Advance search

ปากแม่น้ำเวฬุ

หมู่บ้านไร้แผ่นดิน,บ้านโรงไม้

ชุมชนตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตลุ่มน้ำโดยไม่ได้อยู่บนผืนแผ่นดิน ตั้งอยู่ที่ปากน้ำเวฬุที่เป็นน้ำกร่อย มีป่าชายเลนให้ล่องเรือเที่ยว ชมเหยี่ยวแดงที่หายากและหิ่งห้อย มีบริการที่พักโฮมสเตย์ และมีอาหารทะเลสดๆ ให้รับประทาน

หมู่ที่ 2
บ้านปากน้ำเวฬุ
บางชัน
ขลุง
จันทบุรี
ธนวิชญ์ ใจดี
12 พ.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
26 มิ.ย. 2023
ณัฐวุฒิ บัวคลี่
23 มิ.ย. 2023
ปากแม่น้ำเวฬุ
หมู่บ้านไร้แผ่นดิน,บ้านโรงไม้

ชุมชนที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 160 ปี กลุ่มคนกลุ่มแรกที่มาตั้งรกรากอยู่ในหมู่บ้านคือชาวจีน โดยการตั้งรกรากที่อยู่อาศัยของคนในชุมชนมีการตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตลุ่มน้ำ โดยไม่ได้อยู่บนผืนแผ่นดิน อาศัยอยู่ตามแนวของป่าโกงกางที่มีความอุดมสมบูรณ์ ตรงบริเวณปากแม่น้ำเวฬุ จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “หมู่บ้านไร้แผ่นดิน” 


ชุมชนตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตลุ่มน้ำโดยไม่ได้อยู่บนผืนแผ่นดิน ตั้งอยู่ที่ปากน้ำเวฬุที่เป็นน้ำกร่อย มีป่าชายเลนให้ล่องเรือเที่ยว ชมเหยี่ยวแดงที่หายากและหิ่งห้อย มีบริการที่พักโฮมสเตย์ และมีอาหารทะเลสดๆ ให้รับประทาน

บ้านปากน้ำเวฬุ
หมู่ที่ 2
บางชัน
ขลุง
จันทบุรี
22110
องค์การบริหารส่วนตำบลบางชัน โทร. 0-3946-0951
12.3278383935835
102.270675748586
เทศบาลตำบลบางชัน

ชุมชนปากน้ำเวฬุ หรือในอีกชื่อ “หมู่บ้านไร้แผ่นดิน”เป็นชุมชนที่มีประวัติความเป็นมายาวนานร้อยกว่าปี กลุ่มคนกลุ่มแรกที่มาตั้งรกรากอยู่ในหมู่บ้านคือ ชาวจีนที่อพยพมาเพื่อค้าขายในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2410 เมื่อผ่านมายังจันทบุรีจึงได้นำเรือหลบลมที่ปากน้ำเวฬุจนมีความคิดจะตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้ ส่งผลให้เกิดการผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมของไทยและจีนขึ้น

การพัฒนาการการตั้งถิ่นฐานชุมสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ยุค ได้แก่

ยุคแรก “บ้านโรงไม้” อันเป็นชื่อเดิมของชุมชนเนื่องจากมีป่าโกงกางขึ้นอยู่มา ต่อมาในปี พ.ศ.2514 รัฐเปิดสัมปทานให้มีการตัดไม้โกงกางในพื้นที่ลุ่มน้ำเวฬุ ชาวบ้านเมื่อตัดได้จะนำไม้มากองไว้ในบริเวณนี้เพื่อรอการเข้าเตาเผาถ่าน และชุมชนมีบทบาทเป็นโรงพักไม้ที่รอส่งไปขายยังต่างพื้นที่ จนเป็นที่มาของชื่อ “โรงไม้”

ยุคการประมงพื้นบ้าน เมื่อหมดระยะสัมปทาน ผู้คนที่เคยทำกินอยู่บริเวณนี้รวมถึงชาวจีน ที่ทำมาค้าขายติดต่อกันที่กรุงเทพและเคยมาหลบมรสุมที่นี่ จึงได้จับจองพื้นที่เพื่อตั้งรกรากและประกอบอาชีพประมงพื้นที่ เพราะเป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางทะเล มีสัตว์น้ำมากมาย ซึ่งในยุดนี้ที่ได้เปลี่ยนชื่อจากบ้านโรงไม้มาเป็น “บ้านปากน้ำเวฬุ” ที่เป็นชื่อที่รู้จักและแพร่หลายไปยังคนภายนอกชุมชน ทว่าชาวบ้านที่อาศัยอยู่ที่นี่มายาวนานยังคงเรียกชื่อชุมชนว่าบ้านโรงไม้อยู่ 

ต่อมาจนถึงยุคปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนจากเรียกว่าบ้านโรงไม้ เป็น “หมู่บ้านไร้แผ่นดิน” โดยคำว่า “ไร้แผ่นดิน” เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะการอยู่อาศัยของชุมชนที่อยู่ในเขตลุ่มน้ำและเชื้อชวนให้นักท่องเที่ยวเข้ามา จนเข้าสู่ยุคในการทำโฮมสเตย์ ทำให้ชาวบ้านทุกครัวเรือนเริ่มมีรายได้จากการทำงานเกี่ยวกับโฮมสเตย์จนถึงปัจจุบัน

พื้นที่ของชุมชนปากน้ำเวฬุเป็นพื้นที่ที่เกิดขึ้นบริเวณรอยต่อระหว่างสภาพแวดล้อมทางน้ำจืดและสภาพแวดล้อมแบบทะเล เป็นพื้นที่ลักษณะพิเศษที่เรียกว่า “ชะวากทะเล” มีลักษณะเด่นชัดคือปากน้ำกว้างและตอบแหลมเป็นรูปกรวย อันเกิดจากพื้นที่บริเวณปากน้ำเกิดการยุบตัวลงทะเล ด้วยการไหลเวียงของน้ำจืดและน้ำทะเล จึงส่งผลให้พื้นที่บริเวณนี้มีธาตุอาหารสำคัญมากมาย เหมาะสมต่อการเป็นแหล่งอาหารและแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด ปัจจุบันพื้นที่ตรงนี้ถูกจัดอยู่ในสถานะความสำคัญในฐานะเป็นเขตพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ

ลักษณะพื้นที่ของชุมชนบ้านปากน้ำเวฬุที่เป็นพื้นที่ชะวากทะเล มีลักษณะเกิดจากตะกอนทับถมตลอดเวลาจากการพัดปะทะของน้ำจืดน้ำเค็ม ทำให้บริเวณปากแม่น้ำเวฬุกว้างและตื้นและเกิดระบบนิเวศแบบหาดเลน ส่งผลให้ปริมาณสารอินทรีย์จำนวนมากทับถมกันในน้ำจนกลายเป็นน้ำกร่อยในบริเวณนี้ จึงส่งผลให้เกิดพืชพันธุ์เฉพาะในบริเวณ เช่น ต้นโกงกาง ต้นแสม ต้นจาก ต้นสะบูน เป็นต้น เกิดเป็นระบบนิเวศป่าชายเลนที่จำนวนชนิดพืชไม่มาก แต่ปริมาณพืชนั้นมีมาก ซึ่งช่วยให้บริเวณปากน้ำเวฬุมีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางทะเลที่สูงมาก

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลวังยาว อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลแสนตุ้ง ตำบลท่าโสม อำเภอเขาสมิง และตำบลบางปิด อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลบ่อ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ทะเลอ่าวไทย

จากข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 พบว่า ชุมชนปากน้ำเวฬุมีจำนวนประชากรทั้งหมด 1,008 คน แบ่งออกเป็นประชากรชาย จำนวน 538 คน และประชากรหญิง จำนวน 470 คน มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 523 ครัวเรือน โดยประชากรมี 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ คนไทยที่อาศัยอยู่ริมฝั่งน้ำกับกลุ่มคนจีนที่อพพยพมาจากแดนไกลและมาสืบเชื้อสายกับคนไทย

จีน
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

  • ประเพณีตรุษจีน เทศกาลวันปีใหม่ของชาวจีนตรงกับปฏิทินตามจันทรคติจีน ในวันที่ 1 เดือน 1 ตรงกับช่วงปลายเดือนมกราคม-กลางเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และชาวจีนเริ่มนิยมสักการะเทพเจ้า และบรรพบุรุษ เพื่อขอพรจากฟ้าดิน ให้พืชผลทางการเกษตรงอกงาม มีกิน มีใช้ ตลอดทั้งปี ของไหว้ตรุษจีนจะประกอบด้วยเนื้อสัตว์ 3 หรือ 5 อย่าง รวมถึงอาหารแห้ง, อาหารเจ, ผลไม้, ขนมมงคล และกระดาษเงินกระดาษทองเพื่อจำลองสิ่งมีค่ามอบให้กับบรรพบุรุษ ไม่นิยมใช้ของไหว้ที่มีสีดำ หรือสีขาว เพราะเป็นสีที่แสดงถึงความโศกเศร้า แล้วก็มีการมอบอั่งเปา เป็นซองสีแดงเป็นธรรมเนียมที่ชาวจีนนิยมมอบให้กันในเทศกาล โดยจะมอบให้กับเด็ก ๆ ที่กล่าวคำอวยพรให้แก่ผู้ใหญ่ เพื่อให้มีความสุขและสุขภาพยืนยาว ขณะที่บุตรหลานที่มีรายได้ สามารถใส่ซองอั่งเปาเพื่อมอบให้แก่ผู้ใหญ่ได้ เพื่อเป็นแสดงความกตัญญูที่ตอบแทนที่เลี้ยงและดูแลเรามา
  • ประเพณีแซยิก (วัดเกิดเจ้าพ่อปากน้ำเวฬุ) ตามภาษาจีนแต้จิ๋วคำว่า แซยิก แปลว่า วันเกิด เป็นประเพณีการทำบุญให้ผู้ใหญ่ที่มีอายุครบ 60 ปี ซึ่งในที่นี่จะเป็นการทำบุญในวันเกิดของเจ้าพ่อปากน้ำเวฬุ
  • ประเพณีเท่งอัน (ไหว้แก้บน) จะมีทุกวันที่ 28 พฤศจิกายนของทุกปี กิจกรรมวันแรกของงานจะมีการแสดงลิเกและวันที่สองจะมีกิจกรรมแห่เจ้ารอบคลอง
  • ประเพณีทิ้งกระจาด งานประจำปีที่ทำบุญทำทานให้แก่สัมภเวสีที่ถูกปล่อยจากยมโลกมารับส่วนบุญบนโลกมนุษย์ปีละครั้งตามความเชื่อและเป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติมายาวนาน เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติบรรพชนที่ล่วงลับไปแล้ว รวมทั้งวิญญาณไร้ญาติทั่วไป เป็นการเสริมส่งวิญญาณทั้งหลายให้ไปสู่สุคติ เพื่อความเป็นสิริมงคลของผู้ร่วมงาน และครอบครัว โดยจะจัดงานกันที่ศาลเจ้าของชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่ ประเพณีจะทำโดยการนำสิ่งของจำพวกข้าวสาร อาหารแห้ง และเครื่องอุปโภคบริโภค ที่จำเป็นจำนวนหลายพันถุงรวมมูลค่ามาแจกเป็นทานให้แก่ผู้ยากไร้คนละหนึ่งถุง นำไปบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ อีกทั้งเป็นการช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาส และพัฒนาจิตใจ เพื่อให้พร้อมที่จะเป็นผู้ให้

โดยประเพณีทั้งหมดนี้จะเกี่ยวข้องกับศาลเจ้าพ่อปากน้ำเวฬุทั้งหมด ขณะที่ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธ ชาวบ้านจะจัดในวันพระสำคัญหรือเทศกาลสำคัญต่าง ๆ อีกด้วย

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

ในอดีตชาวบ้านในพื้นที่จะประกอบอาชีพประมงและตัดไม้โกงกางเพื่อเผาถ่าน เนื่องจากบริเวณปากน้ำเวฬุห้อมล้อมไปด้วยน้ำกร่อยและป่าโกงกาง แต่ดินนั้นไม่สามารถเพาะปลูกอะไรได้เพราะเป็นดินป่าชายเลน นอกจากอาชีพประมงแล้ว ชาวบ้านยังประกอบอาชีพอื่น ๆ ด้วย ได้แก่ แปรรูปอาหารทะเล เรือรับจ้าง ร้านขายของชำ ร้านอาหารตามสั่ง ร้านรับซื้ออาหารทะเล เป็นต้น

ปัจจุบันการเกิดขึ้นของโฮมสเตย์ในชุมชนและกลายเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การประกอบอาชีพของชาวบ้านยิ่งหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับธุรกิจโฮมสเตย์ เช่น พนักงานบริการ แม่ครัว ช่างซ่อมบำรุง และช่างไฟ เนื่องจากโฮมสเตย์ขยายตัวขึ้นทุกปีเพื่อรองรับการมาของนักท่องเที่ยว ทำให้เกิดการจ้างงานมากยิ่งขึ้นที่ส่งผลต่อรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการมีสถานที่ท่องเที่ยวในชุมชน นอกจากอัตราการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ชาวบ้านกลุ่มที่ไม่ได้เข้ามาทำงานในโฮมสเตย์ ก็มีรายได้จากการขายของฝากอาหารทะเลแปรรูปโดยตรงไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้ได้กำไรมากกว่า

แม้สภาพเศรษฐกิจของชาวบ้านจะดีมากขึ้นจากธุรกิจท่องเที่ยวและโฮมสเตย์ ส่งผลให้ต่อคุณภาพชีวิตประชากรในพื้นที่ ทว่าก็นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและความเชื่อของชาวบ้านชุมชนปากน้ำเวฬุไปอย่างมาก ความเชื่อความศรัทธา ภูมิปัญญาและประเพณีของชุมชนมีแนวโน้มที่ลดลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่น่าเสียดายสำหรับชาวบ้านบางส่วน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ป่าชายเลนปากแม่น้ำเวฬุ (ป่าชายเลนท่าสอน)

ลักษณะพื้นที่ประกอบไปด้วยป่าชายเลน หาดเลน นากุ้ง คลองสาขา ภูเขา และพื้นที่สวน โดยป่าชายเลนตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อยู่ในความรับผิดชอบของสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 และสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 3 

ปัจจุบันสภาพป่าชายเลนมีความอุดมสมบูรณ์สูงและความหลากหลายทางชีวภาพสูง ทั้งพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ มีพืชพรรณหลากหลายชนิดที่ใช้เป็นยารักษาโรคและแหล่งอาหารได้ มีทรัพยากรสัตว์ทะเลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอย่างกุ้ง หอย ปู และปลา 

สิ่งมีชีวิตที่ใช้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนนี้คือ หิ่งห้อยและเหยี่ยวแดง โดยหิ่งห้อยมักอาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณน้ำสะอาดและมีระบบนิเวศสมบูรณ์ที่ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ถ้าที่อยู่อาศัยเปลี่ยนแปลงจะทำให้หิ่งห้อยปรับตัวไม่ทันและหายไปในที่สุด หากระบบนิเวศยังคงสมบูรณ์และคุณภาพน้ำยังดีอยู่ก็จะมีหิ่งห้อยอยู่ และการที่มีเหยี่ยวแดงปริมาณมากในบริเวณปากน้ำเวฬุ แสดงให้เห็นว่าพื้นที่นี้มีความอุดมสมบูรณ์พอที่ให้นกชนิดนี้เข้ามาอาศัยอยู่ได้ เนื่องจากผืนที่ป่าชายเลนกว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์

ภายในกิจกรรมท่องเที่ยวในป่าชายเลนปากแม่น้ำเวฬุ นอกจากจะนั่งเรือเที่ยวชมป่าชายเลนแล้ว ยังมี 2 กิจกรรมที่ถือเป็นจุดเด่นในการท่องเที่ยวที่ชุมชน ได้แก่

1) การชมเหยี่ยวแดงที่บ้านท่าสอน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลนบริเวณริมแม่น้ำเวฬุ ใกล้กับแนวแบ่งเขตระหว่างจังหวัดจันทบุรีกับจังหวัดตราด ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่หาดูได้ยาก เพราะเหยี่ยวแดงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่แทบจะไม่มีให้เห็นในธรรมชาติแล้ว และจำเป็นต้องนั่งเรือไปชมเท่านั้น

โดยทั่วไปแล้วเหยี่ยวแดงจะบินจากรังออกไปหากินแต่เช้า และกลับรังในช่วง 4-5 โมงเย็น จุดที่ชมเหยี่ยวแดงเป็นบริเวณที่อยู่ใกล้รัง มีลักษณะเหมือนบึงกว้าง เป็นแอ่งน้ำที่ถูกโอบล้อมด้วยป่าโกงกางที่เป็นที่อยู่อาศัยของนกเหยี่ยวแดงประจำถิ่น เมื่อเรือไปถึงจะมีจุดให้เดินขึ้นไปยืนบนฝั่งที่เป็นเนินดิน เพื่อรอชมเหยี่ยวในเวลาดังกล่าวของทุกวัน จะมีชาวบ้านนำปลาตัวเล็ก มาให้อาหารเหยี่ยว โดยโยนไว้กลางแอ่งน้ำ เมื่อฝูงเหยี่ยวแดงออกมา จะบินวนอยู่เหนืออาหารก่อน แล้วจึงผลัดกันลงโฉบเหยื่อจากผิวน้ำ แล้วนำขึ้นไปกินบนยอดไม้

2) การเดินชมหิ่งห้อย จะต้องเข้าไปจอดรถในเขตสถานีพัฒนาทรัพยากรฯ จากนั้นจะต้องเดินหรือขี่จักรยานตามทางถนนลาดยางเข้าไป จากนั้นจะเป็นเส้นทางปูนที่ต้องเดินเข้าไปในป่าชายเลน จะได้เห็นหิ่งห้อยเกาะตามยอดไม้ ส่องแสงระยิบระยับ ซึ่งเป็นหิ่งห้อยทะเลที่อาศัยอยู่ตามป่าชายเลนริมทะเล

นอกจากนี้บริเวณปากน้ำแม่น้ำเวฬุ อยู่ห่างจากหมู่บ้านไร้แผ่นดินไม่มากนัก ยังมีปรากฏการณ์ธรรมชาติ “ทะเลแหวก” ที่เกิดจากการทับถมของเปลือกหอยและทรายที่ทับถมกันบริเวณปากแม่น้ำในยามที่น้ำทะเลลด ซึ่งน้ำจะไหลออกทะเลจะพัดพาเอาเม็ดทรายมาบรรจบกันไว้ ทำให้มองเห็นเป็นสันทรายทอดตัวเป็นแนวยาวเชื่อมต่อถึงกันโดยมีความยาวประมาณ 700 เมตร และมีความพิเศษตรงที่หาดทรายของที่นี่จะเป็นสีดำ ซึ่งไม่ได้เกิดจากความสกปรกแต่อย่างใด

ศาลเจ้าพ่อปากน้ำเวฬุ

ศาลจีนที่ตั้งบริเวณปากคลองบังชันใหญ่ที่มีความเป็นมาคู่กับชุมชนปากน้ำเวฬุ ถูกสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2401 โดยชาวจีนที่มาตั้งถิ่นฐานที่ย่านปากน้ำเวฬุได้ร่วมมือในการสร้าง เดิมทีศาลเจ้านี้ก่อสร้างด้วยไม้ทั้งหมดและเป็นที่สักการบูชาของผู้คนในชุมชนมาอย่างยาวนานประมาณ 100 ปี 

การบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งที่ 1 ได้เริ่มขึ้นเมื่อศาลเริ่มมีสภาพเสียหายผุพังไปตามกาลเวลา โดยการซ่อมแซมนั้นยังคงใช้ไม้ในการก่อสร้างและยังเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านเป็นเวลาอีก 40 ปี จนกระทั่งการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งที่ 2 ที่เปลี่ยนจากการใช้ไม้มาเป็นการใช้ปูนและอิฐเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับโครงสร้างของศาลเจ้าให้แข็งแรงยิ่งขึ้น ปัจจุบันอาคารแห่งนี้มีอายุ 20 กว่าปี

ศาลเจ้าแห่งนี้ยังคงเป็นสถานที่สำคัญกับชาวบ้านในชุมชนในฐานะแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจและศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน เนื่องจากชาวบ้านเหล่านี้ล้วนสืบเชื้อสายมาจากชาวจีนและเป็นสถานที่สร้างขวัญกำลังใจในการประกอบอาชีพโดยเฉพาะอาชีพประมง ที่เป็นอาชีพหลักของชุมชนมาอย่างยาวนานและต้องเสี่ยงอันตรายในการฝ่าคลื่นลมคลื่นฝน ทุกครั้งที่จะทำการประมงชาวบ้านจะจะไหว้หรือขอพรก่อนทุกครั้ง นอกจากนี้ชาวบ้านยังขอพรให้โชคให้ลาภและความปลอดภัย หรือขอพรเรื่องสุขภาพร่างกายแข็งแรง หายเจ็บไข้ได้ป่วยอีกด้วย

วัดบางชัน

มีชื่อเดิมว่า “วัดอรัญสมุทธาราม” เป็นวัดสำคัญของชุมชนปากน้ำเวฬุและบริเวณโดยรอบ โดยวัดบางชันเป็นวัดโบราณวัดหนึ่งในอำเภอขลุงที่ก่อตั้งครั้งในฐานะสำนักสงฆ์ในปี พ.ศ.2412 ก่อนที่จะได้รับการอนุญาตก่อตั้งเป็น  ในปี พ.ศ.2441 โดยชื่อเดิมของวัดมาจากคำว่า “อรัญสมุท” หมายถึงป่าและน้ำ ส่วนคำว่า “ธาราม” หมายถึงที่อยู่สบาย 

หลักฐานสำคัญที่แสดงถึงการตั้งวัด คือ ลายพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ในใบวิสุงคามสีมา โดยชาวจีนที่มีชื่อว่า เจ๊กลี่เหม็ง ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.2441 และได้ทูลขอพระราชทานใบวิสุงคามสีมาเพื่อสร้างพระอุโบสถวัดอรัญสมุทธาราม ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานชื่อวัดและจารึกลายพระหัตถ์ไว้บนใบวิสุงคามสีมา จนกระทั่งต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดบางชัน” เพราะต้องการให้ตรงกับชื่อหมู่บ้านและตำบลบางชัน

พื้นที่ของวัดบางชัยถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีเนื้อที่กว้างขวางมากที่สุดในชุมชนปากน้ำเวฬุ ตั้งแต่ลานวัดที่ติดอยู่กับริมคลองบางชันใหญ่ไปจนสุดหลังวัดที่ติดกับเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน นอกจากจะมีอุโบสถของวัดที่โดดเด่นแล้ว ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์ประจำชุมชนที่เก็บรวบรวมของหายากและของล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นซากสัตว์ที่เคยพบได้ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเวฬุ หอยต่างๆ ที่จัดแสดงไว้ในตู้กระจก แล้วยังมีของโบราณอย่างเรือเก่าที่ถูกขุดพบและลายพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ในใบวิสุงคามสีมา

สมัยก่อนชุมชนเคยมีการตักบาตรทางเรือเนื่องจากสมัยนั้นบ้านของชาวบ้านอยู่ห่างกันมากและไม่มีทางเดิมเชื่อมซึ่งกันและกัน ต้องไปมาหาสู่กันด้วยเรือเท่านั้น ทำให้การตักบาตรในช่วงเช้า พระต้องบินบาตรด้วยน้ำโดยพายเรือไปตามบ้านทั้ง 2 ฝั่งคลองบางชันใหญ่ แต่เมื่อชุมชนเจริญขึ้นและมีการสร้างทางเดินเชื่อมที่สะดวกสบายขึ้น ทำให้ปัจจุบันไม่มีการตั้งบาตรทางเรืออีกต่อไป เหลือเพียงการตักบาตรทางน้ำบริเวณปากน้ำเวฬุฝั่งซ้าย (ฝั่งเดียวกับวัดบางชัน) เท่านั้น

ปัจจุบันเป็นหนึ่งในวัดสำคัญในการประกอบกิจกรรมทางศาสนาต่างๆ ของชาวบ้านตั้งแต่งานบุญยันงานศพ และพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ อีกทั้งยังมีท่านพระครูรังสรรค์วิหารคุณ (ประทีป ปญฺญาโภ) เจ้าอาวาสวัดบางชันที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน และอยู่คู่กับวัดมาอย่างยาวนาน

อาหาร

สมัยก่อนชาวบ้านปากน้ำเวฬุมีฐานะยากจนและประกอบอาชีพประมงเลี้ยงชีพเท่านั้น ชาวบ้านจึงต้องกินอาหารทะเลเพียงอย่างเดียว ด้วยความที่อาหารทะเลไม่สามารถคงอยู่ได้นาน ชาวบ้านจึงคิดค้นภูมิปัญญาการถนอมอาหารเพื่อยืดอายุอาหารทะเล นำไปใช้ในการบริโภคหรือส่งออกไปขายก็ได้ ซึ่งอาหารที่เกิดจากการถนอมอาหารนั้นมีหลายประเภทมาก ดังนี้

กุ้งแห้ง มักจะพบได้ตามบ้านหรือร้านค้าในชุมชนปากน้ำเวฬุที่ส่วนใหญ่มีไว้ติดครัว กุ้งแห้งของชุมชนนี้จะจับมาจากป่าชายเลน แล้วกุ้งขนาดเล็กที่จับได้มาแปรรูปด้วยวิธีธรรมชาติ ตั้งแต่นึ่งกุ้งให้สุกก่อนนำไปตากแดดให้กุ้งแห้งกรอบ แต่ทำให้เนื้อกุ้งหดลงไปด้วย

ปัจจุบันกุ้งแห้งเป็นสินค้าประเภทหนึ่งที่สำคัญของชุมชนปากน้ำเวฬุ เนื่องจากกุ้งแห้งมีความหอมอร่อยและไร้สารเคมีเจือปน นอกจากจะสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมากแล้ว ยังสามารถต่อยอดเป็นน้ำพริกกุ้งแห้งที่เป็นสูตรเฉพาะของที่นี่ได้อีกด้วย

กุ้งต้มหวาน หนึ่งในอาหารที่หาซื้อค่อนข้างยาก มีสูตรการทำที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษจนปัจจุบันมีการอนุรักษ์สูตรกุ้งหวานไว้ โดยใช้กุ้งที่จับมาจากปากน้ำเวฬุ กุ้งต้มหวานที่นี่มีความสดและด้วยสูตรลับเฉพาะของชุมชน ทำให้กุ้งหวานของชุมชนแห่งนี้มีรสชาติอร่อย กลมกล่อม และมีเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่เหมือนใคร นอกจากจะนำมารับประทานในครัวเรือนแล้ว ยังนำมาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่รายได้ให้กับชาวบ้านอีกด้วย

กะปิบ้านไร้แผ่นดิน ในการทำประมงช่วงเดือนพฤศจิกายน-เดือนธันวาคม ชาวบ้านจะจับ “เคยยก” ได้เป็นจำนวนมากและนำมันมาทำกะปิ เพราะมีความสะอาดและสดกว่า “เคยกาง”  โดยจะนำมันมาล้างทำความสะอาด ก่อนจะนำมาหมักกับเกลือสมุทร หลังจากหมักเสร็จก็จะนำไปตากเปียก ซึ่งการตากเปียกหรือนำไปตากกับผืนผ้าพลาสติก เพื่อให้น้ำในเคยกับเกลือสมุทรที่หมักยังคงอยู่เพื่อคงรสชาติและกลิ่นของกะปิไว้ แล้วจะนำไปตากแดดหลายวันก่อนจะเอามาบดให้ละเอียดในภาชนะปิด ก็จะได้กะปิบ้านไร้แผ่นดินที่มีความหอม อร่อยและรสชาติดีไม่เหมือนใคร 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เดิมทีวิถีชีวิตของชาวบ้านชุมชนปากน้ำเวฬุจะประกอบอาชีพประมงและตัดไม้โกงกางเพื่อเผาถ่าน ในช่วงที่รัฐเปิดสัมปทานตัดไม้โกงกางช่วง พ.ศ.2514 จนมีผู้คนเข้ามาเป็นจำนวนมากและได้ชื่อชุมชนว่า “บ้านโรงไม้” ซึ่งผู้รับสัมปทานนั้นต้องดำเนินการปลูกป่าชายเลนทดแทนให้เต็มพื้นที่ในแนวตัดฟันไม้ที่ทำไม้ออกทั้งหมด แล้วยังต้องดำเนินการปลูกป่าเขตสัมปทานตามวิธีการที่กรมป่าไม้กำหนดอีกภายในวงเงิน 3 เท่าค่าภาคหลวง พร้อมทั้งขุดแพรกหรือการขุดร่องน้ำขนาดตื้น เพื่อช่วยเหลือการเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้ป่าชายเลนที่ปลูกอีกด้วย

ทว่าหลังยุคสัมปทาน ผู้คนล้มเลิกสัมปาทานเผาถ่านและเริ่มจับจองพื้นที่เพื่อตั้งรกรากและทำการประมงในพื้นที่ เนื่องด้วยชุมชนประกอบไปด้วยครัวเรือนขนาดเล็ก การประมงจึงเป็นประมงชายฝั่งหรือประมงพื้นบ้านโดยใช้เรือพื้นบ้าน โดยเครื่องมือประมงที่ชาวบ้านใช้จะเป็นโพงพาง หลักลอย หลักเคย ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ 

การทำประมงจะทำในช่วงที่มีกระแสน้ำไหลแรงที่บริเวณปากแม่น้ำ ช่วงน้ำไหลลง และในทะเลใกล้ปากแม่น้ำช่วงน้ำไหลขึ้น รอเวลาให้สัตว์น้ำถูกกระแสน้ำพัดพาเข้าไปในถุงอวน จึงดึงอวนขึ้น สัตว์น้ำที่จับได้ได้แก่ เคย นอกจากการจับเคยมาเพื่อแปรรูปแล้วยังมีสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ อาทิ ปูก้ามกราม กุ้งลายเสือ เป็นต้น นอกจากนี้ชาวบ้านยังหันไปทำนากุ้งเพิ่มขึ้นในช่วงที่การเลี้ยงกุ้งได้รายได้ดี

ในช่วงทศวรรษหลังประมาณช่วง พ.ศ. 2557 ได้มีผู้ริเริ่มปรับบ้านให้เป็นที่พักแบบโฮมสเตย์ขึ้น เพราะมีชาวบ้านในชุมชนมีโอกาสไปเที่ยวโฮมสเตย์ที่อื่นแล้วมาบอกเล่าให้คนในชุมชน จนเกิดการรวมกลุ่มกันและเริ่มมีโฮมสเตย์ขึ้น โดยโฮมสเตย์ที่แรกชุมชนปากน้ำเวฬุ คือ บางชันแฮปปี้โฮมสเตย์

ทว่าในช่วงแรกของการทำโฮมสเตย์นั้นมีปัญหาเนื่องจากทหารให้ทำประมงเพียงอย่างเดียวเพราะเป็นกฎที่ตั้งไว้ เพราะพื้นที่ป่าชายเลนของชุมชนเป็นเขตป่าสงวน ชาวบ้านจึงพยายามขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่น แต่ก็ไม่มีหน่วยงานไหนให้ทำโฮมสเตย์หรือธุรกิจบนพื้นที่ป่าสงวนได้ ต่อมาภายหลังชาวบ้านจึงรวมกลุ่มกันเพื่อวางแผน สร้างแบบแปลนการใช้พื้นที่เพื่อสร้างเป็นโฮมสเตย์จนในที่สุดก็ได้รับการอนุมัติให้จัดตั้งโฮมสเตย์ขึ้น ในช่วงยุคแรกของการทำโฮมสเตย์เป็นไปได้อย่างยากลำบาก เพราะพื้นที่ปากน้ำเวฬุยังไม่ค่อยมีใครรู้จักจากการสื่อสารและการคมนาคมที่ไม่สะดวกเท่าปัจจุบัน อีกทั้งทุนที่ใช้ในการก่อสร้างโฮมสเตย์มีราคาสูงมาก จากการที่พื้นที่ชุมชนถูกล้อมไปด้วยน้ำทะเล การขนส่งเข้าถึงได้ลำบาก การตอกเสาเข็มอาคารก็ทำได้ยาก เนื่องจากดินในบริเวณไม่เหมือนกับดินบนบก ส่งผลต่ออัตราค่าใช้จ่ายมีราคาสูงกว่าบนบกถึง 2-3 เท่า ชาวบ้านจึงมองว่าการทำโฮมสเตย์ไม่น่าจะไปรอดได้ ถึงกระนั้นก็มีเจ้าของคนอื่นเข้ามาทำธุรกิจโฮมสเตย์ ได้แก่ทะเลดาวโฮมสเตย์ มุมทะเลจันท์โฮมสเตย์ ทะเลงามโฮมสเตย์ และล่องเลโฮมสเตย์ เพราะเล็งเห็นถือโอกาสในการเติบโตของธุรกิจอยู่

ในช่วงปี พ.ศ. 2557-2559 โฮมสเตย์จะใช้รับนักท่องเที่ยวเข้ามานอนพักผ่อนเพียงอย่างเดียว ไม่มีกิจกรรมอื่นๆ เหมือนปัจจุบัน และต้องใช้การประชาสัมพันธ์ผ่านกนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางชันหรือการบอกต่อของนักท่องเที่ยว หรือจะผ่านใบปลิว ช่วงระหว่างนั้นจำนวนนักท่องเที่ยวมีไม่มากเท่าที่ควร จึงมีโฮมสเตย์บางแห่งปิดตัวลงไป

แต่เพราะชาวบ้านยังคงเล็งเห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ชุมชนให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำให้ชาวบ้านในชุมชนเลือกที่จะไม่ยอมแพ้ พยายามหาหนทางที่จะทำให้โฮมสเตย์ในชุมชนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ในจังหวัดจันทบุรี โดยใช้ช่องทางการประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพที่สุดในช่วงนั้นคือ การโฆษณาผ่านโทรทัศน์ ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นและเกิดการรับรู้ของคนภายนอกเพิ่มมากขึ้นด้วย

การมีอยู่ของโฮมสเตย์ นอกจากจะต่อลมหายใจให้กับชุมชนแล้ว ยังลบทัศนคติในแง่ลบเกี่ยวกับโฮมสเตย์ของชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่ และมีบทบาทสำคัญต่อชุมชนมากขึ้น

เมื่อถึงช่วงปี พ.ศ. 2559 ถึงปัจจุบัน ก็เข้าสู่ช่วงที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง โฮมสเตย์ในชุมชนได้มีกิจกรรมให้อย่างลองแพเปียกเพิ่มเข้ามา และยังพบกิจกรรมแลนด์มาร์คอย่าง “การชมเหยี่ยวแดง” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมยอดนิยมของนักท่องเที่ยว

การเกิดของกิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยวชุมชนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย จึงเกิดโฮมสเตย์แห่งใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเพียงพอต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในชุมชน สะท้อนการเจริญเติบโตและการพัฒนาของธุรกิจโฮมสเตย์ภายในชุมชนที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด อีกทั้งยังทำให้วัยรุ่นไปจนถึงผู้สูงอายุในชุมชนที่ไม่มีงานทำกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตามชาวบ้านก็ยังคงทำอาชีพประมงออกหาสัตว์ทะเลหรือทำนากุ้งต่อไป เนื่องจากอาชีพประมงถือเป็น “หม้อข้าว” ของชุมชนปากน้ำเวฬุที่ไม่สามารถละทิ้งไปได้ บางส่วนก็ริเริ่มแปรรูปผลิตผลทางทะเล เช่น กุ้งแห้ง กุ้งต้มหวาน กะปิ หมึกแห้ง ปลาเค็ม เพื่อขายเป็นสินค้าท้องถิ่นให้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามายังหมู่บ้านอีกด้วย


การประกอบชีพประมงและอาชีพที่เกี่ยวกับโฮมสเตย์นั้นก็เป็นดาบสองคม เนื่องด้วยแนวทางในการจัดการท่องเที่ยวของหมู่บ้านเป็นไปในทิศทางเดียวกันในหลักใหญ่ๆ เรื่องมาตรฐานความสะอาดของห้องพักและภายในโฮมสเตย์ อัธยาศัย การบริการ คุณภาพของอาหารและรสชาติ ซึ่งโฮมสเตย์ทุกแห่งนั้นเน้นไปที่อาหารทะเลที่เติมได้ไม่อั้นโดยเฉพาะปู เติมได้ตลอดเวลา 2 ชั่วโมง

ด้วยแนวทางที่กล่าวไปข้างต้น มีส่วนให้เกิดปัญหาเรื่องทรัพยากรธรรมชาติรอบชุมชนลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสัตว์น้ำที่บางชนิดใกล้สูญพันธ์หรือสูญพันธุ์ไปแล้ว เช่น ปลาหมอทะเล ปลาไหลทะเล ปูแป้น หรือปูดำที่กำลังลดลงอย่างรวดเร็วจากการท่องเที่ยว อีกทั้งในช่วง 20 กว่าปีก่อน ป่าชายเลนได้รับความเสียหายจากการบุกรุกถางป่าของกลุ่มนายทุนและชาวบ้านนำมาทำเป็นบ่อเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลา ทำนากุ้ง

ทว่าในช่วงปี พ.ศ. 2558 กฟผ. (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) ร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ตั้งใจจะพลิกฟื้นผืนป่าชายเลนแห่งนี้ให้กลับมาเขียวขจีขึ้นใหม่ จากที่เริ่มต้นปลูกป่า 1,000 ไร่ ก็ได้ขยายเป็น 6,540 ไร่ เมื่อปี พ.ศ.2565 ป่าชายเลนปากน้ำเวฬุจึงมีระบบนิเวศสมบูรณ์ขึ้น ส่งผลต่อสัตว์น้ำที่มีชนิดพันธุ์หลากหลายและมีปริมาณที่เพิ่มขึ้น จากการกลายเป็นแหล่งอนุบาลของสัตว์น้ำตัวอ่อนที่เข้ามาอาศัยร่มเงาและหาอาหาร

ไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น การที่มีนักท่องเที่ยวมากขึ้นยังก่อเกิดปัญหาเรื่องการจัดการขยะเพิ่มมากขึ้นจนล้นไม่มีที่ทิ้งขยะ บางคนก็เทขยะลงแหล่งน้ำ ขณะที่ในชุมชนปากน้ำเวฬุเองก็มีปัญหาที่ทุกครัวเรือนต้องซื้อน้ำจืดราคาแพงจากเรือขนน้ำ เพราะน้ำกร่อยและน้ำเค็มไม่สามารถอุปโภค-บริโภคได้ การกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ได้เพียงพอในช่วงฤดูฝนเท่านั้น

เพราะฉะนั้นสิ่งที่คนในชุมชนจะทำได้คือการประสานงานกับภาครัฐ กำหนดยุทธศาสตร์แผนการท่องเที่ยวระยะยาวโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ออกแบบแผนจัดการขยะ สนับสนุนงบประมาณ เพื่อสนับสนุนโครงการธนาคารปูดำ สนับสนุนการมีจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมทั้งชาวบ้านและนักท่องเที่ยว จัดสร้างแหล่งกักเก็บน้ำจืดให้เพียงพอความต้องการของชาวบ้าน รวมถึงเพิ่มความดูแลในด้านสาธารณูปโภค เพื่อให้แน่ใจว่าชุมชนบ้านปากน้ำเวฬุยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยังคงรักษาระบบนิเวศที่ดีต่อไปได้

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากร. (ออนไลน์).  สืบค้นเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://stat.bora.dopa.go.th/

กิรตา ทับทิมงาม. (2564). “การกลายมาเป็นเจ้าของโฮมสเตย์ของชาวบ้านชุมชนปากน้ำเวฬุ”: การศึกษาการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีพของชุมชนปากน้ำเวฬุอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี (ภาคนิพนธ์ ศิลปศาสตรบัณฑิต). กรุงเทพฯ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. เข้าถึงได้จาก https://km-ir.arts.tu.ac.th/

คืนชีพป่าชายเลน ผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์แห่งปากแม่น้ำเวฬุ ผลสำเร็จงานปลูกป่า กฟผ. (2562). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.egat.co.th/egattoday/

เที่ยวทะเลแหวก. (ม.ป.ป.). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.banbangchan-homestay.com/

บ้านปากน้ำเวฬุ หมู่ ๒ ตำบลบางชัน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี “ล่องแพเปียก กินปู ดูเหยี่ยว เที่ยวหมู่บ้านไร้แผ่นดิน”. (2561). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://th.postupnews.com/

ประวัติวันตรุษจีน มีความสำคัญ ความเชื่ออย่างไร พร้อมคำอวยพรดีๆ. (2565). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.thairath.co.th/

ผู้จัดการออนไลน์ (นามแฝง). (2565). “โกงกาง” ยังแผ่รากกว้างที่ลุ่มน้ำเวฬุ มหัศจรรย์ของการเติบโตและค้ำจุนระบบนิเวศ ชวนพญาวิหคกลับคืนถิ่น. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 14พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://mgronline.com/

สปัน ธเนศผาสุข และวิทยา จิตนุพงศ์. (2563). ประสิทธิผลในการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างยั่งยืน กรณีศึกษา บ้านปากน้ำเวฬุ ตำบลบางชัน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก http://www.pol.ru.ac.th/

สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 ท่าสอน จันทบุรี. (ม.ป.ป.). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 14พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.ceediz.com/

Asd_Somsak (นามแฝง). (2560). ไปสัมผัสวิถีชุมชน คนไร้แผ่นดิน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 14พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.thetrippacker.com/

MGR Online. (2561). “หมู่บ้านไร้แผ่นดิน ถิ่นเหยี่ยวแดง” สีสันท่องเที่ยวตะวันออก. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://mgronline.com/