Advance search

เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีมานานกว่า  200 ปี ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ บ้านแม่ละนา ถือเป็นชุมชนท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของแม่ฮ่องสอนที่มีความน่าสนใจ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถ เยี่ยมชมหมู่บ้าน ชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทใหญ่ 

ปางมะผ้า
ปางมะผ้า
แม่ฮ่องสอน
ปรายฟ้า ตั้งจิตติวัฒนา
5 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
11 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 มิ.ย. 2023
บ้านแม่ละนา

ความเป็นมาของชุมชนนั้นเดิมชื่อแม่ลัดนา เนื่องจากมีแม่น้ำไหลผ่านทุ่งนา และหมู่บ้าน ต่อมามีการออกเสียงเพี้ยนจนกลายเป็นแม่ละนา


เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีมานานกว่า  200 ปี ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ บ้านแม่ละนา ถือเป็นชุมชนท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของแม่ฮ่องสอนที่มีความน่าสนใจ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถ เยี่ยมชมหมู่บ้าน ชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทใหญ่ 

ปางมะผ้า
ปางมะผ้า
แม่ฮ่องสอน
58150
19.299999
97.966667
องค์การบริหารส่วนตำบลปางมะผ้า

บ้านแม่ละนา เป็นหมู่บ้านชาวไทใหญ่ เป็นส่วนหนึ่งของเขตการปกครองของ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน มีประวัติศาสตร์ในการสร้างบ้านเฮ็ดเมืองนานกว่า 200 ปี เดิมทีชาวบ้านแม่ละนาอพยพมาจากประเทศพม่า นำโดยนายฮ้อยสาม เดิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เอิ่งข้าง ประมาณ 20 หลังคาเรือน ต่อมาได้เกิดการเจ็บป่วยและตาย จึงเกิดการย้ายถิ่นฐาน ส่วนหนึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่แม่ละนาประมาณ 10 หลังคาเรือน นำโดย ส่างกี และอีก 10 หลังคาเรือนได้ย้ายไปที่เวียงแหง ต่อมาส่างกีก็ย้ายไปที่เวียงแหง ชาวบ้านจึงได้ขอให้นายส่างทุนขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่ของแม่ละนา  ต่อมาเมื่อทางการเข้ามาจึงได้แต่งตั้งผู้นำทางการขึ้น คือ สิบเอกปัญญา (กำนัน) ซึ่งเป็นผู้นำอย่างเป็นทางการคนแรก ไม่นานสิบเอกปัญญาได้ย้ายไปอยู่ที่อื่น จึงมีการเลือกผู้นำคนใหม่ นายทุน ได้รับเลือกเป็นผู้นำคนต่อมา จนถึงปัจจุบัน แม่ละนามีกำนัน 8 คน และผู้ใหญ่บ้าน 3 คน

บ้านแม่ละนา เดิมชื่อแม่ลัดนา เนื่องจากมีแม่น้ำไหลผ่านทุ่งนา และหมู่บ้าน ต่อมามีการออกเสียงเพี้ยนจนกลายเป็นแม่ละนา คนในชุมชนเล่าว่าในสมัยก่อนบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์และมีสัตว์ป่าชุกชุม อาทิ เสือ กวาง หมูป่า ช้างป่า วัวแดง  และสัตว์อื่นๆ นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ที่มีน้ำเหมาะสมในการตั้งที่อยู่อาศัยและทำการเกษตร เมื่อนายฮ้อยสามซึ่งเป็นคนไทใหญ่มาจากพม่าได้มาทำการสำรวจพื้นที่บริเวณนี้และเห็นว่ามีความอุดมสมบูรณ์ จึงได้ทำการถางพื้นที่โดยใช้ช้างในการชักลากไม้ใหญ่และปรับเปลี่ยนเป็นที่นา ปลูกสร้างกระท่อมเป็นที่อยู่อาศัย ในภายหลังได้เกิดร่องน้ำใหม่ไหลผ่าน เรียกว่า แม่น้ำแม่ละนาดังเช่นในปัจจุบัน

พื้นที่หมู่บ้านแม่ละนา เป็นที่ราบกลางหุบเขา มีพื้นที่หมู่บ้านรวมทั้งหมด 11,950 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทำนา 350 ไร่ พื้นที่ทำไร่ 421 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา มีความอุดมสมบูรณ์สูง ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอปางมะผ้า 18 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดกับ ประเทศสหภาพพม่า
  • ทิศใต้         ติดกับ บ้านบ่อไคร้ บ้านจ่าโบ่
  • ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านถ้ำลอด
  • ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านไม้อุง บ้านขางดามน้อย

ประชากรในหมู่บ้านแม่ละนาส่วนมากเป็นชาวไทใหญ่ที่อพยพมาจากประเทศพม่า พูดภาษาและแต่งกายแบบไทใหญ่ นับถือศาสนาพุทธมาแต่ครั้งอดีต เมื่อตั้งหมู่บ้านก็มีการสร้างวัดแม่ละนา ชุมชนมีอายุเก่าแก่มากกว่า 200 ปี คนที่อยู่ในปัจจุบันส่วนมากสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษดั้งเดิม และมีบางคนที่ได้อพยพมาจากประเทศพม่าระหว่างที่มีการสู้รบตามแนวชายแดน ตระกูลเก่าแก่ที่สุดในบ้านแม่ละนา คือ ตระกูลวงศ์เมือง และตระกูลวงศ์จันทร์ ปัจจุบันบ้านแม่ละนามีประชากรทั้งสิ้น 704 คน จากทั้งหมด 165 ครัวเรือน

คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ โดยมีกลุ่มทางสังคม ดังนี้

  • กลุ่มแม่บ้าน

มีการรวมกลุ่มกันในปี พ.ศ. 2517  โดยได้รับการสนับสนุนในเกิดการรวมตัวกันจากโครงการไทย - เยอรมัน ที่มีการเข้าปฏิบัติงานในบริเวณหมู่บ้านแถบนี้ เพื่อให้แม่บ้านมีงานทำ มีอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวและชุมชน และเป็นการสอนให้เกิดการทำกิจกรรมต่างๆ

  • กลุ่มการทำข้าวข้อมมือ

ได้รับการส่งเสริมจากกรมพัฒนาชุมชน ในปี พ.ศ. 2542 มีการรวมกลุ่มกันเพื่อเป็นการส่งเสริมรายได้ให้แก่ชุมชน โคยมีการรวมหุ้นกันคนละ 20 บาท ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ต้นทุนในการจัดซื้อข้าวเพื่อมาทำข้าวซ้อมมือมีราคาสูง ไม่สามารถเก็บรักษาข้าวได้นาน ไม่มีตลาดรองรับผลผลิต ทำให้การผลิตข้าวซ้อมมือไม่ประสบผถสำเร็จและทางกลุ่มยังเห็นว่าการผลิตข้าวซ้อมมือทำการลงทุนที่สูญเปล่า เพราะเมื่อไม่มีตลาดรองรับทำให้ชาวบ้านด้องนำผลผลิตที่ได้กลับมากลุ่มผู้เลี้ยงสุกรในราคาต่ำกว่าดันทุน 

  • กลุ่มผู้เลี้ยงสุกร 

มีการขัดตั้งกลุ่มจากการส่งเสริมของพัฒนาชุมชนในปี พ.ศ. 2537 มีสมาชิกทั้งหมด 32 คน เริ่มแรกมีทุน 23.250 บาท เป็นการรวมกลุ่มเพื่อกู้ยืมเงินใช้ในทางการเกพตร มีระยะเวลาการให้กู้ 1 ปี และต้องมีการหมุนเวียนกันกู้ ผู้ยืมไม่ตามารถจะกู้ดิดต่อกันได้ มีการตั้งกฎระเบียบ ดังนี้

  1. สมาชิกแม่บ้านทุกคนมีสิทธิ์กู้ยืมเงินเพื่อใช้เลี้ยงสุกรได้ทุกคน
  2. คณะกรรมการจะเปิดให้ยืมเงินเป็นงวด งวดละ 1 ปี
  3. ถ้ากรบ 1 ปี คณะกรรมการจะเรียกเก็บเงินทั้งค้นและดอกแต่ละบี
  4. ผู้ที่กุ้ยืมจะต้องมีคนค้ำประกัน 1 ราย ร. แต่ละรายสามารถกู้มได้ไม่เกินคนละ 2,000 บาท
  5. ผู้ยืมจะต้องใช้ดอกรอบหนึ่งปี 30 บาท ต่อเงินกู้ไม่จำกัดไม่เกิน 2,000 บาท

ปฏิทินการท่องเที่ยว     

มกราคม เลี้ยงศาลเจ้า ทำบุญบ้าน

กุมภาพันธ์ ประเพณีข้าวยาคู หรือข้าวเหนียวแดง

มีนาคม         ประเพณีปอยส่างลอง

เมษายน ประเพณีสงกรานต์ ข้าวมูลห่อ รดน้ำดำหัว และเล่นสะบ้า

พฤษภาคม ประเพณีปอยก่อเจดีย์ทราย ปอยหางน้ำ (ทำบ้องไฟ)

มิถุนายน ประเพณีเลี้ยงศาลเจ้า เลี้ยงผีต้นน้ำ

กรกฎาคม เข้าพรรษา

สิงหาคม เข้าพรรษา ผู้เฒ่าจำศีล และทำบุญทุกวันพระ

กันยายน ปอยต่างซอมต่อหลวง (ถวายข้าวมธุปายาตรแก่ผู้เฒ่าจำศีล)

ตุลาคม         ประเพณีออกพรรษา หรือจองพาลา

พฤศจิกายน ประเพณีดับไฟเทียน ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า

ธันวาคม ประเพณีทอดกฐิน ทอดผ้าป่า งานรื่นเริง เช่น รำนก รำโต

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนกายภาพ

  • ป่า ประกอบไปด้วย พื้นที่ป่าต้นน้ำ พื้นที่ป่าใช้สอย พื้นที่ป่าอนุรักษ์ พื้นที่เลี้ยงสัตว์
  • ถ้ำ ประกอบไปด้วย

1. ถ้ำแม่ละนา มีความยาว 12 กิโลเมตร สูง 10 เมตร กว้าง 20 เมตร เป็นถ้ำที่มีน้ำไหลผ่าน ภายในถ้ำมีน้ำตก เขียดแลว ปลาไม่มีตา หอยทาก หอยจิ๋ว ปลามุง วังค้างคาว หินงอกหินย้อย ม่านหิน มุกหิน เสาหิน เป็นสิ่งอลังการตากับผู้พบเห็น แต่ทั้งนี้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้เฉพาะในช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน เท่านั้น

2. ถ้ำปะการัง มีความยาว 600 เมตร ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อย หินไข่มุก 

3. ถ้ำเพชร มีความยาว 500 เมตร กว้าง 5 เมตร สูง 6 เมตร ภายในถ้ำมี หินม่าน หินไข่มุก เกิดจากธรรมชาติที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ ในยามที่แสงไฟตกระทบ จะเกิดแสงสะท้อนระยิบระยับเป็นที่ประทับใจของผู้พบเห็น

4. ถ้ำหินไข่มุก มีความยาว 300 เมตร กว้าง 10 เมตร สูง 15 เมตร มีหินงอกหินย้อยและหินไข่มุก

ทุนวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น

1.) วัดแม่ละนา หรือ จองแม่ละนา (ภาษาถิ่น) ถูกสร้างขึ้นในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2424 โดยประมาณ โดยเกิดจากการร่วมมือกันของผู้คนในหมู่บ้าน (ชาวไทใหญ่) ในพื้นที่แม่ละนา ซึ่งได้นำวัสดุทางธรรมชาติที่ใช้สอยในชีวิตประจำวันและมีอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก เช่น ต้นสัก หญ้าแพรก หญ้าคา ฯลฯ นำมาสร้างเป็น ศาสนสถาน โดยได้เริ่มมีการก่อสร้างในเขตพุทธาวาสเป็นลำดับแรก โดยหันไปในทางทิศตะวันออก ต่อมาภายหลังจากจึงได้สร้างพื้นที่เขตสังฆาวาส และพื้นที่ใช้สอยอื่น ๆ เพิ่มเติมตามลำดับ โดยวัดแม่ละนา ถือได้ว่าเป็นวัดที่มีความโดดเด่นและมีความสำคัญอย่างมากในอำเภอปางมะผ้า จึงทำให้ได้รับความสนใจจากชาวบ้านในพื้นที่เป็นจำนวนมาก โดยอุปกรณ์หรือวัสดุต่าง ๆ ภายในวัดนั้น ได้มาจากการบริจาคสิ่งของเครื่องใช้ จากชาวบ้านในพื้นที่รวมถึงผู้ที่มาทำบุญจากต่างอำเภอหรือต่างจังหวัด ตลอดจนการได้รับความสนับสนุน การบำรุงรักษาเรื่อยมาตั้งแต่มีเริ่มมีการก่อสร้างวัด และทุก ๆ วันสำคัญทางพุทธศาสนา (อ้างอิงตามปฏิทิน) ชาวบ้านในพื้นที่จะมารวมตัวกันเพื่อทำบุญ และจัดกิจกรรมงานบุญอยู่สม่ำเสมอในทุก ๆ ปี

2.) จองหรืออุโบสถ มีความงดงามในส่วนของชั้นหลังคาอย่างมาก เป็นอาคารขนาดใหญ่ ยกฐานสูงเป็นอาคารเครื่องไม้ที่มีหลังคาสลับซับซ้อน ตรงตำแหน่งแกนกลางของหลังคาซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกันกับที่ตั้งพระพุทธรูปประธานจะมีลักษณะคล้ายกับปราสาทยอด หรือเรือนยอดในศิลปะพม่า เรียกว่า “ปญาธาตุ” โดยเป็นชั้นซ้อนขนาดลดหลั่นขึ้นไปจำนวน 4 ชั้น มีการฉลุลายลายกนกทั้ง 4 ทิศ (ปานซอย) คั่นด้วยฐานสี่เหลี่ยม เทินรับยอดฉัตรทองที่มีการยกสูงเป็นพิเศษ ซึ่งถือได้ว่ารูปแบบสถาปัตยกรรมดังกล่าวเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะไทใหญ่

3.) พระพุทธรูปแกะสลักที่ทำจากไม้สักทองอายุราว 250 – 300 ปี จำนวน 3 องค์ ซึ่งประกอบด้วย

พระบัวเข็ม (พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเพชร แสดงปางมารวิชัย)

พระกริ่งกะลา (พระพุทธรูปประทับยืน แสดงปางเปิดโลก)

พระปานปอง (พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเพชรบนฐานสีแดงที่มีอักษรไทใหญ่สลัก แสดงปางมารวิชัย)

4. ภาพวาดทศชาติชาดกของพระพุทธเจ้า โดยเป็นฝีมือของช่างไทใหญ่ภายในหมู่บ้าน

ทุนทางธรรมชาติ

1.) ถ้ำแม่ละนา

เป็นถ้ำที่เที่ยวได้ในช่วงฤดูแล้งอย่างเดียวประมาณ เดือนมกราคม ถึง เมษายน เนื่องจากเป็นถ้ำที่มีน้ำแม่ละนาไหลผ่านเข้ามา ดังนั้นในช่วงฤดูฝนจะมีน้ำท่วมสูงไม่ปลอดภัยในการเที่ยวชม ถึงแม้ในช่วงฤดูแล้งก็ยังมีบางจุดที่ต้องลุยน้ำที่ค่อนข้างสูง หรือต้องลอยคอไป การท่องเที่ยวถ้ำ แม่ละนาต้องแจ้งกับคนในพื้นที่แม่ละนา และมีไกด์ท้องถิ่นไปด้วย เนื่องจากต้องมีอุปกรณ์ส่องสว่างให้พอเพียง และภายในถ้ำ มีเส้นทางคดเคี้ยว การท่องเที่ยวถ้ำสามารถทำ ได้ 2 วิธีคือ หากต้องการเดินให้ทะลุถ้ำ ปัจจุบันนี้ ไกด์ท้องถิ่น จะพานั่งรถกระบะ มาจากบ้านแม่ละนาและมาลงถ้ำ บริเวณใกล้กับถนนปาย-แม่ฮ่องสอน ก่อนถึงบ้านลุกข้าวหลาม และจากบริเวณที่จอดรถเดินลงเขาไปประมาณ 15 นาที ก็จะถึงปากทางลงถ้ำ ซึ่งบริเวณนี้ในอดีตจะใช้เป็นทางออกจากถ้ำ แต่ปัจจุบันไกด์ท้องถิ่นคิดว่า หากเดินท่องเที่ยวถ้ำ ทั้งวันและช่วงที่จะออกจากถ้ำ ยังต้องเดินขึ้นภูเขาอีกนักท่องเที่ยวจะเหนื่อยมาก จึงได้เปลี่ยนแปลงเส้นทางเที่ยวชม หรือหากนักท่องเที่ยต้องการเที่ยวชม เพียงครึ่งวัน ไกด์ท้องถิ่นก็จะพาเข้าถ้ำ จากทางบ้านแม่ละนาและเดิน ลุยมาตามทางน้ำไหล จนมาถึงบริเวณน้ำตกใหญ่กลางถ้ำ ก็จะแวะชมที่จุดนี้และใช้เส้นทางเดิมเดินย้อนกลับมาออกทางปากถ้ำ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

บุษบา กนกศิลปธรรมปวินนา เพ็ชรล้วนจิรัสสา คชชาชีวะนุชนภางค์ ชุมดี และศุภพร สุวรรณภักดี. (2565). รายงานการวิจัยการยกระดับมรดกวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน. กรุงเทพฯ: หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.).

แม่ละนา. (2560). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://phoenixtourblog.wordpress.com/mae-rana/

สุภาวดี มีสิทธิ์. (2545). วิจัยเชิงปฎิบัติการเพื่อเพิ่มพูนขีดความสามารถองค์กรชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน. (รายงานวิจัย). ม.ป.ท.: ม.ป.พ.

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) (2565). คู่มือการท่องเที่ยวมรดกธรรมชาติ จังหวัดแม่ฮ่องสอน. คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล: นครปฐม.