Advance search

บ้านแหลม

ชุมชนตลาดการค้าเก่าและชุมชนชาวประมง โดยเฉพาะบริเวณถนนประมงเจริญและถนนแม่แดงอุทิศ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบชายฝั่งทะเลที่มีน้ำทะเลท่วมถึง ซึ่งเดิมบริเวณชายทะเลนั้นมีพื้นที่ไม่มากนัก ต่อมาพื้นที่งอกขยายออกไปจึงมีคนอพยพมาอาศัยทำมาหากินมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นคนจีนไหหลำที่อพยพมาทางเรือสำเภา ปัจจุบันจึงเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายกะปิและเกลือสมุทร

บ้านแหลม
บ้านแหลม
เพชรบุรี
ศิริลักษณ์ นาโม
18 มิ.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
27 ก.ค. 2023
ณัฐวุฒิ บัวคลี่
18 มิ.ย. 2023
บ้านแหลม

"บ้านแหลม" เป็นชื่อเรียกตามสภาพภูมิประเทศที่เป็นแหลมยื่นลงไปในทะเล ซึ่งในอดีตบ้านแหลมเป็นเสมือนเมืองท่าของเมืองเพชรบุรีที่ใช้ติดต่อค้าขายกับหัวเมืองอื่น


ชุมชนชนบท

ชุมชนตลาดการค้าเก่าและชุมชนชาวประมง โดยเฉพาะบริเวณถนนประมงเจริญและถนนแม่แดงอุทิศ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบชายฝั่งทะเลที่มีน้ำทะเลท่วมถึง ซึ่งเดิมบริเวณชายทะเลนั้นมีพื้นที่ไม่มากนัก ต่อมาพื้นที่งอกขยายออกไปจึงมีคนอพยพมาอาศัยทำมาหากินมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นคนจีนไหหลำที่อพยพมาทางเรือสำเภา ปัจจุบันจึงเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายกะปิและเกลือสมุทร

บ้านแหลม
บ้านแหลม
เพชรบุรี
76110
เทศบาลตำบลบ้านแหลม โทร. 0-3277-2095-7
13.2143615009
99.9850079303
เทศบาลตำบลบ้านแหลม

ชุมชนบ้านแหลม มีข้อสันนิษฐานว่าน่าจะเริ่มตั้งถิ่นฐานหลังจากสมัยพระนารายณ์มหาราชลงมา เนื่องจากมองสิเออร์เซเบอร์ ราชฑูตแห่งฝรั่งเศสที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักอยุธยาใน พ.ศ. 2310 ได้กล่าวถึงการเดินทางประเทศฝรั่งเศส โดยผ่านจังหวัดเพชรบุรีและข้ามเทือกเขาตระนาวศรีไปขึ้นเรือที่เมืองมะริด ต้องเดินทางผ่านทางปากน้ำเพชรบุรี ซึ่งเป็นท้องที่อำเภอบ้านแหลมในปัจจุบัน ความว่า "เมืองเพชรบุรีซึ่งอยู่ห่างจากปากแม่น้ำประมาณ 8 ไมล์ ในแถวปากแม่น้ำเพชรบุรีนี้ เป็นที่เปล่าเปลี่ยวไม่มีผู้คนอยู่เลย แต่เมื่อขึ้นไปตามลำน้ำได้สัก 2 ไมล์ ภูมิประเทศดูดีขึ้น ทั้งสองข้างแม่น้ำเป็นทุ่งนาซึ่งราษฎรพลเมืองมาทำนาหว่านข้าว" จากบันทึกดังกล่าวจึงสันนิษฐานได้ว่ายังไม่มีการตั้งถิ่นฐานบริเวณปากแม่น้ำเพชรบุรี เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวพื้นที่บ้านแหลมยังเป็นดินโคลนอ่อนและมีความเค็มจัด ไม่เหมาะสมกับการตั้งถิ่นฐานและการทำเกษตรกรรม เนื่องจากเป็นแผ่นดินงอกใหม่

ต่อมาในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานได้ว่าพื้นที่แถบปากแม่น้ำเพชรบุรีเริ่มมีการตั้งถิ่นฐาน และเรียกชื่อท้องถิ่นที่แห่งนี้ว่า "บ้านแหลม" โดยอ้างอิงจากหลักฐานบันทึกขุนหลวงหาวัด ความว่า "เรือปากใต้กว้าง 6 ศอก 7 ศอก ชาวบ้านยี่สาร บ้านแหลม เมืองเพชรบุรี แลบ้านบางตะบูนและบ้านบางทะลุ บรรทุกกะปิ น้ำปลา ปูเค็ม ปลากุเรา ปลากะพง ปลากระเบนย่าง มาจอดเรือขายแถววัดเจ้าพระนางเชิง" บ้านแหลมจึงกลายเป็นชุมชนที่ประกอบอาชีพประมงเป็นหลักมาตั้งแต่เดิม นอกจากนี้อาชีพหลักของบ้านแหลมอีกหนึ่งอย่างคือการทำนาเกลือ ส่วนการเกษตรกรรมนั้นมีน้อย เนื่องจากเป็นแหลมยื่นลงไปในทะเล เป็นพื้นที่ที่มีน้ำทะเลขึ้นลงถึง ทำให้ดินมีความเค็มจึงทำการเกษตรกรรมไม่ได้ผล

แม้สภาพภูมิประเทศของชุมชนบ้านแหลมจะไม่เหมาะสมแก่การทำเกษตรกรรม แต่เหมาะสมที่จะเป็นเมืองท่าในการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ ซึ่งมีเรือใบสามเสาบรรทุกสินค้าจากคาบสมุทรมลายูขึ้นมาทำการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับชาวบ้านแหลมอยู่เนือง ๆ โดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายนจะมีกระแสลมที่พัดขึ้นมาจากทางใต้ขึ้นเหนือ เรียกว่า "ลมสลาตัน" จะมีแขกมลายูจากกลันตันและตรังกานูบรรทุกสินค้าจากทางใต้ขึ้นมาเพื่อซื้อเกลือและข้าวกลับไป โดยเรือดังกล่าวจะจอดทอดสมออยู่บริเวณปากอ่าวบ้านแหลมและนำเรือเล็กมาขนถ่ายสินค้า เรือที่ทำการค้าส่วนใหญ่เป็นเรือของชาวมลายู สินค้าที่นำมาจะเป็นพวกสะตอ ขี้ไต้ กะปิ อินทผาลัม ฯลฯ

นอกเหนือจากชาวมลายูที่เข้ามาค้าขายในพื้นที่บ้านแหลม ยังมีชาวจีนแต้จิ๋วเข้ามาค้าขายในพื้นที่บ้านแหลม และเริ่มอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 อีกทั้งจากเหตุการณ์เรือหลวงล่มที่บริเวณวัดต้นสน รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานที่ดินให้กับชาวจีนแต้จิ๋วที่ช่วยกู้เรือหลวงจากเหตุการณ์ดังกล่าว ชาวจีนได้สร้างห้องแถวการค้า และใช้พื้นที่หน้าบ้านในการดำเนินกิจการ เช่น การเปิดร้านโชห่วย ร้านขายอาหารแห้ง ร้านขายอาหารสด ชาวจีนกลุ่มนี้จึงกลายเป็นผู้ควบคุมกิจการต่าง ๆ จนกลายเป็นย่านการค้า เรียกว่า "ตลาดบ้านแหลม" โดยใช้คลองเล็ก ๆ ที่อยู่ข้างตลาดใช้ขนถ่ายสินค้าไปปากแม่น้ำ ทำให้มีการแลกเปลี่ยนสินค้าและขนสินค้าทางเรือ ซึ่งใช้แม่น้ำเพชรบุรีที่ไหลมาจากตัวเมืองเพชรบุรีซึ่งมีขนาดใหญ่ใช้เป็นเส้นทางหลักในการเดินทาง จึงทำให้ชุมชนบ้านแหลมกลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญของเมืองเพชรบุรี ซึ่งสินค้าหลักคือ น้ำตาลโตนดและเกลือ 

ตลาดบ้านแหลมเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมากจนมาถึงช่วงรัชกาลที่ 3 แต่ผลจากสนธิสัญญาเบอร์นีที่บังคับให้สยามมีการติดต่อค้าขายผ่านทางเรือคลองเตยเพียงแห่งเดียว ประกอบกับสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการตัดถนนและความอุดมสมบูรณ์ทางทะเลลดลง ทำให้เศรษฐกิจที่เคยรุ่งเรืองของตลาดบ้านแหลมค่อย ๆ ซบเซาลงไป

ลักษณะที่ตั้ง อำเภอบ้านแหลมมีพื้นที่ ประมาณ 189,885 ตารางกิโลเมตร หรือ 118,678.13 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดเพชรบุรี อยู่ห่างจากตัวจังหวัดเพชรบุรี ประมาณ 12 กิโลเมตร มีอาณาเขต ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอเมือง และอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลหาดเจ้าสำราญ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
  • ทิศตะวันออก จรดทะเลอ่าวไทย
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอเมือง และอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี

สภาพภูมิศาสตร์ บ้านแหลมเป็นชุมชนที่ล้อมรอบด้วยธรรมชาติ มีสภาพธรรมชาติที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตอาหารทะเลที่สำคัญ ซึ่งพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือพื้นที่ด้านตะวันตกน้ำทะเลท่วมไม่ถึงเหมาะสำหรับการเกษตรกรรม คือการทำนา ส่วนที่ราบชายฝั่งทะเลอุดมไปด้วยทรัพยากรทางน้ำ เช่น กุ้ง หอย ปลา ปู

ด้านคมนาคม ทางบก มีถนนลาดยางที่สำคัญผ่าน 6 ตำบล และอีก 3 ตำบล เป็นถนนคอนกรีต ซึ่งมีถนนที่สำคัญคือ

  • ถนนสายเพชรบุรี-บ้านแหลมฝั่งตะวันออกแม่น้ำเพชรบุรี ระยะทางยาว 12 กิโลเมตร
  • ถนนสายเพชรบุรี-บางตะบูนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเพชรบุรี ระยะทางยาว 19 กิโลเมตร มีสะพานข้ามแม่น้ำเพชรบุรีที่ปากอ่าวบางตะบูน และเดินทางต่อไปถึงจังหวัดสมุทรสงครามได้ แต่ถนนยังไม่ดีนัก
  • ถนนสายบ้านแหลม-หาดเจ้าสำราญ ติดชายฝั่งทะเล (ถนนชลประทาน) ระยะทางยาว 30 กิโลเมตร

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ. 2566 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนตลาดบ้านแหลม จำนวน 1,134 หลังคาเรือน ประชากรทั้งหมด 1,775 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 877 คน หญิง 898 คน ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนแห่งนี้ประกอบอาชีพการประมง โดยเฉพาะการเลี้ยงหอยแมลงภู่และหอยแครง นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายกะปิและเกลือสมุทร

จีน

สหกรณ์ประมงบ้านแหลม ความร่วมมือของผู้คนในชุมชนที่ได้จัดตั้งปั๊มน้ำมันกลางทะเล เพื่อช่วยลดต้นทุนในการจับปลาของชาวประมงบ้านแหลม โดยการเริ่มดำเนินธุรกิจขายน้ำมันให้ชาวประมงกลางทะเล จนทำให้การประมงในชุมชนบ้านแหลมกลายเป็นการประมงน้ำลึก โดยพื้นที่รอบชายฝั่งการประมงแบบพื้นบ้านเริ่มลดน้อยลง อันเนื่องมาจากความอุดมสมบูรณ์ที่ลดลง ต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเดินทางที่ไกลขึ้นจะต้องใช้เรือประมงขนาดใหญ่เพื่อเดินทาง

สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี หน่วยงานของภาครัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่ของอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เช่น โครงการสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนบริหารจัดการหนี้ “สำนึกดี แผนดี บริหารหนี้ได้” เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินให้ชุมชน เป็นต้น

ผู้คนในชุมชนตลาดเก่าบ้านแหลมส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีน จึงยังคงดำรงประเพณีผสมผสาน ไทย-จีน เช่น ตรุษจีน สารทจีน กินเจ ไหว้เจ้า แม้แต่งานแต่งงาน หรืองาศพก็ผสมผสานกันไป นอกเหนือจากนี้ยังมีประเพณีและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านแหลม เช่น การละเล่นวัวลาน และการละเล่นเพลงพวงมาลัย เป็นต้น

1. กรกต อารมย์ดี : นักออกแบบที่หยิบเอา “ไม่ไผ่” มาผสมผสานกับเทคนิคการทำว่าว ก่อเกิดผลงานศิลปะแนวอัตลักษณ์ไทย ด้วยการทำสินค้าไลฟ์สไตล์ให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศ ซึ่งสามารถสร้างรายได้แก่ชุมชน โดยการใช้วัสดุที่มีอยู่ในชุมชนนั้นก็คือไม้ไผ่และเชือก จนกลายเป็นแบรนด์กรกต (Korakot) ซึ่งได้รับรางวัลมากมายอาทิเช่น รางวัล ASEAN Selections 2017 และรางวัลศิลปาธร ประจำปี 2560 ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่ศิลปินไทยร่วมสมัย โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยกระทรวงวัฒนธรรม

2. นายไกรบุญ บันดาล : นายอำเภอบ้านแหลม ได้จัดตั้งโครงการ "ตลาดกลางการประมง" ขึ้นมาเพื่อให้เป็นศูนย์รวมสินค้าทางการประมงที่ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง 

  • เพลงพวงมาลัย เป็นเพลงพื้นเมืองที่มีแต่โบราณ นิยมเล่นในแถบภาคกลางทั่วไป เล่นในเทศกาลตรุษสงกรานต์ งานมงคลต่าง ๆ ในอำเภอบ้านแหลม 

  • วัดในกลาง วัดในกลาง หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านแหลม ถนนสุขาภิบาล วัดนี้มีอายุไม่น้อยกว่า 200 ปี โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์โปรดเกล้าฯ ย้ายพระที่นั่งในพระบรมมหาราชวัง สมัยกรุงศรีอยุธยาที่รอดพ้นจากการถูกพม่าเผาเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 มาปลูกถวายเป็นศาลาการเปรียญของวัดในกลาง ทรงสร้างถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระมารดา ภายในวัดมีสิ่งปลูกสร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย ได้แก่ เจดีย์ อุโบสถแบบมหาอุด กุฏิ หอระฆัง และโดดเด่นด้วยศาลาการเปรียญไม้สักทั้งหลัง ก่อสร้างแบบโบราณ ใช้ลูกสลักเป็นเดือยในการยึดไม้บางส่วนใช้ตะปูจีน เสา 8 เหลี่ยม คันทวยแกะสลักเป็นรูปหัวนาครองรับชายคา ลวดลายการแกะสลักอ่อนช้อย ภายในศาลามีภาพจิตรกรรมฝาผนังประณีตงดงามเป็นเรื่องพุทธประวัติ และหลวงพ่อสุโขทัย พระพุทธรูปปาง มารวิชัยสมัยสุโขทัยประดิษฐานบนบุษบก ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวตำบล บ้านแหลม และประชาชนทั่วไป 

  • วัดต้นสน เดิมมีชื่อด้วยกันหลายชื่อ เช่น วัดสนธยา, วัดนอก, วัดนอกต้นสน ที่เรียกกันว่า “วัดต้นสน” จนถึงปัจจุบันนี้ เหตุเพราะเดิมนั้นมีต้นสนขึ้นอยู่กลางวัด จึงถือเป็นนิมิตหมายให้เรียกเป็นชื่อของวัดติดมาถึงทุกวันนี้ วัดต้นสน เป็นวัดสำคัญของชาวบ้านแหลม เป็นศูนย์รวมในการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ ของชุมชนบ้านแหลม มีสิ่งสำคัญอันเป็นมิ่งขวัญของชาวบ้านแหลม คือหลวงพ่อสัมฤทธิ์ นอกจากนี้ยังมีรูปปั้นกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ซึ่งแปลกกว่าที่อื่น เนื่องจากด้านหลังมีรูปปั้นหลวงพ่อทวดยืนเกือบชิดกัน บริเวณหน้าวัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่น้ำเพชรบุรี มีสะพานคอนกรีตสูงทอดข้ามแม่น้ำ มีศาลาไทยริมน้ำสำหรับนั่งพักผ่อน มองเห็นทิวทัศน์สวยงามของหมู่บ้านชาวประมงมีเรือจอดอยู่เรียงรายและมีนกนางแอ่นมาทำรังอยู่ในวัดและโดยรอบ จึงมีการทำธุรกิจเก็บรังนก โดยการสร้างตึกสูงสำหรับให้นกนางแอ่นมาอาศัย

  • วัดศีรษะคาม ตั้งอยู่พื้นที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ด้วยวัดเเห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่ดั้งเดิมของชาวบ้านแหลมมาช้านาน วัดแห่งนี้จึงเป็นที่รู้จักไปทั่ว ที่แห่งนี้มีลักษณะเด่นที่ศาลาวัดที่เก่าแก่ต้องมนต์ขลัง เพราะถูกสร้างด้วยไม้ทั้งหลังปูด้วยไม้กระดานหน้ากว้างซึ่งหาได้ยากในปัจจุบัน

  • งานหัตถกรรมจากไม้ไผ่ แบรนด์กรกต (Korakot) งานหัตถกรรมที่ทำจากไม้ไผ่ที่สามารถตีตลาดต่างประเทศได้ โดยตัวกรกตเป็นคนออกแบบ แล้วส่งงานต่อให้ช่างฝีมือชาวบ้านในท้องถิ่นและพื้นที่ใกล้เคียงที่ว่างจากการทำงาน เป็นผู้ผลิตชิ้นงาน รวมถึงยังฝึกฝนคนรุ่นใหม่ให้กลายเป็นช่างฝีมืออีกด้วย กลายเป็นธุรกิจที่ยกระดับงานฝีมือชาวบ้านให้ออกสู่ตลาดต่างประเทศ ยกระดับชีวิตคนในชุมชนด้วยการดึงเม็ดเงินกลับเข้ามา กระจายรายได้สู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง ซึ่งผลงานแบรนด์ Korakot สามารถพบเห็นได้ตามห้างสรรพสินค้า โรงแรม และรีสอร์ทชั้นนำ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ สยามพารากอน โรงแรมสยามเคมปินสกี้ ไอคอนสยาม เป็นต้น

  • เกลือสมุทร เนื่องจากสภาพภูมิประเทศบ้านแหลมที่เป็นแหลมยื่นลมไปในทะเล ดินมีความเค็มสูง ผู้คนในชุมชนจึงนิยมทำนาเกลือ ซึ่งเกลือสมุทร ถือว่าได้สินค้า OTOP ของชุมชนบ้านแหลม

  • กะปิบ้านแหลม จากสภาพภูมิศาสตร์ที่มีพื้นที่รอบล้อมด้วยทะเลและอาชีพหลักของชาวบ้านบ้านแหลมที่หาปู หาปลา เลี้ยงหอย ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน ในทะเลจะมีกุ้งฝอย ขนาดเล็ก มีลักษณะเนื้อนุ่ม รสหวาน มีสีชมพูอ่อนๆ มีคุณค่าทางโภชนการสูง มีแคลเซี่ยม และโปรตีน กุ้งฝอยชนิดนี้มีจำนวนมากจับกลุ่มก้อนหนาแน่นในทะเล หลายล้านตัว ชาวบ้านทั่วไปเรียก กุ้งเคย ที่ชาวบ้านนำไปทำกะปิ ซึ่งจุดเด่นของกะปิบ้านแหลมคือ ทำจากเคยตาดำแท้ 100% มีกลิ่นหอมไอแดดและไม่เหม็นคาว รสชาติไม่เค็มมาก 

  • ตลาดบ้านแหลม ตลาดสดในชุมชนบ้านแหลมที่สร้างขนาบด้วยห้องแถวชั้นเดียวอยู่ทางซ้าย ทางขาวของตลาดเหนือขึ้นไปเป็นสะพานข้ามคลองเล็ก มีห้องแถวสองชั้นอยู่ถัดไปจากสะพาน จำนวนฟากละห้าห้อง ถัดไปเป็นห้องแถวชั้นเดียวฟากซ้ายมี 18 ห้อง และฟากขวามี 17 ห้อง ซึ่งอายุตลาดแห่งนี้มีมานานกว่า 100 ปี

  • ฟาร์มหอยบ้านแหลม ทะเลตมที่บ้านแหลมเป็นแหล่งกำเนิดหอยแครงใหญ่และหอยแมลงภู่ที่สุดในประเทศไทย โดยธรรมชาติของอ่าวบริเวณนี้น้ำจากทางแม่กลองและเพชรบุรีจะไหลมาชนกันทำให้น้ำหยุดนิ่ง เวลาน้ำลงก็ไหลออกไปกระทบแหลมหลวงแล้วไหลวนหมุนกลับ ทำให้เลี้ยงหอยได้ดีเพราะมีสภาพหมุนเวียนของน้ำหมุนกลับทำให้ลูกหอยตกอยู่แถวบ้านแหลม

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ในอดีตบ้านแหลมเป็นศูนย์กลางทางการค้าขายสินค้าทางทะเลทุกประเภท เรือที่ออกทะเลจะมาจอดที่นี้เพื่อขายสินค้าและซื้อสินค้าอย่างอื่นกลับไปด้วย เพราะเพชรบุรีไม่ไกลจากกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น ๆ ที่ไม่ติดทะเล ซึ่งในปัจจุบันตลาดเก่าบ้านแหลมยังคงมีบทบาทในการเป็นแหล่งสินค้าทางทะเลอยู่ เพียงแต่มีตลาดในแหล่งอื่นที่เกิดขึ้นมากมาย เพราะการเดินทางสะดวกมากขึ้น อีกทั้งสภาพแวดล้อมทางทะเลในปัจจุบันลดความอุดมสมบูรณ์ลง ทำให้ทางหน่วยงานรัฐต้องนำเสนอแนวทางในการประกอบอาชีพอื่น ๆ ให้แก่ผู้คนในชุมชน เช่น การเพาะพันธุ์สัตว์น้ำและฟาร์มหอย รวมถึงการสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ในพื้นที่ชุมชน 


โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่อำเภอบ้านแหลม ลักลอบปล่อยน้ำเสียไหลลงสู่ลำคลอง

ชาวบ้านในพื้นที่บ้านแหลมที่ประกอบอาชีพประมง ร้องเรียนว่ามีผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมมากมายลักลอบปล่อยน้ำเสียไหลลงสู่ลำคลอง อาทิ โรงงานทำปลาเค็มบ้านบางขุนไทร หรือโรงงานเลี้ยงสุกรปากท่อ แม้โรงงานทั้งสองแห่งจะไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนบ้านแหลม แต่การลักลอบปล่อยน้ำเสียสู่ลำคลองที่จะรวมลงทะเล ซึ่งปัญหานี้ทำให้การทำประมงในพื้นที่ตำบลบ้านแหลม โดยเฉพาะการเลี้ยงฟาร์มหอยของชาวบ้านนั้นเสียหายเป็นอย่างมากเมื่อหน่วยงานภาครัฐได้รับเรื่องร้องเรียนจึงเข้ามาตรวจสอบและแก้ไขปัญหา ดังนี้

  1. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน MOU ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตามอำนาจหน้าที่อย่างจริงจังและต่อเนื่อง
  2. ให้ประมงจังหวัดเป็นเจ้าภาพหารือการประกาศช่วงเวลาที่ควรงดการเลี้ยงหอย
  3. ให้ สสภ.8 แจ้งผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำ ให้จังหวัดทราบอย่างทันสถานการณ์ และขอให้พิจารณาเพิ่มความถี่ในการตรวจวัด ในช่วงที่เกิดภาวะวิกฤติคุณภาพน้ำ ทั้งนี้ จังหวัดยินดีสนับสนุนในเรื่องงบประมาณดำเนินการ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. (2562). ตรวจโรงงานปลาเค็มปล่อยน้ำเสียลงคลองบ้านบางทุนไทร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.dmcr.go.th/

ชวลิต ตั้งสมบูรณ์กิตติ. (2554). การศึกษาการจัดการการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมภายในตลาดเก่าบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี. วิทยานิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, สาขาวิชาการประกอบการ, บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยศิลปากร

ชุมชนตลาดเก่าบ้านแหลม. (2564). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2566, จาก https://culturalenvi.onep.go.th/

นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว. (2550). เล่าเรื่องเมืองเพชร. กรุงเทพมหานคร: พิพม์คำ.

สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 8 ราชบุรี. (2560). เข้าร่วมประชุมกรณีร้องเรียนหอยตายในพื้นที่ตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.mnre.go.th/