บ้านเปียงกอก ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอฝาง ซึ่งเป็นอำเภอขนาดใหญ่ มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของเชียงใหม่ เป็นอำเภอศูนย์กลางความเจริญในเขตเชียงใหม่ตอนบน ทั้งยังเป็นพื้นที่ศึกษาของโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนาอีกด้วย
บ้านเปียงกอก ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอฝาง ซึ่งเป็นอำเภอขนาดใหญ่ มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของเชียงใหม่ เป็นอำเภอศูนย์กลางความเจริญในเขตเชียงใหม่ตอนบน ทั้งยังเป็นพื้นที่ศึกษาของโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนาอีกด้วย
เดิมอำเภอฝางเป็นที่ตั้งของเมืองฝาง ซึ่งเป็นเมืองหลวงในอดีต มีอายุนับพันปีในตำนานโยนกกล่าวไว้ว่า เมืองฝาง ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 1184 โดยเจ้าลวจังกราช เป็นหัวเมืองทางตอนเหนือของอาณาจักรล้านนา พญามังรายหรือพ่อขุนเม็งรายมหาราชทรงเคยเสด็จมาปกครองเมืองฝางและประทับอยู่ที่เมืองนี้ (ก่อนหน้านั้นเมืองฝางอาจจะเป็นเมืองร้างหรือถูกพญามังรายเข้ายืดจากเจ้าเมืององค์ก่อนหรือไม่ยังไม่ทราบแน่ชัด) พระองค์ทรงเตรียมกำลังพลก่อนที่จะยกทัพไปตีเมืองหริภุญชัย สร้างเวียงกุมกาม และสร้างเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 1839 เรียกสั้น ๆ ว่า นครเชียงใหม่ต่อไป ดังนั้นเมืองฝางจึงเป็นเมืองโบราณที่มีอายุนับพันปี ปัจจุบันยังปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์คือ กำแพงเมืองและคูเมืองแบบเดียวกับในเมืองเชียงใหม่
อำเภอฝางเคยเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงราย แต่ถูกโอนมาสังกัดจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2468 ด้วยเหตุผลเรื่องการคมนาคมและการติดต่อราชการ อำเภอฝางได้มีการสร้างที่ว่าการอำเภอฝางขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2488 และปัจจุบันได้มีการสร้างอาคารที่ว่าการอำเภอฝางขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2540 โดยยังคงเก็บรักษาอาคารที่ว่าการอำเภอฝาง หลังเก่าไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชม อันเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเสด็จเยี่ยมราษฎร ณ อาคารแห่งนี้เมื่อปีพุทธศักราช 2501 ต่อมาได้มีการแยกกิ่งอำเภอออก คือ กิ่งอำเภอแม่อายในปี พ.ศ. 2510 ก่อนที่ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอแม่อายในปี พ.ศ. 2516 ต่อมาได้แยกกิ่งอำเภออีกคือกิ่งอำเภอไชยปราการในปี พ.ศ. 2531 และได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอไชยปราการในปี พ.ศ. 2537
สำหรับบ้านเปียงกอก ไม่ปรากฏการบันทึกถึงที่มาของชื่อ ปรากฏเพียงว่าหมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลโป่งน้ำร้อน ทางทิศเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ ระยะทาง 160 กิโลเมตร ห่างจากตัวอำเภอฝางไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นตำบลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2534 โดยแยกมาจากตำบลม่อนปิ่น เดิมมี 6 หมู่บ้าน ปัจจุบันมีทั้งหมด 7 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองพนัง บ้านดอน บ้านหัวฝาย บ้านท่าหัด บ้านต้นผึ้ง บ้านเปียงกอก และบ้านต้นผึ้งใต้ จากการตั้งข้อสังเกตถึงชื่อหมู่บ้านทั้ง 7 แห่ง พบว่าน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับลักษณะภูมิประเทศ ทั้งแหล่งน้ำและพันธุ์ไม้ นอกจากนี้ ยังพบการเรียกชื่อชุมชนด้วยชื่อตำบล คือ โป่งน้ำร้อน ซึ่งมีที่มาจาก บ่อน้ำพุร้อนซึ่งตั้งอยู่ภายในตำบล และเป็นส่วนหนึ่งของเขตอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก
การตั้งถิ่นฐาน
อำเภอฝาง มีประชากรชาวไทยพื้นราบ ชาวไทยภูเขา คนไทยเชื้อสายจีน และแรงงานต่างด้าว ซึ่งเข้ามาขายแรงงานในพื้นที่ทั้งที่ถูกกฎหมาย และไม่ถูกกฎหมายเป็นจำนวนมาก
ประชากรในพื้นที่ตำบลโป่งน้ำร้อน แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
- คนล้านนา หรือคนเมือง หรือไทยวน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ตระกูลภาษาไท-กะไดกลุ่มหนึ่งที่ตั้งถิ่นฐานทางตอน เหนือของประเทศไทยที่เคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรล้านนาในอดีตคนล้านนามีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ แต่กลุ่มใหญ่ที่สุดคือ "ไทยวน" ซึ่งมีค้าเรียกตนเองหลายอย่าง เช่น "ยวนโยน หรือ ไต (ไท) และถึงแม้ในปัจจุบันชาวล้านนาจะกลายเป็นพลเมืองของประเทศไทยแล้วก็ตาม แต่ก็มักเรียกตนเองว่า "คนเมือง" ซึ่งเป็นคำเรียกที่เกิดขึ้นในภายหลัง ในยุคเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง เพื่อฟื้นฟูประชากรในล้านนาหลังสงคราม โดยการกวาดต้อนกลุ่มคนจากที่ต่าง ๆ เข้ามายังเมืองของตน ผู้ชายจะมีรูปร่างโปร่งบางกว่าคนไทยในภาคกลางเล็กน้อย ผู้หญิงมีรูปร่างผิวพรรณและหน้าตางดงาม มีภาษาพูดแตกต่างไปจากไทยภาคกลางเล็กน้อยมีตัวหนังสือเฉพาะ แต่ในปัจจุบันได้หันมาใช้อักษรไทยกลางแทน การแต่งกายพื้นถิ่นหญิงนุ่งผ้าซิ่นยาวเกือบถึงตาตุ่มใส่เสื้อแขนกระบอก ห่มสไบ เกล้าผมทัดดอกไม้ ชายนิยมนุ่งกางเกงขายาวใส่เสื้อคอกลมแขนสั้นสีครามเข้มมีผ้าขาวม้าคาดเอว แต่เดิมจะอาศัยในบ้านเรือนยกใต้ถุนสูง หน้าจั่วมีไม้ไขว้กันประดับประดาด้วยลวดลายเรียกว่า “กาแล” นอกจากอาชีพทำการเกษตรแล้วยังมีความสามารถในการหัตถกรรม อาทิ เครื่องเหล็ก เครื่องไม้แกะสลัก เครื่องเขิน เครื่องจัก สาน เครื่องเงิน ทอผ้า ท้าร่ม เครื่องดนตรีที่สำคัญ ได้แก่ เปี้ยะ สะล้อ ซึง ปี่ แน กลอง นาฏศิลป์พื้นบ้านมีการ ฟ้อนเมือง ฟ้อนม่าน ฟ้อนเงี้ยว การขับร้องและขับล้าเรียกว่า “ซออู้สาวและค่าวซอ” ประเพณีที่สำคัญคล้ายกับไทยภาคกลาง เช่น ประเพณีปี๋ใหม่ (สงกรานต์) ประเพณียี่เป็ง (ลอยกระทง) เป็นต้น แต่ก็มีบางส่วนที่แตกต่างไป เช่น ปอยหลวง ประเพณีฮ้องขวัญ สืบชะตา ส่งเคราะห์ ตานตุง ใส่บาตรเป็งปุ๊ด เป็นต้น
- ไทใหญ่ เรียกตัวเองว่า “ไต” ถูกคนเมืองเรียกว่า “เงี้ยว” และ พม่าเรียกว่า “ฉาน” ซึ่งตามภาษาพม่าเรียกว่า “คนภูเขา” เนื่องจากรัฐฉานอัน เป็นถิ่นฐานของไทใหญ่ในปัจจุบันอยู่ในเทือกเขาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของสหภาพพม่า ลักษณะทางกายภาพและพันธุกรรมจัดอยู่ในกลุ่มเชื้อชาติ พันธุ์มองโกลอยด์เช่นเดียวกับคนไทย ผู้ชายรูปร่างใหญ่กว่าคนไทย โปร่งแต่แข็งแรง มือเท้าเล็ก มีภาษาพูดที่แตกต่างไปจากคนเมืองและไทยภาคกลาง เล็กน้อย มีตัวหนังสือเฉพาะตน การแต่งกายพื้นถิ่นหญิงนุ่งผ้าซิ่นยาวเกือบถึง ตาตุ่ม ใส่เสื้อแขนกระบอกเข้ารูป เกล้าผมมวยโพกศีรษะด้วยผ้า เจาะหูใส่ต่าง หู ชายเสื้อแบบจีน นุ่งกางเกงขายาว สวมหมวกปีกกว้าง เจาะหูใส่ตุ้มหู เช่นเดียวกัน แต่เดิมคนไทใหญ่จะชอบอาศัยอยู่ในบ้านเรือนยกใต้ถุนสูง จะมีความสามารถในการทำไร่ทำสวน นอกจากนี้แล้วยังชอบค้าขาย มีความสามารถในการเพาะพันธุ์สัตว์และงานหัตถกรรม ได้แก่ ทอผ้า เครื่องปั้นดินเผา เครื่องแกะสลัก งาช้างและไม้ เครื่องทองเหลือง กระดาษจากต้นข่อย เครื่องดนตรีสำคัญ ได้แก่ ฆ้อง กลอง ฉาบ นาฏศิลป์พื้นบ้าน มีการเต้นโต ฟ้อนนก ประเพณีสำคัญคล้ายคนไทย เช่น ตรุษสงกรานต์ และพิธีทางศาสนาพุทธ เช่น วันวิสาขบูชา ปอยต้นแปก หรืองานท้าบุญต้นเกี๊ยะหลวง เป็นต้น ปัจจุบันตำบลโป่งน้ำร้อนมีชุมชนไทใหญ่อาศัยอยู่หนาแน่นทุกหมู่บ้าน เนื่องจากมีการอพยพเข้ามาเป็นแรงงานในภาคเกษตรกรรมในพื้นที่
- คนจีน ในพื้นที่ตำบลโป่งน้ำร้อนจะอาศัยอยู่ที่บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 3 แต่เดิมจะเป็นคนจีนที่อพยพมาจากมณฑลยูนนาน ประเทศจีน แล้วตั้งถิ่นฐานอยู่ในตำบลโป่งน้ำร้อน ซึ่งจะมีทั้งคนจีนที่นับถือศาสนาพุทธและนับถือศาสนาอิสลาม
- มุสลิม ในพื้นที่ตำบลโป่งน้ำร้อนจะอาศัยอยู่ที่บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 3 แต่เดิมจะเป็นคนจีนนับถือ ศาสนาอิสลามอพยพมาจากมณฑลยูนนาน ประเทศจีน แล้วตั้งถิ่นฐานอยู่ในตำบลโป่งน้ำร้อน แต่ปัจจุบันมุสลิม ที่มาอาศัยอยู่ในมัสยิดจะเป็นมุสลิมที่อพยพมาจากประเทศพม่าเพื่อเข้ามาเรียนในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม
หลักฐานโบราณคดี
เมืองฝางเป็นเมืองที่ความสำคัญและมีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่อดีต เนื่องจากมีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีมากมาย ได้แก่ แหล่งโบราณคดีกว่า 10 แห่ง โดยเฉพาะกลุ่มเมืองโบราณ ซึ่งหลักฐานส่วนใหญ่ปรากฏแนวกำแพงดินและคูน้ำล้อมรอบ และซากของโบราณสถานที่ยากจะพบเห็นได้บ้าง แม้ว่าหลักฐานจะถูกทำลายจนเหลือเพียงซากปรักหักพัง จนยากต่อการศึกษารูปแบบศิลปกรรม แต่อย่างน้อยร่องรอยที่พบเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของเมืองฝางในอดีตได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้แล้วยังพบหลักฐานโบราณวัตถุจำนวนมาก โดยเฉพาะพระพุทธรูปสำริด ซึ่งพบกระจายอยู่ตามวัดต่าง ๆ อยู่ในพื้นที่อำเภอฝาง และอำเภอแม่อาย ซึ่งล้วนเป็นหลักฐานสภาพค่อนข้างสมบูรณ์และมีคุณค่าต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะอย่างยิ่ง
เมืองฝางมีแหล่งโบราณคดีหลายแหล่ง สันนิษฐานว่าในอดีตเมืองฝางเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่เมืองหนึ่งของอาณาจักรล้านนา ดังจะเห็นได้จากหลักฐานซากโบราณคดีของกลุ่มเวียงสำคัญต่าง ๆ หลายเวียง โดยมีเวียงฝางเป็นศูนย์กลางของเมือง และมีกลุ่มเวียงอื่น ๆ ล้อมรอบ ซึ่งเวียงเหล่านี้มักมีคันน้ำคูดินล้อมรอบ เช่น เวียงมะลิกา เวียงไชย เวียงป่าฮัก เป็นต้น ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับเมืองเชียงใหม่ ที่มีเวียงเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง และมีเวียงเจ็ดลิน เวียงสอนดอก และเวียงกุมกามเป็นเวียงบริวารล้อมรอบ
ที่ตั้งและลักษณะพื้นที่
ตำบลโป่งน้ำร้อนตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ ระยะทาง 160 กิโลเมตร ห่างจากตัวอำเภอฝางไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นตำบลที่จัดตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2534 โดยแยกมาจากตำบลม่อนปิ่น เดิมมี 6 หมู่บ้าน ปัจจุบันมีทั้งหมด 7 หมู่บ้าน ตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเล 475 เมตร เนื้อที่ทั้งตำบลมีประมาณ 69,063 ไร่ หรือประมาณ 110.50 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับสาธารณรัฐแห่งสภาพเมียนมา และตำบลแม่สาว อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลม่อนปิ่น และตำบลเวียง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลเวียง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
ลักษณะพื้นที่ของหมู่บ้านเปียงกอก ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก มีลักษณะเป็นป่าไม้และภูเขาสลับซับซ้อน มีบ่อน้ำพุร้อนและลำน้ำแม่ใจ
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
ธรณีวิทยา : ดอยผ้าห่มปกมีลักษณะทางธรณีวิทยาคล้ายกับดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นภูเขาแกรนิต มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์มาก จึงได้รับการปกป้องไว้เพื่อเป็นป่าต้นน้ำอันเป็นจุดกำเนิดของแม่น้ำฝาง สำหรับพื้นที่บ้านเปียงกอกมีลักษณะธรณีวิทยาแนวยาวเหนือจดใต้ พื้นที่ด้านเหนือมีภูมิประเทศเป็นเขาสูง มีหินแกรนิตชนิดไบโอไทต์ แกรนิตเนื้อปานกลางถึงหยาบ และมีเนื้อดอกขนาดใหญ่ มีแนวสัมผัสหินควอร์ตไซต์หินฟิลไลต์และหินซีสต์ จัดอยู่ในหินยุคแคมเบียน
ลักษณะภูมิประเทศ : สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปกเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ทอดยาวในแนวเหนือ-ใต้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาแดนลาว มีระดับความสูงตั้งแต่ 400-2,285 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีภูเขาที่สำคัญคือ ดอยปู่หมื่น ดอยแหลม และดอยฟ้าห่มปก ซึ่งมีความสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย เป็นต้นกำเนิดของลำห้วยที่สำคัญหลายสาย
ดิน : บนยอดดอยสูงสุดเป็นทุ่งโล่งอันเกิดจากสภาพธรณีวิทยาที่มีชั้นดินตื้น ชั้นหินเป็นหินแกรนิต
น้ำ : เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำและเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย เช่น ห้วยแม่ใจ ห้วยแม่สาว น้ำแม่กึมหลวง น้ำแม่ฮ่าง น้ำแม่แหลง สำหรับลุ่มน้ำแม่ใจซึ่งไหลผ่านหมู่บ้านเปียงกอก เป็นสาขาของลำน้ำแม่ฝาง ซึ่งมีต้นน้ำอยู่บริเวณดอยผ้าห่มปก เขตติดต่อประเทศเมียนมา มีลักษณะพื้นที่รับน้ำเป็นรูปขนนก เส้นทางน้ำแบ่งสันเขาเป็นร่องน้ำลึกสองฝั่ง ลำน้ำคดเคี้ยวมีความลาดชันสูง
ในปี พ.ศ. 2552 มีโครงการก่อสร้างฝายน้ำแม่ใจลูกที่ 1–4 พร้อมอาคารประกอบ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ราษฎรประมาณ 1,050 คน มีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตรพื้นที่ประมาณ 4,220 ไร่ ทั้งนี้ ใช้พื้นที่บ้านเปียงกอก หมู่ที่ 6 และบ้านต้นผึ้งใต้ หมู่ที่ 7 ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่หลักของโครงการ
ภูมิทัศน์ : ลักษณะภูมิทัศน์เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ที่หลากหลายและเป็นชนิดพันธุ์ที่หายาก และมีเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติที่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดี
เขตการปกครอง
หมู่บ้านเปียงกอก ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลโป่งน้ำร้อน ซึ่งได้จัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลโป่งน้ำร้อนตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2539 แบ่งเขตการปกครองท้องที่ออกเป็น 7 หมู่บ้าน ดังนี้
- หมู่ที่ 1 บ้านหนองพนัง มีพื้นที่ประมาณ 2,185 ไร่ หรือประมาณ 3.50 ตารางกิโลเมตร โดยมีนายประพันธ์ จันชัย เป็นกำนันตำบลโป่งน้ำร้อน
- หมู่ที่ 2 บ้านดอน มีพื้นที่ประมาณ 861 ไร่ หรือประมาณ 1.38 ตารางกิโลเมตร โดยมีนายชัยณรงค์ เตจ๊ะเป็ง เป็นผู้ใหญ่บ้าน
- หมู่ที่ 3 บ้านหัวฝาย มีพื้นที่ประมาณ 3,748 ไร่ หรือประมาณ 6.00 ตารางกิโลเมตร โดยมีนายสุทธิพงษ์ โพงจ่าม เป็นผู้ใหญ่บ้าน
- หมู่ที่ 4 บ้านท่าหัด มีพื้นที่ประมาณ 3,137 ไร่ หรือประมาณ 5.02 ตารางกิโลเมตร โดยมีนายสุพัฒน์ ธาดา เป็นผู้ใหญ่บ้าน
- หมู่ที่ 5 บ้านต้นผึ้ง มีพื้นที่ประมาณ 929 ไร่ หรือประมาณ 1.49 ตารางกิโลเมตร โดยมีนายบุญทำ ต๊ะปัญญา เป็นผู้ใหญ่บ้าน
- หมู่ที่ 6 บ้านเปียงกอก มีพื้นที่ประมาณ 27,485 ไร่ หรือประมาณ 43.97 ตารางกิโลเมตรโดยมี นายชาญ วิภัก เป็นผู้ใหญ่บ้าน
- หมู่ที่ 7 บ้านต้นผึ้งใต้ มีพื้นที่ประมาณ 30,718 ไร่ หรือประมาณ 49.14 ตารางกิโลเมตรโดยมี นายเสรี อินทราช เป็นผู้ใหญ่บ้าน
ทรัพยากรทางธรรมชาติ
- พืชพรรณ : ลักษณะของป่าเป็นป่าประเภทป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา ป่าดิบเขา มีพืชพรรณหายา และที่น่าสนใจนานาชนิด อาทิ เทียนหาง บัวทอง
- สัตว์ป่า : สัตว์ป่าหายาก ได้แก่ ผีเสื้อไกเซอร์อิมพิเรียล ผีเสื้อมรกตผ้าห่มปก ผีเสื้อหางติ่งแววเลือน ผีเสื้อหางดาบตาลไหม้ นกปรอดหัวโขนก้นเหลือง และนกปีกแพรสีม่วง เป็นต้น
สถานที่สำคัญและพื้นที่ทางชุมชน
- โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนา : เพื่อเป็นศูนย์ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงทางภาคเหนือของประเทศไทย ที่ดำเนินการศึกษา ทดลอง และพัฒนาความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับพืชพรรณและระบบการจัดการด้านการเกษตรต่าง ๆ รวมถึงดำเนินการถ่ายทอดความรู้ด้านวิชาการและเทคโนโลยีการผลิตพืชให้แก่เกษตรกรและประชาชนที่สนใจ
- อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก : สถานที่ท่องเที่ยวที่โดดเด่นที่สุดที่นักท่องเที่ยวนึกถึงเป็นอันดับแรกคือ การพิชิตยอดดอยผ้าห่มปก ซึ่งเป็นยอดดอยที่มีความสูงที่ท้าทายนักไต่เขาเป็นอย่างยิ่ง ความสูงถึง 2,285 เมตร เป็นยอดดอยที่มีอากาศหนาวเย็นในฤดูหนาว จึงเป็นยอดดอยหนึ่งที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนกันมาก
- น้ำพุร้อนฝาง : ตั้งอยู่ภายในเขตอุทยานแห่งชาติดอยผ้าฟ้าห่มปก เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีความน่า อัศจรรย์อยู่ในตัว ซึ่งทางอุทยานแห่งชาติฯ ได้พัฒนาพื้นที่ให้มีความสวยงามเข้ากับธรรมชาติ โดยทำทางเดินด้วยแนวหิน เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินเข้าไปชมบ่อน้ำพุร้อนได้อย่างใกล้ชิด มีการจัดกิจกรรมต้มไข่ในบ่อน้ำพุร้อนไว้ให้บริการแก่นักท่องเที่ยว จัดทำห้องอาบน้ำแร่ ห้องอบไอน้ำ และบ่อน้ำร้อนไว้ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการมาอาบน้ำพุร้อน และยังได้จัดให้มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติเดินขึ้นเขาป่าเบญจพรรณมาถึงยังบ่อน้ำพุร้อนอีกด้วย
ข้อมูลสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร จากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง เมื่อเดือนมกราคม 2566 พบว่า พื้นที่หมู่ที่ 6 บ้านเปียงกอก ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ 50110 มีประชากรรวมทั้งสิ้น 997 คน เป็นเพศชาย 484 คน และเพศหญิง 513 คน
ลักษณะพื้นที่ตำบลโป่งน้ำร้อนเป็นพื้นที่ติดชายแดน ทำให้มีประชากรหลากหลายชาติพันธุ์ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ จีนยูนนาน ไทยมุสลิม ซึ่งอพยพมาจากเชียงตุง สิบสองปันนา และมณฑลยูนนาน ประชากรจึงมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์
ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชน สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่อยู่กันเป็นกลุ่มครอบครัว ภายในชุมชนแบ่งเป็น 7 หมู่บ้าน (กลุ่มบ้าน) ได้แก่ บ้านหนองพนัง บ้านดอน บ้านหัวฝาย บ้านท่าหัด บ้านต้นผึ้ง บ้านเปียงกอก บ้านต้นผึ้งใต้
ไทใหญ่, จีนยูนนาน(จีนฮ่อ)อาชีพหลัก : ประชากรตําบลโป่งน้ำร้อนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร ซึ่งมีพื้นที่ทําการเกษตรทั้งสิ้นประมาณ 13,800 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของพื้นที่ทั้งหมด พืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด หอมหัวใหญ่ พริก กระเทียม ส้มสายน้ำผึ้ง ลิ้นจี่ เป็นต้น
การประมง : ประชากรตําบลโป่งน้ำร้อนไม่มีการประมง เป็นการจับปลาตามธรรมชาติในบริโภคใน ครัวเรือนตามฤดูกาลเท่านั้น
การปศุสัตว์ : การปศุสัตว์ในเขตองค์การบริหารส่วนตําบลโป่งน้ำร้อน เป็นการประกอบการในลักษณะเลี้ยง ในครัวเรือนเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริม เช่น การเลี้ยงไก่ เป็ด โค สุกร กระบือ เพื่อจําหน่ายและบริโภคเองในครัวเรือน มีผู้ประกอบการในการเลี้ยงไก่ไข่เพื่อการค้า จํานวน 3 ราย
การบริการ : รีสอร์ท จํานวน 4 แห่ง ร้านอาหาร จํานวน 2 แห่ง
การท่องเที่ยว : ในตําบลโป่งน้ำร้อนมีแหล่งท่องเที่ยวที่สําคัญในพื้นที่ ประกอบด้วย
- บ่อน้ำพุร้อน ตั้งอยู่ในบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก หมู่ที่ 6 และหมู่ที่ 7 ดอยผ้าห่มปก ตั้งอยู่ในบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก หมู่ที่ 6 และหมู่ที่ 7
- ม่อนเมืองงาม ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ฝายน้ำล้น ตั้งอยู่หมู่ที่ 3
- พระธาตุศรีมหาโพธิ์ตโปธาราม ตั้งอยู่หมู่ที่ 3
อุตสาหกรรม : ตําบลโป่งน้ำร้อนมีการประกอบอุตสาหกรรมขนาดเล็กในครัวเรือน ได้แก่ การทําขนมปัง ส้มอบแห้ง และการทําถั่วเหลืออัดแผ่น
กลุ่มอาชีพ
- วิสาหกิจชุมชนไม้กวาดบ้านเปียงกอก หมู่ 6 : หมู่บ้านเปียงกอกเป็นหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ดอย (ภูเขา) จึงทำให้มีดอกก๋ง (ดอกหญ้า) ขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้พ่ออุ้ยแม่อุ้ยเก็บมามัดเป็นไม้กวาดใช้ภายในครัวเรือน ต่อมาลูกหลานได้สืบทอดการทำไม้กวาดเพื่อใช้ในครัวเรือน และได้รวมกลุ่มจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนไม้กวาดดอกหญ้าบ้านเปียงกอก เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ. ศ. 2558 เป็นต้นมา โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลโป่งน้ำร้อน
- กลุ่มเกษตรกรทำไร่โป่งน้ำร้อน : ดำเนินการสนับสนุนทางวิชาการเกษตรให้แก่สมาชิกและชุมชน พัฒนาเครือข่ายรูปแบบวิสาหกิจชุมชน และในปัจจุบันทางกลุ่มได้ดำเนินการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อจำหน่ายให้แก่สมาชิกกลุ่มเป็นการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในภาคเกษตรกรรมของตำบลโป่งน้ำร้อน อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ในตำบลโป่งน้ำร้อน และเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนและซื้อขายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเกษตรทั่วประเทศ
- กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหัวฝาย : กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหัวฝาย หมู่ 3 ตำบลโป่งน้ำร้อน มีผลิตภัณฑ์ของกลุ่มและเป็นสินค้า OTOP ระดับสองดาว วางจำหน่วยทั่วไป คือ น้ำพริกคั่วทรายกุ้ง ถั่วเหลืองอัดแผ่น (ถั่วเน่าแค็บ) และในปัจจุบันกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหัวฝายยังเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับคนในชุมชนอีกด้วย
การรวมกลุ่มและการสร้างเครือข่าย
- กลุ่มภูมิปัญญาและความรู้พื้นบ้าน : การรวมกลุ่มและการสร้างเครือข่ายเหล่านี้อาจจะเกิดจากผู้นำของชุมชน ทั้งผู้นำที่เป็นทางการและผู้นำทางจิตวิญญาณ รวมถึงภาครัฐ ซึ่งตำบลโป่งน้ำร้อนมีกลุ่มอาชีพที่เข้มแข็ง ได้รับการส่งเสริมจากองค์การบริหารส่วนตำบลโป่งน้ำร้อนและ หน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ และสามารถพัฒนาต่อยอดให้ผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ รู้จักและมีชื่อเสียง เช่น วิสาหกิจชุมชนไม้กวาดบ้านเปียงกอก หมู่ 6 กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหัวฝาย ที่มีผลิตภัณฑ์ของกลุ่มและเป็นสินค้า OTOP ระดับสองดาว วางจำหน่วย คือ น้ำพริกคั่วทรายกุ้ง ถั่วเหลืองอัดแผ่น (ถั่วเน่าแค็บ)
- กลุ่มทางศาสนา : ศาสนาที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน ซึ่งในพื้นที่ชุมชนตำบลโป่งน้ำร้อนมีศาสนสถานของศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม เช่น มัสยิดอัสสอาดะฮ์ ที่เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจและจัดกิจกรรมต่าง ๆ มีโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามและโรงเรียนสอนท่องจำคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งทำให้มุสลิมในบ้านหัวฝาย มีความรู้ทั้งตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการด้านภาษา และด้านศาสนามีความรู้คู่คุณธรรม และวัดต่าง ๆ ของศาสนาพุทธที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชน ได้แก่ วัดไชยมงคล วัดธัมมิกาวาส วัดวาฬุการาม หมู่ที่ 3 เป็นต้น
- กลุ่มที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว : ชุมชนโป่งน้ำร้อนประกอบไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติและแหล่งเรียนรู้ในชุมชนมากมาย เช่น โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนา อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก น้ำพุร้อนฝาง ห้วยแม่ใจ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่ (ฝาง) ที่เป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่พักผ่อนที่สำคัญของประชาชนตำบลโป่งน้ำร้อนและบุคคลทั่วไป รวมถึงนักท่องเที่ยว
ปฏิทินกิจกรรมของชุมชน
กิจกรรมตามความเชื่อศาสนา ความเชื่อ และพิธีกรรมของชุมชนบ้านเปียงกอก ตำบลโป่งน้ำร้อน มีดังนี้
- ประเพณีตานก๋วยสาก ประเพณีนี้เรียกได้หลายอย่าง เช่น สลากภัตต์ กินสลาก ทานข้าวสลาก ทานสลาก มักนิยมจัดในช่วงเข้าพรรษา (เดือน 12 เหนือ) เป็นต้นไป โดยจัดทeบุญที่วัดใช้เวลา 1 วัน ก่อนหน้าวันถวายก๋วยสลากจะเป็นวันเตรียมข้าวปลาอาหาร เรียกว่า วันดา โดยทุกบ้านจะจัดเตรียมข้าวปลาอาหารอย่างดี เพื่อไว้ทำบุญและเลี้ยงสังสรรค์ในหมู่ญาติมิตร และจัดทำก๋วยสลาก ซึ่งทำด้วยตะกร้าคล้ายชะลอมขอบ กว้างประมาณ 1-10 นิ้ว สูงประมาณ 20 นิ้ว ด้านในบุด้วยใบตองหรือใบพวง (ปัจจุบันนิยมใช้กระดาษหนังสือพิมพ์) ข้างในบรรจุด้วยข้าวปลาอาหาร ขนม ผลไม้ อ้อย ส่วน ปลายก๋วยจะทิ้งให้เส้นตอกยาวขึ้นไปไม่พับขลิบ แต่จะรวมมัดเข้ากลางแล้วเสียบยอดด้วยธนบัตรเป็นช่อสูง ประดับตกแต่งข้าง ๆ ด้วยของใช้จุกจิก ห้อยแขวนจากชื่อไม้ไผ่ก้านเล็ก ๆ อย่างสวยงาม ชนิดของก๋วยสลากมีหลายแบบ ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนขนาดใหญ่ และมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป
- ประเพณียี่เป็ง (ลอยกระทง) ประเพณียี่เป็ง หรือประเพณีเดือนยี่ คำว่า “ยี่” ในภาษาล้านนาหมายถึงเดือน 2 ส่วนคำว่า “เป็ง” หมายถึง คืนที่มีพระจันทร์เต็มดวง ดังนั้น “ยี่เป็ง” จึงหมายถึงวันเพ็ญเดือนยี่ ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองของภาคกลาง การนับเดือนของล้านนานั้น เร็วกว่าภาคกลาง 2 เดือน อันเนื่องมาจากการนับเดือนของชาวล้านนาเป็นการนับทางจันทรคติแบบจีน ประเพณียี่เป็งถือเป็นประเพณีที่สนุกสนานรื่นเริงของชาวล้านนาในยามฤดูปลายฝนต้นหนาว ท้องทุ่งข้าวออกรวงเหลืองอร่าม บางแห่งอยู่ในระหว่างเก็บเกี่ยว ท้องฟ้าปลอดโปร่งแจ่มใสยิ่งนัก ดังนั้น ในช่วงฤดูนี้ เด็ก ๆ จึงพากันเล่นว่าวลมกันอย่างสนุกสนานตามท้องทุ่ง และยิ่งเข้าใกล้วันเพ็ญสิบห้าค่ำเดือนยี่ มักจะได้ยินเสียง “บอกถบ” (ประทัด) ที่ชาวล้านนาจุดเล่นดังอยู่ทั่วไป พระและเณรช่วยกันทำว่าวลม (โคมลอย) และปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้าในเวลาสายถึงบ่าย กิจกรรมเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์บอกว่าใกล้จะเข้าสู่เดือนยี่เป็งแล้ว
- ประเพณีการเข้ารุกขมูล (เข้าก๋รรม) ในช่วงระหว่างตั้งแต่เดือนธันวาคม–มกราคม และกุมภาพันธ์ หรือเดือน 3-4 และเดือน 5 เหนือ ของทุกปี ชาวพุทธเมืองเหนือล้านนาจะนิยมจัดกิจกรรมเข้ากรรม ปฏิบัติธรรม จนถือเป็นประเพณีมาจนกระทั่งตราบถึงปัจจุบัน ประเพณีดังกล่าวนี้ จะเลือกเอาสถานที่ตามวัดวาอาราม เรียกว่า "เข้ากรรมรุกขมูล" และใช้บริเวณสุสานป่าช้า เรียกว่า "ประเพณีเข้าโสสานกรรม" ในพิธีกรรมนี้พระสงฆ์จะต้องสังวรหรือสำรวมความประพฤติทุกอย่างโดยเคร่งครัด โดยพยายามผ่อนคลายการยึดติดทั้งปวง พร้อมกันนั้นก็จะชวนสามเณรและประชาชนไปบำเพ็ญศีลและภาวนา เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษ
- ประเพณีตั้งธรรมหลวง (ปอยตั้งธรรม) ตั้งธรรม นับว่าเป็นประเพณีสำคัญอีกประเพณีหนึ่งของคนภาคเหนือ ประเพณีตั้งธรรมนั้นก็ได้แก่ การฟังเทศน์มหาชาตินั่นเอง มหาชาติ คือ ชาติที่ยิ่งใหญ่เป็นชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้าก่อนที่จะมาอุบัติตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในชาติปัจจุบันรวมอยู่ในพระเจ้าสิบชาติ แต่คนนิยมฟังกันเป็นประเพณีเฉพาะตอนเป็นมหาชาติ คือเมื่อเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรเท่านั้น ชาวพุทธมีความเชื่อว่าหากผู้ใดได้ฟังเทศน์มหาชาติจบทั้ง 13 กัณฑ์ ภายในวันเดียวจะได้อานิสงส์มาก เทศน์มหาชาติเป็นประเพณีที่ทำในช่วงหลังออกพรรษาหลังกฐิน ก่อนการเทศน์มหาชาติจะมีการแจ้งให้ชาวบ้านได้ทราบล่วงหน้า เพื่อที่ชาวบ้านจะได้มีเวลาเตรียมของไปทำบุญ ในวันเทศน์มหาชาติเจ้าภาพแต่ละกัณฑ์เทศน์จะนำเครื่องกัณฑ์เทศน์ใส่ตะกร้า ซึ่งเครื่องกัณฑ์เทศน์ประกอบด้วยขนมต่าง ๆ เช่น ขนมกรอบ ขนมกง ขนมกรุย ข้าวเม่ากวน นอกจากขนมแล้วยังมีอาหารแห้ง เช่น ข้าวสาร น้ำปลา ผลไม้ เช่น มะพร้าว กล้วย ส้ม เป็นต้น และยังมีเครื่องกัณฑ์อื่น ๆ เช่น ผ้าไตร บาตร ย่าม เครื่องบริขาร นอกจากนี้จะต้องเตรียมดอกไม้ ธูปเทียน และเงินถวายบูชากัณฑ์เทศน์ด้วย
- ปอยหลวง คำว่า “ปอยหลวง” ในภาษาล้านนา หมายถึง การจัดงานเฉลิมฉลองศาสนสถานที่สร้างขึ้นจากศรัทธาของชาวบ้าน เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลา กุฏิ หรือก้ำวัด การที่เรียกว่า ปอยหลวง เพราะเป็นงานใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากชาวบ้านเป็นจ้านวนมาก นิยมทำในช่วงเวลาจากเดือน 5 จนถึงเดือน 7 เหนือ (ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน หรือเดือนพฤษภาคมของทุกปี) ในการจัดงานแต่ละครั้งใช้ระยะเวลาประมาณ 3–7 วัน ในงานจะมีกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งพิธีทางศาสนาและมหรสพบันเทิง โดยก่อนที่จะถึงวันงานประมาณ 2-3 วัน ชาวบ้านจะมีการตานตุง ซึ่งทอด้วยฝ้ายหลากสีสัน ประดับด้วยดิ้นสีเงิน สีทอง บางผืนทอขึ้นเป็นสีธงชาติไทยหรือปักเป็นรูปนักษัตร 12 ราศียาวประมาณ 2 เมตร น้าไปติดไว้กับปลายไม้ไผ่ ศรัทธาชาวบ้านจะนำตุงของแต่ละบ้านไปปักไว้ตามถนนระหว่างหมู่บ้าน ตุงหลากสีสันที่เรียงรายอย่างสวยงามตลอดสองข้างทางของหมู่บ้านนั้นจะเป็นสัญลักษณ์ให้ผู้คนที่ผ่านไปมาได้ทราบว่าวัดแห่งนั้นกำลังจะมีงานปอยหลวง
- ประเพณีปอยหลู่ข้าวหย่ากู๊ ประเพณีการหลู่ข้าวหย่ากู๊ (การท้าบุญถวายข้าวเหนียวแดง) เป็นประเพณีของชาวไทใหญ่ที่จัดขึ้นทุกปี ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 (ของชาวไทใหญ่) หรือเดือนกุมภาพันธ์ ถือเป็นประเพณีที่มีความผูกพันกับชาวบ้าน ผู้ทำการเกษตรมาช้านานและสืบทอดแก่ลูกหลานสืบมา โดยมีความเชื่อว่าหลังจากทำนาหรือหลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จต้องมีการระลึกถึงบุญคุณของข้าว (พระแม่โพสพ) ที่ได้คุ้มครองไร่นาหรือให้ชาวนามีข้าวไว้หล่อเลี้ยงชีวิต และเมื่อได้ข้าวมาก็จะนำไปถวายวัดเพื่อเป็นสิริมงคล และข้าวนั้นต้องเป็นข้าวใหม่ ในวัน “เหลินสาม” หรือเดือนสาม ซึ่งตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีชาวไทใหญ่จึงประเพณีถวายข้าวหย่ากู๊สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
- ประเพณีปอยส่างลอง (บวชลูกแก้ว) ปอยส่างลอง หรืองานบวชลูกแก้ว เป็นประเพณีของชาวไทใหญ่ ซึ่งการจัดงานดังกล่าวจะนิยมจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคมหรือเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน ถือเป็นพิธีการเฉลิมฉลองของการบรรพชาสามเณรในศาสนาพุทธ ซึ่งปกติจะมีการจัดงานอยู่ประมาณ 3 วัน แต่หากผู้ที่ท้าการบวชนั้นมีฐานะดี ก็จะมีการฉลองยาวนานเป็น 5 หรือ 7 วันได้ โดยจะมีการบรรพชาแบบสามัคคี คือ จัดบรรพชาส่างลองจำนวนมากในคราวเดียวกัน ทำให้ประเพณีปอยส่างลองมีความยิ่งใหญ่และงดงาม เด็กที่จะบรรพชาเรียกว่า “ส่างลอง” จะโกนแต่ผมแต่ไม่โกนคิ้ว (พระภิกษุพม่าไม่โกนคิ้ว) แล้วแต่งกายประดับประดาด้วยเครื่องประดับอันมีค่า เช่น สวมสร้อย กำไล แหวน และใช้ผ้าโพกศีรษะแบบพม่า สวมถุงเท้ายาว นุ่งโสร่งทาแป้งขาวเขียนคิ้วทาปาก ทั้งนี้ เชื่อกันว่าพระพุทธเจ้ามีฐานะเป็นกษัตริย์ยังสละกิเลสได้การประดับประดาแสดงว่ามีฐานะดีก็สละกิเลสไปบวชได้เช่นกัน ถ้าไม่มีม้าก็จะขี่คอคน ซึ่งเรียกว่า “พี่เลี้ยง” หรือ “ตะแปส่างลอง” แห่ไปตามถนนสายต่าง ๆ มีกลดทองกั้นกันแดด
- ประเพณีปี๋ใหม่เมือง (สงกรานต์) ชาวล้านนาถือเอาเดือนเมษายน หรือเดือน 7 เหนือ เป็นเดือนเปลี่ยนศักราชใหม่ เรียกกันว่า “ปี๋ใหม่” ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของชาวล้านนามีความแตกต่างจากสงกรานต์ของชาวไทยภาคกลาง ทั้งระยะเวลา กิจกรรม ความเชื่อ และความมุ่งหมาย ดังนั้น ปีใหม่เมืองของชาวล้านนาจึงมีวันและกิจกรรมต่าง ๆ ที่ปฏิบัติกันมากกว่า สงกรานต์ของชาวไทยภาคกลาง ซึ่งประกอบด้วย วันสังขานต์ล่อง วันเน่า วันพญาวัน วันปากปี วันปากเดือน และวันปากยาม
- ประเพณีแห่ไม้ค้ำสะหลี ประเพณีแห่ “ไม้ค้ำโพธิ์-ไม้ค้ำสะหลี” ประเพณีทรงคุณค่าแห่งล้านนา ไม้ค้ำโพธิ์ความเชื่อที่ชาวล้านนาปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านานว่า ต้นโพธิ์เมื่อเจริญเติบโตจะมีกิ่งก้านสาขาทอดยาว บางกิ่งโน้มเอียงจนเกรงว่าจะหักโค่นยาม ลมพัดแรง จึงมีคนนำไม้ง่ามมาค้ำยันกิ่งไว้ ไม้ง่ามนั้นเรียกว่า “ไม้ค้ำโพธิ์” หรือ “ไม้ค้ำสะหลี” ซึ่งนอกจากจะเป็นการค้ำยันกิ่งไม่ให้ล้มแล้ว ยังมีความหมายไปถึงการค้ำชูพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวสืบต่อไป อีกทั้งเชื่อกันว่ากุศลในการถวายไม้ค้ำโพธิ์จะช่วยคุ้มครองดวงชะตาให้เจริญขึ้น ไม่ตกต่ำ มีคนช่วยเหลือค้ำชูไปตลอด ซึ่งความเชื่อ ดังกล่าวเป็นที่ศรัทธาเชื่อถือโดยทั่วไปในกลุ่มชาวล้านนาทางภาคเหนือ วัดต่าง ๆ ในภาคเหนือหากมีต้นโพธิ์ใหญ่ก็มักจะมีผู้นำไม้ค้ำสะหลีไปค้ำยันไว้ และในภาคกลางหรือในกรุงเทพฯ ก็ยังพบเห็นภาพความเชื่อดังกล่าวด้วย เช่นกัน
- ประเพณีสรงน้ำพระธาตุศรีมหาโพธิ์ตโปธาราม ประเพณีสรงน้ำพระธาตุศรีมหาโพธิ์ตโปธาราม (พระธาตุม่อนปิ่น) จัดขึ้นทุกปี เพราะถือว่าเป็นพระธาตุเจดีย์ที่เก่าแก่และสำคัญแห่งหนึ่งของตำบลโป่งน้ำร้อน โดยจะจัดขึ้นในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (เดือน 8 เหนือ) ชาวบ้านเรียกว่า “ประเพณีแปดเป็ง” โดยในช่วงเช้าวันขึ้น 15 ค่ำ จะมีการทำพิธีสักการะโดยคณะสงฆ์ตำบลโป่งน้ำร้อนจะนำประกอบพิธีทางศาสนาและจะทำพิธีสรงน้ำพระธาตุก่อน ต่อจากนั้นประชาชนจึงเข้าสรงน้ำรอบ ๆ องค์พระธาตุ การสรงน้ำพระธาตุเป็นประเพณีความเชื่อดั้งเดิมมาแต่โบราณ ที่นิยมกระทำเป็นประจำทุกปี เปรียบเสมือนการได้สรงน้ำพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ทั้งหลาย โดยทั่วไปจะกระทำในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา หรือวันงานเทศกาลประจำปี เช่น สงกรานต์ เป็นต้น และวิธีปฏิบัติในการสรงน้ำก็จะแตกต่างกันไปแล้วแต่ความเชื่อและความศรัทธาของแต่ละท้องถิ่นนั้น ๆ หรือแล้วแต่บุคคล
- ประเพณีถวายเทียนเข้าพรรษา การถวายเทียนเข้าพรรษาของประชาชนล้านนาไทย นิยมทำกันมาช้านานแล้วเรียกว่าถวาย "ผะติ๊ดเทียนไฟ" แต่ทำถวายกันเป็นส่วนตัว ไม่ได้ทำกันเอิกเกริกเป็นส่วนรวม
1. นางจันติ๊บ หน่อวงค์ : เกิดวันที่ 10 ธันวาคม 2503 อายุ 62 ปี ภูมิลำเนา อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
ที่อยู่ปัจจุบัน : บ้านเลขที่ 17 หมู่ที่ 6 ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
อาชีพปัจจุบัน : การทำไม้กวาดจ้าหน่ายภายใต้การดำเนินการของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทำไม้กวาดบ้านเปียกกอก
ประสบการณ์การทำงานและการถ่ายทอดผลงาน
- ภูมิปัญญาท้องถิ่น หัตถกรรมด้านการทำไม้กวาดดอกหญ้า
- การเรียนรู้ภูมิปัญญา ฝึกหัดด้วยตนเองและได้รับการฝึกสอนจากวิทยากรจาก สนง.พัฒนาสังคม จ.เชียงใหม่
- การถ่ายทอดองค์ความรู้ ฝึกสอนให้กับเด็กนักเรียนและผู้สนใจทั่วไป
ผลงานที่ประทับใจ
- ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทำไม้กวาดบ้านเปียงกอก
- เข้าร่วมแสดงผลงานการประกวดร้านค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น (OTOP) ในงานมหกรรมไม้ดอกไม้ ประดับจังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 38 พ.ศ.2557
2. นายประทีป ศรีธรรมชาติ : เกิดวันที่ 8 สิงหาคม 2520 อายุ 45 ปี ภูมิลำเนา อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
ที่อยู่ปัจจุบัน : บ้านเลขที่ 23 หมู่ที่ 7 ต.โป่งน้ำร้อน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
อาชีพปัจจุบัน : เกษตรกร
ประสบการณ์การทำงานและการถ่ายทอดผลงาน
- ภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านการเกษตรกรรม ได้แก่ การทำปุ๋ยหมัก, ปุ๋ยอินทรีย์
- การเรียนรู้ภูมิปัญญา ได้รับการถ่ายทอดจากอาจารย์ ธีระพงษ์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
- การถ่ายทอดองค์ความรู้ เป็นวิทยากรสอนการทำปุ๋ยหมักให้นักศึกษาการศึกษานอกโรงเรียน
ผลงานที่ประทับใจ
- การทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกอง, ปุ๋ยอินทรีย์
- เป็นคณะกรรมการดำเนินงานกลุ่มเกษตรกรทำไร่โป่งน้ำร้อน
3. นายจำนง สุคำ : เกิดวันที่ 6 กรกฎาคม 2502 อายุ 63 ปี ภูมิลำเนา อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
ที่อยู่ปัจจุบัน : บ้านเลขที่ 245 หมู่ที่ 2 ต.โป่งน้ำร้อน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
อาชีพปัจจุบัน : ค้าขาย ช่างไม้ รับเหมาก่อสร้าง วาดรูปขาย
ประสบการณ์การทำงานและการถ่ายทอดผลงาน
- ภูมิปัญญา ด้านการวาดภาพ/งานปั้น/งานไม้/การเสียบและตอนกิ่งขยายพันธุไม้
- การเรียนรู้ภูมิปัญญา การวาดภาพ งานปั้น งานไม้ ได้ฝึกฝนด้วยตนเอง ส่วนการเสียบการตอนกิ่งได้เรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานในสถานีทดลองพืชสวนฝาง
- การถ่ายทอดองค์ความรู้ เป็นศูนย์ถ่ายทอดด้านเศรษฐกิจพอเพียง
ผลงานที่ประทับใจ
- ภาพวาดในวิหารวัดสันผักหนาม อ.ลี จ.ลำพูน พ.ศ. 2540
- จัดแสดงผลงานในงานโอ OTOP อำเภอฝาง สนามกีฬากลางอำเภอฝาง พ.ศ. 2559
- ได้รับเกียรติเป็นวิทยากรด้านการเกษตร
ทุนวัฒนธรรม
- การฟ้อนดาบ: เป็นศิลปะการแสดงที่นิยมกันมากและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในเขตล้านนา โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่นั้นได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของศิลปวัฒนธรรมประเพณีในเขตภาคเหนือตอนบน มักจะจัดให้มีการแสดงฟ้อนดาบควบคู่ไปกับการฟ้อนที่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี เช่น ฟ้อนเล็บ ฟ้อนน้อยไจชยา ฯลฯ มักจะแสดงในเทศกาลที่สำคัญ ๆ หรือแสดงในงานต้อนรับแขกเมือง หรือนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนในงานขันโตกต่าง ๆ
- ดนตรีพื้นบ้าน “วงสะล้อ”: เครื่องดนตรีล้านนานั้นมีหลายอย่าง เช่น ปี่ ซอ ซึง พิณเปี๊ยะ ระนาด (พาทย์) ฆ้อง มอง เซิง หลอง หลดปด และสะล้อ ฯลฯ ดนตรีที่เด่นจริง ๆ ของล้านนา คือ “วงเครื่องสายล้านนา” ที่มักเรียกกันผิดว่า “วงสะล้อซอซึง” เพราะซออู้ซอด้วงของล้านนาไม่มีใช้ แต่มีสะล้อซึ่งมีลักษณะคล้ายเครื่องสายจ้าพวกซออยู่บ้าง วงสะล้อเป็นดนตรีของชาวล้านนาไม่เฉพาะเจาะจงจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง ในตำบลโป่งน้ำร้อนมีวงดนตรีพื้นเมือง 1 วง คือ กลุ่มวงดนตรีเครื่องสายล้านนาของกลุ่มผู้สูงอายุตำบลโป่งน้ำร้อน การผสมวงสะล้อ ประกอบด้วย ซึง สะล้อ ขลุ่ย ฉิ่ง กลอง
- การฟ้อนเจิง: เป็นการแสดงลีลาการฟ้อนและลีลาการต่อสู้ด้วยมือเปล่า ซึ่งมีท่วงท่าที่สง่างามและน่าเกรงขามอยู่ในที ปัจจุบันการฟ้อนเจิงที่สมบูรณ์แบบนั้นหาชมได้ยากแล้ว จะมีให้ได้ชมบ้างก็เพียงเล็กน้อยในการฟ้อนดาบ กล่าวคือ ช่วงฟ้อนก่อนที่จะมีการหยิบดาบขึ้นมารำนั้น จะทำการฟ้อนด้วยมือเปล่า หรือฟ้องเจิงก่อนเป็น ระยะเวลาสั้น ๆ โดยสรุปก็คือ ได้นำเอาฟ้อนเจิงบางส่วนเข้ามาประกอบก่อนที่จะฟ้อนดาบนั่นเอง การฟ้อนเจิงในปัจจุบันมีให้เห็นได้ไม่บ่อยนัก นอกจากบางครั้งจะมีคนเฒ่าคนแก่ฟ้อนให้เห็นในงานบุญสำคัญ ๆ ของวัดต่าง ๆ เช่น งานปอยหลวงเท่านั้น
- ฟ้อนกิงกะหร่า หรือฟ้อนนางนก: เป็นศิลปะการแสดงของชาวไทใหญ่ คำว่า “กิงกะหร่า” เป็นคำ ๆ เดียวกับคำว่า “กินนร” หมายถึง อมนุษย์ ในนิยายซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หน้า 128 ว่ามี 2 ชนิด ชนิดหนึ่งเป็นครึ่งคนครึ่งนก ท่อนบนเป็นคน ท่อนล่างเป็นนก อีกชนิดหนึ่งมีรูปร่างเหมือนคน เมื่อจะไปไหนมาไหนก็จะใส่ปีกใส่หางบินไป การฟ้อนกิงกะหร่าจะมีท่าที่เลียนแบบอากัปกิริยาของนก เช่น ขยับปีก ขยับหาง บิน กระโดดโลดเต้นไปมาตามจังหวะของกลอง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีสำคัญในการกำหนดท่าการฟ้อนกิงกะหร่า บางครั้งจะแสดงคู่ชายหญิงโดยสมมุติเป็นตัวผู้และตัวเมีย แต่ส่วนใหญ่ที่พบมักเป็นตัวเมีย จึงมีชื่อเรียกตามที่เห็น อีกชื่อคือ“ฟ้อนนางนก” หรือ “ก้านางนก” เครื่องดนตรีให้จังหวะในการแสดงประกอบด้วย กลองก้นยาว มองเซิง (ฆ้องชุด) และแส่ง (ฉาบ)
- ตุง: ตุง คือ “ธง” หรือ “ธงตะขาบ” ซึ่งต่างจากธงทั่วไป เพราะตุงใช้วิธีแขวนให้ชายห้อยลงมาด้านล่าง แต่ธงนั้นจะผูกติดด้ามธง หรือคันธง ให้สะบัดออกด้านข้าง ชาวล้านนานิยมสร้างตุงเพื่อเป็นการบูชาตามความเชื่อ เพื่อประดับตกแต่งริ้วขบวน ประดับตกแต่งสถานที่ให้เกิดความสวยงามอลังการ เพื่อเป็นเครื่องแสดงถึงความปิติยินดี การฉลองชัยชนะ นอกจากนี้ ตุงยังแสดงออกถึงศิลปะอันประณีตงดงาม อ่อนช้อยและยิ่งใหญ่ในรูปของความเชื่อบ่งบอกถึงวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ ตุงแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ 2 ประเภท คือ ตุงมงคล และตุงอวมงคล
ทุนภูมิปัญญาชุมชนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม
การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติชนิดต่าง ๆ ของชุมชนโป่งน้ำร้อน สะท้อนเห็นองค์ความรู้รวมถึงเทคนิคในการจัดการ และประยุกต์ใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น เครื่องมือเครื่องใช้ อาหาร ยาสมุนไพร การรักษาแบบหมอพื้นบ้านหรือหมอเมือง ในส่วนของการทำเกษตรกรรม เป็นการทำเกษตรกรรมแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ที่พึ่งพาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เช่น ฤดูกาล ปริมาณน้ำฝน การจัดการหญ้าวัชพืช แมลงศัตรูพืชโดยน้ำหมักชีวภาพปราศจากยาฆ่าแมลง การเลือกพันธุ์พืชที่มีความเหมาะสมในการปลูก การคัดเลือกสายพันธุ์ ความเชื่อที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น การบวชป่า การสืบชะตาแม่น้ำ การเลี้ยงผีฝาย ผีขุนน้ำ การจัดการระบบเหมืองฝาย เป็นต้น
ทุนมนุษย์
- หมอเป่า: หมอเป่าเป็นหมอที่ชาวบ้านมีความเชื่อว่า เวลาเจ็บป่วยที่มีอาการเป็นแผล หรือเป็นโรคผิวหนังอักเสบที่เป็นหนองเรื้อรัง งูสวัด คางทูม ในสมัยที่ยังไม่มียารักษาโรคก็มักจะไปหาหมอเป่าในหมู่บ้าน เพื่อทำการรักษาอาการที่เป็นอยู่ให้หาย แต่ปัจจุบันก็ยังมีชาวบ้านที่เวลาเจ็บตา ข้อเท้าเคล็ด หรือกระดูกหักก็จะไปให้หมอเป่า เพื่อรักษาอาการ แต่ก็ทำให้อาการที่เป็นอยู่หายได้ และหากหายจากอาการเจ็บป่วยดังกล่าวแล้ว ก็จะนำดอกไม้ไปขอขมาคารวะ ดำหัวหมอเป่า การเป่าของหมอเป่านั้นจะมีวิธีการรักษาด้วยการเป่าต่าง ๆ กันไป ส่วนประกอบที่ใช้และพบบ่อย คือ ปูนกิน หมาก เคี้ยวกระเทียมแล้วเป่า เคี้ยวหมากเป่า เคี้ยวใบไม้บางชนิดเป่า เป็นต้น
ตำบลโป่งน้ำร้อนเป็นพื้นที่ติดชายแดน ทำให้มีประชาชนหลายชาติพันธุ์ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ จีนยูนนาน ไทยมุสลิม ซึ่งอพยพมาจากเชียงตุง สิบสองปันนา และมณฑลยูนนาน จึงมีความหลากหลายทางด้านภาษาเขียนและภาษาพูด ปัจจุบันภาษาได้เปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปมาก ด้วยคนรุ่นใหม่มักนำเอาภาษาไทยกลางเข้ามาปะปน ทำให้ภาษาแปรเปลี่ยนไป กล่าวคือ
1. ภาษาล้านนา ภาษาล้านนามีทั้งภาษาพูด และภาษาเขียน ในสมัยโบราณการบันทึกสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นข้อมูลความรู้ด้านต่าง ๆ จะมีการประดิษฐ์อักษรใช้แตกต่างกัน ภาษาล้านนาเป็นภาษาที่มีลักษณะกลมป้อม คล้ายอักษรมอญ มีเสียงสระภายในตัว ใช้ในการติดต่อสื่อสารกันในอดีต ภาษาล้านนาเป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ความเป็นชนชาติที่มีอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ คำว่า “ตั๋วเมือง” หรือ “ภาษาล้านนา” นี้ เป็นชื่อเรียกตัวอักษรที่ใช้กันในบริเวณภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย (ล้านนา) ซึ่งคนในบริเวณนี้ เรียกตัวเองว่า “คนเมือง” ภาษาพูดก็เรียกว่า “คำเมือง” และอักษรเขียนก็เรียกว่า “ตั๋วเมือง” ซึ่งเป็นแบบฉบับของตนเองและได้ วิวัฒนาการมาเป็นร่วม 2,000 ปี ยังคงปรากฏและใช้มาจนถึงทุกวันนี้
2. ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ ตำบลโป่งน้ำร้อนมีความหลากหลายทางด้านเผ่าพันธุ์ ทำให้มีความหลากหลาย ทางด้านภาษา นอกจากจะมีภาษาพูดคำเมืองแล้ว ยังมีภาษาถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งอพยพมาตั้งถิ่นฐานเป็นภาษาเฉพาะ กลุ่มไม่แพร่หลาย ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่เป็นคนรุ่นใหม่ได้มีพัฒนาการมาใช้ภาษาพูดคำเมืองและภาษากลางมากขึ้นทำให้วัฒนธรรมทางด้านภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเปลี่ยนแปลงไป แต่ก็ยังคงมีคนรุ่นเก่าที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ ภาษาพูดไว้ใช้ภายในชุมชนของตนเอง ได้แก่
- ภาษาไทใหญ่ จัดเป็นกลุ่มไทยหลวงในตระกูลภาษาไทย มีอักษรเป็นของตนเองเรียกว่า “ลิกไต” ตัวอักษรคล้ายคลึงกับตัวอักษรพม่า มีหน่วยเสียงทั้งหมด 18 เสียง วรรณยุกต์ 5 เสียง มีการแบ่งการออกเสียง สระ “ใ” “ไ” อย่างชัดเจนกว่ากลุ่มอื่น ปัจจุบันชาวไทใหญ่ในตำบลโป่งน้ำร้อนอาศัยอยู่หนาแน่นในพื้นที่บ้านท่าหัด หมู่ที่ 4 และบ้านดอน หมูที่ 2 และกระจัดกระจายอยู่หลายหมู่บ้าน
- ภาษายาวี มุสลิมในตำบลโป่งน้ำร้อนที่อาศัยอยู่บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 3 ซึ่งเดิมเป็นคนจีนที่นับถือศาสนา อิสลามได้อพยพมาจากมณฑลยูนนาน แต่ปัจจุบันจะมีมุสลิมที่อพยพมาจากพม่าและที่อื่น ๆ เพื่อมาเรียนใน โรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม และโรงเรียนสอนท่องจำคัมภีร์อัลกุรอาน ก็จะใช้ภาษายาวีในการสื่อสารระหว่างกัน เฉพาะกลุ่ม สำหรับคนที่มาอาศัยอยู่ตั้งแต่ดั้งเดิมก็จะใช้ภาษากลางในการสื่อสาร
- ภาษาจีนกลาง คนจีนในพื้นที่ตำบลโป่งน้ำร้อนที่อาศัยอยู่บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 3 ซึ่งเดิมได้อพยพมาจาก มณฑลยูนนาน ประเทศจีน จะใช้ภาษาจีนสื่อสารเฉพาะกลุ่ม ส่วนใหญ่จะใช้ภาษาพูดคำเมืองและภาษากลางใน การสื่อสาร ภายในบ้านหัวฝายจะมีโรงเรียนสอนภาษาจีน ทำให้คนจีนในหมู่บ้านมีความรู้ด้านภาษาจีนเป็นอย่างดี
ปัญหาหมอกควัน และไฟป่า รวมถึงค่าฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่มาจากพฤติกรรมการเผาเศษใบไม้แห้ง เผาไร่ของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งทางอำเภอฝางและหลายหน่วยงาน เช่น ป้องกันสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ สาขาฝาง ปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกันรณรงค์เรื่องไฟป่าและหมอกควัน รวมถึงจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันหมอกควันและไฟป่าในระดับตำบล หมู่บ้าน โดยจะมีการประชุมและประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือกับชาวบ้าน ซึ่งอำเภอฝางนั้นมีพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศพม่า หมอกควันดำที่เกิดในประเทศเพื่อนบ้านและประกอบกับทิศทางลมพัดที่เข้ามาฝั่งอำเภอฝางทำให้เกิดหมอกควันปกคลุมในพื้นที่ จึงต้องประสานงานในระดับนโยบายเพื่อทำความเข้าใจกับประเทศเพื่อนบ้านถึงปัญหาหมอกควันไฟป่า
ดอยผ้าห่มปก
กฤตภาส รัญเสวะ. (2558). แนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกัน และบรรเทาอุทกภัยเชิงบูรณาการ บ้านเปียงกอก อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาภูมิสังคมอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยแม่โจ้.
สำนักงานนโยบายและแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2566). ดอยผ้าห่มปก หรือดอยฟ้าห่มปก. จาก: https://naturalsite.onep.go.th/
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอฝาง. (2559). ประวัติอำเภอฝาง. จาก: https://district.cdd.go.th
สำนักบริหารทะเบียนและกรมการปกครอง. (2565). จำนวนประชากรในชุมชนโป่งน้ำร้อน. จาก: https://stat.bora.dopa.go.th
องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งน้ำร้อน. (2560). องค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น ของดีตำบลโป่งน้ำร้อน เพื่อการเรียนรู้และการท่องเที่ยงแบบบูรณาการ. จาก: https://www.pongnamronfang.go.th/
Top Chiang Mai. (2558). อำเภอฝาง. จาก: https://www.topchiangmai.com/
สู่เสรี สุก่า. (11 กุมภาพันธ์ 2566). ข้อมูลอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก. (จุฑามาศ ติงสกุลไพโรจน์, ผู้สัมภาษณ์)