ชุมชนบ้านทุ่งยายชีเป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังอยู่ภายใต้วิถีเกษตร มีที่เที่ยวทางธรรมชาติที่น่าสนใจ อย่าง อ่างเก็บน้ำคลองสียัด ศาลเจ้าพ่อเขากา และน้ำตกทุ่งยายชี โดยน้ำตกที่สร้างขึ้นด้วยฝายหิน เพื่อชะลอน้ำ ทำให้เกิดเป็นน้ำตกที่มีความสวยงาม สามารถลงเล่นน้ำ พายเรือคายัค เหมาะสำหรับเป็นสถานที่พักผ่อนวันหยุด
ชุมชนบ้านทุ่งยายชีเป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังอยู่ภายใต้วิถีเกษตร มีที่เที่ยวทางธรรมชาติที่น่าสนใจ อย่าง อ่างเก็บน้ำคลองสียัด ศาลเจ้าพ่อเขากา และน้ำตกทุ่งยายชี โดยน้ำตกที่สร้างขึ้นด้วยฝายหิน เพื่อชะลอน้ำ ทำให้เกิดเป็นน้ำตกที่มีความสวยงาม สามารถลงเล่นน้ำ พายเรือคายัค เหมาะสำหรับเป็นสถานที่พักผ่อนวันหยุด
เป็นชุมชนเก่าแก่อย่างน้อยน่าจะเกิดราว ๆ ต้นสมัยรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานจากประวัติของวัดทุ่งยายชี แต่เดิมสถานที่ตั้งวัดแห่งนี้เป็นทุ่งป่าเต็งรัง ครั้งนั้นมีชาว้านป่าตั้งบ้านอยู่เพียง 7 - 8 หลังคาเรือน มียายชีเดินทางมาจากจันทบุรี โดยมีจุดมุ่งหมายจะไปเมืองแปดริ้ว หรือฉะเชิงเทรา
เมื่อมาถึงป่าเต็งรังแห่งนี้ ซึ่งเป็นช่วงใกล้วันเข้าพรรษา ชาวบ้านได้เชิญแม่ชีอยู่จำพรรษาในหมู่บ้านแล้วช่วยกันสร้างกุฏิหลังเล็ก ๆ ให้เป็นที่อยู่อาศัยในช่วงเข้าพรรษา ยายชีผู้นี้อยู่นานหลายปีจนในที่สุดได้จากไปด้วยความตาย ชาวบ้านจึงเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า "ทุ่งยายชี"
ทว่า ต่อมามี นายฮ้อย คนหนึ่งพร้อมด้วยกับชาวบ้านมีความคิดเห็นร่วมกันว่า สถานที่แห่งนี้เป็นที่อยู่ของยายชี ควรที่จะสร้างสำนักสงฆ์ จึงพร้อมใจกันสร้างกุฏิและศาลาเป็น "สำนักสงฆ์ทุ่งยายชี" สมัยรัชกาลที่ 3 มีชาวบ้านบริจาคที่ดินสร้างวัด ในครั้งนั้นเขตลุ่มน้ำคลองสียัดมี "วัดทุ่งยายชี" เพียงวัดเดียวที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน
บ้านทุ่งยายชี หมู่ที่ 3 ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอท่าตะเกียบ เป็นระยะทาง 12 กิโลเมตร โดยมีขอบเขตชุมชนติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านเนินกระบก หมู่ที่ 12 ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านน้อยนาดี หมู่ที่ 11 ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านชมพู หมู่ที่ 17 ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านสวนป่า อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา
นอกจากนี้ พบว่ามีเนื้อที่ จำนวน 3,500 ไร่ แบ่งออกเป็น (1) พื้นที่อยู่อาศัย 300 ไร่ (2) พื้นที่ทำการเกษตร 3,200 ไร่ (3) พื้นที่ทำนา 1,700 ไร่ (ทำนาปีละ 1-2 ครั้ง) (4) พื้นที่ทำไร่ 1,150 ไร่ (5) พื้นที่ทำสวน 350 ไร่ และ (6) พื้นที่การเกษตรในเขตชลประทาน (เขตสูบน้ำด้วยไฟฟ้าคลองชลประทาน) 250 ไร่
สภาพทั่วไปของชุมชนบ้านทุ่งยายชี
มีพื้นที่เป็นที่ราบลูกฟูก ชุมชนตั้งอยู่ฝั่งขวาของคลองสียัด (ฝั่งขวาดังกล่าว คือหันหน้าไปทางปากคลอง หมู่บา้นที่ตั้งอยู่ฝั่งขวามือ เรียกว่า "ฝั่งขวาของคลอง") โดยมีการตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มมีความเป็นเครือญาติสูง มีโรงเรียนวัดทุ่งยายชี มีที่ทำการกำนันตำบลท่าตะเกียบ และมีที่พักสายตรวจตำบลท่าตะเกียบ บริเวณเชิงสะพานข้ามคลองสียัดก่อนเข้าชุมชนดั้งเดิม
จำนวนครัวเรือน 155 หลัง จำนวนประชากรทั้งหมด ทั้งหมด 743 คน โดยแบ่งเป็นชาย 392 คน และหญิง 401 คน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ
ผู้คนในชุมชนบ้านทุ่งยายชี มีอาชีพหลัก คือ ทำไร่มันสำปะหลัง ปลูกอ้อย ทำนาในที่ลุ่มฝั่งคลองสียัด รับจ้าง และค้าขาย
ทุนทางธรรมชาติ
บ้านทุ่งยายชี หมู่ที่ 3 ตำบลท่าตะเกียบ เป็นชุมชนที่เป็นทางผ่านของสายน้ำที่มีชื่อว่า "คลองสียัด" ซึ่งเป็นทางผ่านของน้ำจากเขื่อนสียัด ที่มีระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร เป็นความสวยงามของลำคลองที่คดเคี้ยว และริมสองฝั่งของลำน้ำมีธรรมชาติที่สวยงาม ร่มรื่น นับเป็นทุนทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของบ้านทุ่งยายชี
ทุนทางกายภาพ
ผู้คนในหมู่บ้านทุ่งยายชี มองเห็นถึงความสวยงามของคลองสียัดที่ไหลผ่าน ประกอบกับแนวนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทราในการน้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ในชุมชน โดยการทำฝายชะลอน้ำกั้นคลองสียัด เป็นระยะ ๆ จึงก่อให้เกิดเป็น น้ำตกทุ่งยายชี ไหลตลอดเวลา และเกิดบริเวณน้ำที่กว้าง มีความสะอาดเหมาะสำหรับให้นักท่องเที่ยวมาพักผ่อนหย่อนใจ และคนในชุมชนมีแนวคิดในการสร้างจุดท่องเที่ยวในชุมชน ด้วยการร่วมแรงร่วมใจในการสร้าง สะพานเชื่อมรัก ซึ่งเป็นทุนทางกายภาพของหมู่บ้านแห่งนี้
ทุนทางสังคม
ผู้คนในหมู่บ้านทุ่งยายชี เป็นคนพื้นถิ่นที่อาศัยในหมู่บ้านนี้มาเป็นเวลานาน จึงมีความสนิทสนม มีความเป็นพี่เป็นน้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน เสมือนเครือญาติ จึงก่อให้เกิดความรักความสามัคคี มีความร่วมมือร่วมใจ ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเป็นอย่างดี จึงสามารถดำเนินการตามโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ประสบความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทุนทางวัฒนธรรม
ชุมชนบ้านทุ่งยายชี เป็นชุมชนเกษตรกรรมที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างลงตัว อาทิ การตำข้าวด้วยครกกระเดื่อง ฝัดข้าวแบบโบราณ การทำน้ำอ้อยจากแรงงานควาย กิจกรรมร้องรำทำเพลงยามค่ำคืน ชมวิถีชีวิตกรีดยาง ชมช้างป่า พายเรือเก็บผักกูด
- อาหารพื้นถิ่น อาทิ เมนูอาหารจากผักกูด ข้าวหลาม ข้าวจี่ เมนูอาหารแปรรูปชนิดต่างๆจากผลผลิตทางการเกษตร
การนำหลักคิดแนวทางและขั้นตอนในการนำแนวคิดการพัฒนา OTOP รูปแบบใหม่ด้วยนวัตกรรม ให้มีการพัฒนาสินค้า OTOP และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยชุมชนสู่การสร้างรายได้ โดยการสร้างสรรค์ทุนชุมชน ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม เสน่ห์ และอัตลักษณ์ของชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนด้วยโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ส่งผลให้เกิดปรากฎการณ์ที่เปลี่ยนแปลงขึ้นกับบ้านทุ่งยายชี หมู่ที่ 3 ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา ดังนี้
1. สถานที่ท่องเที่ยว เล่นน้ำน้ำตกทุ่งยายชี และตลาดร้อยร้านที่เกิดขึ้นในชุมชนบ้านทุ่งยายชี จากการจัดระเบียบ ปรับปรุง คลองสียัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ น้ำใสสะอาด เป็นทุนเดิมให้เป็นจุดดึงดูดความสนใจของผู้ที่กำลังมองหาสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้บ้าน เดินทางสะดวก ปลอดภัย ซึ่งเกิดจากเวทีแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ร่วมกันคิดร่วมกันทำของคนในชุมชน
2. ผู้นำ ประชาชนในหมู่บ้านทุ่งยายชีมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น มีความรักความสามัคคี และมีความเสียสละต่อส่วนรวม มีจิตใจดี มีเมตตา มีการทำงานเพิ่มขึ้น มีการรวมกลุ่มกันในการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ มีการกำหนดระเบียบ กติกา ชุมชน และปฏิบัติร่วมกัน มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างเป็นระบบ เป็นสังคมแห่งความเกื้อกูล
3. ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีอัตลักษณ์ ที่โดดเด่นเกิดจาก ภูมิปัญญา และการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนมาผลิตโดยใช้นวัตกรรม เติมแต่งให้ผลิตภัณฑ์น่าสนใจ สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชน 135 ครัวเรือน มีรายได้ผ่านเกณฑ์ จปฐ. 38,000 ต่อคนต่อปี
4. การค้นพบประเพณีวัฒนธรรมที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้มีการบันทึกไว้อย่างเป็นระบบ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความเป็นเอกลักษณ์ และตัวตนของคนบ้านทุ่งยายชีสู่สังคมอย่างกว้างขวาง
ดังนั้น จากโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ที่พลิกเปลี่ยนวิธีคิดในการสร้างอาชีพสร้างรายได้ จากการนำผลผลิตไปจำหน่ายแก่บุคคลภายนอก เปลี่ยนเป็นให้บุคคลภายนอกได้เข้ามารับรู้สัมผัสความเป็นตัวตนที่แท้จริง และได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าของชุมชนซึ่งมอบให้เป็นการดีต่อใจทั้งผู้รับและผู้ผลิต เป็นผลให้คนในชุมชน มีความรัก และหวงแหนประเพณีวัฒนธรรมเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวิถีของชุมชน รวมถึงเป็นการส่งต่อสิ่งที่ ดีงามของพื้นถิ่นสู่ลูกหลานให้สืบต่อและมีความยั่งยืนต่อไป
tripgether. (2561). หลงเสน่ห์ชุมชนคลาสสิค!! แวะเที่ยว 18 ชุมชนเล็กๆ ที่ไม่ธรรมดาจาก 6 จังหวัดน่าเที่ยวภาคตะวันออก. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 2 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.tripgether.com/อัปเดตเรื่องเที่ยว/หลงเสน่ห์ชุมชนคลาสสิค-แวะเที่ยว-18-ชุมชนเล็กๆ-ที่ไม่ธรรมดาจาก-6-จังหวัดน่าเที่ยวภาคตะวันออก.
วิบูลย์ เข็มเฉลิม และคณ. (2548). โครงการวิจัยประวัติศาสตร์วัฒนธรรมท้องถิ่นชุมชนบ้านป่าต้นน้ำคลองระบม-สียัด. (รายงานวิจัย). กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สกว.
travel2guide. (2561). ชุมชนท่าตะเกียบ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 2 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.travel2guide.com/ท่องเที่ยวชุมชน-ท่าตะเกียบ-จังหวัดฉะเชิงเทรา.html
กรมการพัฒนาชุมชน. (2561). ชุมชนบ้านทุ่งยายชี จ.ฉะเชิงเทรา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 2 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.cdd.go.th/content/services/ชุมชนบ้านทุ่งยายชี-จ-ฉะเ.