Advance search

บ้านขุนยวม

ศูนย์วัฒนธรรมอนุสรณ์สถานสงครามโลกครั้งที่สอง สถานที่บอกเล่าเรื่องราวตำนานรัก "โกโบริ-อังศุมาลิน" แห่งขุนยวม อีกทั้งยังเป็นอนุสรณ์สถานเก็นรวบรวมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์สงครามมหาเอเชียบูรพาที่เกิดขึ้น ณ เมืองขุนยวม

บ้านขุนยวม
ขุนยวม
ขุนยวม
แม่ฮ่องสอน
ปุริมพรรษ์ อุดรชมภู
18 ก.พ. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
21 ก.พ. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
25 มิ.ย. 2023
บ้านขุนยวม


ศูนย์วัฒนธรรมอนุสรณ์สถานสงครามโลกครั้งที่สอง สถานที่บอกเล่าเรื่องราวตำนานรัก "โกโบริ-อังศุมาลิน" แห่งขุนยวม อีกทั้งยังเป็นอนุสรณ์สถานเก็นรวบรวมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์สงครามมหาเอเชียบูรพาที่เกิดขึ้น ณ เมืองขุนยวม

บ้านขุนยวม
ขุนยวม
ขุนยวม
แม่ฮ่องสอน
58140
เทศบาลตำบลขุนยวม โทร. 0-5369-1466
18.81410156
97.93475613
เทศบาลตำบลขุนยวม

ขุนยวม เป็นหมู่บ้านขนาดเล็กแห่งหนึ่งที่ตั้งเรียงรายตั้งแต่บริเวณลำห้วยซึ่งอยู่ติดกับวัดโพธารามขึ้นไปทางทิศเหนือถึงศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เดิมมีชื่อว่า “กุ๋นลม” เหตุว่าหมู่บ้านนี้มีอากาศหนาวเย็นจากลมพัดอยู่ตลอดเวลา ในอดีตเคยเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวปกาเกอะญอ ละว้า และมอญ ที่อพยพมาจากพม่าเข้ามาอยู่บริเวณท้ายสนามบินในปัจจุบัน

ความเป็นมาของหมู่บ้านขุนยวมนั้นเริ่มขึ้นเมื่อมีชาวไทใหญ่จากฝั่งซ้ายแม่น้ำสาละวินนามว่า “ชานกะเล” ได้มาแต่งงานกับชาวบ้านปางหมู (ปัจจุบันคือบ้านป๋างหมู อำเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน) แล้วได้ชักชวนให้ชาวปกาเกอะญอที่อาศัยอยู่กระจัดกระจายบนภูเขาสูงให้มาอยู่ร่วมกันในหมู่บ้าน จากนั้นก็ได้พากันอพยพครอบครัวจากเมืองแม่ฮ่องสอนมาอยู่ขุนยวม แล้วแต่งตั้งชานกะเลเป็นผู้ปกครอง ต่อมาประมาณ 8 ปี หมู่บ้านแห่งนี้เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีผู้คนอพยพโยกย้ายเข้ามาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้หมู่บ้านขุนยวมต้องขยายพื้นที่ขึ้นมาทางทิศเหนือเลื่อนไปถึงเมืองเชียงใหม่ กอปรกับในขณะนั้นบ้านขุนยวมอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าอินทร์วิชยานนท์เจ้าเมืองเชียงใหม่ทรงเห็นว่าชานกะเลเป็นผู้มีความสามารถและซื่อสัตย์ต่อหน้าที่การงาน ชานกะเลจึงถูกเรียกตัวไปช่วยราชการเชียงใหม่ รับราชการได้เพียงสองปีเศษก็ได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาสิงหนาทราชเจ้านครปกครองเมืองแม่ฮ่องสอน แล้วแต่งตั้งปู่ขุนโท๊ะเป็นพระยาขันธเสมาราชาอนุรักษ์ปกครองเมืองขุนยวมแทน ขณะเดียวกันเมืองขุนยวม ณ ช่วงเวลานั้นก็ได้มีชาวไทใหญ่และชาวปกาเกอะญอเข้ามาอาศัยอยู่มากขึ้น กระทั่ง พ.ศ. 2443 ทางราชการได้รวมเมืองแม่ฮ่องสอน เมืองขุนยวม เมืองปาย และเมืองยวม (แม่สะเรียง) ตั้งเป็นเขตเมือง เรียกว่า “บริเวณเชียงใหม่ตะวันตก” แล้วตั้งที่ว่าการ ณ เมืองขุนยวม ต่อมาได้ย้ายที่ว่าการจากเมืองขุนยวมไปตั้งที่เมืองแม่ฮ่องสอน ประกาศให้เมืองขุนยวม เมืองปาย และเมืองยวมจัดตั้งเป็นอำเภอ และตั้งที่ว่าการตามชื่ออำเภอนั้น ๆ โดยให้ขึ้นอยู่กับการปกครองของมณฑลพายัพ และในปี พ.ศ. 2476 มีการยุบมณฑลพายัพ แล้วจัดตั้งเป็นจังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่วนอำเภอต่าง ๆ ในปกครองมณฑลพายัพก็ให้ย้ายมาอยู่ในปกครองของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย และบ้านขุนยวมก็ขึ้นต่อตำบลขุนยวม อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอนมาจนปัจจุบัน 

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านแม่สุริน ตำบลขุนยวม
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านเมืองปอน ตำบลขุนยวม
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านต่อแพ ตำบลขุนยวม
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ แม่น้ำยวม

ลักษณะภูมิประเทศ

บ้านขุนยวมเป็นหมู่บ้านขนาดเล็กที่ตั้งอยู่บนยอดเขาลาดลงมาจนถึงไหล่เขา โดยมีจุดสูงสุดอยู่บริเวณที่ว่าการอำเภอเก่า สภาพภูมิอากาศแบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูหนาว ฤดูฝน และฤดูร้อน ในช่วงฤดูหนาวอากาศจะไม่หนาวมาก ฤดูฝนไม่ชื้นแฉะ ส่วนฤดูร้อนอากาศก็ไม่ร้อนมาก ทำให้บ้านขุนยวมเป็นพื้นที่ที่มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี

ทรัพยากรธรรมชาติ

  • ทรัพยากรน้ำ บ้านขุนยวมมีแหล่งน้ำธรรมชาติสำคัญ คือ แม่น้ำยวม ลำน้ำธรรมชาติอันเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของชาวบ้านขุนยวม ตลอดจนชาวขุนยวมทั้งตำบล นอกจากนี้ บ้านขุนยวมยังมีอ่างเก็บน้ำสอตือที่สร้างอยู่ระหว่างบ้านขุนยวมกับบ้านแม่สุรินทร์ และอ่างเก็บน้ำห้วยบง ซึ่งอยู่ระหว่างบ้านขุนยวมหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 อ่างเก็บน้ำทั้งสองนี้เป็นอ่างเก็บน้ำสำหรับกักเก็บน้ำเพื่อทำการเกษตร และเป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์ปลาน้ำจืด

  • ทรัพยากรดิน สภาพดินในพื้นที่โดยทั่วไปมีความอุดมสมบูรณ์ ลักษณะของดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วน ดินเหนียว และดินร่วนปนทราย โดยเฉพาะทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้านที่มีอาณาเขตติดต่อกับแม่น้ำยวม ซึ่งมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำเหมาะแก่การเพาะปลูก โดยชาวบ้านจะใช้พื้นที่ในบริเวณนี้เป็นพื้นที่หลักสำหรับทำเกษตรกรรม

  • ทรัพยากรป่าไม้ เนื่องจากบ้านขุนยวมเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนภูเขาสูง ส่งผลให้พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้ที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ โดยป่าไม้ในบริเวณโดยรอบบ้านขุนยวมนั้นมีอยู่หลายประเภท ส่วนใหญ่จะเป็นป่าแดงและป่าเบญจพรรณ เช่น ไม้สัก ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้ตะเคียน ไม้พล่วง ไม้ประดู่ และไม้แดง เป็นต้น

การคมนาคม

สำหรับเส้นทางการคมนาคมที่ชาวบ้านขุนยวมใช้สำหรับเดินทางติดต่อกับหมู่บ้านอื่น จะใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 แต่ในฤดูฝนบางช่วงของถนนจะลื่นและมักมีดินทรุดเลื่อนลงมาบนไหล่ทาง หรือน้ำพัดหัวสะพานขาด ส่งผลให้การเดินทางต้องหยุดชะงัก แต่ก็เกิดเป็นบางช่วงในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น เมื่อมีการแก้ไขหรือฝนหยุดตก ก็จะสามารถกลับมาใช้เส้นทางได้ตามปกติ 

สถานที่สำคัญ

  • วัดม่วยต่อ เป็นวัดประจำชุมชนบ้านขุนยวม และวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองขุนยวมมาช้านาน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1216 โดยมีผู้ริเริ่มก่อสร้าง คือ ลุงจองจาย ภายในวัดมีเจดีย์องค์ใหญ่ที่สวยงาม มีโบสถ์ ศาลาการเปรียญ และพระประธานที่สร้างด้วยศิลปะแบบไทใหญ่ผสมพม่า

  • ศูนย์วัฒนธรรมพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดม่วยต่อ ภายในศูนย์วัฒนธรรมเป็นแหล่งจัดจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง ศูนย์วัฒนธรรมพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานสงครามโลกครั้งที่ 2 หรืออนุสรณ์สถานมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น เป็นสถานที่ที่บอกเล่าเรื่องราวตำนานรัก "โกโบริ-อังศุมาลิน" แห่งขุนยวม เรื่องราวความรักระหว่างทหารญี่ปุ่นและหญิงสาวชาวขุนยวม และเป็นที่เก็บรวบรวมประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของสงครามมหาเอเชียบูรพาที่เกิดขึ้นที่อำเภอขุนยวม และจัดแสดงเรื่องราวระหว่างชาวไทใหญ่ในอำเภอขุนยวมและทหารญี่ปุ่น มีนิทรรศการที่แบ่งส่วนออกเป็นเรื่องราวในแง่มุมต่าง ๆ ของทหารญี่ปุ่น โดยจะมีข้าวของและภาพถ่ายเก่าที่หาชมได้ยากประกอบ เศษซากรถยนต์ หีบใส่ของ ที่สื่อถึงการคมนาคมและการลำเลียงสิ่งของของทหารญี่ปุ่น ชีวิตความเป็นอยู่ของทหารที่จัดแสดงผ่านบ้านพักของทหารญี่ปุ่นที่มีเสื้อผ้าและสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัว การตำข้าวและการหุงหาอาหาร อาวุธและเครื่องมือต่าง ๆ อาทิ ดาบปลายปืน เครื่องมือดับเพลิง หีบบรรจุสิ่งของ และหม้อสนาม ฯลฯ

ปัจจุบัน บ้านขุนยวมเป็นหมู่บ้านที่มีผู้คนจากหลากสัญชาติ หลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกัน ได้แก่ ชาวไทใหญ่ ชาวปกาเกอะญอ ชาวม้ง และชนพื้นเมืองเดิม แต่เดิมชาวบ้านจะแบ่งเขตกันอยู่เป็นสัดส่วนตามกลุ่มชาติพันธุ์ของตน เช่น ไทใหญ่ อาศัยอยู่บริเวณตัวเมือง คนเมืองจะอยู่ท้ายหมู่บ้าน ส่วนปกาเกอะญอและชาวม้งจะอยู่บริเวณหัวหมู่บ้าน แต่ปัจจุบันทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในหมู่บ้านขุนยวมเริ่มเข้ามาอาศัยอยู่ปะปนกันโดยไม่ได้แบ่งสัดส่วนพื้นที่ชัดเจนดังแต่ก่อน โดยแบ่งการปกครองออกเป็น 2 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านขุนยวม หมู่ 1 และบ้านขุนยวม หมู่ 2 ดังนี้ (รายงานสถิติจำนวนประชากรเทศบาลตำบลขุนยวม ข้อมูล ณ วันที่ 18 พฤษภาคม 2566)

  • บ้านขุนยวม หมู่ 1 มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 1,311 ครัวเรือน ประชากร 2,276 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 1,117 คน และประชากรหญิง 1,159 คน

  • บ้านขุนยวม หมู่ 2 มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 504 ครัวเรือน ประชากร คน แบงเป็นประชากรชาย 516 คน และประชากรหญิง 533 คน

ไทใหญ่, ปกาเกอะญอ, ม้ง

ประชากรส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรม เช่น ทำนา ทำสวน เลี้ยงหมู รับจ้าง และรับราชการ 

แม้ว่าประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านขุนยวมจะเป็นชาวไทใหญ่และคนพื้นเมืองเดิม ทว่าภายในกลับไม่เคยมีปัญหาเรื่องการบดบังหรือเบียดขับวัฒนธรรมของประชากรที่เป็นคนกลุ่มน้อยในหมู่บ้านดังเช่นชาวม้งหรือชาวปกาเกอะญอ เนื่องจากทุกกลุ่มชาติพันธุ์ล้วนแล้วแต่ให้เกียรติและยอมรับซึ่งความทางวัฒนธรรมของกันและกัน อีกทั้งยังมีวัฒนธรรมร่วมที่ถือปฏิบัติร่วมกัน คือ การมีประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่คล้ายกับชาวพุทธทั่วไป

ปฏิทินประเพณี

  • เดือนก๋ำ (เดือนมกราคม) : ในเดือนนี้มีการทําข้าวปุกถวายเป็นพุทธบูชาและนําไปแจกทานให้แก่บ้านใกล้เรือนเคียง

  • เดือนสาม (เดือนกุมภาพันธ์) : ในเดือนนี้มีการทําบุญข้าวหย่ากู้ (ข้าวหย่ากู้ มีลักษณะคล้ายข้าวเหนียวแดง) ถวายเป็นพุทธบูชาและนําไปแจกทานภายในหมู่บ้าน

  • เดือนห้า (เดือนเมษายน) : ในเดือนนี้มีการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ มีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ

  • เดือนหก (เดือนพฤษภาคม) : ในเดือนนี้จะมีการก่อเจดีย์ทราย และทําขนมห่อเพื่อแจกทาน

  • เดือนแปด (เดือนกรกฎาคม) : เป็นเดือนเข้าพรรษา จะมีการบวชพระตลอดฤดูเข้าพรรษา มีการถวายอาหารคาวหวาน และมีการ “ต่างซอมต่อ” (ถวายข้าวมธุปายาส) และมีการทําขนมแจกจ่ายแก่บ้านใกล้เรือนเคียง และผู้เฒ่าผู้แก่จะไปนอนวัดทุกวันพระ

  • เดือนเก้า (เดือนสิงหาคม) : ในเดือนนี้มีการจัดงานสลากภัตร ชาวไทใหญ่เรียกว่า “มหาตุ๊ก” ชาวบ้านจะนำต้นสลากภัตรไปที่วัดและติดหมายเลขกำกับไว้ พระสงฆ์ สามเณรที่ได้รับนิมนต์ก็จะจับสลาก ได้หมายเลขใดก็จะไปรับต้นสลากจากศรัทธาของต้นสลากนั้น ๆ

  • เดือนสิบเอ็ด (เดือนตุลาคม) : ในเดืทอนนี้จะมีงานประเพณีออกพรรษา ซึ่งจะมีการแห่รูปสัตว์ในตำนานไปตามถนนในหมู่บ้าน เช่น นางนกโต ฯลฯ โดยจะจัดขึ้นในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 11 เป็นต้นไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ

  • ปอยส่างลอง : งานบรรพชาสามเณรหมู่ นิยมจัดในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เด็กนักเรียนปิดภาคเรียน การจัดงานแต่ละครั้งมักจะจัด 3-5 วัน ตามแต่ความสะดวก

  • ปอยล้อหรือปอยเหลิม : เป็นประเพณีทำบุญศพพระภิกษุที่มรณภาพ หรือผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคารพถึงแก่กรรม ถือเป็นงานใหญ่งานหนึ่งที่จัดขึ้นประจำทุกปี เป็นเวลา 5-7 วัน แล้วแต่กำลังศรัทธาของประชาชนหรือเจ้าภาพ

  • วานปะลึก : เป็นประเพณีการสืบชะตาบ้าน หรือการทำบุญบ้าน หรือการสืบชะตาเมือง โดยนิยมทำหลังเสร็จสิ้นงานสงกรานต์ไปแล้ว

  • จ่าก้าเพจอน : เป็นการทำบุญถวายอาหารแด่พระสงฆ์ และถวายข้าวแด่อุบาสกอุบาสิกาที่ไปจำศีลอยู่ที่วัดระหว่างจำพรรษาในช่วงวันพระ รุ่งขึ้นหลังจากวันพระ เจ้าภาพจะจัดอาหารไปแจกทานแก่ผู้ที่จำศีลภาวนาในคืนวันพระเพื่อจะได้รับประทานอาหารแต่เช้าตรู่ หลังจากที่ได้ถือศีลในคืนวันพระ

อาหารพื้นถิ่น

  • ข่างปอง : การนำมะละกอซอยมาทอดให้พองและกรอบ เป็นอาหารทานเล่นของชาวไทใหญ่

  • ถั่วเน่าแผ่น : ทำมาจากถั่วเหลืองหมักแล้วนำทำเป็นแผ่นบางๆ นำมาตากให้แห้ง

  • ถั่วเน่าซา : คือถั่วเหลืองหมักนำมาผัดกับเครื่องแกง

  • ส่วยทะมิน : ขนมหวานของชาวไทใหญ่ ทำจากข้าวเหนียวมูนกับน้ำอ้อย ราดหน้าด้วยกะทิแล้วเผาหน้าให้หอม

1. นายคำปัน ใจตุ่น  หมอพื้นบ้านรักษากระดูกหักด้วยวิธีการทางไสยศาสตร์

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาหลักที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารกันภายในชุมชน คือ ภาษาไทใหญ่ และภาษาพื้นเมืองล้านนา รวมถึงภาษาม้ง และปกาเกอะญอที่ใช้สื่อสารกับผผู้คนจากกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน

สำหรับภาษาไทใหญ่นั้นเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันกันเป็นหลักในอำเภอขุนยวม เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ ซึ่งมีภาษาเป็นของตนเองทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน อยู่ในตระกูลภาษากลุ่มไท-กะได ซึ่งใช้ในกลุ่มชาติพันธุ์ไทที่กระจายอยู่ในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงตอนใต้ของประเทศจีน ภาษาพูดของไทใหญ่เรียกว่า “ความไท” หรือ “ความไต” มีเสียงวรรณยุกต์ 5 เสียง คำศัพท์ส่วนใหญ่แตกต่างไปจากภาษาไทของกลุ่มชาติพันธุ์ไทอื่น ๆ ในล้านนาค่อนข้างมาก นอกจากนั้นยังได้รับอิทธิพลจากพม่ามาด้วย เนื่องจากรัฐฉานอยู่ในเขตแดนของประเทศสหภาพเมียนมา คำศัพท์หลายคำจึงเป็นคำศัพท์ของพม่าปนมาด้วย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สงครามมหาบูรพากับประวัติศาสตร์เมืองขุนยวม

สงครามมหาเอเชียบูรพา เริ่มจากญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรืออเมริกาที่อ่าวเพิร์ลฮาเบอร์ในฮาวายแล้วขยายวงกว้างครอบคลุมทั่วเอเชีย ประเทศไทยเริ่มได้รับผลกระทบเมื่อญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกชายฝั่งตะวันออกของประเทศไทย และขอใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปโจมตีฝ่ายสัมพันธมิตรในมลายู พม่า และอินเดีย ต่อมาประเทศไทยได้ลงนามเป็นสหายร่วมรบกับญี่ปุ่น และจัดตั้งกองทัพภาคพายัพขึ้นไปยึดเมืองเชียงตุงและดินแดนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวินในพม่า เป็นปีกขวาให้ทหารญี่ปุ่นในการรบเป็นแนวป้องกันทหารจีนกองพล 93 ลงมาตีตลบหลังเพื่อให้ทหารญี่ปุ่นรุกเข้าไปในพม่าและอินเดีย

ระหว่างสงคราม กองทัพญี่ปุ่นได้มีแนวคิดในการสร้างเส้นทางส่งกำลังบำรุงจากประเทศไทยเข้าไปในพม่า โดยพิจารณาจากเส้นทางที่ใกล้ที่สุด คือ เส้นทางเชียงใหม่-ตองอู ถูกกำหนดขึ้นโดยเริ่มจากบ้านแม่มาลัย อำเภอแม่แตง เข้าไปอำเภอปาย–อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน แล้วลงมาที่ขุนยวม ก่อนจะดำเนินการขุดต่อไปยังชายแดนไทย-พม่าที่บ้านห้วยต้นนุ่น เข้าประเทศพม่าข้ามน้ำสาระวิน ไปบรรจบกับเส้นทางย่างกุ้ง–ตองอู เพื่อมุ่งหน้าไปยังตองอู และต่อไปยังชายแดนพม่า-อินเดีย เส้นทางนี้ถูกสร้างโดยแรงงานคนจากการเกณฑ์จ้างราษฎรในเขตอำเภอขุนยวมและพื้นที่อื่น ๆ เช่น อำเภอข้างเคียงและจังหวัดข้างเคียง (เน้นการจ้างคนตามพื้นที่ที่ถนนตัดผ่าน) เป็นเหตุให้เริ่มมีการติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างทหารญี่ปุ่นกับคนในพื้นที่ เพราะมีการจ้างงาน และติดต่อซื้อขายสินค้าจำเป็นระหว่างกัน อีกทั้งกองทัพญี่ปุ่นยังใช้ขุนยวมเป็นแหล่งพำนักภายหลังถูกกองทัพสัมพันธมิตรโจมตีจนต้องถอยร่นกองกำลังเพราะไม่อาจสู้ต่อได้

บทสรุปของมหากาพย์สงครามมหาเอเชียบูรพาครั้งนี้สิ้นสุดลงเมื่อกองทัพสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ทำให้ประชาชนเสียชีวิตไปหลายแสนคน สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นทรงประกาศยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไข ทหารญี่ปุ่นจึงต้องยอมรับความปราชัย ที่ไม่ยอมรับการพ่ายแพ้ก็ฆ่าตัวตาย โดยการคว้านท้องตัวเองด้วยซามูไรสั้นที่พกติดตัว

หลังจากสงครามโลกจบลง กองทัพญี่ปุ่นในฐานะผู้แพ้สงครามต้องถอนกำลังออกจากประเทศไทย สิ่งที่พวกเขาทิ้งไว้ให้กับชาวขุนยวมจึงเป็นข้าวของเครื่องใช้ของทหารญี่ปุ่นจำนวนมาก พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานไทย-ญี่ปุ่น ในที่ตั้งเดิมว่ากันว่าเป็นจุดที่ใช้ฝังร่างของทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิตในสงคราม โดยพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัดม่วยต่อ ซึ่งญี่ปุ่นใช้เป็นโรงหมอในอดีต ต่อมาได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ ภายในจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของทหารญี่ปุ่นที่ชาวขุนยวมได้นำมาบริจาคไว้ให้ศึกษา นอกจากนี้ยังจัดแสดงถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวไทใหญ่ซึ่งเป็นประชากรหลักในอำเภอขุนยวมเอาไว้ด้วย

ชานาพิ้ง. (2563). พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานไทย-ญี่ปุ่น มิตรภาพบนร่องรอยแห่งสงคราม. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2566 , จาก https://news.trueid.net/detail/Gn6jaK65eJwn

เทศบาลตำบลขุนยวม. (2566). ประวัติความเป็นมาเทศบาลตำบลขุนยวม. สืบค้นเมื่อ 18 พฤษภาคม 2566 , จาก http://www.khunyuam.go.th/index.php?_mod=ZGl5&type=MQ

สุดชีวี ชมงานดี และคณะ. (2553). การศึกษาแนวทางที่เหมาะสมในการลดหมอกควันตำบลขุนยวม โดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน (รายงานการวิจัย). สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว).

ศนัฎฐ์ชล สุ่มสมบูรณ์. (2562). สัมผัสวิถีชีวิต วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นโบราณ. สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2566 , จาก https://thainews.prd.go.th/

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (2555). พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2. สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2566 , จาก https://db.sac.or.th/museum/

องค์การบริหารส่วนตำบลขุนยวม. (ม.ป.ป.). ประวัติความเป็นมาตำบลขุนยวม. สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2566 , จาก https://www.khunyuamlocal.go.th/

บุญกิจ นิลละออง. ผู้ใหญ่บ้านเมืองปอน ตำบลขุนยวม อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน. (18 กุมภาพันธ์ 2566). สัมภาษณ์.