
ชุมชนบ้านกล้วย เป็นชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่มีอายุยาวนานกว่า 80 ปี มีกระวานเป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ยกระดับฐานะทางการเงินของชาวกะเหรี่ยงบ้านกล้วยให้รอดพ้นจากความยากจนแร้นแค้น
ชุมชนบ้านกล้วย เป็นชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่มีอายุยาวนานกว่า 80 ปี มีกระวานเป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ยกระดับฐานะทางการเงินของชาวกะเหรี่ยงบ้านกล้วยให้รอดพ้นจากความยากจนแร้นแค้น
การอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่บ้านกล้วยของชาวกะเหรี่ยงตามคำบอกเล่าของผู้อาวุโสในชุมชน คาดว่าอาจเป็นเวลานานกว่า 80 ปีมาแล้ว โดยเริ่มแรกมีประมาณ 4 ครัวเรือนเท่านั้น ทว่าในพื้นที่บ้านกล้วยกลับมีที่ทำกินของชาวกะเหรี่ยงมากกว่า 60 ครอบครัว แต่เป็นชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ที่บ้านตะเพินคี่ ซึ่งจะใช้การเดินทางไปมาระหว่างที่พักอาศัยที่บ้านตะเพินคี่ กับพื้นที่ทางการเกษตรที่บ้านกล้วย ต่อมาเริ่มประสบปัญหาระยะทางห่างไกล ชาวกะเหรี่ยงที่บ้านตะเพินคี่จึงได้ย้ายมาสร้างบ้านเรือนที่บ้านกล้วย เพื่อให้สะดวกต่อการนอนเฝ้าพืชผลทางการเกษตร คือ ไร่ข้าวโพด ต่อมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง มีโจรมาอาละวาด ปล้นสะดมทรัพย์สิน สร้างความหวาดกลัวให้แก่ชาวบ้าน ชาวบ้านประมาณ 40-50 ครัวเรือน จึงได้เดินทางย้ายออกจากหมู่บ้าน กระทั่งมีข่าวลือว่าโจรที่เคยมาปล้นหมู่บ้านถูกจับ ชาวบ้านที่เคยอพยพออกไปจึงได้กลับเข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านอีกครั้งหนึ่ง
ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของบ้านกล้วยเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2528 เมื่อมีการสร้างทางสายทุ่งมะกอก-องค์พระขึ้น ซึ่งส่งผลให้เส้นทางการเดินทางเข้าออกบ้านกล้วยมีความสะดวก มีรถยนต์โดยสารวิ่งผ่านเส้นทางดังกล่าว ทำให้ชาวกะเหรี่ยงบ้านกล้วยมีโอกาสติดต่อกับโลกภายนอกมากขึ้น โดยเฉพาะการนำผลผลิตทางการเกษตรออกไปจำหน่ายนอกชุมชน อีกทั้งยังมีการตัดเส้นทางจากอำเภอบ้านไร่เข้าไปถึงบ้านกล้วย แต่เนื่องจากเส้นทางตัดผ่านภูเขาสูงชัน ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าโดยสารผ่านเส้นทางนี้ ในขณะเดียวกันก็มีการสร้างสถานีอนามัยหมู่บ้าน เพื่อให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ชาวบ้านกล้วย และหมู่บ้านใกล้เคียง
พ.ศ. 2529-2530 ถือเป็นปีที่บ้านกล้วยเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด ชาวบ้านกล้วยได้พ้นจากความแร้นแค้น เมื่อรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจแก่ชาวบ้าน คือ กระวาน ซึ่งผลผลิตของชาวบ้านได้รับผลตอบรับอย่างดี มีพ่อค้าเข้ามาซื้อในราคากิโลกรัมละ 260-280 บาท มีเงินทองเพียงพอใช้จ่ายไปถึงเหลือเก็บ มีโครงการพัฒนานำความเจริญเข้าสู่หมู่บ้านมากมาย ผลกระทบที่เกิดจากการพัฒนาทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ในทางกลับกันก็ทำให้ผู้อาวุโสชาวกะเหรี่ยงจำนวนมากย้ายออกจากบ้านกล้วยไปอยู่ที่บ้านตะเพินคี่ เพราะไม่สามารถอดทนยอมรับต่อพลวัตที่เกิดกับวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และประเพณีใหม่ ๆ ที่เข้ามาในชุมชนบ้านกล้วยได้ แต่ในเวลาต่อมาได้มีคนจากนอกชุมชนเข้ามาแต่งงานกับชาวกเหรี่ยงชุมชนบ้านกล้วยจำนวนมาก ทำให้จำนวนประชากรบ้านกล้วยเพิ่มมากขึ้น และลักษณะของการผสมผสานระหว่างกลุ่มวัฒนธรรมที่หลากหลายมาจนปัจจุบัน
ชุมชนบ้านกล้วยตั้งอยู่บนที่ราบสูง ทิศเหนือเป็นที่ลุ่ม ทิศใต้เป็นที่ดอนสำหรับทำไร่และเลี้ยงสัตว์ ทางด้านทิศตะวันตกเป็นที่นา ส่วนด้านทิศตะวันตกส่วนหนึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จึงไม่มีการสร้างบ้านเรือนขยายออกไป ภายในอาณาบริเวณที่ตั้งของชุมชนมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ คือ ลำห้วยตะเพินคี่ ที่อยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน มีต้นน้ำจากภูเขา ไหลผ่านหมู่บ้านต่าง ๆ ในตำบลด่านช้าง ได้แก่ บ้านป่าผาก บ้านกล้วย บ้านตะเพินคี่ และบ้านห้วยดินดำ โดยชาวบ้านกล้วยได้ใช้น้ำจากลำห้วยตะเพินคี่สำหรับการทำเกษตร แต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการในฤดูแล้ง จึงมีการสร้างฝายกั้นน้ำในเวลาต่อมา ลักษณะดินเหมาะแก่การเพาะปลูก แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำเป็นสำคัญ หากพื้นที่ใดได้รับน้ำเพียงพอ ผลผลิตทางการเกษตรก็จะได้ผลดี โดยเฉพาะทางด้านทิศเหนือของหมู่บ้านเพราะอยู่ใกล้ลำห้วยตะเพินคี่มากที่สุด
ข้อมูลจากองค์การบริหารส่วนตำบลวังยาว ระบุว่า ชุมชนบ้านกล้วย ตำบลวังยาว มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 322 ครัวเรือน 1,041 คน แบ่งเป็นชาย 539 คน และหญิง 502 คน ในจำนวนนี้มีทั้งชาวกะเหรี่ยง ปะปนกับกลุ่มวัฒนธรรมไทย และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่เข้ามาแต่งงานกับชาวกะเหรี่ยงบ้านกล้วย แต่มีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับชาวกะเหรี่ยงซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของชุมชน เนื่องจากชาวกะเหรี่ยงนิยมแต่งงานกับคนจากกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงด้วยกัน
ปกาเกอะญอชาวชุมชนบ้านกล้วยส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก มีทั้งการทำนา และการทำไร่ โดยพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญมากที่สุด คือ กระวาน
การปลูกกระวาน : กระวานเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนบ้านกล้วยได้ดีที่สุด กระวานนับเป็นพืชที่สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ยกระดับฐานะทางการเงินของชาวกะเหรี่ยงบ้านกล้วยให้รอดพ้นจากความยากจนแร้นแค้น ชาวบ้านหลายครัวเรือนมีชีวิตที่ดีขึ้นจากการปลูกกระวานขาย เหตุผลที่ทำให้กระวานเป็นพืชที่ได้รับความนิยม และมีความสำคัญต่อชาวกระเหรี่ยงบ้านกล้วย เพราะการปลูกกระวานใช้ต้นทุนต่ำ ดูแลรักษาง่าย ไม่ต้องพ่นยาฆ่าแมลง อีกทั้งยังขายได้ราคาดี โดยจะมีพ่อค้าคนกลางเดินทางเข้ามาซื้อกระวานภายในชุมชน และมีตัวแทนในการต่อรองราคากับพ่อค้าคนกลาง เพื่อให้สามารถจำหน่ายกระวานได้ในราคาที่เป็นธรรม โดยที่ชาวบ้านไม่ต้องลงไปดำเนินการเอง
การทำนา : การทำนาของชาวบ้านกล้วยส่วนใหญ่จะเป็นการทำเพื่อเก็บไว้บริโภคเป็นหลัก เหลือจากบริโภคจึงจะนำออกไปจำหน่าย ฉะนั้นชาวบ้านจึงจะไม่พิถีพิถันในการทำนามากเท่าใดนัก โดยปกติจะหว่าน หรือดำ แล้วปล่อยไว้รอถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว
การทำไร่ข้าวโพด : ในอดีตข้าวโพดเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของบ้านกล้วย แต่ภายหลังที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการปลูกกระวานเป็นพืชเศรษฐกิจแก่ชาวบ้าน มีการเปลี่ยนไร่ข้าวโพดเป็นไร่กระวาน เนื่องจากมีราคาสูงกว่า ทำให้อัตราการปลูกข้าวโพดลดลง แต่ก็ยังมีการปลูกอยู่สม่ำเสมอ เพราะข้าวโพดเป็นพืชที่ปลูกง่าย เจริญเติบโตเร็ว ไม่ต้องพิถีพิถันในการดูแลรักษามากนัก สำหรับบริเวณที่ปลูกข้าวโพดมักจะมีการปลูกพืชผักสวนครัวแทรกลงไปในแปลง เพราะโดยปกติแล้วไร่ข้าวโพดจะอยู่ใกล้บ้าน จึงเหมาะแก่การปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อนำมาประกอบอาหาร อีกทั้งในบางครั้งพืชผักสวนครัวที่ปลูกไว้ เช่น พริก กล้วย มะนาว ฯลฯ ก็สามารถนำออกไปจำหน่ายสร้างรายได้เสริม ในกรณีที่พืชเหล่านี้มีปริมาณมากเกินกว่าความต้องการบริโภค
นอกเหนือจากการทำนา ทำไร่ข้าวโพด และปลูกกระวานแล้ว ชาวบ้านในชุมชนบ้านกล้วยยังนิยมปลูกถั่วเขียวและผลไม้หายชนิด เช่น ละมุด ลำไย และมะม่วง ฯลฯ
ปฏิทินการเกษตร
เดือน |
กิจกรรม |
มกราคม |
นวดข้าว ขนข้าวขึ้นยุ้งฉาง |
กุมภาพันธ์ |
หักข้าวโพด ขนข้าวโพดขึ้นขึ้นยุ้งฉาง และเก็บกระวาน |
มีนาคม |
เตรียมไร่สำหรับปลูกข้าวโพด |
เมษายน |
เตรียมไร่สำหรับปลูกกระวาน |
พฤษภาคม |
ไถพรวน ปรับสภาพพื้นที่ไร่ข้าวโพด/ กระวาน |
มิถุนายน |
เริ่มปลูกข้าวโพด และกระวาน |
กรกฎาคม |
เตรียมที่นาหว่านข้าว |
สิงหาคม |
ปักดำต้นกล้า |
กันยายน-ตุลาคม |
กำจัดวัชพืช ดูแลที่นา ที่ไร่ |
พฤศจิกายน-ธันวาคม |
เกี่ยวข้าว |
ความเชื่อและประเพณี
ความเชื่อที่มีอิทธิพลต่อชุมชนบ้านกล้วยมากที่สุด คือ ความเชื่อเรื่องผี ซึ่งถือเป็นความเชื่อหลักของชาวบ้าน ผีที่สำคัญ คือ ผีบ้านผีเรือน เป็นผีที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ แต่ละบ้านจะมีการกันพื้นที่ไว้โดยเฉพาะเพื่อให้เป็นที่สิงสถิตของผีบ้านผีเรือน และห้ามใครไปยุ่งกับบริเวณนั้นโดยเฉพาะคนนอกครอบครัว เพราะจะถือเป็นการผิดผี ในอดีตชาวบ้านกล้วยจะมีการสืบผี ปกติผู้ที่สืบผีเรือนจะต้องเป็นลูกชายคนโต หรือลูกชายคนอื่นที่ทำหน้าที่ดูแลบิดามารดา แต่ปัจจุบันมีการสืบผีเรือนน้อยลง ทั้งนี้ เพราะสกุลหนึ่ง ๆ จะมีการสืบผีเรือนครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งเท่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะมอบให้ผู้ใด หรือครอบครัวใดเป็นผู้สืบทอด ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่เป็นเหตุให้การสืบผีเรือนลดน้อยลง คือ การลาออกจากการนับถือผีเรือน เนื่องจากอิทธิพลของพุทธศาสนาที่เข้ามามีบทบาทต่อความเชื่อของคนในชุมชน รวมถึงการเข้ามาของการศึกษาที่มีบทบาทในการสร้างทัศนคติทางความเชื่อรูปแบบใหม่แก่คนรุ่นใหม่ ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สนใจต่อความเชื่อแบบเดิม อย่างไรก็ตาม แม้ความเชื่อเกี่ยวกับผีบ้านผีเรือนของชาวกะเหรี่ยงบ้านกล้วยจะไม่เข้มข้นเท่าในอดีต แต่ยังคงปรากฏร่องรอยที่หลงเหลือจากคนรุ่นเก่าและกลุ่มผู้สูงอายุในการจัดพิธีเซ่นผี ปกติแต่ละครอบครัวจะกำหนดวันเอาเองตามความเหมาะสม โดยเชื่อว่าจะทำให้วิญญาณบรรพบุรุษปกปักษ์รักษาให้ลูกหลานอยู่เย็นเป็นสุข นอกจากการเลี้ยงผีเรือนแล้ว ทุกปีชาวบ้านกล้วยจะมีพิธีการเลี้ยงผีประจำหมู่บ้าน ในวันนั้นจะมีการเรียกผีทุกชนิดที่อยู่ในหมู่บ้านมารับอาหารที่จัดเลี้ยง ส่วนพิธีเลี้ยงผีที่ใช้สำหรับการรักษา ญาติผู้ป่วยจะจัดอาหารแล้วให้หมอผีมาเป็นผู้ทำพิธีให้ ส่วนบรรดาญาติ ๆ จะมาช่วยฟ้อนรำเพื่อเซ่นไหว้ขอขมาผีที่เชื่อว่าบัลดาลให้เกิดความเจ็บป่วยด้วย
นอกจากผีบ้านผีเรือน ผีประจำหมู่บ้าน และผีรักษาแล้ว ชาวบ้านกล้วยยังมีผีที่สำคัญมากอีกประเภทหนึ่ง คือ ผีไร่ เป็นผีที่มีความสำคัญเกี่ยวกับการเกษตร โดยเชื่อว่าผลผลิตทางการเกษตรจะได้รับผลผลิตดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความช่วยเหลือของผี ทุกครัวเรือนจึงมีการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับการเกษตรในไร่ของตนเอง แต่มีกฎว่าจะจัดได้ต่อเมื่อผู้นำชุมชนได้ทำพิธีกรรมในพื้นที่ทางการเกษตรของตนเองแล้วเท่านั้น สำหรับพิธีเกี่ยวกับการเกษตรที่ประณีตที่สุด เรียกว่า “การเลี้ยงผีประจำไร่” พิธีนี้จะจัดขึ้นเมื่อต้นข้าวสูงได้ประมาณ 18 นิ้ว ระหว่างนั้นจะมีการฆ่าไก่ 6 ตัว และหมู 1 ตัว เพื่อเซ่นไหว้ผีในไร่ให้ช่วยดูแลคุ้มครองต้นข้าว พิธีเลี้ยงผีประจำไร่จะจัดขึ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อต้นข้าวเริ่มออกรวง พร้อมกับ “พิธีเรียกขวัญข้าว”
ในอดีตชาวบ้านกล้วยมีวิถีชีวิตการดำรงอยู่โดยยึดอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก โดยผลผลิตทางการเกษตรที่ได้เป็นการผลิตเพื่อยังชีพ เมื่อเหลือจากการบริโภคจึงจะนำออกมาจำหน่าย หรือแลกเปลี่ยนกับผลผลิตอื่น ๆ แต่ภายหลังการตัดถนนผ่านเข้ามาใกล้หมู่บ้าน และการที่หน่วยงานราชการเข้ามาช่วยเหลือเปลี่ยนแปลงนโยบายการพัฒนาชุมชน เงินตราเข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านมากขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือการที่กระวานเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ของชุมชนบ้านกล้วย และมีพ่อค้าคนกลางเดินทางเข้ามารับซื้อผลผลิตถึงในชุมชน ซึ่งบางครั้งก็จะซื้อข้าวเปลือกและข้าวโพดของชาวบ้านไปด้วย การติดต่อสื่อสารกับคนนอกชุมชนทำให้เกิดการรุกล้ำทางวัฒนธรรมจากภายนอกที่เข้ามามีอิทธิพลต่อคนในชุมชนบ้านกล้วย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชุมชนบ้านกล้วย ส่งผลให้ชาวกะเหรี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุเดินทางกลับไปอยู่ที่บ้านตะเพินคี่ เนื่องจากไม่สามารถอดทนยอมรับต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อชุมชน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านกล้วยส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยมีผู้สูงอายุเท่าใดนัก
ฐนันดร์ศักดิ์ เวียงสารวิน. (2533). จู่ต่าเอาะ” : ความเชื่อเกี่ยวกับอาหารและพฤติกรรมการบริโภคอาหารของชาวกะเหรี่ยง : ศึกษากรณีชุมชนบ้านกล้วย อ.ด่านช้าง จ. สุพรรณบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา ภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร.