มีการรวบรวมประวัติความเป็นมาของชาวไทลื้อเชียงคำที่ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้ออันเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ศูนย์ทอผ้า อาหาร และบ้านดั้งเดิม (เฮินลื้อ) ของชาวไทลื้อ
มีการรวบรวมประวัติความเป็นมาของชาวไทลื้อเชียงคำที่ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้ออันเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ศูนย์ทอผ้า อาหาร และบ้านดั้งเดิม (เฮินลื้อ) ของชาวไทลื้อ
ชุมชนไทลื้อเมืองมาง เมืองหย่วน อยู่ที่ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เป็นชาวไทลื้อกลุ่มหนึ่งมีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแถบสิบสองปันนาของจีนมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น คือ มีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ เช่น การแต่งกาย ศิลปะ และประเพณีต่างๆ ไทลื้อเชียงคำอพยพมาจากเมืองพง เมืองหย่วน เมืองมาง เมืองยั้ง เมืองเงิน เมืองเชียงคาน โดยตั้งหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านใช้ชื่อเมืองที่อยู่เดิมตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน เช่น บ้านหยวน บ้านมาง บ้านเชียงคาน บ้านล้า เป็นต้นเดิมทีไทลื้อได้อพยพมาอยู่ที่ อ.เชียงม่วน แต่ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2431 ชาวไทลื้อส่วนหนึ่งได้อพยพจากอำเภอเชียงม่วนที่อยู่นาน 15 ปี ไปตั้งถิ่นฐานที่อำเภอเชียงคำ ได้แก่ บ้านหย่วน บ้านธาตุสบแวน บ้านมาง และอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยการอพยพของชาวไทลื้อ สามารถแบ่งได้เป็นช่วงเวลาดังต่อไปนี้
ไทลื้อยุคแรก อพยพมาประมาณปี พ.ศ. 2348 โดยเจ้ากาวิละ แห่งนครเชียงใหม่ ได้ชักชวนและกวาดต้อนผู้คนที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่คล้ายกับคนไตยวน (คนเมือง) ตามนโยบาย "เก็บผักใส่ส้า เก็บข้าใส่เมือง" อพยพจากเมืองยอง มาอยู่ที่ลำพูนและเชียงใหม่
ไทลื้อยุคกลาง ประมาณปี พ.ศ. 2399 เจ้าสุริยพงศ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครน่าน ดำเนินนโยบายตามเชียงใหม่ คือ "เก็บผักใส่ส้า เก็บข้าใส่เมือง" ได้อพยพกลุ่มไทลื้อจากเมืองล้า เมืองพง เมืองมาง เมืองหย่วน มาไว้ที่เมืองน่าน เชียงม่วน เทิง และเชียงคำ
ไทลื้อยุคหลัง อพยพมาเอง เมื่อปี พ.ศ. 2494 เนื่องจากหนีภัยคอมมิวนิสต์จีน กลุ่มหลังนี้ได้เข้ามาอยู่ในเขตเวียงป่าเป้า เชียงของ และแม่อาย
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คนไทลื้อได้อพยพจากสิบสองปันนามาสู่ล้านนาไทยโดยตลอด ลักษณะเหมือนน้ำซึมบ่อทราย จนกระทั่งวัฒนธรรมประเพณีได้ผสมผสานกลมกลืนกับคนเมือง (คนล้านนา) จนแยกกันไม่ออก
ในสมัยตั้งหมู่บ้านใหม่ๆ นั้น มีหมู่บ้านไทลื้อบ้านหย่วน เป็นเพียงหมู่บ้านเดียว และต่อมามีการเพิ่มจำนวนประชากรมากขึ้นจึงได้แยกหมู่บ้านออกจากกัน ตามระเบียบของกรมการปกครอง และเพื่อให้ง่ายต่อการปกครอง อย่างไรก็ตามหมู่บ้านไทลื้อเหล่านี้ก็ยังอยู่ในบริเวณเดียวกัน และในปัจจุบันเมืองสิบสองปันนาก็ยังมีบ้านหย่วนอยู่ที่นั่น เพราะยังมีการติดต่อระหว่างชาวบ้านหย่วนในอำเภอเมืองเชียงคำ กับชาวบ้านหย่วนในเมืองสิบสองปันนา
ตำบลหยวน ตั้งอยู่ในอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ภาคเหนือของประเทศไทย มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
ทิศเหนือ ติดกับ อำเภอทิง
ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลเจดีย์คำ
ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลเชียงบาน
ทิศใต้ ติดกับ ตำบลเวียง
วิถีชีวิตแบบชาวไทลื้อที่นับถือพุทธศาสนาร่วมกับความเชื่อเรื่องผี ไทลื้อ คือ กลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลไท มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ในแคว้นสิบสอง-ปันนาทางตอนใต้ของมณฑลยูนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
ชุมชนชาวไทลื้อ มีเสน่ห์วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่โดดเด่น มีการรวบรวมประวัติความเป็นมาของชาวไทลื้อเชียงคำที่ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อ อันเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ศูนย์ทอผ้า อาหาร และบ้านดั้งเดิม (เฮินลื้อ) ของชาวไทลื้อ
ชาวไทลื้อมีอุปนิสัยรักสงบ ขยัน อดทน เป็นผู้ที่อนุรักษ์วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมไว้อย่างดี เช่น วัฒนธรรมการแต่งกาย รูปทรงบ้านเรือน อาหารการกิน เป็นต้น ศูนย์นี้จัดตั้งเพื่อแสดงผลงานทางศิลปวัฒนธรรม และฝึกอาชีพของชาวไทลื้อ โดยเฉพาะผ้าของชาวไทลื้อ ที่มีลวดลายและสีสันสดใส เช่น ลายดอกขอเครือ ลายดอกขอ ลายม้า และลายดอกตั้ง เป็นต้น
ไทลื้อกลุ่มแปรรูปผ้าทอสีธรรมชาติหมู่ที่ 2 ตำบลหย่วน
กลุ่มแปรรูปผ้าทอสีธรรมชาติ เป็นแหล่งเรียนรู้กระบวนการทำผ้าฝ้ายทอแปรรูปสีธรรมชาติ ผ้าทอธรรมชาติที่ผ่านกระบวนการของภูมิปัญญาชาวไทลื้อ มีขั้นตอนการผลิต ที่มีลักษณะพิเศษ ตั้งแต่การปลูกฝ้าย การรีดเม็ดฝ้าย การทำเส้นฝ้าย การย้อมสีธรรมชาติ การทอผ้าจากกี่ด้วยมือ สุดท้ายถึงการตัดเย็บที่ประณีต และเป็นต้นกำเนิดของชุดแต่งกายชาวไทลื้อเพียงแห่งเดียวในประเทศ ที่มีการสืบทอดภูมิปัญญาจนกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของไทลื้อเชียงคำในปัจจุบัน สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน และเป็นผลิตภัณฑ์ ที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand : CPOT)
ประเพณีตานธรรม หรือการตั้งธรรม ประเพณีแบบไทลื้อคล้ายกับประเพณีการฟังธรรมของชาวล้านนา แต่เดิมชาวไทลื้อมีการตั้งธรรมปีละ 2 ครั้ง ได้แก่ การตั้งธรรมประเพณี เดือน 9 (ลื้อ) ตรงกับฤดูเข้าพรรษา และการตั้งธรรมหลวง(ตั้งธรรมมหาปาง) เดือน 1(ลื้อ) ตรงกับประเพณียี่เป็ง(ลอยกระทง) ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับสังคมชุมชน
คณะสงฆ์อำเภอเชียงคำได้กำหนดตั้งธรรมประเพณี ปีละ 1 ครั้ง ระหว่างเดือน มกราคม-มีนาคม โดยมีวัดที่จัดประเพณีตั้งธรรมทุกปี ได้แก่ วัดหย่วน วัดแสนเมืองมา วัดดอนไชย และวัดพระธาตุสบแวน นอกนั้นอาจจะจัดหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้เป็นไปตามความพร้อมของสังคมและชุมชนเป็นสำคัญ การตั้งธรรม หรือการตานธรรม ก็คือ การแสดงพระธรรมเทศนา การเทศนาธรรม หรือการเทศน์ของพระสงฆ์นั่นเอง
ชาวไทลื้อ เชื่อว่า คนที่ตายไปแล้วยังมีความต้องการในปัจจัยสี่ เหมือนขณะมีชีวิตอยู่ทุกประการ แต่การจะได้มาซึ่งปัจจัยสี่เหล่านั้น นอกจากจะได้โดยอาศัยบุญของผู้ตายที่เคยทำไว้ขณะยังมีชีวิตอยู่แล้ว ยังอาจได้รับจากการที่ญาติพี่น้องลูกหลานอุทิศไปให้ผ่านทางพระสงฆ์ โดยเฉพาะหากได้ถวายไปพร้อมกับกัณฑ์ธรรม(กัณฑ์เทศน์) และหอผ้า (เรือนสมมุติ) คล้ายกับประเพณีกงเต๊กแบบชาวจีนนั่นเอง
การตานธรรมในงานศพจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งของชาวไทลื้อ ญาติพี่น้องจะจ้างช่างฝีมือดีมาสร้างปราสาทไม้ไผ่บุด้วยผ้าฮัมขาว (ผ้าทอพื้นเมืองสีขาว) ชาวไทลื้อเรียกว่า หอผ้า ลักษณะคล้ายกับมณฑปของชาวล้านนาทั่วไป ประดับตกแต่งด้วยตุง ผ้าเช็ดน้อย ผ้าเช็ดหลวง และดอกไม้ที่สวยงาม ภายในจะบรรจุไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับคนตาย และธนบัตรเงินตราให้มากที่สุด โดยทำไม้เสียบปักบนมะพร้าวที่ตกแต่งรูปทรงสวยงาม เรียกพร้าวสุ่ม ปัจจุบันมีการเพิ่มปัจจัยสี่ ตามความจำเป็นในสังคม เช่น ตู้เย็น ทีวี ชุดรับแขก เตาแก็ส พัดลม เตียงนอน หรือโต๊ะเก้าอี้ ฯลฯ ตามฐานะของผู้ตายและตามแต่ญาติพี่น้องจะหามาได้ ทั้งหมดนี้ถือเป็นกัณฑ์เทศน์ที่สำคัญที่สุดในงานศพของชาวไทลื้อ
การตานธรรม หรือการตั้งธรรม นิยมทำกัน 3 วัน 3 คืน นอกจากการแสดงธรรมเรื่อง พระเวชสันดรชาดก 13 กัณฑ์ ยังมีการแสดงธรรมที่สำคัญ 4 กัณฑ์ คือ พระสุตันตปิฎก พระวินัยปิฎก พระอภิธรรมปิฎก และอานิสงส์พระไตรปิฎก เมื่อถึงวันกำหนดจะตั้งธรรมทางวัดและชาวบ้าน จะสร้างหอผ้าขึ้นมาหลังหนึ่ง เพื่อให้ผู้ที่ประสงค์จะเป็นเจ้าภาพอุทิศให้คนตาย หรือบางวัดอาจเปิดโอกาสให้แต่ละเจ้าภาพสร้างเองตามใจชอบ อาจมีหลายหลังได้แต่ต้องมีความแข็งแรงพอสมควร ทั้งนี้หอผ้าหลังนั้นก็จะใช้เป็นธรรมาสน์สำหรับให้พระสงฆ์-สามเณรนั่งแสดงธรรม (อ่านธรรม)
ทุนวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น
1. ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดแสนเมืองมา หมู่ที่ 4 ตำบลหย่วน
จัดแสดงนิทรรศการพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จฯ ในพื้นที่จังหวัดพะเยา จัดแสดงโบราณวัตถุทางพระพุทธศาสนา เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิต ประจำวันของชาว ไทลื้อและชาวล้านนาในอดีต นิทรรศการองค์ความรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่น การถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
2. อุโบสถไตลื้อ วัดแสนเมืองมา หมู่ที่ 4 ตำบลหย่วน
เป็นวิหารที่มุงหลังคาด้วยไม้สร้างขึ้นตามแบบศิลปะของไทลื้อ ผสมผสานกับศิลปะของล้านนา กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.2527 มุงหลังคาด้วยไม้ 2 ชั้น ลดหลั่นกัน 2 ระดับ มุงด้วยแป้นเกล็ด ช่อฟ้าทำด้วยไม้แกะสลักเป็นรูปหงส์ หางหงส์ทำด้วยไม้แกะสลักเป็นรูปนาคคาบแก้ว หน้าบันประดับด้วยไม้ฉลุลวดลายเป็นรูปเทพพนม รายล้อมด้วยพันธุ์พฤกษา ส่วนประกอบอื่นประดับตกแต่งด้วยไม้แกะสลัก ประตูเข้าสู่อุโบสถทำเป็น 2 มุข หรือ 3 ประตู ประตูใหญ่ด้านหน้าเป็นประตูนาค มุขด้านขวาเป็นประตูเสือ มุขด้านซ้ายเป็นประตูสิงห์ เป็นสัตว์มงคลตามความเชื่อของชาวไทลื้อว่า จะคอยปกป้องคุ้มกันศาสนสถาน บนฝาผนังภายในอุโบสถ มีภาพวาดเกี่ยวกับความเป็นมา และวิถีชีวิตของชาวไทลื้อบ้านมางในอดีต พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างตามลักษณะพุทธศิลป์ของไทลื้อ
3. เรือนชาวไทลื้อเมืองมาง หมู่ที่ 4 ตำบลหย่วน
เรือนชาวไทลื้อเมืองมาง ภายในบริเวณวัดแสนเมืองมา เป็นรูปแบบอาคารเรือนไทลื้อของชาวเมืองมางในอดีต ที่แสดงลักษณะและองค์ประกอบของการสร้างเรือนไทลื้อเมืองมาง การแสดงวิถีชีวิต การทอผ้า การทำข้าวแคบ ขนมพื้นบ้านของชาวไทลื้อให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าไปศึกษา
4. หอเทวดาหลวงเมืองมา หมู่ที่ 4 ตำบลหย่วน
ชาวไทลื้อเมืองมางมีวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ โดยนับถือเทวดาหลวงเมืองมาง คือ เจ้าเมืองที่ปกครองเมืองมางในอดีต ซึ่งชาวไทลื้อให้ความเคารพยกย่องและนับถือดวงวิญญาณของเจ้าเมืองเหล่านั้น ให้เป็นเทวดาผู้ดูแลความสงบร่มเย็น และถือเป็นต้นตระกูลของชาวไทลื้อบ้านมางทั้งหมด จะมีพิธีเลี้ยงเทวดาหลวงเมืองมาง ปีละครั้ง โดยถือเอาวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 8 (ลื้อ) หรือตรงกับวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 9 เหนือ หรือวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 7 ภาคกลาง เพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ ความสามัคคีของคนในชุมชน
5. ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อวัดหย่วน หมู่ที่ 3 ตำบลหย่วน
เป็นสถานที่จัดแสดงโบราณวัตถุเครื่องใช้ทางพระพุทธศาสนา เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ที่สะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมของชาวไทลื้อและชาวล้านนาในอดีต อีกทั้งเป็นศูนย์เรียนรู้กระบวนการทำเส้นฝ้าย การทอผ้าไทลื้อ
6. เฮือนไทลื้อ บ้านแม่แสงดา หมู่ที่ 2 ตำบลหย่วน
แม่แสงดา สมฤทธิ์ ได้อนุรักษ์เฮือนไทลื้อรูปแบบสถาปัตยกรรมไทลื้อผสมล้านนา ซึ่งเป็นบ้านที่อยู่อาศัย ในปัจจุบันให้คงสภาพเดิม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้เด็ก เยาวชน และประชาชนได้เข้ามาเยี่ยมชม ศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ เครื่องมือเครื่องใช้ และการทอผ้าไทลื้อ
7. หอประวัติไทลื้อ บ้านธาตุสบแวน หมู่ที่ 1 ตำบลหย่วน
หอประวัติไทลื้อ ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดพระธาตุสบแวน มีภาพวาดที่บอกเล่าถึงความเป็นมาของชาวไทลื้อ เมืองหย่วน ที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในพื้นที่บ้านธาตุสบแวน และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ประเพณีที่สำคัญของชุมชน
8. เฮินลื้อ บ้านธาตุสบแวน หมู่ที่ 1 ตำบลหย่วน
เรือนไทลื้อ สถาปัตยกรรมแบบไทลื้อร่วมสมัยบริเวณวัดพระธาตุสบแวน เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การทอผ้า และแสดงนิทรรศการอาหารของชาวไทลื้อ
กรุงเทพธุรกิจ. (2561). ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทลื้อเมืองมาง เมืองหย่วน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://www.bangkokbiznews.com/pr-news/biz2u/248296
ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทลื้อ เมืองมาง เมืองหย่วน เชียงคำ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://smartdastaapp.dasta.or.th/place/547
ชุมชนไทลื้อเมืองมาง เมืองหย่วน จังหวัดพะเยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://www.lanna-ethnic-tourism.net/content/26844/content/26844/ชุมชนไทลื้อเมืองมาง-เมืองหย่วน-จังหวัดพะเยา-สำนัก
ศิลปะและวัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2566. เข้าถึงได้จาก: https://www.culture.cmru.ac.th/web60/learningcenter/กลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ/
สุพรรณี สงวนพัฒน์. (2547). การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนไทลื้อ ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสังคมศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร.
อิ่มเอมใจ ไหว้ทำบุญ ชมงานพุทธศิลป์ไทลื้อ “พระวัดแสนเมืองมา” เชียงคำ. (2565). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://www.chiangmainews.co.th/news/1929641/