เป็นชุมชนเก่าแก่ที่ยังคงสภาพของสถาปัตยกรรมที่มีอายุมากกว่า 80 ปี อย่าง สถานที่พักอาศัย ของประชากรในชุมชน หรือจะเป็นชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ของศาสนสถานที่สำคัญ อันอาจจะเป็นที่มาของการตั้งหลักฐานจนก่อตัวเป็น "ชุมชนตรอกศิลป์-ตรอกตึกดิน" อาทิ วัดเทพธิดาราม วัดมหรรณพาราม และวัดราชนัดดาราม
ที่ดินในส่วนของชุมชนแห่งนี้ในนอดีตเคยเป็น ที่พักอาศัย ของข้าราชการและช่างตีทอง ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นที่ดินพระราชทาน โดยปัจจุบันยังมีบ้านของข้าราชการรุ่นเก่าตกทอดมาถึงลูกหลานให้เห็นกันในปัจจุบัน อาทิ บ้านของหลวงไชยประชานุรักษ์ เข้ามารับราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 อีกทั้งในสมัยก่อนเคยมีหน่วยงานของกรมศิลปากรอยู่ในตรอกศิลป์ จึงอาจเป็นด้วยเหตุทำให้ผู้คนทั่วไปเรียกชื่อตรอกนี้ว่า "ตรอกศิลป์"
ส่วนคำว่า "ตึกดิน" สันนิษฐานว่าน่าจะบ่งชี้ถึงหลุมหลบภัยที่เคยสร้างในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองในบริเวณนี้ในอดีต โดยไม่หลงเหลือให้เห็นในปัจจุบันอีกแล้ว
เป็นชุมชนเก่าแก่ที่ยังคงสภาพของสถาปัตยกรรมที่มีอายุมากกว่า 80 ปี อย่าง สถานที่พักอาศัย ของประชากรในชุมชน หรือจะเป็นชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ของศาสนสถานที่สำคัญ อันอาจจะเป็นที่มาของการตั้งหลักฐานจนก่อตัวเป็น "ชุมชนตรอกศิลป์-ตรอกตึกดิน" อาทิ วัดเทพธิดาราม วัดมหรรณพาราม และวัดราชนัดดาราม
ชุมชนตรอกศิลป์-ตรอกตึกดิน เป็นหนึ่งในชุมชนดั้งเดิมของกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่ในพื้นที่แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร จัดอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า บริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอกตามแผนแม่บท เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสิทน์ ในอดีตบริเวณนี้มีความสำคัญทางด้านการเป็นศูนย์กลางของพระนครทางด้านศาสนา ในช่วงการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 1 ได้รับอิทธิพลและแนวคิดจากสมัยอยุธยา โดยมีความต้องการให้มีบทบาทเป็นศูนย์กลางของพระนคร โดยมี "วัดสุทัศน์เทพวราราม" เป็นศาสนสถานถือว่าเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชุมชนในอดีต "โบสถ์พราหมณ์และเสาชิงช้า" ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในพิธีกรรมที่มีความสำคัญในอดีต แม้ต่อมาพระนครได้ขยายพื้นที่ออกไปรอบนอกพื้นที่ก็ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยบทบาทหน้าที่ที่ได้รับเกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ซึ่งแสดงถึงความสำคัญของพื้นที่แห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
ในช่วงยุคต้นรัตนโกสินทร์ พื้นที่บริเวณเสาชิงช้า ได้ถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กลางพระนคร โดยมีเส้นทางเชื่อมต่อจากพระบรมมหาราชวัง ทั้งทางบกและทางน้ำ คือถนนเสาชิงช้า หรือถนนบำรุงเมืองในปัจจุบัน และคลองหลอดวัดเทพธิดา ทำหน้าที่เป็นเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพื้นที่นอกเมืองทางด้านตะวันออก โดยผ่านทางประตูสำราษฎร์ หรือประตูผีเพื่อไปออกยังภูเขาทอง วัดสระเกศและเป็นทางสัญจรหลวงที่ใช้เป็นขบวนเสด็จในการชมพิธีโล้ชิงช้า นอกจากนั้นในบริเวณนี้ยังมีศาสนสถานที่สำคัญ 3 แห่ง คือ วัดมหรรณพาราม วัดเทพธิดาราม และวัดราชนัดดาราม อันถือเป็นวัดที่อยู่คู่พื้นที่แห่งนี้มาสมัยต้นรัตนโกสินทร์
จากความเป็นมาและความสำคัญของพื้นที่บริเวณดังกล่าว ทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของราษฎรตามบริเวณแนวคลองหลอดวัดเทพธิดา และศูนย์กลางเมืองทางด้านศาสนา ที่มีวัดสำคัญในศาสนาพุทธถึง 4 แห่ง และศาสนสถานในศาสนาอื่นอีก 3 แห่ง คือโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า และศาลเจ้าพ่อเสือ นับเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวจีนในสมัยนั้น
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบที่อยู่อาศัยของชุมชนตรอกศิลป์-ตรอกตึกดิน ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยต่าง ๆ ที่มากระทบในลักษณะเดียวกับชุมชนอื่น ๆ ในพื้นที่ย่านเสาชิงช้า เมื่อผ่านสมัยรัชกาลที่ 5 เข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี พ.ศ. 2475 ที่มีการกำหนดให้พื้นที่บริเวณนี้เป็นศูนย์กลางการบริหารของหน่วยงานท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร มีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ทดแทนตลาดเสาชิงช้าเดิมที่ถูกรื้อออกหมด จนกลายเป็นศาลาว่าการกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงรูปแบบที่อยู่อาศัยของชุมชนเกิดขึ้นตามการพัฒนาของเมือง โดยมีการเกิดแหล่งงานขึ้นในชุมชน ส่งผลให้ราคาที่ดินในบริเวณนี้สูงขึ้น ดังนั้น การสร้างที่พักอาศัยเพิ่มเติมขึ้นใหม่ในบริเวณนี้จึงเป็นการก่อสร้างอาคารประเภทบ้านแถว ตึกแถว ที่สามารถใช้ค้าขายและอยู่อาศัยเป็นส่วนใหญ่ ดังที่เห็นในบริเวณถนดินสอ
ทว่า ในช่วงต้นรัชกาลที่ 9 เข้าสู่ยุคปัจจุบัน พื้นที่ในเขตพระนครหนาแน่นไปด้วยผู้คนอาศัยจำนวนมาก เนื่องจากเมืองที่ถูกพัฒนาและขยายตัวออกไปจากศูนย์กลางเดิม เป็นผลให้พื้นที่ภายในพระนครที่เคยเป็นศูนย์กลางเดิม กลายเป็นย่านสถาบันราชการ และย่านพาณิชยกรรม ที่มีลักษณะเป็นตึกแถวของคนชั้นกลาง ส่วนอาคารพักอาศัย อย่าง อพาร์ทเมนต์ มีความหนาแน่นเพิ่มขึ้นทั้งแนวดิ่งและแนวราบ เนื่องจากมีค่าทางเศรษฐกิจในการก่อสร้างมากกว่าตึกแถว
ชุมชนตรอกศิลป์-ตรอกตึกดิน เป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีการอยู่อาศัยมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จากการสำรวจชุมชนดั้งเดิมของเขตพระนครเบื้องต้นในงานวิจัยที่ศึกษา พบว่า ชุมชนตรอกศิลป์-ตรอกตึกดิน มีรูปแบบที่อยู่อาศัยที่หลากหลายอยู่ในชุมชน และมีบ้านที่ยังคงลักษณะสถาปัตยกรรมดั้งเดิมไว้เป็นอย่างดีจำนวนมากกว่าชุมชนอื่น ๆ (เป็นงานศึกษาในปี พ.ศ. 2547) โดยชุมชนแห่งนี้ที่นับว่าเป็นชุมชนเก่าแก่ ที่มีอายุอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 2 ถึงรัชกาลที่ 6 คือมีอายุบ้านมามากกว่า 80 ปีขึ้นไป ซึ่งกระจายตัวอยู่เต็มพื้นที่อย่างหนาแน่น เนื่องจากเป็นบริเวณที่พักอาศัยของขุนนาง ข้าราชการมาตั้งแต่เดิม
พื้นที่ของชุมชนตรอกศิลป์-ตรอกตึกดิน อยู่ในแขวงเสาชิงช้า และวัดบวรนิเวศน์ โดยมีเนื้อที่ 1 ไร่ 28 ตารางวา ซึ่งมีอาณาเขตที่ติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ ถนนราชดำเนินกลาง
- ทิศใต้ ติดกับ ถนนมหรรณพ
- ทิศตะวันออก ติดกับ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
- ทิศตะวันตก ติดกับ วัดมหรรณพาราม
การศึกษาจำนวนประชากร จากข้อมูลสำรวจในเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 พบว่า ชุมชนตรอกศิลป์-ตรอกตึกดิน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 544 คน จำนวนครัวเรือน 117 ครัวเรือน โดยมีความหนาแน่นของประชากร 4.64 คนต่อครัวเรือน
ประชากร สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ (1) ผู้ที่อยู่ในที่ดินและบ้านของตนเอง มีจำนวน 61 หลังคาเรือน คิดเป็นร้อยละ 53 ของบ้านทั้งหมดในชุมชน ส่วนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ส่วนใหญ่เป็นของเอกชน ประมาณร้อยละ 90 และที่เหลือเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมศาสนา และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และ (2) ผู้ที่เช่าอยู่ เป็นกลุ่มที่ส่วนใหญ่เข้ามาอยู่ในทะเบียนบ้าน จากการศึกษาผ่านวิทยานิพนธ์ พบว่า ส่วนใหญ่ย้ายเข้ามาในลักษณะของเครือญาติ หรือคนรู้จักที่อยู่ในละแวกบ้านเดียวกัน หรือจากจังหวัดเดียวกัน
ศาสนสถานสำคัญในบริเวณชุมชน
- วัดสุทัศน์เทพวราราม เริ่มสร้างในตอนปลายรัชกาลที่ 1 ช่วง พ.ศ. 2350 เดิมชื่อ วัดมหาสุทธาวาส ตั้งอยู่บนถนนบำรุงเมืองใกล้เสาชิงช้า โดยมีพระราชประสงค์จะให้เป็นวัดกลางพระนคร มีวิหารสูงใหญ่เท่าวัดพนัญเชิงที่กรุงเก่า และเป็นที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนี ซึ่งได้โปรดให้อัญเชิญลงมาจากเมืองสุโขทัย ดำเนินต่อเนื่องมาจนสำเร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2390 ซึ่งตรงกับรัชกาลที่ 3 และได้รับพระราชทางนามใหม่ว่า "วัดสุทัศน์เทพวราราม"
- วัดเทพธิดาราม สร้างในรัชกาลที่ 3 ตั้งอยู่ริมถนนมหาไชย และริมคลองหลอดวัดเทพธิดาราม เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชทานแด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าวิลาส ซึ่งภายหลังทรงสถาปนาขึ้นเป็นกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลจากจีน
- วัดราชนัดดาราม ตั้งอยู่ริมถนนมหาไชย ใกล้วัดเทพธิดาราม โดยมีคลองหลอดวัดเทพธิดาคั่น เดิมทีเป็นสวนผลไม้ริมกำแพงพระนคร สร้างเพื่อพระราชทานเป็นเกียรติแด่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี
- วัดมหรรณพาราม ตั้งอยู่ริมถนนตะนาวฝั่งขวา และริมคลองหลอดวัดเทพธิดาเป็นวัดที่เจ้านายทรงสร้าง โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอุดมรัตนธานี (พระองค์เจ้าอรรณพ) พระราชโอรสในรัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2393 และในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้รับเลือกให้เป็นสถานที่ทดลองจัดตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับสามัญชนขึ้นเป็นครั้งแรก
ศาสนสถานอื่น ๆ ที่สำคัญในพื้นที่
- โบสถ์พราหมณ์และเสาชิงช้า สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2327 เมื่อรัชกาลที่ 1 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พรามหณ์มีนามว่า พระครูสิทธิชัย (กระต่าย) จัดสร้างเทวสถานแห่งนี้ พร้อมกับสร้างเสาชิงช้า บริเวณถนนดินสอ โดยมีเสาชิงช้าตั้งอยู่ด้านหน้า ทั้งนี้เพื่อใช้ในการประกอบพิธียินชิงช้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิธีตรียันปวาย หรือวันขึ้นปีใหม่ของพรามหณ์เป้นครั้งแรก เพื่อขอพรจากพระอิศวรให้ประเทศมีแต่ความมั่งคงสถาพระและอุดมสมบูรณ์ ทว่า "พิธพีโล้ชิงช้า" ที่มีการสืบทอดมาอย่างช้านานได้ถูกยุติลงไปเมื่อเข้าสู่ช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475
กรรมสิทธิ์ในที่ดินของชุมชนตรอกศิลป์-ตรอกตึกดิน ส่วนใหญ่เป็นของเอกชน มีที่ดินที่ถือครองกรรมสิทธิ์โดยกรมการศาสนา และสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แต่เป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับชุมชนอื่น ทำให้การเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยเกิดขึ้นได้โดยอิสระ จากผู้เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยเอง ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานใด
ศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์. (ม.ป.ป.). ชุมชนตรอกศิลป์-ตรอกตึกดิน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2566, จาก http://www.resource.lib.su.ac.th/rattanakosin/index.php/2014-10-27-08-52-32/2015-10-20-03-52-07.
วิสุทธิ์ นุชนาบี. (2563). คุณลักษณะและความหมายของตรอก กรณีศึกษาชุมชนตรอกศิลป์-ตรอกตึกดิน เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร. สาระศาสตร์, 1, 93-105.
พรหมพรรณ พรหมสาขา ณ สกลนคร. (2547). การเปลี่ยนแปลงรูปแบบที่อยู่อาศัยของชุมชนดั้งเดิมในกรุงรัตนโกสินทร์ กรณีศึกษาชุมชนตรอกศิลป์-ตรอกตึกดิน. วิทยานิพนธ์เคหพัฒนาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.