Advance search

ชุมชนเก่าแก่ที่สุดของกาญจนบุรี มีประวัติความเป็นมายาวนาน และมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์สัมพันธ์กับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายในชุมชนปรากฏอาคารบ้านเรือนที่มีอิทธิพลสถาปัตยกรรมตะวันตกผสมจีนหลายหลังกระจายตัวอยู่ในชุมชน มีวัดเทวสังฆาราม เป็นศาสนสถานประจำชุมชน และมีถนนคนเดินปากแพรกเป็นโครงการที่ถือกำเนิดขึ้นจากแรงผลักดันของผู้คนในท้องถิ่น

ปากแพรก
เมืองกาญจนบุรี
กาญจนบุรี
มนิสรา นันทะยานา
14 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
5 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
25 มิ.ย. 2023
ปากแพรก

คำว่าปากแพรกเพี้ยนมาจากภาษาจีนว่า ปากเผ็ก ซึ่งแปลว่าทางแยก 


ชุมชนชนบท

ชุมชนเก่าแก่ที่สุดของกาญจนบุรี มีประวัติความเป็นมายาวนาน และมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์สัมพันธ์กับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายในชุมชนปรากฏอาคารบ้านเรือนที่มีอิทธิพลสถาปัตยกรรมตะวันตกผสมจีนหลายหลังกระจายตัวอยู่ในชุมชน มีวัดเทวสังฆาราม เป็นศาสนสถานประจำชุมชน และมีถนนคนเดินปากแพรกเป็นโครงการที่ถือกำเนิดขึ้นจากแรงผลักดันของผู้คนในท้องถิ่น

ปากแพรก
เมืองกาญจนบุรี
กาญจนบุรี
71000
14.022048
99.528125
เทศบาลเมืองกาญจนบุรี

ตำบลปากแพรก มีความหมายว่า เป็นบริเวณทางแยกของแม่น้ำ เพราะบริเวณตำบลนี้เป็นจุดกำเนิดของแม่น้ำแม่กลอง เกิดจากการสบกันระหว่างแม่น้ำแควน้อยกับแม่น้ำแควใหญ่ ก่อนจะไหลลงอ่าวไทยที่สมุทรสงคราม ทำให้บริเวณนี้เกิดเป็นทางแยกของแม่น้ำถึง 3 สาย ในเอกสารภาษาพม่าเรียกบริเวณนี้ว่า ‘เมี้ยโส่ง’ หมายถึง แม่น้ำสบกัน

ชุมชนปากแพรกหรือชุมชนบ้านเหนือ เป็นชุมชนเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของกาญจนบุรี  ตั้งอยู่ริมกำแพงเมืองกาญจนบุรี ใกล้พระบรมราชานุสาวรีย์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นชุมชนเก่าแก่กว่า 180 ปี เริ่มก่อตั้งขึ้นในยุคสร้างเมืองกาญจนบุรีใหม่ ในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมื่อราวปี พ.ศ. 2374 โดยมีชาวจีนและญวนได้มาตั้งรกราก เพื่อทำการค้าในครั้งนั้นชุมชนปากแพรกนี้ มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นครั้งสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกทั้งยังเป็นสถานที่ที่เป็นภูมิหลังของบุคคลสำคัญ และเป็นถนนคอนกรีตสายแรกของเมืองกาญจนบุรีอีกด้วย อาคารบ้านเรือนที่พักอาศัยก่อสร้างด้วยภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อน โดยยังคงสภาพเดิมไว้ค่อนข้างมาก มีสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ในรูปแบบตะวันออกผสมตะวันตก ที่สร้างขึ้นในยุครัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา

เมืองกาญจนบุรีที่เห็นในปัจจุบันนี้ เป็นเมืองที่ก่อสร้างขึ้นใหม่เมื่อเกือบ 200 กว่าปี มีการตั้งเจ้าเมืองในชื่อราชทินนามว่า พระยาประสิทธิสงครามรามภักดีศรีวิเศษ เป็นเจ้าเมืองสืบตำแหน่งนี้มาถึง 12 คน จนกระทั่งมีการยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5

ชุมชนปากแพรกห่างจากตัวจังหวัดกาญจนบุรี ประมาณ 17 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 123 กิโลเมตร การเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังชุมชนบ้านปากแพรก สามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ และรถไฟ

ชุมชนปากแพรกตั้งอยู่ริมกำแพงเมืองกาญจนบุรี ใกล้พระบรมราชานุสาวรีย์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จากตัวเมืองกาญจนบุรีตามถนนแสงชูโต เมื่อถึงสี่แยกสถานีตำรวจภูธรกาญจนบุรีให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนหลักเมือง ผ่านประตูเมืองจะเจอถนนปากแพรก

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรบ้านเหนือ จำนวน 5,233 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 8,810 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 4,182 คน หญิง 4,628 คน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

1. นายบุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองกาญจนบุรี และวีรบุรุษสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยท่านมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเชลยศึกสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งให้ยารักษาโรค อาหาร และการติดต่อสื่อสารแก่เชลยศึกตลอดช่วงสงคราม และเมื่อสงครามจบลง คุณบุญผ่องจึงได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากสหราชอาณาจักรและประเทศเนเธอแลนด์ รวมถึงได้รับพระราชทานยศเป็นพันโทแห่งกองทัพอังกฤษ จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนประเทศไทย

ทุนวัฒนธรรม

1. วัดเทวสังฆาราม อยู่ที่ต้นทางของถนนปากแพรกด้านทิศเหนือ พบศิลปกรรมสำคัญ เช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถหลังเก่า เล่าเรื่องราวพุทธประวัติ โดยมีจุดเด่นคือภาพบุคคลกำลังเอื้อมมือดึงแถบสีระหว่างผนังสองด้านอยู่ภายในพระอุโบสถหลังเก่า ทั้งนี้ เกิดจากเมื่อวาดจิตรกรรมเสร็จแล้ว ช่างวาดประกบแถบทั้งสองด้านเข้าด้วยกันไม่ได้ จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการวาดภาพตัวบุคคลให้เอื้อมมือมาดึงให้ประกบกัน นับเป็นการแก้ปัญหาที่สร้างอารมณ์ขันให้แก่ผู้มาชม

นอกจากนั้น ภายในวัดยังมีตราสัญลักษณ์ของคณะราษฎรประดับอยู่ที่หน้าบันพระอุโบสถด้วย ซึ่งมีเพียงไม่กี่แห่งในประเทศที่ยังคงใช้ตราสัญลักษณ์ทางการเมืองประดับไว้ที่พระอุโบสถ เนื่องจาก พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 เชิญชวนคณะราษฎรและประชาชนเดินทางมาทอดกฐินที่วัดแห่งนี้ ท่านและผู้มีจิตศรัทธาในครั้งนั้นจึงร่วมกันบริจาคทรัพย์เพื่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้นมา ทั้งนี้ พระยาพหลฯ มีความสัมพันธ์อันดีกับเมืองนี้ เพราะท่านมีภริยาเป็นชาวกาญจนบุรีถึง 2 คน

2. บ้านเรือนและอาคารในชุมชนปากแพรก อิทธิพลด้านสถาปัตยกรรมของบ้านเรือน อาคารในชุมชนปากแพรกมีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมตะวันตกผสมจีน บ้านเดี่ยวบนถนนปากแพรกมักเป็นบ้านคหบดี โดยใช้ทั้งพักอาศัยและทำการค้าด้วยส่วนห้องแถวใช้เป็นร้านค้าบ้านเดี่ยวมักก่ออิฐถือปูน แปลนมักเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเสมอกันทั้งชั้นล่าง ชั้นบนมักมีมุขด้านหน้า หลังคารูปหน้าจั่ว ทรงปั้นหยา ชายคายื่นออกมาเล็กน้อยประมาณ 1 เมตรบางหลังตกแต่งหน้าจั่วด้วยลวดลายปูนปั้น ประตูมีทั้งบานลูกฟักบานฟี้ยมแบบเรียบ หน้าต่างสูงคล้ายประตู มีช่องลม บางแห่งฉลุลวดลาย หรือใช้บานเกล็ดไม้และกระจกสีห้องแถว อาจเป็นสองชั้นหรือชั้นเดียว ทำด้วยปูนซิเมนต์ โครงไม้รวก (ไผ่รวก) มีลักษณะทึบปูนซิเมนต์ที่ใช้ในสมัยนั้นสั่งมาจากต่างประเทศ (ปูนปอร์ตแลนด์) ช่างโดยส่วนใหญ่เป็นช่างชาวจีน หรือไม่ก็สร้างเองโดยใช้ลูกมือเป็นคนงานพื้นบ้าน สีส่วนใหญ่จะซื้อ บางแห่งทำสีเอง คือนำดินจากทุ่งนาคราชมากรองแล้วผสมกับน้ำข้าวเหนียวใช้ทา คงทนมาจนถึงปัจจุบัน อาคารบ้านเรือนมีอายุ 70 ปีเป็นอย่างน้อย และวัดใต้มีอายุประมาณ 200 ปี พอๆ กับกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีบ้านเรือนและอาคารที่น่าสนใจ ดังนี้

1) บ้านนิวาศแสนสุข ตั้งอยู่บริเวณไม่ไกลจากวัดเหนือ เป็นบ้านพักขนาดใหญ่หลังหนึ่งซึ่งเป็นเรือนหอของพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา

2) บ้านที่ประสูติของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (สมเด็จพระญาณสังวร เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพระองค์ทรงใช้ชีวิตและศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่ปากแพรกนี้ก่อนบรรพชา ปัจจุบันบ้านหลังเดิมได้ถูกรื้อลงแล้ว แต่ตัวบ้านหลังใหม่ของลูกหลานของพระองค์ยังตั้งอยู่ในบริเวณที่ประสูติดังเดิม

3) บ้านสิริโอสถ บ้านของ นายบุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองกาญจนบุรี และวีรบุรุษสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยท่านมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเชลยศึกสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งให้ยารักษาโรค อาหาร และการติดต่อสื่อสารแก่เชลยศึกตลอดช่วงสงคราม และเมื่อสงครามจบลง คุณบุญผ่องจึงได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากสหราชอาณาจักรและประเทศเนเธอแลนด์ รวมถึงได้รับพระราชทานยศเป็นพันโทแห่งกองทัพอังกฤษ จาก สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนประเทศไทย

4) บ้านตระกูลแต้มทอง บ้านตึกแบบจีนของตระกูลแต้มทอง สร้างขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 นับว่าเป็นบ้านตึกหลังแรกบนถนนปากแพรก ปัจจุบันยังเหลือร่องรอยของตึกให้เห็นอยู่

5) บ้านตะกูลสิทธิสังข์ บ้านสถาปัตยกรรมแบบชิโน-ยูโรเปียน ที่นิยมสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และ 6 ดังเช่นบ้านของตระกูลสิทธิสังข์ของ ขุนขจิตระบิน (พร้า สิทธิสังข์) สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2463 ปัจจุบันกลายเป็นร้านกาแฟและอาหารในชื่อ ร้านสิทธิสังข์

6) สุมิตราคาร โรงแรมแห่งแรกของเมืองกาญจนบุรี เป็นตึกแถว 2 ชั้น ครึ่งตึกครึ่งไม้ 5 คูหา เจ้าของเดิมคือ หลวงไกรสร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2480 อายุกว่า 74 ปี เดิมเป็นห้องแถวให้เช่า ภายหลังดัดแปลงกั้นห้องชั้นบนทำเป็นโรงแรม โดยมีชั้นล่างเป็นร้านอาหาร เป็นสถานที่แวะพักของพ่อค้าไม้จากอำเภอทองผาภูมิและสังขละบุรี ต่อมาในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีทหารญี่ปุ่นมาเช่านอน ปัจจุบันชั้นล่างเปิดเป็นร้านขายอาหารและอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง

7) โรงแรมกาญจนบุรี โรงแรมเก่าแก่อีกแห่งที่สร้างขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มีทั้งหมด 14 ห้อง โดยสร้างจากอาคารที่เห็นในประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดของ เจ้าของโรงแรม ลักษณะที่โดดเด่นสะดุดตาที่สุด คือ การประดับกระจกสีบนกรอบหน้าต่าง โดยเฉพาะหน้าต่างกระจกสีบนชั้น 3 ของอาคารที่ขนาบข้าง ด้วยระเบียง 2 ฝั่ง ค่าเช้าห้องในสมัยนั้น คิดคืนละ 2-4 บาท ลูกค้าส่วนมากจะเป็นพ่อค้าไม้จากอำเภอทองผาภูมิและสังขละบุรี ข้าราชการที่มาประชุม รวมถึงชนกลุ่มน้อยที่อยู่ตามชายแดน

ทุนเศรษฐกิจ

ถนนคนเดินปากแพรก บริเวณถนนคนเดินย่านปากแพรก เป็นย่านเก่าแก่ของจังหวัด แต่ช่วงหลังผู้คน นักเดินทางเริ่มรู้จักมากขึ้น ก็ด้วยพระบารมี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เพราะพระองค์ท่านเป็นคนพื้นเพย่านปากแพรก แต่ว่าย่านปากแพรกนั้น มีความสำคัญมาพร้อมๆ กับกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 พระองค์ทรงมีพระราชองค์การโปรดเกล้า ให้ย้ายเมืองกาญจนบุรี จากเดิมที่อยู่ท่าเสาเขาชนไก่ มาตั้งใหม่ ณ ปากแพรก จนถึงปัจจุบัน ซึ่งตรงนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์อันยอดเยี่ยม ด้วยว่ามีลำน้ำสองสายไหลมาบรรจบ ได้แก่ ลำน้ำแควน้อย ลำน้ำแควใหญ่ สองสายน้ำบรรจบกัน เกิดเป็นแม่น้ำแม่กลอง ไหลลงไปสู่ปากอ่าวไทยที่จังหวัดสมุทรสงคราม ถนนคนเดินปากแพรก จัดขึ้นทุกวันเสาร์ เวลา 16.00 – 21.00 น. บริเวณชุมชนปากแพรกและถนนสายปากแพรก โดยจะมีการจัดกิจกรรมถนนคนเดินและมีสินค้าจำหน่ายนักท่องเที่ยวและประชาชน 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การมีส่วนร่วม

โครงการถนนคนเดิน 177 ปีปากแพรก ถนนเก่าเล่าเรื่องเมืองกาญจน์ ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยแรงผลักดัน และขับเคลื่อนจากความภาคภูมิใจของ คนท้องถิ่นที่มีต่อถนนเก่าแก่สายนี้ ซึ่งมีบรรยากาศที่แตกต่างจากถนนสายอื่น ของกาญจนบุรีอย่างสิ้นเชิง ความแตกต่างและลักษณะเฉพาะตัวนี้ มีสาเหตุมาจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ สถาปัตยกรรมของอาคารบ้านเรือนที่เป็นเอกลักษณ์ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับการก่อตั้งเมืองกาญจนบุรีในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ประวัติศาสตร์สากลที่ผูกพันใกล้ชิดกับสงครามโลกครั้งที่ 2 การกำเนิดของย่านการค้าเก่าแก่ที่เกี่ยวเนื่องกับแม่น้ำสายหลักของเมืองกาญจนบุรี รวมทั้งภูมิหลังของบุคคลสำคัญระดับประเทศหลายต่อหลายคน ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ได้กลายเป็นสายใยที่เหนียวแน่น ซึ่งได้เชื่อมโยงและร้อยรัดชุมชนแห่งนี้ไว้ด้วยกันเป็นเวลากว่า 177 ปี ที่ซึ่งเสน่ห์อันเก่าแก่อดีตในปัจจุบันที่มีมนต์ขลัง ความรุ่งเรืองของคืนวันเก่าๆ ยังคงปรากฏให้เห็นอย่างแจ่มชัดบนสองฟากฝั่งถนนในปัจจุบัน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กนิษฐ์ วิเศษสิงห์. (2566). ปากแพรก. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 มีนาคม 2566, จาก: https://readthecloud.co/pak-phraek-kanchanaburi/.

กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 มีนาคม 2566, จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/new_stat/webPage/statByYear.php.

กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม. (2018). ชุมชนย่านถนนปากแพรกและพื้นที่ต่อเนื่อง. (ออนไลน์) สืบค้นเมื่อ 14 มีนาคม 2566 จาก: https://culturalenvi.onep.go.th/site/detail/2625.

กวี มินวงษ์. (2556). หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีในองค์การบริหารส่วนตำบลปากแพรก จังหวัดกาญจนบุรี: ความพร้อมในการนำมาใช้. สารนิพนธ์รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สำหรับนักบริหาร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีปทุม. ณัชพล บดิการ. (2559). ศักยภาพของเทศบาลตำบลปากแพรก (อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี) ในการดูแลผู้สูงอายุ. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการภาครัฐและภาคเอกชน มหาวิทยาลัยศิลปากร.