Advance search

บ้านดอยปุย

เป็นชุมชนที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีการดำรงชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

สุเทพ
เมืองเชียงใหม่
เชียงใหม่
ปรายฟ้า ตั้งจิตติวัฒนา
5 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
11 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
29 มิ.ย. 2023
บ้านดอยปุย

เดิมชื่อหมู่บ้านว่า “หมู่บ้านปานขมุก” ก่อนจะมีผู้คนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำให้หมู่บ้านใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนกลายมาเป็น “ชุมชนบ้านดอยปุย” ตั้งชื่อตาม ดอยปุย ซึ่งเป็นพื้นที่เดิม


ชุมชนชาติพันธุ์

เป็นชุมชนที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีการดำรงชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

สุเทพ
เมืองเชียงใหม่
เชียงใหม่
50200
เทศบาลตำบลสุเทพ โทร. 0-5332-9251-2
18.8178671995
98.8840865501
องค์การบริหารส่วนตำบลสุเทพ

หมู่บ้านดอยปุยมีการตั้งถิ่นฐานมากกว่า 50 ปี จากคำบอกเล่าสรุปได้ว่าบ้านดอยปุยก่อตั้งครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2489 หลังสงครามโลกครั้งที่สองผ่านไปหนึ่งปี มีชาวม้งอพยพเข้ามาอยู่ก่อน เรียกชื่อหมู่บ้านว่า “หมู่บ้านปานขมุก” ต่อมามีชาวม้งจำนวน 3 ครอบครัว คือ          นายชงหลื่อ แซ่ว่าง นายไซหลื่อ แซ่ลี และนายจู้สืบแซ่ว่าง เข้ามาทำไร่และตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านดอยปุยในปี พ.ศ. 2494 และมีชาวม้งและชาวจีนฮ่อ นำโดยนายเลาป๊ะ แซ่ย่าง อพยพหนีการปราบปรามยาเสพติดที่บ้านป่าคา ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เข้ามาตั้งถิ่นฐาน    เพิ่มอีก 30 ครอบครัว จากการที่บ้านดอยปุยอยู่ใกล้พื้นที่เมือง ใกล้ตลาดและเป็นหมู่บ้านที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้มีการเคลื่อนย้ายของประชากรกลุ่มต่างๆ การตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรเริ่มขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2496 โดยเริ่มจากชาวจีนฮ่ออพยพมาจาก  บ้านแม่สาใหม่เข้ามาอยู่อาศัยกับชาวม้ง และเป็นกลุ่มที่ทำการค้าขายกับชาวม้งมาตั้งแต่อดีตทำให้ชาวจีนฮ่อเรียนรู้วิธีการเพาะปลูกบนพื้นที่สูงจากชาวม้ง นอกจากนี้ยังมีการอพยพของกลุ่มคนเมืองพื้นราบและกะเหรี่ยงเข้ามาอยู่อาศัยในหมู่บ้านในปี พ.ศ. 2542 โดยกลุ่มคนเมืองพื้นราบ    เข้ามาทำการค้าขายเพียงอย่างเดียว เพราะไม่มีความสามารถและความชำนาญทางด้านการเพาะปลูกพืชบนพื้นที่สูง ส่วนชาวกะเหรี่ยงอพยพเข้ามาเพื่อเป็นแรงงานรับจ้างในสวนให้กับกลุ่มชาวม้งที่มีฐานะดี

ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 11 ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลตำบลสุเทพ หมู่บ้านดอยปุยมีพื้นที่ทั้งสิ้น 10.85 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 6,781 ไร่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก ของตัวเมืองเชียงใหม่ บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย

โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ดอยผากลอง และบ้านแม่สาใหม่ อำเภอแม่ริม
  • ทิศใต้         ติดต่อกับ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ยอดดอยปุย
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ น้ำตกศรีสังวาลย์ และบ้านทุ่งโป่ง อำเภอหางดง

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

มีสภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนของเทือกเขาผีปันน้ำตอนบน ความสูงของพื้นที่อยู่ระหว่าง 700 - 1,280 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ยอดเขาที่สำคัญ คือ ดอยสุเทพ ดอยปุย และดอยบวกห้า โดยมีดอยปุยเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดคือ 1,685 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง  ยอดเขาเหล่านี้จึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำปิง ได้แก่ ห้วยแก้ว ห้วยช่าง เคี่ยน และห้วยแม่เหียะ เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งต้นน้ำลำธารที่ไหลลงสู่แม่น้ำปิง ประชากรตั้งบ้านเรือนอยู่ บริเวณเดียวกันในหุบเขาที่ระดับความสูงประมาณ 800 - 900 เมตร

ลักษณะภูมิอากาศ

พื้นที่ดอยปุยป่าและยอดเขาสูงอากาศจึงเย็นตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 16 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 7 องศาเซสเซียส สูงสุด 29 องศาเซลเซียส ฤดูหนาวอากาศหนาวจัด ส่วนในฤดูฝนอากาศเย็นและชื้น ส่วนในฤดูฝนอากาศเย็นและชื้น มีปริมาณน้ำฝนค่อนข้างมากประมาณ 1,600 มิลลิเมตร ฝนตกตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน โดยตกมากที่สุดในเดือนสิงหาคมและกันยายน

สภาพสังคม และชุมชน กลุ่มบ้านในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงดอยปุย มีประชากรจำนวน 1,408คน จำนวน 279 คน ครัวเรือน ประกอบด้วย 3 เผ่า คือ ม้ง กะเหรี่ยง พื้นเมือง ร้อยละ 80 เป็นเผ่าม้ง ด้านสาธารณสุขประชาชนใช้ บริการจากสถานีอนามัยบ้านโป่งน้อย และโรงพยาบาลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ และโรงพยาบาลนครพิงค์ และที่ผ่าน มาโครงการพัฒนาแบบพื้นที่สูงดอยปุยได้สนับสนุนการทำแผนชุมชนและการการนำไปใช้ประโยชน์ใน ส่งเสริมให้มีการ รวมกลุ่มอาชีพ ได้แก่ กลุ่มไม้ผล และกลุ่มปลูกผัก การจัดตั้งกลุ่มและกองทุนเพื่อให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้ กลุ่มวิสาหกิจ ชุมชน การพัฒนาตลาดผลผลิตในชุมชน การพัฒนาหมู่บ้านสะอาดชุมชนเข้มแข็ง และสนับสนุนกิจกรรมเพื่อรักษาวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น 

ประชากรบ้านดอยปุยมีทั้งสิ้น 1,391 คน 134 ครัวเรือน จำแนกได้ดังนี้

  1. ม้ง 1,284 คน 109 ครัวเรือน 
  2. จีนฮ่อ 49 คน 7 ครัวเรือน 
  3. คนเมือง 43 คน 13 ครัวเรือน 
  4. กะเหรี่ยง 11 คน 2 ครัวเรือน 
  5. เนปาล 2 คน 2 ครัวเรือน
  6. ญี่ปุ่น 2 คน 1 ครัวเรือน 

และหากจำแนกประชากรตามตระกูลพบว่า

  1. ตระกูลว่าง(บน) มี 169 คน 16 ครัวเรือน
  2. ตระกูลลี 194 คน 18 ครัวเรือน
  3. ตระกูลย่าง 420 คน 34 ครัวเรือน
  4. ตระกูลว่าง(ล่าง) 252 คน 22 ครัวเรือน
  5. ตระกูลหาง 135 คน 8 ครัวเรือน
  6. ตระกูลซ่ง 19 คน 4 ครัวเรือน
  7. ตระกูลมัว 50 คน 4 ครัวเรือน
  8. ตระกูลเฒ่า 40 คน 3 ครัวเรือน 

กลุ่มม้งบ้านดอยปุย มีระบบการถือสายตระกูลฝ่ายชายเช่นดียวกับม้งโดยทั่วไป มีระบบการตั้งบ้านเรือนในฝ่ายชายและถือฝ่ายชายเป็นใหญ่ เมื่อหญิงม้งจากตระกูลหนึ่งแต่งงานถือว่าหญิงคนนั้นเป็นสมาชิกในตระกูลของสามีทั้งร่างกายและจิตวิญญาณโดยสมบูรณ์ ม้งมีการห้ามแต่งงาน ในตระกูลเดียวกันอย่างเด็ดขาดเพราะถือว่ากลุ่มตระกูลที่ใช้แซ่มีบรรพบุรุษร่วมกัน

ม้ง, จีนยูนนาน(จีนฮ่อ)

ชาวบ้านดอยปุย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขายของพื้นเมืองให้แก่นักท่องเที่ยวเช่น เสื้อผ้า-กระเป๋าผ้าพื้นเมือง เครื่องประดับทำด้วยเงินและหินสี ของที่ระลึกผัก-ผลไม้สดเมืองหนาว ผลไม้แช่อิ่ม ชา กาแฟ ลำใยอบแห้ง สมุนไพรต่างๆ โดยมีร้านค้าถาวรสร้างติดต่อกันเป็นแนวยาว

สภาพเศรษฐกิจ 

เกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขายและทำการเกษตรกรรมประมาณร้อยละ 60 ค้าขาย อย่างเดี่ยวประมาณร้อยละ 10 เป็นการค้าขายให้ กับนักท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ โดยเปิดร้านจำหน่ายสินค้าประเภท หัตถกรรม เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าทอใยกัญชง ผ้าปักลาย ผ้าเขียนลายเทียน เครื่องประดับทำด้วยเงิน อัญมณี ร้านอาหาร-เครื่องดื่มและบริการถ่ายภาพ ทำการเกษตรกรรมอย่างเดียวประมาณร้อยละ 25 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสวนลิ้นจี่มี พื้นที่เพาะปลูกประมาณ 1,000 ไร่ มีปริมาณผลผลิตลิ้นจี่ ปีละประมาณ 800-1,000 ตัน ผลผลิตโดยเฉลี่ยไร่ละ 100 กิโลกรัม และปลูกพืชชนิดอื่นๆ ได้แก่ กาแฟอราบิก้า ข้าวโพด พลับ ไม้ดอกไม้ประดับ และพืชผักต่างๆ ซึ่งสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี และประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปประมาณร้อยละ 5 การดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาอาชีพของโครงการพัฒนาพื้นที่ สูงแบบโครงการหลวงดอยปุยที่ผ่านมากได้พัฒนาและส่งเสริมอาชีพแก่ เกษตรกร เพื่อให้มีทางเลือกในการประกอบอาชีพและรายได้มากยิ่งขึ้น โดยพัฒนาการปลูกพืชเดิม คือ ลิ้นจี่ และส่งเสริมการปลูกใหม่ๆ เช่น พืชผักในโรงเรือน ไม้ผลเมืองหนาว ได้แก่ องุ่น อาโวคาโด กาแฟ ส่งเสริม การเลี้ยงสัตว์เพื่อสร้างรายได้เสริม และบริโภคในครัวเรือน ส่งเสริมงาน หัตถกรรมท้องถิ่น ประชาชนมีรายได้เฉลี่ย 167,53.09 บาท ต่อครัวเรือนต่อปี

การประกอบอาชีพ 

ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขายสินค้าหัตถกรรม และทำการเกษตรปลูกลี้นจี่และสตรอเบอรี่ เป็นการค้าขายแก่นักท่องเที่ยวโดยเปิดร้านจำหน่ายสินค้าหัตถกรรม อาหาร และเครื่องดื่ม เสื้อผ้า ทำการเกษตรอย่างเดียวร้อยละ 25 ซึ่งส่วนใหญ่ทำสวนลิ้นจี่ มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 1,000 ไร่ มีปริมาณผลผลิตปีละประมาณ 800 – 100 ตัน ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ100 กิโลกรัม และปลูกพืชอื่นๆ ได้แก่ พืชผักสวนครัวไว้บริโภคในครัวเรือน และข้าวโพดสำหรับจำหน่ายในชุมชนซึ่งสามารถปลูกได้ตลอดปี และมีอาชีพรับจ้างทั่วไปร้อยละ 5

การถือครองที่ดิน 

เกษตรกรหมู่บ้านดอยปุยไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเนื่องจากเป็นพื้นที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย

การรวมกลุ่มของเกษตรกร 

ประชากรหมู่บ้านดอยปุยได้มีการจัดตั้งกลุ่มด้านอาชีพต่าง ๆ ซึ่งได้แก่ กลุ่มผู้ปลูกกาแฟอราบิก้า กลุ่มผู้ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ กลุ่มผู้ปลูกไม้ผล กลุ่มผู้ปลูกผักปลอดภัย กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ และกลุ่มหัตถกรรมผ้าเขียนเทียน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ผู้นำของหมู่บ้านดอยปุย

  • พ่อหลวงนวย เมธาพันธุภุชกฤษดาภา เป็นผู้ใหญ่บ้าน
  • นายยิ่งยศ หวังวนวัฒน์ เป็นประธานประชาคมหมู่บ้าน
  • นายประดิษฐ์ ปัญญา เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ 

ผู้นำชุมชนด้านต่างๆ

  • ด้านพิธีกรรมทางศาสนา คือ นายปัญหา เลาลี นายถวิล เลาลี และนางจง แซ่ย่าง
  • ด้านสมุนไพรพื้นบ้าน คือ นายเสือ แซ่ลี นางไม้ แซ่ลี และนางชา แซ่ย่าง
  • ด้านหัตถกรรม (ผ้าเขียนเทียนลายม้ง) คือ นางยาหยี หวังวนวัฒน์
  • ด้านเครื่องดนตรีพื้นบ้าน คือ นายแต่ง แสนยาเกียรติคุณ และนายสูหยี เฟื่องฟูกิจการ

ทุนกายภาพ

มีพืชสมุนไพรที่สำคัญ คือ

  1. ฉั้วม่ออั๋ว เป็นพืชใบเถา มีใบคล้ายรูปหัวใจ มีสรรพคุณในการรักษาแผลเรื้อรัง เนื้องอก โรคเกี่ยวกับตับ ปอด และอวัยวะภายในต่างๆ
  2. ต้นหญ้าเทวดาสีแดง มีลักษณะคล้ายหญ้าปักกิ่ง ขึ้นตามหินผาที่มีความสูง มีสรรพคุณในทางรักษาโรคร้ายและเป็นยาบำรุง
  3. ยาช่วยให้มีลูก เป็นพืชเถาใบยาวประมาณ 4 นิ้ว กว้างประมาณ 1 นิ้ว มักขึ้นตามต้นน้ำที่มีความชื้นตามป่าดิบเขาที่มีความสูง 1,000 เมตรขึ้นไป การนำเถาตากแห้งชงน้ำร้อนดื่ม มีสรรพคุณช่วยให้สตรีที่มีบุตรยากมีบุตรง่าย และเชื่อว่าสามารถกำหนดเพศของลูกได้
  4. ไปเด๋ เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก มีใบกว้างค่อนข้างกลม ใบมีรอยหยัก มีกลิ่นฉุน ใช้รักษาอาการปวดหัวเป็นไข้ โดยการนำใบมาขยี้ให้เละ นวดบริเวณขมับ ท้ายทอย และกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ 
  5. ปัวต้อ ภาษาไทยเรียกว่าว่านเปราะหอม มีใบกว้างติดผิวดิน กลิ่นหอม ใช้รักษาอาการปวดท้องทั่วๆ ไป อาการอาหารเป็นพิษและจุกเสียดแน่นท้อง

ทุนวัฒนธรรม

1.) ระบบความเชื่อ

ชาวม้งมีการรักษาผู้ป่วยด้วยการเข้าทรง สามารถแบ่งย่อยเป็น 2 ประเภทคือ เน้งมัวเด๊อ (เน้งตาขาว) ประกอบพิธีโดยหมอผี เป็นการข่มผู้ให้วิญญาณร้ายออกจากร่างกายผู้ป่วย เนื่องจาก ม้งเชื่อว่าการเจ็บป่วยเกิดจากขวัญหายหรือเกิดจากวิญญาณร้ายเข้าสิงในร่างกายผู้ป่วย เน้งม้งดู๊ (เน้งตาดำ) เป็นพิธีกรรมเข้าทรงที่สลับซับซ้อน สำหรับรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง รักษาด้วยวิธีใดก็ไม่หาย หมอผีที่มีอยู่แล้วจะทำการตั้งแท่นบูชาผีและลองเข้าทรง หากผู้ป่วยสามารถเข้าทรงได้แสดงว่าวิญญาณผู้ทรงได้เลือกและยอมรับให้ผู้ป่วยคนนั้นเป็นหมอผีแล้ว จากนั้นอาการเจ็บป่วยเรื้อรังจะหายและเขาจะกลายเป็นหมอผีโดยสมบูรณ์ และสามารถทำการรักษาคนอื่นต่อไปได้ การเข้าทรงเน้งม้งดู๊ดังกล่าวหมายถึงว่า วิญญาณผู้ป่วยได้ถูกนำไปปรโลกแล้ว การเข้าทรงของหมอผีบนโต๊ะยาว เป็นการขี่ม้าเข้าสู่ปรโลกเพื่อติดตามหรือไถ่วิญญาณผู้ป่วยกลับมา ม้งมีความเชื่อว่า “พืชคร่าวิญญาณ” (Tshuaj noj tuag , Soul Snatcher Plant) มีวิญญาณแห่งความตายแฝงอยู่ ผู้ใดพบและเห็นยอดปลิวไสวตามแรงลม จะมีสิ่งดลใจให้ผู้พบมองเห็นความตาย แล้วเด็ดยอดมากินในที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่ผิดหวังในชีวิต มักจะใช้พืชชนิดนี้แก้ปัญหา ม้งเชื่อว่าหน้าไม้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติ การเจ็บป่วยนั้น มีสาเหตุมาจากวิญญาณร้าย (Wild Spirits) มาจับขวัญหรือวิญญาณผู้ป่วยไป ม้งจึงทำหน้าไม้ที่ง้างไว้เสียบบนหลังคาบ้านเพื่อป้องกันวิญญาณร้ายต่างๆ นอกจากนี้ ม้งมีความเชื่อเกี่ยวกับ     ชีวิตหลังความตายว่า วิญญาณคนตายจะกลับคืนสู่ถิ่นกำเนิดของม้งทางขั้วโลกเหนือ ในระหว่างเดินทางจะต้องพบกับศัตรูภูตผี และสัตว์ต่างๆ จึงต้องเตรียมหน้าไม้ให้กับศพเพื่อนำไปต่อสู้กับศัตรูต่างๆ ก่อนที่จะไปพบกับวิญญาณ ของบรรพบุรุษที่ได้เสียชีวิตไปก่อนหน้านั้น

สถานที่ที่เกี่ยวข้อง

โบราณสถานสันกู่ ดอยปุย เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระฤาษีวาสุเทพ โบราณสถานสันกู่ตั้งอยู่บริเวณยอดดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่ มีฐานวิหารก่ออิฐเป็นผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และฐานกู่เจดีย์ 1 องค์ ภายหลังการขุดค้นทางโบราณคดีได้พบพระพิมพ์ดินเผ่าในกลุ่มพระสิบสองและพระสิบแปด ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 – 18 เป็นหลักฐานยืนยันว่าอยู่ในสมัยหริภุญไชยซึ่งเป็นโบราณสถานที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดกว่าโบราณสถานใดๆ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณชุมชนแถบดอยสุเทพ และยังมีความสัมพันธ์กับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวลัวะ สอดคล้องกับวัฒนธรรมการประดิษฐานพระธาตุ    บนยอดดอย ภายหลังการสถาปนาพระธาตุดอยสุเทพขึ้นในบริเวณภูเขาอีกแห่งหนึ่งในระดับต่ำลงมา ทำให้พระธาตุดอยสุเทพกลายเป็นปูชนียสถานที่สำคัญนับตั้งแต่นั้นมา ทั้งๆ ที่ควรมีพื้นที่ศักดิ์เพียงแห่งเดียวเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมธาตุ คือ บริเวณสันกู่ แต่ในเหตุการณ์เชิญ พระธาตุได้เปลี่ยนนิมิตรสถานไว้บนตำแหน่งช้างทรงพระบรมธาตุสิ้นชีวิตลง สันกู่จึงลดความสำคัญลง และค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำ

เมื่อ พ.ศ.2526 หน่วยศิลปากรที่ 4 เชียงใหม่ ได้ขุดแต่งบูรณะซากโบราณสันกู่ ในการทำงานครั้งนั้น เป็นไปตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา  สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงทราบว่า โบราณสถานแห่งนี้ถูกขุดทำลายเป็นเวลานานแล้ว สมควรให้กรมศิลปากรสำรวจ    และบูรณะให้อยู่ในสภาพที่ดีต่อไป นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดี สภาพก่อนการขุดแต่ง เป็นเนินโบราณสถานที่ต้นไม้หนาแน่น เมื่อขุดลอกดินที่ทับถมออก พบซากเจดีย์และฐานวิหาร ได้ขุดลอกหลุมที่เกิดจากการลักลอบขุดที่ตรงกลางฐานเจดีย์  ในระดับความลึก 5.30 เมตร พบโบราณวัตถุในกรุที่สำคัญ ได้แก่ เศียรพระพุทธรูปศิลปะแบบหริภุญไชย พระพิมพ์ดินเผาศิลปะแบบหริภุญไชย เศษเครื่องปั้นดินเผาเป็นชิ้นส่วนขนาดเล็กของจีนสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ.1911-2187) และการขุดแต่ส่วนอื่นพบเศษเครื่องปั้นดินเผา    จากแหล่งเตาสันกำแพง สันนิษฐาน โบราณสถานสันกู่มีอายุระหว่าง พุทธศตวรรษที่ 19-22

โบราณสถาน “สันกู่” บนยอดดอยปุย เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระฤาษีวาสุเทพน้อยคนที่จะทราบว่า บนยอดดอยที่สูงเหนือกว่าดอยสุเทพ เมืองเชียงใหม่ขึ้นไปอีก มีซากโบราณสถานแห่งหนึ่งชื่อว่า “สันกู่” มีอายุเก่ากว่าพระธาตุดอยสุเทพ และเก่าแก่กว่าโบราณสถานใดๆ ในพื้นที่แถบเชิงดอยสุเทพ แต่ปัญหามีอยู่ว่า โบราณสถานแห่งนี้คืออะไร ทำไมจึงถูกสร้างบนยอดดอยสูงและไกลเช่นนั้น ดอยสุเทพนั้นเป็นชื่อที่เรียกตามนามของพระสุเทวฤาษีหรือพระฤาษีวาสุเทพ ซึ่งในอดีตได้เคยมาอยู่บำเพ็ญตะบะอยู่ ณ ภูเขาแห่งนี้ ซึ่งบริเวณเชิงดอยสุเทพ  มีเมืองโบราณเวียงเจ็ดลิน ตามตำนานกล่าวว่าเป็น เมืองเชษฐะบุรี ซึ่งเป็นชุมชนของชาวลัวะ การศึกษาที่ผ่านมาพบหลักฐานโบราณสถานและวัตถุสมัยหริภุญไชยที่แสดงให้เห็นว่าเวียงเจ็ดลิน เป็นชุมชนโบราณที่มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 17-18 ต่อมาในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 20   พระญากือนากษัตริย์ล้านนาโปรดฯให้สร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุนั้นไว้บนยอดดอยสุเทพด้วยเหตุนี้ดอยสุเทพจึงเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากเคยเป็นทั้งที่อยู่ของพระฤาษีวาสุเทพ และเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมธาตุดอยสุเทพแต่บนยอดดอยปุย

ชาวบ้านในชุมชนบ้านดอยปุยใช้ภาษาม้ง ซึ่งจัดอยู่ในสาขาเมี้ยว-เย้าจองตระกูลจีน-ธิเบตไม่มีภาษาเขียนแต่ยืมตัวอักษรภาษาโรมันมาใช้ ม้งไม่มีภาษาที่แน่นนอน ส่วนใหญ่มักจะรับภาษาอื่นมาใช้พูดกัน เช่น ภาษาจีนยูนนาน ภาษาลาว ภาษาไทยภาคเหนือ เป็นต้น ซึ่งม้งทั้ง 3 เผ่าพูดภาษาคล้ายๆ กัน คือ มีรากศัพท์ และไวยากรณ์ที่เหมือนกัน แต่การออกเสียงหรือสำเนียงจะแตกต่างกันเล็กน้อย ม้งสามารถใช้ภาษาเผ่าของตนเอง พูดคุยกับม้งเผ่าอื่นเข้าใจได้เป็นอย่างดี แต่ม้งไม่มีภาษาเขียนหรือตัวหนังสือ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันชาวม้งได้เขียน และอ่านหนังสือภาษาม้ง     โดยการใช้ตัวอักขระหนังสือละติน (Hmong RPA) เรื่องราวความเป็นมาต่างๆ ของม้ง จึงอาศัยวิธีการจำและเล่าสืบต่อกันมาเพียงเท่านั้น


ได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานทุทนทรัพย์ส่วนพระองค์ผ่านยังกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนค่ายราดารัศมี เพื่อเป็นกองทุนหมู่บ้านในการสร้างอาชีพด้านการค้าขายเมื่อปี พ.ศ. 2510



ในปี พ.ศ. 2507 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชก่ลที่ 9 ทรงมีรับสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ฝ่ายปกครอง) สำรวจประชากรของหมู่บ้านและให้สัญชาติไทยแก่หมู่บ้านและชาวบ้าน


ในปี พ.ศ. 2500 กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต 5 (ค่ายดารารัศมี) ได้เข้ามาช่วยเหลือและพัฒนาหมู่บ้าน โดยจัดตั้งโรงเรียนสอนหนังสือให้กับชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ภาษาไทยและอ่านออกเขียนได้ และต่อมาการพัฒนาหมู่บ้านได้ทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระองค์ได้พระราชทานโรงเรียนส่วนพระองค์แก่หมู่บ้าน โดยพระราชทานชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ 1” และเปิดทำการสอนอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2507 


กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ลีศึก ฤทธิ์เนติกุล, และ ยิ่งยศ หวังวนวัฒน์. (2564). การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์กับการอยู่รอดของชุมชนชาวม้งบ้านดอยปุย อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จังหวัดเชียงใหม่. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

สุรพล ดำริห์กุล. (2557). โบราณสถานสันกู่ ดอยปุย: พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระฤาษีวาสุเทพ. วารสารวิจิตรศิลป์, 5(1), 1-18.

อดิเรก อินต๊ะฟองคำ, อานนท์ ยอดหญ้าไทย, และสามารถ เดยะ. (2561). ข้อมูลพื้นฐานโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงดอยปุย ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://www.hrdi.or.th/public/files/Areas-Profile

อมิตา จินาเคียน. (2559). ประวัติดอยปุย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://sites.google.com/a/longwittaya.ac.th/

อมิตา จินาเคียน. (2559). หมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้งดอยปุย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://sites.google.com/a/longwittaya.ac.th/hmuban-chaw-khea-phea-m-ngd-xy-puy/home