่องจากอิทธิพลทางการค้าของชาวตะวันตกที่เข้ามาทำสัญญาทางการค้าอย่างเสรี อิทธิพลจากการพัฒนาเส้นทางคมนาคมและขนส่ง ทำให้เกิดความสามารถในการเข้าถึงพื้นที่ของ "ชุมชนนางเลิ้ง" นับว่าเป็นจุดสำคัญที่ทำให้พัฒนาสู่ย่านการค้าและขยับขยายสู่พื้นที่การค้าทางบก คือ "ตลาดนางเลิ้ง" ที่มีการค้าขายสินค้าประเภทอาหารสดและของนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงการสร้างตึกแถวสถาปัตยกรรมตะวันตกเพื่อค้าขายรอบตลาด ขณะเดียวกันการเข้ามาของโรงหนังเฉลิมธานี การเปิดบ่อน และโรงฝิ่น เนื่องจากในขณะนั้นฝิ่นถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายและสร้างรายได้ให้แก่กรุงรัตนโกสินทร์เป็นจำนวนมาก ถือเป็นจุดเริ่มต้นของศูนย์รวมความบันเทิงแหล่งแรก ๆ ของกรุงเทพมหานคร ประกอบกับมีการใช้พื้นที่เป็นที่ตั้งวัง และสถานที่ราชการ จึงเป็นปัจจัยชี้นำความเจริญและดึงดูดให้ผู้คนภายนอกย้ายถิ่นฐานเพื่อประกอบอาชีพ

ช่วงเจริญรุ่งเรืองของชุมชนนางเลิ้ง ในปี พ.ศ. 2444 - 2503 เป็นช่วงหลังจากการพัฒนาพื้นที่ชั้นในเต็มศักยภาพของพื้นที่ ก่อให้เกิดการขยายการพัฒนาออกไปรอบนอกเพื่อเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งการสัญจรทางบก ทางน้ำ และทางราง รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก จากการพัฒนาคมนาคมและขนส่ง รวมถึงนโยบายการพัฒนาเมือง เป็นผลให้ชุมชนนางเลิ้งเจริญถึงขีดสุด และกลายเป็นย่านเศรษฐกิจที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้คนต่างต้องมาจับจ่ายใช้สอยบริเวณพื้นที่แห่งนี้ โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสม คือการประกอบพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกี่ยวเนื่องกับการค้าขายเป็นส่วนใหญ่ ทั้งตลาดนางเลิ้งที่เป็นแหล่งสินค้าหลากหลาย ศูนย์รวมความบันเทิง อย่างโรงหนังเฉลิมธานี ตรอกละครเป็นย่านละครชาตรี และตรอกสะพานยาวเป็นแหล่งโรงน้ำชา สิ่งเหล่านี้ล้วนบ่งบอกถึงบทบาทการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่ซึ่งเป็นแหล่งพาณิชกรรม และศูนย์รวมความบันเทิงของกรุงเทพมหานคร

ช่วงการปรับตัวของชุมชนนางเลิ้ง ในปี พ.ศ. 2504 - 2563 การเกิดขึ้นของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก เพื่อพัฒนาเมืองและส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ เป็นผลให้มีการเปลี่ยนแปลงในด้านกายภาพ สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมืองระหว่างประเทศ โดยชุมชนนางเลิ้งที่นับว่าเป็นหนึ่งในชุมชนบริเวณพื้นที่ชั้นนอกของเกาะรัตนโกสินทร์ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา ทั้งตลาดนางเลิ้ง จนเกิดความซบเซาและถูกแทนที่ด้วยศูนย์การค้าแห่งใหม่ โรงหนังนางเลิ้งกลายเป็นโรงภาพยนตร์ที่ล้าสมัย โรงฝิ่นอิดตัวลงเนื่องด้วยกฎหมายห้ามค้าฝิ่น และการเกิดเพลิงไหม้ ทำให้อาคารบ้านเรือนที่ทรงคุณค่าได้รับความเสียหายจนทรุดโทรมแล้ว สิ่งที่กล่าวมานั้นล้วนส่งผลให้ประชาชนบางส่วนย้ายไปนอกพื้นที่ที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีกว่า ส่งผลให้ชุมชนนางเลิ้งไม่มีอิทธิพลต่อการดึงดูดผู้คนจากพื้นที่ภายนอกให้เข้ามาใช้บริการมากดังในอดีต จึงมีการปรับตัวจากย่านการค้าตลาดสดและสินค้านำเข้า สู่การเป็นย่านการค้าอาหารและขนมหวานต้นตำหรับชาววัง เพื่อรองรับพนักงานที่ทำงานบริเวณนางเลิ้งและบุคคลภายนอกที่เข้ามาใช้บริการ ต่อมาด้วยความเป็นเมืองที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดความหลากหลายทางกายภาพ สังคมวัฒนธรรม และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประกอบกับแผนโครงการรถไฟฟ้ามหานครสีส้มช่วงตะวันตกที่จะมาพัฒนาใกล้พื้นที่

นางเลิ้ง แขวงโสมนัส เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร มีวัฒนธรรมเก่าแก่มาอย่างยาวนาน ไปจนถึงมีความเจริญอย่างมากในอดีต มีความโดดเด่นคือ เป็นชุมชนเก่าแก่ในเมืองกรุง ที่มีความครึกครื้นของการค้า ศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิต

นางเลิ้งนับเป็นชุมชนเมืองเก่า อยู่ในเขตเมืองชั้นในย่านนางเลิ้ง มีการอนุรักษ์ศิลปะการแสดงละครชาตรี ชุดโขนละคร ในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม ตลาดนางเลิ้ง เป็นชุมชนและตลาดที่ตั้งอยู่บนถนนนครสวรรค์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เป็นตลาดบกแห่งแรกของประเทศไทย มีอายุยาวนานกว่า 100 ปี

เดิมทีชื่อ อีเลิ้ง เป็นภาษามอญท้องถิ่นมอญ มีความหมายว่าเป็นที่ปั้นโอ่งของชุมชนชาวมอญ สมัยที่ขุดคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งที่แห่งนี้เป็นชุมชนชาวมอญ รักษาวัฒนธรรมประเพณีเอาไว้อย่างเหนียวแน่น ต่อมาคงจะเห็นว่าคำดังกล่าวดูไม่ไพเราะ จึงมีการเปลี่ยนชื่อเป็น นางเลิ้ง ในสมัยรัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม เนื่องจากเป็นสมัยรัฐนิยม มีการปรับปรุงคำศัพท์ต่าง ๆ ให้เข้าที่เข้าทาง

กล่าวคือ เป็นชุมชนชาวมอญเก่าแก่ตั้งแต่ยุคตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีชาวพัทลุง และชาวสงขลา เข้ามาผสมเมื่อครั้งที่เกิดเหตุความวุ่นวายทางปักษ์ใต้ พ.ศ. 2374 คนเหล่านี้ชาวบ้านเรียกว่า "ชาวละคร" ได้นำศิลปะการแสดงละครชาตรีเข้ามาเผยแพร่ ดังเช่นที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน สืบสานต่อมาเป็นตระกูล อย่าง ครูพูน เรืองนนท์ 

โดยแถบถิ่นนี้ นอกจากชาวมอญ ชาวพัทลุง และชาวสงขลา ยังมีชาวญวนอพยพมาจากเวียดนามสมัยเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิหเสนี) นำทัพไปปราบญวน เป็นผลให้ชาวญวนอพยพตามมาอีกเป็นชุมชนใหญ่ จึงมีการสร้างวัดญวนขึ้นในเวลาต่อมา 

จากที่กล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าชุมชนนางเลิ้งมีหลากหลายเชื้อชาติผสมปนเปกันอยู่ แต่ต่อมาก็อยู่ได้จนกลมกลืนกันจนแยกไม่ออก หลงเหลือไว้เพียงวัฒนธรรมประเพณี

มอญ, เวียดนาม
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วัดสมณานัมบริหาร หรือวัดญวนนางเลิ้ง

อาคารมีหน้าบันประดับด้วยลวดลายปูนปั้นที่หน้าบันสวยงาม มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ไม่ต่างจากวัดไทย แต่เมื่อมองจะเห็นถึงความคล้ายกับวัดจีน เนื่องจากหลังคาชั้นรองลงมาประดับด้วยกระเบื้องและเครื่องตกแต่งแบบศิลปะจีน ซึ่งแท้จริงอาคารศิลปะลูกผสมไทย - จีน คือ "อุโบสถของวัดญวนสะพานขาว" วัดในอนัมนิกาย ซึ่งเป็นพุทธศาสนานิกายมหายานที่นับถือกันในหมู่คนเวียดนาม

ศูนย์รวมใจของชุมชนชาวญวนอพยพที่สร้างมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้รับพระราชทานนามวัดจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "วัดสมณานัมบริหาร" ดังปรากฏหลักฐานจากหน้าบันที่ประดับตราพระราชลัญจกรจุลมงกุฎ รวมถึงผ้าทิพย์ด้านล่างและป้ายด้านหน้าอุโบสถว่า ทรงพระราชทานนาม วัดสมณานัมบริหาร เป็นตัวบ่งบอกความสำคัญของวัดแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

นอกจากที่กล่าวภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ อาทิ เจดีย์ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทด้านหลังอุโบสถ ที่บริเวณรอบทางขึ้น ใช้บรรจุอัฐิของชาวญวนในชุมชนสะพานขาว ที่อพยพมาตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น หรือผู้ที่สนใจเรื่องวิถีท้องถิ่นชุมชนรอบ ๆ ดังคำบาอกเล่า

ตลาดนางเลิ้ง

ตลาดนางเลิ้ง ตั้งอยู่ริมถนนตลาด หรือถนนนครสวรรค์ เปิดอย่างเป็นทางการ ณ วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2443 หรือ 29 มีนาคม รศ. 118 จนเป็นข่าวเด่นข่าวดังในยุคสมัยนั้น โดยมีการลงข่าวในหนังสือพิมพ์บางกอกสมัย ฉบับ 30 มีนาคม รศ. 118 กล่าวคือตลาดแห่งนี้ได้กลายเป็นตลาดที่ทันสมัยตื่นตาตื่นใจของผู้คนโดยรอบและจากที่ต่าง ๆ มีผู้คนมาจับจ่ายข้าวของกันจำนวนมาก 

ประกอบกับลักษณะของตลาดนางเลิ้งนั้นไม่ใช่แบบอาคารตลาดเท่านั้น แต่หมายรวมถึงอาคารตึกห้องแถวรอบ ๆ ตัวตลาด อาทิ ตึกห้องแถวหน้าตลาดริมถนนนครสวรรค์ 2 ฝั่งต่อเนื่องมายังตึกแถวริมถนนกรุงเกษม ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุประมาณ 80 - 100 ปี สร้างราว ๆ พ.ศ. 2443 - 2473 ต่อมาได้มีการขยายสร้างตึกแถวริมถนนพะเนียง และริมถนนศุภมิตรเพิ่มขึ้น ทำให้ตัวอาคารตลาดเป็นใจกลางของย่านการค้าแห่งนี้

โดยในอดีตตัวอาคารตลาดตรงกลางเป็นตลาดสด เน้นขายของสด ทั้งเนื้อสัตว์ ของทะเล ผักและผลไม้หลายชนิด และตึกรอบ ๆ ตลาดของสด จะเป็นของแห้งเครื่องอุปโภคบริโภคหลากหลาย บ้างร้านก็เปิดเป็นร้านอาหาร ส่วนตึกแถวริมถนนตลาด ถนนกรุงเกษมจะเป็นร้านขายของอุปโภคบริโภครวมทั้งของใช้จากต่างประเทศ โดยจะเปิดให้บริการทั้งวัน 

นางเลิ้งอ๊าร์ต

ประเทศไทย เทรนด์การคล้องล็อกเก็ตภาพถ่ายเริ่มเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากพระองค์เสด็จประพาสยุโรป สมัยก่อนแฟชั่นแสนโรแมนติกนี้ต้องสั่งทำจากเมืองนอกเท่านั้น ทว่า "นางเลิ้งอ๊าร์ต" ได้เกิดขึ้นเป็นร้านถ่ายรูปและเป็นร้านทำจี้ภาพถ่าย (Portrait Pendant) หรือที่เรียกกันว่า "ล็อกเก็ตหิน" แห่งแรกของประเทศไทย

โดยมีกรรมวิธีการผลิตด้วยมือชิ้นต่อชิ้น ทำให้ลูกค้าต้องรอคิวอย่างน้อย 2 เดือน รวมไปถึงการกรอกรายละเอียดสั่งงานตามความต้องการ โดยเลือกได้ตั้งแต่ขนาด รูปทรงจี้ สีพื้นหลัง สีเสื้อผ้า รวมไปถึงเปลี่ยนสูทได้เหมือนภาพถ่าย นอกจากนี้ยังมีบริการใช้พู่กันจีนจิ๋วสำหรับระบายแต่งแต้มสีหน้า เส้นผม แววตา เก็บรายละเอียดทุกอย่างให้คมชัดเหมือนจริงมากที่สุด ถึงแม้เวลาจะผ่านไปนับร้อยปี รูปภาพบนจี้เหล่านี้ยังคงชัดเจนไม่เลือนรางตามกาลเวลา

ตรอกละคร 

ตั้งอยู่ถัดจากตลาดนางเลิ้งเข้าไปทางด้านถนนหลานหลวงและติดกับวัดสุนทรธรรมทาน เป็นกลุ่มบ้านเรือนศิลปินนักแสดงทั้งดนตรีปี่พาท์ ละครชาตรี ลิเก หนังตะลุงที่มีชื่อเสียงย่านหนึ่งของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะของคณะของครูพูน เรือนนนท์ ที่สืบเชื้อสายศิลปะการแสดงมาจากบรรพบุรุษที่อพยพมาจากเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในปี พ.ศ. 2525 ได้เกิดเพลิงไหม้บ้านเรือนย่านตรอกละครรวมทั้งได้เผาลามไปถึงอุปกรณ์การแสดงและตัวหนังตะลุง จึงเป็นผลให้ต้องเลิกไปโดยปริยาย อย่างไรก็ตามลูกหลานนายพูน เรือนนนท์ ที่บางส่วนยังสร้างที่อยู่ใหม่ในบริเวณที่เดิมได้พยายามรวบรวมอุปกรณ์ที่หลงเหลือและสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อสืบสานและดำรงภูมิปัญญาด้านศิลปะการแสดงให้ยังคงอยู่คู่กับพื้นที่แห่งนี้ต่อไป โดยเฉพาะด้านดนตรีปี่พาทย์ และละครชาตรีที่ต่อมาท่ามกลางกระแสความนิยมลดลงอย่างมากในปัจจุบัน

ในปัจจุบันนี้ โขน หนังตะลุง ลิเก ในย่านแห่งนี้ไม่มีหลงเหลืออยู่แล้ว แต่ยังคงมีละครหรือที่เรียกว่า "ละครชาตรีหลานหลวง" และ "ดนตรีปี่พาทย์" ฝีมือชั้นครูที่เป็นทายาทของครูพูน เรือนนนท์

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สะพานเทวกรรมรังรักษ์ หนึ่งในเส้นทางสัญจรชื่อเพราะที่ได้รับพระราชทานนามให้พ้องคล้องกัน อันหมายความถึงสะพานที่สร้างโดยเทวดาจำนวน 5 องค์ ตลอดแนวคลองผดุงกรุงเกษม คลองรอบกรุงที่ขุดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ส่วนตัวสะพานสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2443 เนื่องในโอกาสที่เจริญพระชนมายุครบ 47 พรรษา ดังที่มีคำจารึกไว้บนสะพานถึงจุดประสงค์ของการสร้างสะพานแห่งนี้ ถึงแม้สะพานได้ปรับปรุงใหม่ใน พ.ศ. 2517 แต่ก็ยังคงทำหน้าที่เดิม คือเป็นประตูสู่ย่านนางเลิ้งเหมือนเมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว

ภราดร ศักดา. (2557). ชุมชน 100 ปี ในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : แสงดาว.

สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร. (2554). บางกอก บอกเล่า (เรื่อง). นนทบุรี: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด มหาชน.

พณิช ตั้งวิชิตฤกษ์ และพาฝัน หน่อแก้ว. (2563). ลูกหลานนางเลิ้ง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2566, จาก https://readthecloud.co/take-out-old-nangloeng/.

BLT. (2560). สานชีวิต ชุมชนนางเลิ้ง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.bltbangkok.com/lifestyle/urban-living/3772/.

ปัณฑารีย์ ชูตระกูล และกฤตพร ห้าวเจริญ. (2564). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการคงอยู่ของชุมชนนางเลิ้ง กรุงเทพมหานคร. วารสารวิชาการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล, 33(2), 59-70.

ปัณฑารีย์ ชูตระกูล และกฤตพร ห้าวเจริญ. (2564). การปรับตัวที่ส่งผลต่อการคงอยู่ของย่านชุมชนเก่า ชุมชนนางเลิ้ง กรุงเทพมหานคร. วารสารวิชาการ สิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างวินิจฉัย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 20(1), 21-36.

readme. (ม.ป.ป.). ตะลอนเที่ยว@ย่านนางเลิ้ง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2566, จาก https://th.readme.me/p/23352.

ผิน ทุ่งคา. (2566). เบื้องหลัง “นางเลิ้ง” ที่มาจาก “อีเลิ้ง” อดีตย่านบ่อนยอดฮิต แม้แต่พระยังมาเสี่ยงดวง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_10629.

สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์. (2553). พัฒนาการย่านนางเลิ้ง. วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับภาษาไทย, 30(2), 97-117.

พรนิภา เดชแพ. (2565). เดินทอดน่อง มองอดีต-อนาคตชุมชน ‘นางเลิ้ง’ ผ่านอาหาร ผู้คน และตึกร้าง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2566, จาก https://waymagazine.org/travel-nang-loeng/.

เมธินีย์ ชอุ่มผล และเกสรบัว อุบลสรรค์. (2559). สรุปเสวนาสาธารณะของคนย่านเก่าเมืองกรุงเทพฯ ครั้งที่ ๒ “ตลาดนางเลิ้ง ตลาดใหม่ (ซิงตั๊กลัก) ย่านชานพระนคร.” (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2566, จาก https://lek-prapai.org/home/view.php?id=5088.

ศรีศักร วัลลิโภดม. (2552). เปิดประเด็น : บ้านครัว ดินแดง นางเลิ้ง : ชุมชนคนกรุงเทพฯ ที่มีอยู่. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2566, จาก https://lek-prapai.org/home/view.php?id=353.

ทิพย์วรรณ แขกสอาด. (2561). การปรับปรุงอาคารเก่าตลาดนางเลิ้ง. วิทยานิพนธ์สถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม.

กาญจนพงศ์ รินสินธุ์. (2562). เดินดูนางเลิ้งเมื่อวัฒนธรรมถูกใช้รองรับการพัฒนา สู่คำถามสิทธิในเมืองที่เท่าเทียม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2566, จาก https://prachatai.com/journal/2019/01/80466.

ประชาไท. (2561). นางเลิ้งจัดนิทรรศการปลุกกลิ่นอายชุมชนเก่า หวังกระตุ้นคนในพื้นที่หาคุณค่า. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2566, จาก https://prachatai.com/journal/2018/10/79048.

นนท์ณพร กิติศรีปัญญา และคณะ. (2561). กลยุทธ์ในการยกระดับตลาดนางเลิ้งให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม. วารสารวิชาการและวิจัย มทร.พระนคร สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, 3(2), 42-54.

ฟื้นฟูนางเลิ้งผ่านงานวิจัยชุมชน. [วีดิทัศน์]. (2559, 10 ตุลาคม). กรุงเทพฯ: ThaiPBS.

breakfast and friends. (2566). ชวนนุ่งโจงกระเบน เรียนรู้ ‘ละครชาตรี’ ผ่านชุมชนนางเลิ้งกับประวัติศาสตร์เก่าแก่กว่า 200 ปี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2566, จาก https://breakfast-and-friends.co/lakhon-chatri-in-nang-loeng/.

จารุจรรย์ ลาภพานิช. (2563). ‘Urban Studies Lab’ เปิดห้องวิจัยเมืองสัมผัส ‘ชุมชนนางเลิ้ง’ เพื่อร่วมออกแบบชีวิตที่ดีขึ้น. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2566, จาก https://urbancreature.co/urban-studies-lab/.

กรุงเทพธุรกิจ. (2561). ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมย่านนางเลิ้ง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.bangkokbiznews.com/pr-news/biz2u/248356.

TCIJ. (2557). นางเลิ้งชูวัฒนธรรมชุมชน สู้นายทุนไล่ที่รถไฟฟ้า. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.tcijthai.com/news/2014/17/archived/4112.