ชุมชนวัฒนธรรมชาวไทขึนที่ยังคงธำรงรักษาไว้ซึ่งจารีต ขนบธรรมเนียม และประเพณีของชาวไทขึนผ่านประเพณีและวิถีการดำรงชีวิต ทั้งยังมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน สถานที่ที่ซึ่งรวบรวมบอกเล่าเรื่องราวบรรพบุรุษของชาวไทขึนด้วยข้าวของเครื่องใช้และโบราณวัตถุที่จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์
เนื่องจากบริเวณที่ตั้งชุมชนเดิมทีมีต้นแหนใหญ่ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก จึงถือชื่อต้นไม้เป็นชื่อชุมชนว่า “บ้านต้นแหนหลวง” ต่อมามีประชากรเพิ่มมากขึ้น จึงต้องขยายพื้นที่อยู่อาศัยข้ามไปถึงอีกฟากหนึ่งของมาน้ำขาน เกิดเป็นชุมชนใหม่เรียกว่า “บ้านต้นแหนน้อย” ในปัจจุบัน
ชุมชนวัฒนธรรมชาวไทขึนที่ยังคงธำรงรักษาไว้ซึ่งจารีต ขนบธรรมเนียม และประเพณีของชาวไทขึนผ่านประเพณีและวิถีการดำรงชีวิต ทั้งยังมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน สถานที่ที่ซึ่งรวบรวมบอกเล่าเรื่องราวบรรพบุรุษของชาวไทขึนด้วยข้าวของเครื่องใช้และโบราณวัตถุที่จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์
บ้านต้นแหนน้อย อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนที่มีชาวไทขึน หรือไทเขินที่มีภูมิลำเนาจากเมืองเชียงตุงอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพื่อหาทำเลถิ่นฐานเป็นที่ทำกิน โดยเดินทางด้วยเท้าและเกวียนบรรทุกสิ่งของทั้งเส้นทางน้ำ ทางบก และเส้นทางค้าขายจากเมืองเชียงตุงผ่านเมืองสาด เมืองฝาง แล้วผ่านมาทางใต้ของเมืองเชียงใหม่ จนถึงบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำขาน ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะสำหรับทำการเกษตรกรรม จึงได้ตัดสินใจตั้งรกรากถิ่นฐานในพื้นที่บริเวณดังกล่าว
บริเวณที่ชาวไทขึนอพยพมาตั้งถิ่นฐานเป็นป่าสักและมีต้นไม้แหนขนาดใหญ่ จึงถือเอาต้นไม้แหนใหญ่เป็นชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านต้นแหนหลวง” โดยชาวไทขึนชุมชนบ้านต้นแหนหลวงได้อพยพมาอยู่รวมกันเป็นระหว่างเครือญาติเดียวกัน ต่อมาเมื่อประชากรมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงต้องมีการขยายพื้นที่อยู่อาศัย ตลอดจนพื้นที่ทำกินออกไปจนถึงอีกฟากหนึ่งของลำน้ำขาน ซึ่งบริเวณนี้ชาวบ้านได้ตั้งชื่อว่า “บ้านต้นแหนน้อย” ในปัจจุบัน
บ้านต้นแหนน้อย ตำบลท่าวังพร้าว อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนที่มีทำเลที่ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำขาน ซึ่งเหมาะสมแก่การทำเกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน ทั้งสวนลำไย ทำนา และปลูกพืชผักสวนครัว นอกจากนี้ ยังมีการขุดเจาะบ่อบาดาลและสร้างเหมืองฝายเพื่อนำน้ำมาใช้ในครัวเรือน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิตของชาวบ้านและสภาพแวดล้อมของชุมชน
สำหรับลักษณะการตั้งบ้านเรือนนั้นมีลักษณะเกาะกลุ่มกันตามหมู่เครือญาติตามริมแม่น้ำ และถนนภายในหมู่บ้าน ส่วนใหญ่บ้านเรือนของชาวไทขึนบ้านต้นแหนน้อยมักจะมีต้นไม้ และสวนผักสวนครัวล้อมรอบ รวมถึงบ่อน้ำหลายบ่อที่ชาวบ้านแต่ละครัวเรือนขุดไว้ใช้ในฤดูแล้ง และเริ่มมีการสร้างรั้วรอบขอบชิดกั้นอาณาบริเวณบ้านแต่ละหลัง แม้ว่าบ้านเรือนรอบข้างจะเป็นบ้านของเครือญาติกันก็ตาม ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากพลวัตของสังคมและวิถีชีวิต แต่ละครัวเรือนต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ส่งผลให้ความสัมพันธ์เครือญาติที่เคยแน่นแฟ้นในอดีตเริ่มห่างเหิน แต่ยังคงสร้างบ้านกระจายตามเส้นทางสัญจรของหมู่บ้านดังเดิม
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ศูนย์วัฒนธรรมไทขึนบ้านต้นแหนน้อย
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทขึน บ้านต้นแหนน้อย ก่อตั้งโดยนายเอนก ปวงคำ ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ เครื่องประกอบพิธีกรรม เงินพดด้วง เครื่องมือประกอบอาชีพ และเครื่องมือดักสัตว์ประเภทต่าง ๆ ที่นายเอนกได้รวบรวมมา ซึ่งล้วนแล้วแต่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทขึนในอดีต ทั้งนี้ ก็เพื่อต้องการรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ของชาวไทขึนให้ผู้ที่สนใจมาศึกษาหาความรู้ และรู้จักรากเหง้าบรรพบุรุษของตนเอง และเพื่อเป็นวิทยาทานแก่ทุกผู้คนที่สนใจศึกษาเรื่องราววิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชาวไทขึนในอดีต
รายงานสถิติจำนวนประชากรสำนักทะเบียนอำเภอท่าวังพร้าว ณ วันทื่ 21 พฤศจิกายน 2565 ระบุจำนวนประชากรหมู่ 7 บ้านต้นแหนน้อย ตำบลท่าวังพร้าวทั้งสิ้น 250 ครัวเรือน 571 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 273 คน และประชากรหญิง 298 คน ประชากรในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นชาวไทขึน มีการอยู่อาศัยร่วมกันแบบเครือญาติ ทำให้ลักษณะครอบครัวของชาวบ้านต้นแหนน้อยส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย คือ อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวใหญ่ มีปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ พี่น้อง ลูกหลาน อาศัยอยู่ร่วมกัน
ไทขึนบ้านต้นแหนน้อยมีลักษณะเป็นชุมชนเกษตรกรรม และเป็นชุมชนชาติพันธุ์ของชาวไทเขิน จากเดิมมีอาชีพทำนา แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาทำสวนลำไย นอกจากนี้ยังมีบางส่วนประกอบอาชีพอื่นนอกเหนืองานในภาคเกษตรกรรม เช่น ค้าขาย อุตสาหกรรมในครัวเรือน รับจ้าง และรับราชการ เป็นต้น อีกทั้งยังมีวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตสมุนไพรทางเลือก อาชีพใหม่ที่เกิดขึ้นในชุมชนบ้านต้นแหนน้อยในปัจจุบัน
วิถีชีวิตของชุมชนชาติพันธุ์ไทขึน บ้านต้นแหนน้อย ยังคงมีเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ดำรงชีวิตโดยพึ่งพาอาซัยะรรมชาติเป็นหลัก ดังจะเห็นได้จากการตั้งบ้านเรือนตามแนวริมฝั่งแม่น้ำ รวมถึงการนำน้ำจากแหล่งน้ะรรมชาติมาใช้ประโยชฯในภาคการเกษตร ทั้งยังคงเอกลักษณ์ของชาติพันธุ์ด้วยการใช้ภาษาไทขึนในการพูดจาสื่อสารกัน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัยที่มีการใช้ภาษาไทขึนอยู่เป็นประจำ ส่วนการประกอบอาหาร มีการใช้วัตถุดิบส่วนใหญ่ซึ่งหาได้จากธรรมชาติ หรือหาได้จากป่ารอบ ๆ ชุมชน เป็นพืชผักพื้นเมือง หรือพืชผักสมุนไพรจากสวนที่ปลูกในพื้นที่บริเวณบ้าน รั้วบ้าน หรือขึ้นเองตามธรรมชาติ อัตลักษณ์ที่ชัดเจนของชาวไทขึน เช่น การแต่งกาย ภูมิปัญญาในการดูแลรักษาสุขภาพ หรือการละเล่น โดยผู้ที่มีบทบาทหรือเป็นตัวแทนในการแสดงถึงอัตลักษณ์ มักเป็นผู้สูงอายุในชุมชน
อนึ่ง ภายในชุมชนบ้านต้นแหนน้อย ยังคงปรากฏประเพณีและวัฒนธรรมเก่าแก่ดั้งเดิมของชาวไทขึน ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงานที่จะต้องใช้แอบเหลี่ยมประกอบในขบวนขันหมาก หรือแม้กระทั่งการไหว้ผี ซึ่งเป็นความเชื่อที่ชาวไทเขินรับสืบทอดมาตั้งแต่ชนรุ่นบุพกาล
นายเอนก ปวงคำ: ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทขึ้น บ้านต้นแหนน้อย
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทขึน บ้านต้นแหนน้อย เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 โดยนายเอนก ปวงคำ จุดเริ่มต้นการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เริ่มจากเพียงการเริ่มเก็บเหรียญ โดยเฉพาะรัชกาลที่ 5 จำพวกเงินโสรส เงินอัฐ เงินเสี้ยว และเงินพดด้วง อูบ เซี้ยนหมาก แอบเหลี่ยม และเครื่องเงิน ของตระกูล จากนั้นได้เก็บสะสมข้าวของเครื่องใช้สมัยก่อน เช่น กับดักสัตว์ เครื่องมือทำนา และเครื่องประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ของหมู่บ้าน และจากชุมชนชาวขึนในชุมชนใกล้เคียง เพื่อรวบรวมไว้เป็นหลักฐานทางวัฒนธรรม และเพื่อการอนุรักษ์สิ่งของเครื่องใช้ โดยขอบริจาคจากญาติพี่น้อง และซื้อด้วยเงินของตนเอง การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อต้องการรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ของชาวไทขึนให้ผู้ที่สนใจมาศึกษาหาความรู้ และรู้จักรากเหง้าบรรพบุรุษของตนเอง และเพื่อเป็นวิทยาทานแก่ทุกคน
- เรือนไทเขิน (ไทขึน)
เรือนไทเขินจะมีลักษณะโปร่งและโล่ง หลังคาทรงมะนิลาหรือปั้นหยาเปิดจั่ว และเปิดหน้าจั่วขนาดเล็ก ปีกหลังคายื่นยาวเหมือนเรือนไทลื้อในสิบสองปันนา แต่ไม่ตกแต่งหน้าจั่ว มีลานบ้านใช้งานเอนกประสงค์ ตัวบ้านแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกอยู่ภายในเรือน บริเวณนี้ห้ามมิให้ผู้ที่ไม่ได้นับถือผีตระกูลเดียวกันเข้าไปโดยเด็ดขาด หาไม่จะถือว่าผิดผี ต้องทำการขอขมา ส่วนนอกเรียกว่า “เติ๋น” เป็นบริเวณนอกชาน รวมถึงบริเวณที่ซักล้างและห้องครัว เติ๋นจะเป็นเขตที่มีการจัดกิจกรรมของครอบครัว เช่น กินข้าวปรึกษาหารือ และกิจกรรมอันเกี่ยวกับประเพณีต่าง ๆ ตลอดจนใช้สำหรับจัดทำอาชีพเสริม เช่น เย็บเสื้อ คัดพืชผลของครอบครัวรวมทั้งรับแขก เลี้ยงพระเนื่องในงานบุญ เป็นต้น (ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, 2555)
- แอบเหลี่ยม
เครื่องเรือนสำหรับเก็บเสื้อผ้า ผ้าเช็ด หรือสไบ เพื่อรักษาและป้องกันหนูกัด และที่สำคัญจะใช้ประกอบพิธีในงานมงคลสมรสของฝ่ายเจ้าบ่าว โดยจะนำเสื้อผ้าสี่งของฝ่ายเจ้าบ่าวใส่แอบเหลี่ยมแล้วร่วมไปกับขบวนขันหมากมายังบ้านเจ้าสาว
- มูยา
มูยา หรือก้านยาสูบไทขึน มักจะทำจากดินเผา มีรูปร่างเป็นกระเปาะคล้ายบาตรพระเล็ก ๆ ตรงกลางจะเป็นหลุมลึก (สำหรับใส่ยาเส้น) มีรูตรงก้นหลุมและต่อเป็นท่อไปยังก้านสูบยา ซึ่งทำจากเงินหรือโลหะอืนที่มีรูตรงกลาง ปลายสุดของก้านมูยาที่ใช้สูบจะเป็นหยักสำหรับกันไม่ให้มูยาหลุดจากปาก วัสดุที่ใช้ทำนอกจากเป็นดินแล้ว จะทำจากตาไม้ไผ่ก็ได้
- โอ
เครื่องเรือนเขินลักษณะคล้ายขันขนาดใหญ่ ทำจากไม้ไผ่ขดเป็นรูปคล้ายบาตรพระ แต่ปากจะใหญ่ ไม่สอบแคบเล็กเหมือนบาตร และลงรักทาด้วยชาดสีแดง หรือสีทอง เป็นลายเครือเถาว์คล้ายกับแอบเหลี่ยม
- ออมเมี้ยง
เป็นภาชนะที่ทำจากเครื่องเคลือบดินเผาเขียว มีหลายรูปทรง มีทั้งคล้ายขันดอกหรือพาน มีหูจับเหมือนถ้วยกาแฟ และมีฝาปิดสองชั้น นิยมนำมาใส่เกลือและเมี่ยง
- อูบ
เครื่องใช้ประเภทครัวหาง ทาด้วยชาดสีแดง บางชิ้นมีการเขียนลวดลายประดับ ในสมัยก่อนชาวไทขึนเชียงตุงนิยมใส่อาหารไปถวายพระที่วัด แต่ต่อมาเปลี่ยนไปใช้ถาดหรือตะกร้าแทน อูบจึงถูกนำไปใช้สำหรับเก็บสิ่งของมีค่าและประดับตกแต่งบ้าน
ภาษาที่ใช้พูดและเขียน: ภาษาพูดและภาษาเขียนของไทขึน มีความคล้ายคลึงกันกับภาษาไทลื้อแลภาษาไทยอง ภาษาไทขึนเป็นภาษาในกลุ่มภาษาย่อยไทพายัพ ในกลุ่มภาษาคํา-ไต ตระกูลภาษาไต-กะได ชาวไทขึนใช้อักษรชนิดเดียวกันกับอักษรล้านนา (ตัวเมือง)
กรด เหล็กสมบูรณ์. (2558). ชาติพันธุ์ไทเขินในประเทศไทย: การเคลื่อนย้าย การตั้งถิ่นฐาน วิถีชีวิต และเครือข่ายทางสังคม (รายงานการวิจัย). เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ของดีไทเขินต้นแหนน้อย. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://web.facebook.com/
ฐาปนีย์ เครือระยา. (2563). ไทเขิน. สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://art-culture.cmu.ac.th/Lanna/articleDetail/1250
ปิยกานต์ พานคำขาว. 2549. นิเวศวิทยา วัฒนธรรมซึ่งสัมพันธ์กับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของไทเขิน กรณีศึกษา บ้านต้นแหนน้อย อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (2555). สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2566, จาก http://m-culture.in.th/
เอนก ปวงคำ. หัวหน้าศูนย์วัฒนธรรมไทเขิน ประธานวัฒนธรรมตำบล และคณะกรรมการวัฒนธรรม อำเภอสันป่าตอง. 7 กุมภาพันธ์ 2566. สัมภาษณ์.
Google maps. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2566, จาก http://www.googlemap.com/
loveThailand. (ม.ป.ป.). พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทเขิน. สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://www.lovethailand.org/