Advance search

บ้านบาตร

บ้านบาตร บริเวณสี่แยกเมรุปูน ถนนบำรุงเมือง ชุมชนตั้งขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด เพราะปรากฏคำบอกเล่าที่แตกต่างกันไป บ้างว่าคนบ้านบาตรเดิมเป็นชาวกรุงศรีอยุธยาอพยพมาตั้งแต่เมื่อครั้งเสียกรุงฯ บ้างว่าเป็นชุมชนที่เพิ่งมาตั้งถิ่นฐานเมื่อแรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เป็นชุมชนที่มีฝีมือในการทำบาตรพระมาช้านาน ในอดีตผลผลิตที่ได้จะส่งไปจำหน่ายที่ตลาดย่านเสาชิงช้าและย่านสำเพ็ง ปัจจุบันเหลือบ้านทำบาตรพระเพียงไม่กี่ครอบครัวเท่านั้น

ซอยบ้านบาตร
บ้านบาตร
ป้อมปราบศัตรูพ่าย
กรุงเทพมหานคร
จุฬาลักษณ์ วงค์สวัสดิ์โสต
16 มิ.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
10 ก.ค. 2023
จุฬาลักษณ์ วงค์สวัสดิ์โสต
16 มิ.ย. 2023
บ้านบาตร


บ้านบาตร บริเวณสี่แยกเมรุปูน ถนนบำรุงเมือง ชุมชนตั้งขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด เพราะปรากฏคำบอกเล่าที่แตกต่างกันไป บ้างว่าคนบ้านบาตรเดิมเป็นชาวกรุงศรีอยุธยาอพยพมาตั้งแต่เมื่อครั้งเสียกรุงฯ บ้างว่าเป็นชุมชนที่เพิ่งมาตั้งถิ่นฐานเมื่อแรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เป็นชุมชนที่มีฝีมือในการทำบาตรพระมาช้านาน ในอดีตผลผลิตที่ได้จะส่งไปจำหน่ายที่ตลาดย่านเสาชิงช้าและย่านสำเพ็ง ปัจจุบันเหลือบ้านทำบาตรพระเพียงไม่กี่ครอบครัวเท่านั้น

ซอยบ้านบาตร
บ้านบาตร
ป้อมปราบศัตรูพ่าย
กรุงเทพมหานคร
10100
ชุมชนบ้านบาตร โทร. 08-6104-9639
13.7513013976099
100.506085748996
กรุงเทพมหานคร

ชาวบาตรบ้านเดิมเป็นคนอยุธยา เมื่อครั้นเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 ชาวบ้านบาตรได้หนีไปกันคนละทิศละทาง จนกระทั่งช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 ได้ทรงโปรดฯ ให้สถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานี ชาวบ้านบาตรถือว่าเป็นชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่อพยพมาจากอยุธยามาสร้างบ้านเรือนอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่แรก ๆ ที่ได้อาศัยอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า "วังแดง" แถววถนนบริพัตรในปัจจุับน 

นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานที่กล่าวว่า ตนเองเดิมเป็นชาวเขมรที่ได้ถูกกวาดต้อนมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่แรกที่มาอาศัยอยู่เป็นบริเวณที่เรียกว่า "เกาะเขมร" ซึ่งเป็นบริเวณกักกันของชาวเขมรที่ถูกกวาดต้อนมา ชาวเขมรเหล่านี้ส่วนมากมีฝีมือในการทำบาตร ดังนั้นรัชกาลที่ 3 จึงได้มีการสนับสนุนให้มีการทำบาตรเป็นอาชีพ จนอยู่มาถึงปัจจุบัน ทว่าไม่เหลือสถาพความเป็นเขมรอีกต่อไป เพราะได้แต่งงานกับคนไทยจนกลายเป็นคนไทยหมด

ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณสี่แยกเมรุปูน ซอยบ้านบาตร ถนนบำรุงเมืองและถนนบริพัตร แขวงสำราญราษฎร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ 37 งาน ที่ดินเป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีสภาพทั่วไปเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวและสองชั้น รวมถึงบ้านปูนตามแบบสมัยใหม่ ปลูกอยู่ติดกัน ทางเดินเท้าภายในชุมชนเป็นคอนกรีตเชื่อมติดต่อกันตลอด

อาณาเขตติดต่อชุมชนบ้านบาตร ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดกับถนนบำรุงเมือง 
  • ทิศใต้ ติดกับถนนหลวง
  • ทิศตะวันออก ติดกับถนนวรจักร
  • ทิศตะวันตก ติดกับถนนบริพัตร

บ้านบาตรตั้งขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด ประมาณกันว่า ชุมชนมีอายุยาวนานกว่าสองร้อยปี แหล่งที่มาของชาวบ้านบาตร มีประวัติศาสตร์บอกเล่าที่แตกต่างกัน ปรากฏคำบอกเล่าว่า คนบ้านบาตรเดิมเป็นชาวกรุงศรีอยุธยา อพยพมาเมื่อครั้งเสียกรุงใน พ.ศ. 2310 สันนิษฐานว่า บ้านบาตรอาจตั้งขึ้นเมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งโปรดให้สถาปนากรุงเทพมหานครขึ้นเป็นราชธานีและขุดคลองรอบกรุงขึ้นในปี พ.ศ. 2326 ชาวบ้านบาตรจึงมาตั้งบ้านเรือนในละแวกนอกคลองตามที่อยู่ปัจจุบัน นอกจากนั้นได้มีคำบอกเล่าต่อ ๆ กันว่า บรรพบุรุษเดิมเป็นชาวกรุงศรีอยุธยาที่เข้ามากับกองทัพไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 หลังจากได้รวมกันมาอยู่ที่ "ตรอกบ้านบาตร" จนกลายเป็นชุมชน เนื่องจากพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ หรือผู้มีฐานะมักนิยมสร้างวัด ทำให้มีวัดในกรุงเทพมหานครจำนวนมาก เป็นผลให้ชุมชนแห่งนี้มีชื่อเสียงด้านทำบาตรพระ และประกอบอาชีพนี้มานานกว่า 100 ปีแล้ว

จากการศึกษาข้อมูลประชากรของเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย จัดเป็นสองประเภท คือ (1) ผู้ตั้งถิ่นฐานเดิม อันประกอบด้วยชนชาวจีนและไทย อาศัยอยู่บริเวณแขวงป้อมปราบ วัดเทพศิรินทร์ บ้านบาตร และวัดโสมนัส และ (2) ชนชาวมุสลิม ซึ่งอาศัยอยู่ริมคลองแสนแสบ ในสุเหร่ามหานาค แขวงคลองมหานาค

ข้อมูลประชากรของแขวงบ้านบาตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชุมชนบ้านบาตร ตั้งอยู่ เป็นข้อมูลจากกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2564

  • แขวงบ้านบาตร มีจำนวนประชากร ชาย 3,084 คน หญิง 3,031 คน รวม 6,115 คน ซึ่งจากการศึกษาลึกลงที่ชุมชนพบว่าในปี พ.ศ. 2556 ชุมชนบ้านบาตรมีพื้นที่เพียง 800 ตารางวา จำนวนครอบครัว 186 หลังคาเรือน และจำนวนประชากรผู้ชาย 236 คน และหญิง 237 คน

ชุมชนบ้านบาตรตั้งขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าหลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้ทรงสถาปนากรุงเทพขึ้นเป็นราชธานีและมีการขุดคลองรอบกรุงในปี พ.ศ. 2326 ได้มีชาวกรุงศรีอยุธยากลุ่มหนึ่ง อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในละแวกคลองนอกเมือง และได้นำความรู้ดั้งเดิมในเรื่องการทำบาตรพระมาประกอบอาชีพ จึงเรียกชุมชนแห่งนี้ว่า  "บ้านบาตร" ซึ่งบาตรของที่นี่มีขั้นตอนการทำด้วยวิธีดั้งเดิม คือการต่อเหล็ก และตีขึ้นเป็นรูปบาตรด้วยมือ เรียกว่า "บาตรบุ" นับว่าเป็นงานบุของไทยแขนงหนึ่งที่ทรงคุณค่าและเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมายาวนานกว่า 200 ปี

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อครั้งอดีตทรงเป็นทหารหลวงในสมัยอยุธยา มีพระราชประสงค์จะให้กรุงเทพมหานครเป็นราชธานีแห่งใหม่ เป็นศูนย์กลางอาณาจักร เมืองอู่ข้าวอู่น้ำที่มั่งคั่งสมบูรณ์ไม่แพ้กรุงศรีอยุธยา ซึ่งชาวบ้านที่อพยพมาจากกรุงเก่า และชาวบางกอกเดิม ต่างต้องปรับตัวให้ตนอยู่รอดมากที่สุด ดังนั้น ชุมชนเดิมที่รวมกลุ่มเป็นหมู่บ้านแบบเฉพาะถิ่น อาทิ กลุ่มชาวนา กลุ่มพ่อค้า กลุ่มชาวจีน ชาวญวน หรือแม้แต่กลุ่มอาชีพดั้งเดิมถูกรื้อฟื้นให้มีขึ้น อาทิ ที่ถนนบำรุงเมืองหลังวัดสระเกศ ใกล้กับเมรุปูนมีซอยย่อยที่ตั้งใกล้กันอยู่ยาวทั่วทั้งถนน ในอดีตนั้นถนนแห่งนี้เคยเป็นแหล่งชุมชนคนทำกินอาชีพหนึ่ง ที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านได้ตลอดทั้งปี ย่านนี้เรียกกันว่า "บ้านบาตร"

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอื่น ๆ นอกชุมชน อาทิ ค้าขาย รับราชการ รับจ้าง เป็นต้น เหลือเพียง 5 กลุ่มเท่านั้น ที่ยังคงสืบทอดภูมิปัญญาการทำบาตรด้วยการประกอบอชีพทำบาตร ดังนี้

  1. กลุ่มคุณกฤษณา แสงไชย
  2. กลุ่มคุณสมศักดิ์ บัณชาต
  3. กลุ่มคุณอารีย์ สายรัดทอง
  4. กลุ่มคุณมยุรี เสือศรีเสริม
  5. กลุ่มคุณหิรัญ เสือศรีเสริม

ทั้ง 5 กลุ่มดังกล่าวนอกจากจะเป็นแหล่งการผลิตบาตรยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ที่สำคัญ ซึ่งต้องต้อนรับนักท่องเที่ยวและนักเรียนนักศึกษาที่เข้ามาเยี่ยม และเรียนรู้ภายในชุมชนบ้านบาตร ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาการบาตร ประวัติความเป็นมาของชุมชนบ้านบาตร และขายสินค้าทั้งบาตรใช้และบาตรที่ระลึก

ผลิตภัณฑ์ของชุมชน : บาตรพระ

บาตรที่มีลักษณะตรงตามหลักพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้มี 2 ชนิด คือ บาตรดินเผา และ บาตรเหล็กรมดำ โดยควรมีขนาด 7 - 11 นิ้ว อีกทั้งพระพุทธองค์ยังทรงบัญญัติห้ามไม่ให้พระภิกษุใช้บาตรที่ทำจากโลหะหรือวัสดุที่มีมูลค่าสูง อาทิ ทอง เงิน ทองเหลือง ทองแดง อัญมณี และแก้วผลึกต่าง ๆ แม้แต่บาตรที่ทำจากดีบุก สังกะสี หรือไม้ จะใช้ไม่ได้ ทว่าด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป จึงอนุโลมให้ใช้บาตรที่ทำจากสแตนเลส เนื่องจากสะดวกในการดูแลรักษาและทำความสะอาดง่าย ส่งผลให้เป็นที่นิยมในหมู่สงฆ์ ส่วนฝาบาตรที่ในสมัยพุทธกาลทำจากไม้ แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนมาใช้ฝาสแตนเลสแทน เนื่องจากฝาบาตรที่ทำจากไม้มีปัญหาแตกหักง่าย แต่พระระดับเกจิ ในภาคอีสานบางรูปยังคงใช้ฝาบาตรที่ทำจากไม้อยู่ โดยนำไม้มะค่า หรือไม้ประดู่มากลึงให้ได้รูปทรงเข้ากับตัวบาตร 

บาตรพระมีอยู่ 5 ทรง ดังนี้

  1. ทรงไทยเดิม มีฐานป้าน ก้นแหลม จึงไม่สามารถวางบนพื้นได้ต้องวางบนฐานรองบาตร
  2. ทรงตะโก ฐานมีลักษณะคล้ายทรงไทยเดิม แต่ก้นมนย้อย สามารถวางบนพื้นได้
  3. ทรงมะนาว รูปร่างมน ๆ คล้ายกับผลมะนาวแป้น
  4. ทรงลูกจัน เป็นบาตรทรงเตี้ย ลักษณะคล้ายทรงมะนาว แต่จะเตี้ยกว่า
  5. ทรงหัวเสือ รูปร่างคล้ายกับทรงไทยเดิม แต่ส่วนฐานตัดน้อย สามารถวางบนพื้นได้

ซึ่งสำหรับทรงไทยเดิมและทรงตะโกนั้น จัดเป็นทรงโบราณ ที่มีมานับร้อยปีแล้ว ขณะที่ทรงมะนาวและทรงลูกจันนั้นมีอายุประมาณ 80 - 90 ปี ส่วนทรงต่อหัวเสือเป็นรุ่นหลังสุดที่มีมาประมาณ 30 ปี เป็นทรงที่พระสายธรรมยุตนิยมใช้ ทว่าทรงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน ได้แก่ ทรงตะโก

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ปัญหาชุมชน เรื่องเศรษฐกิจแบบทุนนิยม 

นอกจากปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและความไม่เข้าใจกันของคนในชุมชน โดยชุมชนยังได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม กล่าวคืออาชีพการทำบาตร ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน จากเดิมที่เป็นอาชีพที่คนทั้งชุมชน แต่ปัจจุบันมีอยู่เพียง 5 - 6 ครัวเรือน ที่ยังทำบาตรอยู่เนื่องจากคนในชุมชนเห็นว่าการทำบาตรนั้นต้องใช้เวลาและความอดทนมาก แต่มีรายได้น้อยเมื่อเทียบกับการไปทำอาชีพอื่น เป็นผลให้คนในชุมชนต้องออกไปทำอาชีพอื่น ดังนั้น วัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนเองจึงเริ่มสูญหายไป อาทิ การรำวงบ้านบาตร การไหว้ครู เป็นต้น ซึ่งในขณะที่ชุมชนเองยังไม่มีสหกรณ์ ไม่มีการจัดสวัสดิการชุมชนที่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของชุมชนได้ ทำให้คนในชุมชนที่ขาดทุนทรัพย์ต้องอาศัยการกู้ยืมเงินจากภายนอกชุมชนเป็นปัญหาหนี้สินของคนในชุมชน


ปัญหาของชุมชน เรื่องที่ดินที่อยู่อาศัย เนื่องจากชุมชนที่ตั้งอยู่ในที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ชาวบ้านทำสัญญาเช่ากับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยสัญญาเช่ามีระยะเวลาเช่า 30 ปี และสามารถต่อสัญญาเมื่อหมดสัญญาเดิมได้ แต่สำนักงานทรัพย์สินฯ สามารถขึ้นค่าเช่าได้ตลอดโดยต้องแจ้งชาวบ้านก่อน

ในส่วนของ โครงการสร้างรถไฟใต้ดินที่มีเส้นทางผ่านชุมชน ที่เป็นสาเหตุทำให้บ้านเก่าถูกไล่รื้อ จากสาเหตุข้างต้นทำให้เกิดความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย ชาวบ้านจึงร่วมมือกับสำนักงานทรัพย์สิน หารือกันเพื่อหาทางออกให้แก่ชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีความมั่นคงในด้านที่อยู่อาศัย ด้วยเหตุนี้จึงมีการพลักดันให้ชุมชนเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงของ พอช. ในปี พ.ศ. 2551  โดยมีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์คอยสนับสนุน และให้คำปรึกษา นอกจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และพอช. ชุมชนยังได้ร่วมมือกับสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายในการพัฒนาชุมชน

จากการเข้าร่วมโครงการ "บ้านมั่นคง" ทำให้คนในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงมีรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มออมทรัพย์ โดยที่กลุ่มจะมีการประชุมกันทุกเดือนในวันอาทิตย์แรกของเดือนที่ศาลากลางหมู่บ้าน เป็นการประชุมเรื่องบ้านมั่นคงและชาวบ้านจะนำเงินมาออมในวันนั้น โดยชาวบ้านตกลงกันว่าจะออมเงินเดือนละ 200 บาท ซึ่งปัจจุบันมีเงินออมแล้วประมาณ 1 ล้านบาท แต่ยังไม่มีสวัสดิการ โดยคาดว่าจะสามารถจัดสวัสดิการให้สมาชิกได้ภายในอีก 5 ปี แม้ว่าการทำบ้านมั่นคงดูเหมือนว่าจะไปได้ดี แต่ยังคงมีปัญหาที่ทำให้การทำบ้านมั่นคงเกิดการล่าช้า เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งของคนในชุมชนที่มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อีกทั้งการเกิดความไม่เข้าใจกันระหว่างคนในชุมชนเองและคนในชุมชนกับหน่วยงานภายนอก

ในอดีตวัสดุที่ใช้ทำบาตร คือ ตัวถังเหล็กยางมะตอย ต่อมามีการใช้เหล็กแผ่น ทองเหลือง จนกระทั่ง ปัจจุบันได้มีการนำสเตนเลสมาใช้ด้วยเนื่องจากไม่เป็นสนิม สำหรับขั้นตอนการทำบาตรพระประกอบด้วย

1. ทำขอบบาตร ถือเป็นขั้นตอนแรกของการทำบาตรพระ

2. การประกอบกง ช่างจะตัดแผ่นเหล็กเป็นรูปกากบาท ซึ่งเรียกว่า 'กง' จากนั้นจึงดัดงอขึ้นรูปแล้วนำมาติดกับขอบบาตร

3. การแล่น คือการเชื่อมประสานรอยตะเข็บ ให้เหล็กเป็นเนื้อเดียวกัน โดยใช้ผงทองแดงกับน้ำประสานทองทาให้ทั่วบาตรก่อน เพื่อให้น้ำประสานทองเชื่อมโลหะไม่ให้มีรูรั่ว

4. การลาย หรือการออกแบบรูปทรง เป็นการนำบาตรที่แล่นแล้วมาเคาะให้ได้รูปทรงที่ต้องการ โดยจะใช้ 'ค้อนลาย' ซึ่งเป็นค้อนรูปโค้งงอ หัวค้อนมีลักษณะแหลม เคาะด้านในของบาตร

5. การตี ช่างจะใช้ค้อนเหล็กตีผิวด้านนอกของบาตรให้รอบ เพื่อให้ส่วนที่นูนออกมาจากการลายรวมทั้งตีให้รอยตะเข็บที่ยังขรุขระเรียบเสมอกัน จากนั้นต้องนำไป 'ตีลาย' บนทั่งไม้ เพื่อให้ได้รูปทรงตามต้องการ แล้วนำไปเจียรต่อโดยใช้เครื่องเจียรไฟฟ้า แล้วจึงตะไบตกแต่งให้สวยงามอีกครั้ง

6. การสุมหรือระบมบาตร เพื่อป้องกันการเกิดสนิม โดยในสมัยก่อนจะใช้กำมะถันทา จากนั้นจึงนำบาตรมากองรวมๆ กัน แล้วใช้หม้อครอบสุม (เชื้อเพลิงที่ใช้จะเป็นเศษไม้สักจากร้านขายเครื่องไม้ซึ่งมีอยู่รอบภูเขาทอง เนื่องจากไม้สักเป็นไม้ที่ให้ความร้อนสูง) บาตรที่ได้จากการสุมจะมีสีดำ จากนั้นจึงใช้น้ำมันมะพร้าวทาทับอีกครั้ง แต่ปัจจุบันนิยมใช้น้ำมันกันสนิมชโลมให้ทั่วตัวบาตรแทน

7. การทำสี ขั้นตอนสุดท้ายที่ทำให้บาตรเป็นสีต่าง ๆ อาทิ สีเขียว สีดำสนิท ถือเป็นเทคนิคเฉพาะตัวของช่างแต่ละคน รวมทั้งการแกะสลักลวดลายไทย การตีตรา เป็นต้น

ปัจจุบันมีการผลิตบาตรบุน้อยลงมากและจำกัดอยู่เพียงจำหน่ายเป็นของที่ระลึกหรือรับสั่งทำจากพระสงฆ์โดยตรงเท่านั้น โดยในชุมชนเองมีเพียงไม่กี่บ้านที่ยังคงยึดอาชีพทำบาตรขาย แต่บาตรของที่นี่ก็ยังคงคุณภาพแข็งแรง ทนทานคุ้มค่ากับราคา ถูกต้องตามพระธรรมวินัยพระพุทธศาสนา และที่สำคัญคือการรักษาและสืบทอดภูมิปัญญามาแต่ครั้งโบราณ นอกจากนี้สามารถไปเยี่ยมชมการตีบาตรได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 10.00 - 17.00 น.

ภราดร ศักดา. (2557). ชุมชน 100 ปี ในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : แสงดาว.

สุนีย์ ภัทรเจียรพันธุ์. (2556). การจัดการแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาการทำบาตร : กรณีศึกษาร้านหัตถกรรมไทยโบราณ. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร.

สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร. (2554). บางกอก บอกเล่า (เรื่อง). นนทบุรี: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด มหาชน.

บ้านและสวน. (2563). “บ้านบาตร” ชุมชนของคนทำบาตรพระ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.baanlaesuan.com/75073/video/make-series/banbatt.

TUL. (2557). ชุมชนบ้านบาตร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.artbangkok.com/?p=34332.

ศูนย์ข้อมูลทางวัฒนธรรม. (2555). ชุมชนบ้านบาตร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2566, จาก http://www.m-culture.in.th/album/163527/ชุมชนบ้านบาตร.

สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย. (2564). ข้อมูลทั่วไปของเขต. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2566, จาก https://webportal.bangkok.go.th/pomprapsattruphai/page/sub/2488/ข้อมูลทั่วไปของเขต.

MGR Online. (2559). "ชุมชนบ้านบาตร" หนึ่งหัตถศิลป์ที่ยังมีชีวิตแห่งเมืองกรุง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2566, จาก https://mgronline.com/travel/detail/9590000098494.

BLT. (2562). บ้านบาตร ชุมชนทำบาตรแฮนด์เมดแห่งเดียวในโลก. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.bltbangkok.com/lifestyle/art-culture/5328/.

อิสระพงษ์ พลธานี. (ม.ป.ป.). บ้านบาตร ภูมิปัญญาที่กำลังจะหายไปจากสังคมไทย. ในงานประชุมวิชาการแห่งชาติ มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ครั้งที่ 9 (หน้า 698 -703). นครปฐม: มหาวิทยาเกษตรศาสตร์.