
ชุมชนที่มีการใช้ทรัพยากรผสมผสานกับวิถีชีวิต ผ่านประเพณี เช่น ประเพณีผ้าป่ากลางน้ำ หรือผ่านอาชีพ เช่น อุตสาหกรรมยางพารา กะปิน้ำปลา สวนผลไม้ เป็นต้น
ชุมชนเมืองแกลง เดิมมีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นจัตวาของมณฑลจันทบุรีในประมาณปี พ.ศ. 2440 ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีชื่อว่า ที่มาของคำว่า “แกลง” มีอยู่หลายกระแส บ้างก็บอกว่าเป็นภาษาชองที่มีความหมายว่า แหวน ซึ่งตั้งตามชื่อหนองน้ำที่ตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณที่ตั้งเมืองแกลงในอดีต ที่มีลักษณะคล้ายวงกลมรูปแหวน ส่วนอีกกระแสบอกว่าแกลงในภาษาชองแปลว่าปลาดุก ซึ่งได้อีกหนึ่งความหมาย เนื่องจากเมืองแกลงตั้งอยู่ใกล้บริเวณแหล่งน้ำที่มีปลาดุกชุกชุม อีกตำนานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาษาชอง แต่เป็นคำบอกเล่าในท้องถิ่น ระบุว่า แกลง เพี้ยนมาจากคำว่า นกแก-ลง คือมีฝูงนกกา ที่เรียกว่า “นกแก” อพยพมาอยู่ในอาณาบริเวณหนองน้ำแห่งหนึ่งจึงเรียกติดปากกันว่า นก แก ลง และเพี้ยนมาเป็นแกลงจนถึงปัจจุบันนี้
ชุมชนที่มีการใช้ทรัพยากรผสมผสานกับวิถีชีวิต ผ่านประเพณี เช่น ประเพณีผ้าป่ากลางน้ำ หรือผ่านอาชีพ เช่น อุตสาหกรรมยางพารา กะปิน้ำปลา สวนผลไม้ เป็นต้น
อำเภอแกลงเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญของจังหวัดระยองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ในอดีตอำเภอแกลงมีสถานภาพเป็น “เมือง” เช่นเดียวกับเมืองระยองหรือเมืองจันทบูร ในสมัยอยุธยา เมืองแกลงมีสถานภาพเป็นเมืองในการกำกับดูแลของเมืองจันทบูร ข้อมูลจากพระอัยการตำแหน่งนายทหารหัวเมือง กล่าวว่า เมืองจันทบูรเป็นหัวเมืองชั้นตรี เจ้าเมืองมีราชทินนาม เป็นออกญาชัยธิบดีศรีณรงฤาไชยา มีศักดินา 5000 ถือเป็นขุนนางที่มีระดับสูง และมีอำนาจเหนือหัวเมืองอื่น ๆ ในแถบภาคตะวันออก ทั้งนี้จากบันทึกคำให้การชาวกรุงเก่า ได้กล่าวถึงหัวเมืองตะวันออกหลายเมือง หนึ่งในนั้นคือเมืองแกลง แต่ชื่อที่ปรากฏในบันทึกกับเขียนเอาไว้ว่า เมืองมะแสง ในภายหลังสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นคำที่ใช้เรียกชื่อเมืองแกลงในสมัยนั้น ซึ่งที่ตั้งของเมืองน่าจะอยู่บริเวณของลำน้ำประแสตอนบน นอกจากนั้นเมืองแกลงยังเป็นเส้นทางผ่านของสมเด็จพระเจ้าตากสินเมื่อครั้งที่กรีฑาทัพไปยังเมืองจันทบูร
ด้วยลักษณะทางภูมิประเทศของอำเภอแกลงเป็นพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล ประกอบกับมีแม่น้ำประแสไหลผ่าน จึงทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวมีการผสมผสานทางวัฒนธรรมของผู้คนในท้องถิ่นและผู้คนจากภายนอกที่หลั่งไหลเข้ามาโดยเฉพาะบริเวณชุมชนปากน้ำประแสที่ทำหน้าที่เป็นเมืองท่าสำคัญของเมืองแกลง โดยในช่วงของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปากน้ำประแสได้พูดถึงในพระราชหัตถเลขาของพระองค์ เมื่อครั้งเสด็จประพาสหัวเมืองฝั่งตะวันออก ในขณะนั้นถูกเรียกว่า “ปากน้ำพแส” เนื้อความได้กล่าวเอาไว้ว่า พระองค์เสด็จทางเรือกลไฟเข้าไปทอดพระเนตรลำน้ำพบว่ามีบ้านเรือนอยู่เป็นร้อยหลังบริเวณริมน้ำ จากหลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า บริเวณปากน้ำประแสมีผู้คนอยู่ในพื้นที่มาก่อนแล้วเป็นเวลานาน ย้อนไปได้ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายและหนาแน่นจนกลายเป็นชุมชนที่ปรากฏหลักฐานอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ชุมชนปากน้ำประแสเป็นชุมชนที่เติบโตขึ้นจากการเป็นเมืองท่า และการทำประมง ดังนั้นแล้วอาชีพหลักของคนในพื้นที่จึงเกี่ยวข้องกับการค้าขาย และทำประมงเป็นหลัก ทั้ง 2 กลุ่มอาชีพดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวทางเศรษฐกิจ ดังนั้นแล้วในชุมชนแห่งนี้จึงเปรียบเสมือนศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเมืองแกลง ในสมัยที่ผู้คนยังสัญจรกันทางน้ำ ภายในพื้นที่จึงมีทั้งร้านขายของชำ โรงงานน้ำปลา โรงน้ำแข็ง ตลาดสด และโรงแรม ซึ่งเจ้าของกิจการส่วนมากแล้วเป็นชาวจีนที่อพยพมาอาศัยอยู่ตามชุมชนชายฝั่งทะเล จนกระทั่งเกิดถนนสุขุมวิทขึ้น การเดินทางจึงเปลี่ยนจากทางน้ำมาเป็นทางบก การขนส่งสินค้าทางเรือที่กินเวลานานจึงถูกทดแทนด้วยรถบรรทุกที่รวดเร็วขึ้นกว่าเดิม กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในชุมชนปากน้ำประแสลดลงและย้ายมาอยู่บริเวณตลาดสามย่านซึ่งอยู่ติดถนนสุขุมวิทมากกว่า
ปัจจุบันจึงเห็นเรือนไม้เก่าบริเวณท่าน้ำหรือตามแนวแม่น้ำประแส แสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวของผู้คนในอดีตที่ใช้เส้นทางผ่านทางน้ำเป็นประตูเปิดเข้าหาซึ่งกันและกัน อีกส่วนหนึ่งคือบริเวณตลาดสามย่านซึ่งจะเห็นสถาปัตยกรรมเรือนไม้ได้ชัดเจนในช่วงถนนสุนทรโวหารทั้งเส้น เพราะอยู่ติดกับตลาดสามย่านซึ่งเป็นแหล่งการค้าแหล่งใหม่ในช่วงที่มีถนนสุขุมวิทเข้ามา
เมืองแกลงมีพื้นที่ 14.5 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ตำบลทางเกวียน และตำบลวังหว้า จังหวัดระยอง
โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอจันทร์ และ อำเภอเขาชะเมา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอแก่งหางแมว และ อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี
- ทิศใต้ ติดต่อกับ อ่าวไทย
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอเมืองระยอง
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ พื้นที่ทั่วไปของเทศบาลตำบลเมืองแกลงค่อนข้างเป็นที่ราบเรียบมีเนินเขาอยู่ทางทิศตะวันตกทอดยาวไปทางทิศตะวันออก มีแม่น้ำประแสไหลผ่าน พื้นที่ราบฝั่งตะวันออกของแม่น้ำประแส ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ส่วนทางทิศตะวันตกจะเป็นที่เนินสูง-ต่ำ สลับกันและเป็นที่ตั้งของชุมชน ย่านการค้าสถานที่ราชการ โรงงานอุตสาหกรรม แหล่งเศรษฐกิจและการพาณิชย์ที่สำคัญของเทศบาล
จากข้อมูลสำรวจของงานทะเบียนราษฎร ปี 2564 ระบุว่าชุมชนในเขตเทศบาลมี จำนวน 16 ชุมชน จำนวนบ้าน 11,372 หลังคาเรือน จำนวนครัวเรือน 3,740 ครัวเรือน ประชากรชุมชนรวม 18,715 คน ชาย 8,915 คน หญิง 9,800 คน นอกจากนี้ยังมีประชากรแฝงที่เข้ามาอยู่ในเขตเทศบาลและเข้ามาทำงาน โดยเฉพาะเข้ามาทำงานรับจ้างโรงงานในเขตเทศบาล แต่ไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่ในเขตเทศบาล ซึ่งคาดว่าไม่ต่ำกว่า 3,000 คน
เมืองแกลงเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำประแส คนในชุมชนแห่งนี้โดยส่วนใหญ่ มีอาชีพทำนาและทำสวนเป็นหลัก ขณะที่สภาพของแม่น้ำประแสเป็นแม่น้ำที่ไหลมาจากทางทิศเหนือโดยการรวมกันของลำน้ำเล็ก ๆ หลายสายในเขตพื้นที่ตำบลกะเฉด (ทางทิศเหนือของเมืองแกลง) ไหลลงสู่ทิศใต้ออกทะเล ขณะเดียวกันที่ตั้งของชุมชนก็ไม่ห่างไกลจากชายฝั่งทะเลมากนัก ทำให้แม่น้ำประแส เสมือนเป็นเส้นทางคมนาคมหลักของชุมชนเมืองแกลง ในการออกเรือทำประมงพื้นบ้าน การติดต่อค้าขายกับชุมชนต่างพื้นที่พร้อม ๆ กับการรับซื้อสินค้าจากชาวบ้านในพื้นที่ตอนในและเรือพ่อค้าจากภายนอกที่เข้ามาค้าขายในชุมชน และในปัจจุบันแม้ว่าจะไม่ได้มีการค้าทางน้ำเป็นหลักแล้ว แต่ยังคงเห็นร่องรอยของวิถีชีวิตดังกล่าวได้จากการตั้งบ้านเรือนของผู้คนที่จะตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำประแส
แม่น้ำประแส วิถีชีวิตของผู้คนในเมืองแกลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ริมแม่น้ำประแสนั้นจะผูกพันกับแม่น้ำสายนี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เนื่องจากบริเวณลุ่มน้ำประแสเป็นที่ราบลุ่ม จึงเหมาะกับการทำเกษตรกรรมและการประมง อีกทั้งในอดีตแม่น้ำสายนี้ยังเปรียบเหมือนท้องถนนที่นำพาผู้คนเคลื่อนย้ายไปมาหาสู่กัน ดังนั้นพื้นที่บริเวณดังกล่าวจึงเป็นที่รวมตัวของผู้คนที่เข้ามาตั้งรกรากทำมาหากิน เหล่านี้แม่น้ำประแสจึงนับเป็นทุนของชุมชนเมืองแกลง
ภาษาถิ่นระยอง (น้ำเสียงเหน่อ) เป็นภาษาของชาวชอง พูดสำเนียงตระกูลภาษามอญ ซึ่งชาวชองเป็นประชากรดั้งเดิมของพื้นที่ฝั่งตะวันออก ต่อมากลายเป็นคนไทย พูดภาษาไทย แต่สำเนียงเดิม (เหน่อระยอง) ฉะนั้นภาษาถิ่นระยองจะมีสำเนียงที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เมื่อฟังจะทราบได้ทันทีว่าเป็นภาษาระยอง เช่นเดียวกับภาษาท้องที่อื่น ๆ เช่น สุพรรณบุรี เป็นต้น ภาษาถิ่นระยองบางคำจะมีความหมายเฉพาะเป็นที่ทราบกันในท้องถิ่น ไม่มีในพจนานุกรม
ตลาดสามย่านและชุมชนปากน้ำประแส มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมาเป็นเวลานาน ผ่านการค้าขายสินค้า และกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ เนื่องจากบริเวณสามย่านเป็นพื้นที่ลุ่มที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูก สินค้าจาก สามย่านจึงเป็นผลิตผลทางการเกษตรเป็นส่วนมาก อาทิ ข้าว ผักสวนครัว ยางพารา และในขณะเดียวกันตลาดสามย่านก็เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างช้า ๆ ในฐานะเมืองที่เป็นย่านการค้าขนาดเล็ก ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนสินค้าของคนในพื้นที่เขตอำเภอแกลง ขณะที่ปากน้ำประแสเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จากการค้าขายสินค้ากับพื้นที่อื่นๆ ซึ่งมีการขนส่งสินค้าทางทะเล จนกระทั่งเกิดการตัดถนนสุขุมวิทขึ้น บริเวณตลาดสามย่านจึงกลายเป็นทำเลที่เหมาะสมต่อการกลายเป็นย่านการค้าหลักของอำเภอแกลงแทนที่ปากน้ำประแส เนื่องจากเดินทางสะดวกกว่าจึงมีการโยกย้ายของกลุ่มผู้ประกอบการบางส่วนจากปากน้ำประแสมายังตลาดสามย่าน และทำให้ตลาดแห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอำเภอแกลงในเวลาต่อมา ส่งผลให้เกิดบ้านเรือนไม้บริเวณตลาดสามย่าน และยังคงมีให้เห็นในปัจจุบัน
เทศบาลตำบลเมืองแกลง. (ม.ป.ป.). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2561-2565). สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2566 , เข้าถึงได้จาก https://www.muangklang.com/
พนมกร นวเสลา. (2561). ชุมชนบ้านแกลง อดีตชุมชนตลาดแห่งคลองแกลง. สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2566 ,เข้าถึงได้จาก https://www.lek-prapai.org/
ศศิธร ศิลป์วุฒยา และคณะ. (2562). รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการวิจัยข้อมูลชาติพันธ์และวิถีชุมชนระยอง. กรุงเทพฯ: ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.