Advance search

ชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับป่า มีวัฒนธรรมด้านภาษาโดยใช้ภาษาคำเมืองเป็นหลัก ชุมชนมีภูมิประเทศที่สวยงาม และมีความสมบูรณ์ของธรรมชาติที่เป็นเสน่ห์ของชุมชน

ห้วยแก้ว
แม่ออน
เชียงใหม่
ปรายฟ้า ตั้งจิตติวัฒนา
5 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
11 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
28 มิ.ย. 2023
บ้านแม่กำปอง

“บ้านแม่กำปอง” มาจากดอกไม้ชนิดหนึ่ง มีสีเหลือง-แดง ขึ้นตามบริเวณลำห้วย จึงเรียกว่า ดอกกำปอง รวมกับมีแม่น้ำไหลผ่านหมู่บ้าน จึงรวมเรียกว่า แม่กำปอง      


ชุมชนชนบท

ชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับป่า มีวัฒนธรรมด้านภาษาโดยใช้ภาษาคำเมืองเป็นหลัก ชุมชนมีภูมิประเทศที่สวยงาม และมีความสมบูรณ์ของธรรมชาติที่เป็นเสน่ห์ของชุมชน

ห้วยแก้ว
แม่ออน
เชียงใหม่
50130
18.915278
98.901959
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ออน

ตามประวัติระบุว่าผู้ที่เข้ามาอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านแม่กำปองในช่วงแรกของการตั้งชุมชนคือ พ่ออุ้ย กิ้งแก้ว ซึ่งเป็นชาวบ้านจากบ้านดอกแดง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เดิมทีอพยพมาที่บ้านปางโตนชาวบ้านที่อยู่โดยมากเป็นชาวล้านนา ที่อพยพมาในอดีตก็เพื่อต้องการมาทำสวนชา     

ในช่วงปี พ.ศ. 2519 มีเหตุการณ์นักศึกษาแถบภาคเหนือหนีเข้าป่าและได้มาทำแคมป์หลบซ่อนอยู่ในพื้นที่ (คอมมิวนิสต์) แม่กำปองจึงกลายเป็นหมู่บ้านพื้นที่สีชมพูในช่วงปี พ.ศ. 2521 ชาวบ้านก็อยู่กันอย่างปกติไม่ได้มีการเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ และในปีพ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จประพาสหมู่บ้านแม่กำปอง ทรงประทานโครงการหลวงตีนตก ส่งเสริมอาชีพทางการเกษตรให้ชาวบ้าน ส่งเสริมการปลูกกาแฟ ปลูกผลไม้เมืองหนาว ส่งเสริมการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำให้ชุมชน ชาวบ้านจึงได้มีไฟฟ้าใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 ชาวบ้านนับถือศาสนาพุทธเป็นหลัก มีโรงเรียนวัดแม่กำปอง ก่อตั้งปี พ.ศ. 2490 

หมู่บ้านแม่กำปองมีวัดประจำหมู่บ้านคือ วัดคันธาพฤกษา เดิมนั้นเป็นอาศรมตั้งอยู่เชิงเขาไกลจากหมู่บ้านราว 300 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2473  ต่อมาได้ย้ายมาตั้งอยู่ใจกลางของหมู่บ้าน โดยชาวบ้านได้นำเอาฉายา “คันธาพฤกษา” ของครูบาอินสม คนธุธโส ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มสร้างอาศรมขึ้น ในที่ดินของพี่สาวท่านท่ามกลางป่ามาตั้งเป็นชื่อวัด บ้างก็เรียกชื่อตามหมู่บ้านว่าวัดแม่กำปองมาจนถึงทุกวันนี้

หมู่บ้านแม่กำปองตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่โดยผ่าน อ.สันกำแพง ระยะทาง 50 กิโลเมตร และห่างจากตัว อ.แม่ออน 20 กิโลเมตร และอีกเส้นทางหนึ่งผ่าน อ.ดอยสะเก็ด เลี้ยงขวาตรงสามแยกโป่งดิน ระยะทาง 51 กิโลเมตร ส่วนใหญ่เป็นถนนลาดยางและเทคอนกรีต สามารถเดินทางไปมาได้ทุกฤดูกาล สามารถเข้าถึงได้ทั้งโดยรถยนต์ รถโดยสารรับจ้าง และรถจักรยานยนต์

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ  ติดกับ แม่น้ำลาย ต.ห้วยแก้ว อ.แม่ออน  จ.เชียงใหม่
  • ทิศใต้ ติดกับ  บ้านแม่รวม ต.ออนเหนือ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่
  • ทิศตะวันออก ติดกับ อ.เมืองปาน จ.ลำปาง
  • ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านธารทอง ต.ห้วยแก้ว อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

บ้านแม่กำปองเป็นหมู่บ้านเก่าแก่หมู่บ้านหนึ่ง มีอายุมากกว่า 100 ปี เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำลำธาร ลักษณะสำคัญของหมู่บ้าน คือ มีลำห้วยไหลผ่านหมู่บ้านหลายสาย ซึ่งเป็นลำห้วยสาขาของห้วยแม่กำปอง บ้านแม่กำปองมีพื้นที่ประมาณ 4,000 ไร่ ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่ร้อยละ 98  เป็นเขตภูเขาเนินเขา อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,300 เมตร และอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 50 กิโลเมตร ลักษณะการตั้งบ้านเรือน ของบ้านแม่กำปองจะตั้งเรียงรายในหุบเขา และสองฝั่งของลำห้วย  

สภาพทั่วไปของชุมชนรายล้อมไปด้วยภูเขา มีไร่ชา กาแฟ และมีน้ำตก และป่าที่อุดมสมบูรณ์ (ดอยม่อนล้าน) รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี และค่อนข้างหนาวในช่วงฤดูหนาว 

ปัจจุบันชุมชนบ้านแม่กำปองมี 195 หลังคาเรือน มีประชากร 398 คน ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนพื้นเมืองชาติพันธุ์ล้านนา (ไทยวน) อพยพมาจากอำเภอดอยสะเก็ด 

ไทยวน

ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนแม่กำปอง ประกอบอาชีพการเกษตรเป็นหลัก ได้แก่ ทำสวนเมี่ยง (ใบชา) สวนกาแฟ อาชีพรอง ได้แก่ กลุ่มงานหัตถกรรมพื้นบ้าน เช่น เย็บหมอนใบชา งานจักสานไม้ไผ่ นวดแผนโบราณ  เปิดบ้านขายของชำและเปิดบ้านโฮมสเตย์ และในปัจจุบันอาชีพหลัก มีการท่องเที่ยวโดยชุมชนโดยเปิดบ้านทำโฮมสเตย์ ประมาณ 70 หลัง

ต่อมามีความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวของหมู่บ้านแม่กำปอง เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 เกิดขึ้นตั้งแต่การรวมกลุ่มของสมาชิกโฮมสเตย์ ซึ่งมาจากการชักชวน (Cooptation) ของนายธีรเมศร์ ขจรพัฒนภิรมย์ หรือพ่อหลวงพรหมมินทร์ พวงมาลา ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้น ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้นำซึ่งต้องการพัฒนาชุมชนที่ค่อนข้างห่างไกลให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเพื่อเพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน จึงได้มีการรวมกลุ่มเป็นแนวร่วมเดียวกันเพื่อดำเนินงานร่วมกัน (Coalition) ซึ่งก็คือการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับโฮมสเตย์ จากความร่วมมือในเบื้องต้นนั้นได้นำไปสู่ความร่วมมือในการจัดการโฮมสเตย์ร่วมกันระหว่างภาครัฐและชุมชนตามมาตรฐานการจัดการโฮมสเตย์ทั้ง 7 ด้าน ประกอบด้วย ด้านที่พัก ด้านกิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่ ด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ด้านการบริหารจัดการและบริการ ด้านสภาพแวดล้อม ด้านมูลค่าเพิ่ม ด้านการส่งเสริมด้านส่งเสริมการตลาดและการประชาสัมพันธ์ โดยการดำเนินการตามบทบาทดังกล่าวนี้ เป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นตามภาระหน้าที่ของแต่ละภาคส่วน ภายใต้เป้าหมายเดียวกัน คือ การจัดการโฮมสเตย์ ของชุมชน และเพื่อผลลัพธ์สุดท้ายคือเพื่อการท่องเที่ยวของชุมชนโดยที่จากความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมเหล่านี้นั้นเป็นสิ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จของชุมชน ทั้งด้าน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านสิ่งแวดล้อม

ปฏิทินท่องเที่ยวชมประเพณี วัฒนธรรม

  • ประเพณีวันเข้าพรรษา (ขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบเหนือ)
  • ประเพณีวันสิบสองเป็ง (ขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบสองเหนือ)
  • ประเพณีวันออกพรรษา (ขึ้น 15 ค่ำ เดือนอ้าย)
  • ประเพณีเดือนยี่เป็ง (วันลอยกระทง)
  • ประเพณีเดือนสี่เป็ง (ขึ้น 15 ค่ำ เดือนสี่เหนือ วันทานข้าวใหม่)
  • ประเพณีวันปี๋ใหม่เมือง (วันสงกรานต์)

ปฏิทินท่องเที่ยวชมวิถีชีวิตและธรรมชาติ

  • พ.ค. - พ.ย. ฤดูกาลเก็บเกี่ยวใบเมี่ยง
  • พ.ย. - ม.ค. ฤดูกาลเก็บเกี่ยวกาแฟ
  • 15 - 30 ธ.ค. ช่วงเวลาดอกซากุระบาน
  • มี.ค. - เม.ย. ช่วงเวลาดอกเอื้องดินบาน
  • ม.ค. - ธ.ค. เที่ยวชมธรรมชาติวิถีชีวิต

1.ธีรเมศร์ ขจรพัฒนภิรมย์

ในปี พ.ศ. 2539 นายธีรเมศร์ ขจรพัฒนภิรมย์ หรือพ่อหลวงพรหมมินทร์ (นามเดิม) เข้ามารับหน้าที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของหมู่บ้าน โดยเฉพาะการเปิดหมู่บ้านเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่มองว่าจะสามารถช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น และทำให้หมู่บ้านพัฒนาได้เร็วขึ้นจากเม็ด เงินของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยภายในหมู่บ้านจากการจุดประกายแนวคิดของพ่อหลวงธีรเมศร์ ในเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากร ธรรมชาติในชุมชนให้มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน ประกอบกับการมีส่วนร่วมและการให้ความร่วมมือ  อย่างแข็งขันของคนในชุมชน ทำให้ในปัจจุบันหมู่บ้านแม่กำปองกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของประเทศไทยและจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับรางวัลด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวจากหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย อาทิเช่น

  1. หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ภายใต้โครงการประชารัฐ พ.ศ. 2559
  2. รางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย พ.ศ. 2550
  3. การรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย พ.ศ. 2548
  4. ชนะเลิศหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง อยู่เย็นเป็นสุข พ.ศ. 2558
  5. ศูนย์เรียนรู้ชุมชนดีเด่น จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2560
  6. หมู่บ้านปลอดการเผา
  7. ชนะเลิศด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตดีเด่นจากเวทีระดับอาเซียน
  8.  หมู่บ้านต้องแอ่ว ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ด้านศาสนาศิลปวัฒนธรรมและสุขภาพ
  9. ชุมชนต้นแบบพลังงานสะอาด ชาติสดใส
  10. ชุมชนผู้นำเข้มแข็ง

ทุนกายภาพ

  • ใบเมี่ยง ชาวบ้านในหมู่บ้านที่ยังคงอนุรักษ์ต้นเมี่ยงและการทำเมี่ยงแบบดั้งเดิม และมีหลายครัวเรือนที่ยึดเป็นอาชีพหลัก มีพิพิธภัณฑ์เหมี้ยงเพื่อให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวและผู้สนใจ รวมทั้งมีมัคคุเทศก์ท้องถิ่นที่ให้บริการนำนักท่องเที่ยวเดินทางเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่มีต้นเมี่ยงในป่าและบ้านที่ทำการแปรรูปเมี่ยง
  • น้ำตก มีน้ำตกหนึ่งแห่ง คือ น้ำตกแม่กำปอง น้ำตกใสสะอาด มีต้นเฟิร์น และตะไคร่น้ำขึ้นอยู่ทั่วไป ซึ่งมีความสูงลดหลั่นกันถึง 7 ชั้น
  • เส้นทางเดินป่าเลาะลำห้วย สัมผัสธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ และชมนกหลายชนิด เส้นทางนี้ผ่านสวนเมี่ยง สวนกาแฟ และสวนป่าสมุนไพร 
  • ดอยม่อนล้าน เป็นจุดที่สูงที่สุดของภูเขาใน อ.แม่ออน ซึ่งสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ได้รอบทิศ มีสวนสนร่มรื่น สวนสมเด็จย่า จุดพักของหน่วย ปลูกป่าต้นน้ำแม่ลายแม่ออน บ้านรับรองและพื้นที่ว่างสำหรับตั้งแคมป์ปิ้ง
  • ดอกไม้ประจำถิ่น มี 2 ชนิด ได้แก่ ดอกเอื้องดิน และดอกเอื้องหงส์ทอง

ทุนวัฒนธรรม

  • การทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ (ฮ้องขวัญมัดมือ) ซึ่งนิยมทำเวลาที่มีผู้เจ็บไข้ได้ ป่วย และหายป่วยหายไข้ เพื่อเป็นการเรียกขวัญกลับมา รวมถึงทำขึ้น เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังชุมชน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมเดียวกับชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • การแสดงฟ้อนพื้นเมือง ซึ่งนิยมฟ้อนในงานประเพณีปอยหลวง เช่น ฟ้อนสาวไหม ฟ้อนเล็บ ฟ้อนดาบ ฟ้อนจ้อง ฟ้อนเทพบันเทิง
  • การแสดงดนตรีพื้นเมือง (สะล้อซอซึง)
  • การตีมีดในหลายรูปแบบ เช่น มีดทำครัว มีดพกเข้าป่า มีดแผ้วถางหญ้า
  • วัดคันธาพฤกษา หรือชาวบ้านเรียกว่า วัดแม่กำปอง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ บนเนื้อที่ 2 งาน 55 ตารางวา ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2473 ไล่เลี่ยกับการถือกำเนิดขึ้นของชุมชน แต่เดิมเป็นอาศรมตั้งอยู่เชิงเขา ห่างจากหมู่บ้านราว 300 เมตร จนเมื่อ พ.ศ. 2468 ได้ย้ายที่ตั้งมาอยู่กลางหมู่บ้าน แต่เดิมมีถนนผ่านด้านทิศเหนือเท่านั้น ปัจจุบันมีถนนตัดผ่านด้านทิศใต้ของวัด ชื่อของวัดคันธาพฤกษามาจากฉายาของครูบาอินสม คนฺธรโส ท่านเป็นผู้ริเริ่มสร้างขึ้นบนที่ดินของพี่สาวท่าน และอยู่ท่ามกลางพฤกษา คือป่าเขาลำเนาไพร อาคารและเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถกลางน้ำ (อุทกเสมา) ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงสองแห่งเท่านั้นในภาคเหนือ วิหารไม้สักทองแกะสลักลวดลายล้านนา และพระธาตุเจดีย์สีขาว สร้างขึ้นจากงบประมาณในการจัดงานปอยหลวง ซึ่งเป็นงานบุญประจำปีที่ยิ่งใหญ่ของคนเหนือ มีการจัดงานสรงน้ำพระธาตุเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนแปดเป็งหรือเดือนมิถุนายน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

มีอาชีพที่มั่นคงทั้งจาก การเกษตรและการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวทำให้มีโฮมสเตย์ ร้านค้า และบริการเกิดขึ้นในชุมชน จากรายได้โดยเฉลี่ยหลักหมื่นบาทต่อปี เพิ่มขึ้นเป็นหลักแสนบาทต่อปี


ภายหลังจากนายธีรเมศร์ ขจรพัฒนภิรมย์ หรือพ่อหลวงพรหมมินทร์ พวงมาลา ตะหนัก เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างความร่วมมือในการบริหารจัดการชุมชน และการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ที่ปัจจุบันอาชีพหลักของชาวบ้านเปิดบ้านทำโฮมสเตย์กันมากขึ้น ทำให้มีกฏเกณฑ์ ในการป้องกันการเข้ามาของนายทุนหรือคนภายนอก ไม่ให้เข้ามาตักตวงผลประโยชน์ มีประกาศอย่างชัดเจนว่าห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาประกอบธุรกิจบ้านพักหรือร้านค้าภายในหมู่บ้าน แต่ถ้ามาอยู่อาศัยเพื่อการพักผ่อนไม่ห้าม ส่วนร้านค้าและธุรกิจต่าง ๆ ที่มีอยู่ตอนนี้ก็ให้มีอยู่เท่าที่มี ส่วนอาชีพอื่น ๆ ที่รองรับชาวบ้านก็คือการปลูกเมี่ยงและกาแฟ ซึ่งการปลูกกาแฟจะกลายเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน


สาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า เข้าถึงชุมชน

การร่วมกันอนุรักษ์ป่าไม้ ทำให้ ต้นน้ำของชุมชนยังคงอุดมสมบูรณ์มีน้ำสำหรับใช้ตลอดปี สภาพแวดล้อมของชุมชนไม่เสื่อมโทรม

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จุฑาทิพย์ แร่เพชร. (2564). ความร่วมมือของภาครัฐและชุมชนในการจัดการโฮมสเตย์ของหมู่บ้านแม่กำปอง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่. Journal of Roi Kaensarn Academi. 6(7), 1-13.

ชัยวิวัฒน์ ยางาม. (2553). ผลกระทบของการท่องเที่ยวที่มีต่อชุมชนบ้านแม่กำปอง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ปริญญาเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะเศรษฐศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ฐิติ ฐิติจำเริญพร. (2557). การจัดการขีดความสามารถการรองรับของพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวโดยชุมชน. มหาวิทยาลัยพายัพ: เชียงใหม่.

ณัฐกิตติ์ กุลวณิชยวงษ์. (2561). บ้านแม่กำปอง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก:  http://community.onep.go.th/

นัชชา เพิ่มสุภัคกุล, และ สมศักดิ์ สามัคคีธรรม. (2563). ความสำเร็จของการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน : กรณีศึกษาชุมชนบ้านไร่กองขิงและชุมชนแม่กำปอง จังหวัดเชียงใหม่. วารสารมหาวิทยาลัยคริสเตียน. 26(3), 36-54.

นิกร เกษโกมล. (2563). บ้านแม่กำปอง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: http://cmi.nfe.go.th/lib/Lib_Maeon/

วัดคันธาพฤกษา. (2560). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://th.wikipedia.org/wiki/วัดคันธาพฤกษา

ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน. (2555). แม่กำปอง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://thaicommunitybasedtourismnetwork.wordpress.com/

หมู่บ้านแม่กำปอง จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย. (2564). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://palanla.com/th/domesticLocation/

ออนวัลเลย์ ฟาร์มสเตย์. (2565). หมู่บ้านแม่กำปอง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://www.oonvalleyfarmstay.com/Article/Detail/หมู่บ้านแม่กำปอง

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.). หมู่บ้านแม่กำปอง. ค้นจาก https://thai.tourismthailand.org/