Advance search

ชุมชนแหล่งผลิตโคมล้านนาที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ งานหัตถศิลป์ล้านนาซึ่งเป็นทั้งแหล่งรายได้และเอกลักษณ์หล่อหลอมความผูกพันระหว่างวิถีชีวิต ธรรมชาติ ความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรม ให้ชาวบ้านสาตรหลวงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสงบสุขในบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลง

หมู่ที่ 5
บ้านเมืองสาตร
หนองหอย
เมืองเชียงใหม่
เชียงใหม่
วัชรพงษ์ พรมมา
6 ก.พ. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
9 ก.พ. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
25 มิ.ย. 2023
บ้านเมืองสาตร

แต่เดิมใช้ว่า เมืองสาด เหตุผลก็เนื่องมาจากชาวเมืองสาดสมัยก่อนมีการสานสาดกันมาก (สาด คือ เสื่อ) จึงเรียกว่าเมืองสาด แล้วจึงต่อมาจึงเปลี่ยน สาด เป็น สาตร


ชุมชนแหล่งผลิตโคมล้านนาที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ งานหัตถศิลป์ล้านนาซึ่งเป็นทั้งแหล่งรายได้และเอกลักษณ์หล่อหลอมความผูกพันระหว่างวิถีชีวิต ธรรมชาติ ความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรม ให้ชาวบ้านสาตรหลวงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสงบสุขในบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลง

บ้านเมืองสาตร
หมู่ที่ 5
หนองหอย
เมืองเชียงใหม่
เชียงใหม่
50000
18.76551527
99.01262
เทศบาลนครเชียงใหม่

บ้านเมืองสาตร เป็นหมู่บ้านหนึ่งของตำบลหนองหอย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยแยกย่อยออกเป็น 2 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนเมืองสาตรหลวง และชุมชนเมืองสาตรน้อย ปัจจุบันเป็นชุมชนหนึ่งในแขวงกาวิละ เทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งชื่อเรียก เมืองสาตร มาจากคำว่า เมืองสาด แรกเริ่มเดิมทีเป็นหัวเมืองหนึ่งของล้านนาที่มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาลอยู่ใกล้กับเมืองเขมร รัฐเชียงตุง มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ และรองลงมาคือชาวไทเขิน (ไทขึน) ในสมัยที่พระเจ้ากาวิละทรงไปกวาดต้อนผู้คนจากเมืองสาดเข้ามาไว้ในเชียงใหม่นั้น ท่านได้ให้ชาวเมืองสาดพาครอบครัว ลูกเมีย บ่าวไพร่ ลงมาเป็นพลเมืองของเชียงใหม่ ในปีที่สิรินรธาโป่ม่านครองเมืองสาด ชาวเมืองถูกกวาดต้อนลงมา โดยมีหมื่นหลวงหมื่นน้อย เจ้าพ่อเมืองสาด แสนเมืองมา น้อยวงศ์ เมืองแจด ลงมาเป็นข้าราชบริพาร การอพยพของชาวเมืองสาดเข้ามา เป็นพลเมืองของเมืองเชียงใหม่นั้นมีการอพยพเข้ามาหลายครั้งหลายครา แต่หลังจากย้ายลงมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงแล้ว ชาวบ้านเมืองสาดซึ่งเป็นคนไทเขินได้ดำเนินชีวิตแบบพื้นบ้านตามวิถีแบบดั้งเดิม จนเวลาผ่านล่วงเลยมาหลายสิบปีได้เกิดการผสมผสานทางศิลปวัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณี ภาษา ทัศนคติ และเชื้อชาติ ชาวเมืองสาดได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเชียงใหม่ภายใต้การปกครองแบบหัวเมืองประเทศราชของกรุงสยาม บ้านเมืองสาดในฐานะที่เป็นหมู่บ้านหนึ่งในเชียงใหม่ในสมัยนั้นมีจำนวนบ้านเรือนไม่มากนัก ส่วนใหญ่พื้นที่จะเป็นที่นาและมีต้นไม้ใหญ่เป็นป่าปกคุลมตามบริเวณทั่วไป ชาวเมืองที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ในเชียงใหม่ระยะแรก ๆ มีอยู่ 7 ตระกูลด้วยกันคือ ตระกูลอุ้ยปัน ตระกูลอุ้ยป๊ก ตระกูลอุ้ยด้วง ตระกูลอุ้ยปวน ตระกูลอุ้ยผัด ตระกูลอุ้ยเฟย และตระกูลอุ้ยทา

สำหรับความเป็นมาของชื่อ เมืองสาด นั้น เหตุผลก็เนื่องมาจากชาวเมืองสาดสมัยก่อนมีการสานสาดกันมาก (สาด คือ เสื่อ) จึงเรียกว่าเมืองสาด ในอดีตสาดจะมีหลายประเภท รวมถึงสาดห่อศพที่แต่ละบ้านจะมีการตะเตรียมไว้เผื่อสมาชิกในบ้านเสียชีวิตลง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อ สาด เป็น สาตร แล้วใช้ต่อมาจนถึงปัจจุบันดังประวัติความเป็นมาที่ปรากฏในพงศาวดารโยนกว่า วิถีชีวิตของชาวบ้านในดินแดนล้านนามีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน นับตั้งแต่พระนางจามเทวีปฐมกษัตรีแห่งหริภุญชัยได้สถาปนาดินแดนแถบลุ่มน้ำปิงขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 1200 จวบจนรัชสมัยเจ้าพญามังรายมหาราชทรงสถาปนาอาณาจักรล้านนาขึ้นในปี พ.ศ. 1839 โดยมีนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่เป็นราชธานี ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านถูกหล่อหลอให้สอดตล้องกับวิถีชีวิตแบบชาวพุทธ มีความเจริญทั้งด้านภาษา วรรณกรรม วรรณคดี ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ศิลปะหัตถกรรม ตลอดจนองค์ความรู้ต่าง ๆ ทางประเพณีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ที่ได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น (วัดเมืองสาตร, 2555 อ้างถึงใน ญาตาวีมินทร์ พืชทองหลาง, 2558: 87)

ตำบลหนองหอยมีสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีลําเหมืองธรรมชาติหลายสาย โดยส่วนใหญ่เป็นแหล่งชุมชนพื้นที่อยู่อาศัยและได้รับการพัฒนามาโดยตลอด มีอาณาเขตในการบริหารจัดการ ดังนี้ 

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ เขตเทศบาลนครเชียงใหม่         
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ เขตตําบลหนองผึ้ง อําเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่เขตตําบลท่าวังตาล อําเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่         
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตําบลป่าแดด อําเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ (โดยมีแม่น้ำปิงเป็นเส้นแบ่งเขต)         
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตําบลท่าศาลา อําเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

บ้านเมืองสาตรมีพื้นที่ประมาณ 426 ไร่ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มข้ามเขตถนนเลียบทางรถไฟสายเชียงใหม่-ลำพูน ซึ่งส่วนมากเป็นพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาจัดสรรจากภาคเอกชนให้เป็นหมู่บ้านที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะแก่การพักอาศัย

บ้านเมืองสาตรมีประชากรทั้งสิ้น 465 คน โดยประกอบด้วยชุมชนย่อย 2 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนเมืองสาตรหลวง และชุมชนเมืองสาตรน้อย ซึ่งชุมชนทั้งสองเป็นชุมชนที่มีชื่อเสียงอย่างมากเรื่องการทำโคมล้านนา 

ไทขึน, ไทใหญ่

ชาวบ้านเมืองสาตรมีการรวมกลุ่มเพื่อประกอบอาชีพ คือ การผลิตโคมล้านนา ซึ่งนับเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชน บ้านเมืองสาตรทั้งชุมชนเมืองสาตรหลวง และเมืองสาตรน้อย ถือเป็นแหล่งผลิตโคมล้านนาที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ โคมล้านนาที่ใช้ประดับตกแต่งในงานประเพณี พิธีกรรม หรือสถานที่ต่าง ๆ ส่วนใหญ่ล้วนมาจากบ้านเมืองสาตรทั้งสิ้น บุคคลที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในการทำโคมล้านนา คือ แม่บัวไหล คณะปัญญา ผู้ประดิษฐ์คิดค้น สร้างสรรค์การทำโคมรูปแบบใหม่ รวมถึงสืบทอดลวดลายเก่าไว้ โดยมีลูกหลานในครอบครัวช่วยกันทำ อีกทั้งยังเป็นผุ้ถ่ายทอดความรู้ ขั้นตอน วิธีการทำโคมล้านนาให้กับชาวบ้านในชุมชน ตลอดจนผู้คนที่สนใจ บางรายนำความรู้เรื่องการทำโคมไปปรับประยุกต์ดัดแปลงเป็นรูปทรงโคมล้านนาที่มีรูปแบบลวดลายที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป ปัจจุบัน บ้านเมืองสาตรได้มีการสืบทอดการทำโคมล้านนาให้แก่ลูกหลานในชุมชน ทำให้บ้านเมืองสาตรเป็นชุมชนที่ยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญาล้านนาเรื่องการทำโคมไว้ได้อย่างเหนียวแน่น และกลายเป็นชุมชนที่มีชื่อเสียงด้านการทำโคมล้านนาที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือมาจนปัจจุบัน สำหรับราคาจำหน่ายโคมล้านนานั้นจะเริ่มตั้งแต่ใบละ 30 บาท เป็นโคมแบบมาตรฐานขนาด 6 นิ้ว เรื่อยไปถึงหลักร้อย หลักพัน และบางใบราคาสูงถึงใบละ 10,000 บาท สำหรับโคมสั่งทำพิเศษ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

1. นางบัวไหล คณะปัญญา หรือแม่ครูบัวไหล  ครูภูมิปัญญา สาขาอุตสาหกรรมและหัตถกรรม (สล่าโคมล้านนา)

แม่ครูบัวไหลเป็นผู้เชี่ยวชาญงานหัตถกรรมการทำโคมแขวนล้านนา มีถิ่นฐานภูมิลำเนา ณ บ้านสันทรายดอนจั่น ตำบลท่าศาลา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ หลังจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านสันทรายดอนจั่น แม่ครูบัวไหลก็หันมาศึกษาภูมิปัญญาพื้นบ้าน โดยเริ่มฝึกหัดทำโคมกับโคมด้วง และโคมลูกฟัก และทำเป็นอาชีพเสริมในยามว่างหลังจากทำไร่ทำนา เมื่อฝึกจนชำนาญแล้วจึงทำขายในช่วงเทศกาลยี่เป็ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 รัฐบาลไทยได้ใช้เมืองเชียงใหม่เป็นสังเวียนการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 18 เป็นปีที่ทำให้ชื่อแม่บัวไหล เป็นที่รู้จักมากขึ้น เนื่องด้วยคณะผู้จัดได้ติดต่อแม่บัวไหลให้ทำโคมและตุง ประดับตกแต่งสถานที่ให้เป็นบรรยากาศล้านนา ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของแม่บัวไหลและครอบครัวให้หันมายึดอาชีพทำโคมขายอย่างจริงเจังเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

การทำโคมของแม่บัวไหลได้มีการพัฒนานำภูมิปัญญาดั้งเดิมมาประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของสังคมยุคปัจจุบัน จากยุคแรกที่ทำโคมธรรมจักร โคมรูปเพชร รูปดาว รูปปักเป้า โคมผัด โคมหูกระต่าย โคมด้วง และโคมมะฟัก แต่ภายหลังได้ประยุกต์เป็นโคมจ้องหรือโคมร่ม โคมเอว หรือโคมต่อ (โคมหลายใบต่อกัน) จากประสบการณ์ในการประดิษฐ์โคมขอแม่ครูบัวไหล ทำให้ได้รับการยอมรับจากชุมชนและสังคมทั่วไป โดยได้รับเชิญไปแสดงการสาธิตการทำโคมล้านนามากมายจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และยังมีโรงเรียนหลาย ๆ แห่งส่งนักเรียนเข้ามาเรียนทำโคมและตุงที่บ้านเมืองสาตรกับแม่ครูบัวไหล ฝีมือการทำโคมของแม่ครูบัวไหลได้ประจักษ์แก่ผู้คน ได้รับการยอมรับและรางวัลผลงานมากมาย

ผลงาน

  • นิทรรศการศิลปกรรมสล่าล้านนา ตามฮีตโตยฮอยสล่าเมือง 2552 ณ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เกียรติประวัติ

  • ผู้มีทักษะฝีมือโดดเด่นในงานศิลปะและหัตถกรรม ปี 2550 จากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์กรมหาชน)
  • เพชรราชภัฎ-เพชรล้านนา สาขาศิลปกรรม (โคมล้านนา) ประจำปีพุทธศักราช 2546 จากสำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฎเชียงใหม่
  • ครูศิลป์ของแผ่นดิน ประจำปีพุทธศักราช 2561 ประเภท: งานหัตถกรรมโคมล้านนา

ปัจจุบัน แม่บัวไหล ในวัย 94 ปี ยังคงทำโคมอยู่อย่างต่อเนื่อง และยังรับหน้าที่เป็นวิทยากรในงานต่าง ๆ ที่ได้รับเชิญทั้งในและต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และฝรั่งเศส และยังเปิดบ้านเพื่อสอนวิธีการทำโคมให้กับผู้สนใจที่แวะเวียนเข้ามายังชุมชนแห่งนี้อีกด้วย

มรดกทางภูมิปัญญา

โคมล้านนาเมืองสาตรหลวง

การตั้งถิ่นฐานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนากลายเป็นสิ่งที่ช่วยหล่อหลอมบ้านเมืองสาตรให้สามารถดำรงคงอยู่ได้อย่างร่มเย็นเป็นสุข ความผูกพันกันระหว่างชีวิต ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรม ก่อให้เกิดความเป็นเอกลักษณ์ที่มีการสืบทอดต่อ ๆ กันมาหลายชั่วอายุคน ถึงแม้สังคมโดยรวมจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านการติดต่อสื่อสาร การคมนาคม การศึกษา ทว่าชาวบ้านเมืองสาตรยังคงดำรงชีวิตตามวิถีทางแห่งความเรียบง่ายที่ผสมผสานกลมกลืนระหว่าง “อดีต” กับ “ปัจจุบัน” ได้อย่างลงตัว

โคมล้านนาบ้านเมืองสาตรตามคำบอกเล่าของแม่ครูบัวไหล แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ 1) โคมถือ เช่น โคมดอกบัว รูปร่างเหมือนกับดอกบัว ใช้สำหรับบูชาพระ 2) โคมหูกระต่าย ใช้ถือเดินในขบวนแห่เพื่อนำไปประดับรอบวิหาร พระอุโบสถ หรือโคมแขวนหน้าบ้าน เช่น โคมเพชร หรือโคมไห หรือโคมดิ่ง โคมดาว โคมทรงกระบอก และโคมงวงช้าง ใช้สำหรับจุดบูชาพระประธาน โคมแปดเหลี่ยม หรือโคมธรรมจักร โคมเจียระไน หรือโคมเงี้ยว โคมรูปสัตว์ และโคมผัด หรือโคมหมุน โดยใช้ความร้อนจากควันเทียนทำให้ด้านในซึ่งมีกระดาษลวดลาย 12 นักษัตรหมุนได้ และ 3) โคมลอยทรงกลม หรือสี่เหลี่ยม มีขนาดใหญ่ ทำจากกระดาษว่าว ใช้ไม้ไผ่ขดเป็นวงกลม ใช้ไม้พันผ้าชุบนํ้ามัน จุดไฟให้เกิดควันด้านในโคมเพื่อให้โคมเบาตัวแล้วลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า การปล่อยโคมนี้มีความเชื่อว่าเพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ วัสดุที่ใช้สำหรับประดิษฐ์โคม ได้แก่ กระดาษสา กระดาษแก้ว กระดาษตะกั่ว และกระดาษว่าวสีสด ผ้าดิบหรือผ้าโทเร กาว และไม้ไผ่ โดยมีวิธีทำคือนำไม้ไผ่มาขึ้นโครง จากนั้นนำผ้า หรือกระดาษที่ตัดเป็นรูปแบบต่าง ๆ มาติดเข้ากับโครงไม้ไผ่ แล้วนำผ้า หรือกระดาษที่ตัด หรือฉลุลายเรียบร้อยแล้วมาตกแต่งที่บริเวณชายโคมเป็นอันเสร็จสิ้น ราคานั้นก็มีให้เลือกซื้อหาตั้งแต่สิบบาทขึ้นไปจนถึงหลักพัน กระทั่งหลักหมื่น ขึ้นอยู่กับขนาดและความยากง่ายของงานแต่ละชิ้นที่ต้องใช้เวลาในการประดิษฐ์ต่างกันไปตามรูปแบบ

ภาษาที่ใช้พูด ได้แก่ ภาษาไทใหญ่ และภาษาเหนือ หรือคำเมือง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชินพงศ์ มุ่งศิริ. (2555). แวะชม “ชุมชนเมืองสาตรหลวง” แหล่งผลิตโคมขึ้นชื่อของเชียงใหม่. สืบค้นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://www.sanook.com/

ชุลี แรมวงศ์. ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายโคมล้านนาบ้านเมืองสาตร. (5 กุมภาพันธ์ 2566). สัมภาษณ์.

เชียงใหม่นิวส์. (2559). “ชุมชนเมืองสาตรหลวง” แหล่งผลิตโคมขึ้นชื่อของเชียงใหม่. สืบค้นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://www.chiangmainews.co.th/

ญาตาวีมินทร์ พืชทองหลาง. 2558. การอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาการผลิตโคมล้านนาของชุมชนเมืองสาตร ตำบลหนองหอย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาภูมิสังคมอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยแม่โจ้.

­­­­­ผู้จัดการออนไลน์. (2561). “เมืองสาตรหลวง” ชุมชนแหล่งผลิตโคมล้านนาคึกคัก ยอดขายพุ่งรับงานยี่เป็ง. สืบค้นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2566. https://mgronline.com/

­­­­­ผู้จัดการออนไลน์. (2565). ชุมชน "เมืองสาตรหลวง" แหล่งใหญ่ผลิตโคมยี่เป็งฟื้นชีพ-ยอดสั่งซื้อกลับคืน 90% หลังฟุบยาว 2 ปีจากโควิด-19. สืบค้นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2566. https://mgronline.com/

สำนักการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่. (2564). แม่ครูบัวไหล คณะปัญญา. สืบค้นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2566, จาก http://edu.chiangmaipao.go.th/

สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (ม.ป.ป.). ประเพณีล้านนา: แม่ครูบัวไหล คณะปัญญา. สืบค้นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://lannainfo.library.cmu.ac.th/l

Google Earth. (2564). สืบค้นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2566, https://earth.google.com/