Advance search

คลองวาฬ

ชุมชนดั้งเดิมที่ปรากฏชื่อตั้งแต่สมัยอยุธยา ปัจจุบันเป็นชุมชนการค้าและชุมชนการประมง ภายในชุมชนปรากฏสถาปัตยกรรมประเภทเรือนไม้แบบดั้งเดิมกระจายตัวอยู่โดยทั่วไป มีวัดคลองวาฬ เป็นศาสนสถานสำคัญประจำชุมชน และมีหาดคลองวาฬเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญ

คลองวาฬ
คลองวาฬ
เมืองประจวบคีรีขันธ์
ประจวบคีรีขันธ์
มนิสรา นันทะยานา
14 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
5 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
24 มิ.ย. 2023
คลองวาฬ

ครั้งหนึ่งมีปลาวาฬตายลอยติดอยู่ที่ชายทะเล ชาวบ้านจึงเอาเชือกผูกลากซากปลาวาฬขึ้นจากทะเล และเรียกคลองที่ลากปลาขึ้นมานั้นว่า ‘คลองปลาวาฬ’ แล้วสั้นลงเป็นคลองวาฬในที่สุด


ชุมชนชนบท

ชุมชนดั้งเดิมที่ปรากฏชื่อตั้งแต่สมัยอยุธยา ปัจจุบันเป็นชุมชนการค้าและชุมชนการประมง ภายในชุมชนปรากฏสถาปัตยกรรมประเภทเรือนไม้แบบดั้งเดิมกระจายตัวอยู่โดยทั่วไป มีวัดคลองวาฬ เป็นศาสนสถานสำคัญประจำชุมชน และมีหาดคลองวาฬเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญ

คลองวาฬ
คลองวาฬ
เมืองประจวบคีรีขันธ์
ประจวบคีรีขันธ์
77000
องค์การบริหารส่วนตำบลคลองวาฬ โทร. 0-3281-0111
11.749135
99.785547
เทศบาลตำบลคลองวาฬ

คลองวาฬ ปรากฎชื่อชัดเจนสมัยกรุงศรีอยุธยา ในฐานะเมืองชุมชนทัพเส้นทางการเดินทัพไปยังด่านสิงขร และเป็นแหล่งสะสมเสบียงอาหารสำหรับการเดินทัพ ชุมชนดั้งเดิมเป็นชุมชนของชาวไทยระยะต่อมา มีชาวจีนมาตั้งร้านค้า

เดิมเป็นหมู่บ้าน หมู่ที่ 1 ตำบลคลองวาฬ ชื่อว่า “บ้านคลองวาฬ “ เมื่อ พ.ศ. 2499 มีประชากร 2,500 คนเศษ มีตลาดและร้านค้าในหมู่บ้านเอง ราษฎรที่ปลูกบ้านเรือนอาศัยอยู่ทั้งสองข้างของถนนสายคลองวาฬ-หว้ากอ ส่วนมากตั้งร้านค้าของชำ จากการเป็นแหล่งชุมชนการค้าของตำบล และ มีประชากรหนาแน่นพอสมควร อำเภอได้พิจารณาเห็นว่าสมควรจะยกฐานะขึ้นเป็นสุขาภิบาลเพื่อจะได้พัฒนาท้องถิ่นให้เจริญก้าก้วหน้าต่อไป จึงได้เสนอขอจัดตั้งเป็น สุขาภิบาล ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศจัดตั้งเป็น “สุขาภิบาลคลองวาฬ” เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2499 ต่อมารัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลง ฐานะสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. 2542 ซึ่งมีผลบังบัคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ทำให้สุขาภิบาลทั่วประเทศเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาล จำนวน 980 แห่ง รวมทั้งเทศบาลตำบลคลองวาฬด้วย

พื้นที่ชุมชนคลองวาฬ ตั้งอยู่ริมทะเลอ่าวคลองวาฬ ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ตามทางหลวงจังหวัดสายประจวบ – หนองหิน ประมาณ 10 กิโลเมตร มีพื้นที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านยาวประมาณ 2.5 กิโลเมตร ด้านกว้างประมาณ 1.2 กิโลเมตร เนื้อที่ทั้งหมด ประมาณ 3 ตารางกิโลเมตร

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ คลองวาฬ
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 บางส่วน และหมู่ที่ 2 ตำบลคลองวาฬ
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ทะเล
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ทางหลวงจังหวัด สายคลองวาฬ – หนองหิน ด้านตะวันออก

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

พื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบสูงทางทิศตะวันตก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ลักษณะพื้นที่ค่อยๆ ลาดลงจนเป็นที่ราบทางทิศตะวันออกซึ่งติดกับอ่าวไทย ดินมีลักษณะเป็นดินร่วนจนถึงทราย ด้านเหนือมีคลองวาฬไหลผ่าน ด้านตะวันออกที่ติดกับทะเลมีชายหาดทรายยาวตลอดแนว ฝั่งตรงข้ามคลองวาฬด้านติดทะเลมีภูเขาคลองวาฬ สูงประมาณ 1,000 ฟุต ยาวประมาณ 800 เมตร กั้นอยู่ พื้นที่นอกเหนือจากที่ผู้คนในชุมชนปลูกบ้านเรือนอาศัยแล้ว ส่วนใหญ่เป็นสวนมะพร้าว

ทรัพยากรทางธรรมชาติ

พื้นที่ชุมชนคลองวาฬมีคลองไหลผ่าน จำนวน 1 สาย ได้แก่ คลองวาฬ ซึ่งจะมีน้ำเฉพาะในช่วงฤดูฝนเท่านั้น ส่วนทรัพยากรป่าไม้พบว่า ไม่มีป่าเบญจพรรณในพื้นที่ เนื่องจากตั้งอยู่ริมทะเลจึงมีแต่ป่าชายเลนเป็นส่วนใหญ่

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรบ้านเหนือ จำนวน 878 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 1,449 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 695 คน หญิง 754 คน สภาพสังคมโดยรวมมีลักษณะเป็นชุมชนชาวประมง มีความสงบเรียบร้อยเป็นอย่างดี เนื่องจากในชุมชนมีพื้นที่น้อย และไม่ค่อยมีแหล่งสถานบันเทิงหรือสถานที่ล่อแหลมต่อการเกิดอาชญากรรม

ด้านกลุ่มอาชีพ ส่วนใหญ่ผู้คนในชุมชนประกอบอาชีพการประมง ส่วนอาชีพรองคือ ร้านค้า ภายในชุมชนมีการทำการเกษตรต่างๆ เพียงเล็กน้อย เช่น สวนมะพร้าว เพาะถั่วงอก และปลูกหน่อไม้ฝรั่ง นอกจากนี้ยังมีอุตสาหรรมต่อเนื่องจากการทำประมง คือ โรงงานทำน้ำปลา และอุตสาหกรรมห้องเย็น

ชุมชนคลองวาฬมีการจัดงานประเพณีต่างๆ ตามความเชื่อที่ยึดถือปฏิบัติกันมาทุกปี เช่น ลอยกระทง วันสงกรานต์ และวันเข้าพรรษา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนกายภาพ

1. สัตว์ทะเล เนื่องจากพื้นที่ชุมชนด้านตะวันออกติดกับทะเลอ่าวไทย จึงมีทรัพยากรในทะเล คือ กุ้ง หอย ปู ปลา และปลาหมึกมากเพียงพอสำหรับเลี้ยงประชากรในพื้นที่และเหลือส่งจำหน่ายเป็นสินค้าสำคัญที่ทำรายได้ให้กับประชากรเป็นอาชีพหลัก

2. หาดคลองวาฬ ห่างจากตัวเมืองประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นชายหาดที่ติดกับอ่าวมะนาว มีคลองวาฬเชื่อมต่อกับทะเล สองฝั่งคลองเป็นป่าชายเลน บริเวณหาดคลองวาฬเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวประมง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล มีความเงียบสงบ ความยาวของหาดประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นชายหาดทรายผสมเลน ที่ไม่ได้สวยงามมากนัก ไม่เหมาะกับเล่นน้ำ ในช่วงเวลากลางคืนสามารถติดต่อเรือชาวบ้าน นั่งเรือไปตกปลา ตกหมึกกลางทะเลได้ ตัวหาดคลองวาฬ อยู่ด้านหลังชุมชน หน้าหาดแคบ มีท่าจอดเรือประมงของชาวบ้าน ด้านซ้ายมือมีภูเขาซึ่งเป็นจุดบังลมให้กับเรือประมง มีสะพานปลา แนวหินกันคลื่น ตลาดสดคลองวาฬ มีร้านอาหารทะเล อาหารทะเลแห้ง ราคาไม่แพง โดยรอบๆหาดคลองวาฬก็มีที่พักราคาประหยัดให้เลือกมากมาย ในอดีตว่ากันว่าชื่อของหาดคลองวาฬมาจากที่บริเวณนี้เคยมีปลาวาฬมาเข้ามาหากินอยู่เป็นประจำ

ทุนวัฒนธรรม

1. วัดคลองวาฬ เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2466 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2542 วัดคลองวาฬ เริ่มสร้างในสมัยใดไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าสร้างมาก่อนที่จะเป็นเมืองคลองวาฬ เดิมทีวัดคลองวาฬไม่ได้ตั้งอยู่ในสถานที่ปัจจุบันนี้ แต่ได้ย้ายสถานที่ถึง 3 ครั้ง 3 แห่งก่อนที่จะมาตั้งอยู่ในที่ปัจจุบัน การหาหลักฐานที่แน่ชัดไม่ได้ก็คงเพราะเมืองคลองวาฬสมัยก่อนเป็นเมืองหน้าด่านที่ต้องรับศึกพม่าโดยตลอดทำให้การที่จะสร้างวัดให้มั่นคงถาวรเป็นไปได้ยาก แม้แต่จวนเจ้าเมืองก็ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าอยู่ที่ใด ปัจจุบันวัดคลองวาฬอยู่ห่างจากเมืองประจวบคีรีขันธ์ไปทางทิศใต้ประมาณ 9 กิโลเมตร การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ รูปที่ 1 พระรุ่ง ภูระหงส์ รูปที่ 2 พระพุ่ม สอนสอด รูปที่ 3 พระเกี้ยน รูปที่ 4 พระเหลือ พูลสวัสดิ์ รูปที่ 5 พระนิ่ม รูปที่ 6 พระจวง ส่วนน้อย รูปที่ 7 พระกรี คงหนุน รูปที่ 8 พระสุเมธีวรคุณ (หลวงพ่อโถ ถาวรนันท์) รูปที่ 9 พระราชธรรมาภรณ์ (หวล สุขิโต) รูปที่ 10 พระเทพสิทธิวิมล (ละเอียด สุทนฺโต) ด้านการศึกษา มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2478 โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2510

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ด้านความท้าทายของชุมชน ชุมชนคลองวาฬเผชิญกับความท้าทายด้านทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากการสร้างฝายคลองวาฬ ส่งผลให้มีการปิดกั้นคลองวาฬส่วนบนและส่วนล่างได้ตัดขาดออกจากกัน โดยแยกเป็นคลองวาฬส่วนบน (เหนือเขื่อน) มีความยาวจากฝายขึ้นไปประมาณ 1.20 กิโลเมตร ซึ่งเดิมติดต่ออยู่กับอ่าวไทย ถูกตัดขาดจากอิทธิพลน้ำขึ้นน้ำลงโดยสิ้นเชิง ทำให้ป่าโกงกางในป่าสงวนคลองวาฬ ซึ่งประกาศเป็นเขตป่าสงวนเมื่อ พ.ศ. 2511 เสื่อมโทรมและตายลง

นอกจากนี้บริเวณคลองวาฬเดิมมีการรับน้ำทะเลได้สั้นลง (หรือเฉพาะส่วนให้ฝายลงมาเท่านั้น) ทำให้การขึ้นลงของน้ำทะเลในคลองวาฬสั้นลง ทำให้ประมาณน้ำทะเลที่เข้าสู่คลองวาฬได้น้อยลง และมีผลใช้การชะล้างตะกอนทรายที่ปากน้ำคลองวาฬน้อยลงและสันดอนปากคลองวาฬตื้นเขินมากขึ้น

บริเวณเหนือฝายคลองวาฬ เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วก็หลายเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก แต่เนื่องจากในฤดูฝนน้ำทะเลซึ่งมีระดับสูงกว่าฝายประมาณ 30 เซนติเมตร สามารถล้นเข้าสู่อ่างเก็บน้ำตอนบนได้ จึงทำให้อ่างเก็บน้ำฝายคลองวาฬมีรสกร่อยเค็ม ตลอดทั้งปี ไม่สามารถนำไปใช้เพื่อการเกษตรได้และไม่มีโครงการการเกษตรใดๆ ที่ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำแห่งนี้

ในชุมชนคลองวาฬ มีจุดสนใจอื่นๆ เช่น ห่อหมกทะเลย่าง ขนมจีนคลองวาฬ ขนมเค้กคลองวาฬ น้ำปลา ของทะเลตากแห้ง และแปรรูป

กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 มีนาคม 2566, จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/new_stat/webPage/statByYear.php.

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (2564). หาดคลองวาฬ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 มีนาคม 2566, จาก: https://thailandtourismdirectory.go.th/th/attraction/21784.

กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม. (2018). ชุมชนบ้านคลองวาฬ. (ออนไลน์) สืบค้นเมื่อ 14 มีนาคม 2566, จาก: https://culturalenvi.onep.go.th/site/detail/3131.

เทศบาลตำบลคลองวาฬ. (2018). ข้อมูลพื้นฐาน. (ออนไลน์) สืบค้นเมื่อ 14 มีนาคม 2566, จาก: https://www.klongwanmun.go.th/html/new-menu.asp?typemenu=1.

เริงชัย ตันสกุล. (2535). ผลกระทบจากฝายกั้นน้ำคลองวาฬ บ้านคลองวาฬ ต.เกาะหลัก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์. โครงการจัดตั้งคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงชลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์. วัดคลองวาฬ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 มีนาคม 2566, จาก: https://pkn.onab.go.th/th/content/category/detail/id/110/iid/7341.

Let’s Check In เช็คอิน กิน เที่ยว. คลองวาฬ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 มีนาคม 2566, จาก: https://www.letscheckinmag.com/%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%AC/.

.