ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ ทั้งลาหู่ดำและลาหู่แดง ล้วนนับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งหมู่บ้านตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว
ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ ทั้งลาหู่ดำและลาหู่แดง ล้วนนับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งหมู่บ้านตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว
บ้านหนองเขียว อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว ตั้งอยู่หมู่ที่ 12 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ หมู่บ้านของชาวลาหู่ได้อพยพมาตั้งรกรากอยู่ที่หมู่บ้านหนองเขียวเมื่อประมาณ 30 กว่าปีมาแล้ว ก่อนโครงการหลวงจะเข้ามาก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2523 ขณะเดียวกันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จเยี่ยมราษฎรในพื้นที่บ้านหนองเขียวและมีพระราชดำริให้ก่อตั้งโครงการหลวงขึ้นในปี พ.ศ. 2535 ภายหลังสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้เสด็จเยี่ยมราษฎรในพื้นที่อีกครั้ง
ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่อพยพมาจาก อำเภอแม่จัน และอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงราย และอำเภอแม่แดง จังหวัดเชียงใหม่ ในระยะแรกมีจำนวน 15 ครัวเรือน ชาวลาหู่ทั้งหมดในหมู่บ้านนับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งในอดีตมีบาทหลวงชื่อ เดนิเอล เป็นชาวคะฉิ่น ได้มาสอนศาสนาและส่งเสริมด้านตลาดหัตถกรรมให้กับชุมชน (ธันยา พรหมบุรมย์, และ วิสุทธร จิตอารี, 2550, น.54-56)
บ้านหนองเขียว มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 486 ครัวเรือน รวมประชากรประมาณ 4,000 กว่าคน แบ่งเป็นชาวเขาเผ่าลาหู่ดำ ประมาณร้อยละ 60 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด ที่เหลืออีกร้อยละ 40 เป็นชาวเขาเผ่าลาหู่แดง ลาหู่จะแล และลาหู่แซะแล (บางคนเรียกว่าลาหู่ดำ) (ธันยา พรหมบุรมย์, และ วิสุทธร จิตอารี, 2550, น.54)
ขณะเดียวกันจากข้อมูลจำนวนประชากรสำนักบริหารการทะเบียน อำเภอเชียงดาว กรมการปกครอง ณ เดือน กรกฎาคม 2564 ระบุว่า บ้านหนองเขียว มีจำนวนครัวเรือน 999 ครัวเรือน แบ่งเป็นเพศชาย 1,923 คน และเพศหญิง 1,927 คน รวมประชากรทั้งสิ้น 3,850 คน (เทศบาลตำบลเมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่, 2564)
ลาหู่1) นายเดวิ วิมลศรีเพชร ผู้ใหญ่บ้าน
ทุนวัฒนธรรม : หัตถกรรมผ้าทอ
เมื่อประมาณ 20 กว่าปีมาแล้ว ชาวบ้านเคยทอผ้าโดยมีการทอแบบกี่เอวและมีการเย็บเป็นรูปแบบต่าง ๆ เช่น จานรองแก้ว ผ้าปูโต๊ะ ถุงย่าม ผ้าตบแต่งห้อยข้างฝา โดยขายส่งให้กับหัตถกรรมชาวเขา สถานที่ตั้งอยู่ใกล้โรงพยาบาลแมคคอมิค จังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านส่วนใหญ่ทอผ้าเป็นอยู่แล้วก่อนที่จะอพยพมาอยู่ที่หมู่บ้าน โดยเรียนรู้จากเพื่อนบ้านหรือพ่อแม่เป็นผู้สอนขึ้นอยู่กับความสนใจของแต่ละคน
ในปี 2524 มีชาวบ้านในหมู่บ้านหนองเขียวจำนวน 35 คน (ครัวเรือน) ที่ผลิตและนำส่งขายให้กับหัตถกรรมชาวเขา ดำเนินการโดยมิชชันนารี ชาวบ้านมีตัวแทนที่นำสินค้าส่งขายให้ โดยมีการตรวจสอบคุณภาพสินค้าต้องเป็นการเย็บด้วยมือเท่านั้น ชาวบ้านจะใช้ทุนหมุนเวียนและแบ่งปันสมาชิกในสัดส่วนเท่า ๆ กัน ระยะต่อมาทางกลุ่มเริ่มมีปัญหาด้านการตลาด เนื่องจากออเดอร์จากร้านค้าหัตถกรรมชาวเขาน้อยลง เพราะมีสินค้าของชนเผ่าอื่นมากขึ้นทำให้รายได้น้อยลง สมาชิกในกลุ่มจึงเลิกผลิตเมื่อปี พ.ศ. 2545 ในช่วงที่ผลิตได้เยอะมีรายได้ประมาณ 3,000 บาท/เดือน แต่ถ้าผลิตได้น้อยจะมีรายได้ประมาณ 1,000-2,000 บาท/เดือน ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อใช้เอง (ธันยา พรหมบุรมย์, และ วิสุทธร จิตอารี, 2550, น.57-58)
โดยชาวบ้านจะเริ่มทอในช่วงมกราคม–เมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่เว้นว่างจากทำการเกษตร ลวดลายของผ้ามักเป็นไปตามคำสั่งซื้อของพ่อค้าคนกลางเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่ลวดลายที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ความเป็นลาหู่ ลำหรับลายของผ้าทอแถบยาวไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ แต่ชาวลาหู่ที่ทอขายให้จะเรียกว่า "ลายลีซอ” เนื่องจากพ่อค้าชาวลีซอเป็นคนรับซื้อและสั่งให้ทำหรือเรียกอีกอย่างว่าลาย “พากะ หรือ ผักกะ” สำหรับชิ้นงานที่เห็นว่าเป็นงานที่ทำสืบทอดกันต่อมา คือ ถุงย่าม ซึ่งมักทำใช้เองมากกว่าขาย ส่วนลวดลายดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าจะเป็นลายคล้าย ๆ ผ้ามาเย็บต่อกันเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยม ไม่ทราบที่มาแน่ชัด ซึ่งลายของลาหู่จะมีความแตกต่างกันไปสามารถแยกแยะออกได้จากการพิจารณาที่ลายผ้าว่าเป็นลาหู่ดำหรือแดง (ธันยา พรหมบุรมย์, และ วิสุทธร จิตอารี, 2550, น.61-62)
ธันยา พรหมบุรมย์, และ วิสุทธร จิตอารี. (2550). การศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาหัตถกรรมท้องถิ่นและตลาด ในพื้นที่โครงการ : กรณีศึกษาผ้าทอชาติพันธุ์ลาหู่ (รายงานการวิจัย). เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
เทศบาลตำบลเมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่. (2564). ข้อมูลพื้นฐานและสภาพทั่วไปของเทศบาลตำบลเมืองนะ. ค้นจาก http://muangnalocal.go.th/
มูลนิธิอีสตาร์. (ม.ป.ป.). คริสตจักรหนองเขียวโบสถ์ 2. ค้นจาก https://tuthai.org/directory/church/