Advance search

ตลาดคลองระแหง, ตลาดร้อยปีระแหง, ตลาดร้อยปีคลองระแหง

ชุมชนย่านตลาดการค้าริมน้ำ อายุกว่า 100 ปี ที่ตั้งอยู่บริเวณชายคลองระแหงทั้งสองฝั่งในลักษณะปลูกสร้างด้วยไม้ เป็นห้องแถวยาวติดต่อกัน โดยภายในตลาดแห่งนี้เป็นชุมชนการค้าเล็ก ๆ ที่มีร้านค้าที่ยังคงอนุรักษ์ความเก่าแก่รูปแบบดั้งเดิมในอดีตหลายร้าน นอกจากนี้บางร้านได้ปรับเปลี่ยนจากการขายของเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมให้คนทั่วไปได้เรียนรู้อีกด้วย

หมู่ที่ 4
ระแหง
ลาดหลุมแก้ว
ปทุมธานี
วีรวรรณ สาคร
1 มิ.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 ก.ค. 2023
วีรวรรณ สาคร
21 มิ.ย. 2023
ตลาดระแหง
ตลาดคลองระแหง, ตลาดร้อยปีระแหง, ตลาดร้อยปีคลองระแหง

สำหรับชื่อชุมนั้นนั้นมาจากชื่อของคลองในพื้นที่ท้องถิ่น โดยในอดีตพื้นที่บริเวณตำบลระแหงจะมีคลองธรรมชาติ ซึ่งในฤดูแล้งน้ำในคลองนี้จะแห้งแล้งเป็นเวลาหลายเดือน ทำให้พื้นที่ดินต่าง ๆ รวมถึงบริเวณคลองแห้งแล้งแตกระแหงเป็นร่อง ๆ ผู้คนในพื้นที่จึงมีการเรียกขานคลองเส้นนี้ว่า คลองระแหง ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งตำบลจึงนำชื่อคลองดังกล่าวมาตั้ง ทำให้พื้นที่บริเวณนี้จึงเรียกว่า "ระแหง" ทั้งนี้ต่อมาเมื่อมีชุมชนตลาดเกิดขึ้นในบริเวณนี้จึงมีชื่อที่เรียกตามพื้นที่ว่า "ตลาดระแหง" นั่นเอง


ชุมชนย่านตลาดการค้าริมน้ำ อายุกว่า 100 ปี ที่ตั้งอยู่บริเวณชายคลองระแหงทั้งสองฝั่งในลักษณะปลูกสร้างด้วยไม้ เป็นห้องแถวยาวติดต่อกัน โดยภายในตลาดแห่งนี้เป็นชุมชนการค้าเล็ก ๆ ที่มีร้านค้าที่ยังคงอนุรักษ์ความเก่าแก่รูปแบบดั้งเดิมในอดีตหลายร้าน นอกจากนี้บางร้านได้ปรับเปลี่ยนจากการขายของเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมให้คนทั่วไปได้เรียนรู้อีกด้วย

หมู่ที่ 4
ระแหง
ลาดหลุมแก้ว
ปทุมธานี
12140
14.041581880849158
100.42010471468573
เทศบาลตำบลระแหง

ชุมชนตลาดระแหง เป็นชุมชนเก่าแก่มีอายุกว่าร้อยปี ที่ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ชายคลองระแหงติดต่อกับคลองพระอุดม ในตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี โดยภายในชุมชนแห่งนี้จะเป็นตลาดที่มีลักษณะอาคารบ้านเรือนสร้างด้วยไม้เป็นห้องแถวติดต่อกันยาวขนานสองฝั่งของริมคลองระแหง ซึ่งในอดีตตลาดระแหงแห่งนี้เคยเป็นศูนย์กลางการค้าที่มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก โดยเป็นแหล่งขายสินค้าให้กับคนในพื้นที่รวมถึงคนภายนอกอื่น ๆ ตลาดแห่งนี้ได้ดำเนินอย่างคึกคักมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งเมื่อการพัฒนาโครงข่ายสัญจรทางบก (ถนน) ได้เข้ามาในพื้นที่ส่งผลให้ตลาดแห่งนี้เริ่มเข้าสู่ภาวะความซบเซาและได้ถูกลดความสำคัญลงไป ซึ่งในปัจจุบันนี้แม้ตลาดจะไม่เจริญรุ่งเรืองเท่ากับในอดีต แต่ด้วยความเก่าแก่ของตลาดที่มีมาอย่างยาวนาน ส่งผลให้ประชาชนและหน่วยงานในพื้นที่ได้ร่วมมือกันอนุรักษ์ตลาดแห่งนี้เอาไว้ให้ โดยมีการรักษาและปรับให้พื้นที่ชุมชนตลาดกลายเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แก่ผู้คนภายนอกนั่นเอง ทั้งนี้สามารถอธิบายถึงพัฒนาการนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของตลาดระแหงแห่งนี้ให้เข้าใจมากขึ้นได้ดังต่อไปนี้

ช่วงแรก : ยุคการเริ่มต้นของชุมชนทางการค้าตลาดระแหง (ประมาณ พ.ศ. 2458-2468)

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นจะพบได้ว่าด้านเศรษฐกิจในช่วงเวลานี้ชาวจีนเข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจเป็นอย่างมากโดยเฉพาะด้านการค้าขาย ทั้งนี้เนื่องจากระบบสังคมไทยที่เปิดโอกาสและส่งเสริมการอพยพเข้ามาของชาวจีนอยู่ตลอด ประกอบกับการค้าที่ยังไม่เปิดโอกาสให้คนไทยได้มีเวลาประกอบอาชีพการค้ามากนักเพราะต้องสละเวลาทำงานให้หลวงปีละ 3-4 เดือน ดังนั้นชาวจีนจึงมีบทบาทอย่างมากในการเป็นผู้ดำเนินเศรษฐกิจทางการค้าในช่วงเวลานี้ โดยจะพบว่าชาวจีนจะมีการบทบาทอยู่ในทุก ๆ รูปแบบของการค้า ในที่นี้รวมถึงการเป็นพ่อค้ารายย่อยด้วย พ่อค้าชาวจีนที่มีฐานะเป็นพ่อค้ารายย่อยจะมีการหาแหล่งทางการค้าหรือแหล่งในการค้าขายสินค้าจากเส้นทางการสัญจรของผู้คนเป็นหลัก หากเส้นทางสัญจรนั้นมีผู้คนเดินทางอย่างคึกคักพ่อค้าชาวจีนเหล่านี้ก็จะยึดพื้นที่ข้างเคียงเส้นทางสัญจรในการค้าขายสินค้า ซึ่งในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นจะเห็นได้ว่าผู้คนส่วนใหญ่มีการสัญจรทางน้ำเป็นหลัก เช่น แม่น้ำ ลำคลองต่าง ๆ ดังนั้นพ่อค้าชาวจีนจึงมักจะตั้งร้านค้าขนานบริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำหรือคลอง โดยเฉพาะในจุดบริเวณที่มีการสัญจรมากเพื่อทำการเปิดร้านขายสินค้า ทั้งนี้ชาวจีนที่มีการเปิดร้านค้าส่วนใหญ่จะใช้ร้านของตนในการเป็นที่พักอาศัยร่วมด้วย ทำให้เมื่อมีร้านค้ามากเข้าหลายร้าน นอกจากพื้นที่นั้น ๆ จะได้กลายสภาพเป็นตลาดขายสินค้าแล้วยังจะมีลักษณะเป็นชุมชนของผู้คนไปด้วย ทำให้จึงมักมีการเรียกรวมกันตามบริบทที่เกิดขึ้นว่า ชุมชนตลาด นั่นเอง 

ชุมชนตลาดรูปแบบลักษณะที่ชาวจีนมีบทบาทในการก่อตั้งแบบที่กล่าวข้างต้นนี้ได้เกิดขึ้นในหลาย ๆ พื้นที่ทั่วไปของท้องถิ่นประเทศไทย ในที่นี้รวมไปถึงในพื้นที่บริเวณ “ตลาดระแหง” จังหวัดปทุมธานีแห่งนี้ด้วย กล่าวคือแรกเริ่มของตลาดแห่งนี้คนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งรกรากในพื้นที่บริเวณของตลาดระแหง ก็คือกลุ่มคนจีนแต้จิ๋ว ที่อพยพมาจากตอนใต้ของประเทศจีน โดยประมาณ พ.ศ. 2458 กลุ่มชาวจีนเหล่านี้ได้เล็งเห็นทำเลพื้นที่บริเวณตลาดแห่งนี้ว่าพอจะทำการค้าและประกอบอาชีพค้าขายได้ จึงได้รวมตัวกันประมาณ 3-5 ครอบครัวเข้ามาตั้งหลักแหล่งค้าขายสินค้ากันริมฝั่งของคลองระแหง ชาวจีนได้สร้างอาคารชั้นเดียวในลักษณะที่เรียบง่าย ขึ้นมาภายในบริเวณพื้นที่ตลาด เพื่อใช้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและทำการค้าขาย ซึ่งต่อมาเมื่อคนจีนเข้ามาค้าขายจนพื้นที่นี้ขยายตัวมากขึ้น ประมาณ พ.ศ. 2460 จึงได้เริ่มปรากฏภาพในแผนที่โบราณบ่งบอกถึงตำแหน่งที่ตั้งของพื้นที่ตลาดระแหงว่าในบริเวณนี้ได้มีเรือนร้านค้าเกิดขึ้นจำนวนหลายร้านทั้งริมสองฝั่งคลอง จนทำให้พื้นที่กลายสภาพและมีลักษณะที่สามารถเรียกกันได้ว่าเป็นตลาดแล้วนั่นเอง โดยหลังการตั้งชุมชนไม่นานชาวจีนเหล่านี้ก็ได้สร้างสิ่งต่าง ๆ ควบคู่กับการใช้ชีวิตของผู้คนภายในชุมชนด้วย เช่น ศาลเจ้าระแหงที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเสริมสร้างศรัทธาในการประกอบอาชีพของคนในตลาด และสะพานไม้ที่สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมสองฝั่งคลองอันทำให้ผู้คนสามารถติดต่อไปมาหากันสะดวกขึ้นในบริเวณนี้

ทั้งนี้ในส่วนของการค้าขายภายในตลาดในช่วงแรก ๆ นั้นจะพบว่าพ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่ที่ทำการค้าขายภายในตลาดจะมีการขายสินค้าที่ยังไม่ค่อยหลากหลายมากนัก โดยส่วนใหญ่จะเน้นเกี่ยวกับผลผลิตเกษตรกรรม เช่น ผลไม้และข้าวสาร ที่มาจากพื้นที่สวนและไร่นาในบริเวณข้างเคียง รวมถึงจากโรงสีข้าวที่ตั้งบริเวณท้ายตลาด ซึ่งถึงแม้ว่าช่วงแรกนี้สินค้าที่พ่อค้าแม่ค้านำมาวางขายจะยังไม่มีความหลากหลายมากนัก แต่ก็พบว่ามีลูกค้าเข้ามาจับจ่ายซื้อสินค้าในตลาดแห่งนี้เสมอ ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณโดยรอบของตลาดมีชุมชนหลายแห่ง ทำให้ชาวบ้านในชุมชนเหล่านี้ก็จะมาซื้อสินค้าเพื่อนำไปบริโภคในครัวเรือน รวมถึงพื้นที่ตลาดยังมีเรือโดยสารหรือเรือแท็กซี่ผ่านภายในพื้นที่ส่งผลให้คนภายนอกก็เข้ามาซื้อของในตลาดแห่งนี้เช่นกัน ดังนั้นตลาดแห่งนี้จึงเริ่มเป็นที่รู้จักของคนภายในและภายนอก และอาจกล่าวได้ว่าตลาดระแหงจึงเริ่มในการเป็นศูนย์กลางทางการเศรษฐกิจที่ผู้คนจะเข้ามาซื้อสินค้านั่นเอง

ในส่วนวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนช่วงแรกนั้นจะพบว่าชาวบ้านในพื้นที่มักต้องอาศัยคลองระแหงในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ อยู่เสมอ ทั้งในด้านการประกอบอาชีพและในด้านชีวิตประจำวัน กล่าวคือ ในส่วนของการประกอบอาชีพค้าขายนั้น คลองระแหงจัดได้ว่าสำคัญมากต่อกิจกรรมการค้าของผู้คนในชุมชนนี้ เพราะคลองระแหงถือเป็นพื้นที่สัญจรของลูกค้าที่จะมาซื้อสินค้าในตลาด นอกจากนี้พ่อค้าแม่ค้าก็จะใช้คลองระแหงเป็นพื้นที่สำหรับขนถ่ายสินค้าอีกด้วย อาจกล่าวได้ว่ากิจกรรมทางการค้าของคนในพื้นที่ตลาดระแหงจะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดคลองเส้นนี้ไป ส่วนในชีวิตประจำวันคลองระแหงแห่งนี้ก็สำคัญมากเช่นกัน เพราะในช่วงเวลานี้ระบบการปะปายังไม่พัฒนามากนัก ทำให้ผู้คนช่วงเวลานี้จะใช้มีการใช้น้ำจากคลองระแหงเพื่อการอุปโภคและบริโภคในครัวเรือนของตนด้วย ดังนั้นจากวิถีชีวิตที่ค่อนข้างสัมพันธ์กับคลองระแหงอย่างมากในช่วงนี้ จึงเป็นส่วนที่ทำให้บ้านเรือนของชาวบ้านในตลาดแห่งนี้นอกจากจะสร้างขึ้นอย่างเรียบง่ายดังที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วนั้น ยังจะมีลักษณะการสร้างที่ค่อนข้างสอดคล้องและเอื้อต่อการใช้ประโยชน์ในคลองเส้นนี้ไปด้วย จากจุดนี้ช่วงแรกบ้านของผู้คนในตลาดจะมีระเบียงด้านหน้าบริเวณที่ติดกับคลองเพื่อใช้ประโยชน์ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ตลอดจนการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำ ซักผ้า และเป็นที่พบปะพูดคุยกับเพื่อนบ้าน ดังนั้นชานระเบียงนี้จึงเปรียบเสมือนสิ่งจำของบ้านทุกหลังในชุมชนตลาดแห่งนี้

นอกจากวิถีชีวิตของผู้คนที่สัมพันธ์กับคลองระแหงแล้ว ในช่วงแรกนี้จะพบเห็นการใช้ชีวิตของผู้คนในตลาดที่เรียบง่ายไม่หวือหวาและผู้คนส่วนใหญ่ก็มักเชื่อมสัมพันธ์อยู่กันแบบพี่น้องที่มีความเอื้ออาทรช่วยเหลือต่อกัน นอกจากนี้ชาวบ้านที่เป็นชาวจีนบางส่วนในช่วงเวลานี้ยังได้เริ่มแต่งงานกับชาวไทยในบริเวณชุมชนข้างเคียงก่อให้เกิดการผสมผลานทางวัฒนธรรม ทำให้ลูกหลานในชุมชนรุ่นต่อ ๆ มานั้น เริ่มเกิดเป็นคนไทยเชื้อสายจีนมากขึ้นในบริเวณนี้

กล่าวได้ว่าภาพรวมของชุมชนในช่วงยุคตั้งตลาดนี้ คือ ชาวจีนได้เข้ามาตั้งร้านค้าขายสินค้าบริเวณริมสองฝั่งคลองระแหงจนทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นตลาด ซึ่งสินค้าที่พ่อค้ามักขายในตลาดในช่วงแรก ๆ นี้ส่วนใหญ่มักเป็นสินค้าทางการเกษตร โดยผู้คนที่ซื้อสินค้ามีทั้งบริเวณข้างเคียงและจากภายนอกเพราะการสัญจรทางน้ำบริเวณตลาดค่อนข้างสะดวก การค้าช่วงแรกจึงเปรียบเสมือนในการเริ่มที่จะเป็นศูนย์กลางทางการค้าในย่านนี้ ส่วนในวิถีชีวิตชาวบ้านชุมชนตลาดระแหงช่วงแรกมีวิถีชีวิตริมน้ำที่เรียบง่าย เน้นการใช้อรรถประโยชน์จากลำคลองระแหงเป็นส่วนมาก นอกจากนี้ชาวบ้านชาวจีนส่วนหนึ่งยังมีการผสมผสานแต่งงานกับคนไทยด้วย ส่งผลให้ประชากรรุ่นต่อมามักเป็นคนไทยเชื้อสายจีนนั่นเอง

ช่วงที่ 2 : ยุครุ่งเรืองทางการค้า (ประมาณ พ.ศ. 2469 - พ.ศ. 2481)

สำหรับในช่วงเวลานี้ชุมชนระแหงเรียกได้ว่าเป็นช่วงที่มีความเจริญรุ่งอย่างมากและได้ปรับเปลี่ยนบทบาทมาเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญ กล่าวคือสิ่งที่ทำให้ตลาดระแหงในช่วงเวลานี้มีความเจริญรุ่งเรืองคึกคักขึ้นมามากกว่าเดิมได้นั้นก็คือ การพัฒนาของเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ – บางบัวทอง – ลาดหลุมแก้ว ซึ่งเส้นทางรถไฟแห่งนี้เป็นรถไฟของเอกชน โดยมาจากเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ ที่มีความคิดริเริ่มจะสร้างทางรถไฟ เนื่องจากท่านประสบปัญหาในการเดินทางไปมาหาสู่กับญาติพี่น้องแถววัดเฉลิมพระเกียรติที่เมืองนนทบุรี ด้วยการเดินทางในสมัยนี้ที่ยากลำบากและเสียเวลามากท่านจึงคิดสร้างเส้นทางรถไฟเพื่อเชื่อมการเดินทางระหว่างพระนครกับนนทบุรีให้เร็วขึ้น โดยการสร้างทางรถไฟเส้นนี้ได้เริ่มสร้างนับตั้งแต่ พ.ศ. 2452 แต่ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) สวรรคตการสร้างรถไฟนี้ได้หยุดไป ก่อนที่จะเริ่มสร้างใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2457 และแล้วเสร็จเปิดบริการในเส้นทางบริเวณริมคลองระแหงใน ปี พ.ศ. 2469 เป็นต้นมา โดยเส้นทางการเดินรถไฟนั้นได้เริ่มที่ซอยรถไฟพระยาวรพงษ์ใกล้วัดลิงขบ (วัดบวรมงคลในปัจจุบัน) และตัดตรงไปทางเมืองนนท์ออกไปบางบัวทอง จนมาสุดที่บริเวณใกล้เคียงกับตลาดระแหงหรือสุดปลายทางที่บริเวณริมคลองระแหง ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณที่ตั้งของโรงเรียนชุมชนวัดบัวแก้วเกษร โดยการที่รถไฟมีเส้นทางสามารถบริการมาถึงบริเวณใกล้เคียงตลาดระแหงแห่งนี้ได้ส่งผลทำให้จำนวนผู้คนที่เข้ามาใช้บริการในตลาดระแหงแห่งนี้เพิ่มขึ้นด้วย จะพบว่าหลังการสร้างรถไฟไม่นานนักตลาดแห่งนี้ก็คึกคักไปด้วยผู้คนที่เข้ามาจับจ่ายซื้อของในพื้นที่เพราะการเดินทางที่สะดวกรวดเร็วผู้คนจากพื้นที่ต่าง ๆ สามารถเข้ามาซื้อสินค้าและขนส่งสินค้ากันได้ง่ายผ่านการใช้บริการรถไฟ นอกจากนี้การที่รถไฟเข้ามาในพื้นที่ตลาดระแหงประกอบกับการที่ตลาดแห่งนี้เริ่มคึกคักไปด้วยผู้คนมากขึ้น จุดนี้ยังทำให้ผู้คนส่วนหนึ่งมองเห็นกำไรที่จะงอกงามหากมีการดำเนินกิจการค้าขายในบริเวณนี้ จุดนี้จึงทำให้เกิดการอพยพของผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยและทำการค้าขายภายในตลาดเพิ่มมากยิ่งขึ้นกว่าเท่าตัว โดยจากการคึกคักของผู้ที่เข้ามาซื้อสินค้าและจากการขยายตัวของผู้ขายภายในตลาดระแหงช่วงเวลานี้จึงทำให้ไม่นานนักตลาดระแหงก็เจริญรุ่งเรืองอย่างมากและได้กลายมาเป็นศูนย์กลางการค้าของผู้คนในบริเวณย่านนี้

ทั้งนี้ในส่วนของการค้าขายสินค้าภายในตลาดของพ่อค้าแม่ค้านั้น จะพบว่าช่วงเวลานี้ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของกิจกรรมการค้าขายภายในตลาดระแหง โดยแต่เดิมในยุคก่อตั้งตลาดสินค้าที่พ่อค้าแม่ค้าขายภายในตลาดส่วนใหญ่จะไม่หลากหลายมากนัก โดยเน้นไปที่สินค้าผลผลิตทางการเกษตรเป็นสำคัญ แต่ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคนี้ที่จำนวนของลูกค้าประกอบกับจำนวนผู้ขายเพิ่มมากขึ้นจากการเข้ามาของรถไฟ จึงส่งผลทำให้กิจกรรมการค้าของตลาดแห่งนี้มีความหลากหลายของร้านค้าและชนิดสินค้ามากขึ้นไปด้วย โดยสินค้าและร้านค้าที่เปิดขายในตลาดช่วงเวลานี้ อาทิเช่น ร้านขายเครื่องมือการประมง เครื่องมือการเกษตร โรงฝิ่น ร้านอาหารสำเร็จรูป และร้านกาแฟ เป็นต้น ซึ่งการที่ตลาดแห่งนี้มีร้านค้าและสินค้าที่หลากหลายเปิดบริการและขายแก่ผู้คนก็ยิ่งเป็นการส่งเสริมให้คนเข้ามาในตลาดแห่งนี้มากขึ้น ตลาดคลองระแหงในช่วงเวลานี้จึงยิ่งคึกตักและรุ่งเรืองอย่างมาก

ความรุ่งเรืองของตลาดที่มากในช่วงเวลานี้ ได้แสดงออกให้เห็นผ่านการปรับเปลี่ยนรูปแบบบ้านเรือนด้วย โดยพ่อค้าแม่ค้าบางร้านที่สามารถสะสมทุนทรัพย์จากการค้าที่เจริญรุ่งเรือง จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ รวมถึงต่อเติมอาคารบ้านเรือนของตนให้ดีขึ้น ดังนั้นบ้านเรือนของชาวบ้านในตลาดบางส่วนในช่วงเวลานี้ จึงเริ่มเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงจากบ้านชั้นเดียวที่สร้างอย่างเรียบง่ายมาเป็นรูปแบบอาคารเรือนแถวไม้ 2 ชั้นหลังคามุงสังกะสี ที่ตัวเรือนมีความคงทนมากขึ้น โดยชั้นบนของอาคารรูปแบบนี้จะใช้เพื่อการอยู่อาศัย ส่วนชั้นล่างจะใช้ในการทำการค้าขายนั่นเอง

ส่วนด้านของการสัญจรในพื้นที่นอกจากรถไฟที่สามารถโดยสารเข้าถึงพื้นที่ได้แล้ว ชาวบ้านยังคงใช้การสัญจรทางน้ำเป็นเส้นทางสัญจรหลักเช่นเดิม ซึ่งช่วงเวลานี้ได้มีบริการเส้นทางการสัญจรทางน้ำรูปแบบใหม่ขึ้นมา คือ การให้บริการของเรือหางยาวโดยสาร จากลาดระแหงไปยังประตูน้ำหรือเมืองนนท์ การสัญจรทางน้ำที่รวดเร็วขึ้นนี้ จึงยิ่งส่งเสริมทำให้มีผู้คนเดินทางผ่านเข้าออกตลาดระแหงเป็นจำนวนมากด้วย

ด้วยเหตุนี้อาจสรุปช่วงเวลานี้ได้ว่า จากการที่พื้นที่บริเวณตลาดแห่งนี้เป็นศูนย์กลางทางด้านการค้าที่สำคัญของพื้นที่ และการเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างการสัญจรทางน้ำและทางบก รวมถึงเป็นจุดสิ้นสุดของรถไฟสายกรุงเทพฯ-บางบัวทอง-ลาดหลุมแก้ว ทำให้สามารถดึงดูดผู้คนจำนวนมากให้เข้ามาใช้บริการในตลาดระแหงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมการค้าขายของตลาดระแหงเกิดการขยายตัวและเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก พิจารณาได้จากจำนวนลูกค้า ประเภทสินค้าและการบริการที่มีความหลากหลาย รวมถึงลักษณะอาคารบ้านเรือนภายในตลาดที่มีการพัฒนามากขึ้นนั่นเอง

ช่วงที่ 3: ยุคซบเซาทางการค้า (ประมาณ พ.ศ. 2486 - ปัจจุบัน)

ความซบเซาของชุมชนตลาดระแหงได้เริ่มขึ้นเมื่อรถไฟสายกรุงเทพฯ – บางบัวทอง – ลาดหลุมแก้ว ได้ยกเลิกกิจการเดินรถไฟสายนี้ไป โดยนับตั้งแต่ พ.ศ. 2484 กิจการรถไฟสายนี้ต้องประสบกับปัญหาต่าง ๆ กล่าวคือ กิจการรถไฟสายนี้ต้องประสบปัญหาการมีรายได้จากการเดินรถไฟไม่มากนัก เพราะช่วงเวลานี้บ้านเมืองได้ประสบกับเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้ชาวบ้านประชาชนทั่วไปไม่กล้าโดยสารหรือใช้บริการรถไฟเนื่องจากกลัวอันตราย ทำให้รายได้กำไรจากการเดินรถไฟช่วงเวลานี้น้อยมากมีแค่พอจุนเจือพนักงานเท่านั้น ดังนั้นการจะทำกิจการรถไฟสายนี้ต่อไปจึงไม่คุ้มกับการลงทุน นอกจากนี้รถไฟช่วงเวลานี้ยังต้องประสบปัญหาการซ่อมบำรุงรถไฟอีกด้วย เพราะจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศต่าง ๆ ต้องคิดอยู่กับภาระสงครามทำให้ไม่สามารถสั่งซื้ออะไหล่จากต่างประเทศได้ ทำให้การซ่อมรถไฟที่เสียหายหรือชำรุดจึงไม่สามารถดำเนินการได้ในช่วงนี้ รถไฟจึงต้องหยุดชักการเดินทางไป จากปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้เมื่อประกอบกันจึงทำให้รถไฟสายนี้จึงค่อย ๆ หยุดการเดินรถและในที่สุดวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2486 จึงมีการประกาศยกเลิกกิจการรถไฟอย่างเป็นทางการ ซึ่งจากการหยุดเดินรถไฟครั้งนี้ถือได้ว่าส่งผลกระทบให้ตลาดระแหงแห่งนี้เริ่มซบเซาลง เพราะการยกเลิกรถไฟได้ทำให้จำนวนผู้ที่จะเข้ามาใช้บริการในพื้นที่บริเวณริมคลองระแห่งที่ลดน้อยลงไปด้วย เมื่อมีคนเข้ามาพื้นที่นี้น้อยลงการค้าขายที่เคยคึกคักในตลาดแห่งนี้ก็ซบเซาเงียบเหงาลงไปด้วย ทั้งนี้แม้ว่าผู้คนจะสามารถเดินทางเข้าตลาดในเส้นทางอื่น ๆได้ก็ตาม แต่ความจำเป็นที่จะเข้ามาก็น้อยลง ผู้คนที่ต้องการซื้อสินค้าจริง ๆ ที่อยู่ภายนอกก็มักจะหันไปหาตลาดอื่น ๆ ที่การสัญจรมีความสะดวกกว่าและมีรถไฟเข้าถึงพื้นที่ ดังนั้นกล่าวได้ว่าความคึกคักและความรุ่งเรืองหรือความเจริญต่าง ๆ ของตลาดแห่งนี้จึงไม่ได้มีเท่ากับในยุคก่อนแล้วนับตั้งแต่ที่รถไฟหยุดกิจการไป

ทั้งนี้แม้ว่าการหยุดเดินรถไฟจะทำให้ตลาดแห่งนี้มีความคึกคักน้อยลงและเริ่มเข้าสู่ภาวะของความซบเซา แต่ก็ไม่ได้เป็นส่วนที่ทำให้ตลาดแห่งนี้ซบเซาจนถึงขีดสุดไปเลยทีเดียว เพราะพ่อค้าแม่ค้าต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญให้มีกิจกรรมการค้าขายภายในตลาดนั้นก็ยังคงเปิดกิจการค้าขายกันอยู่เป็นปกติ กล่าวคือแม้ว่าผู้คนจะลดน้อยลงมากจากการหยุดของกิจการรถไฟแต่พ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้ก็ยังค้าขายสินค้ากันต่อไป เพราะผู้คนบางส่วนก็ยังคงมีการสัญจรทางน้ำผ่านบริเวณอยู่ ทำให้ยังคงมีการค้าขายสินค้ากันกับผู้คนเหล่ากันเป็นปกติ ทั้งนี้แม้ว่าจะไม่เจริญเท่าเดิมแต่ก็ยังพอขายสินค้าในตลาดแห่งนี้ได้ อย่างไรก็ตามเมื่อการพัฒนาระบบการคมนาคมทางบกได้เข้ามานั้น สิ่งนี้ได้นำมาสู่จุดเปลี่ยนให้ตลาดเข้าสู่ความซบเซาขีดสุดอย่างแท้จริง เพราะนอกจากสินค้าภายในตลาดจะขายไม่ได้แล้ว เนื่องจากคนที่เคยสัญจรทางน้ำเปลี่ยนไปสัญจรทางบก ผู้คนที่เป็นพ่อค้าแม่ค้าก็ออกจากตลาดแห่งนี้ไปค้าขายที่อื่นด้วย โดยกล่าวได้ว่าจากแผนนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 พ.ศ. 2504 - พ.ศ. 2509 ที่ใช้แนวคิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Development with Growth) เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยการนำของรัฐบาลจอมพลสฤษติ์ ธนะรัชย์ ส่งผลให้ช่วงเวลานี้เกิดการพัฒนาระบบการขนส่งและคมนาคมทางบกเข้าสู่พื้นที่ต่าง ๆ อย่างการตัดถนน ซึ่งบริเวณตลาดระแหงแห่งนี้ก็ได้มีการตัดถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 346 ผ่านขึ้นมาใกล้เคียงกับตลาดเช่นกัน โดยเป็นเส้นทางหลักที่ใช้ในการสัญจรและการขนส่งภายในตำบลระแหง ที่เชื่อมต่ออำเภอลาดหลุมแก้วกับถนน 3 สายจากกรุงเทพมหานคร รวมถึงเป็นถนนสายหลักที่เชื่อมการเดินทางเข้าออกของผู้คนทั้งในและนอกพื้นที่ โดยการที่บริเวณนี้มีการตัดถนนเกิดขึ้น เมื่อประกอบเข้ากับการมีระบบขนส่งมวลชนสาธารณะทางบกไว้บริการผู้คนด้วย จึงทำให้การสัญจรเดินทางไปที่ต่าง ๆ ของผู้คนมีความสะดวกรวดเร็วอย่างมาก สิ่งนี้ได้ส่งผลต่อการสัญจรของผู้คนเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นทางบก การสัญจรที่เคยมีอย่างการสัญจรทางน้ำจึงถูกลดบทบาทลง และไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป ซึ่งจากเหตุผลนี้เองจึงทำให้จำนวนผู้คนที่เคยสัญจรด้วยน้ำบริเวณคลองระแหงผ่านตลาดระแหงแห่งนี้จึงลดลงน้อยเรื่อย ๆ และในที่สุดก็ไม่มีคนสัญจรทางน้ำผ่านบริเวณนี้อีกต่อไป ดังนั้นเมื่อผู้คนไม่สัญจรทางน้ำผ่านเข้าสู่ตลาดแล้ว คนที่จะเข้าสู่ตลาดก็น้อยลง ยิ่งเมื่อประกอบเข้ากับการมีตลาดภายนอกที่อยู่ใกล้ถนนและการที่ต่อมามีร้านสะดวกซื้อแบบสมัยใหม่ที่มีสินค้าหลากหลายมากกว่าเข้ามา ลูกค้าที่จะจับจ่ายซื้อของภายในตลาดระแหงแห่งนี้ก็เริ่มเบาบางลงและเริ่มหายไป ตลาดแห่งนี้จึงมีความเงียบเหงาและซบเซาลงอย่างมาก

ทั้งนี้ความซบเซาของตลาดที่มีนี้ยิ่งทวีคูณมากขึ้นกว่าเดิมเมื่อแม่ค้าพ่อค้าภายในตลาดเริ่มเล็งเห็นถึงโอกาสและความได้เปรียบในการดำเนินกิจกรรมการค้าในทำเลใหม่อย่างบริเวณริมทางถนนที่จะทำการค้าได้มากกว่าอยู่ภายในตลาดที่ซบเซาแห่งนี้ จึงเกิดการอพยพของพ่อค้าแม่ค้าที่เคยอยู่อาศัยภายในตลาดจำนวนมากออกมาตั้งถิ่นฐานร้านค้าเป็นอาคารตึกแถวในบริเวณริมสองฝั่งของถนนแทน ดังนั้นไม่นานร้านต่าง ๆ ที่เคยเปิดบริการและขายสินค้าภายในตลาดแก่ผู้คนจึงค่อย ๆ ทยอยปิดตัวลงหลายร้าน โดยอาจมีบางร้านที่ยังคงอาศัยและเปิดขายสินค้าอยู่ในชุมชนแห่งนี้ แต่ก็เพราะชาวบ้านครัวเรือนเหล่านี้ยังคงผูกพันกับชุมชนและพื้นที่นี้ บางครัวเรือนอาศัยอยู่นับตั้งแต่บรรพบุรุษ จึงทำให้ผู้คนบางส่วนแม้ไม่ได้ค้าขายดีนัก แต่ก็ทำใจที่จะย้ายออกจากชุมชนแห่งนี้ไม่ได้นั่นเอง

กล่าวได้ว่าด้วยความซบเซาของตลาดระแหงได้ทำให้ตลาดแห่งนี้สูญเสียบทบาทของการเป็นพื้นที่ศูนย์กลางทางการค้าที่เคยมีมาแต่อดีต ซึ่งแม้ว่าต่อมาทางเทศบาลตำบลระแหงและชาวบ้านในชุมซนจะได้มีความพยายามในการคิดโครงการพัฒนาตลาดระแหงให้กลับมารุ่งเรืองทางการค้าอีกครั้งแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างเต็มที่และอย่างสม่ำเสมอ เช่น ใน พ.ศ. 2553 รายการตลาดสดสนามเป้าได้เข้ามาถ่ายทำรายการในพื้นที่ตลาดระแหง ซึ่งเท่ากับเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์และนำเสนอตลาดระแหงให้ออกสื่อโทรทัศน์ทำให้ตลาดระแหงกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น และดึงดูดผู้คนหรือนักท่องเที่ยวให้เข้ามาใช้บริการในดลาด ทำให้ช่วงเวลานั้นมีพ่อค้าแม่ค้าหน้าใหม่เข้ามาลงทุนเพื่อประกอบกิจการภายในตลาด แต่ภายหลังเมื่อทำการค้าขายได้เพียง 1 ปี และไม่สามารถขายสินค้าได้ตามที่คาดหวังไว้ ทำให้บางร้านที่เข้ามานี้เลิกกิจการและไม่เข้ามาดำเนินกิจการค้าขายอีก

อย่างไรก็ดีแม้ว่าหลังจากความซบเซาตลาดระแหงจะยังไม่สามารถฟื้นฟูกิจกรรมทางการค้าขายภายในตลาดแห่งนี้ให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองเฉกเช่นเดิมได้ แต่ก็พบว่าชาวบ้านในตลาดดั้งเดิมที่เหลืออยู่และทางหน่วยงานเทศบาลตำบลระแหงก็ไม่ได้ทอดทิ้งชุมชนตลาดแห่งนี้ไป โดยยังคงมีการอนุรักษ์ตลาดแห่งนี้เอาไว้ และมีการจัดให้ตลาดระแหงรักษาความเก่าแก่เป็นตลาดน้ำเหมือนในอดีต ทั้งนี้ก็เพื่อปรับเปลี่ยนมาให้สถานที่นี้กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของจังหวัดปทุมธานีแทน จะพบว่าภาครัฐและชาวบ้านมีการร่วมมือต่อการอนุรักษ์ตลาดระแหงให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น ในส่วนของหน่วยงานเทศบาลตำบลระแหง พบว่าหน่วยงานนี้จะมีการช่วยจัดการ รวมถึงพัฒนาด้านต่าง ๆ ภายในตลาดอันจะส่งเสริมให้ตลาดมีการท่องเที่ยวเกิดขึ้น อีกทั้งเทศบาลตำบลระแหงยังช่วยในการดูแลสภาพแวดล้อม รวมถึงปรับภูมิทัศน์ของตลาดระแหงแห่งนี้ให้สวยงามน่าท่องเที่ยว มีการทำความสะอาดขุดลอกคูคลอง มีการดูแลต้นไม้บ้านเรือนให้ดูร่มรื่นน่าเที่ยว เป็นต้น นอกจากนี้เทศบาลตำบลระแหงยังมีการส่งเสริมการวางขายสินค้าของกลุ่มชาวบ้านภายในบริเวณที่หน่วยงานรับผิดชอบให้กลุ่มต่าง ๆ มาวางขายสินค้าที่ตลาดแห่งนี้ รวมถึงเทศบาลตำบลระแหงยังจะช่วยโปรโมทและจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้แก่ตลาดอีกด้วย ทั้งนี้ในส่วนการร่วมมือจากชาวบ้านนั้นจะพบว่าชาวบ้านที่มีร้านค้าต่าง ๆ ภายในตลาด โดยเฉพาะที่เป็นร้านดั้งเดิมก็จะมีการพยายามรักษาสภาพความเก่าแก่หรือความเป็นเอกรักษ์ของร้านที่มีมาแต่อดีตเอาไว้ นอกจากนี้ชาวบ้านบางส่วนที่ร้านของตนอาจไม่ได้ดำเนินกิจการร้านค้าขายแล้วแต่ยังคงอยู่อาศัยในชุมชนก็จะนำของสะสมในอดีตของครอบครัวตนออกมาวางให้ผู้คนและนักท่องเที่ยวได้ชม ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน และข้าวของเครื่องใช้ที่เคยใช้ในการประกอบอาชีพ ซึ่งทำให้บ้านบางส่วนเปรียบเสมือนพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ ในชุมชน นอกจากนี้ยังพบว่าบางครัวเรือนอาจจะมีการนำรูปภาพที่เกี่ยวข้องกับชุมชนแห่งนี้ในอดีตมาแควนไว้ให้นักท่องเที่ยวได้เห็น เพื่อให้เกิดความรู้สึกหวนคืนอดีตหรือเกิดความซึมซับกับบรรยากาศมากขึ้น

กล่าวได้ว่าจากความพยายามต่าง ๆ รวมถึงความร่วมมือของชาวบ้านและหน่วยงานรัฐอย่างเทศบาลตำบลระแหงในการอนุรักษ์ตลาดระแหงแห่งนี้ให้คงไว้ สิ่งนี้ได้ทำให้ชุมชนตลาดระแหงแห่งนี้แม้ไม่ได้โดดเด่นในด้านเศรษฐกิจการค้าแล้ว แต่ในด้านวิถีชีวิตดั้งเดิมและการรักษาความเป็นชุมชนตลาดในอดีตนั้นถือได้ว่ามีความโดดเด่นอย่างมาก ซึ่งจุดนี้เองจึงเป็นส่วนที่ทำให้ในปี พ.ศ. 2551 ตลาดระแหงจึงได้รับรางวัลอนุรักษ์ชุมชนดั้งเดิมดีเด่นจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกด้วย

โดยในปัจจุบันนี้ตลาดระแหงยังคงมีความสวยงามและได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของจังหวัดปทุมธานี ตามที่ชาวบ้านและหน่วยงานในพื้นที่ตั้งใจเอาไว้ ซึ่งตลาดระแหงจะมีการเปิดให้เยี่ยมชมไม่เสียค่าธรรมเนียมในทุกวัน โดยภายในตลาดจะมีร้านค้าเก่าทั้งที่ยังมีการค้าขายและไม่มีการค้าขายให้นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมทัศนียภาพได้ หรืออาจจะลองอุดหนุนหรือใช้บริการก็ได้ตามสะดวก เช่น ร้านแปโภชนา ร้านอุปกรณ์ดักจับประมงอายุ 90 ปี ร้านเสริมสวย ร้านตัดผมคุณปู่ ร้านขายขนมปัง ร้านขายยาจีนโบราณ อดีตร้านขายของชำ ร้านก๋วยเตี๋ยวโบราณตาพ้ง เป็นต้น ส่วนทุกวันเสาร์และอาทิตย์ตลาดระแหงแห่งนี้อาจจะพิเศษเพิ่มขึ้นมามากกว่าวันปกติ เพราะนอกจากจะมีร้านค้าเก่าแก่ให้เยี่ยมชมแล้ว ตลาดแห่งนี้จะมีสินค้าออกมาขายเพิ่มเติมด้วย เช่น ขนมพื้นบ้าน ขนมไทยโบราณ ผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น 

ชุมชนตลาดระแหง เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ริมคลองระแหงในหมู่ที่ 4 ตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี โดยอยู่ห่างจากตัวเมืองปทุมธานีไปทางอำเภอลาดหลุมแก้ว ประมาณ 13 กิโลเมตร โดยรอบชุมชนจะมีสถานที่สำคัญทั้งวัดและสถานศึกษาอยู่ใกล้เคียง ได้แก่ วัดบัวแก้วเกษตร โรงเรียนชุมชนวัดบัวแก้วเกษร (วรพงศ์อนุกูล) นอกจากนี้ยังจะมีสถานที่สำคัญอื่น ๆ เช่น ห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารี ศูนย์โอท็อปลาดหลุมแก้ว เป็นต้น

การเดินทางเข้าสู่ชุมชนตลาดระแหง

การเดินทางเข้าสู่ชุมชนตลาดระแหงสามารถเดินทางเข้ามาได้ทั้งการโดยสารรถยนต์ส่วนตัวที่จะมีลานจอดรถบริการให้นักท่องเที่ยวบริเวณสะพานข้ามคลองติดกับห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารี นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทางเข้าสู่ตลาดได้ด้วยเช่นกัน โดยเส้นทางการเดินทางเข้าสู่ตลาดมีดังนี้

1. การเดินทาง : รถยนต์ส่วนตัว สามารถเข้าสู่ชุมชนตลาดระแหงมีอยู่ด้วยกัน 3 เส้นทาง คือ

  • เส้นทางที่ 1 เริ่มที่ถนนแจ้งวัฒนะเมื่อวิ่งมาถึงห้าแยกปากเกร็ดให้เลี้ยวขวาเข้าถนนติวานนท์ วิ่งตามถนนติวานนท์มาจนถึงสี่แยก จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าถนน 345 ขึ้นสะพานนนทบุรี (นวลฉวี) ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อพบแยกแรกที่จะไปปทุมธานีให้ตรงไป จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าถนน 346 เพื่อไปลาดหลุมแก้ว พอเข้าถนน 346 แล้วเจอสี่แยกให้เลี้ยวซ้ายเข้า อ.ลาดหลุมแก้ว ราว กิโลเมตรที่ 24 ผ่านวัดบัวแก้วเกษร จะพบสะพานข้ามคลองระแหง ให้ข้ามสะพานแล้วกลับรถชิดซ้ายเข้าจอดข้างสะพาน จากนั้นก็เดินทางเท้าเข้าตลาดระแหง
  • เส้นทางที่ 2 เริ่มที่หลักสี่ ดอนเมือง ให้วิ่งตามถนนวิภาวดีรังสิต จนผ่านเซียร์รังสิต แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนรังสิต-ปทุมธานี เมื่อเจอสามแยกที่โรงพยาบาลกรุงสยามเซ็นต์คาลอสให้เลี้ยวขวาไปทางปทุมธานี ขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ววิ่งตรงตามถนน 346 ที่จะไปลาดหลุมแก้วและบางเลน จากนั้นเมื่อเข้าเขตลาดหลุมแก้ว ราวกิโลเมตรที่ 24 ผ่านวัดบัวแก้วเกษร จะพบสะพานข้ามคลองระแหง ให้ข้ามสะพานแล้วกลับรถชิดซ้ายเข้าจอดข้างสะพาน จากนั้นก็เดินทางเท้าเข้าตลาดระแหง
  • เส้นทางที่ 3 เริ่มที่ถนนงามวงศ์วาน วิ่งตรงสู่ถนนรัตนาธิเบศร์ และข้ามแม่นํ้าเจ้าพระยา จากนั้นวิ่งเข้าสู่ถนนกาญจนาภิเษก (ตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี) ตามป้ายบอกทางไปสุพรรณบุรี วิ่งตรงมาเรื่อย ๆ ตามทางที่จะไปลาดหลุมแก้ว จากนั้นพอถึงสี่แยกที่เลี้ยวขวาไปปทุมธานีก็ให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ อ.ลาดหลุมแก้ว ราวกิโลเมตรที่ 24 ผ่านวัดบัวแก้วเกษร จะพบสะพานข้ามคลองระแหง ให้ข้ามสะพานแล้วกลับรถชิดซ้ายเข้าจอดข้างสะพาน จากนั้นก็เดินทางเท้าเข้าตลาดระแหง

2. การเดินทาง : รถโดยสารสาธารณะ สามารถเข้าสู่ชุมชนตลาดระแหงมีอยู่ด้วยกัน 3 เส้นทาง ดังนี้

  • นั่งรถเมล์สาย 90 จากสะพานควาย, ถนนทหาร,ถนนประชาราษฎร์สาย 1, ถนนติวานนท์หรือสาย 33 จากสนามหลวง, เทเวศน์ มาลงท่าน้ำปทุมธานี แล้วต่อรถเมล์สายปทุมฯ-บางเลนหรือรถโดยสารสายปทุมฯ-ลาดหลุมแก้ว มาลงที่หน้าวัดบัวแก้วเกษร แล้วเดินลอดสะพานข้ามคลองระแหงมาที่ตลาดระแหง
  • จากรังสิต ฟิวเจอร์ปาร์ค สามารถนั่งรถเมล์มาลงท่าน้ำปทุมธานี แล้วต่อรถมาที่ตลาดระแหง
  • จากอำเภอบางเลน จ.นครปฐม สามารถนั่งรถสายบางเลน-ปทุมฯ ลงหน้าตลาดระแหงได้เลย

ลักษณะทางกายภาพ

ชุมชนตลาดระแหงเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในตำบลระแหง ซึ่งตำบลระแหงแห่งนี้มีลักษณะทางกายภาพคือ เป็นที่ราบลุ่มลาดเอียงเล็กน้อยไม่เกินร้อยละ 1 จากทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ลักษณะดินส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นดินเหนียว นอกจากนี้พื้นที่ส่วนใหญ่ของตำบลเหมาะสมกับการทำการเกษตรเพราะมีลำคลองหลายสายที่สำคัญผ่านบริเวณพื้นที่ทั่วตำบล ได้แก่ คลองระแหง คลองมหาโยธา คลองพระอุดม คลองลาดหลุมแก้ว คลองลาดหลุมเชี่ยว คลองลัดตามุ้ย และคลองลัดตาเขียน ทั้งนี้จากบรรดาคลองทั้งหมดที่กล่าวมานี้ในบริเวณหมู่ที่ 4 ของคลองระแหงจะเป็นที่ตั้งของชุมชนตลาดระแหงมาตั้งแต่อดีต

ภูมิอากาศ

พื้นที่ในตำบลระแหงส่วนใหญ่จะมีภูมิอากาศคล้ายกับพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทย คือมีสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นมี 3 ฤดู โดยฤดูร้อนจะเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เดือนเมษายน ฤดูฝนจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-เดือนกันยายน ส่วนในฤดูหนาวจะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม-เดือนมกราคม 

ชุมชนตลาดระแหงเป็นชุมชนส่วนหนึ่งของหมู่ 4 ตำบลระแหง ประชากรที่อยู่อาศัยในชุมชนมีทั้งชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีนที่เป็นลูกหลานบรรพบุรุษชาวจีนที่มาเปิดร้านในตลาดรุ่นแรก ๆ โดยลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนทุกวันนี้อาจมีวิถีชีวิตเช่นเดียวกันกับชาวไทยทั่ว ๆ ไปในตลาดแต่อาจมีประเพณีวันสำคัญบางอย่างตามวิถีชาวไทยเชื้อสายจีนที่ยังคงปฏิบัติอยู่ ทั้งนี้ในด้านจำนวนประชากรที่อยู่อาศัยในชุมชนระแหงนี้พบว่ายังไม่มีข้อมูลระบุอย่างแน่นอนถึงจำนวนผู้คนที่อยู่อาศัยภายในตลาดแห่งนี้ โดยส่วนใหญ่ประชากรที่อาศัยในตลาดระแหงแห่งนี้จะถูกคำนวณรวมกับประชากรในชุมชนอื่น ๆ ที่อยู่อาศัยในหมู่ 4 ของตำบลระแหง คือ เป็นชาย 1,972 คน หญิง 2,247 คน รวม 4,219 คน ส่วนในด้านของข้อมูลจำเพาะทั้งประชากรและจำนวนครัวเรือนของคนภายในตลาดระแหงปัจจุบันยังไม่มี โดยอาจกล่าวว่าปัจจุบันตลาดแห่งนี้มีทั้งที่ผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนตลาดระแหงและผู้ที่เข้ามาเปิดร้านค้าขายเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีผู้ที่เข้ามาอยู่อาศัยและย้ายออกไปจากชุมชนอยู่ตลอดทำให้จำนวนที่จะอยู่อาศัยภายในชุมชนจริงจึงยังไม่แน่นอนพอคำนวณออกมาได้

ในส่วนของอาชีพของคนส่วนใหญ่ที่ยังอยู่อาศัยในตลาดยังคงมีอาชีพการค้าขายเป็นหลัก แต่ทั้งนี้ปัจจุบันยังมีบางส่วนที่เป็นลูกหลานของชาวบ้านในชุมชนมีการทำอาชีพอื่น ๆ หลากหลายร่วมด้วย เช่น รับจ้าง พนักงานโรงงาน การทำเกษตรกรรม พนักงานบริษัท ข้าราชการ เป็นต้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

ภายในตลาดระแหงแห่งนี้พบว่าผู้คนที่เหลืออยู่ในตลาดระแหงนี้ส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังคงมีการดำเนินวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับกิจการการค้าขายดั่งเช่นที่เคยมีมาในอดีต โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงมีการเปิดบ้านพักอาศัยของตนที่เป็นอาคารไม้ 2 ชั้นทำการค้า โดยชั้นบนของอาคารชาวบ้านจะใช้เป็นที่อยู่อาศัย ส่วนด้านล่างชาวบ้านจะเปิดเป็นร้านขายสินค้าหรือร้านให้บริการต่าง ๆ เช่น ร้านขายของชำ ร้านตัดผม ร้านอาหาร ร้านขายเครื่องมือทางการเกษตร ร้านขายอุปกรณ์จับสัตว์น้ำ ร้านขายของที่ระลึก ขายเสื้อผ้า เป็นต้น กิจกรรมการค้านี้ปัจจุบันบางส่วนก็เพื่อเปิดเป็นการควบคู่กับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของชุมชนไปด้วย ทำให้ร้านต่าง ๆ จึงมีการอนุรักษ์ความเป็นร้านเก่าแก่ดั้งเดิมของตนเพื่อเรียกลูกค้าให้เข้ามาภายในตลาดแห่งนี้ กล่าวได้ว่าวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจในด้านการค้านี้ชาวบ้านได้ดำเนินมาตั้งแต่บรรพบุรุษและปัจจุบันชาวบ้านบางส่วนก็ยังคงสืบทอดกิจการเกี่ยวกับการค้าของตนให้แก่ลูกหลานต่อไปอีกด้วย 

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

  • ประเพณีตักบาตรพระร้อย จะกระทำกันในเทศกาลวันออกพรรษาตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็นต้นไป การตักบาตรพระร้อยนี้เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนานของชาวปทุมธานี โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายมอญ ซึ่งประเพณีเมื่อถึงช่วงของงานประจำปีทางวัดที่อยู่ตามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองข้าง จะตกลงกันกำหนดแบ่งกันเป็นเจ้าภาพเพื่อให้จำนวนพระในงานสามารถมีเพียงพอต่อการจัดงานได้ ทั้งนี้การจัดงานทางวัดอาจจะมีการจัดตักบาตรทางเรือริมแม่น้ำ หรือรอบอุโบสถก็ได้ขึ้นอยู่กับความสะดวกของทางวัดและประชาชน โดยในกิจกรรมของงานนี้คือก่อนวันงานตักบาตรพระร้อยพุทธศาสนิกชนทั้งหลายจะมีการจัดเตรียมทำอาหารหวานคาวไว้ทำบุญตักบาตรกัน จากนั้นเมื่อถึงวันงานก็จะมาใส่บาตรกันแต่เช้าให้แก่พระสงฆ์เป็นจำนวนกว่า 100 รูป กล่าวว่าชาวชุมชนตลาดระแหงแห่งนี้ก็มีการเข้าร่วมในการทำบุญนี้ด้วยเช่นกัน โดยประเพณีตักบาตรพระร้อยนี้จะมีขึ้นที่วัดใกล้ชุมชนคือวัดบัวแก้วเกษตรในทุก ๆ ปีนั่นเอง
  • งานไหว้ศาลเจ้าระแหง หลังเทศกาลตรุษจีนประมาณเดือนมีนาคมศาลเจ้าระแหงที่ตั้งอยู่ภายในตลาดระแหงแห่งนี้จะมีงานประจำปีในการไหว้ศาลแห่งนี้ โดยลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนในชุมชนจะมาร่วมกันเซ่นไหว้ศาลแห่งนี้และก็จะขอพรกันเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและครอบครัว นอกจากนี้ในเทศกาลสำคัญอื่น ๆ อันเกี่ยวข้องกับชาวไทยเชื้อสายจีนศาลเจ้าระแหงแห่งนี้ก็จะเป็นศูนย์รวมของลูกหลานชาวจีนในชุมชนในการเซ่นไหว้ต่าง ๆ อีกด้วย
  • งานปิดทองหลวงพ่อดำ เป็นงานประจำปีของวัดบัวแก้วเกษร โดยจะมีการจัดงานรื่นเริงกันประมาณ 7 วัน 7 คืน ซึ่งเมื่อมีการจัดงานนี้ประชาชนจากชุมชนโดยรอบวัดจะมาร่วมกันอย่างคึกคัก ทั้งนี้ภายในงานจะมีการให้ประชาชนต่าง ๆ สามารถกราบไหว้และปิดทองแก่หลวงพ่อดำ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่และเป็นที่เคารพสักการะอย่างมากของชาวลาดหลุมแก้ว

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

สถานที่สำคัญ

1. วัดบัวแก้วเกษร ตั้งอยู่บริเวณตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานีใกล้ตลาดระแหง วัดแห่งนี้ได้สร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2444 โดยนายอ่อง การเกสร เป็นผู้ถวายที่ดินและดำเนินการสร้างวัด และได้ขนานนามว่าวัดสำราญสาลี แต่ต่อมาพระอธิการตุ๊ดเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ขออนุญาตเปลี่ยนชื่อวัดระแหงเพื่อให้สอดคล้องกับชื่อตำบล กระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2481 เจ้าอธิการปลื้มเจ้าอาวาสองค์ต่อมาได้ขอเปลี่ยนใหม่อีกครั้งว่า วัดบัวแก้วเกษร เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่เจ้าของที่ดินที่มีนามสกุลว่า การเกสร ซึ่งการเปลี่ยนชื่อนี้จึงเป็นชื่อสืบมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้วันแห่งนี้ได้รับพระราชทานวิสูงคามสีมา เมื่อประมาณ พ.ศ. 2464และได้ดำเนินการผูกพัทธสีมา เมื่อพ.ศ. 2488 ภายในวัดได้มี หลวงพ่อดำ พระพุทธรูปที่ขึ้นชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์และผู้คนภายในพื้นที่นับถือมาก โดยแต่เดิมหลวงพ่อดำประดิษฐานอยู่ที่วัดกลางบางซื่อ จังหวัดนนทบุรี แต่ต่อมาได้ย้ายมาประดิษฐานที่วัดบัวแก้วเกษรในสมัยท่านพระครูปราโมทย์ศีลขันธ์ วัดบัวแก้วเกษรถือว่าเป็นวัดประจำชุมชนตลาดระแหงในวันสำคัญหรืองานสำคัญทางพระพุทธศาสนาชาวบ้านที่ตลาดจะมารวมตัวเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่วัดแห่งนี้เป็นประจำ

2. สุทธาภิรมย์พานิชย์ แต่เดิมสถานที่นี้เป็นร้านโชห่วยที่เปิดมานานกว่า 70 ปี มีลูกค้าแวะเวียนมาใช้บริการกันอยู่เสมอ แต่อย่างไรก็ดีเมื่อวันเวลาเปลี่ยนไปครอบครัวได้มีการย้ายไปทำธุรกิจส่วนตัวอื่น ๆ ร้านโชห่วยแห่งนี้จึงปิดตัวลง คนในครอบครัวจึงปรับเปลี่ยนบ้านหลังนี้ให้เสมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม โดยมีการนำเอาของในร้านและของใช้ส่วนตัวที่เป็นของสะสมอายุกว่า 100 ปี ออกมาแสดงให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาเยี่ยมชมได้ทุกวันโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม กล่าวได้ว่าบ้านหรือร้านสุทธาภิรมย์พานิชย์ถือสถานที่ที่โดดเด่นแห่งหนึ่งของตลาดระแหงแห่งนี้

3. บุญเจริญ แอคติค ชื่อเดิมร้านแห่งนี้ชื่อ เฉลิมชัย เป็นร้านขายของเก่าที่เก็บรวบรวมสะสมของโบราณมากมาย ร้านนี้เกิดขึ้นจากตุณอาจ เจ้าของร้านที่หลงใหลในเสน่ห์ของเก่า โดยแต่ก่อนคุณอาจจะมีอาชีพหลักคือการขายผลไม้สดจากสวนของตัวเองพร้อมกับเปิดร้านขายของเก่าเล็ก ๆ แต่เมื่อสวนผลไม้ได้รับผลกระทบเสียหายจากน้ำท่วมในปี พ.ศ.2554 คุณอาจจึงหันเปลี่ยนมาขายของเก่าอย่างเต็มตัวและเกิดเป็นร้านบุณเจริญแอนติคแห่งนี้ โดยภายในร้านจะมีของเก่าที่หายากจัดแสดงและขายให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชม

4. ไถ่เฮงการประมง เป็นร้านขายอุปกรณ์จับสัตว์น้ำเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 90 ปี โดยร้านแห่งนี้มีการสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เพราะแต่ก่อนในอดีตคนบริเวณชุมชนตลาดระแหงมักมีการประกอบอาชีพประมงกันมาก ร้านแห่งนี้จึงเปิดเพื่อตอบสนองแก่ผู้คนเหล่านี้ ในปัจจุบันนี้แม้ว่าเทศบาลจะมีการอนุรักษ์สัตว์น้ำในคลองระแหงและไม่อนุญาตจับสัตว์น้ำในบริเวณนี้แล้วแต่ร้านแห่งนี้ก็ยังคงเปิดขายสินค้าอยู่แต่อาจจะไม่ได้ขายดีเท่าในอดีต 

5. ร้านแปโภชนา ร้านอาหารไทย-จีนเก่าแก่ของชุมชนตลาดระแหง ซึ่งมีเฮียแปหรือนายสุรศักดิ์ บุญญาภากร เป็นเจ้าของร้าน โดยร้านแห่งนี้มีการเปิดขายอาหารมากว่า 80 ปี แต่เดิมร้านแห่งนี้รุ่นพ่อรุ่นแม่มีการเปิดเป็นร้านกาแฟโบราณและขายแค่ก๋วยเตี๋ยว แต่ต่อมาเมื่อเข้าสู่รุ่นลูกได้มีการพัฒนามาเป็นร้านอาหารตามสั่งที่มีเมนูอาหารจีนด้วย โดยเมนูแนะนำของที่นี่ เช่น ปลาช่อนแดดเดียว ปลากรายผัดขี้เมา หมูทรงเครื่อง เป็นต้น

6. ศาลเจ้าระแหง หรือศาลเจ้า “ปึงเถ่าเบี้ยว” เป็นศาลเจ้าที่ตั้งอยู่ภายในตลาดระแหงที่มีอายุกว่า 100 ปี โดยมีการสร้างขึ้นมาพร้อม ๆ กับการตั้งชุมชนตลาดระแหงแรก ๆ เนื่องจากแต่เดิมช่วงการตั้งตลาดกลุ่มส่วนใหญ่ที่อยู่ในตลาดนี้คือชาวจีน เมื่อมีชาวจีนอาศัยอยู่ศาลเจ้าจึงเป็นสิ่งสำคัญเพราะเปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจ โดยแต่เดิมศาลแห่งนี้สร้างด้วยไม้และดูทรุดโทรม แต่ด้วยความศรัทธาและความสามัคคีของชาวชุมชนระแหงต่อมาจึงมีการร่วมใจกันบูรณะจัดสร้างศาลเจ้าระแหงขึ้นใหม่ เพื่อให้ทุกคนได้สักการะและกราบไหว้ขอพร กล่าวได้ว่าศาลแห่งนี้ถือได้ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองคนในชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่ผู้คนมักจะมาขอในเรื่องความเจริญรุ่งเรืองทางการค้าขาย ความร่ำรวย การมีโชคลาภ เป็นต้น ปัจจุบันนี้ศาลเจ้าแห่งนี้ยังคงตั้งอยู่คู่ตลาดระแหง โดยจะมีงานประจำปีทุกปีและในวันสำคัญเทศกาลของชาวไทยเชื้อสายจีนศาลเจ้าแห่งนี้จะคึกคักไปด้วยผู้คนที่มากราบไหว้ขอพร

ทุนทางกายภาพ

ภายในพื้นที่ตลาดคลองระแหงมีทุนทางกายภาพที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการมีคลองสายสำคัญอย่างคลองระแหง โดยคลองระแหงเส้นนี้ได้เป็นคลองที่ผ่านบริเวณกลางตลาดระแหง ในอดีตคลองระแหงนี้สำคัญมากเพราะนอกจากจะเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำ เส้นทางลำเลียงน้ำสำหรับการเกษตรของผู้คนต่าง ๆ ในบริเวณนี้แล้ว ยังเป็นคลองที่ทำให้เกิดตลาดระแหงแห่งนี้ขึ้นมาด้วย เพราะเมื่อคนสัญจรผ่านคลองเส้นนี้มากในอดีตจึงมีผู้คนเห็นว่าเป็นทำเลที่เหมาะในการจะทำการค้าจึงมีการมาตั้งร้านขายสินค้าบริเวณริมคลอง ต่อมาเมื่อมากขึ้นก็กลายมาเป็นตลาดระแหง ทั้งนี้ในปัจจุบันคลองระแหงบริเวณตลาดแห่งนี้ยังคงเป็นคลองที่ร่มรื่นอยู่คู่ชุมชนอันส่งเสริมให้ตลาดแห่งนี้ยังคงความเป็นตลาดริมน้ำดั่งอดีตอยู่นั่นเอง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เศรษฐกิจภายในชุมชนแต่เดิมตลาดคลองระแหงมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก มีผู้คนเข้ามาจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการภายในชุมชนแห่งนี้อยู่ตลอด แต่อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจและกิจกรรมการค้าที่เจริญรุ่งเรืองในตลาดแห่งนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปหลังการยกเลิกการเดินรถไฟสายกรุงเทพฯ-บางบัวทอง-ลาดหลุมแก้ว ผู้คนที่เข้ามาสู่ตลาดแห่งนี้เริ่มลดน้อยลง การค้าในตลาดจึงเริ่มเข้าสู่ความซบเซา ทั้งนี้เงียบเหงาของตลาดแห่งนี้ยิ่งมีมากขึ้นเมื่อนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ได้ทำให้เกิดการตัดถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 346 ขึ้นมาบริเวณใกล้เคียงกับตลาดแห่งนี้ ถนนนี้ได้ทำให้การสัญจรทางน้ำของผู้คนลดน้อยลงอันส่งผลให้การค้าของตลาดแห่งนี้ที่ขึ้นชื่อว่าตลาดริมน้ำได้มีลูกค้าน้อยลงอย่างมาก ยิ่งเมื่อลูกค้าสามารถซื้อสินค้าจากตลาดบริเวณใกล้เคียงริมฝั่งถนนได้และซื้อจากร้านสะดวกซื้อใกล้เคียงที่มีความหลากหลายมากกว่า ผู้คนที่จะเข้าหรือผ่านบริเวณภายในตลาดแบบเคยมีมาก็เบาบางลง นอกจากนี้พ่อค้าแม่ค้าที่เคยขายของภายในตลาดเมื่อเห็นว่าพื้นที่ตลาดระแหงสามารถขายสินค้าได้น้อยลงประกอบกับเห็นทำเลใหม่อย่างบริเวณริมถนนที่จะทำกำไรได้มากขึ้น จึงส่งผลให้พ่อค้าแม่ค้าในตลาดส่วนหนึ่งอพยพย้ายออกมาจากตลาดมาตั้งร้านค้าบริเวณถนนแทน ดังนั้นจากทั้งหมดทั้งมวลจึงส่งผลให้ตลาดระแหงที่เคยเป็นศูนย์กลางทางการค้าในอดีตได้เข้าสู่ความซบเซา การค้าภายในตลาดปัจจุบันจึงหลงเหลือไม่มากและไม่หลากหลาย ร้านที่เปิดขายสินค้าและบริการส่วนใหญ่เป็นคนในตลาดที่ยังผูกพันกับตลาดเสียมากกว่า


สมัยก่อนผู้คนภายในสังคมของชุมชนตลาดคลองระแหงมักมีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างแนบแน่นแบบเครือญาติ มีความเอื้ออาทรและช่วยเหลือเจื้อจุนระหว่างกัน นอกจากนี้ยังมีความสนิทสนมกันและนับถือกันในแต่ละครัวเรือนเปรียบเสมือนพี่น้อง ทำให้ในชุมชนปัญหาทะเลาะเบาะแว้งต่างๆแทบไม่มี นอกจากนี้ในสมัยก่อนเวลาบ้านไหนมีงานสำคัญบ้านอื่นๆที่อยู่ในชุมชนก็จะร่วมช่วยเหลือในงานสำคัญๆนั้นๆด้วย แต่ทั้งนี้ในปัจจุบันความสัมพันธ์ในสังคมชุมชนของผู้คนจะพบว่าเริ่มค่อนข้างห่างเหินมากขึ้น ลูกหลานบางส่วนของคนในชุมชนได้ออกไปจากพื้นที่ไปประกอบอาชีพอื่น หรือแยกครอบครัวไปตั้งหลักแหล่งที่บริเวณอื่น ทำให้ไม่มีการติดต่อทางสังคมกับคนในตลาดแบบที่เคยมีมา รวมถึงปัจจุบันนี้คนภายนอกบางส่วนได้ย้ายเข้ามาอยู่อาศัยใหม่ในชุมชน ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ได้มีความสัมพันธ์สนิทแนบแน่นเหมือนเดิมแล้ว ดังนั้นในปัจจุบันความสัมพันธ์ในสังคมของชุมชนตลาดระแหงจึงเปลี่ยนไป โดยความสัมพันธ์แบบเครือญาติที่เคยมีมาในอดีตเริ่มหายไป แต่ละครัวเรือนเริ่มติดต่อกันน้อยลง ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันแบบสมัยก่อนเริ่มไม่มี หรือเหลือส่วนน้อยแค่เฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนนั่นเอง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กระปุก.คอม. (2559). เที่ยวตลาดระแหง ปทุมธานี ตลาดโบราณกว่าร้อยปีที่ยังมีชีวิตชีวา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2566, จาก https://travel.kapook.com/

ตลาดเก่า 100 ปี คลองระแหง จ.ปทุมธานี. (2563). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2566, จาก https://travel.trueid.net/

ตลาดระแหง ปทุมธานี. (2561). ตลาดระแหง...ฉันคิดถึงเธอ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2566, จาก https://www.facebook.com/RahaengPathumthani/

เทศบาลตำบลระแหง. (ม.ป.ป.). สภาพทั่วไปเทศบาลตำบลระแหง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2566, จาก https://www.tessabanrahang.go.th/

เที่ยวปทุมธานีตามหาของดี ตลาดร้อยปีระแหง. (2559). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2566, จาก https://me-story.com/ตลาดระแหง/.

ผู้จัดการออนไลน์. (2561). “ตลาดระแหง 100 ปี” เดินเพลินแสนสงบ ในบรรยากาศโบราณกว่าร้อยปี. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2566, จาก https://mgronline.com/travel/

เพ็ญพรรณ วิศิษฐฎากุลและกฤตพร ห้าวเจริญ. (2556). ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดและการเปลี่ยนแปลงของตลาดระแหง จังหวัดปทุมธานี. วารสารวิชาการคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล, 16(1), 74-88.

รัตนวุฒิ เจริญรัมย์. (ม.ป.ป.). ตลาดระแหง ตลาดโบราณร้อยปี อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2566, จาก https://www.ท่องเที่ยวทั่วไทย.com/

รีวิว ตลาดร้อยปีระแหง ตลาดเก่าที่ยังมีเสน่ห์. (2560). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2566, จาก http://รีวิวท่องเที่ยวทั่วไทย.blogspot.com/

วิกิพีเดีย. (2566). ตลาดระแหง 100 ปี. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2566, จาก https://th.wikipedia.org/

วิกิพีเดีย. (2566). ทางรถไฟราษฎร์สายบางบัวทอง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2566, จาก https://th.wikipedia.org/

วิกิพีเดีย. (2566). วัดบัวแก้วเกษร. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2566, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/วัดบัวแก้วเกษร.

ศรีปริญญา ธูปกระจ่าง. (2559). บทบาทสตรีในการพัฒนาตลาดน้ำ 100 ปีชุมชนระแหง. ในรายงานการประชุมวิชาการและนำเสนอผลการวิจัย ระดับชาติและนานาชาติ กลุ่มระดับชาติ ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.

สารคดี ของดีประเทศไทย ตอน ชุมชนโบราณ ตลาดระแหง. [วีดิทัศน์]. (2564, 13 สิงหาคม). กรุงเทพฯ : ThainessTV.

เสาวรจนีย์ เสาเกลียว. (2559). การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาภูมิทัศน์ตลาด 100 ปีระแหง ตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี. วารสารวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร, 7(1), 92-102.