เป็นชุมชนการค้าย่านตลาดน้ำริม "คลองบางน้อย" บริเวณปากคลองบางน้อย หรือบางน้อยนอกต่อเนื่องกับหน้าวัดเกาะแก้ว ซึ่งเป็นชุมชนริมแม่น้ำเก่าแก่ที่มีบ้านเรือนห้องแถวไม้ริมน้ำ และมีพื้นที่ส่วนใหญ่ของตำบลเป็นพื้นที่ร่องสวนมะพร้าว พื้นที่นาและพื้นที่เพาะปลูกผลไม้อื่น ๆ ปัจจุบันชาวบ้านมีการรวมกลุ่มปลูกมะพร้าวและกลุ่มผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร
เป็นชุมชนการค้าย่านตลาดน้ำริม "คลองบางน้อย" บริเวณปากคลองบางน้อย หรือบางน้อยนอกต่อเนื่องกับหน้าวัดเกาะแก้ว ซึ่งเป็นชุมชนริมแม่น้ำเก่าแก่ที่มีบ้านเรือนห้องแถวไม้ริมน้ำ และมีพื้นที่ส่วนใหญ่ของตำบลเป็นพื้นที่ร่องสวนมะพร้าว พื้นที่นาและพื้นที่เพาะปลูกผลไม้อื่น ๆ ปัจจุบันชาวบ้านมีการรวมกลุ่มปลูกมะพร้าวและกลุ่มผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร
จากการศึกษาพัฒนาการของชุมชน "คลองบางน้อย" สามารถแบ่งยุคสมัยได้เป็น 3 ช่วง ดังนี้
1. ยุคแรกของการตั้งถิ่นฐาน ช่วงกรุงศรีอยุธยา ถึงปี พ.ศ. 2482
คลองบางน้อยเป็นคลองเก่าแก่ แต่เดิมมีผู้คนอาศัยอยู่แล้วเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์ทางภูมิศาสตร์ ต่อมามีการอพยพจากสงครามมาอยู่อาศัยในพื้นที่ที่เมื่อครั้นศึกค่ายบางกุ้ง และจากการอพยพของชาวจีนที่หนีความลำบากยากจนมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ โดยมีลักษณะการตั้งถิ่นฐาน เป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองในบริเวณวัดเกาะแก้ว และวัดเกาะใหญ่ และในคลองบางน้อย เรื่อยไปจะอาศัยอยู่บริเวณวัดไทร วัดปากง่าม และวัดบางน้อยที่ตั้งอยู่ริมคลอง ซึ่งมีลักษณะบ้านเรือนที่เป็นโครงสร้างไม้ง่าย ๆ ตัวบ้านอยู่ห่างกันโดด ๆ มีจำนวนเพียงไม่กี่หลังคาเรือน และเนื่องจากในช่วงเวลานี้ชุมชนคลองบางน้อยนั้นเป็นเพียงชุมชนเล็ก ๆ ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่อย่างอิสระในบริเวณริมแม่น้ำลำคลองและวัด หรืออยู่ตามพื้นที่สวนของตนเอง จึงยังไม่มีการขยายตัวของชุมชนมากนัก
ดังนั้น ในยุคแรกนี้เป็นช่วงตั้งชุมชน เป็นชุมชนกลุ่มเล็ก ๆ ที่เริ่มเรียนรู่สั่งสมวิถีชีวิต ภูมิปัญญา ทำการเกษตรเพื่อยังชีพ และมีระบบโครงสร้างชุมชนที่ไม่ซับซ้อน อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างแท้จริง มีโครงข่ายคมนาคมทางน้ำเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ของชุมชนกับพื้นที่โดยรอบ
2. ยุคการเปลี่ยนแปลงทางด้านเกษตรกรรม ช่วงปี พ.ศ. 2483 - 2514
เป็นยุคที่อยู่ในช่วงสงครามโลกครั้ง 2 ทำให้ความเป็นอยู่และวิถีชีวิต รวมถึงเกษตรกรรมของประชาชนในท้องถิ่นเริ่มแปรเปลี่ยนไป และมีการอพยพย้ายถิ่นของประชากรในละแวกใกล้เคียงเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งลักษณะของการตั้งถิ่นฐานของคนในช่วงเวลานี้นั้น คือการที่ผู้คนตั้งบ้านเรือนหนาแน่นขึ้น โดยมีมากที่ปากคลอง ส่วนลักษณะของรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบพื้นถิ่น อย่าง เรือนแถวไม้ริมน้ำ เรือนไทย ตามแนวคลองบางน้อย และแถวย่านการค้า วัด โรงเรียน
ดังที่ได้กล่าวในข้างต้นถึงการตั้งถิ่นฐาน จากการเอกสารมีการกล่าวถึงการขยายตัวของชุมชน ณ เวลานี้ว่าเกิดจากปัจจัย ทั้งจากการอพยพในข่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และจากการขยายตัวของแต่ละชุมชนเอง รวมทั้งจากบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ (1) ชุมชนปากคลองบางน้อย (บริเวณวัดเกาะแก้ว วัดเกาะใหญ่ จนถึงวัดไทร) มีการขยายตัวของชุมชนมากที่สุด เนื่องจากอยู่ติดแม่น้ำแม่กลองและคลองบางน้อย ที่เป็นเส้นทางสัญจรที่สำคัญ จึงสามารถเข้าถึงได้ง่าย (2) ชุมชนวัดปาดง่าม มีการขยายตัวมาจากชุมชนในคลองบางใหญ่ ที่มีคลองสาขาเชื่อมต่อจำนวนมาก ซึ่งบริเวณสามแยกน้ำเป็นชุมทางเรือใหญ่สำคัญของพื้นที่ที่อยู่ลึกเข้าไป และ (3) ชุมชนบางน้อยใน (บริเวณวัดบางน้อย) ขยายตัวมาจากทางดำเนินสะดวกที่มีความเจริญมาก ซึ่งอยู่ใกล้กับพื้นที่จึงทำให้การค้าขายเจริญตาม
ดังนั้น ในเวลาต่อมาชุมชนจะขยายตัวสู่คลองสายรองมากยิ่ขึ้น โดยมากจากพื้นที่ข้างเคียงที่เจริญกว่า ในส่วนด้านเกษตรกรรมได้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากสวนเตียนเป็นมะพร้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักในเวลาต่อมา อีกทั้งยังมีระบบการขนส่งทางน้ำมารองรับชุมชนไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ได้มากขึ้น จนเกิดเป็นสังคมนัดน้ำ และมีกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น
3. ยุคการเปลี่ยนแปลงจากคมนาคมขนส่งทางน้ำเป็นทางบก ช่วงปี พ.ศ. 2515 - 2550
บริบทรอบข้างของชุมชนที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลานั้น ก่อให้เกิดการขยายตัวของชุมชนและพื้นที่ใกล้คียง ซึ่งมีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ โครงข่ายการคมนาคมที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจะเห็นได้จากที่ผู้คนในช่วงเวลานี้จะทำการตั้งถิ่นฐานขยายตัวไปตามเส้นทางคมนาคมทางบก มีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยหนาแน่นขึ้นมาก มีการสร้างบ้านเรือนขึ้นมาใหม่ รูปแบบของที่อยู่อาศัยเป็นแบบบ้านเดี่ยว ตึกแถว อาคารพาณิชย์ บ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ ส่งผลให้เอกลักษณ์ของชุมชนเปลี่ยนไป โดยเฉพาะชุมชนปากคลองบางน้อย หรือที่เรียกอีกชื่อว่า บางน้อยนอก
จากข้างต้นนั้นชุมชนขยายตัวตามแนวเส้นทางคมนาคมทางบก ถนนสายอัมพวา - บางคนที ถนนสายสมุทรสงคราม - ดำเนินสะดวก และถนนทางหลวชนบทหลายสาย รวมทั้งการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำลำคลอง ทำให้เกิดการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น ในช่วงเวลานี้ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยวิถีชีวิตเดิมที่ขึ้นอยู่กับน้ำได้ถูกลดบทบาทลงไปจากคมนาคมทางบกที่เข้ามามีบทบาทในพื้นที่ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อกายภาพ ระบบเศรษฐกิจ และสังคม ประชากร
สภาพชุมชนตลาดน้ำบางน้อย เป็นชุมชนคนไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋วที่อพยพมา โดยตั้งอยู่บริเวณพื้นที่วัดเกาะแก้ว หมู่ที่ 8 เทศบาลตำบลกระดังงา อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม โดยเริ่มต้นจากการล่องแพมาตามแม่น้ำแม่กลองเพื่อทำการค้าขายและทำสวนยกร่องมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน ส่วนใหญ่เป็นสวนมะพร้าว สวนกล้วย ปลูกผักสวนครัว
เดิมตลาดน้ำบางน้อย เป็นตลาดน้ำและตลาดบกที่ใหญ่แห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสงคราม ภายในชุมชนเป็นชุมชนตลาด มีการทำการค้าขายสินค้าท้องถิ่น ผลผลิตทางการเกษตร โดยมีอดีตทำการค้าขายทางเเรือเป็นหลัก
รูปแบบสถาปัตยกรรมภายในชุมชนบางน้อย เป็นห้องแถวไม้ ยกพื้นสูง มีช่องลมและประตูไม้บานพับ โดยบ้านหลังแรกเป็นการยกแพจากแม่น้ำขึ้นบก ซึ่งปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์ตั้งเซียมฮะ (บ้านไหพันใบ) เป็นพื้นที่เช่าของวัดเกาะแก้ว ชุมชนใช้ประโยชน์จากคลองบางน้อยในการดำรงชีวิตประจำวัน
นอกจากนี้ ชุมชนตลาดน้ำบางน้อย ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ วิจัย และบริการวิชาการเพื่ออนุรักษ์วิถีชีวิตชุมชนบางน้อย มีสภาพแวดล้อมของชุมชนบางน้อยที่เป็นเอกลักษณ์ คือชุมชนที่มีชีวิต บรรยากาศเงียบสงบ ชาวบ้านดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย
โดยชุมชนตลาดน้ำบางน้อย มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลบางคนที และตำบลตาหลวง อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี
- ทิศใต้ ติดกับ ตำบลบางพรม และตำบลบางกระบือ
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลดอนมะโนรา และตำบลบางกระบือ
- ทิศตะวันตก ติดกับ แม่น้ำแม่กลอง
อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงครามมีประชากรทั้งสิ้น 29,283 คน นับเป็นชาย 13,939 คน และหญิง 15,344 คน โดยประชากรในชุมชนคลองบางน้อยอยู่ในเขตการปกครองของ 4 หน่วยงาน ดังนี้
- เทศบาลตำบลกระดังงา ประกอบด้วย หมู่ที่ 1, 6, 7
- ในส่วนของอบต.บางคนที ประกอบด้วย หมู่ที่ 2, 3, 4, 5 ซึ่งในอดีตเป็นพื้นที่ของอบต.ยายแพง แต่ในปัจจุบันอบต.ยายแพงได้รวมเขตการปกครองเข้ากับอบต.บางคนที
- อบต.กระดังงา ประกอบด้วย หมู่ที่ 2, 3, 8, 9, 10, 11, 12
- อบต.จอมปลวก ประกอบด้วย หมู่ที่ 1, 3, 4
โดยมีประชากรจำแนกตามเขตการปกครองรวมทั้งสิ้น 5,329 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 1,646 ครัวเรือน (เป็นข้อมูลการศึกษาในปี พ.ศ. 2550)
ภาพรวมของเศรษฐกิจหลักในชุมชน
- ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก ได้แก่ การทำสวนผลไม้เป็นสวนยกร่องประเภทมะพร้าว ส้มโอ กล้วย มะม่วง ลิ้นจี่ และการทำสวนผัก
- รองลงมาคือ (1) อาชีพอุตสาหกรรมในครัวเรือน ได้แก่ ทำหมาก ทำน้ำตาลมะพร้าว แปรรูปมะพร้าว เย็บกระทงใบตองแห้ง ชุบโลหะ (2) อาชีพเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เลี้ยงหมู่ป่า เป็นต้น (3) อาชีพค้าขาย ได้แก่ ขายของชำ สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเบ็ดเตล็ด ขายของตามตลาดนัด (4) อาชีพรับจ้าง ได้แก่ รับจ้างทั่วไป รับจ้างทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมทั้งในจังหวัดและจังหวัดข้างเคียง และ (5) อาชีพรับราชการ รัฐวิสาหกิจ และอาชีพอิสระอื่น ๆ ตามลำดับ
ลักษณะสภาพเศรษฐกิจของชุมชนในปัจจุบันไม่มีการขยายตัว ซึ่งคอนข้างคงที่ ไม่เฟื่องฟูเหมือนในอดีตที่ผ่านมา จะมีในบางช่วงเวลาที่มีตลาดนัดวัดเกาะแก้ววในวันจันทร์และวันศุกร์ และวันพุธที่บริเวณหน้าห้างสมรไพบูลย์ ส่วนเรื่องการทำเกษตรกรรมในพื้นที่นับว่าเป็นอาชีพหลักในครัวเรือนของชุมชนคลองบางน้อย ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมที่สืบทอดมาตั้งแต่อดีต จนเกิดเป็นความผูกพันและภูมิปัญญาของการดำรงชีวิตที่อยู่คู่กันมาช้านาน
นอกจากมีอาชีพต่าง ๆ ที่เป็นอาชีพหลักของประชากรในท้องถิ่น ชาวชุมชนยังมีรายได้จากการจับปลา ตกกุ้ง ที่ยังคงพึ่งพิงแหล่งธรรมชาติอยู่ และยังมีอาชีพเสริมที่ช่วยสร้างรายได้อีกทางหนึ่งให้แก่ประชากรในท้องถิ่น อย่าง กลุ่มสตรีแม่บ้าน กลุ่มเกษตรกรรม กลุ่มพื้นถิ่นหัตถกรรม กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เป็นต้น ทั้งหมดล้วนแล้วแต่จะเป็นการต่อยอดจากผลิตผลของตนในท้องงถิ่น เพื่อเป็นการสร้างรายได้และเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตของท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่ง
สถาบันทางศาสนา ภายในชุมชนคลองบางน้อยมีวัดพุทธทั้งหมด 6 แห่ง และมีวัดร้าง 2 แห่ง นอกนั้นจะเป็นโบสถ์คริสต์ 1 แห่ง และศาลเจ้า 1 แห่ง โดยมีรายละเอียดดังนี้
- ในตำบลกระดังงานมีวัดพุทธ 5 แห่ง ได้แก่ วัดเกาะแก้ว วัดเกาะใหญ่ วัดไทร วัดปากง่าม และวัดบางคนทีนอก ประกอบกับมีวัดร้างในชุมชน 1 แห่งคือ วัดอินทร์ประเสริฐ
- ในตำบลจอมปลวกมีวัดพุทธ 1 แห่งคือ วัดบางน้อย และมีศาลเจ้า 1 แห่ง คือศาลเจ้าโรงโขน
- ในตำบลยายแพงนั้นไม่มีวัดพุทธตั้งอยู่ในพื้นที่ แต่มีโบสถ์คริสต์ 1 แห่งคือ วัดคาทอลิกนักบุญกาเยตาโน
ตลาดน้ำบางน้อย
ในอดีตตลาดน้ำบางน้อยช่วงประมาณปี พ.ศ. 2447 หรือ ร.ศ. 123 ได้มีปรากฎหลักฐานในพระราชนิพนธ์ของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นตลาดนัดที่จะมีประจำในทุกข้างขึ้น แรม 3 ค่ำ 8 ค่ำ และ 13 ค่ำ การค้าขายทางเรือและทางบก โดยเป็นเส้นทางการคมนาคมเส้นหนึ่งของจังหวัดสมุทรสงคราม โดยในชุมชบางน้อยมีร้านค้า อาทิ ร้ายขายอุปกรณ์การเรียน ร้ายขายหนังสือ ร้านขายทอง และปั๊มน้ำมันสำหรับเติมเรือโดยสาร อีกทั้งยังมีท่าเรือในบริเวณชุมชน และมีสินค้าทางการเกษตรที่เป็นสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัดสมุทรสงคราม คือน้ำมันมะพร้าวและน้ำตาล
ในเวลาต่อมา หมอเหลียง รังสิโรจน์ ได้จัดตลาดนัดบางน้อยโดยใช้วอธีการจัดการแบบให้ชาวบ้านที่ประสงค์จะมาร่วมตลาดนัดจับเบอร์ในพานขันเงินเริ่มตั้งแต่ 5 ค่ำ 10 ค่ำ และ 15 ค่ำ มีทั้งตลาดนัดน้ำ ช่วงเวลาเช้าและเย็น นับว่าเป็นหนึ่งตลาดน้ำที่มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากในอดีต และจากความเจริญทางเทคโนโลยี อย่างการสร้างถนน ส่งผลให้ปริมาณการใช้รถยนต์แทนเรือเพิ่มขึ้น เป็นผลให้ตลาดน้ำบางน้อยจำต้องลดลงบทบาททางเศรษฐกิจของจังหวัดลง จนกระทั่งตลาดน้ำบางน้อยค่อย ๆ เลือนหายไป จนเหลือเพียงชุมชนบางน้อย
เมื่อมาในปี พ.ศ. 2551 ทางเทศบาลตำบลบางคนทีพยายามจะรื้อฟื้นให้ตลาดน้ำบางน้อยหลับมามีชีวิตอีกครั้ง แต่กลับไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร จนต่อมาชาวบ้านในชุมชนบางน้อยได้รวมตัวกันขึ้นมา โดยมีคุณคมกฤต ทิตกาญจนาพรรณ ซึ่งเป็นผู้จุดประกายดังแนวคิดที่จะสร้างรายได้ให้ขาวบ้านในชุมชนและอนุรักษ์ตลาดเก่าบางน้อย จึงมีการรวมตัวกันก่อตั้งเป็น "ชมรมคนรักตลาดน้ำบางน้อย" ขึ้นมาจากความรักของคนในท้องถิ่นบ้านเกิดของตนเอง ได้มีการจัดการท่องเที่ยวขึ้น ได้จัดให้คุณสมิทธิ ธนานิธิโชติ ผู้ที่ในช่วงเวลานั้นมาอาศัยอยู่ในชุมชนและทำธุรกิจ "โฮมสเตย์บางน้อยคอยรัก" จัดงานแสดงภาพถ่ายตลาดน้ำขึ้น เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักตลาดน้ำบางน้อย การกระทำดังที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นได้ส่งผลให้ตลาดน้ำบางน้อยเริ่มเป็นที่รู้จักจากนักท่องเที่ยว
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2552 ได้มีการเปิดตัวตลาดน้ำบางน้อยอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 มีนาคม เพื่อเป็นการฟื้นฟูตลาดน้ำบางน้อยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แห่งใหม่ของจังหวัดสมุทรสงคราม
เพียรกานต์ วงศ์วาณิชย์ศิลป์. (2550). แนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชนคลองบางน้อย จังหวัดสมุทรสงคราม. วิทยานิพนธ์การวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต สาขาการวางผังชุมชน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
จาราภิวันท์ ทวีสิทธิ์. (2551). รูปแบบที่อยู่อาศัยและการอยู่อาศัยในชุมชนคลองบางน้อยนอก ตำบลกระดังงา อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม. วิทยานิพนธ์เคหพัฒนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ศุภชัย ไกรตะนะ. (2559). แนวทางการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยชุมชน กรณีศึกษาชุมชนบางน้อย อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการภาครัฐและภาคเอกชน มหาวิทยาลัยศิลปากร.
สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชน จัดการความรู้และสื่อสาร. (2562). วิถีชีวิตชาวคลอง (บางน้อย) สู่เส้นทางแผนธุรกิจ ท่องเที่ยวโดยชุมชน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2566, จาก https://web.codi.or.th/20190829-7963/.
บทความน่าสนใจ บ้านสวนนวลตา อัมพวา. (2565). “ตลาดน้ำบางน้อย” สมุทรสงคราม ตลาดเก่าแก่มีเสน่ห์!. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2566, จาก https://blog.bsnresort.com/ตลาดน้ำบางน้อย/.
emagtravel. (ม.ป.ป.). ตลาดน้ำบางน้อย บางคนที แผนที่ตลาดน้ำชุมชนบางน้อย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2566, จาก https://www.emagtravel.com/archive/bangnoi-floatingmarket.html.
MGR Online. (2560). “ตลาดน้ำบางน้อย” พื้นที่น้อยๆ แต่เสน่ห์ล้นเกินขนาด. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2566, จาก https://mgronline.com/travel/detail/9600000073708.
ภัทฐิตา พงศ์ธนา. (2564). ศักยภาพของทรัพยากรการท่องเที่ยวและการพัฒนาพื้นที่ส่วนกลางและพื้นที่ริมน้ำ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชนคลองบางน้อย จังหวัดสมุทรสงคราม. เจ-ดี: วารสารวิชาการการออกแบบสภาพแวดล้อม, 8(1), 127-147.
แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์. (2564). ชุมชนริมคลองบางน้อย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2566, จาก https://culturalenvi.onep.go.th/site/detail/3868.