เป็นชุมชนย่านการค้าเก่าแก่ที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่โดยรอบบริเวณสถานรีรถไฟบางสะพานน้อย มีวัดคลองน้ำเค็ม เป็นศาสนสถานสำคัญประจำชุมชน และมีถ้ำเขานกแสกและถ้ำเขาพัสดุ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม
เป็นชุมชนย่านการค้าเก่าแก่ที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่โดยรอบบริเวณสถานรีรถไฟบางสะพานน้อย มีวัดคลองน้ำเค็ม เป็นศาสนสถานสำคัญประจำชุมชน และมีถ้ำเขานกแสกและถ้ำเขาพัสดุ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม
อำเภอบางสะพานน้อยเดิมขึ้นอยู่ในการปกครองของอำเภอบางสะพาน ยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2517 และเป็นอำเภอเมื่อ 13 กรกฎาคม 2524 ซึ่งมีเรื่องเล่ากันว่ามาว่าก่อนปี พ.ศ. 1862 พระเจ้าศรีวัง เจ้าผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราชกับเจ้าผู้ครองเมืองเพชรบุรีซึ่งเป็นสมเด็จพระราชบิดา มีอาณาเขตของเมืองที่ปกครองกว้างขวางมาก ทั้งสองพระองค์จึงได้ทรงประกาศให้มีการแบ่งเขตเมืองที่ปกครองออกจากกัน โดยถือเอาแม่น้ำสายหนึ่งเป็นเส้นแบ่งเขต ทรงสร้างเมืองเล็กๆ ขึ้นเมืองหนึ่งเพื่อให้เป็นเมืองกันชนระหว่างเมืองนครศรีธรรมราชกับเมืองเพชรบุรี ทรงสร้างสะพานเพื่อให้ราษฎรติดต่อสัญจรไปมาสะดวก เมืองที่สร้างขึ้นนั้นได้เรียกขานกันต่อมาว่า "เมืองสะพาน" ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีเจ้านายพระองค์ใดไปปกครอง เข้าใจว่าคงเป็นเมืองที่ได้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับชั่วคราวก็ได้ ในสมัยดังกล่าว เจ้าผู้ครองเมืองหินมูล (เมืองนครปฐม) ไม่มีพระราชโอรส จึงได้ทรงทูลขอพระราชทานโอรสของพระเจ้าศรีวังไปเป็นองค์รัชทายาท ทรงพระนามว่าพระเจ้าศรีราชา องค์รัชทายาทได้ทรงโปรดเกล้าให้สร้างสะพานขึ้นในท้องที่บริเวณใกล้เคียงกับเมืองสะพาน ที่บ้านหาดตะกร้อ (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่หมู่ที่ 3 ตำบลบางสะพาน อำเภอบางสะพานน้อย) เนื่องจากพระองค์ต้องเสด็จไปมาระหว่างเมืองหินมูลกับเมืองนครศรีธรรมราชบ่อยครั้งสะพานนี้ใช้เดินทางเชื่อมต่อกับเมืองสะพาน ในเวลาต่อมาพระเจ้าศรีราชา ได้ขึ้นเมืองหินมูล พระองค์ถือเป็นกษัตริย์ต้นราชวงศ์ "อู่ทอง" สำหรับคำว่า "บางสะพานน้อย" คงจะมีที่มาจากเหตุการณ์ที่การรถไฟก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ และได้จัดตั้งสถานีที่พักผู้โดยสารขึ้นในท้องที่ ทางทิศเหนือของสถานีต้องสร้างสะพานเหล็กข้ามคลองน้ำเค็ม ทางทิศใต้ทำเป็นสะพานไม้ข้ามลำละหาน ซึ่งเป็นลักษณะที่คล้ายคลึงกับสถานีรถไฟบางสะพาน ที่มีสะพานข้ามบึงกว้างทางทิศเหนือ ส่วนทิศใต้เป็นสะพานข้ามคลอง จึงได้ตั้งชื่อสถานีที่พักผู้โดยสารแห่งใหม่ว่า "บางสะพานน้อย" ส่วนสถานีเก่าให้เพิ่มชื่อเป็น "บางสะพานใหญ่" เพื่อป้องกันการสับสน แต่ในส่วนชื่อของอำเภอนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง คงใช้ชื่ออำเภอบางสะพานต่อไปตามเดิม
ชุมชนตลาดริมทางรถไฟบางสะพานน้อย ห่างจากที่ว่าการอำเภอบางสะพานน้อย ประมาณ 3 กิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 156 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 395 กิโลเมตร การเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังชุมชนริมทางรถไฟบางสะพานน้อย สามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ และรถไฟ
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
ชุมชนตลาดริมทางรถไฟบางสะพานน้อย เป็นชุมชนย่านตลาดการค้าเก่าบริเวณรอบสถานีรถไฟบางสะพานน้อย ต่อเนื่องไปทางถนนฝั่งตะวันออกของสถานีรถไฟและบริเวณวัดคลองน้ำเค็ม โดยมีคลองน้ำเค็มไหลผ่านพื้นที่ออกสู่ทะเล และมีบริเวณรอบนอกเป็นเรือกสวนไร่นาบนที่ราบลุ่มดินอุดมสมบูรณ์เหมาะทำการเกษตร และในพื้นที่ข้างเคียงมีถ้ำเขานกแสกและถ้ำเขาพัสดุเป็นสถานที่สำคัญ
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2554 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรในเขตตำบลบางสะพาน จำนวน 2,133 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 4,704 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 2,358 คน หญิง 2,346 คน
ด้านกลุ่มอาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลบางสะพาน ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำสวน ทำนา เลี้ยงกุ้ง ค้าขาย และรับจ้างทั่วไป
ในชุมชนมีขนบธรรมเนียมประเพณีคล้ายกับชาวภาคกลางทั่วไป เช่น งานประเพณีแห่เทียนพรรษา งานประเพณีสงกรานต์ งานประเพณีลอยกระทง ฯลฯ
ทุนกายภาพ
1. ถ้ำเขานกแสก ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 บ้านทุ่งไกร ตำบลบางสะพาน อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นถ้ำที่เขานกแสกอาศัยอยู่ ซึ่งมีอยู่หลายถ้ำด้วยกัน
2. ถ้ำเขาพัสดุ ตั้งอยู่หมู่ที่ 9 ตำบลบางสะพาน อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นถ้ำที่มีลักษณะสวยงาม มีจำนวน 2 ถ้ำ
ทุนวัฒนธรรม
1. วัดคลองน้ำเค็ม ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลบางสะพาน อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2474 ชื่อวัดตั้งตามชื่อหมู่บ้าน ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง และผู้บริจาคที่ดิน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2525 ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 16 ไร่ 1 งาน 90 ตารางวา
อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ กว้าง 10 เมตร ยาว 12 เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ.2523 กุฏสงฆ์ 1 หลัง ศาลาอเนกประสงค์ หอระฆัง โรงครัว ปัจจุบันมีพระอธิการธงชัย ฐิตสีโล เป็นเจ้าอาวาส
ภาษาปักษ์ใต้ เป็นภาษาพูดของประชากรส่วนใหญ่ในเขตอำเภอทางตอนใต้ของจังหวัด ได้แก่ อำเภอทับสะแก อำเภอบางสะพาน และอำเภอบางสะพานน้อย ซึ่งเป็นอำเภอที่มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดในภาคใต้ นอกจากนี้ยังมีชาวปักษ์ใต้ย้ายถิ่นมาอยู่อาศัยในอำเภอดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ภาษาที่ใช้มี 2 ลักษณะ กล่าวคือ พูดภาษาปักษ์ใต้ด้วยสำเนียงปักษ์ใต้ หรือพูดภาษาไทยกลางด้วยสำเนียงปักษ์ใต้
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ. (2542). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลัดษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดประจวบคีรีขันธ์. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2566, จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/new_stat/webPage/statByYear.php
กระทรวงวัฒนธรรม. (2555). วัดคลองน้ำเค็ม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2566, จาก: http://m-culture.in.th/album/131796/วัดคลองน้ำเค็ม
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางสะพานน้อย. ประวัติความเป็นมา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2566, จาก: https://district.cdd.go.th/bangsaphannoi/about-us/ประวัติความเป็นมา
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2560). ทะเบียนย่านชุมชนเก่าในพื้นที่ภาคกลาง. ม.ป.ท.: ม.ป.พ. จาก : https://nced.onep.go.th/wp-content/uploads/2017/06/Old-town_Central.pdf.
องค์การบริหารส่วนตำบลบางสะพาน. (2558). สภาพและข้อมูลพื้นฐาน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2566, จาก: https://www.bangsaphan.go.th/general3.php
______. ถ้ำเขานกแสก. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2566, จาก: https://www.lovethailand.org/travel/th/12-ถ้ำเขานกแสก.html
______. ถ้ำเขาพัสดุ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2566, จาก: https://www.lovethailand.org/travel/th/12-ถ้ำเขาพัสดุ.html