Advance search

บ้านร้องแง ชุมชนไทลื้อเจ้าของรางวัลแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมดีเด่น ประจำปี 2551 ด้วยเป็นชุมชนที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์สืบสานมรดกทางวัฒนธรรมไทลื้อไว้อย่างดีทั้งภาษาถิ่น พิธีกรรมทางศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนการแสดงออกถึงสุนทรียภาพความเป็นไทลื้ออย่างแท้จริง 

หมู่ที่ 7 ถนนปัว-บ่อเกลือ
ร้องแง
วรนคร
ปัว
น่าน
ฐิติชญา แดนโพธิ์
2 ก.พ. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
6 ก.พ. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
25 มิ.ย. 2023
บ้านร้องแง

เดิมชื่อ ฮ่องแง มาจากคำว่า ฮ่อง เป็นภาษาไทลื้อ แปลว่า ร่องน้ำ และคำว่า แง หมายถึง ต้นมะแงที่ขึ้นอยู่จำนวนมากในพื้นที่ เมื่อพญาเลนนำชาวไทลื้อมาสร้างบ้านเรือนบริเวณนี้จึงเรียกชื่อชุมชนตามลักษณะทางกายภาพอยู่ติดกับลำน้ำซึ่งมีต้นมะแงขึ้นอยู่ทั่วว่า บ้านฮ่องแง ต่อมาจึงเปลี่ยนแป็น ร้องแง


บ้านร้องแง ชุมชนไทลื้อเจ้าของรางวัลแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมดีเด่น ประจำปี 2551 ด้วยเป็นชุมชนที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์สืบสานมรดกทางวัฒนธรรมไทลื้อไว้อย่างดีทั้งภาษาถิ่น พิธีกรรมทางศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนการแสดงออกถึงสุนทรียภาพความเป็นไทลื้ออย่างแท้จริง 

ร้องแง
หมู่ที่ 7 ถนนปัว-บ่อเกลือ
วรนคร
ปัว
น่าน
55120
19.17497634
100.9363036
องค์การบริหารส่วนตำบลวรนคร

ประชากรบ้านร้องแงส่วนใหญ่เป็นชาวไทลื้อซึ่งอพยพจากเมืองเลน แคว้นสิบสองปันนา เมื่อประมาณ พ.ศ. 2310 ภายใต้การนำของหลวงเทพพญาเลน หรือเจ้าหลวงช้างเผือกงาเขียว (ภาษาลื้อออกเสียง ว่า “ลิน”) พากันอพยพผ่านทางอาณาจักรล้านช้าง มาถึงบริเวณที่สงบสุขและอุดมสมบูรณ์บริเวณลำน้ำล่องแง เนื่องจากใกล้ลำน้ำมีต้นมะแงขึ้นอยู่สองฟากฝั่งแม่น้ำ จึงเรียกลำน้ำล่องแง และเมื่อหลวงเทพพญาเลนพาชาวไทลื้อมาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้จึงตั้งชื่อชุมชนว่า “ฮ่องแง” ซึ่งมาจากคำว่า “ฮ่อง” เป็นภาษาไทลื้อ แปลว่า ร่องน้ำ และคำว่า “แง” มาจากชื่อของต้นมะแงที่ขึ้นอยู่ทั่วบริเวณ ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นชื่อ “บ้านร้องแง” โดยในปัจจุบันยังคงดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และประเพณีชาวไทลื้อที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ บ้านร้องแงจึงเปรียบเสมือนแหล่งอารยธรรมชาวไทลื้อที่สำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอปัว

บ้านร้องแงมีสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ราบลุ่มโล่งเตียน เนื่องจากชาวบ้านแผ้วถางพื้นที่ป่าบริเวณโดยรอบสำหรับเพาะปลูก มีลำน้ำขว้างเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติสำคัญให้ชาวบ้านได้พึ่งพาอาศัยลำเลียงสู่พื้นที่ทางการเกษตร ทรัพยากรป่าไม้ในอดีตนับว่าอุดมสมบูรณ์ แต่ในปัจจุบันนี้เสื่อมโทรมลงไปมาก นอกจากนี้ บริเวณหมู่บ้านใกล้กับลำน้ำขว้างมีบ่อน้ำผุด ชาวบ้านเรียกว่าบ่อน้ำผุดมหัศจรรย์ ด้วยบ่อน้ำแห่งนี้มีน้ำผุดไหลออกมาตลอดเวลา ไม่แห้ง แม้ในยามฤดูแล้ง สมัยก่อนมีผู้เล่าว่าบ่อน้ำแห่งนี้เป็นสถานที่อาบน้ำ ซักผ้า แม้ใช้ดื่มกินก็ได้

วิหารเก่าไทลื้อ วัดร้องแง

วิหารเก่าวัดร้องแง สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2310 ปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนเป็นวัดเก่าแก่ของเมืองน่าน และได้รับพระราชทานรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปะ สถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทปูชนียสถานและวัดวาอาราม โดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทั้งยังได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 7 ประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมดีเด่น ลักษณะของวิหารหน้าบันเป็นลายพันพฤกษา วิหารมีหลังคาคลุมต่ำ ในวิหารมีพระประธานปางมารวิชัย ผนังหลังองค์พระมีจิตรกรรมเรื่องพุทธประวัติและมีราชชาดก ฝีมือของช่างพื้นถิ่น บนเสาวิหารมีลวดลายสีทองบนพื้นสีแดง หรือลายคำที่ไม่ซ้ำกัน เช่น ลายกรวยเชิง ลายพรรณพฤกษา ลายดอกไม้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีธรรมาสน์ทรงโบราณแบบดั้งเดิมของล้านนา และมีเสาหลักบ้านตั้งอยู่บริเวณทางเข้าหน้าวัด

เฮือนไทลื้อบ้านร้องแง

เฮือนไทลื้อบ้านร้องแง หรือพิพิธภัณฑ์หมู่บ้านไทลื้อบ้านร้องแง เป็นพื้นที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับไทลื้อและการท่องเที่ยวของหมู่บ้านร้องแง ภายในจัดแสดงประวัติของหมู่บ้านที่มีรากเหง้ามาจากแคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ประวัติโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญของหมู่บ้าน รวมถึงประเพณีวิถีชีวิตของชาวไทลื้อ เช่น การทอผ้า พิธีสังคหะทุ่งนา พิธีอุ่นจึงบ้าน เป็นต้น นอกจากนี้เฮือนไทลื้อบ้านร้องแงยังเป็นการจำลองบ้านของชาวไทลื้อ ด้วยลักษณะเรือนไม้ยกสูงสองหลังสร้างติดกัน มีทางเดินที่เป็นชานบ้านเชื่อม โดยหลังหนึ่งเป็นที่พักอาศัย อีกหลังใช้เป็นยุ้งข้าว หลังคาเป็นจั่วมุงด้วยแป้นเกล็ดไม้หรือตับคา ซึ่งเป็นวิถีดั้งเดิมของชาวไทลื้อ (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), ม.ป.ป.: ออนไลน์)

ข้อมูลประชากรตามทะเบียนสำมะโนครัวบ้านร้องแง ปี พ.ศ. 2565 มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 883 คน แยกเป็นประชากรชาย 431 คน และประชากรหญิง 452 คน โดยประชากรในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นชาวไทลื้อ และชาวพื้นเมือง มีกลุ่มชาติพันธุ์อื่น เช่น ไทใหญ่ ไทยวน และไทเขิน (ไทขึน) ปะปนอยู่บ้าง แต่เป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับประชากรกลุ่มใหญ่ดังเช่นชาวไทลื้อและชาวพื้นเมือง

ไทขึน, ไทยวน, ไทลื้อ

ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก เนื่องจากลักษณะพื้นที่ชุมชนที่มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มโล่งเตียนติดลำน้ำขว้าง ส่งผลให้เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพของชาวบ้านส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน อนึ่งนอกจากการประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรมแล้ว ยังมีชาวบ้านบางส่วนที่ประกอบอาชีพอื่น ทั้งในภาคงานหัตถกรรม และอุตสาหกรรม เช่น ทอผ้าพื้นเมือง รับราชการ และรับจ้างทั่วไป

ปัจจุบัน ชาวบ้านร้องแงยังคงสืบทอดวัฒนธรรมภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไว้อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะชาวไทลื้อที่มีประเพณีสำคัญอย่างหนึ่ง เรียกว่า “ประเพณีวันเกี๋ยงเป็ง” หรือวันเจ๋งเป็ง ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 1 (เดือนเกี๋ยง) ของชาวไทลื้อ ตรงกับวันเพ็ญเดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งเป็นประเพณียี่เป็งของชาวล้านนา และประเพณีลอยกระทงของคนภาคกลาง ทว่า ในวันนี้ชาวไทลื้อจะไม่มีการลอยกระทง แต่จะมีการเข้าวัดทำบุญ โดยก่อนถึงวันเกี๋ยวเป็ง 1 วัน ชาวบ้านจะช่วยกันแต่งซุ้มประตูป่า ทางเดิน และประตูพระวิหารด้วยซุ้มใบมะพร้าว ต้นกล้วย อ้อย แล้วประดับด้วยดอกไม้ และโคมไฟ

ในประเพณีวันเกี๋ยงเป็งนี้ จะมีของสำคัญสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือ “ดอกไม้พันดวง” มีลักษณะเป็นไม้ไผ่สานสองด้านประกบกัน ภายในบรรจุดอกไม้นานาชนิดเพื่อเตรียมถวายเป็นพุทธบูชา โดยผู้ชายจะช่วยกันสานเป็นไม้ไผ่รูปสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 1 ฟุต นำมาประกบกันสองข้าง (เรียกว่าแตะหรือหับ) โดยปกติมักทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนผู้หญิงจะนำดอกไม้ชนิดต่าง ๆ มาใส่ในแตะที่ผู้ชายเตรียมไว้ ด้วยความหลากหลายของดอกไม้ที่นำมาบรรจุในหับ เปรียบเสมือนดอกไม้นับพันดวงบูชาพระคาถาพันพระคาถา จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกว่า “ดอกไม้พันดวง”

เมื่อชาวบ้านทำดอกไม้พันดวงเสร็จแล้วจะนำมารวมไว้ในพระวิหารให้พระสงฆ์สวดทำพิธี จากนั้นชาวบ้านจะช่วยกันนำดอกไม้พันดวงไปประดับรอบพระวิหารเพื่อบูชาพระคาถาพัน และจำลองการต้อนรับพระเวสสันดรเสด็จกลับบ้านเมือง โดยดอกไม้พันดวงนี้จะถูกแขวนไว้ในพระวิหารจนถึงวันเกี๋ยงเป็นปีถัดไป เมื่อวัดมีการประกอบพิธีกรรมใด ๆ ดอกไม้พันดวงเหล่านี้ก็จะถือว่าได้ผ่านพิธีกรรมเหล่านั้นด้วย ดอกไม้พันดวงจึงประดุจดั่งสิ่งสิริมงคลอย่างหนึ่งก็ว่าได้

ในวันรุ่งเช้าของวันเกี๋ยงเป็ง ชาวบ้านจะตื่นขึ้นมานึ่งข้าวเหนียว เมื่อข้าวสุกจะนำมาปั้นเป็นก้อนเล็กใหญ่คละกันไปจำนวนหนึ่งพันก้อน พร้อมจัดดอกไม้ธูปเทียนแล้วนำมาทำบุญ ณ วิหารไทลื้อ วัดร้องแง การถวายข้าวพันก้อนนี้มีนัยถึงการบูชาพระคาถาพันพระคาถาในเทศน์มหาชาติทั้ง 13 กัณฑ์ โดยชาวบ้านจะนั่งฟังกันตั้งแต่เช้าไปจนตลอดวัน พอตกค่ำจะจุดสีสาย ซึ่งเป็นเชือกฟั่นจากฝ้ายยาวประมาณ 1 วา มีจำนวนเส้นเท่ากับจำนวนคนและสัตว์ที่มีในแต่ละบ้าน โดยจะนำสีสายไปแขวนไว้บนราวหรือบนกะลาวางกับพื้นแล้วจุดไฟเผา (ธนิสร หลักชัย, 2563) ทั้งนี้เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์สืบชะตานั่นเอง (อนุรัตน์ วัฒนาวงศ์สว่าง, 2562)

นอกจากประเพณีวันเกี๋ยงเป็งแล้ว บ้านร้องแงยังมีประเพณีสำคัญ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ชาวบ้านร้องแงปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ดังนี้

ประเพณีอุ่นจึงบ้าน

ประเพณีอุ่นจึงบ้าน เป็นประเพณีที่ชาวไทลื้อบ้านร้องแงปฏิบัติต่อกันมาตั้งแต่โบราณ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเริ่มมาตั้งแต่เมื่อใด แต่จะทำทุก 1-4 ปี โดยจุดประสงค์ของการทำพิธีอุ่นจึงบ้าน คือ เพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย ขจัดปัดเป่าภัยร้ายออกจากหมู่บ้าน ให้ผู้คนในหมู่บ้านทุกครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข พร้อมทั้งอบรมสมโภชเสาหลักบ้านและเจ้าเมือง (แก้วบ้านหรือผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน) 

พิธีสังคหะทุ่งนา

พิธีสังคหะทุ่งนาจะทำขึ้นประมาณปลายเดือนสิงหาคมของทุกปี ภายหลังการสืบชะตาข้าว ซึ่งเป็นช่วงที่ทำนาเสร็จแล้วระยะหนึ่ง โดยชาวบ้านและผู้นำหมู่บ้านจะปรึกษาหารือกันเพื่อหามื้อวันดีเป็นสิริมงคล เมื่อได้วันแล้วจะมีการทำบุญตักบาตร นิมนต์พระสงฆ์ 9 รูป ไปที่ลอมป่าฮวก หรือป่าไม้ไผ่ลวก กลางทุ่งนา เพื่อประกอบพิธีสังคหะทุ่งนาในเวลา 9-10 นาฬิกา

พิธีตานดอน

พิธีตานดอนเป็นประเพณีการสะเดาะห์เคราะห์ เพื่อขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้ออกจากหมู่บ้านในช่วงสิ้นเดือนธันวาคมของทุกปี ในปีต่อไปลูกหลานจะได้อยู่ดีมีสุข ในวันทำพิธีแต่ละครอบครัวจะเตรียมข้าวของไว้ในตอนเย็น ผู้เฒ่าผู้แก่ไปช่วยกัน “อาทาน” อัญเชิญเทวดาทั้ง 4 ทิศมาเป็นสักขีพยาน พอวันรุ่งขึ้นก็นำเอาข้าวของที่เตรียมไว้ไปทำบุญตักบาตร แล้วประกอบพิธีกรรมโดยพร้อมเพียงกันทั้งหมู่บ้าน

1. เจ้าหลวงช้างเผือกงาเขียว: บรรพบุรุษชาวไทลื้อบ้านร้องแง

จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่เล่าสืบต่อกันมาว่า เจ้าหลวงช้างเผือกงาเขียว เดิมเป็นเจ้าเมืองลินอยู่แคว้นสิบสองปันนา และได้ติดตามพญาแสนแก้วกษัตริย์แคว้นสิบสองปันนามาทำสงคราม ได้พาแม่ทัพนายกองและบริวารอพยพหนีข้าศึกมาตั้งเรือนใกล้แม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ (ลำน้ำล่องแง) แต่ข้าศึกก็ยังตามมาราวีอีก เจ้าหลวงจึงได้เกณฑ์กำลังพลเพิ่มเติมต่อสู้กับข้าศึกจนถอยร่นและพ่ายแพ้ไปในที่สุด ครั้นเมื่อเจ้าหลวงถึงแก่กรรมจึงได้มีการสร้างหอและอนุสาวรีย์ไว้เป็นที่สักการะบูชา ปัจจุบันตั้งอยู่ใกล้วิหารวัดร้องแง 

ดอกไม้พันดวง

ดอกไม้พันดวง เป็นปัจจัยไทยทานเครื่องสักการะสำคัญที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมวันเกี๋ยงเป็งของชาวไทลื้อบ้านร้องแง ทำจากไม้ไผ่สานเป็นรูปสี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม หรือรูปดาว ตามแต่จินตนาการของผู้สาน แล้วนำมาประกบกันสองด้าน เรียกว่า แตะหรือหับ จากนั้นจะนำดอกไม้นานาชนิดที่หาได้ในชุมชนมาใส่ในแตะหรือหับ เปรียบเสมือนดอกไม้นับพันดวงบูชาพระคาถาพันพระคาถา จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกว่า “ดอกไม้พันดวง”

ดอกไม้พันดวงเป็นภูมิปัญญาที่มีการใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชนที่มาความเป็นอยู่โดยพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นไม้ไผ่และดอกไม้ชนิดต่าง ๆ เพื่อนำมาประดิษฐ์เป็นสิ่งของสักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยดอกไม้พันดวงที่ใช้ในพิธีเกี๋ยงเป็งนี้จะถูกแขวนในวิหารไทลื้อวัดร้องแงเป็นเวลาหนึ่งปี กระทั่งถึงวันเกี๋ยงเป็งปีถัดไป ฉะนั้น เมื่อวัดมีการประกอบพิธีกรรมใด ๆ ดอกไม้พันดวงเหล่านี้ก็จะถือว่าได้ผ่านพิธีกรรมเหล่านั้นด้วย ดอกไม้พันดวงจึงประดุจดั่งสิ่งสิริมงคลอย่างหนึ่งก็ว่าได้ 

ภาษาหลักที่ใช้สื่อสารในบ้านร้องแง คือ ภาษาไทยถิ่นเหนือ และภาษาไทลื้อ ซึ่งเป็นภาษาตระกูลไท-กะได ลักษณะเด่นของภาษาไทลื้อ คือ การเปลี่ยนแปลงเสียงสระภายในคำโดยการเปลี่ยนระดับของลิ้น เสียงบางเสียงจะแตกต่างไปจากภาษาไทยวน เช่น สระเอีย เป็น เอ เช่น เมีย เป็น เม สระอัว เป็น โอ เช่น ผัว เป็น โผ สระเอือ เป็น เออ  เช่น เกลือ เป็น เกอ เสียงวรรณยุกต์ของไทลื้อมี 6 เสียง เหมือนภาษาไทยวนแต่มีบางลักษณะที่แตกต่างกันอยู่บ้าง ส่วนคำศัพท์ที่ใช้ในภาษาไทลื้อมักเป็นภาษาถิ่นตระกูลไท หรือคำศัพท์ไทดั้งเดิมเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีความหมายซับซ้อนมากนัก   

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

บ้านร้องแง ชุมชนไทลื้อดั้งเดิมที่อพยพมาจากแคว้นสิบสองปันนา ประเทศจีน พื้นที่ที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์สืบสานมรดกทางวัฒนธรรมไทลื้อไว้อย่างดีทั้งด้านภาษาถิ่น พิธีกรรมทางศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี ส่วนสำคัญคือประชาชนในหมู่บ้านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เป็นชุมชนเข้มแข็งที่แสดงออกถึงสุนทรียภาพความเป็นไทลื้ออย่างแท้จริง ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรม รางวัลดีเด่น ประจำปี 2551

ธนิสร หลักชัย. (2563). ดอกไม้พันดวง งดงามที่บ้านร้องแง. สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://www.artoftraveler.com/

สุทธิกัญจน์ ทิพยเกสร อัญชัน ศศิวจน์ไพสิฐ และปวีณา ผาแสง. (2564). การบูชาดอกไม้พันดวง : อัตลักษณ์โดดเด่นของชุมชนไทลื้อบ้านร้องแง. วารสารปัญญา, 28(3), 157-160. สืบค้นจาก https://so06.tci-thaijo.org/

สำนักศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่. (ม.ป.ป.). กลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ. สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://www.culture.cmru.ac.th/

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (ม.ป.ป.). พิพิธภัณฑ์หมู่บ้านไทลื้อ บ้านร้องแง. สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://db.sac.or.th/museum/

อนุรัตน์ วงศ์สว่างวัฒนา. (2562). ยี่เป็งวัดร้องแง แปงแตะดอกไม้ปันดวง. สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://www.nairobroo.com/

Amazing Thailand. (ม.ป.ป.). บ้านร้องแง. สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://thai.tourismthailand.org/

Chayawat Manasiri. (ม.ป.ป.). ประเพณีดอกไม้พันดวง ข้าวพันก้อน จุดสีสาย ณ วัดร้องแง วัฒนธรรมงามหาชมได้ยากแห่งชุมชนไทลื้อ เมืองปัว. สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://www.thepassport.travel/

Google Earth. (2564). สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://www.earthgoogle.com/