Advance search

ชุมชนเก่าแก่ที่มีการตั้งถิ่นฐานโดยรอบสถานีรถไฟบางสะพานใหญ่ ปรากฏอาคารแบบเรือนแถวไม้ 2 ชั้น หลายหลังกระจายตัวอยู่ในบริเวณชุมชน มีวัดห้วยทรายขาว และวัดเขาโบสถ์เป็นศาสนสถานสำคัญประจำชุมชน 

กำเนิดนพคุณ
บางสะพาน
ประจวบคีรีขันธ์
มนิสรา นันทะยานา
31 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
5 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
24 มิ.ย. 2023
ตลาดริมทางรถไฟบางสะพานใหญ่


ชุมชนชนบท

ชุมชนเก่าแก่ที่มีการตั้งถิ่นฐานโดยรอบสถานีรถไฟบางสะพานใหญ่ ปรากฏอาคารแบบเรือนแถวไม้ 2 ชั้น หลายหลังกระจายตัวอยู่ในบริเวณชุมชน มีวัดห้วยทรายขาว และวัดเขาโบสถ์เป็นศาสนสถานสำคัญประจำชุมชน 

กำเนิดนพคุณ
บางสะพาน
ประจวบคีรีขันธ์
77140
11.214375
99.509758
เทศบาลตำบลกำเนิดนพคุณ

เทศบาลตำบลกำเนิดนพคุณมีพื้นที่เป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอบางสะพาน และส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจระดับอำเภอ ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บนท้องที่ หมู่ที่ 1 ทั้งหมด และหมู่ที่ 5 บางส่วน ของตำบลกำเนิดนพคุณ อำเภอบางสะพาน มีพื้นที่ทั้งหมด 2.8 ตารางกิโลเมตร ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดตั้งสุขาภิบาลกำเนิดนพคุณ อำเภอบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2499 ประกาศราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษเล่ม 73 ตอนที่ 45 หน้า 74 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2499 ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาล เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ตามพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. 2542 โดยใช้พื้นที่เดิม

เมืองบางสะพานมีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาลุถึงสมัยกรุงธนบุรีมีชื่อว่าเมืองกำเนิดนพคุณถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งเป็นเมืองชั้นจัตวา ขึ้นต่อกลาโหม ต่อมารัชกาลที่ 4 ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ แยกบางส่วนของเมืองกำเนิดนพคุณไปขึ้นกับอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ลุถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ยุบเมืองกำเนิดนพคุณลงเป็นอำเภอเมืองกำเนิดนพคุณ ในรัชการที่ 6 พ.ศ. 2458 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่ออำเภอเมืองกำเนิดนพคุณ ให้เรียกชื่อเพียงว่า อำเภอกำเนิดนพคุณ และต่อมาในปี พ.ศ. 2460 ในรัชกาลเดียวกัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนนามอำเภอกำเนิดนพคุณเป็น อำเภอบางสะพาน จนถึงปัจจุบันจะเห็นได้ว่า อำเภอบางสะพานเป็นชุมชนที่มความเจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณจึงมีแหล่งอารยธรรมล้ำค่ามากมายเป็นประวัติศาสตร์อันน่าชื่นชมของมวลมนุษย์ชาติ  

ชุมชนตลาดริมทางรถไฟบางสะพานใหญ่ ห่างจากที่ว่าการอำเภอบางสะพานใหญ่ 500 เมตร อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 136 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 376 กิโลเมตร การเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังชุมชนริมทางรถไฟบางสะพานใหญ่ สามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ และรถไฟ

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่ในเทศบาลตำบลกำเนิดนพคุณเป็นที่ราบลุ่มตามลำห้วย จำนวน 2 สาย คือลำห้วยวังกระจอง และลำห้วยบางสะพาน ซึ่งใช้เป็นแนวอาณาเขตกับท้องถิ่นใกล้เคียง มีภูเขาจำนวน 1 ลูก อันเป็นที่ตั้งของอุโบสถวัดเขาโบสถ์ ซึ่งเป็นอารามหลวงแห่งเดียวของอำเภอบางสะพาน อยู่ห่างจากชายทะเลประมาณ 4 กิโลเมตร สภาพเดิมเป็นพื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่เป็นสวนมะพร้าว

ชุมชนตลาดริมทางรถไฟบางสะพานใหญ่ เป็นชุมชนเก่าบริเวณรอบสถานีรถไฟบางสะพานใหญ่ทั้งสองฝั่ง มีบ้านห้องแถวไม้ 2 ชั้น อยู่หลายหลัง บริเวณถนนบางสะพาน และถนนรัตนโกสินทร์ทางฝั่งตะวันออกของสถานีรถไฟ โดยมีพื้นที่เกษตรกรรมอยู่บริเวณรอบนอกชุมชน

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2554 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรในเขตตำบลกำเนิดนพคุณ จำนวน 1,653 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 2,564 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 1,260 คน หญิง 1,304 คน

ด้านกลุ่มอาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ รับจ้างตามโรงงานอุตสาหกรรม ประกอบธุรกิจ ค้าขาย รับราชการ หรือรัฐวิสาหกรรม และรับจ้างทั่วไป ตามลำดับ ในเขตเทศบาลมีการประกอบอาชีพเกษตรกรรมน้อยราย พื้นที่ด้านการเกษตรส่วนใหญ่เป็นมะพร้าว จะมีการเพาะปลูกพืชอื่นบ้างเล็กน้อย ส่วนมากเป็นพืชผักสวนครัวที่ปลูกไว้สำหรับรับประทานเอง และมีการประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์จำพวกเป็ด ไก่ อยู่บ้างไม่กี่ราย

ในชุมชนมีขนบธรรมเนียมประเพณีคล้ายกับชาวภาคกลางทั่วไป เช่น งานประเพณีแห่เทียนพรรษา งานประเพณีสงกรานต์ งานประเพณีลอยกระทง ฯลฯ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

1. วัดห้วยทรายขาว เดิมเป็นสำนักสงฆ์ ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2421 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2520 สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 บริเวณวัดเคยเป็นที่พักแรมของทหารญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก พื้นที่ในสมัยก่อนปกคลุมไปด้วยแมกไม้นานาชนิด และพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าช้า ทำให้ไม่ค่อยมีใครเข้าไปในวัด ที่ดินที่ตั้งวัดปัจจุบันมีเนื้อที่ 35 ไร่ 3 งาน 81 ตารางวา และได้จัดผลประโยชน์ให้โรงเรียนมัธยมนพคุณเช่า จำนวน 3 ไร่ 1 งาน

วัดห้วยทรายขาว จัดกิจกรรมสำคัญๆ ทางศาสนาอย่างสม่ำเสมอ และจัดโครงการบรรพชาอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเป็นประจำทุกปี ตลอดจนเป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติอบรมคุณกรรมจริยธรรมให้แก่เยาวชนและประชาชน และเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภา พัณณวดี อีกด้วย

2. วัดเขาโบสถ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2440 เป็นวัดเก่าแก่ตั้งอยู่ในเมืองไม่ปรากฏหลักฐานผู้สร้าง มีพระครูอินทร์หรือหลวงปู่อินทร์เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก และมรณภาพเมื่อ พ.ศ. 2450 ต่อมา พ.ศ. 2451 ชาวบ้านบางสะพานได้นิมนต์พระท้วม ธมฺมโส จากวัดทุ่งมะพร้าวมาเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ก่อสร้างอุโบสถและศาลาการเปรียญ ตลอดจนเสนาสนะต่างๆ มากมาย จนเป็นหลักฐานที่มั่นคง ต่อมาได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกที่ พระครูศีลวิมลและดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอบางสะพาน ได้มรณภาพลงเมื่อปี พ.ศ. 2527 ต่อมาราษฎรบ้านบางสะพานได้นิมนต์พระมหาบุญเตือน สิริธมฺโม วัดคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มาปกครองวัดสืบต่อมา เมื่อ พ.ศ. 2529 ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูสัญญาบัตรชั้นเอกที่พระครูศรีวรคุณารักษ์ และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอบางสะพาน ต่อมา พ.ศ. 2548 ได้รับพระราชสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ และต่อมาได้รับพระราชสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่พระราชสิทธิญาณ และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ภาษาปักษ์ใต้ เป็นภาษาพูดของประชากรส่วนใหญ่ในเขตอำเภอทางตอนใต้ของจังหวัด ได้แก่ อำเภอทับสะแก อำเภอบางสะพาน และอำเภอบางสะพานน้อย ซึ่งเป็นอำเภอที่มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดในภาคใต้ นอกจากนี้ยังมีชาวปักษ์ใต้ย้ายถิ่นมาอยู่อาศัยในอำเภอดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ภาษาที่ใช้มี 2 ลักษณะ กล่าวคือ พูดภาษาปักษ์ใต้ด้วยสำเนียงปักษ์ใต้ หรือพูดภาษาไทยกลางด้วยสำเนียงปักษ์ใต้

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2566, จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/new_stat/webPage/statByYear.php

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ. (2542). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลัดษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดประจวบคีรีขันธ์. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.

เทศบาลตำบลกำเนิดนพคุณ. ข้อมูลพื้นฐานตำบล. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2566, จาก: https://noppakoonmunic.go.th/public/

สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์. (2563). วัดเขาโบสถ์ พระอารามหลวง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2566, จาก: https://pkn.onab.go.th/th/content/category/detail/

id/110/iid/7344

______. วัดห้วยทรายขาว. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2566, จาก: https://www.lovethailand.org/travel/th/12-ประจวบคีรีขันธ์/10311-วัดห้วยทรายขาว.html

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2560). ทะเบียนย่านชุมชนเก่าในพื้นที่ภาคกลาง. ม.ป.ท.: ม.ป.พ. จาก : https://nced.onep.go.th/wp-content/uploads/2017/06/Old-town_Central.pdf.