ชุมชนอยู่บริเวณฝั่งซ้ายปากคลองมหาชัย แม่น้ำท่าจีน
พระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยาโปรดให้ขุดคลองลัดจากเมืองธนบุรี เป็นแนวตรงไปออกปากน้ำเมืองสาครบุรีแทนคลองโคกขามที่คดเคี้ยว และตั้งชื่อคลองว่า “คลองมหาชัย” ก่อนที่จะมีการก่อตั้งชุมชนขนาดใหญ่และตลาดมหาชัยตรงฝั่งข้ามปากคลองมหาชัย
ชุมชนอยู่บริเวณฝั่งซ้ายปากคลองมหาชัย แม่น้ำท่าจีน
ที่มาของชื่อมหาชัยนั้นมาจากชื่อคลองที่สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) แห่งกรุงศรีอยุธยาโปรดให้ขุดคลองลัดจากเมืองธนบุรี เป็นแนวตรงไปออกปากน้ำเมืองสาครบุรีแทนคลองโคกขามที่คดเคี้ยว เนื่องจากเมื่อ 1 ปีก่อน พระองค์ทรงได้เสด็จประพาสเมืองสาครบุรีโดยทางเรือ เสด็จผ่านคลองโคกขาม ซึ่งเป็นลำคลองที่คดเคี้ยว เรือพระที่นั่งชนกับกิ่งไม้จนหัวเรือหัก ด้วยความซื่อสัตย์ในหน้าที่และความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ และรักษาไว้ซึ่งกฎมณเฑียรบาล พันท้ายนรสิงห์ นายท้ายเรือพระที่นั่ง ขอรับโทษประหารชีวิต
ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 (สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ) ก็ได้ขุดคลองสำเร็จ พร้อมกับพระราชทานนามว่า เรียกชื่อว่า “คลองสนามไชย” ต่อมาเปลี่ยนเป็น “คลองมหาชัย”
ด้วยความที่มีคลองตัดผ่านมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ชาวบ้านจึงได้มาตั้งชุมชนอยู่ที่บริเวณฝั่งซ้ายปากคลอง จนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่หลายคนเรียกกันว่า “ชุมชนมหาชัย” หรือ “ตลาดมหาชัย” ในปัจจุบัน
ส่วนสมุทรสาคร เดิมเรียกกันว่า “บ้านท่าจีน” เพราะติดอ่าวไทยและมีชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีน นำสำเภาเข้ามาจอดเทียบท่าค้าขายกันมาก ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงยกระดับเมืองให้เป็น “เมืองสาครบุรี” และเปลี่ยนมาเป็น “เมืองสมุทรสาคร” ซึ่งมีความหมายว่า “เมืองแห่งทะเลและแม่น้ำ” ถือเป็นหนึ่งในจังหวัดอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลขนาดใหญ่ระดับประเทศ พร้อมโปรดเกล้าให้สร้างป้อมเมืองสาครบุรี พระราชทานชื่อว่า “ป้อมวิเชียรโชฎก” ที่จะอยู่ใกล้ ๆ กับตลาดมหาชัย
ในอดีตตลาดมหาชัยเป็นศูนย์กลางการค้าขายอาหารทะเลและอาหารแปรรูปขนาดใหญ่ โดยจังหวัดนี้มีพื้นที่ส่วนหนึ่งติดชายฝั่งทะเล จึงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรการเกษตร และยังมีแม่น้ำท่าจีนที่แยกตัวออกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลท่าซุง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ไหลผ่านตัวจังหวัด
ชุมชนตลาดมหาชัยมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเล สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1.00-2.00 เมตร คลองมหาชัยของชุมชนระบายออกสู่แม่น้ำท่าจีนแล้วออกสู่ทะเลอ่าวไทย ขณะที่ลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบฝนเมืองร้อน จากอิทธิพลของลมบกลมทะเล และมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่าน ในช่วงฤดูร้อน จึงทำให้มีความชื้นในอากาศสูง มีฝนตกปานกลาง ปริมาณเฉลี่ย 1,120 มิลลิเมตรต่อปี อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 28-34 องศาเซลเซียส มีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำสุด 50% สูงสุด 95%
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลท่าฉลอม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ในอีกฝั่งของแม่น้ำท่าจีน
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร
จากข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยปี 2565 พบว่า จำนวนประชากรของชุมชนตลาดมหาชัยมีจำนวนทั้งหมด 48,795 คน แบ่งเป็นประชากรชาย จำนวน 24,140 คน และประชากรหญิง จำนวน 24,655 คน มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 15,205 ครัวเรือน แต่ก็มีจำนวนประชากรที่มิใช่สัญชาติไทย จำนวน 682 คน แยกเป็นประชากรชาย 349 และประชากรหญิง 333 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชาวมอญหรือก็คือชาวพม่า โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่อยู่มาตั้งแต่แรกกับกลุ่มที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย
กลุ่มที่อยู่มาตั้งแต่แรกนั้นอพยพมาจากชุมชนมอญในจังหวัดปทุมธานี ตั้งถิ่นฐานของตนบางส่วนอยู่บริเวณวัดป้อมวิเชียรโชติการาม ตําบลมหาชัย สันนิษฐานว่าเป็นกลุ่มชาวมอญที่อพยพเข้ามายังแถบบางหญ้าแพรกในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3
ส่วนกลุ่มที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายนั้น มาในช่วงทศวรรษที่ 2530 ที่แรงงานข้ามชาติจากเมียนมาเริ่มหลั่งไหลเข้ามาทำงานมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมือง ทำให้ผู้คนต้องอพยพมาหางานทำ สมุทรสาครจึงเป็นที่หมายแรก โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติชาวมอญ แรงงานกลุ่มแรก ๆ ที่เลื่อนไหลเข้ามาทำงานเพราะสามารถสื่อสารกับชาวไทยเชื้อสายมอญที่อาศัยอยู่ในสมุทรสาครดั้งเดิม แน่นอนว่าในระยะแรกแรงงานที่เข้ามาทำงานยังเป็นแรงงานข้ามชาติที่ไม่ถูกกฎหมาย
ชาวมอญที่ส่วนใหญ่ในมหาชัยจะเป็นแรงงานข้ามชาติที่มาทำอุตสาหกรรมประมงทะเลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นส่วนมาก เช่น โรงงานอาหารทะเลและโรงงานกระป๋องเป็นหลัก ซึ่งมักจะเคลื่อนเข้ามาอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในด้านหนึ่งรัฐบาลก็พยายามทำเป็นปิดหูปิดตาไม่เห็น เนื่องจากในด้านการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ จำเป็นต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวที่ราคาถูกในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศ ในอีกด้านหนึ่งการที่เข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายทำให้พวกเขาไม่มีสถานะทางกฎหมายและไม่ได้รับสวัสดิการ ส่งผลให้ไม่สามารถเรียกร้องความเป็นธรรมได้เมื่อถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือถูกขูดรีดจากนายจ้าง
จนกระทั่งปี 2539 รัฐบาลไทยมีนโยบายผ่อนผัน ทำให้มีแรงงานจากเมียนมากลุ่มอื่น ๆ เช่น พม่า, ทวาย, ยะไข่, กะยัน, ไทใหญ่ เป็นต้น และกลุ่มอพยพจากประเทศเพื่อนบ้านตามเข้ามาภายหลัง
มอญคณะกรรมการบริหารศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร คณะกรรมการที่บริหารการทำงานของศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร เช่น การปรับเปลี่ยนรูปแบบการสักการะองค์เจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาครในช่วงโควิด-19 จากที่เคยเข้ามาสักการะด้านใน เปลี่ยนเป็นสักการะที่บริเวณโต๊ะหมู่บูชาด้านหน้าแทน และดูแลการจัดงานแห่เจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาครประจำปี รวมทั้งร่วมมือกับทางจังหวัดสมุทรสาครในการจัดงานอื่นๆ ที่มีสถานที่จัดอยู่ในศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เช่น งานมหกรรมรักษ์สุขภาพ เป็นต้น โดยมีนายวิเชาว์ หุ่นเจริญ ประธานคณะกรรมการบริหารคนปัจจุบัน
ประเพณีแห่เจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร งานที่ยิ่งใหญ่และสําคัญที่สุดของจังหวัดสมุทรสาคร จัดอยู่ในช่วง วันที่ 7 -10 เดือน 5 ตามปฏิทินจีนหรือประมาณเดือนมิถุนายนของทุกปี โดยงานจะเริ่มตอน 9 โมงเช้าในวันที่ 2 ของงาน และเสร็จในช่วงบ่ายแก่ๆ หรือช่วยเย็นในวันนั้น
ด้วยการอัญเชิญองค์เจ้าพ่อหลักเมืองออกจากศาลแล้วลงเรือแห่ทางน้ำ ซึ่งใช้เรือประมงขนาดใหญ่ แห่ไปในแม่น้ำท่าจีนจากฝั่งมหาชัยไปขึ้นฝั่งท่าฉลอมที่วัดแหลมสุวรรณาราม เพื่อแห่ไปตามถนนถวายถึงวัดช่องลม แล้วอัญเชิญองค์เจ้าพ่อฯ ลงเรืออีกครั้ง เพื่อแห่ไปยังปากอ่าวมหาชัย ซึ่งเป็นประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของลุ่มแม่น้ำท่าจีน จากนั้นขบวนแห่จะมาขึ้นฝั่งมหาชัยที่องค์การสะพานปลาสมุทรสาคร เพื่อแห่ทางบกรอบเมืองมหาชัย เพื่อให้ประชาชนได้สักการบูชา เมื่อแห่ไปรอบตามเส้นทางที่กำหนดแล้วก็จะอัญเชิญเจ้าพ่อหลักเมืองกลับมาประดิษฐาน
สาเหตุของการทั้งทางบกและทางน้ำนั้น เกิดมาจากคนสมัยก่อนที่ประกอบอาชีพประมงกันเป็นส่วนใหญ่และมีประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติต่อกันมา คือ ก่อนออกเรือจะต้องจุดประทัดทุกครั้งเพื่อความเป็นสิริมงคล และเมื่อแล่นผ่านหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมื่อไหร่ก็จะทำการบนบานศาลกล่าว ซึ่งเชื่อกันว่าการแห่เจ้าพ่อทางเรือนั้นจะช่วยทำให้การประมงดียิ่งขึ้น
นอกจากจะมีการแห่แล้ว ยังมีการแลกธูปของผู้เข้าร่วมงานกับธูปของเจ้าพ่อที่ได้ทำการปักไว้ที่กระถางมาแลก เพื่อนำกลับไปบูชาที่บ้านในฐานะตัวแทนเจ้าพ่อหลักเมือง ในวันสุดท้ายของงานที่ตรงกับวันเกิดเจ้าพ่อหลักเมือง ก็จะมีการแจกหมี่สิริมงคลเพื่อความสิริมงคล อายุยืนยาว และร่ำรวยเงินทองตลอดปี แล้วในช่วงกลางคืนก็จะมีการแสดงมหรสพที่เข้าชมได้ฟรีอีกด้วย
ตลาดมหาชัย ตลาดสดที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสมุทรสาคร ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีนและก็ตั้งอยู่ใกล้กับป้อมวิเชียรโชฎกศาลหลักเมืองและศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร มีหอนาฬิกาท่าเรือเป็นจุดบอกสถานที่ ถือเป็นแหล่งขายอาหารทะเลสด-แห้ง และเป็นศูนย์กลางการค้าการคมนาคมของสมุทรสาคร เพราะมีท่าเรือที่มีเรือเมล์ไปสู่ตำบลต่าง ๆ หลายแห่ง นอกจากนั้นยังสามารถเช่าเรือหางยาวไปเที่ยวคลองโคกขามได้ มีทั้งเช่าเหมาลำและเรือประจำทาง และยังมีขบวนรถไฟจาก สถานีวงเวียนใหญ่มายังมหาชัยวันละหลายเที่ยว
ตลาดมหาชัยเป็นตลาดสดที่เน้นอาหารทะเลที่มีความสดขึ้นจากทะเลโดยตรงในราคาไม่แพง ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง หมึก ปูและปากหลายชนิดหลายขนาด รวมไปถึงหอยให้ได้เลือกซื้อ ส่วนอาหารแห้งนั้นก็มีให้เลือกซื้อเลือกชั่งเยอะไม่แพ้กัน ของแห้งบางชนิดนั้นเยอะจนกองกันสูง โดยที่มีราคาถูกกว่าตลาดที่อื่นและมีให้ซื้อได้หลากหลาย
ถึงกระนั้นในตลาดเองที่มีความเก่าแก่ ก็ยังมีผลไม้ผักสดและขนมโบราณหรือขนมเก่า ๆ วางขายอยู่เป็นจำนวนมากด้วย
ทว่าในช่วงราวเดือนตุลาคม น้ำทะเลจะหนุนระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีนให้สูงขึ้นจนกระทั่งเข้าท่วมในตลาด ตั้งแต่ริมแม่น้ำไปจนถึงถนนหลักในระดับถึงประมาณหัวเข่า บรรดาพ่อค้าแม่ขายต้องย้ายของหนีน้ำกันชุลมุน แต่ถึงกระนั้นตลาดก็ยังไม่หยุดทำการ ยังมีผู้เข้ามาจับจ่ายซื้อของทั้งเดินลุยน้ำไปจนกระทั่งว่ายน้ำเข้ามาก็ยังมี
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร ศาลเดิมที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า “ศาลเทพเจ้าจอมเมือง” ตั้งอยู่บริเวณต้นศรีมหาโพธิ์ ด้านหลังที่ว่าการอำเภอเมืองหลังเก่า ภายในบริเวณป้อมวิเชียรโชฎก ในปัจจุบันศาลเจ้าหลังดังกล่าวไม่ปรากฏร่องรอยเหลืออยู่แล้ว
การเริ่มสร้างศาลหลักเมืองสมุทรสาครแทนที่ศาลเดิมได้เกิดขึ้นประมาณ พ.ศ. 2460-2461 โดยพระยาสาครคณาถิรักษ์ เจ้าเมืองสมุทรสาคร หลวงอนุรักษ์นผดุงนายอำเภอเมืองสมุทรสาคร และขุนสมุทรมณีรัตน์ กำนันตำบลท่าฉลอม ได้ดำเนินการบอกบุญขอบริจากชาวสมุทรสาครและผู้มีจิตศรัทธา จนสามารถรวบรวมเงินทุนสร้างศาลขึ้นมาใหม่ตามแบบที่ขอมาจากกรมศิลปากร โดยตั้งอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน แต่ยังขาดช่อฟ้าใบระกาเนื่องจากเงินทุนที่ประชาชนบริจาคไม่เพียงพอ ทำให้การก่อสร้างยังไม่สำเร็จดี
ในอีก 2 ปีต่อมา ขุนสมุทรมณีรัตน์ ขุนเชิดมหาชัย และนายยงกุ่ย หทัยธรรมทั้งสามท่านจึงร่วมกันออกเงินส่วนที่เหลือจนสร้างศาลเสร็จเรียบร้อยเมื่อการก่อสร้างศาลเสร็จสมบูรณ์แล้ว ทางราชการให้ขุนสมุทรมณีรัตน์เป็นประธาน ประกอบด้วยกรรมการจากฝ่ายราชการ พ่อค้า คหบดี ใน จังหวัดสมุทรสาคร เป็นผู้ควบคุมดูแลกิจการของศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร
ศาลเจ้าเป็นอาคารเก๋งจีนที่ตกแต่งด้วยศิลปะจีนที่เป็นสัญลักษณ์แทนความเป็นสิริมงคลต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอก ด้านหน้าศาลเป็นลายปูนปั้นนูนต่ำรูปโป๊ยเซียนหรือเทพทั้งแปดในลัทธิเต๋า เสาแต่ละต้นประดับด้วยปูนปั้นรูปมังกรพันรอบเสาอย่างสวยงาม ตามความเชื่อว่ามังกรเป็นสัตว์วิเศษที่ช่วยขจัดสิ่งอัปมงคล
องค์เจ้าพ่อหลักเมืองเป็นรูปแกะสลักจากไม้ต้นโพ ในท่าทรงยืน สูงราว 1 ศอก มีลวดลายคล้ายเทพารักษ์หรือพระสยามเทวาธิราช ประดิษฐานอยู่ในซุ้มแท่นบูชาซึ่งแกะสลักลวดลายอย่างวิจิตรงดงามโดยช่างจีนโบราณ เป็นรูปสัตว์มงคลต่าง ๆ ทั้งมังกร หงส์ สิงโต ช้าง นกกระเรียน อยู่ท่ามกลางลายพรรณพฤกษา และปิดทองคำบริสุทธิ์ให้ดูมลังเมลือง นับเป็นงานศิลปะอันทรงคุณค่ายิ่ง
ชาวสมุทรสาครเคารพนับถือเจ้าพ่อหลักเมืองมาก มักมาขอพรและปิดทองเจ้าพ่ออยู่เสมอ โดยเฉพาะชาวประมง ก่อนออกทะเลทุกครั้งต้องมาจุดประทัดถวาย ขอให้ท่านคุ้มครองให้พ้นจากภัยในทะเลลึก
ป้อมวิเชียรโชฎก ใกล้ ๆ กับตลาดมหาชัยและห่างจากศาลากลางจังหวัด 200 เมตร เดิมทีป้อมนี้สร้างขึ้นเพื่อกำบังข้าศึกบริเวณปากอ่าวแม่น้ำท่าจีน ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์แห่งกรุงศรีอยุธยา ที่ยกฐานะบ้านท่าจีนขึ้นเป็นเมืองสาครบุรี เพื่อใช้ระดมพลแถบหัวเมืองชายทะเล (พ.ศ. 2099)
มองซิเออร์ เซเบเรต์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสที่เดินทางผ่านบ้านท่าจีน เมื่อ 17-18 ธันวาคม 2230 ได้บรรยายถึงสภาพป้อมเดิมนี้ไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์สากล เล่ม 7 ว่า “ป้อมเล็ก ๆ อยู่ป้อมหนึ่ง ก่อด้วยอิฐและกำแพงนั้นสูงราว 10 ฟุต แต่หามีคูหรือประตูไม่ มีแต่ห่อรบและมีปืนทองเหลืองขนาดเล็ก แม้จะเป็นเมืองเล็กแต่ก็เป็นเมืองท่าและเมืองหน้าด่านสำคัญที่ติดต่อค้าขายกับต่างชาติ จนถึงมีป้อมปืนคอยคุ้มกันระวังภัย”
ต่อมาในปี พ.ศ. 2371 สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่ (รัชกาลที่ 3) ป้อมนี้ได้รับการบูรณะซ่อมแซมใหม่และโปรดเกล้าฯ ให้ชื่อว่า “ป้อมวิเชียรโชฎก” เนื่องจากในสมัยนั้นได้เกิดกรณีพิพาทกับญวนเรื่องเจ้าอนุวงศ์เมือง เวียงจันทน์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน) เป็นแม่กองสร้างป้อมเพื่อรักษาปากน้ำท่าจีนที่เมืองสมุทรสาครในกรณีที่ญวนรุกรานไทย
ที่เห็นอยู่ในตอนนี้จะเป็นกำแพงป้อมก่อด้วยปูน กว้างประมาณศอกเศษ สูงประมาณ 6 ศอก ไม่มีป้อมยามมีแต่หอรบ มีปืนบรรจุตามช่องเป็นปืนโบราณ แต่ละช่องกว้างประมาณ 5 เมตร ปืนที่บรรจุอยู่ที่ตามช่องหล่อด้วยเหล็กทั้งท่อน ที่กระบอกมือแต่ละกระบอกมีสัญลักษณ์เป็นรูปมงกุฎราชวงศ์อังกฤษ มีอักษร GR อยู่ใต้มงกุฎนั้น และสลักคำว่า BACON ไว้ทุกกระบอก ปัจจุบันนี้ทางเทศบาลนครสมุทรสาคร ได้นำไปตั้งไว้หน้าที่ทำการ 2 กระบอก และอยู่หน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมือง นอกจากนี้ยังอยู่ตามช่องกำแพงอีกส่วนหนึ่ง
นอกจากนี้ที่นี่เคยเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอเมือง เรือนจำ และสำนักงานที่ดินจังหวัดมาก่อน โดยที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ
จากที่คนมหาชัยนิยมเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในศูนย์การค้าคอมมูนิตี้มอลล์ย่านพระราม 2 เมื่อถึงช่วงประมาณปี 2555 กลุ่มดีแลนด์ ผู้ประกอบการที่เติบโตจากหลายธุรกิจในสมุทรสาครตัดสินใจนำที่ดินริมถนนพระราม 2 ฝั่งมุ่งหน้าไปอัมพวาที่ซื้อเก็บไว้นานแล้ว มาพัฒนาเป็น “พอร์โต้ ชิโน่” ไลฟ์สไตล์มอลล์ แห่งแรกของสมุทรสาคร พวกเขามองว่าย่านนี้เป็นย่านที่มีกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ แต่ยังไม่มีห้างที่เป็นไลฟ์สไตล์ โดยหวังจับกลุ่มทั้งคนท้องถิ่นและกลุ่มคนคนกรุงเทพฯ ที่ต้องการแวะพักก่อนจะเดินทางต่อไปอัมพวา ชะอำ หัวหิน ด้วยการดึงแบรนด์ร้านค้าชั้นนำจากส่วนกลางมาเปิดให้บริการ ซึ่งประสบความสำเร็จไม่น้อยจากการตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานหลักๆ ของคนมหาชัยได้
ต่อมากลุ่มเซ็นทรัลเตรียมกว้านซื้อที่ดินบนถนนพระราม 2 ฝั่งมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ ฝั่งตรงข้ามกับพอร์โต้ ชิโน่ และเปิดตัวเซ็นทรัลมหาชัยในปี พ.ศ.2560 ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ครบวงจรแห่งแรกของสมุทรสาคร เลือกปักธงฝั่งมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ เพราะเน้นจับกลุ่มคนมหาชัยเคยไปจับจ่ายใช้สอยในใจกลางเมืองพระราม 2 หรือเข้าตัวเมืองชั้นในกรุงเทพฯ
สำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์บริเวณมหาชัย การมาของทั้ง “พอร์โต้ ชิโน่” และเซ็นทรัล ทำให้ในปัจจุบันเกิดโครงการขนาดเล็กที่มีทั้งทำบ้านขนาดใหญ่ที่พร้อมปรับเป็นโรงงานขนาดเล็ก อาคารพาณิชย์ บ้านจัดสรร ส่วนตลาดคอนโดมิเนียมเพิ่งจะเริ่มต้น และจะอยู่ใกล้แหล่งงานเป็นหลัก
ในอนาคตเองก็จะมีโครงการทางด่วนยกระดับคู่ขนานลอยฟ้า (มอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ-วังมะนาว) ที่วิ่งยาวจากกรุงเทพฯ ไปฝั่งชะอำ หัวหินเลย เพื่อแก้ปัญหาการจราจรกรุงเทพฯ โซนใต้ และช่วยบรรเทาการจราจรบนถนนพระราม 2 เป็นเส้นทางสู่ภาคใต้ ซึ่งจะมีการสร้างตัดผ่านมหาชัยอีกด้วย จนอาจเป็นจุดเปลี่ยนให้กับมหาชัยอีกครั้ง
จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของเมืองและเทคโนโลยี ทำให้ชุมชนตลาดมหาชัยไม่ใช่แค่แหล่งศูนย์กลางการขายอาหารทะเลเพียงอย่างเดียว แต่กลายเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่อยู่ระหว่างกรุงเทพฯ สมุทรสาคร และบริเวณเส้นถนนไปยังภาคใต้ ที่มีผู้เข้ามาลงทุนให้เกิดโครงการอสังหาริมทรัพย์ในมหาชัยมากขึ้น เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการท้องถิ่นต้องปรับตัว นำจุดเด่นที่เกี่ยวกับอาหารแปรรูปและอาหารทะเลที่มีประวัติมายาวนาน ในราคาที่ไม่แพง มาสร้างเป็นจุดขายเพื่อดึงให้คนเข้ามา ก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดตลาดการท่องเที่ยวแบบใหม่ๆ ที่ส่งผลต่อเนื่องกับโครงการอสังหาริมทรัพย์ภายในบริเวณ เพื่อให้คนในชุมชนและในตำบลมหาชัยสามารถประกอบอาชีพอยู่ต่อไปได้
ด้านแรงงานพม่าภายในพื้นที่ นอกจากที่แรงงานที่เข้ามาผิดกฎหมายจะโดนละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือการที่บางส่วนเข้ามาแล้วก่ออาชญากรรมในพื้นที่ ก็ได้มีอีกส่วนหนึ่งเข้ามาเปิดร้านค้าแข่งกับคนไทยในพื้นที่และจ่ายส่วยให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แม้จะผิดพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ฉบับ พ.ศ. 2522 คือห้ามไม่ให้คนต่างด้าวขายของหน้าร้าน งานเร่ขายสินค้า ก็ตามที ส่งผลให้ร้านบางร้านที่เปิดโดยชาวไทยแข่งขันไม่ไหวและต้องปิดตัวลง
ส่วนคนในมหาชัยเองก็ไม่ได้ทำงานแค่ในมหาชัยหรือในตัวเมืองสมุทรสาครอีกต่อไป พวกเขายังมีความคุ้นเคยกับการเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ และเดินทางไปกลับ เนื่องจากการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ-มหาชัย ค่อนข้างสะดวก มีรถตู้สาธารณะ รถตู้มหาชัย หมอชิต ให้บริการ ใช้เวลาไม่นานในการเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ แบบไปกลับได้
บริเวณใกล้ ๆ กับตลาดมหาชัย จะมีท่าเรือมหาชัยที่สามารถขึ้นเรือไปยังท่าเรือที่ท่าฉลอมได้ ทั้งยังเป็นสถานที่ที่พ่อค้าแม่ค้าในตลาดเข้ามาดูปลาอีกด้วย โดยมี “ตลาดยายพ่วง” เปิดขายอยู่ใกล้ ๆ ท่าเรือแห่งนี้
กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://stat.bora.dopa.go.th/
กรมธนารักษ์ สำนักงานธนารักษ์พื้นที่สมุทรสาคร. (2556). เกี่ยวกับจังหวัดสมุทรสาคร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://samutsakhon.treasury.go.th/
ตลาดมหาชัย ท่าเรือเทศบาล. (ม.ป.ป.).(ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก http://www.teethiao.com/
ตลาดมหาชัยที่สุดของแหล่งท่องเที่ยวสมุทรสาคร. (ม.ป.ป.). (ออนไลน์) สืบค้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.หาตลาด.com/
ป้อมวิเชียรโชฎก. (ม.ป.ป.) (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/
รู้จักมหาชัยแบบเจาะลึก. (2563). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.ddproperty.com/
ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง. (ม.ป.ป.). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://api.guideglai.com/
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2559). แห่เจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.sac.or.th/databases/rituals/
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC. (2563). สมุทรสาครกับความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/sac.anthropology/photos/
สยามรัฐออนไลน์. (2564). ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร เริ่มเปิดพื้นที่ 1 กุมภาพันธ์ต้อนรับเทศกาลตรุษจีน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://siamrath.co.th/
สโรชพันธุ์ สุภาวรรณ์. (ม.ป.ป.). มอญ(พม่า)ในมหาชัย: ตัวตนบนความเป็นอื่น. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.academia.edu/
สำนักงานแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร. (ม.ป.ป.). ความเป็นมาของจังหวัดสมุทรสาคร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://samutsakhon.mol.go.th/
MGR Online. (2557). มหาชัย ดินแดนใคร ไทย หรือ พม่า?!?. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://mgronline.com/
Nukkpidet. (นามแฝง). (2564). ตลาดมหาชัย ที่เที่ยวสมุทรสาคร แหล่งอาหารทะเลสดๆ ราคาถูก ใกล้กรุงเทพ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://travel.trueid.net/
Patchara Parkpoom. (ม.ป.ป.). จังหวัดสมุทรสาคร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://patchara1589.wordpress.com/