Advance search

วัดไร่ขิง

ชุมชนริมน้ำที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของแม่น้ำนครชัยศรี ใกล้กรุงเทพ เดินทางได้สะดวก อยู่ใกล้กับวัดไร่ขิงที่มีชื่อเสียง มีธรรมชาติที่สวยงามบรรยากาศเย็นสบาย มีท่าน้ำที่กว้างใหญ่สะดวกแก่การพักผ่อนหย่อนใจและการคมนาคม

หมู่ที่ 1
บ้านไร่ขิง
ไร่ขิง
สามพราน
นครปฐม
ธนวิชญ์ ใจดี
4 พ.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
26 มิ.ย. 2023
ณัฐวุฒิ บัวคลี่
23 มิ.ย. 2023
วัดไร่ขิง

ชาวจีนมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในชุมชนริมน้ำนี้ เนื่องจากมีพื้นที่เหมาะแก่การปลูกขิงจึงนิยมปลูกขิงกันอย่างแพร่หลายและทำกันเป็นจำนวนมาก จนเป็นที่มาของชื่อตำบลหรือชุมชนในแถวนี้ว่า “ไร่ขิง” เพราะประชาชนในบริเวณติดปากเรียกชื่อไปแล้ว


ชุมชนริมน้ำที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของแม่น้ำนครชัยศรี ใกล้กรุงเทพ เดินทางได้สะดวก อยู่ใกล้กับวัดไร่ขิงที่มีชื่อเสียง มีธรรมชาติที่สวยงามบรรยากาศเย็นสบาย มีท่าน้ำที่กว้างใหญ่สะดวกแก่การพักผ่อนหย่อนใจและการคมนาคม

บ้านไร่ขิง
หมู่ที่ 1
ไร่ขิง
สามพราน
นครปฐม
73210
วัดไร่ขิง โทร. 0-3432-3616
13.7470176586091
100.260173678398
เทศบาลตำบลไร่ขิง

ชุมชนริมน้ำวัดไร่ขิงเป็นชุมชนริมน้ำที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของแม่น้ำท่าจีนนครชัยศรี ซึ่งอยู่ในบริเวณรอยต่อระหว่างตำบลตลาดกับตำบลไร่ขิง โดยมีตลาดในบริเวณวัดไร่ขิง รองรับการท่องเที่ยวทางเรือเพื่อเที่ยวชมบ้านเรือนเก่าแก่ริมน้ำ ซึ่งบ้านเรือนส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณโดยรอบวัดไร่ขิงและบริเวณสองฝั่งถนนพุทธมณฑลสาย 6

ชุมชนนี้อยู่ในตำบลไร่ขิงมาตั้งแต่แรก ไม่ทราบว่าถูกก่อตั้งมาตั้งแต่เมื่อใด เพียงทราบว่ามีชาวจีนมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในบริเวณนี้ เนื่องจากมีพื้นที่ที่เหมาะแก่การปลูกขิงจึงนิยมปลูกขิงกันอย่างแพร่หลายและทำกันเป็นจำนวนมากจนเป็นที่มาของชื่อตำบลหรือชุมชนในแถวนี้ว่า “ไร่ขิง” เพราะประชาชนในบริเวณติดปากเรียกชื่อไปแล้ว มีการสืบค้นได้ว่ามีมาก่อน พ.ศ.2281 ทำให้พื้นที่ในตำบลไร่ขิงมีประวัติเก่าแก่ในภาพรวมไม่น้อยกว่า พ.ศ.2281

ส่วนชื่อ “วัดไร่ขิง” นั้นก็มาจากวัดไร่ขิง สร้างขึ้นในปีกุน พ.ศ. 2394 ตรงกับต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือรัชกาลที่ 4  โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) เจ้าอาวาสวัดศาลาปูน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งชื่อ “วัดไร่ขิง” ปัจจุบันก็เป็นชื่อที่ตั้งตามชื่อชุมชนในขณะนั้น 

ที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่าชุมชนไร่ขิงเกิดขึ้นก่อนนานแล้ว  โดยในช่วงเวลานั้นอาจเป็นเพียงชุมชนไร่ขิง มามีสภาพเป็นตำบลในปี พ.ศ.2440 ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ รศ.116 และได้รวมกับตำบลท่าพูดซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ แล้วได้จัดตั้งขึ้นเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลไร่ขิง เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2538 ก่อนจะได้ยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลเมืองไร่ขิง ซึ่งเป็นเทศบาลขนาดกลาง ในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2551 จากนั้นมีประกาศปรับให้เป็นเทศบาลขนาดใหญ่ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558  ได้ดำเนินการพัฒนาท้องถิ่นมาจนถึงปัจจุบัน

ลักษณะทั่วไปส่วนใหญ่ของชุมชนริมน้ำวัดไร่ขิง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของแม่น้ำท่าจีน (นครชัยศรี) ซึ่งอยู่ในบริเวณรอยต่อระหว่างตำบลตลาดกับตำบลไร่ขิง เป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่มีที่ดินอุดมสมบูรณ์ และมีสภาพชลประทานที่ดี โดยมีแม่น้ำท่าจีนเป็นแม่น้ำสายหลักไหลผ่าน และมีคลองสาขาเชื่อมโยง จำนวน 20 คลอง สภาพคลองทั่วไปยังสามารถนำไปใช้ในการอุปโภค เช่น การเกษตร ได้

ด้านภูมิอากาศนั้นได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ มีลักษณะอากาศแบบฝนเมืองร้อน  มีความชื้นในอากาศสูง ทำให้อากาศโดยทั่วไปเย็นและชุ่มชื้น ส่งผลให้อากาศในฤดูร้อนไม่รุนแรงมากนักเนื่องจากความชื้นจากลมทะเล อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 28 – 29 องศาเซลเซียส แบ่งออกเป็น 3 ฤดูกาล ได้แก่

  • ฤดูฝน ประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม โดยจะมีฝนตกมากในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม จากการที่ได้รับอิทธิพลจากพายุดีเปรสชั่นและพายุโซนร้อนที่พัดผ่านประเทศไทย
  • ฤดูหนาว ประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์
  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลบางกระทึก, ตำบลบางเตย อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลอ้อมใหญ่, ตำบลท่าข้าม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลท่าตลาด, ตำบลทรงคะนอง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลกระทุ่มล้ม, ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนประชากรและครัวเรือนชุมชนริมน้ำวัดไร่ขิง มีประชากรทั้งหมด 92 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 41 คน ประชากรหญิง 51 คน มีครัวเรือนทั้งหมด 92 ครัวเรือน โดยที่มีส่วนของคนที่เป็นไทยเชื้อสายจีนอยู่ด้วย เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 ชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่อพยพเข้ามาในสยาม ระยะแรกชาวจีนเหล่านั้นเดินทางผ่านทางเรือตามลำแม่น้ำเป็นส่วนใหญ่ เป็นเหตุให้มีคนจีนกระจัดกระจายตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน เป็นจำนวนมาก

ส่วนใหญ่ชายหนุ่มชาวจีนจะแต่งกับสาวไทยพื้นบ้านที่มีฐานะดี และจะประกอบอาชีพค้าขายค้าอย่างการค้าข้าวเปลือก โดยเป็นตัวกลางรับซื้อข้าวจากชาวนาไทยส่งขายให้กับโรงสีข้าวของชาวจีน เป็นต้น อาชีพดังกล่าวนี้ทำให้มีฐานะดี ชาวจีนจะไม่ทำอาชีพทำนา แต่จะค้าขาย ต่อตู้ ต่อเรือ ขายไม้ ทำสวน ขายหมู ขายปลาทู เป็นต้นแทน

ในตลาดทุกตลาดริมแม่น้ำเจ้าของส่วนใหญ่จะเป็นคนจีนแทบทั้งสิ้น แต่เมื่อชาวจีนอยู่เมืองไทยนานๆ เข้าลูกหลานชายจีนปนไทยได้ร่ำเรียนมีการศึกษา ความเป็นจีนก็ค่อยหมดไปทีละน้อยจนปัจจุบันเป็นคนไทยหมดทั้งสิ้น

จีน

คณะกรรมการตลาดนัดชุมชนวัดไร่ขิง คณะกรรมการที่ดำเนินงานตลาดนัดชุมชนที่อยู่ตรงข้ามวัดไร่ขิง บทบาทหน้าที่ในช่วงงานเทศกาลนมัสการปิดทองหลวงพ่อวัดไร่ขิง คือ ดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่มาเที่ยวงานวัดไร่ขิง โดยมีพระครูปฐมธีรวัฒน์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไร่ขิงเป็นประธานคณะกรรมการของตลาดนัดวัดไร่ขิง และกรรมการอีก 11 ท่าน แต่ปัจจุบันมีร้อยตำรวจเอก ณรงค์ ปัถวี เป็นประธาน และมีเพจ Facebook “ตลาดนัดชุมชนวัดไร่ขิง นครปฐม” ในการติดตามความเคลื่อนไหวการทำงานหรือเวลาการเปิดของตลาดนัด

งานนมัสการปิดทองหลวงพ่อวัดไร่ขิง (งานวัดไร่ขิง) จัดขึ้นในทุก ๆ ปีในวันสงกรานต์ ตามตำนานที่เล่าต่อกันนั้นกล่าวว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) ได้อัญเชิญ องค์พระพุทธรูปองค์นี้ มาจากวัดศาลาปูน โดยนำล่องมาทางน้ำ เมื่อถึงหน้าวัดไร่ขิงจึงได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ภายในอุโบสถ และเมื่ออัญเชิญองค์หลวงพ่อขึ้นจากแพ ได้เกิดปาฏิหาริย์ มีฝนโปรยลงมาท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุ จนเกิดอากาศเย็นฉ่ำในวันนั้น ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งเป็นวันสงกรานต์พอดี

ตำนานนี้ทำให้บาวบ้านมีความเชื่อว่า หลวงพ่อวัดไร่ขิงจะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข คลายทุกข์ร้อน ทำให้มีการจัดงานนมัสการปิดทองหลวงพ่อวัดไร่ขิง เป็นงานประเพณีที่จัดขึ้นที่วัดไร่ขิง ในระหว่างวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 5 ถึงวันแรม 4 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี

ในปีหนึ่งจะมีการจัดงานนี้ปีละ 3 ครั้ง คือ 

  • เทศกาลวันออกพรรษา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ทางวัดได้จัดงานตักบาตรเทโวและฟังเทศน์ เปิดโอกาสให้มีการปิดทองนมัสการหลวงพ่อด้วย
  • เทศกาลตรุษจีน เพื่อให้ชาวจีนที่เคารพบูชาหลวงพ่อ ได้มีโอกาสกราบไหว้ปิดทองถวายเป็นพุทธบูชา
  • งานเทศกาลนมัสการปิดทองรูปหลวงพ่อ ประจำปี ซึ่งจัดขึ้นในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 5 จนถึง แรม 3 ค่ำ เดือน 5 ช่วงเทศกาลสงกรานต์

ภายในงานนมัสการจะมีกิจกรรมมากมายให้ประชาชนมาร่วมงาน สักการะ และปิดทองหลวงพ่อวัดไร่ขิงเพื่อความเป็นสิริมงคง นอกจากนี้ยังมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงการออกร้านของเกษตรกรที่นำผักผลไม้จากสวนส่งตรงมาถึงมือผู้บริโภคโดยตรงในราคาย่อมเยา อีกทั้งยังมีการประกวดผลไม้ และการจัดแสดงมหรสพต่าง ๆ อีกด้วย

พระธรรมวชิรานุวัตร เจ้าคณะภาค 14, เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง พระอารามหลวง มีนามเดิมว่า แย้ม อินทร์กรุงเก่า เกิดเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2498 ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 ขณะมีอายุได้ 12 ปี ณ วัดไร่ขิง ต่อมาได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดไร่ขิงเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2519 ขณะอายุได้ 21 ปี ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชวิสุทธาจารย์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอสามพราน วัดไร่ขิง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูอุปจิตบุญวัฒน์ (บุญธรรม จารุวณฺโณ) วัดบางเลน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “กิตฺตินฺธโร” 

วัดไร่ขิง (วัดมงคลจินดาราม) สร้างขึ้นในปีกุน พ.ศ. 2394 ตรงกับต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือรัชกาลที่ 4 โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) เจ้าอาวาสวัดศาลาปูน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ครั้งดำรงสมณศักดิ์พระธรรมราชานุวัตร 

เมื่อการสร้างพระอุโบสถเสร็จ ท่านได้อัญเชิญพระพุทธรูปจากวัดศาลาปูน มาประดิษฐานเป็นพระประธานประจำอุโบสถสืบมา ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อวัดไร่ขิง” ตามตำนาน เล่าว่าลอยน้ำในแม่น้ำท่าจีนมาและอัญเชิญขึ้นไว้ที่วัดไร่ขิงนี้ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งเป็นวันสงกรานต์พอดี

ทว่าการดำเนินการสร้างวัดไร่ขิงยังไม่ทันจะเสร็จสิ้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) ก็มรณภาพเสียก่อน การสร้างจึงตกเป็นของ พระธรรมราชานุวัตร (อาจ จนฺทโชโต) เจ้าอาวาสวัดศาลาปูนรูปที่ 6 ซึ่งเป็นหลานชายของท่านสมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) แต่ไม่ทราบว่าท่านกลับมาปฏิสังขรณ์วัดเมื่อใด

ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2446 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ เสด็จตรวจเยี่ยมวัดในเขตอำเภอสามพราน สมเด็จฯ ได้เสด็จมาที่วัดไร่ขิง และทรงตั้งชื่อวัดใหม่ว่า “วัดมงคลจินดาราม” แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นมายาวนาน และความเคยชินของชาวบ้านทำให้ยังคงใช้ชื่อว่า วัดไร่ขิง มาจนถึงปัจจุบัน

วัดนี้เป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในนครปฐม โดยพระอุโบสถของวัดเป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม ภายในพระอุโบสถวัดไร่ขิงนั้นประดิษฐาน หลวงพ่อวัดไร่ขิง พระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยเชียงแสน เป็นองค์พระพุทธรูปเนื้อทองสัมฤทธิ์ มีลักษณะที่งดงามด้วยพุทธศิลป์ 3 สมัย คือ พระรูปผึ่งผายแบบเชียงแสน พระหัตถ์เรียวงามแบบสุโขทัย และพระพักตร์งดงามในแบบรัตนโกสินทร์ ทำให้มีการสันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปฝีมือช่างสมัยไทยล้านนาและล้านช้าง

นอกจากนี้ภายในวัดก็ยังมี พิพิธภัณฑ์ของเก่าที่รวบรวมของเก่า เช่น ถ้วยชาม หนังสือเก่า ที่ชาวบ้านนำมาถวายวัดมาจัดแสดงไว้ให้ได้ชม และมีพิธีอัญเชิญเทวรูปท้าวเวสสุวรรณโณ (ท้าวกุเวรเทพบุตร) มาประดิษฐานบนแท่นบูชาในปี พ.ศ. 2565 อีกด้วย

ตลาดนัดวัดไร่ขิง (ใกล้โรงพยาบาลสามพราน) เป็นตลาดชุมชนที่อยู่ตรงข้ามกับวัดไร่ขิงอีกฝั่งของแม่น้ำท่าจีน และใช้พื้นที่ที่อยู่ถัดจากพญานาควัดไร่ขิงโดยด้านหลังติดอยู่ท่าริมน้ำ เปิดขายเฉพาะวันอาทิตย์เท่านั้น ตั้งแต่ 2.00 น.-13.00 น. เกิดขึ้นจากความร่วมือร่วมใจระหว่างชุมชนกับวัด โดยมีพระครูปฐมธีรวัฒน์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไร่ขิงเป็นประธานคณะกรรมการของตลาดนัดวัดไร่ขิง พื้นที่ตลาดมีถึง 2,000 ล็อคด้วยกัน โดยแต่ละล็อคจะมีราคาคาเช่า 60 บาท ต่อเดือน จัดได้ว่าเป็นตลาดยอดนิยมในจังหวัดนครปฐมอีกแห่งเลยก็ได้

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จากบทความ “การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนในการจัดตั้งตลาดริมนํ้าวัดไร่ขิง เพื่อการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน จังหวัดนครปฐม” ในปี 2565 พบว่าด้านการท่องเที่ยวและการบินของประเทศไทย นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวในประเทศช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2563 มีทั้งหมด 6,692,775 คน เทียบกับปี 2562 ที่ยอดทั้งหมด 32,582,548 คน ยอดลดลงไปถึง 79.46% เฉพาะนักท่องเที่ยวจีนลดลงไปถึง 86.64% ซึ่งลดลงไปมาก ขณะที่การท่องเที่ยวภายในประเทศที่ประชาชนไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ ส่งผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว รวมถึงบริเวณชุมชนริมน้ำวัดไร่ขิง มีรายได้ลดลง เศรษฐกิจชุมชนต้องล้มหรือปิดตัวตามเศรษฐกิจมหภาค ปัจจัยเดียวที่ช่วยพยุงที่ช่วยพยุงสถานการณ์นี้ได้คือการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาครัฐ

ผู้บริหารและผู้นําชุมชนในท้องถิ่นทุกท่านมีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่า วัดไร่ขิงเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ ควรให้มีการจัดตั้งตลาดริมนํ้าวัดไร่ขิงขึ้น เพราะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและวิสาหกิจชุมชนเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรและชาวสวนได้เป็นอย่างดี 

ภาครัฐจึงได้มีการจัดสรรงบประมาณผ่านการท่องเที่ยวจังหวัดนครปฐม ให้จัดหาสถานที่ในการจัดสร้างตลาดเพื่อจําหน่ายสินค้าการเกษตรและเป็นแหล่งท่องเที่ยวแก่ประชาชน จึงขอความร่วมมือกับเทศบาลเมืองไร่ขิงในการประสานความร่วมมือกับวัดไร่ขิง เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบครบวงจรเป็นศูนย์กลางแหล่งท่องเที่ยวที่ใกล้กรุงเทพและการพัฒนาตลาดนํ้าเพื่อการจําหน่ายสินค้าของกลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และประชาชนในพื้นที่ ซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้ว ยังทำให้ชุมชนในท้องถิ่นมีสถานที่จําหน่ายสินค้าเพื่อสร้างรายได้อีกด้วย

ขณะที่นักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวน้อยลงจากการระเบิดโควิท ก็ให้สัมภาษณ์ไปในทางเดียวกันว่า ควรให้มีการเปิดตลาดริมนํ้าขึ้น ต้องมีการจําหน่ายสินค้าโอทอป จําหน่ายอาหารการกิน สินค้าเกษตร สินค้าพื้นบ้าน มีความหลากหลายของสินค้า และสถานที่มีความสะอาด ราคาไม่แพง สามารถเลือกซื้ออย่างสบายใจ หรือเน้นสินค้าที่เป็นของฝากที่นักท่องเที่ยวนํากลับบ้าน ควรมีการจัดกิจกรรมสําหรับนักท่องเที่ยวร่วมด้วย

ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า โดยภาพรวมเกี่ยวกับตลาดริมน้ำหรือก็คือตลาดนัดวัดไร่ขิง มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก แต่ก็มีปัญหาและอุปสรรคคือ

1) การประสานงานหลายหน่วยงานในการจัดตั้งตลาดทําได้ยาก ควรต้องมีศูนย์กลางที่รับผิดชอบเป็นผู้ประสานงานหรือคณะกรรมการในการจัดตั้งตลาด เพื่อให้ดำเนินงานได้สะดวกและดียิ่งขึ้น เพราะต้องมีการติดตามประสานงานมีค่าใช้จ่ายหรืองบประมาณในการดําเนินงาน

2) ด้านการจัดหาผู้ประกอบการร้านค้าต้องกระทําอย่างโปร่งใสมีระบบระเบียบชัดเจนและยุติธรรมเพราะจะมีผู้ประกอบการต้องการที่จะเข้ามาจําหน่ายสินค้าเป็นจำนวนมากทั้งจากชาวสวนโดยตรงและพ่อค้าคนกลาง จึงต้องมีการดําเนินการอย่างไม่เล่นพรรคเล่นพวก เพราะอาจจะทําให้เกิดปัญหาตามมาได้ ในกรณีที่ผู้ประกอบการดําเนินการกันเองก็จะเกิดความขัดแย้งกันในพื้นที่หรือเกิดการหาผลประโยชน์ขึ้นได้

3) การจัดตั้งตลาดริมนํ้าวัดไร่ขิงต้องใช้งบประมาณจากภาครัฐจํานวนมาก ต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบสนับสนุน ประสานงาน การจัดตั้งตลาด โดยผู้ที่จะรับผิดชอบงบประมาณต้องดําเนินงานให้ชัดเจน โปร่งใส เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบและติดตาม

4) เมื่อจัดตั้งตลาดริมนํ้าวัดไร่ขิงเรียบร้อยแล้วนั้น ต้องมีการดําเนินงานประสานกับวัดไร่ขิงอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นจุดที่ตั้งของตลาด โดยวัดไร่ขิงจะมอบหมายให้ฝ่ายใดรับผิดชอบดูแล ต้องมีการระบุอย่างชัดเจนโดยเฉพาะเทศบาลเมืองไร่ขิงซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐและเป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่ตําบลไร่ขิง ต้องจัดตั้งผู้รับผิดชอบดูแลประสานงาน

ดังนั้นควรมีคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทําหน้าที่ติดตามการจัดตั้งตลาดอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม ประสานงานกับทางจังหวัดนครปฐมและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมถึงการจัดหาผู้ประกอบการมาขายสินค้าอย่างโปร่งใส มีการประสานกับกลุ่มมวลชนหรือองค์กรในพื้นที่ เพื่อมาร่วมจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายที่ตลาดริมนํ้าทั้งในและนอกพื้นที่ เพื่อเป็นเวทีการแสดงกิจกรรมของกลุ่มต่าง ๆ และเพื่อเป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์และจําหน่ายสินค้าได้ด้วย รวมถึงกำหนดกลยุทธ์ทางการค้าให้เน้นที่ความสะอาดและคุณภาพ แล้วนำไปต่อยอดด้านการท่องเที่ยวอย่างอื่น เช่น ขายผลไม้แล้วนำนักท่องเที่ยวไปเที่ยวที่สวนของตน เป็นต้น

ท่าเรือของชุมชนริมน้ำวัดไร่ขิงสามารถเดินทางทางเรือหรือทางบก ไปยังตลาดน้ำดอนหวายในตำบลบางกระทึกได้ ห่างจากวัดไร่ขิงประมาณ 5-6 กิโลเมตร ซึ่งหลังจากไหว้ที่วัดไร่ขิงเสร็จก็สามารถเดินทางไปยังตลาดน้ำแห่งนี้ได้

ชุมชนริมน้ำวัดไร่ขิง. (ออนไลน์). (2564). สืบค้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://culturalenvi.onep.go.th/

ภัสกฤช สุขเสน. (2562). บทบาทการพัฒนาท้องถิ่นของผู้บริหารเทศบาลเมืองไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม (สารนิพนธ์ บัณฑิตวิทยาลัย). นครปฐม. มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย. เข้าถึงได้จาก http://opac.mbu.ac.th/

วิศิษฏ์ แก้วเอี่ยม. (ม.ป.ป.). ชาติพันธุ์ในจ.นครปฐม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://service.christian.ac.th/

อุบล วุฒิพรโสภณ, พระปลัดประพจน์ อยู่สำราญ, ณัชชา ณัฐโชติภคิน และปิยวรรณ หอมจันทร์. (2565). การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนในการจัดตั้งตลาดริมนํ้าวัดไร่ขิง เพื่อการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน จังหวัดนครปฐม. ปัญญาภิวัฒน์, 14(2), 118-132. เข้าถึงได้จาก https://so05.tci-thaijo.org/

เอิงเอย. (นามแฝง). (2566). งานนมัสการปิดทองหลวงพ่อวัดไร่ขิง 2566 นครปฐม เที่ยวงานวัด 9 วันเต็ม ขอพร หลวงพ่อวัดไร่ขิง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://travel.trueid.net/

เอิงเอย. (นามแฝง). (2565). เที่ยวนครปฐม วัดไร่ขิง สามพราน วัดดัง นครปฐม ทำบุญ ไหว้พระใกล้กรุงเทพ ขอพร หลวงพ่อวัดไร่ขิง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://travel.trueid.net/

administrator. (นามแฝง). (2559). ตลาดนัดชุมชนวัดไร่ขิง “ตลาดนัดใหญ่ 2,000 กว่าล็อค ทุกวันอาทิตย์”. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.xn--22cap5dwcq3d9ac1l0f.com/