Advance search

บ้านพุองกะเป็นชุมชนที่โดดเด่นในการทำเกษตรแบบผสมผสาน ทั้งการทำสวน ปลูกผักและผลไม้ เพราะมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์และพุต้นน้ำ มีวัฒนธรรมของหลากหลายเชื้อชาติ รวมถึงมีเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ (ช่องเขาขาด) อยู่ด้านหลังวัดพุตะเคียนอีกด้วย

หมู่ที่ 3
บ้านพุองกะ
ท่าเสา
ไทรโยค
กาญจนบุรี
ธนวิชญ์ ใจดี
2 พ.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
26 มิ.ย. 2023
ณัฐวุฒิ บัวคลี่
23 มิ.ย. 2023
บ้านพุองกะ

บ้านพุองกะ เป็นหมู่บ้านที่มีพุต้นน้ำเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และมีกลุ่มพื้นที่สูงอย่างชนชาวกะเหรี่ยงเข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน เป็นกลุ่มแรกๆ โดยหัวหน้าที่คอยดูแลกลุ่มนี้มีชื่อว่า นายองกะ จนกระทั่งนายองกะได้ค้นพบพุน้ำ ชาวบ้านจึงให้เกียรติกับนางองกะและตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านจนถึงปัจจุบัน


บ้านพุองกะเป็นชุมชนที่โดดเด่นในการทำเกษตรแบบผสมผสาน ทั้งการทำสวน ปลูกผักและผลไม้ เพราะมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์และพุต้นน้ำ มีวัฒนธรรมของหลากหลายเชื้อชาติ รวมถึงมีเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ (ช่องเขาขาด) อยู่ด้านหลังวัดพุตะเคียนอีกด้วย

บ้านพุองกะ
หมู่ที่ 3
ท่าเสา
ไทรโยค
กาญจนบุรี
71150
14.270270
99.030610
เทศบาลตำบลไทรโยค

บ้านพุองกะ เป็นหมู่บ้านที่มีพุต้นน้ำเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และมีกลุ่มพื้นที่สูงอย่างชนชาวกะเหรี่ยงเข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน เป็นกลุ่มแรกๆ ตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยหัวหน้าที่คอยดูแลกลุ่มนี้มีชื่อว่า นายองกะ จนกระทั่งนายองกะได้ค้นพบพุน้ำ ซึ่งเป็นตาน้ำผุดที่มีน้ำตลอดปีของที่นี่เป็นคนแรก ชาวบ้านจึงให้เกียรติกับนางองกะและตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านจนถึงปัจจุบัน 

ในช่วงเวลานี้เอง ทหารญี่ปุ่นก็ได้เกณฑ์เชลยศึกมาสร้างเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ (ช่องเขาขาด) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ไทย-พม่า มีความยาว 73 เมตร ลึกสูง 25 เมตร เกิดจากการตัดเจาะภูเขาหินด้วยมือของทหารเชลยศึกชาวออสเตรียและอังกฤษ โดยเริ่มก่อสร้างและตัดช่องเขาเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2486 การก่อสร้างใช้เวลา 3 เดือน 

หลังจากนั้นบ้านพุองกะก็เริ่มมีผู้คนต่างถิ่นเข้ามาอาศัยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นมอญ กะเหรี่ยง ไทย พม่า ญวน ส่วย ทวาย และพวน หมู่บ้านจึงมีจำนวนประชาชนและความหลากหลายทางวัฒนธรรมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ขณะที่ชาวพื้นถิ่นเดิมอย่างชาวกะเหรี่ยงกลับไม่ชอบอยู่กับคนจำนวนมาก จึงย้ายถิ่นฐานออกไปที่อื่นๆ บางส่วน ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่คือชาวมอญ 

ในหมู่บ้านมีต้นตะเคียนขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ตรงบริเวณพุต้นน้ำ เรียกว่า “พุตะเคียน” และได้นำมาตั้งชื่อหมู่บ้านอีกด้วย โดยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในบริเวณนี้อย่างศาลเจ้าแม่ตะเคียนที่ชาวบ้านเคารพบูชามาจนถึงปัจจุบัน ซึ่ง “บ้านพุตะเคียน” ยังเป็นส่วนหนึ่งของหมู่ 4 ตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยค

ในปี พ.ศ. 2438 ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีการจัดระเบียบการปกครองแบบมณฑลและเทศาภิบาลสมัยใหม่ บ้านพุองกะจึงได้อยู่ในเขตของกิ่งอำเภอไทรโยค โดยขึ้นอยู่กับอำเภอวังกะ (อำเภอสังขละบุรีในปัจจุบัน) ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2506 อำเภอไทรโยตจะกลายเป็นอำเภออย่างสมบูรณ์ ปัจจุบันบ้านพุองกะมีนางสาวมัทนา ศรอารา เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยค 

บ้านพุองกะอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอไทรโยค ประมาณ 25 กิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวจังหวัดกาญจนบุรี ประมาณ 56 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 190 กิโลเมตร สามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถตู้ และรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ 

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลไทรโยค
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลลุ่มสุ่ม
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ พื้นที่ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติเอราวัณ กาญจนบุรี
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลวังกระแจะ

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

พื้นที่ในหมู่บ้านพุองกะ ลักษณะภูมิประเทศเป็นทิวเขาสลับซับซ้อน เรียงรายอยู่ทั่วไป สลับกับพื้นที่ราบเชิงเขา ซึ่งมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้เบญจพรรณที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์ และมีแม่น้ำแควน้อยไหลผ่านหมู่บ้านซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักประจำอำเภอไทรโยค

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรบ้านพุองกะ จำนวน 551 ครัวเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 1,893 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 965 คน ประชากรหญิง 928 คน มีเชื้อชาติมอญ กะเหรี่ยง ไทย พม่า ญวน ส่วย ทวาย และพวน แต่ประชากรส่วนใหญ่จะเป็นชาวไทยเชื้อสายมอญ ขณะที่ประชาการที่มิได้ถือสัญชาติไทย จำนวน 842 คน

กูย, ไทยพวน, ไทยวน, มอญ, เวียดนาม

กลุ่มที่เป็นทางการ

  • กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงบ้านพุองกะ กลุ่มวิสาหกิจประจำหมู่บ้านพุองกะที่เป็นกิจการของชุมชนที่ผลิตสินค้าและบริการภายในชุมชน โดยมีการจัดทำภายใต้โครงการต่าง ๆ กับที่อื่น ๆ เช่น โครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี และมีเพจ Facebook ที่มีชื่อว่า “หมู่บ้านพุองกะ” สินค้าแปรรูปที่เป็นที่รู้จักคือ พริกแกงเผ็ดพุองกะ ที่ใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นกว่า 13 ชนิด จนมีความหอมและรถชาติเฉพาะตัว สามารถนำไปทำแกงเผ็ด แกงคั่ว แกงป่า และผัดเผ็ดได้

วิถีชีวิตทางวัฒธรรม

  • ประเพณีทำบุญต้นน้ำ ประเพณีที่ชาวบ้านสืบทอดมาหลายสิบปีตั้งแต่ค้นพบพุน้ำภายในหมู่บ้าน ซึ่งพุน้ำแห่งนี้เสมือนกับเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนในหมู่บ้านมาถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม 
  • ประเพณีทุคคตะทาน ประเพณีนี้อ่านออกเสียงตามภาษามอญว่า “ตุ๊กกะตะต่าน” เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ สำหรับชาวบ้านที่ต้องการทำบุญเลี้ยงพระที่บ้านตนเอง แสดงความประสงค์ เขียนชื่อตนลงบนสลากร่วมกับชาวบ้าน แล้วนิมนต์พระสงฆ์จับสลาก เมื่อถึงวันนัดหมายก็จะมารับพระสงฆ์จากวัดไปสวดมนต์ฉันเพลเรียงไปตามลำดับในสลาก เป็นการตัดปัญหาพระสงฆ์อาจรับเฉพาะบ้านผู้มีอันจะกิน มีโอกาสให้ทั้งคนรวยและคนจนมีโอกาสทำบุญเท่าๆ กัน
  • ประเพณีเทินหม้อ จะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม เพื่อเป็นการทำบุญเสริมบารมีให้ตัวเองทั้งในชาตินี้และชาติหน้า โดยผู้หญิงจะนำหม้อดินบรรจุน้ำขึ้นเทินบนศีรษะและร่ายรำกันอย่างสนุกสนานและสวยงาม
  • ประเพณีบุญหม้อนิธิ จัดในเดือน 9 สิงหาคม เป็นเดือนแห่งการเก็บทรัพย์ มีประเพณีบุญหม้อนิธิ จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 ชาวบ้านจะทำบุญด้วยการถวายหม้อนิธิ คือ บรรจุวัตถุทาน ตามแต่ต้องการจะถวายพระลงในหม้อ เพื่อเป็นการฝังขุมทรัพย์ คือบุญนี้ไว้เพื่อตนจะได้ใช้ในสัมปรายภพ ผลบุญที่ทำไว้นี้จะส่งผลให้ได้ความสุขกาย สุขใจ
  • ประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ เป็นการบูชาเทวดาในช่วงเดือนกันยายน ด้วยการต่อเรือจากลำไม้ไผ่ขนาดใหญ่ สำหรับร่วมสะเดาะเคราะห์เพื่อต่ออายุและจุดเทียนอธิษฐานขอให้สิ่งไม่ดีหลุดพ้นไปจากชีวิตของผู้ร่วมทำบุญ พร้อมเครื่องเซ่นไหว้คาวหวานทั้ง 9 อย่าง มาลงเรือ เพื่อนำไปลอยกับเรือ

วิถึชีวิตทางเศรษฐกิจ

การประกอบอาชีพของชาวบ้านนั้นจะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ ทำเกษตรผสมผสาน ปลูกมันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ปลูกผัก ทำสวนผลไม้ มีผลไม้ตามฤดูกาลตลอดทั้งปีและเลี้ยงสัตว์ อันเป็นผลจากสภาพแวดล้อมอันอุดมสมบูรณ์และพุภายในหมู่บ้านที่มีให้ได้ตลอด สามารถนำไปผลผลิตทางการเกษตรไปขายหรือแปรรูปขายผ่านกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สวนของชาวบ้านบางที่ เช่น บ้านไร่ลุงจวบ ก็เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมหรือพักแบบโฮมสเตย์ได้อีกด้วย 

นอกจากนี้พุองกะยังมีการปลูกแปลงดอกไม้ โดยเฉพาะแกลดิโอลัส (Gladiolus) หรือดอกซ่อนกลิ่นฝรั่ง หรือดอกไม้แห่งคำมั่นสัญญา ซึ่งปกติดอกไม้ชนิดนี้ปลูกได้ดีในพื้นที่สูง อากาศหนาวโดยเฉพาะในภาคเหนือ แต่ที่พุองกะก็สามารถปลูกแกลดิโอลัสได้ดี เพราะมีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี โดยจะปลูกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมและออกดอก 2-3 เดือนหลังจากปลูกไปแล้ว และชาวบ้านสามารถนำไปขายทั้งดอกและต้นพันธุ์ขนาดเล็กเพื่อให้นักท่องเที่ยวเอาไปปลูกเองได้อีกด้วย

1. ผู้ใหญ่มัทนา ศรอารา : ผู้ใหญ่บ้านพุองกะที่นำพาหมู่บ้านและชุมชนให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง มีผลงานล่าสุด คือ การร่วมรับรางวัลจากการประกวดกองทุนพัฒนาไฟฟ้าอวอร์ด 2565 จากโครงการกองทุนพัฒนาไฟฟ้าจังหวัดกาญจนบุรี 8 โครงการปรับปรุงคลองส่งน้ำรูปตัววีประจำหมู่บ้านพุองกะ ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี โดยได้รับรางวัลชนะเลิศ อันดับ 1 โครงการชุมชนดีเด่น  ด้านสาธารณูปโภค

ทุนวัฒนธรรม

วัดพุองกะ วัดประจำหมู่บ้านพุองกะ ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2509 โดยมีคุณเฉื่อย แช่มช้อย คุณอุดม ศรมาลา ได้ร่วมกันถวายที่เพื่อก่อตั้งวัด โดยมีพระครูนิโคธธานุกิจ(หลวงพ่อพาย)เป็นชาวมอญนครชุม(บ้านโป่ง)เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ได้เริ่มก่อสร้างและพัฒนาวัดเจริญรุ่งเรืองเรื่อยมา โดยมีนายลอย แก้วอ่อนและชาวบ้านเป็นกำลังหลักในการจัดหาวัสดุอุปกรณในการก่อสร้าง โดยมีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนามคือ เจ้าอาวาสรุ่นแรกคือพระครูนิโครธานุกิจ ตั้งแต่ พ.ศ. 2509-2516 ปัจจุบันเจ้าอาวาสรุ่นที่ 6 คือพระอธิการอรรถพร สุภัทโท ตั้งแต่ พ.ศ. 2561 ถึงปัจจุบัน

วัดพุตะเคียน วัดประจำหมู่บ้านพุองกะอีกแห่ง ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2483 ตั้งอยู่บ้านพุตะเคียน ถนนแสงชูโต(กาญจนบุรี-สังขละ) อยู่เลขที่ 239 หมู่ที่ 4 ตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี มีเจ้าอาวาสรุ่นแรกคือพระว้า สุวณฺโณ ส่วนเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันคือ พระครูสุทธิสารโสภิต (สิทธิพงษ์ สุทธิญาโณ) พ.ศ. 2542 ถึงปัจจุบัน

วัดนี้เป็นสถานที่ใช้สำหรับรวมตัวของคนในชุมชนพุองกะ เป็นศูนย์รวมใจของชาวไทย มอญ กะเหรี่ยง ใช้เป็นสถานที่จัดงานประจำปีหรืองานประเพณีต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน 

บริเวณด้านหลังวัดเคยเป็นเส้นทางรถไฟสายมรณะที่ถูกสร้างขึ้นในสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือเส้นทางรถไทยสายประวัติศาสตร์ (ช่องเขาขาด) และมีสะพานโชคดีที่เป็นทุ่งดอกไม้หลากสีเช็คอินได้ตลอดปีโดยเฉพาะทุ่งผักเสี้ยนฝรั่ง มีความเชื่อกันว่าสะพานนี้ใครได้มาเดินบนสะพานจะพบแต่ความโชคดี

แต่เดิมเป็นเพียงสำนักสงฆ์บนเชิงเขา ห่างจากวัดปัจจุบัน 500 เมตร ต่อมาในปี พ.ศ. 2485 ได้มีการสร้างเส้นทางรถไฟสายมรณะ จากสถานีหนองปลาดุก จังหวัดราชบุรี ไปยังปลายทางประเทศพม่า ซึ่งผ่านบริเวณที่ตั้งวัด และทหารญี่ปุ่นได้ตั้งค่ายและที่พักเชลยศึกใกล้บริเวณวัด จึงได้ย้ายวัดไปยังบริเวรใกล้แม่น้ำแควน้อย นับเป็นการย้ายวัดครั้งแรก ตรงกับปี พ.ศ. 2486 จากนั้นก็ได้ย้ายวัดครั้งที่ 2 มาอยู่ที่บริเวณเนินกลางหมู่บ้าน เนื่องจากบางปีฤดูฝนเกิดน้ำหลากและท่วมหมู่บ้าน สุดท้ายก็ได้ย้ายวัดครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2509-2510 เมื่อมีการประกาศสร้างถนนแสงชูโต จากดอนกระเบื้องถึงด่านพระเจดีย์สามองค์ จึงได้ย้ายมาตั้งในสถานที่ปัจจุบันเพื่อความสะดวกในการเดินทาง

อาหาร อาหารพื้นถิ่นของบ้านพุองกะมีความโดดเด่นมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาหารชาวมอญ โดยอาหารที่มีความโดดเด่นที่จะยกตัวอย่างมา 6 จาน ได้แก่ กระบองจ่อ แกงมัสหร่า น้ำพริกหมูร้า ผักกระเจี๊ยบ และห่อหมกมอญ นอกจากจะมีพริกแกงเผ็ดพุองกะที่เป็นอาหารและสินค้าชุมชนที่โดดเด่นแล้ว ยังมีพืชผัก มะม่วงหาวมะนาวโห่แช่อิ่ม มะขามแช่อิ่ม มะขามป้อมแช่อิ่ม กล้วยฉาบ เผือกฉาบ ไข่เค็ม น้ำพริกแกงและดอกไม้จิ๋ว ที่ทำโดยเด็ก ๆ ในพุองกะ นอกจากนี้ยังมีขนมกำไรกับขนมทองโย๊ะ (มอญเรียกว่า ฮะเปรี้ยงาก) ให้ชิมกันอีกด้วย

แม้บ้านพุองกะจะมีคนหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นคนไทยเชื้อสายมอญ ภาษามอญจึงภาษาท้องถิ่นของที่นี้ ซึ่งเป็นภาษาในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก กลุ่มภาษามอญ-เขมร ที่พูดโดยชาวมอญที่อาศัยอยู่ในพม่าและไทย ภาษานี้เป็นภาษาของชนพื้นเมืองที่ได้รับการยอมรับในประเทศพม่าและประเทศไทย โดยมีวัดเป็นศูนย์รวมความรู้วิชาการผ่านคัมภีร์ใบลานและสมุดข่อยที่ชาวมอญนำติดตัวมาจากเมืองมอญ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ในบ้านพุองกะยังมีจุดสนใจอื่น ๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ชาวเขาที่แสดงถึงวิถีชีวิตของชาวเขาในพุองกะสมัยก่อน สวนมะขามป้อมครูลออ บ้านไร่ลุงจวบที่ให้บริการโฮมสเตย์ เป็นต้น รวมทั้งสวนกุหลาบอินทรีย์ที่ใกล้กับสวนผลไม้ที่สามารถไปเที่ยวชมได้อีกด้วย

กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากร. (ออนไลน์).  สืบค้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://stat.bora.dopa.go.th/

ธนากร เที่ยงน้อย. (2563). พุองกะ ชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.technologychaoban.com/

บ้านพุองกะ จังหวัดกาญจนบุรี. (ออนไลน์). (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.wowtgt.com/

วัดพุตะเคียน. (ออนไลน์). (2565). สืบค้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.sangha14.org/

สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี. (2565). ขอแสดงความยินดี กับบ้านพุองกะ หมู่ที่ 4 ตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับ #รางวัลชนะเลิศ การประกวดกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ประจำปี 2565 ระดับโครงการชุมชนในพื้นที่ประกาศ “ด้านสาธารณูปโภคดีเด่น”. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2565. เข้าถึงได้จาก https://district.cdd.go.th/saiyok/

สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี. (2565). เชิญมาท่องเที่ยว “บ้านพุองกะ” มาสูดสายหมอกบนเขาเขียว ท่องเที่ยววิถีมอญ ที่หมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี… บ้านพุองกะ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2565. เข้าถึงได้จาก https://district.cdd.go.th/saiyok/

saiyok.kan. (ม.ป.ป.). บ้านพุองกะ ท่าเสา ไทรโยค กาญจนบุรี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://anyflip.com/chdxm/wkyl/basic