Advance search

ด้วยความสัมพันธ์ของผู้คนที่แนบชิด การไปมาหาสู่ระหว่างหมู่บ้านเป็นไปได้โดยง่าย เกิดการแลกปลี่ยนวัฒนธรรมพื้นบ้านระหว่างกัน จนกลายเป็นหมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์โส้ที่ยังคงรักษา สืบทอด วัฒนธรรม จากรุ่นสู่รุ่นผ่านการทำกิจกรรมตามประเพณี

หมู่ที่ 3
บ้านโพธิไพศาล
โพธิไพศาล
กุสุมาลย์
สกลนคร
อบต.โพธิไพศาล โทร. 0-4270-4604
ปวีณา สุริยา
16 ก.พ. 2023
ปวีณา สุริยา
14 มี.ค. 2023
บ้านโพธิไพศาล


ด้วยความสัมพันธ์ของผู้คนที่แนบชิด การไปมาหาสู่ระหว่างหมู่บ้านเป็นไปได้โดยง่าย เกิดการแลกปลี่ยนวัฒนธรรมพื้นบ้านระหว่างกัน จนกลายเป็นหมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์โส้ที่ยังคงรักษา สืบทอด วัฒนธรรม จากรุ่นสู่รุ่นผ่านการทำกิจกรรมตามประเพณี

บ้านโพธิไพศาล
หมู่ที่ 3
โพธิไพศาล
กุสุมาลย์
สกลนคร
47210
17.37146
104.36551
องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิไพศาล

บ้านโพธิไพศาล เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลโพธิไพศาล ซึ่งมีอยู่ 2 หมู่ คือ หมู่ที่ 3 และ หมู่ที่ 9 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอกุสุมาลย์ตามถนน รพช. สายกุสุมาลย์ - ท่าอุเทน ประมาณ 6 กิโลเมตร และห่างจากตัวเมืองสกลนคร ตามถนนสกลนคร - นครพนม ประมาณ 49 กิโลเมตร ตามที่ดอนยังเป็นป่าโปร่ง ชาวบ้านยังเก็บพืชพันธุ์ตามธรรมชาติ เช่น เห็ด ดอกกะเจียว และเก็บกิ่งไม้มาไว้ทำ ฟืน

ชาวโส้อพยพมาจากบ้านเมืองมหาชัยกองแก้วในประเทศลาวมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านเมืองเก่า พอประชากรเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งก็อพยพไปอยู่ที่เมืองกุสุมาลย์มณฑล โดยมีหลวงอรัญอาสาเป็นเจ้าเมือง บางส่วนยังอยู่ที่เดิม บางส่วนย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่กุดเขางัว (มีหลักฐานพบแผ่นหินสลักเป็นรูปเขางัว คือ เขาวัว) เมื่อมีประชากรมากขึ้น จึงมีการยกฐานะเป็นเมืองโพธิไพศาลนิคม (มีต้นโพธิ์ใหญ่ 5 ต้น หมายถึง พระเจ้า 5 พระองค์) โดยมีเจ้าเมืองชื่อว่า พระไพศาลสีมานุรักษ์ และมีลูกต่อมาชื่อว่า พระบุรีสีมานุรักษ์ มีหลานปกครองต่อมาชื่อว่าพระพิศิทธิ์ รันพิศาล เสียชีวิตเมื่ออายุ 83 ปี มีประวัติการตั้งเมืองดังนี้

บ้านโพธิไพศาลเคยเป็นเมืองเก่าก่อน ชื่อว่าเมือง โพธิไพศาลนิคม ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2419 มีหลักฐานว่า ครั้นปีเถา นพศก จุลศักราช 1234 (พ.ศ.2415) พวกข่ากะโส้เมืองกุสุมาลย์มณฑล เกิดวิวาทชิงตำแหน่งทางราชการ โดยที่ท้าวขัตติยะไทยข่ากะโส้เป็นหัวหน้า ร้องขอเป็นเมืองขึ้นของเมืองสกลนคร โดยขอแยกตัวเมืองกุสุมาลย์มณฑล จึงโปรดเกล้าฯให้ท้าวขัตติยะ เป็นพระไพศาลสิมานุรักษ์เจ้าเมือง แล้วยกบ้านนาโพธิในแขวงเมืองสกลนครเป็นเมืองโพธิไพศาลนิคม ขึ้นเมืองสกลนครอีกเมืองหนึ่ง รับผูกส่วยผลเร่วอยู่กับเมืองสกลนคร

ภายหลังเมื่อมีการปรับปรุงรูปแบบของการปกครองหัวเมือง ในรัชกาลที่ 6 ในพ.ศ. 2457 เมืองที่สำคัญ เช่น กุสุมาลย์มณฑล โพธิไพศาลนิคม จึงถูกลดฐานะลงเป็นเพียงตำบลหนึ่งเท่านั้น แต่ต่อมากุสุมาลย์ได้ลดฐานะเป็นกึ่งอำเภอในพ.ศ. 2505 เป็นอำเภอปีพ.ศ.2510 ส่วนเมืองโพธิไพศาลนิคมก็เป็นตำบลโพธิไพศาลขึ้นอยู่กับอำเภอกุสุมาลย์ในปัจจุบันและได้มีผู้ปกครองต่อจากพระสิทธิ์ รันพิศาล ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองคนเดิม

เมืองโพธิไพศาลหลังถูกยุบพร้อมกับเมืองกุสุมาลย์ ได้ขึ้นกับนครพนมต่อมาภายหลังเมืองกุสุมาลย์เปลี่ยนเป็นอำเภอ ตามการปกครองแบบเทศาภิบาลและโพธิไพศาลนี้คงมีฐานะเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอเท่านั้น ทำให้บทบาทการปกครอง การตั้งถิ่นฐานด้านหลักฐานทางโบราณคดี ลบเลือนและเสียหายไปเป็นอันมาก บางส่วนได้เก็บไว้ที่ศูนย์วัฒนธรรมไทยโส้ในบริเวณที่ว่าการอำเภอกุสุมาลย์ ส่วนที่หมู่บ้านโพธิไพศาลหลักฐานทางด้านโบราณคดีมีไม่มาก เหลือแต่คำบอกเล่าของชาวบ้านที่มีการขุดพบไหใส่สมบัติที่ถูกฝังดินไว้ในทุ่งนา แต่ผู้ค้นพบได้เสียชีวิตทั้งครอบครัว เหลือแต่บ้านร้างทิ้งไว้ 2 หลัง จากคำบอกเล่าของลุงสุภา ฮาดปกดี บุตรของนายทด ฮาดปากดี เคยมีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านในอดีต ยังคงมีหลักฐานเป็นตราประทับ หรือหนังสือทางราชการทำด้วยไม้ 3 อัน และเหรียญตรารูปรัชกาลที่ 5 มีหัวอักษรว่า โดยพระบรมราชานุญาต ร.ศ. 112 ขณะนั้นตรงกับ พ.ศ. 2437 นอกจากนั้นยังมีเครื่องหมายอินธนูติดที่บ่าเขียนว่ารัชชูปกี่คงจะมีหน้าที่เก็บส่วยอากร และทำหน้าที่ด้านการปกครองพร้อมกันไปด้วยในสมัยนั้น ส่วนตราประทับหนังสือราชการอีกอันหนึ่งพบที่บ้านลุงโสม รันพิศาล ซึ่งเป็นตระกูลเจ้าเมืองเก่า

เมืองโพธิศาลในอดีตคงจะมีขนาดใหญ่ เมื่อชาวบ้านไปทำนาที่อื่นมักจะสร้างเถียงนา (กระท่อม) ของตนขึ้นตามที่นาเรียงรายกันไป เพราะในฤดูฝนทั้งครอบครัวจะออกมาอยู่ที่เถียงนาจนตลอดฤดูการทำนา และจะกลับมาใหม่ในฤดูเก็บเกี่ยว เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นก็ต้องหาที่ทำกินไกลออกไปทำให้หมู่บ้านเกิดการขยายตัวขึ้น โดยตอนแรกจะมีลักษณะเป็นเถียงนาแยกไปจากหมู่บ้านเดิม ซึ่งสะดวกในการประกอบอาชีพทำนา ไม่ต้องยกครอบครัวไปกลับทุกปี และรวมตัวกันเป็นหมู่บ้าน โดยยังมีความสัมพันธ์กับหมู่บ้านโพธิไพศาลเดิมอยู่

จากการสอบถามอาจารย์นคร ไชยสองศรี บุตรลุงสุภา ฮาดปากดี ซึ่งเป็นครูสอนที่โรงเรียนห้วยกอก ได้กล่าวถึงการขยายตัวของหมู่บ้านโพธิไพศาล ดังนี้ เดิมชาวโส้ถูกกวาดต้อนและอพยพมาจากเมืองมหาชัยกองแก้ว ประเทศลาว มาตั้งหลักแหล่งแถบจังหวัดมุกดาหาร ต่อมาอพยพมาทางเขตอำเภอดงหลวง อำเภอนาแก สุดท้ายมารวมตัวกันอยู่ที่บ้านเมืองเก่า ต่อมาเกิดภาวะความอดอยาก เศรษฐกิจฝืดเคือง ชาวบ้านจึงอพยพเร่ร่อนไปตามแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ แต่มีบางส่วนที่ยังอยู่ที่โพธิไพศาล ในอดีตโพธิไพศาลเป็นเมืองขนาดใหญ่ เมื่อประชากรมากขึ้นจึงมีการอพยพจากโพธิไพศาลไปยังหมู่บ้านอื่น เช่น โนนคำ โพนแพง ห้วยกอก กุดฮู หนองเค็ม และ กุดสะกอย โดยเฉพาะกุดสะกอย ชาวบ้านทั้งหมดล้วนไปจากโพธิไพศาลทั้งสิ้น

สภาพทางภูมิศาสตร์

ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบสูง สลับกับที่ราบลุ่ม ลักษณะดินเป็นดินปนทรายทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านเป็นเขตที่ราบ สูงกว่าพื้นที่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ด้านทิศตะวันออกเป็นป่าโปร่ง ส่วนทิศเหนือและทิศตะวันตก ชาวบ้านใช้ปลูกข้าว พืชผักสวนครัว ในช่วงฤดูฝนจะมีน้ำมากทำให้ผลผลิตข้าวมีไว้พอกินและขาย ถ้าปีไหนน้ำมามากเกินหรือแล้งจัด ชาวบ้านจะออกไปนอกหมู่บ้าน

นอกจากจะอาศัยน้ำฝนในการเพาะปลูก ยังมีแหล่งน้ำสำคัญ คือ อ่างเก็บน้ำห้วยหินกอก อยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านโพธิไพศาล อยู่ทางตอนบนของลำห้วยทวย ชาวบ้านอาศัยน้ำจากอ่างเก็บน้ำนี้ในการเพาะปลูกหลังฤดูเก็บเกี่ยว

ลำน้ำทวยเป็นลำห้วยธรรมชาติ ไหลจากทิศเหนือของอำเภอกุสุมาลย์ผ่านบ้านโพธิไพศาลแล้วไหลสู่แม่น้ำโขงที่บ้านปากทวย อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม และอีกลำห้วยหนึ่งเป็นลำห้วยเล็ก ๆ ไหลจากทิศตะวันตกมาทางทิศเหนือบริเวณกุดเขาว้า ไหลบรรจบกับลำห้วยทวยในหมู่ที่ 3 ของบ้านโพธิไพศาล คือ ลำห้วยดิน แม้ในหมู่บ้านจะมีแหล่งน้ำมาก ส่วนมากจะใช้เกี่ยวกับการเกษตร ไม่สามารถนำมาใช้ในครัวเรือนโดยเฉพาะมาใช้ในส้วมได้ เพราะระยะทางจากลำห้วยถึงหมู่บ้านไกลประมาณ 10 กม.

ลักษณะภูมิอากาศ

ลักษณะภูมิอากาศของหมู่บ้านโพธิไพศาล แบ่งเป็น 3 ฤดู ดังนี้

  • ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - ตุลาคม

  • ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์ ในช่วงฤดูหนาวมีอากาศหนาวจัด

  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน ในช่วงฤดูร้อนมีอากาศร้อนมาก

โดยทั่วไปในเขตอีสานจะมีอากาศค่อนข้างร้อน และแห้งแล้งในช่วงฤดูร้อน พอถึงฤดูฝนชาวบ้านจะไปปักหลักที่กระท่อมปลายนาหรือเถียงนา เพื่อที่จะเริ่มไถนา ดำนาทำให้หมู่บ้านเงียบจึงปิดบ้านไว้

การคมนาคม

บ้านโพธิศาลอยู่ทิศตะวันออกของอำเภอกุสุมาลย์ ตามถนน รพช.สายกุสุมาลย์-ท่าอุเทน เดิมเป็นถนนลูกรังแต่กรมทางหลวงก็มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น บ้านโพธิไพศาลห่างจากตัวอำเภอกุสุมาลย์ประมาณ 6 กม. และห่างจากตัวเมืองสกลนคร ตามถนนสกลนคร - นครพนม ประมาณ 46 กม. สามารถใช้ถนนในการคมนาคมสะดวกในทุกฤดูกาล

รถโดยสารประจำทางที่จะเดินทางจากหมู่บ้านไปตัวจังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นรถโดยสาร 6 ล้อมี 3 คัน แต่ออกบริการ เพียง 2 คันทุกวัน โดยออกจากหมู่บ้านในตอนเช้าประมาณ 8.00 น. ไปวนรับ ผู้โดยสารรอบหมู่บ้านบ้านโพธิไพศาล กุดสะกอย กุสุมาลย์ ท่าแร่ ค่าโดยสารไป-กลับคนละ 30 บาท ไปเที่ยวเดียว 15 บาท โดยมีคิวจอดที่โรงแรมดุสิต เจ้าของรถต้องเสียค่าคิวครั้งละ 10 บาท มีรถสามล้อเครื่อง 4 คัน สำหรับรับส่งผู้โดยสารระหว่างหมู่บ้าน หรือจากตลาดอำเภอกุสุมาลย์ มาหมู่บ้านราคาเหมาหรือนั่งคนเดียว 30 บาท ส่วนรถ 6 ล้ออีก 1 คัน จะออกรับคนโดยสารเพียงบางวันเท่านั้น หรือตามแต่คนในหมู่บ้านจะจ้าง

นอกจากจะใช้บริการดังที่กล่าวไป ชาวบ้านยังนิยมใช้จักรยาน จักรยานยนต์ซึ่งปัจจุบันเป็นที่แพร่พลาย บางคนถึงกับขายที่ดินของตนเพื่อซื้อจักรยานยนต์ให้ลูกหลานเป็นพาหนะในการติดต่อค้าขาย หรือทำกิจธุระในตัวอำเภอกุสุมาลย์ ซึ่งใช้เวลาในการเดินทางไม่เกิน 30 นาทีสำหรับจักรยาน หรือเพียง 10 -15 นาทีโดยทางจักรยานยนต์ และถ้าเดินเท้าประมาณราว 1 ชม. ถ้าบ้านหลังใดมีเศรษฐกิจดีก็จะมีรถกระบะส่วนตัว เพื่อใช้ในการเดินทาง หรือใช้เพื่อบรรทุกพืชผลทางการเกษตร

การที่มีการคมนาคมระหว่างหมู่บ้านกับภายนอกหมู่บ้านสะดวกสบาย ชาวบ้านเริ่มมีการเดินทางออกนอกหมู่บ้านมากขึ้น โลกทัศน์ชาวบ้านกว้างมากขึ้น เช่น มีการออกไปซื้อของที่ตลาดในอำเภอหรือจังหวัด

ประชากรในหมู่บ้านเป็นชาวโส้ หมู่ที่ 3 มีทั้งหมด 234 ครัวเรือน หมู่ที่ 9 มี 74 ครัวเรือน อยู่รวมกันเป็นกลุ่มเครือญาติเป็นกลุ่ม ๆ มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในแต่ละครอบครัวจะมีสมาชิกประมาณ 4-6 คน ลักษณะของประชากรในหมู่บ้านซึ่งเป็นชาวโส้ตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นกลุ่มตระกูลอยู่เรียงไปตามสองฝั่งถนนในหมู่บ้าน อุปนิสัยของชาวโส้นั้น ได้แก่ มีความเชื่อถือและเชื่อฟังหัวหน้าหรือผู้นำของตน รักความเป็นธรรม มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ขยัน อดทนในการประกอบอาชีพในไร่ เป็นต้น

โส้

การปกครองภายในหมู่บ้านยึดหลักความอาวุโสและบทบาทสถานภาพของตัวบุคคลด้วย คือ เคารพตามสิทธิและหน้าที่ภายในครอบครัว ลูกจะต้องเชื่อฟังพ่อแม่ ภรรยาต้องเชื่อฟังสามี พ่อและแม่ก็จะรับฟังคำแนะนำจากปู่ย่าตายายตามแบบแผนจารีตประเพณีที่ปลูกฝังมา

ในอดีตกำนันคนแรก ๆ จะมีความสำคัญต่อการพัฒนาชุมชนแห่งนี้ และยังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไว้ ปัจจุบันผู้ที่พ้นสภาพจากการเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่เคยมีบทบาทในการปกครองก็ยังคงมีบทบาทในการร่วมให้คำปรึกษาต่าง ๆ การบริหารงานของชุมชนที่ผ่านมา ชาวบ้านเป็นผู้เลือกเข้ามาทำงานเพราะเห็นว่าเป็นคนดี การให้ความเคารพเชื่อฟังและความผูกพันกันที่เชื่อมโยงในเครือญาติทั้งหมู่บ้าน ทำให้การปกครองเป็นไปด้วยดีรวมทั้งการให้ความร่วมมือในเรื่องต่าง ๆ

เมื่อการเดินทางสะดวกสบาย การติดต่อไปมาหาสู่ระหว่างหมู่บ้านจึงเป็นไปได้ง่ายและยังได้นำวัฒนธรรมพื้นบ้านแลกเปลี่ยนระหว่างกัน เช่น เมื่อมีงานบุญในหมู่บ้าน ก็จะเชิญญาติพี่น้องต่างหมู่บ้าน หรือชาวบ้านใกล้เคียงมาร่วมงานด้วยแม้ว่าไม่ใช่ชาวโส้ก็ตาม จึงทำให้มีการสังสรรค์ระหว่างชาวบ้าน หนุ่มสาว นอกจากนี้เมื่ออำเภอหรือจังหวัดจัดให้มีงานประจำปี เช่น งานเทศกาลนมัสการองค์พระธาตุเชิงชุม งานแห่ปราสาทผึ้ง งานประเพณีโส้ทั่งบั้งในอำเภอกุสุมาลย์ งานไหลเรือไฟที่จังหวัดนครพนม กลุ่มชาวบ้านจะเช่ารถจากหมู่บ้านไปร่วมงานเป็นประจำทุกปี นอกจากจะชักชวนคนในหมู่บ้านไปแล้วยังชวนเพื่อนญาติพี่น้องเพื่อนในหมู่บ้านใกล้เคียงไปด้วย

การประกอบอาชีพส่วนใหญ่ของคนในหมู่บ้าน คือ เกษตรกรรม ชาวบ้านทำนาในช่วงฤดูฝนเป็นอาชีพหลัก มักนิยมปลูกข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมืองเป็นส่วนมาก ข้าวเหนียวพันธุ์กข. 6 และกข. 8 ก็มีบ้างแต่ไม่มาก ผลผลิตที่ได้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ คือ ถ้าปีใดฝนตกตามฤดูกาลก็จะมีผลลิตในนาข้าวมาก แต่ปัญหาที่เป็นอุปสรรคสำคัญคือ สภาวะน้ำท่วม ทำให้นาเสียหาย ได้ผลผลิตน้อยซึ่งจะเกิดขึ้นเป็นบางปี ระหว่างรอการเก็บเกี่ยวข้าวก็จะเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู วัว ควาย เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีอาชีพรับจ้างทั่วไปรายวัน บางครอบครัวจะปลูกมะเขือเทศผลใหญ่เพื่อขายเมล็ด ในปี พ.ศ. 2536 ปลูกเป็นปีที่ 3 และปลูกต้นดาวกระจายขายเมล็ดเป็นปีแรก ซึ่งจะปลูกในช่วงเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว พื้นดินจะว่างก็มาปรับบำรุงดิน เตรียมปลูกมะเขือเทสหรือคอสมอส ซึ่งมีลักษณะเหมือนดาวกระจายแต่ต่างกันที่สีของดอก ชาวบ้านจะซื้อพันธุ์พืชจากทางบริษัทที่มาเสนอขายโดยผ่านทางเกษตรตำบล ในระหว่างการปลูกทางบริษัทจะส่งเจ้าหน้าที่มาดูแลผลผลิตให้คำแนะนำชาวบ้าน เพื่อให้ได้มาตรฐานตามที่บริษัทต้องการถ้าผลผลิตได้มาตรฐานก็จะได้ราคาดี ถ้าไม่เป็นตามข้อกำหนดราคาจะลดหลั่นกันไป กรณีพืชที่ปลูกเป็นโรค ก็สามารถปรึกษากับเจ้าหน้าที่การเกษตรหรือเจ้าหน้าที่ของทางบริษัทได้ โรคที่เป็นอุปสรรคในการปลูกมะเขือเทศ คือ โรคเหี่ยวเขียว (ต้นโตมีผลออกเต็มต้น แล้วใบจะเหี่ยวเฉาก่อนที่ลูกจะสุก ต้องรีบถอนทิ้งนำไปทำลาย โดยการเผาไฟถ้าไม่รีบถอนทิ้งจะทำให้โรคติดต่อไปยังต้นอื่น ๆ ได้) และโรคต้นเน่า ทำให้เมล็ดโตไม่เต็มที่

เมื่อได้ผลผลิต คือเมล็ดมะเขือเทศตากแห้งบริษัทก็จะมารับซื้อ ในราคากิโลกรัมละ 1800 บาท ส่วนเมล็ดดอกดาวกระจายกิโลกรัมละ 75 บาท การปลูกไม่มีปัญหามากนัก แต่คนไม่นิยมปลูกเพราะได้ผลผลิตไม่คุ้มกับการใช้แรงงาน ถั่วเหลืองขายกิโลกรัมละ 45 บาท พืชที่ปลูกนอกจากปลูกข้าว เช่น มะเขือเทศ ถั่วเหลือง ข้าวโพด พืชเหล่านี้ปลูกหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าว นอกจากอาชีพเกษตรกรรมที่เป็นอาชีพหลักแล้ว ยังปรากฏอาชีพที่รองลงมาคือ ค้าขาย รับราชการ และทอผ้า

คนในหมู่บ้านออกไปทำงานนอกหมู่บ้านกันเพิ่มขึ้น ภายหลังจากจบการศึกษาภาคบังคับหรือบางคนยังเรียนไม่จบภาคบังคับ ต้องออกมาช่วยงานพ่อแม่ทำงานที่บ้านสักระยะหนึ่ง บางส่วนจะมุ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานในตัวเมืองโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร โดยคนที่เคยเข้ามาทำงานอยู่ก่อนแล้วชวนกันต่อ ๆ มา ส่วนมากเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเพราะคิดว่ามีรายได้ที่ดีกว่า

ในการแบ่งงานภายในครอบครัวไม่ได้ระบุชัดเจนว่าผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายดูแลบ้านเรือน หากขึ้นอยู่กับเงื่อนไขภายในแต่ละครอบครัว โดยปกติผู้ชายที่เป็นผู้นำครอบครัวจะเป็นหลักในการออกไปทำไร่ทำนา หรือใช้แรงงานนอกบ้าน เช่น ไถนา ว่านกล้า ดำนา นำผลผลิตออกไปขาย ส่วนผู้หญิงจะออกไปช่วยเหลือเป็นครั้งคราว

 ประเพณีและวัฒนธรรม

ชาวโส้มีประเพณีที่สืบทอดกันมา ทำให้มีการพบปะทั้งเด็กผู้ใหญ่ได้ร่วมกันทำกิจกรรมตามประเพณี ความสัมพันธ์ของคนในหมู่บ้านจึงเกิดความใกล้ชิดกันมากขึ้น และเด็กรุ่นต่อมาได้รับเอาประเพณีต่าง ๆ มาปฏิบัติ เช่น

  • เดือนมกราคม  =  บุญข้าวจี่ บุญประทายข้าวเปลือก (บุญกองข้าว)
  • เดือนกุมภาพันธ์  =  ขวัญข้าว เลี้ยงผีมเหศักดิ์
  • เดือนมีนาคม   บุญพเวส หมอเหยาลงสนาม (เลี้ยงผี)
  • เดือนเมษายน  =  เริ่มหว่านข้าว สงกรานต์
  • เดือนพฤษภาคม  =  หว่านกล้า ไถนา เลี้ยงผีมเหศักดิ์ก่อนดำนา
  • เดือนมิถุนายน   เริ่มดำนา
  • เดือนกรกฎาคม  =  ดำนา บุญเข้าพรรษา
  • เดือนสิงหาคม  =  ดำนา บุญข้าวสากเลี้ยงผี
  • เดือนกันยายน  =  เลี้ยงผีมเหศักดิ์ บุญข้าวห่อใบบอนเลี้ยงผีบรรพบุรุษก่อนเกี่ยวข้าว เกี่ยวข้าว บุญข้าวประดับดิน
  • เดือนตุลาคม  =  เกี่ยวข้าว บุญออกพรรษา
  • เดือนพฤศจิกายน  =  เกี่ยวข้าว ฟาดข้าว
  • เดือนธันวาคม   ฟาดข้าว

ศาสนาและความเชื่อ

ชาวโส้เชื่อว่าในโลกนี้มีผีตรงกับคำว่า เยียง ซึ่งเป็นวิญญาณที่อยู่ทุกหนทุกแห่งตามก้อนหิน บ้านเรือน ต้นไม้ ฯลฯ แม้จะมีความเชื่อในเรื่องผี แต่ยังยึดถือจารีตประเพณีที่เรียกว่า ฮิตสิบสองคลองสิบสี่และพุทธศาสนาเป็นหลักพื้นฐานการดำรงชีวิต และถือเป็นจรรยาทางสังคมในชุมชน ในหมู่บ้านมีวัด พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง มีการประกอบพิธีทางศาสนา เมื่อมีงานบุญในหมู่บ้านชาวบ้านจะร่วมใจกันมาทำบุญใส่บาตรให้พระสงฆ์ สามเณร ณ วัดกลางวิทยา และในทุก ๆ เช้าชาวบ้านก็จะนำอาหารมาถวายโดยไม่ได้จัดเวรแล้วแต่ศรัทธา

 พิธีกรรมและความเชื่อ

1.ความเชื่อเรื่องผีมเหศักดิ์ ชาวโส้เชื่อว่ามีเจ้าผีที่สถิตอยู่ต้นไม้ใหญ่ จึงสร้างศาลขึ้นเพื่อเป็นที่สักการะและประกอบพิธีกรรม เรียกว่า ศาลมเหศักดิ์หรือหอมเหศักดิ์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านจะเป็นที่ตั้งศาลผีบรรพบุรุษ ชาวโส้เชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองให้อยู่ดีมีสุข บริเวณที่ตั้งของหอมเหศักดิ์เป็นโนนสูง มีต้นไม้ใหญ่มากมาย ชาวบ้านมักเรียกอีกชื่อว่า ดอนหอโส้ จากความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของศาลจึงไม่มีใครกล้ามาตัดไม้หรือนำวัวควายมาเลี้ยงมาทำลายบริเวณนี้ ทำให้พื้นที่จุดนี้มีความอุดมสมบูรณ์ มักประกอบพิธีกรรมในช่วงเดือน 4 ของทุกปี โดยรอให้ชาวบ้านทุกคนเสร็จจากการเกี่ยวข้าวก่อน โดยรวบรวมเงินทั้งหมู่บ้านเพื่อนำมาซื้ออาหาร ซื้อของมาประกอบพิธีบูชาผีบรรพบุรุษ นำข้าวปลา อาหาร เสื่อ หมอน ผ้าห่ม เสื้อผ้า มาเซ่นไหว้ทุกปี อาหารที่เตรียมมาจะวางไว้ที่ลานพิธี และบางส่วนนำไปบูชาบนศาล ซึ่งจะมีหัวหมูหัววัวแล้วแต่จะกำหนด หลังจากที่ชาวบ้านมารวมกัน เจ้าจ้ำในภาษาโส้เรียกว่า เนือยเยียง ซึ่งเป็นคนดูแลรักษาศาลมเหศักดิ์จะจุดเทียนในศาล จากนั้นอัญเชิญวิญญาณผีมเหศักดิ์ด้วยภาษาโซ่ให้มารับเครื่องสังเวย พร้อมทั้งขอพรให้ผีมเหศักดิ์บันดาลความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ชาวโส้ ขณะที่ผีมเหศักดิ์ลงมากินเครื่องสังเวย ลำแสงของเทียนที่บูชาจะหรี่ลง ถ้าลำแสงของเทียนลุกโชติขึ้น แสดงว่าผีมเหศักดิ์ได้กลับไปสถิตที่หอเรียบร้อย หลังจากนั้นเจ้าจ้ำจะผูกแขนผู้ที่มาร่วมพิธี แล้วร่วมกันรับประทานอาหาร สิ่งของจะเอาไว้ที่ดอนหอโส้ประมาณ 2-3 วัน ก็จะนำมาเก็บไว้ที่วัด พระจะทำพิธีสวดอุทิศส่วนกุศลส่งไปให้ เป็นอันเสร็จพิธี จะเห็นได้ว่าความเชื่อเรื่องผีมเหศักดิ์ของชาวโส้ เป็นสิ่งที่มีอำนาจช่วยคุ้มครองให้ประสบความสุขความเจริญปราศจากอันตรายต่าง ๆ จึงทำให้เป็นสิ่งที่ช่วยควบคุมสังคมให้อยู่อย่างสงบ นอกจากนี้ยังเป็นที่พึ่งทางใจอีก

2.ความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ ผีบรรพบุรุษ หมายถึง ผีของตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ต่อมาได้มีลูกหลานแตกสาขาเป็นครอบครัวใหญ่น้อยในหมู่บ้านและเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่อื่น ๆ ชาวโส้มีความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษหรือผีปู่ย่าอย่างเคร่งครัด จนกลายเป็นสิ่งที่ยึดถือของโครงสร้างสังคมระดับครอบครัว ผีบรรพบุรุษที่ชาวโส้นับถือเป็นผีบรรพบุรุษข้างฝ่ายพ่อ ลูกชายเมื่อมีภรรยา ภรรยาก็จะจ้ำเข้านับถือผีฝ่ายสามี หรือลูกสาว เมื่อแต่งงานก็จะจ้ำเข้าทางญาติฝ่ายสามีตน ชาวโส้จะประกอบพิธีอะปรางดง เมื่อต้นข้าวตั้งท้องเป็นข้าวใหม่จะทำที่ห้องผีปู่ย่า ซึ่งเป็นการทำพิธีให้ผีปู่ย่า หรือผีบรรพบุรุษที่อยู่ในบ้านกินข้าวใหม่ประกอบพิธีปีละครั้ง แต่ละครอบครัวจะไม่ทำพร้อมกัน แล้วแต่ความพร้อมของแต่ละครอบครัว ความผูกพันในผีบรรพบุรุษชาวโส้ปรากฏเด่นชัดในความสัมพันธ์ทางเครือญาติ เรียกว่า จุ้มผี แต่ละจุ้มผีจะมีผู้อาวุโสหรือผู้ที่ได้รับเป็นผู้เลี้ยงผี เป็นผู้นำในหมู่เครือญาติเรียกว่า เปียะเจ้าดำ เมื่อมีการเลี้ยงผีหรือพิธีกรรมต่าง ๆในหมู่เครือญาติจะขาดคนนี้ไม่ได้

3.ความเชื่อเรื่องผีนา เป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับเจ้าผีอีกชนิดหนึ่ง คือผีนาซึ่งเป็นผีที่อยู่ตามท้องทุ่งนา ความเชื่อในเรื่องผีนาถือว่าถ้าได้บอกกล่าวหรือว่าทำพิธีได้ถูกต้องแล้วผีนาจะช่วยคุ้มครองให้ต้นข้าวอุดมสมบูรณ์ เก็บเกี่ยวได้ผลผลิตเต็มที่ พิธีกรรมในเรื่องผีนาจัดขึ้นเมื่อเริ่มฤดูฝน ก่อนที่จะไถคราด พิธีกรรมนี้ชาวโส้เรียกว่าพิธีเลี้ยงผีตาแฮก ชาวโส้จะปลูกศาลเล็ก ๆ ขึ้นตามคันนาเพื่อเป็นที่บูชาผีนา แล้วนำอาหารใส่กระทงรวมทั้งดอกไม้ธูปเทียน ข้าวที่นำมาชาวโส้นิยมใช้ข้าวปากหม้อ คือ ข้าวที่หุงสุกใหม่ ๆ ก่อนที่จะรับประทาน มาไว้ที่ศาลแล้วพูดเป็นสิริมงคลเพื่อให้ข้าวออุดมสมบูรณ์

4.พิธีกรรมโซ่ถั่งบั้ง เป็นพิธีกรรมของชาวกะโซ่ คำว่า "โซ่" หมายถึงพวกกะโซ่ คำว่า "ถั่ง" หมายถึงกระทุ้งหรือกระแทก คำว่า "บั้ง" หมายถึงบ้องกระบอกไม้ไผ่ โซ่ถั่งบั้ง ก็คือ พิธีกรรมใช้กระบอกไผ่ยาวประมาณ 3 ปล้อง กระทุ้งดินเป็นจังหวะ แล้วมีการร่ายรำและร้องไปตามจังหวะในพิธีกรรมของชาวกะโซ่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อครั้งเสด็จตรวจราชการมณฑลอุดร เมื่อเสด็จถึงเมืองกุสุมาลย์มณฑล (อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร) เมื่อ พ.ศ.2449 ได้ทรงบันทึกการแสดงพิธีกรรมโซ่ถั่งบั้ง หรือสลาของชาวกะโซ่เมืองกุสุมาลย์มณฑลไว้ว่า สลามีหม้อดอนตั้งกลางแล้วมีคนต้นบทคนหนึ่ง คนสะพายหน้าไม้และลูกสำหรับยิงคนหนึ่ง คนตีฆ้องเรียกว่า พะเนาะ คนหนึ่ง คนถือไม้ไผ่สามปล้องสำหรับกระทุ้งดินเป็นจังหวะสองคน คนถือชามสองมือสำหรับติดเทียนรำคนหนึ่ง คนถือตระแกรงขาดสองมือสำหรับรำคนหนึ่ง คนถือสิ่วหักสำหรับเคาะจังหวะ คนหนึ่ง รวม 8 คน เดินร้องรำเป็นวงเวียนไปมา พอได้พักหนึ่งก็ดื่มอุและร้องรำต่อไป…

เครื่องดนตรี มีไม้ไผ่สีสุก ขนาด 1.5 เมตร ครบตามจำนวนผู้แสดงที่เป็นชาย ที่จะกระทุ้งให้เกิดเป็นเสียงดนตรี กลองใช้ตีให้จังหวะ ฉิ่ง ฉาบ ซอ ซุง แคน เพื่อให้ประกอบเสียงดนตรีให้ไพเราะ และสามารถออกท่ารำได้อย่างสนุกสนาน เครื่องแต่งกาย เดิมการแสดงใช้ผู้ชายล้วนจะนุ่งห่มแบบโบราณ (นุ่งผ้าเตี่ยว) ไม่สวมเสื้อ มีอาวุธ เช่น หน้าไม้ มีเครื่องดื่มที่เป็นเหล้าหรืออุ ปัจจุบันสตรีเข้าร่วมแสดงและมีการปรับปรุงการแต่งกาย โดยชายจะใส่เสื้อผ้าชุดผ้าฝ้าย ตัดเย็บเป็นชุดให้เหมือนกัน ผู้หญิงใช้ผ้าซิ่นและใช้ผ้าขาวม้ารัดหน้าอกมีผ้าโพกหัว

5. พิธีซางกระมูด เป็นพิธีกรรมของชาวกะโซ่ก่อนนำศพลงจากเรือน คำว่า ซาง หมายถึง การกระทำหรือการจัดระเบียบ "กระมูด" แปลว่าผี ซางกระมูดหมายถึงการจัดพิธีเกี่ยวกับคนตาย ชาวกะโซ่ถือว่า เมื่อคนตายไปแล้วจะเป็นผีดิบ จึงต้องกระทำพิธีกรรมเสียก่อนเพื่อให้ผีดิบ และวิญญาณของผู้ตายได้สงบสุข มิฉะนั้นอาจทำให้ญาติพี่น้องของผู้ตายเจ็บป่วยขึ้นได้

อุปกรณ์ในพิธีซางกระมูด ประกอบด้วย ขันโตก (ขันกระหย่องสานด้วยไม้ไผ่) สองใบเป็นภาชนะใส่อุปกรณ์ต่าง ๆ มีไม้ไผ่สานเป็นรูปจักจั่น 4 ตัว (แทนวิญญาณผู้ตาย) นอกจากนั้นยังมี พานสำหรับยกครู (คาย) ประกอบด้วยขันธ์ห้า คือ เทียน 5 คู่ ดอกไม้สีขาว เช่น ดอกลั่นทม 5 คู่ เหรียญเงิน 12 บาท ไข่ไก่ดิบหนึ่งฟอง ดาบโบราณ 1 เล่ม ขันหมากหนึ่งขันมีดอกไม้อยู่ในขันหมาก 1 คู่, เทียน 1 คู่พร้อมด้วยบุหรี่และเทียนสำหรับจุดทำพิธีอีกเล่มหนึ่ง ล่ามหรือหมอผี จะเป็นผู้กระทำพิธีและสอบถามวิญญาณของผู้ตาย เมื่อทราบความต้องการของวิญญาณผู้ตายแล้ว ญาติก็จะจัดสิ่งของไว้บวงสรวงดวงวิญญาณ

6. พิธีเหยา ในการรักษาความเจ็บป่วยหรือเรียกขวัญ คล้าย ๆ กับพิธีกรรมของชาวอีสานทั่วไป เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยหรือการเรียกขวัญ โดยหมอผีจะทำหน้าที่ล่ามสอบถามวิญญาณของบรรพบุรุษว่า ได้กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดล่วงเกินในขนบธรรมเนียมประเพณีไปบ้าง

7. พิธีเกี่ยวกับการเกิด การตาย การแต่งงาน การปลูกบ้านใหม่ การรักษาโรคชาวโส้หมู่บ้านโพธิไพศาลปัจจุบัน ยังคงรักษาธรรมเนียมประเพพณีดั้งเดิมไว้ แม้ว่าปัจจุบันชาวโส้จะออกมานอกหมู่บ้าน เข้ามาในเมืองได้สัมผัสกับวัฒนธรรมใหม่ ๆ มากขึ้น และยังมีสื่อทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา พิธีกรรมความเชื่อดั้งเดิมก็ยังไม่หายไป จากการสัมภาษณ์นายแพทย์อำนวย กาจีนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอกุสุมาลย์ กล่าวว่าการรักษาพยาบาลชาวโส้ พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่จะรักษาโรค 2 ทาง คือ ทางแพทย์แผนปัจจุบันและทางพื้นบ้านควบคู่ไปด้วย โดยการเหยา เพื่อเกิดกำลังใจแก่ผู้ป่วยและเป็นความเชื่อเมื่อกลับมาพักฟื้นที่บ้านที่ประตูห้องนอนผู้ป่วยจะมีการลงเลขมนต์ โดยหมอพื้นบ้านเช่นเดียวกัน

8.วัดในหมู่บ้าน แม้ว่าชาวโส้จะมีความเชื่อในเรื่องผี แต่ชาวโส้ในหมู่บ้านโพธิไพศาลทุกคนนับถือศาสนาพุทธ โดยมีวัดกลางวิทยาเป็นศูนย์กลางการปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาทั้งของพระและชาวบ้าน มีพระอธิการเสถียร จันทปัญโญ เป็นเจ้าอาวาส วัดยังเป็นสถานที่พบปะพูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกันในหมู่บ้าน ในทุกวันพระสงฆ์จะออกบิณฑบาตรในตอนเช้า ชาวบ้านบางส่วนจะนำอาหารเช้ามาถวายที่วัด ตอนกลางวันจะมีชาวบ้านนำอาหารมาเลี้ยงเพลแต่ไม่มากเท่าในตอนเช้า ในวันพระใหญ่และวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันเข้าพรรษา วนออกพรรษา วันวิสาขบูชา ชาวบ้านทั้งชายและหญิงทุกวัยจะมาร่วมทำบุณตักบาตรและฟังเทศน์ วัดกลางวิทยาเป็นที่รวมของชาวบ้านโพธิไพศาลทั้งหมู่ 3 และ หมู่ 9 ดังนั้นคนในหมู่บ้านนอกจากจะเป็นเครือญาติกันและมีการติดต่อกันตลอดเวลา และยังต้องมาทำกิจกรรมทางศาสนาร่วมกันอีก วัดจึงเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงและรักาความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านอีกอย่างหนึ่ง

วัดจะมีบทบาทในการประชาสัมพันธ์การจัดงานและการหารายได้เข้าวัดหรือชุมชน เช่น การจัดตั้งกองทุนการศึกษาวัดกลางวิทยา มีพระอธิการเสถียรเจ้าอาวาสเป็นผู้ก่อตั้งจุดประสงค์เพื่อให้โอกาสพระภิกษุสามเณร และนักเรียนที่ยากจนมีโอกาสได้ศึกษาต่อ มีการจัดทอดผ้าป่าเพื่อสมทบทุนการศึกษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นประจำทุกปี กิจกรรมของวัดนอกเหนือจากนี้ก็มีบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนประจำปีทุกปี มอบทุนการศึกษาพระภิกษุสามเณรและเยาวชนปลายเดือนเมษายนประจำปีทุกปี และมีการทำบุญตามประเพณีในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และวัดยังอำนวยความสะดวกแก่ผู้มาประกอบพิธีทางศาสนา ซึ่งบทบาทของพระจะเกี่ยวกับประเพณีทางศาสนาที่จัดขึ้นในวัดเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นพิธีกรรมบางอย่าง เช่น งานบวช การแต่งงาน งานศพซึ่งมีการนิมนต์พระไปสวดพระพุทธมนต์ที่บ้าน ในส่วนพิธีกรรมความเชื่อที่เกี่ยวกับผี พระสงฆ์ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาโส้จัดอยู่ในสาขาย่อยมอญ-เขมร ในตระกูลออสโตรเอเชียติก  มีเฉพาะภาษาพูด ไม่มีภาษาเขียน คำในภาษามักเป็น 2-3  พยางค์ และเป็นภาษาที่ไม่มีหน่วยเสียงวรรณยุกต์  แต่มีลักษณะสำคัญคือ มีลักษณะน้ำเสียงปกติและน้ำเสียงต่ำทุ้มเพื่อการจำแนกความหมายของคำ 

ประชากรไทโส้ในพื้นที่อำเภอกุสุมาลย์  จังหวัดสกลนคร เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอัตลักษณ์พิเศษด้านภาษาและวัฒนธรรม มีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ปัจจุบันพ่อแม่ชาวโส้ไม่เห็นความสำคัญและไม่สนับสนุนให้เด็กพูดภาษาโส้เป็นภาษาแม่ ซึ่งถ้าหากเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ภาษาโส้คงสูญหาย


หมู่บ้านโพธิไพศาลนี้มีโรงเรียนประถมศึกษา 1 แห่ง คือ โรงเรียนไพศาลวิทยา อยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 500 เมตร ตั้งอยู่ในเขตหมู่ 3 ปีการศึกษา 2536 มีนักเรียนชั้นเด็กเล็กถึงประถมที่ 6 จำนวน 388 คน มีนายชัยศรี อุปฌาย์ เป็นอาจารย์ใหญ่ นักเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กในหมู่บ้านทั้งหมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 9

นักเรียนส่วนใหญ่จะไปโรงเรียนโดยการเดิน ส่วนน้อยที่มีจักรยานเป็นพาหนะ นักเรียนที่เรียนจบชั้นประถม 6 ต่อชั้นมัธยมศึกษามีน้อยมาก นักเรียนที่ศึกษาต่อจะเดินทางไปเรียนที่โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ คือโรงเรียนกุสุมาลย์พิทยาคม ตั้งอยู่ในเขตสุขาภิบาล บางคนก็ส่งบุตรหลานไปเรียนโรงเรียนประจำจังหวัด โดยอาศัยพักกับญาติหรือไม่ก็เดินทางไปกลับ สกลนคร-กุสุมาลย์

ในหมู่บ้านไม่มีศูนย์เกี่ยวกับการเลี้ยงดู หรือพัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนแต่จะมีชั้นเด็กเล็กในโรงเรียนประถมศึกษา เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองในตอนกลางวัน  ในหมู่บ้านไม่มีโครงการเสริมการศึกษา สำหรับสถานที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน ก็ไม่ได้รับความสนใจจากชาวบ้าน ซึ่งตั้งอยู่มุมหนึ่งบนศาลาวัดในหมู่บ้าน จึงล้มเลิกไป

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

พจนา มณีรัตน์. (2537). ความสัมพันธ์ของเครือญาติกับพฤติกรรมการใช้ส้วมของชาวโส้ : กรณีศึกษา บ้านโพธิไพศาล อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา, มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ละกรวยเทรอว กรวง ขะมาน. (2554). ไทโส้ กุสุมาลย์. ค้นจาก http://thaisokusuman.blogspot.com/ 

ทิดหมู มักม่วน. (2564). ชนเผ่าไทกะโซ่ (โส้). ค้นจาก https://www.isangate.com/new/26-isan-land/ethnos/143-paothai-so.html  

อบต.โพธิไพศาล โทร. 0-4270-4604