Advance search

บ้านท่าวัง

ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวทางทะเลน้ำใสในอ่าวไทย อย่าง เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี อีกทั้งยังอยู่ในพื้นที่ที่เคยเป็นพระราชวังฤดูร้อนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากเหตุการณ์วิกฤต ร.ศ.112 คือ พระจุฑาธุชราชฐาน 

หมู่ที่ 3
ท่าเทววงษ์
เกาะสีชัง
ชลบุรี
จุฬาลักษณ์ วงค์สวัสดิ์โสต
16 มิ.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
11 ก.ค. 2023
จุฬาลักษณ์ วงค์สวัสดิ์โสต
16 มิ.ย. 2023
บ้านท่าวัง


ชุมชนชนบท

ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวทางทะเลน้ำใสในอ่าวไทย อย่าง เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี อีกทั้งยังอยู่ในพื้นที่ที่เคยเป็นพระราชวังฤดูร้อนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากเหตุการณ์วิกฤต ร.ศ.112 คือ พระจุฑาธุชราชฐาน 

หมู่ที่ 3
ท่าเทววงษ์
เกาะสีชัง
ชลบุรี
20120
องค์การบริหารส่วนตำบลท่าเทววงษ์ โทร. 0-3821-6519
13.1557498736211
100.812042206525
องค์การบริหารส่วนตำบลท่าเทววงษ์

จากการศึกษาพบว่า ข้อมูลเฉพาะของชุมชน "ท่าวัง" ที่ตั้งในตำบลท่าเทววงษ์ อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี มีการทำการศึกษาไว้จำนวนน้อยจึงไม่อาจทราบถึงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของชุมชนท่าวังได้โดยเฉพาะ การบรรยายนี้จะเป็นการกล่าวถึงภาพกว้างของความเป็น "อำเภอเกาะสีชัง" เพื่อให้เข้าใจภาพกว้างของชุมชนที่ตั้งในพื้นที่ชุมชนเกาะสีชัง 

แรกเริ่มเดิมที เกาะสีชัง เป็นกิ่งอำเภอขึ้นกับอำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2486 กิ่งอำเภอเกาะสีชังถูกโอนย้ายมาขึ้นกับอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และได้ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2537

โดย "เกาะสีชัง" เป็นเกาะที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากเคยเป็นสถานที่เสด็จประพาสและเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินของกรุงรัตนโกสินทร์ถึง 3 พระองค์ คือ รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ซึ่งเกาะสีชังได้ชื่อว่าเป็นภูมิสถานที่มีอากาศดี ภูมิประเทศสวยงาม ประกอบกับอยู่ไม่ไกลเมืองหลวงมากนัก บรรดาเจ้านาย ข้าราชการ ประชาชนทั่วไป ตลอดจนชาวต่างประเทศ จึงนิยมมาพักผ่อน พักฟื้นและรักษาตัวกันเป็นจำนวนมาก ในอดีตพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเกาะสีชังอยู่เนือง ๆ ทรงมีพระราชดำรัสสรรเสริญเกาะสีชังว่าเป็นสถานที่ที่อากาศดี ดังนั้น ผู้ที่อยู่บนเกาะจึงมีอายุยืนนานปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ

เกาะสีชังมีเกาะบริวารรวม 8 เกาะ ดังนี้

  1. เกาะขามใหญ่
  2. เกาะขามน้อย
  3. เกาะปรง
  4. เกาะร้านดอกไม้
  5. เกาะสัมปันยื้อ
  6. เกาะยายท้าว
  7. เกาะค้างคาว
  8. เกาะท้ายตาหมื่น

ดังที่กล่าวข้างต้น พบว่า บรรดาเกาะบริวารของเกาะสีชังทั้งหมด มีเพียงเกาะขามใหญ่ที่มีประชาชนปลูกบ้านอยู่เป็นหมู่บ้าน ส่วนเกาะค้างคาวจะมีเพียงรีสอร์ทไว้บริการนักท่องเที่ยวเท่านั้น เกาะอื่น ๆ ที่เหลือ ไม่มีประชากรอาศัยอยู่ เพราะเป็นเพียงเกาะเล็ก ๆ ที่เหมาะแก่การตกปลาเท่านั้น ซึ่งบนเกาะเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชุมชนนานนับร้อยปี มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่งดงามมากแห่งหนึ่งของประเทศไทย ตลอดจนมีปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุ ท่าเทียบเรือ โรงพยาบาล สถานที่พักตากอากาศ และหน่วยงานราชการอื่น ๆ หลายหน่วยงานตั้งอยู่

อำเภอเกาะสีชัง ตั้งอยู่ในอ่าวไทย นอกชายฝั่งอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นอำเภอที่เล็กที่สุดในประเทศไทย แต่เดิมขึ้นอยู่กับจังหวัดสมุทรปราการ และกระทรวงมหาดไทยย้ายไปสังกัดจังหวัดชลบุรีในปี พ.ศ. 2486

เกาะสีชังเป็นเกาะใหญ่ตั้งอยู่กลางทะเล ตรงข้ามกับอำเภอศรีราชา ห่างจากชายฝั่ง 3 ไมล์ทะเล (ประมาณ 12 กิโลเมตร) เป็นอำเภอที่ 10 ของจังหวัด ชลบุรี ในอดีตเกาะสีชังเคยอยู่ขึ้นอยู่กับจังหวัดสมุทรปราการ ต่อมาได้โอนมาขึ้นอยู่กับอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จนกระทั่งได้ยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ และอำเภอในปัจจุบัน มี 1 ตำบล คือตำบลท่าเทววงษ์ และ 7 หมู่บ้าน มีเกาะล้อมรอบเป็นบริวารอยู่ถึง 8 เกาะ คือ เกาะสัมปันยื้อ เกาะโปลง เกาะร้านดอกไม้ เกาะยายเท้า เกาะขามน้อย เกาะขามใหญ่ เกาะท้ายค้างคาว และเกาะตาหมื่น พื้นที่มีลักษณะเป็นโขดเขา และนอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ประสูติพระราชโอรส (เจ้าฟ้าจุฑาธุชฯ ในรัชกาลที่  6) และสร้างพระราชวังจุฑาธุช ณ เกาะแห่งนี้อีกด้วย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

พระจุฑาธุชราชฐาน ตั้งอยู่ ณ เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี 

อดีตเคยเป็นพระราชวังฤดูร้อนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลังจากเหตุการณ์วิกฤต ร.ศ.112 ได้สิ้นสุดการเป็นเขตพระราชฐาน และมีหน่วยงานราชการต่าง ๆ มาขอใช้พื้นที่ โดยปัจจุบัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้ามาขอใช้พื้นที่บางส่วน เพื่อเป็นสถานีวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเลและศูนย์ฝึกนิสิต และทำหน้าที่ดูแลรักษาพระจุฑาธุชราชฐานไปในคราวเดียวกัน

เมื่อ พ.ศ. 2545 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เริ่มทำการปรับปรุงพระราชฐานขึ้นใหม่ เพื่อจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน และสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2547 โดยในส่วนที่ได้ปรับปรุงและจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ และโบราณสถาน ดังนี้

  • พระเจดีย์อุโบสถ วัดอัษฎางคนิมิตร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2435 ปัจจุบันได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และเปิดให้เข้าชม
  • เรือนไม้ริมทะเล หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เรือนขนมปังขิง เป็นเรือนไม้สีเขียว สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5 ปัจจุบัน ได้รับการบูรณะ และใช้เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการที่น่าสนใจในเกาะสีชัง โดยปัจจุบันขายเครื่องดื่มและขนมให้กับนักท่องเที่ยว และห้องทางด้านซ้ายของเรือนเขียวมีประวัติความเป็นมาของเกาะสีชัง และข้าวของเครื่องใช้ในสมัยก่อนเช่น กลอนประตู, หินลับมีด, เศษเครื่องปั้นดินเผา
  • เรือนวัฒนา สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5 โดยพระราชทานนามตามพระนามสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ปัจจุบัน ใช้เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการเหตุการณ์สำคัญในเกาะสีชัง สมัยรัชกาลที่ 5
  • เรือนผ่องศรี สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5 โดยพระราชทานนามตามพระนามของพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ปัจจุบัน ใช้เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการพระราชประวัติ และประวัติบุคคลผู้มีบทบาทกับเกาะสีชังในอดีต
  • เรือนอภิรมย์ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5 โดยพระราชทานนามตามพระนามของพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ ปัจจุบัน ใช้เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการสิ่งปลูกสร้าง ในสมัยรัชกาลที่ 5

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

คราบน้ำมัน ณ บริเวณอ่าวท่าวัง อำเภอเกาะสีชัง

คราบน้ำมันที่เกาะสีชัง เป็นแนวยาวสีดำเกลื่อนหาดพบที่หาดทรายแก้ว หาดท่ายายทิม อ่าวท่าวัง เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2565 ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รายงานว่าได้รับแจ้งจากบริษัท สยามแท้งค์เทอร์มินอลส์ จำกัด ว่าพบน้ำมันขึ้นเกยหาดทรายแก้ว เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ซึ่งจากการตรวจสอบพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ อย่าง อ่าวท่าวัง ภายในพระจุฑาธุชราฐาน ที่ได้รับผลกระทบรองลงมาจากหาดท่ายายทิม และหาดทรายแก้วที่รับผลกระทบมากที่สุด ณ เวลาขณะนั้นยังไม่สามารถตรวจพบแหล่งที่มาของน้ำมันได้ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบทรัพยากรปะการังในพื้นที่ใกล้จุดเกิดเหตุ พบว่า มีแนวปะการังธรรมชาติบริเวณหาดท่าวังมีพื้นที่ประมาณ 2,500 ตารางเมตร ห่างจากชายหาดประมาณ 100 เมตร สถานภาพสมบูรณ์ปานกลาง และแนวปะการังบริเวณใกล้ท่ายายทิมมีพื้นที่ประมาณ 7,000 ตร.ม. ห่างจากชายฝั่งประมาณ 30-90 เมตร จากนั้น ได้เก็บตัวอย่างน้ำทะเล เพื่อนำไปวิเคราะห์ปริมาณปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนรวม และเก็บตัวอย่างคราบน้ำมันบริเวณชายหาด เพื่อส่งวิเคราะห์องค์ประกอบของน้ำมันต่อไป แต่ในเบื้องต้น ยังไม่พบความเสียหายของปะการัง เนื่องจากไม่มีปะการังโผล่พ้นน้ำในช่วงเวลาที่น้ำลงต่ำสุด และจะดำน้ำสำรวจผลกระทบต่อแนวปะการังต่อไป

หาดท่าวัง อยู่ในบริเวณพระจุฑาธุชราชฐาน และเหนือหาดท่าวังขึ้นไปเป็นแหลมท่าวัง ซึ่งเป็นที่ตั้งประภาคารทางด้านตะวันออกของเกาะ ทั้งนี้ การเข้าถึงได้โดยสะดวกและเล่นกิจกรรมทางน้ำได้ มีร้านอาหารและเครื่องดื่มบริการ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่เป็นจุดนิยมของนักท่องเที่ยวทั้งในท้องถิ่นและต่างจังหวัด

จักรพันธ์ ผาสิกา. (2557). ความเป็นไปได้ในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวโบราณสถานในเขตพระจุฑาธุชราชฐาน อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร.

กระทรวงสาธารณสุข. (2566). รายงานข้อมูลตำบลท่าเทววงษ์. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2566, จาก https://shorturl.asia/po8Gr

ยุวรินธร บุบผา. (2550). แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเกาะสีชัง. วิทยานิพนธ์ครุศาสตร์อุตสาหกรรมมหาบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

Thailand Tourism Directory. (2556). เกาะสีชัง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2566, จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/

จิรภรณ์ อุดม. (2556). เกาะสีชัง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.lib.ru.ac.th/

Etano f.NP. (ม.ป.ป.). หาดท่าวัง เกาะสีชัง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2566, จาก https://travel.mthai.com/

jasminta. (2560). พระจุฑาธุชราชฐาน พระราชวังแห่งเดียวในไทยที่สร้างอยู่บนเกาะ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2566, จาก https://shorturl.asia/U0Y84

ฐานเศรษฐกิจ. (2565). มาอีกแล้ว..คราบน้ำมันเกยหาดทรายแก้ว เกาะสีชัง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.thansettakij.com/