Advance search

ชุมชนของชาวกะเหรี่ยงโปว์ ที่มีผ้าทอลวดลายสวยงาม อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น

หมู่ที่ 5
บ้านแม่จ๊าง
แม่เหาะ
แม่สะเรียง
แม่ฮ่องสอน
โรงเรียนแม่จ๊าง โทร. 08-2466-4598, อบต.ห้วยไผ่ โทร. 0-5368-7988
ปวีณา สุริยา
23 ม.ค. 2023
ปวีณา สุริยา
15 มี.ค. 2023
บ้านแม่จ๊าง


ชุมชนของชาวกะเหรี่ยงโปว์ ที่มีผ้าทอลวดลายสวยงาม อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น

บ้านแม่จ๊าง
หมู่ที่ 5
แม่เหาะ
แม่สะเรียง
แม่ฮ่องสอน
581180
18.15774
98.04527
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่เหาะ

กะเหรี่ยงเป็นชนเผ่าที่มีจำนวนมากที่สุดในบรรดาชาวเขาในจังหวัดแม่ฮ่องสอน กระจายอยู่ทุกอำเภอ เนื่องจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีอาณาเขตติดต่อกับรัฐกอทูเลและรัฐคะยา ซึ่งเป็นแคว้นกะเหรี่ยงในประเทศพม่า ชาวกะเหรี่ยงเข้ามาอยู่ในแม่ฮ่องสอนเมื่อประมาณ 100 ปีมาแล้ว มี 2 กลุ่ม คือ ชาวกะเหรี่ยงโปว์หรือกะเหรี่ยงแดง และกะเหรี่ยงสะกอหรือกะเหรี่ยงขาว

ถิ่นฐานเดิมของกะเหรี่ยงอยู่บริเวณมองโกเลีย เมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว ต่อมามีการหนีภัยสงครามมาอยู่ที่ธิเบต เมื่อถูกรุกรานจากกองทัพจีนจึงอพยพลงมาทางใต้เรื่อย ๆ กระทั่งมาถึงดินแดนลุ่มแม่น้ำสาละวินในเขตพม่า กะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่หนาแน่นในบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศไทย จำนวนประชากรในปัจจุบันกะเหรี่ยงที่อยู่ประเทศพม่าราว 2.6 ล้านคน และในประเทศไทยราว 400,000 คน

กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย มีถิ่นฐานอยู่ทั้งทางภาคเหนือของประเทศไทยในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ ตาก และทางภาคตะวันตกของประเทศไทยในเขตพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี อุทัยธานี สุพรรณบุรี ราชบุรี เป็นต้น กะเหรี่ยงโปว์เรียกตัวเองว่า โพล่ง หมายถึง คน โดยที่คนไทยเรียกพวกนี้ว่า กะหร่าง หรือ ยางเต้าะแต้

หมู่บ้านกะเหรี่ยงแม่จ๊าง เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในหุบเขาทางภาคเหนือของประเทศ มีอุณหภูมิค่อนข้างร้อนจัด เย็นจัด และฝนตกชุก การตั้งหมู่บ้านโดยทั่วไป จะตั้งอยู่บนเนิน

หมู่บ้านแม่จ๊าง เป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงเผ่าโปว์ ตั้งถิ่นฐานอยู่บนภูเขา สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 3,000 ฟุต อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอแม่สะเรียง อยู่ห่างจากทางหลวงสาย ฮอด-แม่สะเรียง ประมาณ 15 ก.ม. เขตบริเวณพื้นที่รอบๆหมู่ล้าน เต็มไปด้วยภูเขาและป่าโปร่งการคมนาคมติดต่อกับอารยธรรมภายนอกลำบากและทุรกันดารส่วนใหญ่มักจะติดต่อกันในระดับตลาดท้องถิ่น ในปัจจุบันเริ่มมีการสัญจรด้วยยานยนต์ เข้าไปในหมู่บ้านได้เฉพาะในฤดูแล้งเท่านั้น การคมนาคมติดต่อกับหมู่บ้านอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง ใช้การเดินทางด้วยเท้าเป็นหลัก ติดต่อถึงกันได้ภายในวันเดียว

สภาพภูมิอากาศ หมู่บ้านแม่จ๊างเป็นเขตชุ่มชื้น มีภูเขาสูงสลับซับซ้อนทั่วไป เต็มไปด้วยป่าไม้ ทำให้มีอากาศค่อนข้างเย็นสบายเกือบตลอดทั้งปี สำหรับฤดูกาลนั้นมี 3 ฤดูกาล

จากการสำรวจศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา เมื่อ พ.ศ. 2516 มีกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแม่จ๊าง ประมาณ 47 หลังคาเรือน จำนวน 235 คน เป็นผู้ชาย 72 คน ผู้หญิง 50 คน เด็กชาย 42 คน ปัจจุบันนี้ขณะทำการสำรวจคงเหลือประมาณ 43 หลังคาเรือน (ธันวาคม 2519)  จำนวน 226 คน เนื่องจากได้มีการย้ายเข้าย้ายออกกันอยู่เสมอ ๆ จึงทำให้จำนวนหลังคาเรือน และจำนวนประชากร ของแต่ละปีไม่คงที่แน่นอน

ลักษณะของครอบครัว โดยทั่วไปครอบครัวส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัวเดี่ยว ประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูกชายลูกสาว และลูกเขย แต่ละครอบครัวจะเป็นผู้จัดแรงงานส่วนใหญ่ในด้านการเกษตรของตนเอง ยกเว้นบางครั้งที่เกิดการเจ็บป่วยหรือมีการตาย ครัวเรือนอื่น ๆ จะรวมแรงงานมาช่วย ในการทำไร่ให้แก่ครอบครัวนั้น ๆ การแลกเปลี่ยนแรงงานนี้จะยึดหลักการตอบแทนด้วยแรงงานอย่างเคร่งครัด หรือในบางครั้งก็อาจมีการจ้างแรงงาน

โพล่ง

ลักษณะทางสังคมของหมู่บ้าน

คำว่าหมู่บ้าน ในภาษากะเหรี่ยงโปว์เรียกว่า เก็ง ใช้เรียกหมู่บ้านทุกขนาด มีเซี่ย เก็ง คู (หัวหน้าผู้เฒ่าของหมู่บ้าน) ซึ่งเป็นตำแหน่งหัวหน้า และหมอผีของหมู่บ้าน โดยการสืบสายจากฝ่ายบิดา เมื่อเซี่ยเก็งคูตายลง จะต้องย้ายหมู่บ้านไปสร้างสถานที่ใหม่ แต่จะอยู่ภายในอาณาเขตเดิมของหมู่บ้าน  อาจจะอยู่ห่างออกไปเพียง 100 หลา ซึ่งตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านและตำแหน่งหมอผี จะรวมอยู่ในบุคคลเพียงคนเดียว แต่ในปัจจุบันได้แยกออกเป็น 2 ตำแหน่ง คือ 1.ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ได้รับการแต่งตั้งจากทางการ 2. ตำแหน่งหมอผี หรือผู้นำทางศาสนาประจำหมู่บ้าน เป็นตำแหน่งโดยการสืบสายฝ่ายบิดา เป็นผู้ที่ได้รับความนับถือจากคนทั้งหมู่บ้าน จะเป็นผู้ประกอบพิธีกรรม เช่นสรวงบูชาต่าง ๆ มีการรักษาโรคภัยไข้เจ็บของคนในหมู่บ้าน กะเหรี่ยงจะให้ความสำคัญแก่หมอผีมากกว่าผู้ใหญ่บ้านที่ทางราชการแต่งตั้งมาให้

กะเหรี่ยงในหมู่บ้านมีสิทธิที่จะแยกออกไปตั้งหมู่บ้านใหม่ได้ ในกรณีที่ทำกินไม่พอหรือเกิดความไม่พอใจการปกครองภายในหมู่บ้าน แต่ต้องมีบุคคลที่เกี่ยวข้องหมอผีร่วมไปด้วย เพื่อเป็นหมอผีประจำหมู่บ้านใหม่ เมื่อแต่งงานแล้ว คู่สมรสจะอยู่ในบ้านของมารดาฝ่ายเจ้าสาวเป็นเวลา 1 ปี หรือมากกว่านั้น และต้องช่วยกันทำไร่ของตนเอง บ้านหลังแรกที่คู่สมรสสร้างขึ้นจะมีขนาดเล็ก ภายหลังเมื่อมีบุตร 1 คนจึงจะสร้างเรือนที่มีขนาดใหญ่กว่าหลังเก่า ชาวกะเหรี่ยงถือว่าบ้านเป็นสมบัติและสถานที่ทางวิญญาณของภรรยา ที่จะอนุญาตให้ใครเข้ามาอาศัยในบ้านหลังนั้นได้  แต่ถ้าเจ้าสาวเป็นลูกสาวเพียงคนเดียว ลูกเขยจะแยกออกไปปลูกบ้านไม่ได้ จะต้องอยู่ในบ้านพ่อตาแม่ยายตลอดไป

ลักษณะการปกครอง

ในหมู่บ้านจะมีหัวหน้า และคณะกรรมการผู้สูงอายุของหมู่บ้านเป็นผู้ตัดสินข้อพิพาทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในหมู่บ้านทุกชนิด  ทั้งเรื่องมรดกที่ดิน การลักขโมย การสบประมาท เป็นต้น การลงโทษส่วนมากเป็นการปรับไหม ถ้าเป็นคดีร้ายแรงจะฆ่ากันถึงตาย จะส่งเรื่องให้ทางบ้านเมืองจัดการ ในการตัดสินข้อพิพาทหรือการจะอนุญาตให้ใครเข้ามาเป็นสมาชิกในหมู่บ้านได้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาของหมู่บ้านด้วย

อาชีพหลัก

1.การทำไร่เลื่อนลอยเป็นหลัก คือ การโค่นป่าถางไร่และเผาสำหรับเตรียมที่ไว้ปลูกข้าวไร่ และพืชไร่อื่น ๆ ทุกขั้นตอนของการโค่นป่าถางไร่ จนถึงการเก็บเกี่ยว จะมีพิธีกรรมเซ่นสรวงบูชาผีเจ้าที่ ในการโค่นป่าถางไร่ กะเหรี่ยงจะเหลือแนวป่าตอนบนไว้และหลีกเลี่ยงการตัดต้นไม้ใหญ่ในไร่ด้วย  

2.การทำนาดำ จะปลูกข้าวในนาชั้นบันไดตามหุบเขาแคบ ๆ เป็นการเพิ่มเติม ซึ่งสามารถทดน้ำเข้ามาใช้ได้ ผลผลิตที่ได้จะสูงกว่าผลผลิตของไร่เลื่อนลอยมากเกือบหนึ่งเท่า ผลผลิตของนาขั้นบันไดจะได้ข้าวประมาณ 40 ถังต่อ 1 ไร่ แต่ค่าใช้จ่ายในการทำนาขั้นบันไดจะสูงมากกว่าการทำไร่เลื่อนลอย

3.การปลูกพืชล้มลุกหมุนเวียน จะปลูกแซมตามไร่ข้าว ได้แก่ ฟัก ฝักทอง พริก ฝ้าย ถั่ว งา ข้าวโพด ผักกาด เป็นต้น จะปลูกถั่วเหลืองในแปลงนาดำ หลังการเก็บเกี่ยวแล้ว

4.การเลี้ยงปศุสัตว์ ได้แก่ ไก่ หมู วัว ควาย สำหรับไก่และหมุจะเลี้ยงกันทุกบ้าน เพื่อใช้พิธีกรรมต่าง ๆ จะไม่นิยมเลี้ยงไว้ขาย วัวและควายจะเลี้ยงไว้ขาย และช่วยทำไร่ไถนา

อาชีพรอง

1.การทำหัตถกรรม ได้แก่ การทอผ้า จักสาน งานแกะไม้สำหรับใช้เป็นภาชนะใส่อาหารและของใช้ ซึ่งจะทำขึ้นในเวลาว่างระหว่างภายหลังการเก็บเกี่ยวแล้วรายได้ ส่วนใหญ่มาจากการขายปศุสัตว์ ได้แก่ วัว ควาย

2.การรับจ้างแรงงาน ให้แก่ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาหรือไปรับจ้างแรงงานในอำเภอแม่สะเรียง

3.การขายของป่า ได้แก่ ลูกก่อป่า เปลือกไม้ ผลไม้ป่า

4.การขายผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน ได้แก่ ผ้าฝ้าย เครื่องแต่งกาย เครื่องจักสาน เครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้

5.การขายพืชไร่ ได้แก่ พริก ถั่วเหลือง งา

การแต่งกาย ผู้หญิงสาว และเด็กหญิง สวมชุดยาวสีขาวคลุมถึงข้อเท้า บริเวณไหล่และอกปักทอด้วยลวดลายด้วยด้ายและไหมพรมยีเป็นลายนูน ชายกระโปรงเป็นลายทอนูนด้วยไหมพรมสีแดงเป็นส่วนใหญ่ จะมีขนาดกว้างประมาณ 1 ฟุต ชุดบางคนจะมีการตกแต่งด้วยสีแดง ทำเป็นพู่ห้อยใต้อก ยาวลงมาถึงเข่า และจะมีปลอกแขนทำด้วยผ้าสีดำสวมบริเวณข้อศอก เครื่องประดับที่คอเป็นลูกปัดสีร้อยพันรอบคอหลายรอบ บางคนจะสวมสะพาย มีการใช้เหรียญสตางค์แดงร้อยเป็นพวงประดับบริเวณแขนจะสวมใส่กำไร ทองเหลือง อลูมิเนียม และเถาไม้สีดำ สวมใส่ตั้งแต่โดนแขนลงมาถึงข้อมือ ที่ข้อมือบางคนจะมีลูกกระทวนหรือกระดิ่งเล็ก ๆ ประดับ เครื่องประดับที่ทำด้วยเงินจะพบน้อยมาก ตุ้มหูจะมีไหมพรมสีและลูกปัดห้อยยาวลงมา ผมจะเกล้าไว้ตรงกลางศีรษะด้านหน้าและโพกทับด้วยผ้าสีแดง หรือขาว

หญิงแม่เรือน แต่งชุดสองท่อน เสื้อสีดำนั้น เสื้อสีดำตัวสั้น บริเวณไหล่จะมีลวดลายทอไหมพรมสีต่าง ๆ ใต้อกจะเอาผ้าสีแดงขนาดกว้างประมาณ 3 นิ้วครึ่ง ยาวเท่าความกว้างของเสื้อ จำนวนหลายชิ้น เย็บทับลงไปบนตัวเสื้อดำ ผ้านุ่งพื้นสีแดงมีลายขวางแถมแกมน้ำตาล เครื่องประดับเซ่นเดียวกับหญิงสาว นิยมสักนิ้วและหลังมือ

ผู้ชาย สวมกางเกงหลวม ๆ สีดำหรือน้ำเงิน ใส่เสื้อทรงกระสอบสีแดง ชายเสื้อย่อยเป็นครุย วิธีการเย็บเช่นเดียวกับเสื้อของผู้หญิง ส่วนใหญ่ยังคงไว้ผมยาวขมวดไว้กลางศีรษะหรือข้าง ๆ โดยปล่อยให้ปอยผมทิ้งชายลงมาด้านข้างหู และโพกทับด้วยผ้าสีขาว หนุ่มโสดจะแต่งตัวมากขึ้น มีการใส่ลูกปัดสี และประดับตุ้มหูด้วยไหมพรมสีต่าง ๆ นอกจากนี้ยังนิยมสักตามต้นขาและแขน

ด้านความเชื่อในวิถีชีวิตของชุมชนผูกโยงอยู่กับการนับถือผี โดยผู้ทำพิธีเซ่นสรวง ได้แก่ หมอผีประจำหมู่บ้าน 

การนับถือผี และเชื่อถือโชคลางตามแบบไสยศาสตร์ มีการปักกระดูกไก่เสี่ยงทาย เมื่อจะออกไปล่าสัตว์ ตัดไม้สำหรับปลูกสร้างเรือน เป็นต้น ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง ตั้งแต่เกิดจนตาย การทำการเกษตรกรรม ต้องมีความเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมต่าง ๆ

ผีที่สำคัญของชาวกะเหรี่ยงโปว์ ได้แก่

ผีเรือน หรือผีผู้พิทักษ์การสืบสายฝ่ายมารดา เรียกว่า เตอะ มึง เซีย คอยให้ความคุ้มครองรักษาความเป็นอยู่ของสมาชิกในสายของตน หัวหน้าฝ่ายหญิงจะจัดพิธีเลี้ยงผี เฉพาะเมื่อสมาชิกเจ็บป่วย โดยสมาชิกทุกคนจะต้องมาร่วมพิธี หรือถ้ามาไม่ได้ ต้องรับประทานชิ้นส่วนของเนื้อสัตว์ที่ใช้ในพิธี ระหว่างการทำพิธีจะปักเปลวไว้หน้าเรือน ห้ามผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกในสายเลือดเดียวกันขึ้นเรือนขณะกำลังทำพิธี หิ้งผีเรือนจะสร้างไว้เฉพาะในเรือนของหัวหน้าฝ่ายหญิงเท่านั้น

ผีเจ้าที่ เป็นผีแห่งน้ำและที่ดิน ที่มีความสำคัญเกี่ยวกับการเกษตรกรรม และความสุขสมบูรณ์ของคนทั้งหมู่บ้าน ผู้ทำพิธีเซ่นสรวง ได้แก่ หมอผีประจำหมู่บ้าน เซ่นด้วยไก่ หมู และสุรา โดยทำปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกจะจัดขึ้นในฤดูฝน ครั้งที่ 2 จัดขึ้นเมื่อสิ้นฤดูการเกษตรในการทำพิธีเหล่านี้ ทุกครัวเรือนจะต้องส่งเครื่องเซ่นเข้ามาร่วมพิธีทั้งหมู่บ้าน

ประเพณีและพิธีกรรม

พิธีขึ้นบ้านใหม่ กะเหรี่ยงจะปลูกสร้างเรือนใหม่ หรือซ่อมแซมในระหว่างหลังฤดูการเก็บเกี่ยวแล้ว คือ ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน การสร้างเรือนใหม่เมื่อเรือนเก่าหมดอายุลง จะสร้างที่ใหม่หรือใกล้ ๆ กับที่เดิม ซึ่งถือเป็นเคล็ดของพวกกะเหรี่ยง ก่อนจะสร้างเรือนจะมีการเสี่ยงทายด้วยกระดูกไก่ และถ้าได้ยินเสียงห่านร้องถือเป็นลางไม่ดี จะไม่ปลูกสร้างเรือนในวันนั้น ไม้สำหรับการก่อสร้างตัดมาจากป่าใกล้เคียงเตรียมไว้ในสถานที่จะก่อสร้าง โดยมีแรงงานจากเพื่อนบ้านมาช่วย ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในวันเดียว หลังจากย้ายเข้าไปอยู่ได้ 1-3 วัน จัดให้มีพิธีขึ้นบ้านใหม่ มีการเซ่นผี เครื่องเซ่นมีไก่ เหล้า ถ้ามีฐานะดีใช้หมูแทน ในพิธีจะมีการปักเปลวไว้ตรงทางขึ้นบันได

การแต่งงาน กะเหรี่ยงส่วนใหญ่จะยึดมั่นกับการแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียว ไม่ค่อยเห็นการหย่าร้างหรือแต่งงานใหม่ การเสียตัวก่อนแต่งงานถือเป็นเรื่องน่ารังเกียจ คู่สมรสส่วนใหญ่จะมีอายุไล่เรี่ยกัน ห้ามแต่งงานระหว่างผู้สืบสายมารดาเดียวกัน ไม่นิยมแต่งงานกับคนต่างเผ่า ก่อนแต่งงานผู้หญิงทุกคนต้องเตรียมเลี้ยงหมู ทอผ้าสำหรับตัวเองและเจ้าบ่าวไว้ใช้ในพิธีแต่งงาน พิธีแต่งงานนี้จะจัดงานใหญ่โต นิยมจัดงาน 2 วัน วันแรกจัดที่บ้านเจ้าสาว วันที่สองจัดที่บ้านเจ้าบ่าว ในวันแต่งงานมีขบวนแห่เจ้าบ่าวตีฆ้องตีกลอง ร้องเพลงไปบ้านเจ้าสาว เมื่อถึงบ้านเจ้าสาวจะเปลี่ยนลุคใหม่ให้เจ้าบ่าว จากนั้นก็เลี้ยงสุราและอาหารแก่ผู้ที่มาร่วมงาน เมื่อแต่งงานแล้วคู่สมรสต้องอยู่ในบ้านของพ่อแม่ฝ่ายเจ้าสาว 1 ปีหรือมากกว่านั้น

การเกิดและการตาย

เมื่อเด็กแรกเกิด ผู้เป็นพ่อจะต้องเรียกขวัญให้มาอยู่ในร่างเด็ก ขวัญจะมาอยู่ในตัวเด็กก็ต่อเมื่อแผลที่สะดือหาย ตั้งแต่แรกเกิดจะนอนในเปลผ้า ซึ่งผูกกับขื่อกลางห้องไว้ที่มุมห้อง โดยจะนอนแบบขวางเปล

การตาย เกิดเมื่อขวัญที่สำคัญออกจากร่างไปโลกคนตาย เมื่อมีคนตาย กะเหรี่ยงถือว่าเป็นงานที่สำคัญมาก ทุก ๆ คนในหมู่บ้านจะมาช่วยเหลือ มีการเลี้ยงผู้มางานอย่างเต็มที่ ถ้าผู้ตายเป็นภรรยาของหัวหน้าครอบครัว สัตว์เลี้ยงจะถูกฆ่าหมด ศพจะถูกห่อด้วยเสื่อวางไว้บนร้านกลางลานบ้าน เวลากลางวันคนแก่จะร้องเพลงรำกันและแนะนำทางไปสู่สวรรค์ เวลากลางคืนพวกหนุ่มสาวจะจับมือร้องเพลงรอบ ๆ ศพ โปรยเมล็ดพืชพันธุ์ลงไป เพื่อให้คนตายนำไปปลูกที่เมืองผี เมื่อเสร็จพิธีศพจะนำไปฝัง และนำไก่ของผู้ตายไปเซ่นวิญญาณที่หลุมฝังศพ เมื่อฝังศพเสร็จจะปักไม้ไผ่ไว้บนหลุมเพื่อป้องกันสัตว์มาคุ้ยเขี่ย

พิธีเกี่ยวกับการเกษตร ตามขั้นตอนของการเกษตร นับตั้งแต่การโค่นป่า กางไร่ และเผา จนถึงการเพาะปลูก จะมีการทำพิธีขอฝน จะจัดเป็นพิธีเล็ก ๆ เลี้ยงผีที่ห้างเฝ้าไร่ และมีการปักเปลวไว้ในไร่ของตน พิธีที่สำคัญ ได้แก่ การเลี้ยงผีต่าง ๆ ที่อยู่ประจำไร่ เรียกว่า เบี้ยงเคี๊ยะ เมื่อต้นข้าวสูงประมาณ 16 นิ้วมีการเซ่นด้วย ไก่ 6 ตัว หมู 1 ตัวเพื่อให้ผีช่วยขจัดมดปลวกออกจากกอข้าว และพิธีจะจัดซ้ำอีกครั้งเมื่อข้าวตกรวง ในเวลาไล่เรี่ยกันจะมีพิธีเรียกขวัญข้าว  

การเก็บเกี่ยวและการนวดข้าว มีพิธีกรรมและข้อห้ามหลายประการ คือ ห้ามไม่ให้คนอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกในครัวเรือนเดินผ่านเข้าไปในไร่ข้าว เมื่อขนข้าวเข้ายุ้งหมดแล้ว จะมีพิธีเป็นครั้งสุดท้ายที่ยุ้งของแต่ละครอบครัว เพื่อป้องกันการขโมยของผีแต่และคนพิธีกรรมเหล่านี้ของทุก ๆ ขั้นตอนใด ๆ แต่ละครัวเรือนจะจัดภายหลัง เมื่อหมอผีได้จัดทำพิธีขึ้นในไร่ของเขาเองแล้ว

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น

ผ้าทอกะเหรี่ยง

ชาวกะเหรี่ยงได้รับคำชมว่าเป็นชนเผ่าที่มีฝีมือในการทอผ้าที่เก่งที่สุดเผ่าหนึ่ง ผู้หญิงชาวกะเหรี่ยงจะได้รับการถ่ายทอดความรู้ ทักษะฝีมือการทอผ้ามาจากผู้เป็นแม่ ซึ่งเป็นผู้หญิงเท่านั้นที่จะได้ทอ เมื่ออายุประมาณ 10 ขวบ จะเริ่มฝึกด้วยการทอผ้าผืนน้อย ขนาดไม่เกิน 2 นิ้ว ที่เรียกว่า แทพู จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการเริ่มฝึกทอเป็นชุดขาวยาวติดกัน สำหรับเด็กผู้หญิงและสาวโสดใช้สวมใส่ที่เรียกว่า เชวา ต่อมาเมื่อมีความชำนาญแล้ว จึงเริ่มฝึกทอผ้าด้วยลวดลายที่ยากสลับซับซ้อนมากขึ้น ผู้หญิงชาวกะเหรี่ยงมักทอผ้าไว้สวมใส่ในชีวิตประจำวันทั้งของตนและสมาชิกในครอบครัว หรือทอผ้าเก็บไว้ใช้ในงานพิธีสำคัญต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน งานประเพณีสำคัญอื่น ๆ

เรือนกะเหรี่ยงโปว์

เรือนกะเหรี่ยงเป็นเรือนที่มีหลังคาคลุม ลงมาปิดเกือบมิดเรือน เพื่อป้องกันอากาศที่หนาวเย็นและฝนตกชุก มีชาน ยกใต้ถุนสูงเพื่อป้องกันความชื้นและความเฉอะแฉะของน้ำฝน ซึ่งวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง เป็นวัสดุท้องถิ่น หาได้ตามสภาพแวดล้อม คือ ไม้ใช้ทำเสา ไม้ไผ่ทำพื้น ฝา และใช้หญ้าคามุงหลังคา ดังนั้นเรือนกะเหรี่ยงโปว์บ้านแม่จ๊างจึงมีเอกลักษณ์ของตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และกายภาพ

ภาษาพูด : ภาษากะเหรี่ยงโปว์ถิ่นเหนือ

ภาษาเขียน : ตัวอักษรกะเหรี่ยง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ธีรวรรณ สมะพันธุ. (2520). เรือนกะเหรี่ยงโปว์ หมู่บ้านแม่จ๊าง. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร

โรงเรียนแม่จ๊าง โทร. 08-2466-4598, อบต.ห้วยไผ่ โทร. 0-5368-7988