ชุมชนดั้งเดิมที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ภายในชุมชนมีการผลิตผ้าขาวม้าร้อยสี ซึ่งเป็นภูมิปัญญาการทอผ้าที่สอบทอดต่อกันมาในชุมชน มีวัดอินทารามหรือวัดหนองขาว เป็นศาสนสถานสำคัญประจำชุมชน
มาจากชื่อที่ตั้งหมู่บ้าน เดิมชื่อ “บ้านหนองหญ้าดอกขาว” ซึ่งเป็นหนองน้ำแห่งใหญ่ พออาศัยอุปโภคและบริโภคได้นานวัน ประกอบกับอยู่ไม่ห่างจากหมู่บ้านเดิมมากนัก ต่อมาชื่อของหนองน้ำก็กลายเป็นชื่อของหมู่บ้าน การเรียกขานว่า “หนองหญ้าดอกขาว” ดูเหมือนจะยาวเกินไป ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า “หนองขาว” ปัจจุบันหนองหญ้าดอกขาวถูกลบเลือนไปหมดแล้ว กลายเป็นที่ตั้ง บ้านเรือนในปัจจุบัน
ชุมชนดั้งเดิมที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ภายในชุมชนมีการผลิตผ้าขาวม้าร้อยสี ซึ่งเป็นภูมิปัญญาการทอผ้าที่สอบทอดต่อกันมาในชุมชน มีวัดอินทารามหรือวัดหนองขาว เป็นศาสนสถานสำคัญประจำชุมชน
ย้อนหลังไปในอดีตกาลเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ครองราชย์สมบัติ ราวพุทธศักราช 2310 กรุงศรีอยุธยากําลังอยู่ในระหว่างสงคราม พม่าได้ยกกองทัพเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาทําให้ต้องเสียกรุงครั้งที่ 2 ประชาชนตามท้องถิ่นต่าง ๆ ในเขตจังหวัดกาญจนบุรีได้กระจัดกระจายหลบซ่อนข้าศึกอยู่ตามป่าเขาลําเนาไพร และแยกย้ายกันหลบหนีภัยจากข้าศึกที่ยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ กาญจนบุรีเป็นเมืองหน้าด่าน จึงเป็นเส้นทางเดินทัพของพม่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ตําบลหนองขาวซึ่งเป็นตําบลหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี ประกอบด้วย 2 หมู่บ้านคือ หมู่บ้านดงรัง มีวัดประจําหมู่บ้านคือ วัดใหญ่ดงรัง และหมู่บ้านดอนกระเดื่องมีวัดโบสถ์เป็นวัด 53 ประจําหมู่บ้าน ได้รับภัยจากข้าศึก วัดวาอารามและบ้านเรือนถูกพม่าข้าศึกเผาผลาญพังพินาศ ถึงแม้เหล่าราษฎรทั้งสองหมู่บ้านจะได้รวมกําลังเข้าทําการต่อสู้อย่างกล้าหาญแล้วก็ตาม ก็ไม่สามารถต้านกําลังของข้าศึกทัพใหญ่ของพม่าในครั้งนั้นได้ร่องรอยแห่งการต่อสู้กับพม่ายังปรากฏ “คูรบ” ให้เห็นเป็นสักขีพยานอยู่ช่วงอายุของชนรุ่นหนึ่งราวปี พ.ศ. 2530 ชาวบ้านจะเรียกบริเวณนี้ ว่า “ทุ่งคู” แต่ด้วยเป็นพื้นที่ทํานา การใช้พื้นที่จึงทําให้คูรบถูกลบเลือนไปบ้างแต่การเรียกขานก็ยังเหมือนเดิม
ทางทิศใต้ของบ้านหนองขาวปัจจุบันเดิมเป็นบ้านดงรัง ก็ยังคงปรากฏซากปรักหักพังของเจดีย์ พระอุโบสถ พระพุทธรูป และขอบเขตขัณฑเสมา ปัจจุบันได้รับการบูรณะเป็นวัดใหม่ ชื่อว่า “วัดส้มใหญ่” หรือ “วัดใหญ่ดงรัง” ที่เรียกทั้งสองชื่อก็มีผู้ใหญ่เล่าตํานานให้ฟังหลายประเด็นด้วยกัน บ้างก็เล่าว่าวัดนี้เคยเป็นที่บวชเณรของพลายแก้ว บ้างก็เล่าถึงตํานานของนางส้มใหญ่ เป็นต้น
หมู่บ้านดอนกระเดื่องอยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านหนองขาวไป 1 กิโลเมตรเศษนั้น ได้รับความเสียหายมากจนเหลือให้เห็นเพียงซากเจดีย์บางส่วนเท่านั้น ปัจจุบันคือที่ตั้งของ โรงเรียนหนองขาวโกวิทพิทยาคม ซึ่งชาวบ้านจะเรียกบริเวณนี้ว่า “วัดโบสถ์”
ซากของวัดที่ปรักหักพังทั้งสองแห่งนี้ คงสงวนไว้เป็นอนุสรณ์ของชาวตําบลหนองขาว เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงเรื่องราวในอดีตและภัยแห่งสงคราม อันเป็นเครื่องชี้บ่งบอกถึงความสามัคคีและความกล้าหาญของบรรพบุรุษ หลังจากสงครามยุติลงในปีพุทธศักราช 2310 เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินกู้เอกราชกลับคืนมา ได้ขับไล่พม่าแตกพ่ายหนีไปจากแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินขึ้นครองราชสมบัติ ทรงพระนามว่าพระเจ้ากรุงธนบุรี ความสงบและ สันติสุขกลับคืนสู่แผ่นดินอีกครั้งหนึ่ง ราษฎรของหมู่บ้านดงรังกับบ้านดอนกระเดื่องที่หลงเหลือจากภัยสงครามในครั้งนั้นได้มารวมกันเป็นกลุ่มเดียว ตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้นใหม่ที่บริเวณหนองน้ำใหญ่แห่งหนึ่ง ตั้งเป็นหมู่บ้านเรียกว่า “บ้านหนองหญ้าดอกขาว” ซึ่งเป็นหนองน้ำแห่งใหญ่พออาศัยอุปโภคและบริโภคได้นานวัน ประกอบกับอยู่ไม่ห่างจากหมู่บ้านเดิมมากนัก ต่อมาชื่อของหนองน้ำก็กลายเป็นชื่อของหมู่บ้าน การเรียกขานว่า “หนองหญ้าดอกขาว” ดูเหมือนจะยาวเกินไป ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า “หนองขาว” ปัจจุบันหนองหญ้าดอกขาวถูกลบเลือนไปหมดแล้ว กลายเป็นที่ตั้งบ้านเรือนในปัจจุบัน
หมู่บ้านหนองขาวเป็นหมู่บ้านที่ใหญ่มาก ในสมัยที่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้รับการเอาใจใส่จากพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ อันได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรส และพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จเมืองกาญจนบุรีจะเสด็จผ่านบ้านหนองขาวด้วย ดังพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ของเจ้าพระยาทิภากรณ์วงศ์กล่าวว่า รุ่งขึ้นแรม 14 ค่ํา (รัชกาลที่ 5) เสด็จจากพลับพลาเมืองกาญจน์ถึงพลับพลาบ้านหนองขาว ประทับแรมอยู่หนึ่งราตรีและได้ทรงพระราชนิพนธ์ในกลอนไดอารี ความตอนหนึ่งว่า “ราษฎรพากันมาดาษดื่น เห็นแต่ นั่งหน้าพลับพลากันห้าร้อย มีเชี่ยนโต๊ะขันหมาก ขันพานบ้านนอก ข้าวหลามสี่ห้ากระบอก ขนม ไหม้ จัดตามจนมีกันคนละเล็กละน้อย มานั่งคอยถวายล้อมอยู่พร้อมเพรียง ทรงปราศรัยไปทุกหน้าที่มานั้น ก็ทูลกันสนองออกซ้องเสียง ฟังเหน่อหน่าตามประสาแปร่งสําเนียง บ้างขึ้นเสียงทานทัด ขัดคอกัน” (มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2537, อ้างถึงใน กรรณิการ์ ทิมหอม, 2550, น.50)
ประวัติศาสตร์ดังกล่าวได้สะท้อนความเจริญของท้องถิ่นในยุคนั้นไว้ซึ่ง ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ได้อธิบายว่า “ท้องถิ่นนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของความเจริญรุ่งเรืองของยุคสุวรรณภูมิ อันมีเมืองอู่ทองเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะท้องถิ่นพนมทวนที่หนองขาวเป็นส่วนหนึ่งนั้น เป็นบริเวณต้นน้ำของแม่น้ำจระเข้สามพันที่ไหลผ่านที่ราบลุ่ม อันเป็นแหล่งของบ้านเมืองในยุคสุวรรณภูมิ ที่มีอายุแต่ต้นพุทธกาลลงมาจนถึงสมัยทวารวดี อีกทั้งยังมีแหล่งโบราณคดีที่ยังแสดงให้เห็นว่ามีการติดต่อกับชาวจีน เวียดนามและอินเดีย ชุมชนหนองขาวเป็นชุมชนขนาดใหญ่จึงมีวัดที่อยู่เหนือ ระดับความเป็นวัดในระดับหมู่บ้านเล็กๆ ให้ประจักษ์คือ อาจมองจากสิ่งสําคัญที่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชุมชนขนาดใหญ่คือ พระปรางค์ที่สถูปสําคัญ เนื่องจากวัดขนาดเล็กมักไม่มีสถูป เจดีย์ประธาน และวิหารพระป่าเลไลย์ เป็นต้น
จากที่กล่าวมาข้างต้น พอจะสรุปได้ว่า ชาวบ้านหนองขาวน่าจะสืบเชื้อสายมาจากชาวพื้นเมืองดั้งเดิมในแถบกาญจนบุรีและสุพรรณบุรี ซึ่งมีภาษาและสําเนียงพูดเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นของตนเอง นอกจากนี้เรื่องราวของชุมชนแห่งนี้ยังปรากฏในตํานานและวรรณคดี เช่น เรื่องขุนช้างขุนแผน ดังคําบอกเล่าตามตํานานว่า “วัดส้มใหญ่และวัดดงรัง ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของบ้านหนองขาวในปัจจุบันแต่เดิมเคยเป็นที่บวชเณรของพลายแก้ว” เป็นต้น
หมู่บ้านหนองขาวได้ผ่านความเจริญขึ้นตามลําดับจวบจนปัจจุบัน ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายอยู่ในสังคมเกษตรกรรม สภาพบ้านเรือนแบบไทยสมัยเก่า มีวิถีชีวิตและขนบธรรมเนียมแบบโบราณ ยังเป็นภาพชินตาให้เห็นอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน
บ้านหนองขาวตั้งอยู่บนสองฝั่งของถนนหลวงสายกาญจนบุรี – พนมทวน ซึ่งจะต่อไปจนถึงอู่ทองและสุพรรณบุรี บ้านหนองขาวอยู่ห่างจากกาญจนบุรีไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 12 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวอำเภอท่าม่วงไปทางทิศตะวันออกประมาณ 9 กิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ต.ทุ่งสมอ ต.หนองโรง อ.พนมทวน
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ต.ท่าล้อ อ.ท่าม่วง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ต.ทุ่งทอง อ.ท่าม่วง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ต.ปากแพรก อ.เมืองกาญจนบุรี
ชุมชนบ้านหนองขาวถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน โดยมีถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 324 เส้นกาญจนบุรี – อู่ทอง ตัดผ่านกลางชุมชนซึ่งเป็นพื้นที่ดอน ส่วนพื้นที่ทำกินนั้นกระจายอยู่โดยรอบ
การคมนาคม
โดยทั่วไปจะใช้การคมนาคมทางรถยนต์เป็นหลัก ซึ่งมีเส้นทางการคมนาคมที่สำคัญ ได้แก่
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 324
- ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3084
- ถนนเลียบคลองส่งน้ำชลประทานขวา 1 และซ้าย 1
- ถนนเลียบคลองส่งน้ำชลประทานท่าล้อ
- ถนนเลียบคลองชลประทานซ้าย
เส้นทางการคมนาคมเข้าถึงสะดวก มีรถโดยสารขนาดเล็ก ได้แก่ สายกาญจนบุรี – ดอนเจดีย์ กาญจนบุรี – รางหวาย และรถโดยสารขนาดใหญ่ได้แก่ สายกาญจนบุรี – เลาขวัญ สายกาญจนบุรี – สุพรรณบุรี
พื้นที่สาธารณะ และสาธารณูปโภคในชุมชน
ชุมชนบ้านหนองขาว เป็นพื้นที่ที่มีโครงสร้างสาธารณูปโภค – สาธารณูปการ ที่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากมีส่วนสถานพยาบาล สถานศึกษา และหน่วยงานราชการ
ทรัพยากรทางธรรมชาติ
แหล่งน้ำ แหล่งน้ำที่สำคัญ แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ
1. แหล่งน้ำเพื่อการเกษตรที่สําคัญ ได้แก่ ลําห้วย มี 2 สายได้แก่ ลําห้วยบ้านตะลุง และลําห้วยบ้านเปรียง คลองชลประทานโอบล้อมด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออกของพื้นที่ชุมชน อ่างเก็บน้ำโครงการส่งเสริมพัฒนาชนบท (กสช.) 1 แห่ง และสระน้ำที่กระจายอยู่ทั่ว 11 แห่ง ตลอดจนฝายน้ำล้น และหนองน้ำ
2. แหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ชาวบ้านหนองขาวใช้น้ำจากบ่อน้ำตื้น 21 แห่ง ซึ่งกระจายอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ ทุกหมู่บ้าน บ่อน้ำบาดาลมี 2 แห่ง ซึ่งขุดเจาะโดยใช้เครื่องสูบน้ำขึ้นถังประปาหมู่บ้าน มีในเขตเทศบาลครบทุกครัวเรือน
ป่าไม้
ป่าไม้ในตําบลหนองขาวส่วนที่จัดว่าหนาแน่นจะอยู่ในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นเขตที่ต่อเนื่องกับภูเขาหลายเทือก เช่น เขานมยอ เป็นต้น พื้นที่ดังกล่าวเป็นลักษณะป่าโปร่งชายเขา อาจมีบางส่วนที่หนาแน่นสลับกันระหว่างต้นไม้ขนาดกลางถึงไม้ขนาดใหญ่ ที่สําคัญพื้นที่ป่าแห่งนี้ คือที่มาของลําธารน้ําหลายสายที่ไหลลงสู่ที่ราบลุ่มในหมู่บ้าน ชาวบ้านใช้พื้นที่ป่าดังกล่าวในการเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ เก็บของป่า หรือเป็นที่ราบลุ่มในการทํามาหากิน
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านหนองขาว จำนวน 151 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 411 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 197 คน หญิง 214 คน ปัจจุบันพื้นที่โดยรอบวัดอินทาราม (วัดหนองขาว) นับเป็นย่านศูนย์กลางชุมชนที่มีบ้านเรือนตั้งอยู่กับตึกแถวที่สร้างขึ้นใหม่ สันนิษฐานได้ว่า ชุมชนแห่งนี้มีคนจีนปะปนอยู่ มีอาชีพประกอบการค้า และหากพิจารณาอาคารต่างๆ เช่น ร้านค้า โรงเรียน อาคารอนามัย บ้านเก่าเรือนหลังคาปั้นหยา มีลวดลายแกะฉลุที่มีอายุรุ่นเดียวกับอาคารโรงเรียน แสดงให้เห็นว่า โครงสร้างทางกายภาพดังกล่าว เป็นระดับทางสังคมไม่ใช่ชุมชนในระดับหมู่บ้าน แต่เป็นชุมชนระดับเมือง
ปัจจุบันชาวตำบลหนองขาว กล่าวได้ว่า มีความหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์มาก ขณะที่บรรพบุรุษที่เข้ามาอาศัยอยู่เริ่มแรกก็ยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่ด้วยมีการคาดคะเนว่า น่าจะมาก่อนหรือหลังปี พ.ศ. 2460 โดยเป็นกลุ่มคนเชื้อสายชาวจีน นอกจากนี้ ถ้ามองจากหลักฐานทางวัฒนธรรมที่ผ่านมาจะพบว่า มีทั้งมอญ ไทย ลาว ฯลฯ มากมาย แต่มีประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดมาแต่โบราณของชาวหนองขาว คือ ความเชื่อเรื่องหม้อยาย ศาลเจ้าพ่อแม่ นั้นเป็นประเพณีของมอญ จึงสันนิษฐานได้ว่า ชาวมอญน่าจะอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในชุมชนหนองขาวในยุคเริ่มแรก ใกล้กันกับการอพยพเข้ามาของชาวจีน ชาวลาว และชาวไทยจากท้องถิ่นอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าชาติพันธุ์พื้นเมืองของชาวหนองขาวเป็นชาวมอญแต่อย่างใด เพราะไม่มีหลักฐานชี้ชัดลงไปได้อย่างแน่นอน
จีน, มอญ1. ร้านศูนย์กลางชุมชนหมู่บ้านอุตสาหกรรมเพื่อการท่องเที่ยวบ้านหนองขาว ศูนย์ JBIC ดำเนินการภายใต้ความร่วมมือระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan Bank for International Cooperation : JBIC) ซึ่งชาวบ้านในชุมชนบ้านหนองขาวจะพากันเรียกศูนย์นี้ว่า ศูนย์ JBIC
กลุ่มมัดย้อมทอผ้าบ้านหนองขาว ในอดีตกลุ่มมัดย้อมเป็นกลุ่มทอผ้ากลุ่มหนึ่งที่ตั้งขึ้นในชุมชนภายใต้การดูแลของนาง หมากบ บุญเฉลย ซึ่งเป็นคนในชุมชนหนองขาวในขณะนั้นกลุ่มมัดย้อมมีลูกกี่อยู่ไม่กี่คน ส่วนใหญ่จะนิยมมาทอผ้าขาวม้าเพื่อเป็นอาชีพเสริมในช่วงเวลาที่ว่างจากการทำนา ทำไร่ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2543 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนงานเงินกู้เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว JBIC จำนวนเงิน 54.60 ล้านบาท เพื่อใช้ในการก่อสร้างศูนย์กลางชุมชน ซึ่งประกอบด้วยร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึก ที่จัดแสดงงานหัตถกรรมและวิธีการผลิต อาคารสุขาสาธารณะ และลานจอดรถสำหรับนักท่องเที่ยว
การดำเนินงานของกลุ่มจะเริ่มจากนายทุนของกลุ่มในที่นี้หมายถึง นางหมากบ บุญเฉลย จะเป็นผู้ออกทุนจัดซื้อเส้นด้ายมาไว้ที่บ้านของตน จากนั้นสมาชิกในกลุ่มซึ่งในปัจจุบัน (พ.ศ. 2553) กลุ่มมีลูกกี่จำนวน 15 คน จะมารับเส้นด้ายที่ใช้สำหรับทอผ้าขาวม้าร้อยสีจาก นางหมากบ บุญเฉลย โดยนางหมากบ จะเป็นผู้จัดเตรียมสีและบอกลายที่ต้องการ จากนั้นเมื่อชาวบ้านทอผ้าขาวม้าร้อยสีเสร็จเป็นผืนแล้วจะนำมาส่งคืนให้กับนางหมากบ โดยจะถูกหักค่าเส้นด้ายที่นำไปก่อน ส่วนที่เหลือจะเป็นค่าแรงในการทอลักษณะการรับซื้อจะเป็นการซื้อขาด ในปัจจุบันราคาเส้นด้ายที่นายทุนจำหน่ายให้ลูกกี่อยู่ที่ไจละ 16.50 บาท หลังจากนั้นนางหมากบจะรวบรวมผ้าขาวม้าร้อยสีที่ได้จากการทอของลูกกี่ของตน และมาวางจำหน่ายที่อาคารศูนย์กลางชุมชน โดย นางหมากบ จะเป็นผู้ดูแลและจำหน่ายสินค้าในศูนย์ด้วยตัวเอง โดยศูนย์จะเปิดจำหน่ายสินค้าในวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 9.00-16.00 น.
2. กลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านหนองขาว กลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านหนองขาวจัดตั้งขึ้นภายใต้องค์กรสหกรณ์การเกษตรสุวรรณภูมิ จำกัด โดยกลุ่มจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2547 โดยได้รับเงินสนับสนุนมาจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ให้ดำเนินกิจการส่งเสริมการทอผ้าขาวม้า และจำหน่ายผ้าขาวม้าร้อยสีบ้านหนองขาว เป็นการส่งเสริมให้สตรีมีงานทำและมีรายได้เสริม
3. กลุ่มสตรีอาสาผ้าทอบ้านหนองขาว การรวมกลุ่มเป็นองค์กรสตรี เริ่มจากกรมการพัฒนาชุมชนได้พัฒนาจัดตั้งขึ้น ทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 เป็นต้นมาเพื่อมุ่งให้สตรีในชนบท มีโอกาสในกระบวนการคิดและการตัดสินใจ แก้ไขปัญหาร่วมกัน ตลอดจนมีส่วนร่วมในการพัฒนา เศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง และสิ่งแวดล้อม โดยในปลายปี พ.ศ. 2524 นายสุวรรณ ดิษฐาน นายอำเภอท่าม่วงได้ออกคำสั่งให้ผู้นำชุมชนบ้านหนองขาวจัดตั้งกลุ่มสตรีอาสาพัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้สตรีบ้านหนองขาวรู้จักการทำงานเป็นกลุ่ม และส่งเสริมการฝึกอบรมกิจกรรมเพิ่มรายได้และพัฒนาความเป็นผู้นำในการประกอบอาชีพเพิ่มรายได้แก่ครอบครัว และชุมชนรวมถึงเป็นการช่วยเหลือกิจกรรม สังคมในหมู่บ้านให้ปลอดยาเสพติด
4. ชมรมการท่องเที่ยวหมู่บ้านวัฒนธรรมบ้านหนองขาว โดยมีประธานชมรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเจ้าอาวาสวัดอินทารามเป็นผู้นำสำคัญ สมาชิกในชุมชนให้ความร่วมมือในบทบาทผู้ดำเนินการจัดการท่องเที่ยว ตลอดจนร่วมกันเป็นศูนย์บริการข้อมูลทางการท่องเที่ยวในชุมชนในฐานะศูนย์กลางชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อให้บริการให้คำแนะนำด้านการท่องเที่ยว อาทิ เส้นทางการเดินทาง สถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงบริการจัดการท่องเที่ยว แบ่งได้ 2 ประเภท คือ ระยะสั้น 1 วัน หรือ ระยะยาว 1 คืน ทั้งที่มาท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะหรือมาศึกษาดูงาน เป็นต้น
ด้านกลุ่มอาชีพ
ในอดีตชาวบ้านในชุมชนบ้านหนองขาว ดำรงชีวิตตามวิถีชาวนาไทยเช่นเดียวกับคนไทยในภาคกลางทั่วไป ที่ถือการทำนาเป็นอาชีพหลัก เมื่อเสร็จสิ้นการทำนาก็อาศัยเวลาว่างในการทอผ้า เพื่อนำมาใช้ภายในครัวเรือน ส่วนใหญ่มักทำกันในหมู่สตรีตั้งแต่เด็กจนถึงวัยชรา เรียกได้ว่าในหนึ่งครอบครัวต้องมีคนทอผ้าเป็นอย่างน้อยหนึ่งคน วิถีชีวิตของขาวบ้านหนองขาวจึงผูกพันธ์อยู่กับการทอผ้า และมีการสืบทอดภูมิปัญญามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันผู้คนในชุมชนประกอบอาชีพหลากหลาย ส่วนอาชีพที่นิยมทำส่วนใหญ่ยังคงเป็นการทำนา รองลงมาคือการรับจ้างทั่วไป นอกจากนี้ ผู้คนในชุมชนบ้านหนองขาว ยังประกอบอาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมภายในพื้นที่ชุมชนด้วย
ในรอบปีของผู้คนชุมชนบ้านหนองขาว มีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น ดังต่อไปนี้
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
ชุมชนบ้านหนองขาวมีการจัดกิจกรรมประเพณีที่หมุนเวียนตลอดทั้งปี โดยมีรายละเอียด ดังนี้
เดือน กิจกรรมประเพณี
เดือนอ้ายหรือเดือนธันวาคม ในเดือนนี้ไม่มีงานประเพณี เดือนนี้เป็นช่วงที่ชาวบ้านเกี่ยวข้าว จะมีการลงแขกเกี่ยวข้าว
เดือนยี่หรือเดือนมกราคม การทำบุญขึ้นปีใหม่ (สากล)
เดือนสามหรือเดือนกุมภาพันธ์ พิธีรับขวัญข้าว วันมาฆาบบูชา
เดือนสี่หรือเดือนมีนาคม การทำบุญตรุษ
เดือนห้าหรือเดือนเมษายน ประเพณีตรุษไทย ประเพณีสงกรานต์
เดือนหกหรือเดือนพฤษภาคม พิธีขอฝน วันวิสาขบูชา งานปีหรืองานประจำปี
เดือนเจ็ดหรือเดือนมิถุนายน ชาวบ้านจะมีการดำนาโดยมีการเอาแรง คือ ฝ่ายชายจะไปช่วยฝ่ายหญิงดำนาในเดือน 6 ส่วนฝ่ายหญิงจะไปช่วยดำนาในเดือน 7 ถึงเดือน 8
เดือนแปดหรือเดือนกรกฎาคม วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา
เดือนเก้าหรือเดือนสิงหาคม ทำบุญตามวันพระ
เดือบสิบหรือเดือนกันยายน ประเพณีสารทไท
เดือนสิบเอ็ดหรือเดือนตุลาคม ทำบุญออกพรรษา ทอดกฐิน ทำขวัญข้าว
เดือนสิบหรือเดือนพฤศจิกายน งานเทศน์มหาชาติ
เนื่องจาก วิถีชีวิตของชาวหนองขาวมีความผูกพันธ์กับผ้าขาวม้ามาตั้งแต่อดีต นอกเหนือจากการนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันแล้ว ยังมีการนำมาใช้ในพิธีการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิต อย่างเป็นลำดับขั้นตอน ดังต่อไปนี้
1. พิธีบวช ท้องถิ่นหนองขาวเป็นชุมชนชาวพุทธที่มีความเชื่อว่า ลูกผู้ชายที่บวชเรียนจะช่วยให้บิดามารดาได้เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ ซึ่งชาวหนองขาวนิยมบวชพระในเดือน 3 และเดือน 7 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะเข้าพรรษาในเดือน 8 ส่วนใหญ่จะบวชเป็นเวลา 3 เดือนเพื่อให้ครบพรรษา ผ้าขาวม้าเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องนับตั้งแต่แรก คือ ผ้าอาบน้ำนาค ซึ่งจะใช้ผ้าขาวม้า โดยผ้านุ่งนาค (เข็มขัดรัดเอว) นั้น บางทีจะเช่าจากบ้านที่แต่งนาค จากนั้นจึงให้นาคแต่งกายชุดขาว เพื่อทำพิธี “แห่นาค” ไปวัด โดยให้นาคขี่ม้าไป ซึ่งม้าที่ขี่นั้นจะมีการตกแต่งด้วยผ้าขาวม้าอย่างสวยงาม ครั้นเมื่อถึงวันลาสิกขาบทหรือวันสึก จะมีพิธีให้ผู้บวชนำผ้าขาวม้ามากราบลา พ่อ แม่ ญาติผู้ใหญ่ ซึ่ง ผ้าดังกล่าวเรียกว่า “ผ้าประจุ”
2. พิธีแต่งงาน หลังจากที่ผ่านการบวชเรียนเรียบร้อยแล้ว สังคมไทยเชื่อว่า เป็นกระบวนการขัดเกลา อารมณ์ และความคิดให้มีความสุขุมรอบคอบ เป็นแนวทางในการครองคนและเป็นผู้นำครอบครัว สำหรับพิธีแต่งงานนั้นผ้าขาวม้าร้อยสีเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องของขั้นตอนการไหว้ ผ้าไหว้เป็นผ้าที่คู่ บ่าวสาวจะใช้สำหรับไหว้แสดงความเคารพญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย โดยเจ้าบ่าวจะนิยมไหว้ด้วยผ้าขาวม้า ส่วนเจ้าสาวจะนิยมไหว้ด้วยผ้าถุง ขั้นตอนฝ่ายญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายจะให้เงินรับไหว้ตามพิธี นอกจากนี้ฝ่ายเจ้าสาวจะจัดเตรียมชุดเสื้อผ้าให้เจ้าบ่าว 1 ชุด ประกอบไปด้วย เสื้อ กางเกง ผ้าขาวม้า เพื่อใช้ใส่สำหรับทำบุญในตอนเช้าของวันถัดไป
3. พิธีการทำขวัญแม่โพสพ ชาวบ้านหนองขาวมีอาชีพหลัก คือ การทำนา ทำให้มีลักษณะร่วมทางสังคม วัฒนธรรมเหมือนภูมิภาคอื่น ๆ คือ วัฒนธรรมข้าว (rice culture) พิธีการทำขวัญแม่โพสพจะทำขึ้นในวันศุกร์ข้างขึ้นช่วงเดือน 11 ถึงเดือน 12 ประเพณีการทำขวัญแม่โพสพ ทำเมื่อข้าวเริ่มตั้งท้อง ด้วยความเชื่อที่ว่าข้าวตั้งท้องออกรวง ก็คือการที่แม่โพสพแพ้ท้องเหมือนคน จึงอยากกินของเปรี้ยว ของหวาน เช่นเดียวกันกับผู้หญิงแพ้ท้อง จึงต้องนำข้าวพล่า ปลายำ หัวข้าวหัวแกง ส้มเขียวหวาน หรือส้มมะขาม กล้วย ถั่ว งา น้ำ ดอกไม้ ธูปเทียน มาบูชาแม่โพสพ นอกจากนั้นจะมีการเตรียมเครื่องแต่งตัวให้แก่แม่โพสพ โดยชาวบ้านจะนำผ้าขาวม้าไปหุ้มที่กอข้าว เอาหวีเสียบที่กอข้าว 1 อัน และนำทองไปสวมที่ต้นข้าว ประพรมต้นข้าวด้วยน้ำอบน้ำหอม ส่วนถ้อยคำที่บูชาต่อข้าวที่กำลังตั้งท้อง ซึ่งผู้ทำขวัญข้าวจะต้องเป็นผู้กล่าวดังนี้ “แม่โพสพ แม่โพศรี แม่จันทร์เทวี มาแม่มาเชิญมาเสวยเครื่องกระยาบวช ของเปรี้ยว ของหวาน ข้าวพล่า ปลายำ แพ้ท้องแพ้ไส้ ออกง่ายออกดาย” หลังจากนั้นจึงจุดธูปเทียน เรียกแม่โพสพจากนาทุกแปลงมารับของเซ่น หลังจากนั้นจะนั่งรอชั่วระยะหนึ่งแล้วก็ลา เมื่อถึงฤดูเกี่ยวข้าวและเอาข้าวขึ้นยุ้ง ก็จะมีพิธีทำขวัญยุ้งอีกในราวเดือน 4 โดยการเตรียมหัวข้าวหัวแกง ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ผ้าขาวม้า 1 ผืน ผ้าห่ม 1 ผืน ไม้กวาด 1 อัน กระด้ง 1 ลูก วางไว้ในยุ้งเป็นเวลา 3 วัน หลังจากนั้นจึงตักข้าวในยุ้งมาหุงใส่บาตร เพื่อทำบุญ ให้กับแม่โพสพ
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
ชุมชนบ้านหนองขาว เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างชุมชนที่มีการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่น่าสนใจ ซึ่งได้รับรองวัล “Thailand Tourism Awards ปี 2545” “Ego Tourism Awards ปี 2547” และได้รับการส่งเสริมให้เป็นหมู่บ้านอุตสาหกรรมตามโครงการ “20 หมู่บ้านอุตสาหกรรมใน 19 จังหวัด ปี 2548” เป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จในการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่มีศักยภาพและความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวที่สนใจศึกษาหาความรู้และประสบการณ์การท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงเกษตร และวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น รวมถึงสถานที่ตั้งซึ่งเป็นเส้นทางผ่านจากกรุงเทพฯ ไปยังตัวเมืองและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในจังหวักาญจนบุรี ทำให้นักท่องเที่ยวและผู้สัญจรผ่านที่ต้องการหาที่พักราคาไม่สูง แต่มีความสงบและสะดวกสบาย เลือกที่พักที่ไม่ไกลจากตัวเมือง จวบจนถึงปัจจุบันยังมีกลุ่มนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมอย่างไม่ขาดสาย รวมทั้งมีสื่อมวลชน ทั้งสื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ สื่ออินเตอร์เน็ต นำเสนอชุมชนบ้านหนองขาวเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจแห่งหนึ่งในประเทศไทย
การประกอบอาชีพ
ผู้คนในชุมชนประกอบอาชีพหลากหลาย ส่วนอาชีพที่นิยมทำส่วนใหญ่ยังคงเป็นการทำนา รองลงมาคือการรับจ้างทั่วไป นอกจากนี้ ผู้คนในชุมชนบ้านหนองขาว ยังประกอบอาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมภายในพื้นที่ชุมชนด้วย
1. พระครูกาญจนนิมิต เจ้าอาวาสองค์ก่อนวัดอินทาราม (วัดหนองขาว) เล็งเห็นถึงความสำคัญของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ภูมิปัญญาพื้นบ้าน วัฒนธรรมประเพณีที่ชุมชนแห่งนี้ยังรักษาไว้ จึงได้เริ่มต้นแนวคิดจัดการท่องเที่ยวภายในชุมชนหนองขาว และได้เชิญชวนให้คนในชุมชนบ้านหนองขาวตระหนักถึงความสำคัญ เห็นคุณค่าอนุรักษ์เอกลักษณ์ดั้งเดิมของชุมชนไว้ พระครูกาญจนนิมิต ได้ร่วมกับคนในชุมชนจัดตั้งชมรมการท่องเที่ยวในหมู่บ้านหนองขาวขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการจัดการท่องเที่ยวภายในชุมชนบ้านหนองขาว
ทุนวัฒนธรรม
1. วัดอินทาราม (วัดหนองขาว) เป็นวัดที่มีอายุ 100 กว่าปี โดยพื้นที่ของวัดมักจะใช้สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ ภายในชุมชน และมีการสร้างศาลเจ้าไว้ในพื้นที่สาธารณะของชุมชน เช่น ศาลพ่อแม่ ศาลพ่อปู่ ศาลพ่อพระราม ศาลยายท้าวสม ศาลแม่ย่า เพื่อกราบไหว้ และประกอบพิธีกรรม โดยชาวบ้านดูแลร่วมกัน
2. พิพิธภัณฑ์บ้านหนองขาว มีการจัดเก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของคนบ้านหนองขาว โดยจัดแสดงเรื่องราวแบ่งเป็นภูมิประเทศของบ้านหนองขาว คนหนองขาว ผู้หญิงหนองขาว ภูมิปัญญา วิถีชีวิต และการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต
ความเชื่อ
ความเชื่อของชาวบ้านหนองขาว เช่น ความเชื่อเรื่องยาย ชาวบ้านหนองขาวมีความเชื่อเรื่องยายมาตั้งแต่โบราณ และนับถือยายสืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน บ้านของชาวบ้านทุกหลังจะต้องมีหิ้งบูชายายและมีการไหว้ยาย ซึ่ง “ยาย” ของชาวบ้านมีหลายประเภทโดยอยู่ในภาชนะต่างๆ เช่น หม้อยาย ยายตะกร้า เป็นต้น
1. ความเชื่อเรื่องการตั้งศาลยาย คือ การที่ชาวบ้านนำเครื่องเซ่นไปไหว้ตามศาลเจ้าต่างๆ ในหมู่บ้านตามที่บรรพบุรุษของตนได้ตั้งศาลไว้ เช่น ศาลเจ้าพ่อแม่, ศาชเต้าเกยนอก, ศาลเจ้าหนองน้อย และศาลปู่เจ้าบ้านหรือศาลตาปู่
2. ความเชื่อเรื่องวันสำคัญ ชาวบ้านบ้านหนองขาวมีความเชื่อว่า จะให้คุณหรือให้โทษต่อตนนั้นมีอยู่ 3 วัน คือ วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ชาวบ้านเรียกวันนี้ว่า “วันลาศีล” ถือกันว่า วันนี้เป็นวันที่ห้ามซื้อ ห้ามแลก ไม่ให้มีการใช้เงิน ห้ามทำงานบ้าน เป็นต้น
ภูมิปัญญาด้านการแพทย์พื้นบ้าน เช่น หมอนวดแผนโบราณ หมอกระดูก
ผ้าขาวม้าร้อยสี หมายถึง ชื่อเรียกของผ้าขาวม้าที่เกิดจากฝีมือการทอของชาวบ้านหนองขาว ผ้าขาวม้าของบ้านหนองขาวมีลักษณะเด่นที่มีลวดลายมากมายและผ้าแต่ละผืนก็มีการผสมผสานกันของสีหลายสี เมื่อมีการนำมาวางรวมกันแล้วทำให้เกิดความหลากหลายของลวดลายและสีสัน จากลักษณะดังกล่าว จึงทำให้ได้ชื่อว่า “ผ้าขาวม้าร้อยสี
ผ้าขาวม้าตาจัก หมายถึง ชื่อเรียกของผ้าขาวม้าลายดั้งเดิมที่เกิดจากฝีมือการทอของคนในชุมชนหนองขาวเป็นลายการทอผ้าที่สืบทอดกันมาของบรรพบุรุษ ที่แตกต่างจากลายทอของผ้าขาวม้าทั่วไป ลักษณะของลายทอคล้ายกับลักษณะของงานจักสานลายขัด ซึ่งขั้นตอนในการทอยุ่งยากและใช้เวลาในการทานานกว่าผ้าขาวม้าลายอื่นๆ
การแต่งกาย
เครื่องแต่งกาย ในปัจจุบันการแต่งกายของชาวหนองขาวในโอกาสสำคัญ หรือในโอกาสที่ต้องเป็นตัวแทนของชุมชนในโอกาสต่าง ๆ ชาวหนองขาวนิยมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ตัดเย็บจากผ้าขาวม้าร้อยสี ด้วยเหตุที่ต้องการแสดงเอกลักษณ์ความเป็นคนหนองขาว และความภูมิใจในภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง
ภาษาพูดสำเนียงท้องถิ่น “บ้านหนองขาว”
การมีส่วนร่วม
ชุมชนบ้านหนองขาว เป็นชุมชนที่โดดเด่นในเรื่องการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยมีรูปแบบการดำเนินการจัดการการท่องเที่ยวร่วมกันภายใต้ชมรมการท่องเที่ยวหมู่บ้านวัฒนธรรมบ้านหนองขาว ซึ่งนอกจากชุมชนจะเป็นศุนย์กลางในการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชนบ้านหนองขาวแล้ว องค์กรภายนอก ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ได้มีบทบาทในการเข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยว อาทิ ด้านงบประมาณ บุคลากร ด้านการประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงของชุมชน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้คนในบ้านหนองขาวได้พยายามจะรักษาวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของชุมชนให้คงอยู่สภาพเดิม แต่ทว่าความเปลี่ยนแปลงจากภายนอกภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ที่หลั่งไหลเข้ามาในชุมชนอย่างรวดเร็ว ทั้งการปรับปรุงสภาพและการขยายตัวของถนน การเกิดขึ้นของสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่จำนวนมาก ความเจริญของเทคโนโลยี ข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนประชากรในชุมชนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และพากันหลั่งไหลเข้าไปทำงานและเรียนหนังสือในเมืองหลวง ส่งผลกระทบกระเทือนต่อความเป็นชุมชนของบ้านหนองขาว และเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนทำให้วิถีชีวิต และการดำรงชีพของชาวหนองขาวเปลี่ยนแปลงไปรวมถึงวัฒนธรรมประเพณีบางอย่างสูญหายไปอย่างน่าเสียดาย
ในชุมชนบ้านหนองขาว มีจุดสนใจอื่นๆ เช่น การทำขนมตาล, ขนมข้าวเกรียบว่าว, การทำน้ำตาลโตนด, การทำทองชุบ, การเจียรไนนิล เป็นต้น
กมลวรรณ สุวรรณพะโยม. (2556). การสื่อสารแบบมีส่วนร่วมเพื่อการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กรณีศึกษาชุมชนบ้านหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี. วิทยานิพนธ์วารสารศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสื่อสารมวลชน, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 มีนาคม 2566, จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/new_stat/webPage/statByYear.php.
ณัชภัค แช่มวงษ์. (2554). การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรมเชิงพาณิชย์: กรณีศึกษาผ้าขาวม้าร้อยสี บ้านหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารงานวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.