เป็นชุมชนเกษตรกรรมที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่กลอง มีวัดแสนตอ เป็นศาสนสถานสำคัญประจำชุมชน
พื้นที่หมู่บ้านมีป่าไม้จำนวนมาก ชาวบ้านตัดไม้เป็นซุงขาย เหลือตอไม้อยู่ทั่วบริเวณเป็นจำนวนมาก
เป็นชุมชนเกษตรกรรมที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่กลอง มีวัดแสนตอ เป็นศาสนสถานสำคัญประจำชุมชน
บ้านแสนตอไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า เรียกขานมาตั้งแต่เมื่อใด แต่ว่าบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ มีป่าไม้ใหญ่อยู่เป็นจำนวนมากชาวบ้านจึงตัดไม้เป็นซุงขาย โดยเหลือตอไม้อยู่ทั่วบริเวณเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกว่า “บ้านแสนตอ” ระยะเวลาการจัดตั้งหมู่บ้านชุมชนอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองอายุประมาณ 100 กว่าปีขึ้นไป
ชุมชนแสนตอ อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอท่ามะกา ประมาณ 7 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัดกาญจนบุรี ประมาณ 49 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 98 กิโลเมตร การเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังชุมชนแสนตอ สามารถเดินทางได้ทางรถยนต์ส่วนบุคคล
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 5 ตำบลแสนตอ
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 13 ตำบลแสนตอ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 ตำบลแสนตอ
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 13 ตำบลแสนตอ
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ โดยมีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่านทางทิศตะวันออก โดยภาพรวมของพื้นที่เป็นแหล่งชุมชนที่มีความเจริญ สภาพพื้นที่โดยทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มมีระบบชลประทานครอบคลุมเกือบทั้งตำบล เหมาะแก่การประกอบอาชีพทางด้านการเกษตร มีการขนส่งสินค้าเกษตรโดยรถยนต์ มีเส้นทางคมนาคมที่สะดวก
พื้นที่สาธารณะ และสาธารณูปโภคในชุมชน
การคมนาคม บ้านแสนตอ ตั้งอยู่ในตำบลแสนตอ ห่างจากอำเภอท่ามะกาไปทางทิศตะวันตก เป็นระยะทาง 4.5 กิโลเมตร การคมนาคมระหว่างหมู่บ้านกับอำเภอเป็นถนนลาดยาง ไม่มีรถโดยสารผ่านเส้นทางเข้าหมู่บ้าน เนื่องจากไม่ใช่ทางหลักของขนส่ง ต้องนั่งรถส่วนตัวเข้าหมู่บ้าน โดยภาพรวมการคมนาคมเป็นไปโดยสะดวก
การสาธารณสุข
ในหมู่บ้านมีศูนย์สาธารณสุขมูลฐานประจำหมู่บ้าน และมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 10 คน ปฏิบัติหน้าที่บริการประชาชนด้านสาธารณสุขเบื้องต้น
การศึกษา
เนื่องจากในหมู่บ้านยังไม่มีโรงเรียน เด็กในหมู่บ้านต้องไปเรียนที่โรงเรียนบ้านท้องคุ้ง หมู่ที่ 3 ซึ่งเปิดสอนในระดับประถมศึกษา และเรียนในระดับมีธยมศึกษาที่โรงเรียนประจำอำเภอ
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรบ้านแสนตอ จำนวน 140 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 402 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 198 คน หญิง 204 คน ประชากรในหมู่บ้านมีการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่เป็นแบบผสมผสาน คือครอบครัวเป็นครอบครัวใหญ่ ประกอบอาชีพช่วยเหลือกัน มีสมาชิกบางส่วนออกไปทำงานนอกบ้านหรือนอกชุมชน
ด้านกลุ่มอาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร เช่น ปลูกอ้อย, มันสำปะหลัง, ข้าวโพด, การเลี้ยงสัตว์
วิถีทางวัฒนธรรม
ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีประเพณีประจำหมู่บ้าน คือ การแห่เทียนพรรษา ประเพณีวันสงกรานต์ การทำบุญเข้าพรรษา ออกพรรษา
เดือนเมษายนช่วงสงกรานต์ของทุกปี ชาวบ้านแสนตอ จะมีการทำบุญศาลเจ้าที่กลางหมู่บ้านเพื่อเป็นสิริมงคล เป็นขวัญและกำลังใจให้ชาวบ้านทำมาหากินเจริญรุ่งเรือง อยู่รอดปลอดภัย ร่วมแรง ร่วมใจสามัคคี ปรองดอง ในงานก็จะมีหารทำบุญใส่บาตรเช้า พระสงฆ์ 9 รูป ถวายผ้าป่า ต่อด้วยสรงน้ำพระ และรดน้ำดำหัวขอพรผู้สูงอายุในหมู่บ้าน
ทุนวัฒนธรรม
วัดแสนตอ ตั้งอยู่ที่เลขที่ 18 บ้านแสนตอ หมู่ที่ 4 ตำบลแสนตอ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 18 ไร่ 1 งาน 5 ตารางวา อาณาเขตทั้งสี่ทิศจรดทางสาธารณะ อุโบสถสร้างเมื่อ พ.ศ. 2515 ปูชนียวัตถุมีพระประธานประจำอุโบสถ รอยพระพุทธบาท และมณฑป
วัดแสนตอเริ่มก่อสร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2432 โดยชาวบ้านแสนตอร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัดขึ้นแล้วเสร็จเป็นวัดที่สมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2434 สาเหตุที่ได้ชื่อว่า “วัดแสนตอ” จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสประจำหมู่บ้าน คือ นายฝอย ศรีจันทร์ ได้เล่าให้ฟังว่า แต่เดิมบริเวณหน้าวัดแสนตอเป็นคุ้งน้ำเก่า ช่วงฤดูน้ำหลากชาวแพที่อาศัยขึ้นล่องผ่านบริเวณหน้าวัดจะต้องประสบกับความยากลำบากในการล่องแพเพราะว่าบริเวณหน้าวัดที่เป็นคุ้งนเจะมีตอไม้จำนวนมากลอยน้ำมาและกองสุมรวมกันเป็นจำนวนมากมายจนไม่สามารถนับจำนวนได้ ชาวแพเมื่อเห็นจำนวนตอไม้จำนวนมากมายนับหมื่นนับแสนเช่นนั้น จึงเรียกชื่อคุ้งน้ำนั้นว่าคุ้งน้ำแสนตอจนเป็นที่เข้าใจกันของชาวแพ ต่อมาเลยเรียกวัดที่อยู่คุ้งน้ำนั้นว่า “วัดแสนตอ” ปัจจุบันแม่น้ำได้เปลี่ยนเส้นทางเดินใหม่ทำให้บริเวณหน้าวัดซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นคุ้งน้ำที่กว้าง
ด้านการมีส่วนร่วม ชุมชนบ้านแสนตอ ได้ใช้กระบวนการพึ่งพาตนเองเป็นแนวทางในการพัฒนาหมู่บ้าน ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้ยึดถือเอาเป็นแบบอย่างกระทำมาโดยตลอด เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาของตน โดยเฉพาะปัญหาความยากจน กิจกรรมทุกอย่างภายในชุมชนดำเนินการโดยมีพื้นฐานจากการมีส่วนร่วมของชาวบ้านและสถาบันที่มีในหมู่บ้าน ทั้งวัด โรงเรียน และกลุ่มต่างๆ นอกจากนั้น ยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาชุมชน
ชุมชนบ้านแสนตอเผชิญกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม ดังนี้
1. ขยะมูลฝอย ปริมาณขยะมูลฝอยมีมากขึ้นเนื่องจากมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นและเป็นแหล่งชุมชนหนาแน่น ซึ่งมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทำให้มีแนวโน้มว่า ปริมาณขยะจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต แต่องค์การบริส่วนตำบลแสนตอ ได้จ้างเหมาบริษัท กาญจน์ไมนิ่ง จำกัด ในการกำจัดขยะมูลฝอย
2. น้ำเสีย มาจากการปล่อยน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีผลต่อการพัฒนาสภาพแวดล้อมและทรัพยากรน้ำในอนาคต
กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2566, จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/new_stat/webPage/statByYear.php.
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี. (2563). ตำบลสารสนเทศชุมชนดีเด่นเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2566, จาก: https://kanchanaburi.cdd.go.th/wp-content/uploads/sites/3/2021/01/
ประกายฟ้า แสงใส. ข้อมูลพื้นฐานเพื่อการพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบลแสนตอ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2566, จาก: https://www.gotoknow.org/posts/701109.
รายงานการพัฒนาหมู่บ้าน (Village Development Report: VDR). (2562). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2566, จาก: หมู่บ้านสารสนเทศ-บ้านแสนตอ-ม.10-ต.แสนตอ-อ.ท่ามะกา.pdf (cdd.go.th)
องค์การบริหารส่วนตำบลแสนตอ. วัดแสนตอ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2566, จาก: https://www.saentor.go.th/Main/PlaceotopPreview/id/2