Advance search

กุฎีขาว

ชุมชนบางหลวง, ชุมชนมัสยิดบางหลวง

ชุมชนมุสลิมเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี ที่มีจุดเด่น คือ มัสยิดบางหลวง (กุฎีขาว) ก่ออิฐถือปูนแห่งเดียวในโลกที่เป็นทรงไทยทั้งหลัง และตัวอาคารเป็นขาว จนเป็นที่มาของชื่อชุมชน

อรุณอมรินทร์
มัสยิดบางหลวง
วัดกัลยาณ์
ธนบุรี
กรุงเทพมหานคร
ธนวิชญ์ ใจดี
10 พ.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
26 มิ.ย. 2023
ณัฐวุฒิ บัวคลี่
23 มิ.ย. 2023
กุฎีขาว
ชุมชนบางหลวง, ชุมชนมัสยิดบางหลวง

ชุมชนบางหลวง (กุฎีขาว) เป็นชุมชนเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี ตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสินครั้งกรุงธนบุรี กำเนิดมาจากหมู่บ้านเก่าแก่ของมุสลิม ชื่อหมู่บ้านบางหลวง อยู่บนฝั่งคลองบางหลวง (บางกอกใหญ่) ทางฝั่งทิศตะวันออก พ.ศ. 2538 ในช่วงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแห่งราชวงศ์จักรี (รัชกาลที่ 1) ชาวมุสลิมทั้งชีอะห์และสุนนีที่อยู่แพคลองบางหลวง (คลองบางกอกใหญ่) เริ่มไปสร้างบ้านเรือนบนบก ฝั่งชะอะห์อยู่บนฝั่งเจริญพาศน์ ฝ่ายสุนนีอยู่บนฝั่งตรงข้ามวัดหงส์ ต่อมาเรียกกันว่า “หมู่บ้านบางหลวง” ในขณะนั้นได้มีการก่อสร้างมัสยิดถือปูนทรงไทยกลางหมู่บ้าน ในชื่อ “มัสยิดบางหลวง” แต่เนื่องด้วยตัวอาคารทาด้วยสีขาว จึงถูกเรียกว่า “กุฎีขาว” ในเวลาต่อมา การเคหะแห่งชาติได้เริ่มก่อตั้งชุมชนและออกระเบียบว่าด้วยชุมชนแออัด พ.ศ.2525 ทำให้จากหมู่บ้านบางหลวงก็ได้เปลี่ยนไปเป็น “ชุมชนกุฎีขาว” จนถึงปัจจุบัน


ชุมชนมุสลิมเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี ที่มีจุดเด่น คือ มัสยิดบางหลวง (กุฎีขาว) ก่ออิฐถือปูนแห่งเดียวในโลกที่เป็นทรงไทยทั้งหลัง และตัวอาคารเป็นขาว จนเป็นที่มาของชื่อชุมชน

มัสยิดบางหลวง
อรุณอมรินทร์
วัดกัลยาณ์
ธนบุรี
กรุงเทพมหานคร
10600
ชุมชนกุฎีขาว โทร. 09-8687-2756
13.738204201791355
100.48938583126157
กรุงเทพมหานคร

ชุมชนบางหลวง (กุฎีขาว) เป็นชุมชนเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี ตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสินครั้งกรุงธนบุรี กำเนิดมาจากหมู่บ้านเก่าแก่ของมุสลิม ชื่อหมู่บ้านบางหลวง อยู่บนฝั่งคลองบางหลวง (บางกอกใหญ่) ทางฝั่งทิศตะวันออก 

แต่เดิมชาวมุสลิมเหล่านั้นมีหลายเชื้อชาติ เช่น ญวณ เขมร อินเดีย เป็นส่วนหนึ่งของคนพื้นเมืองตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้มีมุสลิมต่างชาติเข้ามาค้าขายทางเรือเป็นมุสลิมนิกาย “ชีอะห์” ส่วนที่เป็นมุสลิมดั้งเดิมนิกาย “สุนนี” โดยที่ชาวกรุงศรีอยุธยาเรียกมุสลิมว่า “แขกแพ”

ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2  พระยาตากได้นำทหารส่วนหนึ่งตีแหกวงล้อมออกมา เพื่อรวมพลกอบกู้เอกราชที่เมืองจันทบุรี ในขณะเดียวกันมุสลิมก็เกรงกลัวข้าศึกที่กวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินเป็นการใหญ่ จึงอพยพหนีภัยสงครามลงมาทางใต้ด้วยเรือแพจนถึงปากคลองบางกอกน้อย ส่วนหนึ่งก็ปักหลักอยู่แถวปากคลองบางกอกน้อย อีกส่วนหนึ่งอยู่เรียงรายตามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแถว บางอ้อ บางพลัดและอีกส่วนหนึ่งเลยมาถึงคลองบางกอกใหญ่ ได้ปักหลักอยู่แถวปากคลองบนฝั่งทิศตะวันออก ตรงข้ามป้อมวิชัยประสิทธิ์ ที่มุสลิมนิกายสุนนีได้พักอาศัยอยู่อย่างถาวร เป็นหมู่บ้านบางหลวงและยังมีบางส่วนที่ปลูกเรือนแพอยู่ปากคลองริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อค้าขายเครื่องเทศ บ้างที่เรียกมุสลิมกลุ่มนี้ว่า “แขกแพ” 

ในช่วงเวลาที่พระยาตากทำสงครามกอบกู้เอกราชจากพม่า ชายชาวมุสลิมได้อาสาเข้าไปร่วมรบจำนวนมาก ทำให้ใน พ.ศ. 2310 พระยาตากได้กอบกู้เอกราชสำเร็จและปราบดาภิเษกเป็น “สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี” และย้ายเมืองหลวงไปที่เมืองธนบุรี ขุนนางมุสลิมสุนนีที่ไปรบได้รับพระราชทานยศเป็น “เจ้าพระยาจักรี” พระยาราชบังสัน ลดหลั่นกันไปเป็นจำนวนมาก และเมื่อเจ้าพระยาจักรีถึงแก่กรรม ศพก็ถูกฝังที่มัสยิดต้นสน (มัสยิดบางกอกใหญ่)

ตลอดรัชสมัยของพระเจ้าตากสินมหาราช ชาวมุสลิมที่อพยพมาจะพำนักอยู่ที่แพโดยตลอด ผู้ชายจะทำอาชีพประมงน้ำจืด ผู้หญิงทำขนมไทยและซื้อผลไม้ตามฤดูกาลพายเรือขายตามคลองต่างๆ 

พ.ศ. 2538 ในช่วงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแห่งราชวงศ์จักรี (รัชกาลที่ 1) ชาวมุสลิมทั้งชีอะห์และสุนนีที่อยู่แพคลองบางหลวง (คลองบางกอกใหญ่) เริ่มไปสร้างบ้านเรือนบนบก ฝั่งชะอะห์อยู่บนฝั่งเจริญพาศน์ ฝ่ายสุนนีอยู่บนฝั่งตรงข้ามวัดหงส์ ต่อมาเรียกกันว่า “หมู่บ้านบางหลวง” ในขณะนั้นได้มีการก่อสร้างมัสยิดถือปูนทรงไทยกลางหมู่บ้าน ในชื่อ “มัสยิดบางหลวง” แต่เนื่องด้วยตัวอาคารทาด้วยสีขาว จึงถูกเรียกว่า “กุฎีขาว” โดยมีพ่อค้ามุสลิมชื่อ “โต๊ะหยี” เป็นผู้รวบรวมสมัครพรรคพวกในการก่อสร้าง

ในเวลาต่อมา การเคหะแห่งชาติได้เริ่มก่อตั้งชุมชนและออกระเบียบว่าด้วยชุมชนแออัด พ.ศ.2525 ทำให้จากหมู่บ้านบางหลวงก็ได้เปลี่ยนไปเป็น “ชุมชนกุฎีขาว” จนถึงปัจจุบันนี้

ชุมชนบางหลวง (กุฎีขาว) มีภูมิประเทศเป็นเกาะที่ล้อมรอบด้วยน้ำ มีคลองล้อมรอบ เป็นหนึ่งในชุมชนย่านกะดงจีน ชุมชนมีพื้นที่ประมาณ 20 ไร่เศษ สมัยก่อนพื้นที่นี้ถูกน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี จนกระทั่งมีการสร้างประตูน้ำหลังวัดกัลยาณ์  ชุมชนจึงไม่น้ำท่วมอีกต่อไป

สภาพภูมิอากาศจะมีอากาศค่อนข้างร้อนชื้น มีฤดู 3 ฤดู อย่างเด่นชัด ได้แก่

  • ฤดูฝน อยู่ในช่วงเดือนกลางพฤษภาคม-ตุลาคม ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่านเข้ามาถึงก้นอ่าวไทยและมีฝนตกแผ่กระจายตามแนวร่องมรสุม ฝนจะตกมากในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 
  • ฤดูหนาว อยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม อากาศจะไม่หนาวเย็นมากเท่าภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะอยู่ใต้อากาศหนาวที่พัดมายังภาคเหนือ จะเริ่มมีลมเย็นพัดจากตอนบนไปตามลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งมีความกดอากาศสูงกว่าที่อ่าวไทย เรียกลมนี้ว่า “ลมข้าวเบา” หรือ “ลมว่าว”
  • ฤดูร้อน อยู่ในช่วงกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ช่วงกุมภาพันธ์ถึงเมษายนจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นและสูงกว่าอุณหภูมิเหนือพื้นน้ำอ่าวไทย จะมีลมพัดที่เรียกว่า “ลมตะเภา” พัดจากอ่าวไทยขึ้นไปตามลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยิ่งในเดือนเมษายนจะอุณหภูมิสูงสุด แต่ได้รับอิทธิจากลมทะเลที่พัดช่วงบ่ายถึงเย็นทำให้อุณหภูมิภาคกลางลดความรุนแรงลง

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ คลองโรงสี หลังวัดกัลยาณ์ และถนนอรุณอมริมทร์ (ตัดใหม่)
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ คลอมบุปผาราม ชุมชนโรงคราม
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ คลองขนมบูด เอกชน
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ คลองบางกอกใหญ่ วัดหงส์รัตนาราม

จากข้อมูลในวิทยานิพนธ์ “การธำรงชาติพันธ์มุสลิมในสังคม กรณีศึกษา: ชุมชนมัสยิดบางหลวง (กุฎีขาว) กรุงเทพฯ” (2549) นับเฉพาะประชากรในชุมชนกุฎีขาวมีทั้งหมด จำนวน 1,368  คน แบ่งออกเป็นประชากรชาย จำนวน 656 คน และประชากรหญิง จำนวน 712 คน มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 295 ครัวเรือน

ในอดีตประชากรส่วนใหญ่ร้อยละ 80 ของพื้นที่ จะเป็นคนมุสลิมที่มีบรรพบุรุษมาตั้งรกรากแต่เดิม นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาวจีน ชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธ อาศัยอยู่ปะปนในชุมชนทั้งที่อาศัยอยู่แต่เดิมและพึ่งมาอาศัยอยู่ในลักษณะบ้านเช่า 

จีน

องค์กรชุมชน

คณะกรรมการมัสยิด ในทุกชุมชนอิสลามจะต้องมีคณะกรรมการมัสยิดเป็นองค์การทางการเมืองหลังในการดูแลบริหารชุมชน ตามหลักผู้นำชุมชนตามหลักศาสนาอิสลามมีตำแหน่งอยู่ 3 ตำแหน่ง ได้แก่

  • อิหม่าม ผู้นำชุมชน นำละหมาด มีหน้าที่ในการนำการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ตามหลักศาสนา การอ่านคัมภีร์กุรอาน
  • คอเต็บ ทำหน้าที่บรรยายธรรม
  • บิหลั่น มีหน้าที่อะซานที่แปลว่า การประกาศให้รู้ถึงเวลาทำละหมาดแล้วหรือการเชิญชวนไปทำละหมาดที่เดียวกัน เมื่อถึงเวลาละหมาดแต่ละครั้ง

การคัดเลือกผู้นำและคณะกรรมการจะใช้การลงคะแนนเสียงของชาวบ้าน ทางเขตจะมาเป็นกรรมการควบคุมการลงคะแนน โดยกรรมการทั่วไปมีวาระครั้งละ 4 ปี ส่วนกรรมการหลักหรือผู้นำชุมชนทั้ง 3 ตำแหน่ง มีวาระตลอดชีพ 

ในอดีตที่ชุมชนกุฎีขาวยังเป็นหมู่บ้าน หน้าที่ของคณะกรรมการมัสยิดจะบริหารงานดูแลชุมชนเกือบแทบทุกด้าน โดยเฉพาะ 3 ตำแหน่งที่กล่าวมาข้างต้น แต่ในปัจจุบันที่จากหมู่บ้านกลายเป็นชุมชนไปแล้วนั้น คณะกรรมการมีหน้าที่เพียงการเป็นผู้นำกิจการทางศาสนาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น 

คณะกรรมการชุมชน เกิดจากการที่การเคหะแห่งชาติได้เริ่มก่อตั้งชุมชนและออกระเบียบว่าด้วยชุมชนแออัด พ.ศ.2525 มุ่งไปที่สลัมและหมู่บ้านทั่วกรุงเทพ 1 ปีต่อมาก็ให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุมชนนั้นๆ ครอบครัวละ 1 เสียง โดยเลือกผู้มีคะแนนมากอันดับ 1-9 เป็นมากรรมการชุมชนกุฎีขาว

พ.ศ. 2530 กทม.เข้ามาดำเนินการเพียงฝ่ายเดียวแทนการเคหะฯ และออกระเบียบว่าด้วยกรรมการชุมชน ดำเนินการให้ชุมชนกุฎีขาวเลือกกรรมการชุดใหม่ ที่มีวาระคราวละ 2 ปีจำนวนทั้ง 11 คน มีกฎให้ผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งและกรรมการ ต้องใช้ทะเบียนบ้านกับบัตรประชาชนในการลงคะแนน ด้วยการกาบัตรหย่อนลงหีบ

ภาระหน้าที่ของคณะกรรมการชุมชนคือ การแบ่งเบาภาระของคณะกรรมการมัสยิดที่คอยทำงานดูแลชุมชนครอบคลุมทุกด้านมาแต่เดิม โดยจะรับผิดชอบการจัดสรรงบอุปโภค-บริโภค ปัญหาน้ำประปา ไฟฟ้า เป็นต้น รวมถึงการติดต่อกับหน่วยงานราชการต่างๆ

แม้ทั้งคณะกรรมการมัสยิดและคณะกรรมการชุมชนจะช่วยในการร่วมมือร่วมใจในการร่วมกันจัดงานหรือดูแลงบประมาณในชุมชน เป็นต้น โดยการเปลี่ยนแปลงในชุมชนนั้นคณะกรรมการชุมชนต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการมัสยิดเสียก่อน บางครั้งเองรายชื่อสมาชิกจะซ้ำกันอยู่บ้างเพราะเป็นคนๆ เดียวกันอยู่ทั้ง 2 หน่วยงาน 

องค์กรและสมาคม

สมาคมชาวหมู่บ้านบางหลวงผู้บำเพ็ญประโยชน์ (ส.บ.ป.) หรือที่คนในชุมชนเรียกกันติดปากว่า “สมาคมบางหลวงฯ” แต่เดิมเคยเป็น “ชมรมลูกบางหลวง” มาก่อนและก่อตั้งในปี พ.ศ. 2517 โดยกลุ่มเด็กหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่รวมตัวกันเพื่อเป็นตัวกลางติดต่อกับหน่วยงานราชการเพื่อดูแลหมู่บ้าน แบ่งเบาภาระราชการ มีหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานดังกล่าว เพื่อแจ้งเหตุขัดข้องและร้องเรียนในเรื่องที่ต้องการความสะดวกจากทางราชการ ทว่าช่วงเวลานั้นยังไม่ได้รับการยอมรับเพราะเป็นเพียงชมรมติดต่อขอเบิกสิ่งต่างๆ ลำบาก จึงมีความคิดในการจัดตั้งสมาคมขึ้นและกลายเป็นสมาคมชาวหมู่บ้านบางหลวงผู้บำเพ็ญประโยชน์ในปี พ.ศ. 2520 

เริ่มแรกสมาคมมีกรรมการ 25-30 คน กำหนดเลือกตั้ง 2 ปีต่อครั้ง รับสมาชิกเฉพาะชาวมุสลิมเท่านั้น แต่การเข้ามาของเคหะสถานแห่งชาติที่เปลี่ยนจะหมู่บ้านบางหลวงไปเป็นชุมชนกุฎีขาว การมีส่วนสำคัญในชุมชนของสมาคมลดลงไปมาก เนื่องจากบทบาทของสมาคมไปซ้ำซ้อนกับคณะกรรมชุมชน ส่งผลให้ปัจจุบันสมาคมนี้ไม่มีบทบาทอะไรเลย เหลือเพียงแต่จ่ายรายได้ให้แก่ผู้เป็นสมาชิกยามป่วยไข้และเสียชีวิตเท่านั้น

มูลนิธิทองทศฯ มีชื่อเต็มว่า “มูลนิธิทองทศไวทยานนท์เพื่อการศึกษาและสาธารณประโยชน์” ก่อตั้งโดยนายสวง เซนสาส์น โดยได้รับความร่วมมือจากนายทวยเทพ ไวทยานนท์ และทุนจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จดทะเบียนในวันที่23 เมษายน 2540

จุดประสงค์นั้น เริ่มแรกเปิดเป็นสถานรับเลี้ยงเด็กบนที่ดินของนายทองทศ ไวทยานนท์ ณ ชุมชุมกุฎีขาว ต่อมาจึงมีการขยับขยายเนื้อที่ จนสร้างเป็นครั้งที่ 3 ได้มีการเปิดตัวตึกใหม่บนที่ดินกรมธนารักษ์ โดยได้ผู้แทนจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จแทนพระองค์มาทำพิธีเปิดและนำชื่อย่อของพระองค์มาติดแสดงบนยอดตึก

ปัจจุบันมูลนิธิกลายเป็นองค์กรอิสระเต็มตัว ไม่ขึ้นกับชุมชนกุฎีขาวอีกต่อไป แต่ก็ยังมีบทบาทกับทางชุมชนอยู่ มีโครงการหรืองานมากมายภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิ เช่น งานวันเด็กของชุมชนที่จะจัดกันที่มูลนิธิทองทศฯ โครงการกองทุนการศึกษาเด็กกำพร้าภายในชุมชนที่ไม่จำกัดศาสนา โครงการช่วยเหลือผู้พิการในลักษณะการช่วยเหลือค่าครองชีพเป็นรายเดือน และกองทุนบริจาคหีบศพที่ช่วยเหลือคนในครอบครัวชุมชนกุฎีขาวเมื่อถึงแก่กรรมที่มีฐานะยากจน เป็นต้น

พิธีประจำวัน

การละหมาด 5 เวลา คำว่า “ละหมาด” มาจากภาษาอาหรับว่า “อัศ-เศาะ-ลาต”  แปลว่า ดุอาห์หรือขอพร เป็นการแสดงความเคารพต่อพระอัลเลาะห์ทั้งกายทั้งจิตใจ โดยแบ่งการละหมาดเป็น 5 ช่วงเวลา คือ ตีห้า (สุโบ๊ะ) เที่ยงครึ่ง (ดูริ) บ่ายสามโมงครึ่ง (อัรชริ) หกโมงครึ่ง (มักฆริบ) และทุ่มครึ่ง (อิชา)

เมื่อถึงเวลาละหมาดแต่ละช่วงเวลา ชาวบ้านจะได้ยินเสียงอะซานจากบิหลั่นดังไปทั่วหมู่บ้าน เป็นสัญญาณในการเตรียมตัว โดยก่อนการละหมาด ชาวมุสลิมจะต้องอาบน้ำละหมาดเพื่อชำระร่างกายและใจให้บริสุทธิ์ และไม่ให้ชายหญิงถูกตัวกันเป็นอันขาด ในชุมชนนี้ฝ่ายหญิงจะอาบน้ำมาจากที่บ้าน ฝ่ายชายจะอาบน้ำจากที่บ้านหรือที่อาบน้ำละหมาดหลังมัสยิด

การละหมาดภายในมัสยิดบางหลวง ฝ่ายชายและหญิงจะแยกส่วนกัน โดยมีส่วนกั้นเป็นม่านสีเขียวระหว่างกลางโถงมัสยิด สาเหตุที่ต้องแยกละหมาดชาวบ้านเชื่อว่าเพื่อความเป็นสมาธิที่สุด เพราะท่าละหมาดบางท่าอาจไม่เรียบร้อย สมควรแยกส่วนกันจะได้มีจิตเป็นสมาธิมุ่งถึงแต่พระอัลเลาะห์องค์เดียวเท่านั้น โดยหันทิศไปทางเดียวกับมัสยิดอัลหะรอม ที่ตั้งของกะอุบะฮุในนครเมกกะ ซาอุดีอาระเบีย เพื่อความเป็นเอกภาพของชาวมุสลิม

นอกจากนี้ในช่วงก่อนการละหมาด เป็นช่วงเวลาที่ผู้คนในชุมชนหลั่งไหลเข้ามา มีโอกาสพบปะพูดคุยกันและแลกเปลี่ยนเรื่องราวกัน ทำให้ต่างฝ่ายต่างทราบข่าวสารซึ่งกันและกันได้

พิธีรอบปี

การถือศีลอด มาจากภาษาอาหรับว่า “อัศ-ศิยาม” การละ การงดเว้น การระงับยับยั้ง การถือศีลอดจึงหมายถึงการงดเว้นจากการบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม การร่วมสังวาส การรักษาอวัยวะทุกส่วนให้พ้นจากการทำชั่วทั้งทางกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ตั้งแต่ตอนที่แสงอาทิตย์ขึ้นถึงช่วงดวงอาทิตย์ตก ตลอดเดือนรอมฎอนตามหลักศาสนาอิสลาม การถือศีลอดหรือที่ชาวบ้านจะเรียกกันติดปากว่า “การถือบวช” มีจุดประสงค์เพื่อฝึกฝนมุสลิมให้กายวาจาใจอยู่ในความสำรวม เกิดความหนักแน่น อดทน และเสียสละ ทำให้มีโอกาสเข้าใจความรู้สึกและความหิวโหยของผู้ที่ยากจน เพื่อที่จะได้เกิดจิตใจที่เมตตาเผื่อแผ่ในการบริจาคแก่ผู้ที่เดือดร้อนและหิวโหย ในช่วงถือศีลอดจะเป็นช่วงเวลาพิเศษของปีที่ชาวบ้านชุมชนกุฎีขาวต้องปรับเปลี่ยนไปจากช่วงเวลาปกติ จะตื่นตอนตี 4 เพื่อกินช้าวก่อนเวลาตี 5 ในช่วงกลางคืนร้านค้าจะเปิดกันมาก บางร้านจะเปิดขายจนสว่าง

วันอิดิ้ลฟตรี (วันออกบวช) ชาวบ้านจะเรียกว่า “วันอีดเล็ก” เป็นวัดรวมญาติพี่น้องจากต่างถิ่น โดยจะเริ่มละหมาดในช่วงเช้ารับประทานอาหารที่ชาวบ้านจัดมาทำบุญร่วมกันเป็นมื้อแรกก่อนออกบวช จากนั้นจะแจก “ซะกาต” อาจเป็นเงิน ขนม หรือสิ่งของต่างๆ ให้กับเด็กทั้งมุสลิมทั้งพุทธในชุมชน  ส่วนคนมุสลิมอีกส่วนหนึ่งจะไปร่วมทำพิธีสวดให้กับคนตาย ญาติที่มาจากไกลๆ จะนำน้ำกับดอกไม้ไปรดหน้าหลุมศพผู้ตาย มีการขอให้พระเจ้าอภัยให้แก่บรรพบุรุษตน ถือว่าเป็นกิจกรรมพิเศษที่เกิดขึ้นเฉพาะคนมุสลิมชุมชนมัสยิดบางหลวงแห่งนี้โดยเฉพาะ

วันอิดิ้ลอัฎฮา (วันฉลองฮัจย์) เรียกสั้นๆ ว่า “วัดอีดใหญ่” แม้จะมีพิธีกรรมโดยรวมคล้ายกับวันอิดิ้ลฟตรี แต่วันนี้จะมีพิธีกรรมเชือดวัว “กุรบาร” เพื่อแจกให้กับชาวมุสลิมในชุมชนทุกคน โดยจะกระทำทุกวันที่ 10 เดือน 12 ตามปฏิทินอาหรับทุกปี 

ตามตำนานความเชื่อกล่าวว่า พระผู้เป็นเจ้าต้องการทดสอบความศรัทธาของนบีอิบรอฮีม จึงมาเข้าฝันเขาและให้นำลูกชายไปเชือดเป็นพลีบนยอดเขา ซึ่งนบีอิบรอฮีมก็ทำตามนั้น ทว่าก่อนที่เขาจะเชือดลูกชาย พระผู้เป็นเจ้าจึงได้เข้ามาห้ามและให้นำวัว แพะ และสัตว์อื่นๆ ตามบัญญัติมาเชือดเป็นพลีสำหรับพระองค์แทน

งานเมาลิดินนบี (งานเมาลิด) งานเฉลิมฉลองเนื่องในวันคล้ายวัดเกิดของท่านนบีมูฮัมหมัด แบ่งการจัดออกเป็น 2 แห่ง คือ

  • งานที่สวนอัมพร เป็นงานสรรเสริญนบีครั้งที่ยิ่งใหญ่ของคนมุสลิมที่จัดขึ้นในทุกปี มีคนมุสลิมจากทั่วทุกภาคเข้ามาออกร้านขายสินค้า ถือเป็นโอกาสนี้ในการพบปะผู้นำชุมชนจากมัสยิมต่างๆ ทั่วประเทศ
  • งานที่จัดในชุมชนกุฎีขาว จะจัดอยู่เยื้องๆ สวนอัมพรในทุปีตามที่คณะกรรมการชุมชนกำหนดขึ้น โดยมัสยิดเจ้าภาพจะส่งคำเชิญแขกจากมิสยิดที่อื่นๆ มาทำบุญทางศาสนาร่วมกันในมัสยิด

งานออกร้าน จะถูกกำหนดขึ้นโดยคณะกรรมการมัสยิด จะจัดขึ้นในทุกๆ มัสยิดเพื่อนำรายได้ที่จากงานนี้ไปทำการกุศลในการบรรลุวัตถุประสงค์ตามแต่ปีนั้นๆ เช่น เพื่อหาทุนซ่อมแซมมัสยิดหรือหาทุนเข้าสถาบันอิสลามให้แก่เด็กๆ ในแต่ละชุมชน เป็นต้น ในทุกปีจะมีการพิมพ์คูปองจำหน่ายให้คนในชุมชนและมัสยิดอื่นๆ เชิญให้มาเที่ยวงานด้วยกัน

ในชุมชนกุฎีขาว พวกเขาจะช่วยกันออกร้านค้าต่างๆ เพียงเฉพาะภายในชุมชนก็มีไม่ต่ำกว่าปีละ 40 ร้าน ขายจำพวกอาหารอิสลาม ลูกชิ้น ก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ ทั้งร้านค้าของคนในและคนนอกชุมชน จำนวนเงินทุนและรายได้ทั้งหมดนี้จะอุทิศให้แก่งานเพื่อการกุศล

งานกวนข้าวอาซุรอ บ้างเรียกว่า “งานบุญกวนข้าวบุโบร์” หรือ “งานกวนข้าวทิพย์” ตามตำนานเล่าว่า ในสมัยที่น้ำจะท่วมโลก “นบีน๊วะ” ได้รับสัญญาณจากพระเจ้าเกี่ยวกับน้ำจะท่วมโลก ให้ประกาศแก่ชาวโลกว่าจะต่อเรือลำใหญ่ บรรทุกคนและสัตว์ทุกชนิดทั้งตัวผู้ตัวเมียอย่างละคู่ไปด้วย จนกระทั่งเกิดน้ำท่วมโลกและน้ำก็ลดลง 

ในเรือมีทั้งไก่ เผือก มันทุกชนิด งาทุกชนิด มะพร้าว เหลืออยู่ในเรือมาก นบีน๊วะจึงนำไก่และถั่วงาทุกชนิดมากวนรวมเป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อให้แบ่งจะได้ทั่วๆ กันรวมถึงท่านศาสดาด้วย

งานนี้จัดขึ้นในเดือนมุฮัรรอนซึ่งถือเป็นวันปีใหม่ของคนมุสลิม คนมุสลิมในชุมชนกุฎีขาวจะมาช่วยลงแรงกันกวนส่วนประกอบอาหารที่ใส่ คือ เนื้อไก่ เผือก มันเทศ มันสำปะหลัง งา มะพร้าว ฯลฯ ลงรวมไปในกระทะใบใหญ่ กวนให้สุกจนแห้งเป็นเนื้อเดียวกัน โดยไม่มีใครบังคับให้กวนทีเดียวกันทั้งชุมชน ใครอยากมากวนก็มากวนได้ในระยะเวลาในเดือนดังกล่าว

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

มัสยิดบางหลวง (กุฎีขาว) มัสยิดนี้ก่อสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 สาเหตุเกิดจากมัสยิดบางกอกใหญ่มีแห่งเดียว การประกอบศาสนกิจสถานที่คงไม่พอ พ่อค้ามุสลิมชื่อ “โต๊ะหยี” จึงรวบรวมสมัครพรรคพวกในการก่อสร้างมัสยิดแห่งนี้ อาคารมัสยิดเป็นสถาปัตยกรรมก่ออิฐถือปูนขาวจึงเรียกว่า “กุฎีขาว” หรือมัสยิดบางหลวง

มัสยิดแห่งนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้ง มีการสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 เนื่องจากรูปแบบสถาปัตยกรรมคล้ายพระอุโบสถและพระวิหารทรงไทยซึ่งเป็นรูปแบบพระราชนิยมในสมัยนั้น 

โดยอาคารมีการประยุกต์และเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใช้สอยรวมถึงการประดับตกแต่งที่เหมาะสมและสอดคล้องกับท้องถิ่น ทำให้ที่นี่เป็นมัสยิดแห่งเดียวนับได้ว่าเป็น “มัสยิดก่ออิฐถือปูนแห่งเดียวในโลกที่เป็นทรงไทยทั้งหลัง” โดยไม่ทำตามพิมพ์นิยมมัสยิดทั่วไป ส่วนตัวอาคารที่เป็นปูนทาสีขาวล้วน ขณะที่ส่วนที่เป็นไม้ทาสีเขียว

มัสยิดตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก หันไปทางมัสยิดอัลหะรอม ที่ตั้งของกะอุบะฮุในนครเมกกะ ซาอุดีอาระเบีย บันไดทางขึ้นมีทั้ง 2 ข้างเป็นลวดลายศิลปไทยพลสิงห์และบังขั้น พื้นหน้ามุขปูด้วยกระเบื้องซีเมนต์

ภายในมีซุ้มประชุมทิศ (มิหร็อบ) และแท่นแสดงธรรมมาสน์ (มิมบัร) มีแผ่นไม้ที่แกะสลักโองการในพระคัมภีร์อัลกุรอานประดิษฐานเป็นภาษาอาหรับนูนลอยอยู่ภายในซุ้ม จนดูเป็นซุ้มวิมานก่ออิฐถือปูนปิดทอง ทำให้ส่วนด้านบนหรือหน้าบันทรงวิมาน 3 ยอด ผสมลวดลายปูนปั้นของศิลปะทั้ง 3 ชาติ ได้แก่ กรอบหน้าบันจากศิลป์ไทย เป็นเครื่องลำยองประดับห้ามลายไว้บนยอด ใบหน้าบันจากศิลป์ฝรั่ง เป็นปูนปั้นลายก้านแย่งใบฝรั่งเทศ และดอกเมาตาลจากศิลป์จีน นำมาประดับอยู่กรอบประตูและหน้าต่างทุกบานในมัสยิด

แท่นแสดงธรรมมาสน์ (มิมบัร)เคยมีการซ่อมแซมแทนของเดิมที่ชำรุดโดยเจ้าสัวพุก พ่อค้ามุสลิมชาวจีนต้นตระกูลพุกภิญโญ ตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 จนกลายเป็นอย่างที่กล่าวไปข้างต้น

แม้ว่าตัวอาคารจะสร้างเป็นทรงไทย แต่ผู้สร้างได้สอดแทรกหลักการทางศาสนาอิสลามไว้ด้วย สังเกตได้จากมีเสาค้ำยันชายพาไล จำนวน 30 ต้น เท่ากับบทบัญญัติในคัมภีร์อัลกุรอานทั้ง 30 บท ห้องละหมาดมี 12 หน้าต่าง 1 ประตู รวมเป็น 13 ช่อง เท่ากับกฎละหมาด 13 ข้อ และแบ่งพื้นที่แยกไว้สำหรับหญิงและชาย เนื่องจากห้ามละหมาดร่วมกัน ด้วยส่วนกั้นที่เป็นม่านสีเขียวระหว่างกลางโถงมัสยิด

มัสยิดแห่งนี้ถูกใช้ในงานหรือพิธีที่สำคัญของชุมชนกุฎีขาว เช่น การละหมาด เป็นต้น และด้วยสถาปัตยกรรมของมัสยิดที่เป็นทรงไทย ทำให้มีบางครั้งที่คนต่างถิ่นจะเข้าใจผิดว่าเป็นวัดไทยบ้าง

ภาษาที่มุสลิมในชุมชนกุฎีขาวใช้กันมีอยู่ 2 รูปแบบได้แก่

แบบแรก ภาษาไทยกลางที่ใช้ในชีวิตประจำวัน จะใช้ในการติดต่อสื่อสารกันระหว่างชุมชนหรือติดต่อกับหน่วยงานที่เป็นทางการภายนอก ซึ่งเป็นไปตามบริบทแวดล้อมในสังคมเมือง

แบบที่สอง ภาษาที่ใช้ในพิธีในพิธีกรรม แบ่งได้อีก 2 ลักษณะ คือ

  • ภาษาในพิธีกรรมที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นลักษณะคำศัพท์ที่ใช้เรียกในรูปแบบต่างๆ ของการประกอบศาสนกิจประจำวัน เช่น อะซาน ละหมาด เป็นต้น หรือคำศัพท์ทักทาย “สลาม” คำศพท์เรียกตำแหน่งผู้นำคณะกรรมการมัสยิด รวมทั้งวันสำคัญของศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่ชาวบ้านใช้ในชีวิตประจำวันหรือใช้ควบคู่ไปกับภาษาไทยกลาง
  • ภาษาที่ใช้ระหว่างช่วงพิธีกรรม คือบทอ่านในคัมภีร์กุรอานที่เป็นภาษาอาหรับ ซึ่งใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนาในโอกาสต่างๆ ผู้ที่อ่านนั้นจำเป็นต้องผ่านการเรียนศาสนามาแล้วเท่านั้นถึงจะอ่านได้ ซึ่งไม่ได้ถูกจำกัดไว้แค่เฉพาะในสถาบันสอนศาสนาประจำชุมชนเท่านั้น พ่อแม่ผู้รู้และเรียนมากสามารถอ่านให้ลูกฟังได้ด้วย


คณะกรรมการมัสยิดจะบริหารงานดูแลชุมชนเกือบแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะพิธีทางศาสนาหรือการอุปโภค-บริโภค เป็นต้น แต่หลังการเข้ามาของการเคหะแห่งชาติ ทำให้บทบาทของคณะกรรมการมัสยิดมีเพียงแต่การเป็นผู้นำทางศาสนาภายในชุมชนเท่านั้น ส่วนคณะกรรมการชุมชนจะเป็นผู้ประสานงาน ร่วมมือ และประชุมกับองค์กรภาครัฐ เช่น สำนักงานเขตธนบุรี และเอกชนในด้านการท่องเที่ยว จึงทำให้ชุมชนพัฒนาและเข้มแข็งขึ้น ทั้งยังมีการร่วมมือและมีส่วนร่วมกับชุมชนอื่นในแขวงวัดกัลยาณ์ในการพัฒนาเป็นไปได้ด้วยดี


สมัยก่อนที่แหล่งน้ำยังอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านในหมู่บ้านคลองหลวงจะทำอาชีพประมงน้ำจืด หรือที่เกี่ยวกับการทำอุปกรณ์ประมง ขายเครื่องเทศที่รับมาจากเรือใหญ่พ่อค้าชาวอินเดีย หรือเป็นช่างไม้ ส่วนผู้หญิงจะค้าขายขนมหรืออาหารในชุมชนเป็นส่วนใหญ่

ปัจจุบันวิถีชีวิตผู้คนในชุมชนกุฎีขาวเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อมีถนนอรุณอมรินทร์ตัดผ่าน การคมนาคมเข้า-ออกหมู่บ้านสะดวกขึ้น ผู้คนในชุมชนจะมีอาชีพค้าขายเน้นขายให้กับคนในชุมชน มีการรับจ้างทำริบบิ้นที่ใช้กับพวงมาลัยส่งไปขายที่ปากคลองตลาด รับจ้างเด็ดขั้วพริก รับทำขนมเทียนในวันตรุษจีนหรือสารทจีนหรือในวันสำคัญต่าง ๆ แม้จะมีอาชีพที่พวกเขาทำจะดูเป็นอาชีพที่ไม่เหมาะกับมุสลิมควรจะทำ แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่กลับเห็นว่าเป็นเรื่องการขายเพื่อความอยู่รอดและไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวแก่กัน

ส่วนกลุ่มคนที่ออกไปทำงานนอกชุมชนก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะระดับการคมนาคมและระดับการศึกษาของคนรุ่นใหม่ก้าวหน้าขึ้น เปิดโอกาสให้การเปิดโอกาสทางสังคมกว้างขึ้น จนคนในชุมชนต้องการให้บุตรหลานรุ่นใหม่ได้เรียนสูง ๆ เพื่อจะได้หางานดี ๆ เลี้ยงตัวเองได้ จนมีวัยรุ่นเรียนได้ระดับปริญญามีมากขึ้น

ขณะเดียวกันก็มีชาวอีสานอพยพเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ซึ่งโดยมากจะทำงานที่ปากคลองตลาด เช่น รับจ้างเข็นรถผัดหรือทำบายศรี อีกส่วนยังทำงานให้กับ กทม. อีกด้วย เป็นต้น จนเริ่มมีการสร้างบ้านเช่าให้คนมาเช่าอยู่อาศัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 โดยคนกลุ่มนี้จะอยู่รวมตัวกันเป็นสัดส่วนโดยเฉพาะบริเวณซอยด้านหลังระหว่างท่าน้ำสะพานยาวกับท่าน้ำกุฎีขาว

กลุ่มคนชาวอีสานในปัจจุบันถือเป็นสัดส่วนประชากรส่วนใหญ่พอสมควรในชุมชนกุฎีขาว เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรมุสลิม และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ขณะที่คนมุสลิมพื้นถิ่นเองก็มีสัดส่วนจำนวนประชากรในการครอบครองพื้นที่ในชุมชนลดลงจากอดีต จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น

ชุมชนกุฎีขาวเป็นหนึ่งในชุมชนแขวงวัดกัลยาณ์ และเป็นส่วนหนึ่งของย่านกะดีจีนที่เป็นย่านประวัติศาสตร์ที่มีความเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ประกอบด้วยชุมชนเล็ก ๆ 6 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนวัดกัลยาณ์ ชุมชนกุฎีจีน ชุมชนวัดประยุรวงศ์ ชุมชนบุปผาราม ชุมชนกุฎีขาว และชุมชนโรงคราม ซึ่งคงความหลากหลายทางมรดกวัฒนธรรมของ 3 ศาสนา 4 ความเชื่อ (พุทธเถรวาท พุทธมหายาน คริสต์ และมุสลิม) และอยู่ร่วมกันมาอย่างสงบสุขตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีจวบจนปัจจุบัน 

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล. (2562). มัสยิดบางหลวง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://readthecloud.co/bang-luang-mosque/

มุสลิมไทยโพสต์. (ม.ป.ป.). ประวัติของมัสยิดบางหลวง มัสยิดทรงไทยหนึ่งเดียวในโลก. (ม.ป.ป.). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://news.muslimthaipost.com/

วิภาวี พงษ์ปั่น. (2549). การธำรงชาติพันธ์มุสลิมในสังคม กรณีศึกษา: ชุมชนมัสยิดบางหลวง (กุฎีขาว) กรุงเทพฯ (วิทยานิพนธ์ ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต). กรุงเทพฯ. มหาวิทยาลัยศิลปากร. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก http://www.sure.su.ac.th/

ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (2555). มัสยิดบางหลวง (กุฎีขาว). (ออนไลน์). สืบสืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก http://www.m-culture.in.th/

สยาม ยิ้มบัว. (2558). การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยใช้ระบบภูมิสารสนเทศ กรณีศึกษาพื้นที่ชุมชนแขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร (งานวิจัย). (ออนไลน์). กรุงเทพฯ. มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรีสืบค้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก http://cms.dru.ac.th/

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา. (2550). บทสรุปสำหรับผู้บริหาร การศึกษาองค์ความรู้และแนงทางการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนย่านกุฎีจีนและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง เขตธนบุรี. (ออนไลน์). สืบสืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://culture.bsru.ac.th/