Advance search

หมู่บ้านปากน้ำปราณ

เป็นชุมชนที่มีการทำประมงเป็นหลัก เป็นที่ตั้งของสมาคมประมงแห่งแรกในประเทศไทย ภายในชุมชนปรากฏสถาปัตยกรรมประเภทเรือนแถวไม้รุ่นเก่า แทรกสลับกับอาคารพาณิชย์สมัยใหม่ มีวัดเขาน้อย และวัดปากคลองปราณเป็นศาสนสถานสำคัญประจำชุมชน นอกจากนี้ยังมีการสืบทอดประเพณีการเล่นแม่ศรี และประเพณีทำบุญส่งเรือ

ปากน้ำปราณ
ปากน้ำปราณ
ปราณบุรี
ประจวบคีรีขันธ์
มนิสรา นันทะยานา
26 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
5 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
24 มิ.ย. 2023
ปากน้ำปราณบุรี
หมู่บ้านปากน้ำปราณ

เป็นพื้นที่ที่มีแม่น้ำปราณบุรีไหลผ่านลงสู่ปากอ่าวทะเล เดิมมีชื่อเรียกว่า "ปากคลองปราณ" ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ปากน้ำปราณ" จนมาถึงปัจจุบัน


ชุมชนชนบท

เป็นชุมชนที่มีการทำประมงเป็นหลัก เป็นที่ตั้งของสมาคมประมงแห่งแรกในประเทศไทย ภายในชุมชนปรากฏสถาปัตยกรรมประเภทเรือนแถวไม้รุ่นเก่า แทรกสลับกับอาคารพาณิชย์สมัยใหม่ มีวัดเขาน้อย และวัดปากคลองปราณเป็นศาสนสถานสำคัญประจำชุมชน นอกจากนี้ยังมีการสืบทอดประเพณีการเล่นแม่ศรี และประเพณีทำบุญส่งเรือ

ปากน้ำปราณ
ปากน้ำปราณ
ปราณบุรี
ประจวบคีรีขันธ์
77220
12.402326
99.991463
เทศบาลตำบลปากน้ำปราณ

ตำบลปากน้ำปราณ เดิมมีชื่อเรียกว่า “ปากคลองปราณ” เนื่องจากมีแม่น้ำปราณบุรีไหลผ่านลงสู่ปากอ่าวทะเล และยังเป็นที่ตั้งสมาคมประมงแห่งแรกในประเทศไทศไทย ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ปากน้ำปราณ” จนมาถึงปัจจุบัน

ชุมชนปากน้ำปราณบุรี ห่างจากที่ว่าการอำเภอปราณบุรี ประมาณ 12 กิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 44 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 231 กิโลเมตร การเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังชุมชนปากน้ำปราณบุรี สามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ และรถไฟ

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ทะเลอ่าวไทย
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 3 บ้านปรือน้อย
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ทะเลอ่าวไทย (เลียบตามริมฝั่งทะเลทิศตะวันออกลงไปทางทิศใต้)
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 บ้านท่าลาดกระดาน และหมู่ที่ 2 บ้านปากน้ำปราณ

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบมีแนวยาวลงมาติดต่อกับชายฝั่งทะเลอ่าวไทย เป็นพื้นที่ภูเขาสลับกับที่ราบเทลงสู่ทะเล พื้นที่เป็นดินปนทรายมีชายหาดยาวประมาณ 2 กิโลเมตร และมีแม่น้ำปราณบุรีไหลผ่านลงสู่อ่าวไทย

ปากน้ำปราณ เป็นบริเวณที่แม่น้ำปราณบุรีซึ่งมีต้นกำเนิดจากผืนป่าแก่งกระจาน ไหลลงสู่อ่าวไทย ซึ่งการพัดพาของตะกอนและแร่ธาตุต่างๆ ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบกับป่าชายเลนผืนใหญ่ จึงทำให้ปากน้ำปราณเป็นแหล่งชุมชนที่เติบโตขึ้นมาจากการทำประมง ทางฝั่งด้านทิศเหนือของปากน้ำปราณ คือผืนป่าชายเลนสลับกับป่าบกและชายหาด กินพื้นที่กว้างต่อเนื่องจากชายหาดหัวหิน แต่เป็นชายหาดที่เงียบสงบร่มรื่น ส่วนทางทิศใต้ของปากน้ำ เป็นชายหาดทอดยาวไปจนจรดวนอุทยานท้าวโกษา ลักษณะความเป็นอยู่เป็นเรือนแถวไม้รุ่นเก่า แทรกสลับกับอาคารพาณิชย์สมัยใหม่

การใช้ที่ดิน

การใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตเทศบาลตำบลปากน้ำปราณ สามารถจำแนกตามลักษณะการใช้ประโยชน์ ได้ดังนี้

1. พื้นที่ทำการเกษตร ส่วนใหญ่ ได้แก่ พื้นที่ปลูกพืชไร่ ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ สับปะรด มะพร้าว โดยปลูกอยู่ทั่วไปในเขตพื้นที่เทศบาล ซึ่งมีเนื้อที่เพาะปลูกประมาณร้อยละ 19.39 ของพื้นที่เทศบาล รองลงมา คือ พื้นที่สวนผลไม้และไม้ยืนต้น พืชที่ปลูก ได้แก่ มะม่วง มะพร้าว มะขาม กล้วย มีเนื้อที่ประมาณร้อยละ 10.45 ของพื้นที่เทศบาล

2. พื้นที่ชุมชน มีพื้นที่ประมาณร้อยละ 49.41 ของพื้นที่เทศบาลประกอบด้วยการใช้ที่ดินประเภทต่างๆ คือ บริเวณพักอาศัยหนาแน่นมาก บริเวณทำการค้า และบริเวณสถานที่ประกอบอาชีพทางผลผลิตการประมง ซึ่งมักปะปนกับที่อยู่อาศัยไม่สามารถแยกแยะ การใช้ที่ดินให้เห็นเด่นชัด

3. ที่ดินสาธารณประโยชน์ มีพื้นที่ประมาณ ร้อยละ 0.95 ของพื้นที่เทศบาล มีทั้งที่ว่างเปล่า และบริเวณที่นำไปใช้ประโยชน์แก่ชุมชนแล้ว

4. พื้นที่อื่นๆ มีพื้นที่ประมาณร้อยละ 13.52 ของพื้นที่เทศบาล เช่น ที่ว่างเปล่า ถนน แหล่งน้ำ ซึ่งเป็นบริเวณที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก

ทรัพยากรทางธรรมชาติ

แม่น้ำปราณบุรี ต้นกำเนิดจากเทือกเขาตะนาวศรี มีลำห้วยและลำน้ำเล็กๆ หลายสายไหลมารวมกัน ที่บริเวณบ้านกร่าง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี แล้วไหลลงทางทิศใต้ ป่านพื้นที่ปกคลุมด้วยป่ามีความลาดชันมาก ไหลเข้าเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทางอำเภอหัวหิน แล้วไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านเขตอำเภอปราณบุรีถึงเขาเจ้า แล้วไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านเขาดินเทินกับเขาปากทวาร เมื่อไหลผ่านตัวอำเภอปราณบุรีแล้ว ก็ไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และไหลลงสู่อ่าวไทยที่ปากน้ำปราณ มีความยาวตลอดสายประมาณ 100 กิโลเมตร

บริเวณฝนในเขตลุ่มน้ำปราณบุรีมีน้อย จะมีฝนตกหนักในช่วงที่มีความกดอากาศต่ำผ่านในประมาณเดือนตุลาคมเท่านั้น ที่ราบผืนใหญ่ที่ใช้เพาะปลูกเกือบทั้งหมด ได้รับน้ำจากลำห้วยเล็กๆ ที่ไหลผ่าน จึงขาดแคลนน้ำสำหรับเพาะปลูก เมื่อเวลาฝนตกหนัก น้ำจะหลากจากแม่น้ำปราณบุรี และลำน้ำสาขาที่ไหลบ่าเข้าท่วม ทำความเสียหายแก่พื้นที่เพาะปลูก ตลอดจนเส้นทางคมนาคม

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรบ้านปากน้ำปราณ จำนวน 3,296 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 6,973 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 3,481 คน หญิง 3,492 คน

ด้านกลุ่มอาชีพ ทำการประมง ค้าขาย ประกอบธุรกิจส่วนตัว อาชีพรับจ้าง และแปรรูปผลิตผลจากการประมง เช่น การทำอุตสาหกรรมปลา หรือปลาหมึก สัตว์ทะเลอบแห้ง สภาพเศรษฐกิจโดยรวมมีอัตราการเจริญเติบโตมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งเกิดจากการประมงอันเป็นการผลิตที่สำคัญ นอกจากนี้ยังมีการประกอบอาชีพอื่นๆ ในชุมชนอีกได้แก่ การประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม โดยมีผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญได้แก่ สับปะรด มะพร้าว มะม่วง ขนุน เป็นต้น การปศุสัตว์ การอุตสาหกรรม การค้าและการบริการ 

ในชุมชนปากน้ำปราณมีประเพณีที่สำคัญ และสืบทอดต่อกันมา คือ ประเพณีการแข่งเรือยาว ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีวันแห่เทียนเข้าพรรษา ประเพณีลอยกระทง ประเพณีศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง และประเพณีศาลเจ้าแม่ทับทิม

1. ประเพณีการเล่นแม่ศรี เป็นประเพณีของชาวตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี ภายหลังจากเทศกาลสงกรานต์ คือ วันที่ 15 เมษายน โดยมีการเชิญเจ้าที่ ผีสาง นางไม้ มาเล่นด้วย กำหนดให้ผู้หญิงเป็นผู้ทรงแม่ศรี โดยปิดตาแล้วให้นั่งบนครกตำข้าว แล้วจุดธูปเทียนบนศีรษะ ผู้ที่ร่วมเล่นจะร้องเพลงเชิญแม่ศรีให้มาเข้าทรง

2. ประเพณีทำบุญส่งเรือ เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาเป็นเวลายาวนาน ตามความเชื่อว่า เป็นการเซ่นไหว้ผีและเจ้ากรรมนายเวร เป็นการขอขมาแม่น้ำที่ใช้ในการเดินทาง ใช้เป็นการประกอบอาชีพ และเป็นแหล่งอาหาร จะทำให้ความเป็นอยู่และการทำมาหากิน เจริญรุ่งเรือง จับปลาหรือสัตว์น้ำได้มากขึ้น และเป็นการสะเดาะเคราะห์เอาทุกข์โศกโรคภัย และสิ่งไม่ดีทั้งหลายปล่อยไปกับแม่น้ำ เพื่อที่จะได้มีสิ่งที่ดีในชีวิต มีโชคลาภ โดยการจัดงานแต่ละปีขึ้นอยู่กับความสะดวกของชาวบ้านในชุมชน ไม่ยึดติดกับวัน 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนกายภาพ

1. ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลนจากพื้นที่นากุ้งร้างแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองเก่า - คลองคอย ตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เดิมเป็นพื้นที่สัมปทานนากุ้งในช่วงปี พ.ศ. 2524 – 2534 ป่าผืนนี้ฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อครั้งเสด็จฯ มายังวนอุทยานปราณบุรีในปี พ.ศ. 2539 ทั้งสองพระองค์ทรงห่วงใยต่อสถานการณ์ป่าชายเลนบริเวณปากแม่น้ำปราณบุรีซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออาชีพประมงซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในพื้นที่  กรมป่าไม้ได้สนองพระราชดำริด้วยการยกเลิกสัมปทานนากุ้งและผนวกพื้นที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาป่าไม้ปากน้ำปราณบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อีกทั้งได้กำหนดเป็นพื้นที่เป้าหมายในการปลูกฟื้นฟูป่า (Forest Plantation Target – FPT) ได้แก่แปลงปลูกป่า FPT 29 จำนวน 399 ไร่ และ FPT 29/3 จำนวน 387 ไร่ รวม พื้นที่ 786 ไร่ ในโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 ในครั้งนั้น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีปณิธานในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ได้อาสาเข้าร่วมปลูกป่าในโครงการฯ จำนวน 1 ล้านไร่ รวม 413 แปลงปลูก ใน 48 จังหวัด ร่วมกับกรมป่าไม้ และประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงแปลงปลูกป่าในพื้นที่ตำบลปากน้ำปราณดังกล่าวด้วย โดยสามารถพลิกฟื้นนากุ้งร้างให้เป็นป่าชายเลนได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2540

2. ชายหาดปากน้ำปราณ เป็นชายหาดที่ยาวต่อเนื่องจากชายหาดหัวหิน มีความยาวประมาณ 12 กิโลเมตร ประกอบด้วย วนอุทยานปราณบุรี และชายหาดที่สวยงามทอดยาวจรดอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด

ทุนวัฒนธรรม

1. วัดเขาน้อย ตั้งอยู่ที่บ้านเขาน้อย ตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี เป็นวัดเก่า สันนิษฐานว่า สร้างสมัยอยุธยา พบเจดีย์ขนาดเล็กตั้งอยู่บนยอดเขาลูกโดด มีสภาพหักพังเสียหายมาก จนไม่สามารถเห็นรูปทรงที่ชัดเจน ฐานอุโบสถอยู่ที่พื้นด้านล่าง ทางทิศตะวันตกของเขาน้อย ทางวัดได้สร้างอาคารซ้อนทับไปแล้ว ปัจจุบันใบเสมาเหลืออยู่เพียงชิ้นเดียว เป็นใบเสมาสลักจากหินทรายแดง และมีเศียรพระพุทธรูปจำนวนสองเศียร แกนเป็นหินทรายแดง ส่วนองค์พระพุทธรูปทำขึ้นใหม่ บริเวณภูเขาด้านล่างทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ชาวบ้านเคยพบฐานสิ่งก่อสร้างสองแห่ง นอกจากนั้นยังพบชิ้นส่วนประพุทธรูปปูนปั้น กระเบื้องมุงหลังคาดินเผา เศษภาชนะดินเผา เศษเครื่องถ้วยจีนประเภทเครื่องลายคราม ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านปรือน้อย ตำบลปราณบุรี สันนิษฐานว่า เป็นชุมชนสมัยอยุธยา พบชิ้นส่วนภาชนะดินเผา โดยเฉพาะเครื่องลายครามเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ทำจากโลหะ เช่น ตะเกียง เงินพดด้วง เครื่องประดับ

2. วัดปากคลองปราณ วัดปากคลองปราณ เป็นศาสนสถานที่ใช้ประกอบกิจกรรมทางศาสนา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 2 ตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีพระปลัดลำยง ทีปกโร เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งหลวงพ่อหว่าง อุตตฺโม อดีตเจ้าอาวาสวัดปากคลองปราณ เป็นผู้สร้างวัด หลวงพ่อหว่างได้ร่วมกับขุนอารีประชากร (ยา) ซึ่งเป็นกำนันปากน้ำปราณสมัยนั้น ย้ายวัดเดิมจากวัดบ้านคอย ตำบลปากน้ำปราณมาสร้างใหม่ โดยกุฏิเสนาสนะในวัดบ้านคอยเดิม มาปลูกที่ใหม่ซึ่งอยู่ติดถนนทางเข้าปากน้ำปราณบุรี ประมาณปี พ.ศ. 2440 และตั้งชื่อวัดใหม่ว่าวัดปากคลองปราณ

3. ศาลเจ้าแม่ทับทิมทอง เป็นศาลที่มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก ชาวเรือในสมัยโบราณนิยมขึ้นมากราบไหว้บูชา ภายในเป็นที่ประดิษฐานของรูปปั้นเจ้าแม่เทียนโหวเซี้ยบ้อ หรือเจ้าแม่ทับทิมทอง ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวปากน้ำปราณเลื่อมใสบูชามาตั้งแต่สมัยโบราณ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ระบบสาธารณูปโภคที่ยังมีไม่เพียงพอในปัจจุบันคือระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งกำลังมีแนวโน้มที่จะเป็น ปัญหาในอนาคต (At and Approaching Carrying Capacity) เนื่องจากปากน้ำปราณเป็นเมืองที่มีทะเลเป็นแหล่ง ท่องเที่ยวที่สำคัญ หากมีน้ำเสียไหลลงทะเลหรือปนเปื้อนในทะเลจะกระทบกับภาพลักษณ์การท่องเที่ยวในพื้นที่ ปัจจุบันระบบท่อรวบรวมน้ำเสียครอบคลุมเฉพาะในพื้นที่เทศบาลตำบลปากน้ำปราณ แต่ระบบบำบัดที่มียังไม่สามารถ รองรับปริมาณน้ำเสียได้ทั้งหมด จากการคาดการณ์ต้องขยายระบบบำบัดน้ำเสียที่มีความสามารถในการบำบัดน้ำเสีย ไม่น้อยกว่า 4,828 ลบ.เมตร/วัน เพื่อเพิ่มความสามารถของระบบบำบัดน้ำเสียให้เพียงพอสำหรับอนาคต 20 ป

ในชุมชนปากน้ำปราณ มีจุดสนใจอื่นๆ เช่น สวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566, จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/new_stat/webPage/statByYear.php.

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน). ศูนย์ฯสิรินาถราชินี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566, จาก: https://learningcenter.pttreforestation.com/center/3.

ประจวบทาวน์ดอทคอม. ปากน้ำปราณ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566, จาก: http://www.prachuaptown.com/travel/pranburi/pranburi_estuary.html.

พิษณุ เฉลิมวัฒน์, และสุธินี เหรียญเครือ. (2556). การศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการรับบริการสาธารณะของเทศบาลตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขีนธ์. วารสารศิลปากรศึกษาศาสตร์วิจัย. 5(1). 307-318.

สำนักงานเทศบาลตำบลปากน้ำปราณ. (2558). ชายหาดปากน้ำปราณ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566, จาก: http://www.pnp.go.th/general1.php.

สำนักงานเทศบาลตำบลปากน้ำปราณ. (2558). สภาพและข้อมูลพื้นฐาน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566 จาก: http://www.pnp.go.th/general1.php.

เสาวลักษณ์ แซ่โค้ว. วัดปากคลองปราณ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566, จาก: https://www.tripniceday.com/place/วัดปากคลองปราณ.

อภิชาต prachuppost. (2561). ชาวอำเภอปราณบุรี จัดสืบสานประเพณีเก่าแก่ “ส่งเคราะห์ทางทะเล”. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566, จาก: http://www.prachuppostnews.com/archives/2809.

______. ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566, จาก: http://www.thaiheritage.net/nation/oldcity/prachuapkhirikhan7.htm.

______. มรดกทางพุทธศาสนา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566, จาก: http://www.thaiheritage.net/nation/oldcity/prachuapkhirikhan9.htm.

______. ศาลเจ้าแม่ทับทิมทองปากน้ำปราณ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566, จาก: https://www.huahinpran.com/article44758-ศาลเจ้าแม่ทับทิมทองปากน้ำปราณ.html.

______. แหล่งน้ำ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566, จาก: http://www.thaiheritage.net/nation/oldcity/prachuapkhirikhan4.htm.