Advance search

เป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูง และมีการดํารงไว้ของลักษณะเด่นต่างๆทางชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน

แม่ฟ้าหลวง
แม่ฟ้าหลวง
เชียงราย
ปรายฟ้า ตั้งจิตติวัฒนา
5 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
11 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 มิ.ย. 2023
บ้านห้วยน้ำขุ่น

ชื่อเดิมของบ้านห้วยน้ำขุ่น คือ บ้านใหม่สูง สาเหตุที่ทำให้เปลี่ยนชื่อมาเป็นห้วยน้ำขุ่นเพราะในฤดูฝนถ้าฝนตกมาน้ำที่ไหลลงตามเส้นทางและไหลผ่านหมู่บ้านมีลักษณะขุ่นแดงตลอดปีจึงเรียกชื่อหมู่บ้านไปตามลักษณะธรรมชาติสิ่งแวดล้อมของหมู่บ้านซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็นห้วยน้ำขุ่นจนถึงปัจจุบัน


ชุมชนชาติพันธุ์

เป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูง และมีการดํารงไว้ของลักษณะเด่นต่างๆทางชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน

แม่ฟ้าหลวง
แม่ฟ้าหลวง
เชียงราย
57240
20.26339512
99.83244119
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ฟ้าหลวง

เมื่อประมาณ พ.ศ.2480 บ้านห้วยน้ำขุ่นได้กลายเป็นสถานที่ตั้งของกองกำลังกู้ชาติไต โดยการนำของเจ้างาคำ ซึ่งเป็นหัวหน้ากองกำลังกู้ชาติไต หรือไทยใหญ่ โดยใช้ชื่อว่า "กองกำลังหนุ่มศึกหาญ" (shan nation army the shan states) เป็นกองกำลังซึ่งแตกกระจัดกระจายจากการที่ถูกกองกำลังทหารพม่าเข้าทำการปราบปรามเมื่อครั้งที่อยู่ในเขตประเทศพม่า แล้วได้มารวมตัวกันก่อตั้งกองกำลังกู้ชาติไต ณ บริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำแม่ไร่ในปัจจุบัน

ผู้เข้าร่วมกองกำลังกู้ชาติไตส่วนมากมาจากชายฉกรรจ์สมัครเข้าร่วมขบวนการกู้ชาติ เจ้างาคำได้เปิดเผยภายหลังว่าตนเป็นนักบวช เป็นผู้นำกองทัพโดยใช้เสื้อผ้าธรรมดาสวมทับไว้ เจ้างาคำได้ทำหน้าที่ควบคุมดูแลกองทัพ และวางแผนออกคำสั่งในการสู้รบ ได้เริ่มก่อสร้างวัดเมื่อ พ.ศ. 2480 และในเวลาต่อมาเจ้างาคำได้ถูกลอบสังหารบริเวณบ้านห้วยไคร้ ถึงแก่ชีวิตในวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2508 และได้สืบทราบภายหลังว่าผู้ที่ลอบสังหารเป็นไส้ศึกที่ถูกส่งมาสอดแนมจากประเทศพม่า มีชื่อว่า “ซาปาเตง” ดังนั้นจึงมีเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มผู้นำของขบวนการกู้ชาติไต ทำให้มีการแบ่งเป็นกลุ่มๆ กระจัดกระจายแยกย้ายไปตามพื้นที่ต่างๆ เช่น แม่สาย สันกอง ห้วยข้าวหลาม ห้วยไคร้ เชียงแสน และมีบางกลุ่มที่นำพรรคพวกกลับไปประเทศพม่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2509 เป็นต้นมา มีผู้เข้าร่วมขบวนการซึ่งรักความสงบและไม่ยอมโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่อื่น จึงได้รวมกลุ่มกันอยู่ที่บ้านน้ำขุ่น โดยการนำของนายอ่องเมือง คำแป่ ซึ่งเป็นพี่เขยของเจ้างาคำ และมีภรรยาชื่อนางบัว คำแป่ โดยสร้างบ้านกระจายกันอยู่บริเวณตั้งแต่หน้าวัดบ้านห้วยน้ำขุ่น จนถึงอ่างเก็บน้ำ จำนวน 5-6 หลังคาเรือน

ต่อมาได้มีญาติพี่น้องอพยพเข้ามาอยู่รวมกันอีก 27 หลังคาเรือน โดยมีพ่อเฒ่าคำเฮือง สุพรรณ เป็นผู้นำ นอกจากนี้ยังมีบุคคลสำคัญที่ช่วยในการพัฒนาหมู่บ้าน 2 ท่าน คือ เจ้าเครือเสือ และเจ้าหาญเสือเย็น โดยเจ้าเครือเสือช่วยในด้านการศึกษา สร้างโรงเรียนให้ความรู้สอนภาษาในชุมชน ส่วนเจ้าหาญเสือเย็นได้บริหารหมู่บ้านสร้างชุมชนและประสานงานในด้านต่างๆ ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2510 ได้มีกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะมาขออาศัยอยู่ด้วย โดยการนำของพ่อเฒ่าตาสี ศรีใส และมีนายใส่แก้ว ศรีใส (บุตรบุญธรรมของพ่อเฒ่าตาสี) เป็นทหารไต้หวัน หรืออดีตทหารจีนคณะชาติ ฝ่ายสื่อสารและการข่าว เป็นหัวหน้าชุดทหารไต้หวันคุมกำลังพลอยู่จำนวนหนึ่ง ทหารส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ ได้รับค่าตอบแทนจากรัฐบาลไต้หวันในการเคลื่อนไหวหาข่าวในประเทศต่างๆ และเป็นผู้ที่นำพาชักชวนและรับรองให้ชาวลัวะเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกัน  เป็นเหตุผลที่เกรงว่าหากปฏิเสธไม่ให้เข้ามาอาศัยอยู่ด้วยอาจจะทำให้กองกำลังดังกล่าวกลับไปร่วมกับฝ่ายตรงข้าม จึงเป็นผลให้กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะได้อาศัยอยู่ร่วมกันมาจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันบ้านห้วยน้ำขุ่น เป็นหมู่ที่ 1 ตําบลแม่ฟ้าหลวง อําเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย มีระยะทางห่างจากถนนพหลโยธินเข้ามาหมู่บ้านประมาณ 3 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 นาที โดยรถยนต์มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 504 เมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดกับ บ้านห้วยไร่สามัคคี และบ้านปางดอก
  • ทิศใต้         ติดกับ บ้านป่าเปา
  • ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านสันกอง
  • ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านป่าคา

ลักษณะของผู้คน 

เมื่อสังเกตผู้คนที่เดินไปมาตามถนนโดยเฉพาะยามเช้าและยามเย็น จากการแต่งกายของผู้สูงวัยที่ยังคงเอกลักษณ์ไว้ ผู้หญิงที่ยังคงสวมผ้าถุง นิยมโพกหัวด้วยผ้าสีขาว ถ้ามีรูปร่างท้วม เตี้ย ผิวคล้ำ สันนิษฐานได้ว่าเป็นชาวลัวะ แต่ถ้าผิวขาวสูงโปร่ง พอคาดเคาได้ว่าถ้าไม่เป็นคนไทยใหญ่      ก็เป็นคนไทยลื้อ เนื่องจาก 2 ชาติพันธุ์นี้มีรูปลักษณ์และสำเนียงภายาที่คล้ายคลึงกันมาก

ลักษณะของชุมชน

ภายในหมู่บ้านจะมีซอยขนาดเล็ก ถนนในซอยเทคอนกรีตขนาคความกว้างประมาณ 2.5 เมตร พอให้รถยนต์ผ่านได้ที่ละคัน มีบางซอยที่รถยนต์ไม่สามารถเข้าไปได้ใช้ได้เพียงรถจักรยานหรือรถจักรยานยนต์เท่านั้น หน้าปากซอยจะมีเสาปูนด้านหนึ่งจะเขียนหมายเลขประจำซอยด้วยสีแดง ลายมือที่เขียนพออ่านได้ติดไว้ให้ทราบ บางซอยก็มีชื่อซอยเขียนติดแผ่นกระดานไม้ตอกไว้ตามต้นไม้บอกให้ทราบเช่นกัน ที่น่าสังเกตคือทุกซอยจะเป็นซอยตันไม่มีทางทะลุออกเนื่องจากสภาพของหมู่บ้านโอบล้อมด้วยเนินเขาทั้ง 2 ด้าน สุดซอยจึงเป็นเนินเขา

ลักษณะของบ้านเรือน 

ลักษณะของบ้านเรือนจะปลูกติดกันเรียงรายไปตามถนนเส้นผ่านหมู่บ้านและในซอยต่างๆ เนื่องจากพื้นที่ไม่สามารถขยายออกไปได้ ในขณะที่จำนวนคนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บางบ้านก็มีรั้วรอบขอบชิดบอกเขตแคนและเพื่อความปลอดภัยแต่บางบ้านก็ปลูกอยู่ในบริเวณเดียวกันไม่มีรั้วเนื่องจากเป็นบ้านที่เป็นเครือญาติกันโครงสร้างของบ้านจะคล้ายๆ กันคือปลูกแบบถาวรก่ออิฐถือปูนชั้นเดียวแบบง่ายๆ เป็นส่วนใหญ่ บางบ้านปลูกแบบ 2 ชั้นบอกถึงฐานะความเป็นอยู่ของเจ้าของบ้าน บ้านไม้มุงคาแบบเดิมมีหลงเหลือให้เห็นน้อยมาก บ้านที่มีฐานะดีบางหลังจะติดจานรับสัญญาณดาวเทียมไว้บนหลังคาบ้านเนื่องจากสภาพในหุบเขาทำให้รับสัญญาณโทรทัศน์ได้ไม่ดี เสาอากาศธรรมดารับสัญญาณได้เพียงบางช่องและภาพก็ไม่ชัดด้วย

ลักษณะภูมิอากาศ 

ภูมิอากาศเป็นแบบมรสุม มี 3 ฤดู ลักษณะพื้นที่ที่เป็นหุบเขาทำให้ค่อนข้างเย็น-ชื้น ในฤดูหนาวอากาศค่อนข้างหนาวจัด ในฤดูร้อนค่อนข้างจะเย็นสบาย เพราะช่วงเวลาบ่ายคล้อยแสงอาทิตย์จะถูกภูเขาบดบังทำให้เกิดความร่มเย็น บ้านที่อยู่ใกล้เชิงเขาจึงอยู่ในร่มเงาตถอดเวลา ฤดูฝนจะมี  ลมแรงฝนตกชุกบางครั้งทำให้น้ำหลากไหลเอ่อจากลำเหมืองของชุมชน และไหลตามถนนที่ลาดเอียงตามสภาพพื้นที่เข้าไปท่วมบ้านเรือนของชาวบ้านที่ตั้งอยู่ในที่ลุ่มแต่น้ำไม่ท่วมขังนานเพราะพื้นที่ลาดเอียงทำให้น้ำไหลลงแห้งเร็ว

ประชากรมีจำนวนทั้งสิ้น 488 หลังคาเรือน จำนวน 756 ครอบครัว แบ่งเป็นชาย 1,413 คน หญิง 1,565 คน รวมทั้งสิ้น 2,978 คน มีราษฎรได้รับสัญชาติไทย 25.18 % และที่ยังไม่ได้สัญชาติไทย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มไทยใหญ่ ซึ่งตามกฎหมายยังไม่เปิดโอกาสให้สามารถยื่นขอสัญชาติไทยได้ ประชากรส่วนใหญ่มาจากเผ่าไทใหญ่ 50.17% เผ่าลัวะ 28.01% เผาไทลื้อ 14.74% ส่วนที่เหลือเป็นเผ่าอื่นๆ เช่น อาข่า ลาหู่ จีน และลีซู เป็นต้น

ไทลื้อ, ไทใหญ่, ลัวะ (มัล, ปรัย), ลัวะ (ละเวือะ), ลาหู่, ลีซู

ก่อนโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เข้ามา ราษฎรส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างนอกพื้นที่ทําการเกษตรเป็นบางส่วน เนื่องจากพื้นที่ทํากินน้อย ปัจจุบันทางโครงการมีการจัดระบบพื้นที่อยูอาศัย และพื้นที่ทํากิน ประกอบกับการจัดตั้งโรงงานต่างๆ หลายแห่งในเขตพื้นที่ บริเวณพื้นที่ 52 ไร่ ซึ่งอยูใกล้หมู่บ้าน ดังนั้นปัจจุบันราษฎรจึงมีรายได้เพิ่มมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีภายในครอบครัวมีการกระจายแรงงานออกทํางานตามหน่วยงานต่างๆ ในเขตพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ

วิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชนเป็นไปแบบเรียบง่าย ตลาดเช้าจะเริ่มตั้งแต่เวลา 04.00 น. จะเริ่มมีแม่ค้าซึ่งทำอาหารสำเร็จรูปมาจำหน่าย โดยมีลูกค้าคือผู้ที่ต้องออกไปทำงานรับจ้างแรงงานมาแวะซื้อเพื่อห่อไปเป็นอาหารเข้ารวมถึงมื้อกลางวันด้วย และจะมีพ่อค้ารับช่วงต่อโดยมาซื้อกับข้าวสำเร็จไปขายตามหมู่บ้านชาวเขาที่อยู่ถัดไป เป็นการอำนวยความสะดวกและได้กำไรจากการขายเพิ่มราคาอีกนิดหน่อย

เวลา 05.00 น. จะมีรถบรรทุกที่ทำโครงเหล็กรอบ 3 ด้านเข้ามารับคนงานที่ไปทำงานตามฤดูกาลเช่น คำนา ปลูกข้าว เกี่ยวข้าว ปลูกสับปะรด ในหมู่บ้านคนพื้นเมืองที่อยู่ห่างออกไป รถบรรทุกสามารถบรรจุคนงานที่ยืนไปได้ถึงเที่ยวละ 30-40 คน

พอฟ้าสาง 06.00 น. โดยประมาณ ยกเว้นในช่วงฤดูหนาวที่จะยังคงมืดอยู่ในช่วงเวลานี้ก็จะสายไปบ้าง ที่เป็นศูนย์รวมของชาวบ้านก็คือตลาด ยกว้นวันศึลหรือวันพระ คนจะไปที่วัดกันเป็นส่วนใหญ่ ชาวบ้านจะมาตลาดกันทั้งเดินมา หรือบางคนก็ใช้รถจักรยาน หรือจักรยานยนต์มากัน     เพื่อมาจับจ่ายซื้ออาหารทั้งสำเร็จหรือไม่ก็เลือกอาหารสดนำไปประกอบอาหารเอง บางคนมาตลาดทั้งเช้าทั้งเย็นวันละ 2 รอบ แต่บางคนก็จะชอบมาตลาดเย็นเพราะจะได้ผักที่สดกว่า เนื่องจากแม่ค้าเพิ่งจะซื้อหรือเพิ่งเก็บมาใหม่ๆ มาจากสวน ถ้าขายไม่หมดสวนก็จะนำมาขายในตอนเช้า

ประมาณ 07.00 น. จะมีพระภิกษุ หรือสามเณร ออกมาบิณฑบาตในหมู่บ้าน ไปตามซอยต่างๆ สุดท้ายจะมาที่ตลาด ซึ่งจะมีชาวบ้าน และแม่ค้ารอใส่บาตรกันค่อนข้างมาก จนบางครั้งแม่ค้าต้องนำถุงหิ้วมาให้พระท่านบรรจุอาหารที่ใส่บาตรไม่พอ แล้วพระท่านก็จะถือกลับไปเองเพราะไม่มีลูกศิษย์วัดออกบิณทบาตด้วย

ในช่วงเวลาระหว่าง 07.00 น. - 08.30 น. เป็นช่วงเวลาเร่งด่วนของชุมชนก็ว่าได้เพราะนักเรียนจะรีบไปโรงเรียน รถรับส่งนักเรียนที่เป็นรถตู้ดัดแปลงรับเด็กได้เกือบ 35 คน ก็จะเข้ามารับนักเรียนที่ไปเรียนในโรงเรียนประจำตำบลถัดไป ที่ไปเรียนไกลที่สุดก็คือในตัวเมืองเชียงรายซึ่งต้องออกจากบ้านแต่เช้ามืด ส่วนรถรับส่งเด็กอนุบาล หรือเด็กเล็กจะมาสายกว่านิดหน่อยเพราะอยู่ในชุมชน รถที่ใช้เป็นรถบรรทุกดัดแปลงมีโครงหลังคา เบาะนั่ง 3 แถว บนรถจะมีเสียงเด็กส่งเสียงคุยกันดัง บางครั้งก็มีเสียงร้องไห้ของเด็กบางคนที่ไม่อยากไปโรงเรียน ผู้ปกครองบางท่านก็จะนำ   บุตรหลานตัวเล็กมารอหน้าปากซอยหรือหน้าบ้านเพื่อส่งขึ้นรถ ช่วงเวลาเดียวกันนี้คนทำงานรับจ้างก็รีบไปทำงานของตน จะเป็นคนงานในโครงการพัฒนาดอยตุงเป็นส่วนใหญ่ และยังมีรถวิ่งจำนวนมากเป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐที่ทำงานในอำเภอแม่ฟ้าหลวง หรือหน่วยงานต่างๆ  ที่อยู่บนดอยตุง

เวลา 09.00 น. - 15.00 น.เป็นเวลาที่ค่อนข้างเงียบ ผู้ที่ไม่ออกไปทำงานรับจ้างที่อื่นซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้สูงวัย จะอยู่ในบ้าน ซักผ้า ทำความสะอาดบ้าน บางคนก็ทำไม้กวาดซึ่งเป็นอาชีพของตนที่บ้าน บางคนก็ออกไปหาฟืนตามดอยใกล้บ้าน จึงเป็นเวลาที่ชุมชนจะสงบเงียบ บางบ้านจะปิดไว้เพราะไม่มีใครอยู่

15.00 น.-จนถึงเวลาเย็น เหตุการณ์จะคล้ายกับตอนเช้า เพียงแต่เปลี่ยนจากการออกไปเป็นการกลับเข้ามาของคนในชุมชน แต่ละบ้านก็จะรอสมาชิกกลับมา เพื่อทานอาหารเย็นและทำกิจกรรมในครอบครัวร่วมกัน รถราวิ่งพลุกพล่านอีกครั้งจากการกลับออกไปของผู้ที่ทำงานบนดอยตุง นักเรียนจะกลับมาบ้านเป็นช่วงเวลาที่เด็กเล็กมีความสุขเป็นพิเศษเพราะหลังจากเอากระเป๋าเก็บแล้วบางคนยังอยู่ในชุดนักเรียนจะมาเล่นตามลานหน้าบ้าน เป็นกีฬาพื้นบ้านทั่วไป รอจนผู้ปกครองทำกับข้าวมื้อเย็นเสร็จก็จะมาตามหรือเรียกกลับไปอาบน้ำ ทานอาหารเย็น ส่วนเด็กวัยรุ่นชายก็จะชวนกันไปเล่นฟุตบอล แต่ก่อนจะเล่นตรงลานกว้างซึ่งเป็นที่จอดรถของตลาดในปัจจุบัน หรือบางทีก็ไปเล่นตามสนามของโรงเรียน เด็กวัยรุ่นหญิงจะช่วยงานบ้าน ไปตลาดเตรียมอาหารเย็น ดูแลน้องหรือหลานที่อายุน้อยในบ้าน ไม่ค่อยออกไปไหน

ช่วงหัวต่ำจะเป็นเวลาพักผ่อน ผู้ใหญ่บางคนจะออกมาเดินเล่นตามถนนหลังจากทานอาหารเย็นแล้ว บางทีก็จะมีการจับกลุ่ม 3-4 คน คุยกันเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันมีทั้งเรื่องราวข่าวคราวต่างๆ ที่ได้ยินมา ข่าวดังในรอบวัน หรือข่าวเกี่ยวกับรัฐบาลการบริหารบ้านเมือง

หลังจาก 21.00 น. เป็นต้นไป หมู่บ้านจะสงบงียบอีกครั้งหนึ่ง เพราะส่วนใหญ่ทุกคนจะอยู่ในบ้าน ดูโทรทัศน์ตามรายการที่ชอบ จะมีวัยรุ่นบางส่วนที่ออกไปนอกกบ้านโดยใช้รถจักรยานยนต์ไปเที่ยวกับเพื่อนๆ ตามหมู่บ้านใกล้เคียง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

  • อาหารการกิน อาหาส่วนใหญ่ปรุงจากผักต่างๆ มีน้ำพริกต่างๆ เป็นน้ำพริกมะเขือเทศ น้ำพริกมะขาม น้ำพริกปลา ฯลฯ ในแต่ละมื้อชาวไทยใหญ่ยังคงนิยมทานถั่วเน่าแผ่น (ถั่วเน่าแค๊บ) ที่ทำมาจากถั่วเหลืองหมักไว้จนได้ที่แล้วนำมาตำให้ละเอียด ทำเป็นแผ่นบางๆ ตากแดดให้แห้งเก็บไว้ทานได้นาน เวลาจะนำมาปรุงอาหารจะนำไปอังไฟให้เหลืองมีกลิ่นหอมเสียก่อน จะใช้ประกอบอาหารแทบทุกชนิดจนมีคนพื้นเมืองล้อเลียนว่าเป็น "คนอร์งี้ยว" พวกอาหารไทยเหนือ อาหารไทยกลางที่มีกะทิก็ทานได้บ้างถ้าไปทานที่อื่นแต่ไม่ค่อยทำเองที่บ้าน ส่วนเด็กรุ่นใหม่จะชอบทานอาหารพื้นเมืองมากขึ้น อาหารอีกประเภทหนึ่งที่คนไทยใหญ่และคนพื้นเมืองชอบทาน เห็นได้จากมีแม่ค้านั่งขายตามเพิงข้างทาง ได้แก่ ข้าวแลงเฟิน หรือบางคนเรียกข้าวแรมคืน ทำจากแป้งข้าวจ้าวนำมากวนใส่น้ำปูนใสลงไปแล้วทิ้งไว้ข้ามคืนจะทำให้แข็งตัวเป็นก้อนตามรูปทรงภาชนะ เวลาจะทานก็นำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กปรุงด้วยน้ำมะเขือเทศต้ม งาดำ ถั่วลิสงคั่วบด พริกสุกต้มตำละเอียด น้ำขิง ถั่วเน่าดอง มีรสชาติเปรี้ยวนำ เป็นอาหารที่จะมีขายมากกว่าอย่างอื่น
  • การแต่งกาย ผู้สูงวัยผู้หญิงขังคงนุ่งผ้าถุง เสื้อธรรมดา มีผ้าโพกหัว ผู้ชายจะใส่กางเกงธรรมดาหรือขาก๊วย เสื้อยืดเสื้อทั่วไป เด็กวัยรุ่นก็สวมใส่ตามสมัยนิยม ปัจจุบันนี้เริ่มมีการอนุรักษ์วัฒนธรรมการแต่งกายแบบเดิมของไทยใหญ่ในแบบผ้าถุงที่ทำจากผ้าทอสีสดใส และเสื้อเอวลอย เหนือขอบผ้าถุง ฝ่าหน้าป้ายทับใช้กระดุมสอดจากผ้าชิ้นเดียวกับตัวเสื้อ ทางกลุ่มไทยใหญ่ได้ขอให้ทุกครอบครัวตัดชุดไทยใหญ่ไว้ประจำครอบครัว ครอบครัวละอย่างน้อย 1 ชุด โดยใช้ผ้าและการตัดเย็บจากร้านเดียวกันโดยช่างตัดเย็บชาวไทยใหญ่ที่อยู่ในหมู่บ้านห้วยน้ำขุ่นให้เป็นสีและแบบเดียวกันเพื่อความสวยงาม เนื่องจากมีการออกงานและไปร่วมงานต่างๆ ที่ภาครัฐจัดขึ้นบ่อยครั้ง อีกทั้งยังต้องการให้รักษาเครื่องแต่งกายของเผ่าตนไว้สืบทอดสู่ลูกหลานต่อไปด้วย
  • ศิลปะการแสดง สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่สังเกตได้จากการเข้าไปในพื้นที่หมู่บ้านห้วยน้ำขุ่นก็ คือ เพลงไทยใหญ่ที่มีแทบทุกบ้าน นักร้องยอดนิยม คือ จาย สาย มาว นักร้องยอดนิยมของชาวไทยใหญ่ที่ร้องเพลงได้ไพเราะจับใจ บางเพลงก็นำทำนองจังหวะคนตรีที่เป็นที่นิยมทั้งไทยและต่างประเทศมาเปลี่ยนเนื้อร้องเป็นภาษาไทยใหญ่ให้ทันสมัย จัดทำเป็นทั้งเทปและชีดีจำหน่าย ส่วนศิลปะด้านการแสดงจะมีรำวงไทยใหญ่ รำนกกระโตน ที่จะใช้แสดงในวันสำคัญต่างๆ โดยมีผู้สูงอายุที่มีทักษะความสามารถได้ร่วมกันถ่ายทอดเพื่ออนุรักษ์มิให้สูญหาย มีการสอนให้ เด็กรุ่นใหม่ที่สนใจได้ฝึกหัดการร่ายรำ ทำให้เด็กๆ หลายคนมีความสามารถรำได้อย่างสวยงาม
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชุมชนบ้านห้วยน้ำขุ่น. (2562). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: http://https://www.thailocalwisdom.com/index.php/commun/north/item/126-2019-06-08-07-31-02

บ้านห้วยน้ำขุ่น จ.เชียงราย. (2565). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: http://https://communityarchive.sac.or.th/community/BanHuaiNamKhun

พลวัฒ ประพัฒน์ทอง. (2550). รายงานวิจัยบทบาทและพิธีกรรมของการทำนายที่มีต่อการดำรงชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะในหมู่บ้านห้วยน้ำขุ่น อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย. สํานักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม