Advance search

ชุมชนริมน้ำร้อยปี, ตลาดถนนพระราม

ชุมชนโบราณที่ตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์การค้าที่ดีของลพบุรี ผ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์ของการตั้งถิ่นฐานผู้คน มีสถาปัตยกรรมการสร้างอาคารบ้านเรือนที่เป็นเอกลักษณ์ วิถีชีวิต รวมไปถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น

ถนนพระราม
ท่าหิน
เมืองลพบุรี
ลพบุรี
ณัฐวุฒิ บัวคลี่
26 พ.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
27 มิ.ย. 2023
ณัฐวุฒิ บัวคลี่
27 มิ.ย. 2023
ตลาดล่าง
ชุมชนริมน้ำร้อยปี, ตลาดถนนพระราม


ชุมชนโบราณที่ตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์การค้าที่ดีของลพบุรี ผ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์ของการตั้งถิ่นฐานผู้คน มีสถาปัตยกรรมการสร้างอาคารบ้านเรือนที่เป็นเอกลักษณ์ วิถีชีวิต รวมไปถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น

ถนนพระราม
ท่าหิน
เมืองลพบุรี
ลพบุรี
15000
14.804930
100.609881
เทศบาลเมืองลพบุรี

ชุมชนตลาดล่าง เป็นชุมชนที่มีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยอยุธยา หรือราวปี พ.ศ. 2200 โดยมีทำเลที่ตั้งอยู่ในชัยภูมิที่สำคัญต่อกลไกการพัฒนาของจังหวัดลพบุรี เนื่องจากมีภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำลพบุรี และเป็นจุดบรรจบกันของเส้นทางน้ำ 3 สาย คือ แม่น้ำลพบุรี คลองบางขันหมาก และห้วยมูล โดยบทบาทหน้าที่ของพื้นที่ดังกล่าว ได้ทำหน้าที่ในการเป็นศูนย์กลางของการถ่ายเทสินค้า พื้นที่ติดต่อค้าขายกับพื้นที่ภายนอก รวมไปถึงเป็นเส้นทางสัญจรหลักของผู้คนในอดีต

ต่อมาศูนย์กลางของจังหวัดลพบุรี ได้มีการย้ายตำแหน่งที่ตั้งไปยังพื้นที่แห่งใหม่ ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าว ได้เกิดความซบเซาลงไปตามกาลเวลา รวมไปถึงได้มีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำลพบุรีตรงเหนือชุมชนตลาดล่างและตรงเกาะวัดมณีชลขันธ์ซึ่งเป็นการปิดเส้นทางสัญจรทางน้ำโดยสิ้นเชิง

“ย่านตลาดล่าง” เป็นชุมชนที่มีการตั้งถิ่นฐานเก่าแก่ซึ่งสามารถสืบย้อนไปได้ถึงช่วงสมัยอยุธยา ดังปรากฏ ในแผนที่ประวัติศาสตร์ฉบับต่าง ๆ ด้วยมีทำเลที่ตั้งในชัยภูมิที่สำคัญอย่างยิ่ง จึงเป็นส่วนหนึ่งของกลไกในการพัฒนาเมืองลพบุรีมาแต่ครั้งอดีต และหากพิจารณาดูจากลักษณะทางภูมิศาสตร์จะพบว่าด้วยภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำลพบุรี และเป็นจุดบรรจบกันของเส้นทางน้ำ 3 สาย คือ แม่น้ำลพบุรี กับคลองบางขันหมากหรือห้วยมูล

ทว่าในระยะหลังศูนย์กลางของเมืองได้ย้ายไปยังพื้นที่เมืองใหม่ที่ได้รับการวางผังใหม่ ซึ่งทำให้ชุมชนตลาดล่างที่เคยทำหน้าที่เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าและผู้คนต้องโรยราลงประจวบกับการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำลพบุรีตรงเหนือชุมชนตลาดล่างและตรงเกาะวัดมณีชลขันธ์ซึ่งเป็นการปิดเส้นทางสัญจรทางน้ำลงโดยสิ้นเชิง

สำหรับทำเลที่ตั้งชุมชนตลาดล่างนั้น เป็นชัยภูมิสำคัญสำหรับการติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างชุมชนต่างๆที่ใช้แม่น้ำลพบุรีเป็นหลักเนื่องจากแม่น้ำลพบุรีแยกออกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลม่วงหมู่ จังหวัดสิงห์บุรี ไหลมาทางตะวันออกเฉียงใต้มายังตัวเมืองลพบุรี ซึ่งนอกเหนือจากการเชื่อมต่อยังเมืองต่างๆ ทางฟากตะวันตกของเมืองลพบุรีดังกล่าวข้างต้น ยังมีแม่น้ำบางขามซึ่งในปัจจุบันกลายเป็นแม่น้ำสายเล็กๆ แต่ทว่าในอดีตมีความสำคัญมากเนื่องจากไหลขึ้นไปทางเหนือไปยังพื้นที่แถบจันเสนซึ่งเป็นเมืองโบราณในสมัยทวารวดีซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดนครสวรรค์ด้วย เมื่อแม่น้ำบางขามมาบรรจบกับแม่น้ำลพบุรีแล้วไหลผ่านเกาะวัดมณีชลขันธ์ และไหลลงใต้ผ่านชุมชนตลาดล่างผ่านพระนารายณ์ราชนิเวศน์ลงใต้ไปเรื่อยๆ จนบรรจบกับแม่น้ำหันตรา และแม่น้ำป่าสักทางตอนเหนือของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา จากเครือข่ายของแม่น้ำลำคลองที่กล่าวมานั้นได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการติดต่อค้าขายของเมืองลพบุรี และชุมชนตลาดล่างด้วยนั่นเอง

จากการศึกษาแผนที่ประวัติศาสตร์จะพบว่า บริเวณย่านประวัติศาสตร์ชุมชนตลาดล่างมีการตั้งถิ่นฐานสำหรับการประกอบพาณิชยกรรมมาก่อน พ.ศ. 2200 โดยปรากฏผ่านแผนที่เก่าที่วิศวกรชาวฝรั่งเศสได้จัดทำขึ้นหลังจากนั้น เมื่อสิ้นสุดของรัชสมัยพระนารายณ์เมืองลพบุรีมีบทบาทที่ลดลงไปหาก แต่ยังคงมีการตั้งถิ่นฐานสืบต่อมาจวบจนถึงช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่ย่านตลาดล่างได้ปรากฏขึ้นในเอกสารสำคัญของราชการอีกครั้ง ต่อมิติของการอพยพเคลื่อนย้ายประชากรชาวจีน เข้ามาตั้งถิ่นฐานและมีบทบาททางด้านเศรษฐกิจและสังคมกับพื้นที่ เพราะพื้นที่ตลาดล่างซึ่งเคยเป็นย่านพาณิชยกรรมที่สำคัญของลพบุรีนั้น มีการสันนิษฐานว่ามีกลุ่มคนจีนเข้ามาจับจองพื้นที่เพื่อใช้สำหรับการทำการค้า โดยข้อสันนิษฐานถึงกรณีการตั้งถิ่นฐานโดยกลุ่มคนจีน คาดว่าเกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้ารัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากหลักฐานทางเอกสารที่เคยบันทึกถึงการแต่งตั้งพนักงานของรัฐในการควบคุมดูแลพื้นที่ดังกล่าว ปรากฏในเอกสารราชการที่ชื่อ “ร่างตราสารเรื่องให้อ่ำแดงเอียจีนห้อเป็นกำนันตลาดเมื่อ จ.ศ. 1209 (พ.ศ. 2390) และเอกสารในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการร่างตราสาร “ร่างตราสารตั้งจีนเสียงทำบ่อนเบี้ยในเมืองลพบุรี” และ “จีนโตทำอากรบ่อนเบี้ยจีนที่ลพบุรี”

นอกจากนี้ยังพบข้อเขียนของขุนประเสริฐสหกรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เขียนถึงพื้นที่ดังกล่าวว่า “ทางทิศเหนือของพระราชวังมีตลาดขายของอยู่หย่อมหนึ่ง ภายในตลาดเป็นที่ตั้งของบ่อนการพนันด้วย โรงบ่อนพวกนี้คนจีนได้ผูกขาดจากรัฐบาลมาตั้งขึ้น เจ้าของบ่อนเรียกขุนพัฒ ลูกน้องล้วนเป็นจีนแทบทั้งสิ้น” ทั้งนี้ สิ่งที่ส่งผลต่อการพัฒนาเมืองประวัติศาสตร์ลพบุรี คือ การมาถึงของรถไฟที่สร้างเส้นทางเชื่อมต่อมาจากชุมทางบ้านภาชีจนมาถึงเมืองลพบุรีเมื่อปี พ.ศ.2444 ต่อมาได้สร้างทางรถไฟสายเหนือต่อเนื่องขึ้นไปยังปากน้ำโพธิ์ (ประกาศกระทรวงโยธาธิการ, ร.ศ. 124:989-990) ดังในประกาศวันที่ 2 สิงหาคม ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2445) ตั้งข้าหลวงจัดซื้อที่ดินทำทางรถไฟสายเหนือต่อจากลพบุรีถึงปากน้ำโพ อันเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานของชาวจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในบริเวณของชุมชนเมืองในเมืองสำคัญที่อยู่ในเส้นทางของแนวรถไฟของหัวเมืองต่างๆ ในประเทศไทย เช่น เมืองในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และการเคลื่อนย้ายประชากรชาวจีนครั้งใหญ่ไปตั้งถิ่นฐานยังที่ต่างๆ เกิดขึ้นในช่วงประมาณ พ.ศ.2465 - 2475 การมาถึงของรถไฟนอกจากจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของผู้คนยังได้ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าใหม่ ๆ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ชุมชนตลาดล่างที่แต่เดิมอาศัยแม่น้ำลพบุรีเป็นเส้นทางคมนาคมเดียวในการเชื่อมต่อสินค้าและผู้คนเข้าสู่เมือง ได้ถูกเส้นทางรถไฟที่ตัดผ่านแนวคูเมืองด้านทิศตะวันออกของเมือง เข้ามาเติมเต็มรูปแบบการคมนาคมทางบก

อย่างไรก็ตามการมาถึงของรถไฟยังไม่ได้ลดบทบาทความสำคัญของการเป็นย่านการค้าเก่าลงในเวลานั้น เนื่องด้วยย่านตลาดล่างเป็นย่านพาณิชย์ที่สำคัญและเชื่อมต่อกับย่านการค้าใหญ่อีก 2 แห่งของเมืองซึ่งวางตัวเรียงขนานกับแนวลำน้ำและขนานประชิดกับแนวกำแพงและสถานที่สำคัญทางศาสนาของเมือง โดยมี “ถนนพระราม” เป็นถนนสำคัญที่มีความยาวเลียบกำแพงเมืองด้านนอกขนานกับแม่น้ำลพบุรียาวตั้งแต่ถนนประตูชัยขึ้นมาจนสุดที่ตลาดท่าโพธิ์ เชื่อมย่านการค้าทั้ง 3 เข้าด้วยกัน คือ “ชุมชนตลาดหน้าศาลลูกศร” และ “ตลาดท่าขุนนาง” และมี “ตลาดท่าโพธิ์” อยู่ในส่วนปลายสุดของถนนพระราม และชุมชนการค้าเหล่านี้ยังมีท่าเรืออยู่ประจำในชุมชนด้วย โดย“ตลาดท่าโพธิ์”ที่ตั้งอยู่ด้านบนที่สุด ทางทิศเหนือ ในตำแหน่งของหัวถนนพระราม บริเวณป้อมท่าโพธิ์ ป้อมปราการที่อยู่ทางทิศเหนือของเมืองบริเวณจุดบรรจบของน้ำ ป้อมปราการโบราณที่มีความสมบูรณ์ที่สุดในเมืองลพบุรี หากแต่ในช่วง พ.ศ. 2508 ความเป็นตลาดท่าเรือในบริเวณนี้เริ่มโรยราลงไปเพราะการสัญจรทางน้ำได้ลดความสำคัญลง เนื่องจากการสัญจรทางบกไปได้สะดวกและลำน้ำตื้นเขิน พอถึงช่วง พ.ศ. 2510 เรือที่แล่นรับส่งคนโดยสารหายไปจนหมด ท่าขุนนางและท่าน้ำหน้าตลาดลูกศรจึงอยู่ในสภาพเงียบเหงา ร้างโรยรา และความเปลี่ยนแปลงต่อลักษณะทางกายภาพที่สำคัญ กับพื้นที่ชุมชนตลาดล่างและบริบทใกล้เคียง คือ การเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2511 เวลาราว 02.00 น. โดยต้นเพลิงเกิดขึ้นจากร้านเจียวน้ำมันหมูบนกระทะใบใหญ่ เปลวเพลิงลุกลามไปยังฝาผนังของร้านที่เป็นไม้ ส่งผลให้ห้องข้างเคียงซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่ทำจากไม้เกิดไฟลุกต่อเนื่องไป นับเป็นอัคคีภัยครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด ซึ่งทำให้เรือนแถวชุมชนตลาดล่างด้านใต้ได้รับความเสียหายมากที่สุด รวมทั้งพื้นที่ถัดจากสามแยกซอยคูเมือง และชุมชนตลาดหน้าศาลลูกศร เพลิงลุกลามไปจนถึงตลาดท่าขุนนางรวมมีบ้านเรือนสูญเสียไปกว่า 300 หลังคาเรือนประชาชนไม่มีที่อยู่อาศัยนับพันคน ซึ่งในเหตุการณ์ครั้งนั้นได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ภูมิทัศน์ย่านประวัติศาสตร์ตลาดล่าง และเมืองประวัติศาสตร์ลพบุรีอย่างรุนแรง

จังหวัดลพบุรี ตั้งอยู่ภาคกลางของประเทศไทย บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำลพบุรี มีระยะทางห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศเหนือตามเส้นทางถนนพหลโยธิน 153 กิโลเมตร หรือตามเส้นทางรถไฟประมาณ 133 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 6,199.72 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 3,874,846 ไร่

อาณาเขตจังหวัดลพบุรี มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอตากฟ้าและอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ และอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอพระพุทธบาท และอำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอเมืองสิงห์บุรี และอำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง และอำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์

ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะภูมิประเทศจังหวัดลพบุรี จากรายงานการสำรวจของกรมพัฒนาที่ดิน พ.ศ. 2532 สามารถแบ่งตามธรณีสัณฐาน ได้ดังนี้

ที่ราบน้ำท่วมถึง เกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำใหญ่ในฤดูน้ำหลากแต่ละปี น้ำจากแม่น้ำลำคลองจะไหลท่วมบริเวณนี้แล้วจะพัดพาเอาตะกอนมาทับถมกันทุกปี ทำให้เกิดมีสภาพเป็นที่ราบ มีความลาดเทน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่กว้างใหญ่อยู่ในอำเภอท่าวุ้ง บ้านหมี่และอำเภอเมืองลพบุรี พื้นที่บริเวณนี้จะสูงกว่าระดับน้ำทะเล 2 - 20 เมตร ส่วนการทับถมของตะกอนใหม่จากแม่น้ำป่าสักจะทำให้เกิดเป็นที่ราบลุ่มเป็นแนวแคบ ๆ ตามความยาวของแม่น้ำ ซึ่งไหลผ่านอาณาเขตอำเภอชัยบาดาล และอำเภอพัฒนานิคมจากทิศเหนือลงทิศใต้ ที่ราบลุ่มบริเวณนี้จะมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 25 - 60 เมตร บริเวณพื้นที่ราบลุ่มนี้ถูกใช้ประโยชน์ในการทำนาส่วนใหญ่และได้ผลดี

ลานตะพักน้ำกลางเก่ากลางใหม่รวมทั้งเนินตะกอนรูปพัด ส่วนใหญ่พบเกิดอยู่ติดต่อกับที่ราบน้ำท่วมถึง ลักษณะสภาพส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบเรียบมีความลาดเทน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ พบเป็นบริเวณกว้าง ในเขตอำเภอบ้านหมี่ อำเภอเมืองลพบุรี และอำเภอโคกสำโรง โดยจะมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 8 - 20 เมตร สำหรับเนินตะกอนรูปพัด พบเกิดเป็นส่วนน้อยและมักอยู่บริเวณเชิงเขา การใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณเหล่านี้ส่วนใหญ่ใช้ทำนาซึ่งให้ผลผลิตอยู่ในเกณฑ์ดี

ลานตะพักน้ำเก่า เกิดจากการทับถมของตะลำน้ำที่มาทับถมกันนานแล้ว โดยแบ่งเป็นลานตะกอนพักน้ำระดับต่ำซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 20 - 50 เมตร และลานตะพักน้ำระดับสูง ซี่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 50 - 70 เมตร ลานตะพักน้ำระดับต่ำส่วนใหญ่พบอยู่ติดต่อกับลานตะพักน้ำกลางเก่ากลางใหม่ มีความลาดเทน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ และพบเป็นบริเวณเล็กน้อย ในเขตอำเภอโคกสำโรงและอำเภอพัฒนานิคม ใช้ประโยชน์ในการทำนาเป็นส่วนใหญ่ ให้ผลผลิตค่อนข้างต่ำ ส่วนลานตะพักน้ำระดับสูงมีพื้นที่ติดต่อและสูงขึ้นมาจากลานตะพักน้ำระดับต่ำ สภาพพื้นที่เป็นลูกคลื่นใหญ่ มีความลาดเท 2 - 8 เปอร์เซ็นต์ พบเป็นบริเวณเล็กน้อยในเขตอำเภอโคกสำโรงและอำเภอพัฒนานิคมใช้ประโยชน์ในการทำไร่

พื้นผิวที่ถูกกัดกร่อนและเนินเขา พื้นที่เป็นลูกคลื่นส่วนใหญ่มีความลาดเท ประมาณ 2 -16 เปอร์เซ็นต์ สภาพภูมิประเทศแบบนี้จะพบเป็นบริเวณกว้างในเขตอำเภอชัยบาดาล อำเภอพัฒนานิคม อำเภอโคกสำโรงและทางด้านทิศตะวันออกของอำเภอเมืองลพบุรี ส่วนใหญ่ที่ดินจะใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชไร่

ภูเขา พื้นที่บริเวณนี้เกิดจากการโค้งตัวและการยุบตัวของผิวโลก ทำให้มีระดับความสูงต่ำต่างกันมาก มีความลาดเทมากกว่า 16 เปอร์เซ็นต์ และมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-750 เมตร พบอยู่กระจัดกระจายในอำเภอชัยบาดาล อำเภอพัฒนานิคม อำเภอโคกสำโรง และทางด้านทิศตะวันออกของอำเภอเมืองลพบุรี ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำกสิกรรม บริเวณนี้เป็นที่ลาดชันเชิงซ้อน

กล่าวโดยสรุป สภาพภูมิประเทศของจังหวัดลพบุรี อาจแบ่งได้เป็น 2 บริเวณ คือ บริเวณพื้นที่ราบสลับเนินเขาและภูเขา ครอบคลุมพื้นที่ทางทิศตะวันออกของอำเภอเมืองลพบุรีบางส่วน ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอบ้านหมี่ ด้านเหนือและด้านใต้ของอำเภอโคกสำโรง พื้นที่เกือบทั้งหมดของอำเภอสระโบสถ์ อำเภอโคกเจริญ อำเภอท่าหลวง อำเภอชัยบาดาลและอำเภอพัฒนานิคม คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด อีกบริเวณหนึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มครอบคลุมพื้นที่อำเภอท่าวุ้ง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอเมืองลพบุรี บางส่วนของอำเภอบ้านหมี่และอำเภอโคกสำโรง คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ทั้งหมด

ลักษณะภูมิอากาศ

จังหวัดลพบุรีมีลักษณะร้อนชื้นอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุม 2 ชนิด คือ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในฤดูหนาว และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในฤดูฝน ทำให้มีฝนตกหนักในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน และมีสถานีตรวจอากาศ 2 แห่ง คือ สถานีตรวจอากาศลพบุรี และสถานีตรวจอากาศบัวชุม สภาวะอากาศโดยทั่วไปร้อนอบอ้าวเกือบตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีมีค่าประมาณ 28 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตามอุณหภูมิจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่และฤดูกาล ในช่วงฤดูร้อนอุณหภูมิสูงสุดในตอนบ่าย ปกติจะสูงถึงเกือบ 40 องศาเซลเซียส หรือมากกว่านั้น ในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม โดยเฉพาะเดือนเมษายนจะเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนจัดที่สุดในรอบปี ส่วนฤดูหนาวอุณหภูมิต่ำสุดในตอนเช้ามืด จะลดลงอยู่ในเกณฑ์หนาวถึงหนาวจัด โดยเฉพาะเดือนธันวาคมถึงมกราคมเป็นช่วงที่มีอากาศหนาวมากที่สุดในรอบปี

ประชากรในจังหวัดลพบุรีมีด้วยกันหลายกลุ่ม เช่น ไทยภาคกลาง ไทยพวน (เดิมเรียก ลาวพวน) และไทเบิ้ง (หรือไทยเดิ้ง) ไทยอีสาน (พูดภาษาอีสาน) ไทยมอญ นอกจากนี้ยังมีชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวไทยเชื้อสายอินเดียจำนวนไม่น้อยอีกด้วย

ประชากรของจังหวัดลพบุรีส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายลาว แต่ปัจจุบันมีหลายกลุ่มที่มีความเป็นไทย ชาวไทยภาคกลางนั้นจะหนาแน่นแถบอำเภอเมืองใกล้รอยต่อระหว่างจังหวัดลพบุรี พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดอ่างทอง รอบนอกเมืองลพบุรีส่วนใหญ่จะมีเชื้อสายลาวทุกอำเภอ ซึ่งแต่เดิมปรากฏว่ามีการใช้ภาษาลาวด้วย แต่ปัจจุบันหลายชุมชนในอำเภอเมืองมีแนวโน้มในการใช้ภาษาลาวลดลง และมีชนเชื้อสายจีนปะปนอยู่ทั่วไป นอกจากนี้ยังมีชนเชื้อสายลาวพวนส่วนใหญ่อยู่ในท้องที่อำเภอบ้านหมี่ มีบ้างในตำบลถนนใหญ่ และโคกกระเทียมในอำเภอเมือง ชนเชื้อสายมอญอาศัยอยู่ในเขตท้องที่ตำบลบางขันหมากส่วนล่าง (ส่วนบนส่วนใหญ่เป็นชาวไทย) อำเภอเมืองลพบุรี นอกจากนี้ยังมีชาวไทเบิ้ง ซึ่งเป็นชนกลุ่มเดียวกับชาวไทยโคราช ที่ส่วนใหญ่อาศัยในอำเภอพัฒนานิคม ส่วนชาวอีสานนั้นเข้ามาทางตะวันออกซึ่งติดกับจังหวัดนครราชสีมา กับจังหวัดชัยภูมิ และอาศัยทางโคกเจริญ ชัยบาดาล ฯลฯ ชาวไทยเชื้อสายปากีสถานและอินเดียก็อาศัยในอำเภอเมืองและชัยบาดาล ซึ่งชนเชื้อสายต่าง ๆ นี้ยังคงรักษาวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ภาษาพูดที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ลักษณะนิสัยต่าง ๆ จึงแตกต่างกัน แต่ก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับประชากรส่วนใหญ่ได้ดี

จำนวนประชากรทั้งหมดของจังหวัดลพบุรี จากรายงานฉบับสมบูรณ์โครงการศึกษาแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมจังหวัดลพบุรี ช่วงปี พ.ศ. 2540-2550 มีประชากรนับถึงสิ้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2539 มีจำนวนทั้งสิ้น 787,768 คน แยกเป็นเพศชาย 410,775 คน เพศหญิง 376,993 คน ความหนาแน่นของประชากรเฉลี่ย 127 คนต่อตารางกิโลเมตร เนื่องจากจังหวัดลพบุรีเป็นเมืองยุทธศาสตร์การทหารจึงทำให้มีประชากรเพศชายมากกว่าเพศหญิงเล็กน้อย แนวโน้มจำนวนประชากรในช่วง 10 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2540-2550) คาดว่าในปี พ.ศ. 2550 ประชากรจังหวัดลพบุรีจะมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 906,149 คน

ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ทำนา ทำไร่ข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อยน้ำตาล ถั่วเขียว ถั่วเหลือง รายได้เฉลี่ยของประชากรในปี พ.ศ. 2537 คือ 34,301 บาทต่อคนต่อปี พ.ศ. 2540 จำนวน 47,335 บาทต่อคนต่อปี และคาดว่าในปี พ.ศ. 2550 จะเท่ากับ 76,446 บาทต่อคนต่อปี

ไทเบิ้ง, ไทยพวน, มอญ
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สืบเนื่องจาก จังหวัดลพบุรี เป็นพื้นที่ที่มีการอาศัยอยู่ของกลุ่มชนชาวลาว จึงมีการพูดภาษาอีสาน หรือภาษาลาวกันในพื้นที่

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กุลพัชร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา และ เกรียงไกร เกิดศิริ. (2559). เรือนแถวพื้นถิ่นในภูมิทัศน์ย่านประวัติศาสตร์ตลาดล่างถนนพระราม จังหวัดลพบุรี. วารสารวิชาการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีที่ 15 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน ประจำปี 2559 หน้า 77 - 98.

กิตติพงษ์ ล้ออุทัย. (ม.ป.ป.). การอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน กรณีศึกษา : ชุมชนตลาดล่าง ในเขตเมืองเก่าลพบุรี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566, จาก http://www.chulapedia.chula.ac.th/

ฐิติมาพร พามา และ กฤตพร ห้าวเจริญ. (2562). เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชนตลาดล่าง จังหวัดลพบุรี. (ออนไลน์). วารสารวิจัยและสาระสถาปัตยกรรม/การผังเมือง ปีที่ 16 ฉบับที่ 2 ประจำปี 2562 หน้า 69-92

รีวิวลพบุรี. (2564, 23 กุมภาพันธ์). ชุมชนตลาดล่าง ย่านการค้าโบราณ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566, จาก https://web.facebook.com/ReviewLopburi88/

องค์การบริหารส่วนจังหวัดลพบุรี. (2563, 22 ตุลาคม). สภาพภูมิศาสตร์สิ่งแวดล้อม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2566, จาก https://www.loppao.go.th/