Advance search

กราบไหว้ครูบาเจ้าชัยยะวงศา บูชาองค์พระธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย และมีผ้าลายกะเหรี่ยงโบราณ

บ้านพระบาทห้วยต้ม
นาทราย
ลี้
ลำพูน
อบต.นาทราย โทร. 0-5309-2879
ปรายฟ้า ตั้งจิตติวัฒนา
5 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
11 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 มิ.ย. 2023
บ้านพระบาทห้วยต้ม

ตำนานของหมู่บ้านเล่าว่า เมื่อครั้งพุทธกาล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดสัตว์ในสถานที่ต่าง ๆ เมื่อเสด็จมาถึงบริเวณที่เรียกว่าดอยนางนอนจอมแจ้ง มีพญาเมืองเถิน พ่อฤาษีและหมอพรานอีก 8 คน หาบเนื้อสดเดินมาพบเข้า พวกละว้าที่อยู่ในบริเวณนั้นจึงไปต้มข้าวมาถวายพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ประทับรอยพระบาทไว้ จากนั้นชาวบ้านจึงเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า "ห้วยต้มข้าว" และต่อมาเรียกเพี้ยนมาเป็น "ห้วยต้ม"


กราบไหว้ครูบาเจ้าชัยยะวงศา บูชาองค์พระธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย และมีผ้าลายกะเหรี่ยงโบราณ

บ้านพระบาทห้วยต้ม
นาทราย
ลี้
ลำพูน
51110
17.7262
98.9547
องค์การบริหารส่วนตำบลนาทราย

ชุมชนบ้านพระบาทห้วยต้ม เป็นชุมชนที่มีชาวปกาเกอะญออาศัยอยู่ เมื่อปี พ.ศ.2514 ได้อพยพมาจากบ้านแม่ตื่น อ.แม่ระมาด จ.ตาก จากนั้นก็ได้อพยพเข้ามาอยู่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่มาจากจังหวัดตาก เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน

แต่เดิมชุมชนบ้านพระบาทห้วยต้มมีชื่อว่าบ้านห้วยข้าวต้ม ซึ่งยังไม่ได้มีการตั้งเป็นหมู่บ้านแต่เป็นเพียงอาศรมอารามที่มีหลวงปู่ครูบาวงศ์จำพรรษาอยู่ โดยก่อนหน้านี้หลวงปู่ฯ ได้เดินทางธุดงค์ไปตามหมู่บ้านของชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอในแถบจังหวัดตาก จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน ทำให้มีชาวปกาเกอะญอเคารพและเลื่อมใสติดตามท่านเป็นจำนวนมาก จนเมื่อครูบาชัยยะวงศาเริ่มมาจำพรรษาที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้มก็ได้มีชาวเขาปกาเกอะญอติดตามท่านมาตั้งถิ่นฐาน ณ บ้านพระบาทห้วยต้มแห่งนี้และเริ่มกินมังสวิรัติตามครูบาชัยยะวงศาที่ได้ชี้ให้เห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์และให้คำสอนแก่ชาวปกาเกอะญอ จนทำให้ชาวปกาเกอะญอในหมู่บ้านเลิกนับถือผีมานับถือพุทธศาสนาและมีศรัทธาอันแรงกล้าจวบจนถึงปัจจุบัน ทำให้หมู่บ้านพระบาทห้วยต้มเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่มีความสงบเรียบง่าย มีวิถีชีวิตผูกพันกับพุทธศาสนาและหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหมู่บ้านอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2518

มีความเชื่อเกี่ยวกับชื่อชุมชนเป็นตำนานเรื่องเล่าที่เกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทที่นี่ซึ่งครูบาชัยยะวงศาพัฒนา ฟังมาจากครูบาชัยลังกาซึ่งเป็นพระอาจารย์องค์แรกของหลวงปู่ว่ากันว่าตั้งแต่สมัยพุทธกาล ที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดพุทธบริษัทที่นี่ มีพญาลัวะอยู่บริเวณนี้ตนหนึ่งชื่อว่า แก้วมาเมืองและพญาคนหนึ่งมาจากเมืองเถินแล้วยังมีพวกพรานเนื้อ 8 คน ไปล่าสัตว์ป่าได้เนื้อมาคนละหาบพอมาถึง บริเวณนี้ก็เจอพระพุทธเจ้า พวกพรานเนื้อกวางเนื้อไว้แล้วเข้าไปหาพระพุทธเจ้าพนมมือขึ้น และถามว่า "ท่านเป็นอะไรถึงนุ่งห่มเหลืองแบบนี้" พระพุทธเจ้าตอบว่า "เราเป็นพระพุทธเจ้า" พรานก็ถามว่า "ท่านได้ฉันอาหารแล้วหรือ" พระพุทธเจ้าตอบว่า "ยังไม่ได้ฉัน" พรานทั้ง 3 คน จึงเอาเนื้อที่หาบมาคนละชิ้นมาถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ไม่รับเพราะว่ามันเป็นเนื้อสด พรานก็หาบเอาเนื้อไปถึงห้วยแล้วพูดกันว่า "พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสด” พรานก็รีบเอาข้าวและผักไปต้มที่ข้างห้วย พอสุกแล้วก็เอามาใส่บาตรพระพุทธเจ้า สักพักพญาลัวะทั้งสองคนก็มาร่วมใส่บาตรด้วย พระพุทธเจ้าฉันข้าวต้มแล้ว ก็ได้เทศน์โปรดเมตตาให้พวกพรานเนื้อทั้ง 8 และพญาลัวะ เมื่อได้ฟังเสียงพระพุทธเจ้าเทศน์ก็รู้สึกเกิดศรัทธา พรานเนื้อทั้ง 8 และพญาลัวะก็ขอพระเกศาธาตุ ไว้เป็นที่สักการะแทนพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า "สถานที่นี้ไม่มีรูถ้าให้ไม่ได้" พรานเนื้อทั้ง 8 และพวกพญาลัวะจึงขอรอยพระบาทไว้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ที่นี่ไม่มีหิน" พวกเขาเหล่านี้จึงขออาราธนานิมนต์ ให้พระพุทธเจ้าอยู่ที่นี่ก่อนพวกข้าพระพุทธเจ้าจะไปหาหินมาให้พระพุทธเจ้าเหยียบแล้วพรานเนื้อทั้ง 8 ก็พากันไปหาหินได้มา 1 ลูก แล้วให้พระพุทธเจ้าเหยียบหินให้เป็นรอยพระบาท และขอประดิษฐานไว้ ณ ที่แห่งนี้เพื่อให้เป็นที่สักการบูชาของพุทธบริษัททั่วไป จึงเรียกพื้นที่นี้ว่า "ห้วยที่พรานต้มข้าว" และเป็น "ห้วยต้มข้าว" จนถึงปัจจุบันเรียกว่า "บ้านห้วยต้ม"

ชุมชนบ้านพระบาทห้วยต้มตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบเชิงเขา ครอบคลุมพื้นที่ 24,163 ไร่ สูงจากระดับน้ำทะเล 400-700 เมตร มีอุณหภูมิเฉลี่ย 25 องศาเซลเซียส

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

ชุมชนมีสภาพร้อนแล้ง น้ำน้อย ดินไม่ดี ป่าเสื่อมโทรม ซึ่งในช่วงแรกที่ตั้งถิ่นฐานไม่สามารถทำการเกษตรได้ แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ได้เสด็จมาเยี่ยมราษฎรและทอดพระเนตรเห็นว่า ที่นี่มีความลำบาก ชาวบ้านไม่สามารถเพาะปลูกได้ จึงรับสั่งให้สร้างอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง และทรงมีพระราชดำริให้ก่อตั้งโครงการหลวงขึ้น ซึ่งเป็นโครงการหลวงแห่งเดียวในไทยที่ตั้งอยู่บนพื้นราบ ไม่มีดอกไม้หรือต้นไม้ที่สวยงาม แต่เป็นการส่งเสริมอาชีพทอผ้าและเกษตรกร

 

ชุมชนบ้านพระบาทห้วยต้มมีประชากรทั้งหมด 11,745 คน แบ่งเป็นชาย 6,003 คน และหญิง 5,742 คน 2,558 ครัวเรือน เป็นคนชาติพันธุ์ปภาเกอะญอ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสะกอ และโพล่ง (โปว์) ที่อพยพมาจากคนละพื้นที่กัน

ชาติพันธุ์

ประวัติศาสตร์ในเรื่องการอพยพของกลุ่มชาติพันธุปกาเกอะญอเข้ามาอยู่ที่บ้านพระบาทห้วย ต้ม เริ่มแรกแต่เดิมนั้นตั้งแต่สมัยครูบาชัยยะวงศาพัฒนาได้ออกบิณฑบาตไปกับครูบาเจ้าอภิชัยขาวปีครูบาเจ้าศรี วิชัย มาที่พื้นที่พระบาทห้วยต้มแห่งนี้ ครูบาเจ้าอภิชัยขาวปีได้พูดขึ้นมาว่าพื้นที่พระบาทห้วยต้มแห่งนี้ต้องเป็นเณร น้อยมาพัฒนา และต่อมาไม่นานนักท่านครูบาชัยยะวงศาพัฒนาก็ได้มาอยู่ที่วัดนี้ และได้ไปเดินธุดงค์ตามบ้านท่าสองยาง แม่ละมาด จังหวัดตากและเห็นว่าชาวบ้านจะนับถือผี ไสยศาสตร์ไม่รู้จักพระพุทธศาสนาไม่มีผู้นำทำบุญ วิถีชีวิตโดยส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับการฆ่าสัตว์ ป่วยก็ฆ่าหมู ฆ่าไก่ บวงสรวงผี ครูบาชัยยะวงศาพัฒนาไปพบจึงเห็น ว่าเป็นบาปจึงให้เลิกการฆ่าสัตว์ จากนั้นปกาเกอะญอจากพื้นที่ดังกล่าวได้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในตัวหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา จึงได้เดินทางมาทำบุญยังวัดพระธาตุ 5 ดวง วัดผาหนาม รวมถึงวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ต่อมากลุ่มปกาเกอะญออยากย้ายตามมาอยู่กับครูบาชัยยะวงศาพัฒนาเพื่อจะได้อยู่ใกล้จึงมี การอพยพในวันที่ 2 เมษายน (เดือนแปดเหนือ) พ.ศ. 2514 ตรงกับปีกุนได้มีปกาเกอะญอจากพื้นที่อำเภอแม่ ระมาด จังหวัดตาก ใช้เวลาเดินทางเป็นเวลา 5 วัน 5 คืน ได้อพยพตามครูบาชัยยะวงศาพัฒนามาจำนวน 13 ครอบครัว แต่อยู่บ้านห้วยต้ม เพียง 3 ครอบครัว อีก 10 ครอบครัวไปอาศัยอยู่ที่สวนป่าสัก บ้านแม่เทย เพื่อรับจ้าง ทำงานหาเลี้ยงชีพ ถ้าว่างจากงานก็จะมาช่วยงานก่อสร้างที่บ้านห้วยต้ม หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา จึงได้ แต่งตั้ง 3 ครอบครัว โดยมอบหมายให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน 1 ครอบครัว และอีก 2 ครอบครัวเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน

ครูบาชัยยะวงศาพัฒนาท่านได้อบรมสั่งสอนให้คนที่มาอยู่กับท่านทุกคนให้มีการถือศีลไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ครูบาท่าน บอกว่าถ้าไม่รักษาศีล ไม่ทานมังสวิรัติ ดินแดนแห่งนี้จะไม่มีน้ำดื่ม น้ำใช้โดยช่วงแรก ๆ ที่กลุ่มชาติพันธุ์ ปกาเกอะญอเข้ามานั้น ก็ได้ขึ้นทะเบียนบ้านกับหมู่บ้านนาเลี่ยงซึ่งเป็นหมู่บ้านใกล้เคียง จากนั้นไม่นานจึงมีปกาเกอะญอเริ่มย้ายตามกันมามากขึ้นเรื่อย ๆ มีทั้งจาก อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก อำเภอออมก๋อย อำเภอดอยเต่า อำเภอฮอด ในจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอแม่สะเรียง ในจังหวัด แม่ฮ่องสอน ซึ่งก่อนหน้าที่กลุ่มชาติชาติปกาเกอะญอกลุ่มนี้จะย้ายเข้ามาในพื้นที่บ้านพระบาทห้วยต้ม หมู่ที่ 11 บ้านหนองบอน หมู่ที่ 12 บ้านหนองเกี๋ยง หมู่ที่ 21 บ้านศรีเวียงชัย หมู่ที่ 22 บ้านชัยวงศา และหมู่ที่ 23 บ้านพระ บาทพัฒนา นอกจาก 10 หมู่บ้านข้างต้นแล้วยังมีหมู่บ้านขึ้นอยู่กับหมู่ที่ 21 บ้านศรีเวียงชัย ซึ่งเป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่มีประชากรประมาณ 80 คน จำนวน 54 หลังคาเรือนนั่นคือ บ้านน้ำบ่อน้อย ที่ชาวปกาเกอะญอบางส่วนแยกตัว ออกมาตั้งเป็นชุมชนเล็ก ๆ ภายบ้านพระบาทห้วยต้ม เมื่อปี พ.ศ. 2541 ซึ่งชุมชนน้ำบ่อน้อยแห่งนี้เป็นบ้านที่คนปกาเกอะญอ อาศัยอยู่แบบวิถีชีวิตดั้งเดิมที่เคยมีมา โดยไม่ใช้ไฟฟ้าไม่ใช้น้ำประปาแต่ใช้บ่อน้ำของหมู่บ้าน ปลูกผัก สวนครัว รวมทั้งบ้านที่อาศัยอยู่ก็เป็นบ้านแบบดั้งเดิมของปกาเกอะญอ นั้นคือ เป็นบ้านไม้ไผ่มุงด้วยใบตองหรือใบคา

ปกาเกอะญอ, โพล่ง

ชาวบ้านในชุมชนบ้านพระบาทห้วยต้มประกอบอาชีพหลัก คือ เกษตรกรรม อาชีพรอง คือ หัตถกรรม ทอผ้า หล่อเครื่องเงิน 

ประเพณีตักบาตรผัก

การใส่บาตรผัก หรือ สังฆทานผัก เป็นประเพณีตักบาตรผัก/ผลไม้ ณ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน โดยจะจัดขึ้นช่วงสาย ๆ ของทุกวันพระ ในวันพระหลังจากการเสร็จสิ้นการใส่บาตรปกติด้วยอาหารมังสวิรัติในช่วงเช้าแล้ว จากนั้นในช่วงสาย ๆ เวลาประมาณ 9 โมงเช้า ชาวบ้านจะทยอยกลับเข้ามาวัดอีกครั้งเพื่อการทำสังฆทานผัก/ผลไม้ หรือการใส่บาตรผัก โดยชาวบ้านจะนำผัก/ผลไม้ ที่มีที่บ้านหรือไปหาซื้อตามท้องตลาดกลับมาด้วย เมื่อได้เวลาการทำสังฆทานผัก ชาวบ้านปกาเกอะญอ จะนำการใส่บาตรโดยเริ่มจากชายสูงอายุ/ผู้อาวุโส เพราะเป็นการให้เกียรติกันโดยเฉพาะเพศชายเพราะถือว่าเป็นผู้นำครอบครัว ตามคำสอนของครูบาวงศ์ แล้วจึงตามด้วยเพศหญิง ชาวบ้านมีการใช้สายตาในการจัดลำดับกันเองอย่างเป็นระบบระเบียบเหมือนกับการใส่บาตรปกติในช่วงเช้า โดยชาวบ้านจะนําผัก/ผลไม้ใส่ไว้ในภาชนะที่มีการนํามาวางเรียงไว้ข้างหน้าอาสน์สงฆ์แต่ละรูป พระสงฆ์จะประกอบพิธีทางศาสนา มีการเทศนาธรรม การกรวดน้ำและกราบลาพระตามลำดับ

1.ครูบาวงศ์ บุคคลสำคัญชุมชน

นามเดิมวงศ์หรือชัยวงศ์ ต๊ะแหนม เกิดที่ตำบลหันก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เกิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2456 มีพี่น้องรวม 9 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 3 ของนายน้อยจันต๊ะกับนางบัวแก้ว ครอบครัวเป็นเกษตรกรยากจนแต่มีศรัทธาในพุทธศาสนา เมื่ออายุ 12 ปี ท่านเริ่มถือมังสวิรัติ แล้วบรรพชาเป็นสามเณรโดยมีครูบาชัยลังกาเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายาว่า ชัยลังกา ตามฉายาของพระอุปัชฌาย์ ท่านยังได้ติดตามครูบาชัยลังกาออกจาริกไปที่ต่าง ๆ จนเข้าอุปสมบทที่วัดพระพุทธบาทตากผ้า โดยมีครูบาพรหมจักรเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายาว่า ชัยยะวงศา แล้วออกจาริกต่อจนได้พบชาวปกาเกอะญอ ต่อมาพวกเขาเลื่อมใสท่านมากจนหันมานับถือพุทธศาสนาย้ายมาตั้งถิ่นฐานรอบวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม รักษาศีล 5 และถือมังสวิรัติเช่นเดียวกับท่าน เมื่ออายุ 22 ปี ท่านทราบข่าวว่าครูบาศรีวิชัยนำประชาชนสร้างถนนขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ ท่านจึงพาชาวกะเหรี่ยงส่วนหนึ่งมาร่วมช่วยเหลือด้วยจนแล้วเสร็จจึงกลับไปจำพรรษาที่วัดจอมหมอก อำเภออมก๋อย ขณะนั้นฝ่ายต่อต้านครูบาศรีวิชัยซึ่งกลั่นแกล้งขัดขวางงานของครูบามาตลอด ได้ตั้งอธิกรณ์กับลูกศิษย์ครูบาแล้วบังคับให้ลาสิกขาบท รวมทั้งพระชัยยะวงศาก็ถูกเจ้าคณะตำบลจับสึก ท่านจึงเปลี่ยนมาครองผ้าขาว แต่ยังรักษาข้อวัตรภิกษุอย่างเคร่งครัดเช่นเดิม แล้วไปช่วยครูบาศรีวิชัยบูรณะวัดบ้านปางเสร็จแล้วจึงออกจาริกต่อไป จนอายุ 28 ปี ครูบาศรีวิชัยมรณภาพ ท่านช่วยงานศพแล้วมาอยู่วัดป่าพลู ได้อุปสมบทอีกครั้งโดยครูบาบุญมา วัดบ้านโฮ่ง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายาว่า จนฺทวํโส ท่านจาริกไปบูรณะวัดต่าง ๆ จนอายุ 34 ปี จึงรับนิมนต์มาบูรณะวัดพระพุทธบาทห้วยต้มแล้วจำพรรษาที่นี่ตลอดมา ครูบาวงศ์อาพาธด้วยโรคหัวใจ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จนมรณภาพเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2543

2.คุณวิมล สุขแดง ปราชญ์ชุมชน

ทุนวัฒนธรรม

1.การแต่งกาย

ที่ชุมชนแห่งนี้โดดเด่นในวัฒนธรรมการต่งกายการแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ เหมือนกับกลุ่มชาติพันธุ์โดยทั่วไป โดยผู้หญิงที่เป็นแม่บ้านนั้นจะเป็นผู้ที่ทอผ้าให้กับคนในครอบครัว ในอดีตนั้นทำเองทุกขั้นตอนตั้งแต่การปลูกฝ้าย การเลือกฝ้ายที่จะนำมาใช้ทอผ้า การปั่น การกรอฝ้ายเพื่อให้ได้เป็นเส้นด้าย การย้อมสีเส้นด้ายและขั้นตอนการทอด้วยกี่เอว จนสามารถนำมาใช้นุ่งห่มได้ ส่วนปัจจุบันนั้นจะนิยมซื้อฝ้ายสำเร็จรูปมาทอผ้ามากกว่า เพราะรวดเร็วและสะดวกกว่า ทุกวันนี้ผู้หญิงในชุมชนพระบาทห้วยต้มยังทอผ้ากันอยู่ การแต่งกายของปกาเกอะญอนั้นมีลักษณะที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่มที่บ่งบอกถึงตัวตนของพวกเขา ซึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอนั้นมีหลายกลุ่ม ได้แก่ สะกอ ตองสู้ บะแก โพล่ง (โปว์) โดยมีลักษณะการแต่งกายที่เหมือนกันแต่ลายผ้าจะต่างกันเพื่อเป็นการบอกว่าคือปกาเกอะญอเผ่าไหน ลักษณะการแต่งกายของปกาเกอะญอนั้นยังสามารถบอกถึงสถานภาพของบุคคลได้ด้วยว่าโสดหรือแต่งงานแล้ว กล่าวคือ ผู้หญิงปกาเกอะญอที่ยังไม่ได้แต่งงานนั้นจะแต่งกายด้วยชุดยาวหรือ เสื้อสีขาว ถ้าเป็นผู้หญิงที่แต่งงานแล้วนั้น จะแต่งกายด้วยเสื้อทอครึ่งตัวสีดำ แล้วจะนุ่งผ้าถุง พร้อมโพกศีรษะ จะไม่แต่งกายด้วยชุดยาวแบบผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงาน ส่วนผู้ชายปกาเกอะญอนั้น ส่วนมากจะชอบใส่เสื้อสีแดง แล้วนุ่งคู่กับกางเกงหรือผ้าซิ่นสำหรับผู้ชาย

2.วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม

วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอลี้และยังเป็นวัดประจำหมู่บ้านของชาวปาเกอะญออีกด้วย บริเวณทางเข้าวัดจะมีอนุสาวรีย์พระครูบาชัยวงศาตั้งอยู่ วัดพระพุทธบาทห้วยต้มมีบริเวณที่กว้างขวาง เป็นศาสนสถานที่สำคัญ ศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชนห้วยต้ม ภายในมีเอกลักษณ์ที่สวยงามด้วยเอกลักษณ์ล้านนา ทำจากศิลาแลงที่ขุดได้จากบ่อศิลาแลง ด้านหลังของวัด สถานที่สำคัญได้แก่ วิหารพระเมืองแก้ว ที่องค์พระธาตุได้รับการตกแต่งอย่างงดงาม เป็นสถานที่บรรจุสรีระทิพย์ของหลวงปู่ครูบาชัยวงศาพัฒนา

3.วัดมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย

ตามตำนานเล่ากันว่า ก่อนเกิดการสร้างพระมหาเจดีย์ศรีเวียงชัยที่วัดแห่งนี้ หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา ได้พบมูลโคขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในสมัยที่ทรงมาใช้ชาติเป็นโคพระโพธิสัตว์ และมูลโคนี้ได้กลายสภาพเป็นพระบรมธาตุ หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา จึงมีความตั้งใจ ที่จะสร้างพระมหาเจดีย์ครอบทับไว้ ณ สถานที่แห่งนี้ ด้วยเกรงว่าต่อไปในภายภาคหน้า หากไม่ทำอะไรสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้จะมีชาวบ้านมาสร้างบ้านเรือนเพื่ออาศัยอยู่ด้วยความไม่รู้ จึงเกิดเป็นวัดแห่งนี้ขึ้น

ลักษณะเจดีย์ใหญ่เป็นทรงระฆังคว่ำ สูงประมาณ 70 เมตร และมีเจดีย์เล็กล้อมรอบอีก 48 องค์ บัวยอดฉัตรของเจดีย์องค์ประธานนั้น เป็นทองคำบริสุทธิ์หนักถึง 25 กิโลกรัม และเนื่องจากชุมชนพระบาทห้วยต้มนั้น พื้นดินส่วนใหญ่เป็นดินศิลาแลง เป็นผลให้ตัวองค์เจดีย์นั้นได้ก่อสร้างจากศิลาแลงในชุมชนนั่นเอง มหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัยนับว่าเป็นเจดีย์ที่ก่อสร้างด้วยแรงศรัทธาจากชุมชนอย่างแท้จริง เนื่องจากใช้แรงงานของช่างและชาวบ้านซึ่งเป็นชาวปะกาเกอะญอแลกเปลี่ยนเป็นข้าวสารและเงินตราเพียงน้อยนิด เพราะทุกคนเข้ามาเพื่อตั้งใจจะทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา

กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอชุมชนพระบาทห้วยต้มนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสะกอ และกลุ่มโปว์ (โพล่ง) พูดภาษาเดียวกันแต่จะต่างกันเล็กน้อยที่สำเนียง เหมือนกับคนพื้นเมืองภาคเหนือ เช่นคนลำพูนกับคนยอง จึงสามารถสื่อสารกันได้เข้าใจโดยภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอของชุมชนพระบาทห้วยต้มนั้นจัดอยู่ในกลุ่มภาษาพม่า-ทิเบต มีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเองอย่างชัดเจน โดยตัวเขียนของภาษาปกาเกอะญอนั้นจะคล้ายๆ กับตัวอักษรพม่าและมีผสมกับอักษรโรมันเข้าไปด้วย

การใช้ภาษาเขียนในชุมชนพระบาทห้วยต้ม จากภาษาเขียนทั้งพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์และอักษรเฉพาะของปกาเกอะญอนั้น พบว่าชุมชนพระบาทห้วยต้มมีการใช้ในแทบจะทุกพื้นที่ของชุมชน เช่น ในบริเวณวัด บริเวณเจดีย์ศรีเวียงชัย ป้ายชื่อของแต่ละหมู่บ้านหรือแม้แต่ป้ายห้องน้ำ โดยจะมีป้ายเขียนกำกับไว้ ทั้งภาษาไทยและภาษาปกาเกอะญอ ในชุมชนพระบาทห้วยต้มนี้ในอดีตก่อนที่อพยพเข้ามานั้นก็มีผู้ที่สามารถเขียนภาษาปกาเกอะญอได้เพียงเล็กน้อย เนื่องจากเป็นคนบนดอยไม่มีโรงเรียน ไม่ได้เรียนหนังสือ และในปัจจุบันนี้ภาษาปกาเกอะญอได้ถูกผลักดันให้ใส่ในหลักสูตรการศึกษาของโรงเรียนพระปริยัติธรรมพระชัยวงศาพัฒนาและโรงเรียนบ้านห้วยต้มชัยยะวงศาอุปถัมภ์ แต่ว่าไม่ได้เปิดสอนทุกภาคการศึกษา จะเปิดสอนอยู่เป็นช่วงๆ ซึ่งในปัจจุบันนี้มีคนสอนภาษาปกาเกอะญอใน ชุมชนพระบาทห้วยต้มอยู่ 3 คน แต่จากการที่มีการติดต่อสื่อสารกับคนภายนอกชุมชน รวมทั้งมีการผลักดัน ทางด้านภาษาไทยมากกว่าจึงทำให้ทุกวันนี้ภาษาเขียนนั้นเริ่มหายไปจากชุมชน และเด็กรุ่นใหม่ไม่สามารถเขียนภาษาปกาเกอะญอได้ ถ้าจะเปรียบเทียบกับเด็กเหนือที่สามารถพูดภาษาเหนือได้แต่ว่าไม่สามารถเขียนภาษาล้านนาได้แล้ว ปัจจุบันมีผู้ที่สามารถเขียนและอ่านภาษาปกาเกอะญอได้เพียงไม่กี่คนเท่านั้น และเป็นคนรุ่นอายุประมาณ 40-50 ปี

ในส่วนของภาษาพูดนั้นที่ชุมชนพระบาทห้วยต้มยังคงพูดกันด้วยภาษาปกาเกอะญอ คนในชุมชนทุกคนสามารถพูดภาษาปกาเกอะญอได้ทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในวัยผู้เฒ่าผู้แก่ที่อายุระหว่าง 50-60 ปีขึ้นไป มีการใช้ภาษาปกาเกอะญออยู่ตลอดเวลาจนไม่สามารถพูดภาษาไทยภาคกลางและภาษาท้องถิ่นภาคเหนือเพื่อสื่อสารกับคนภายนอกได้ ต้องมีผู้แปลภาษาเมื่อจะสื่อสารกับคนนอกชุมชน เช่น เวลาไปโรงพยาบาล ไปทำบัตรที่อำเภอ แต่ในเด็กรุ่นเล็กๆ ที่หัดพูดก็พูดและฟังภาษาปกาเกอะญอได้เลย วัยรุ่นไปจนถึงวัยกลางคนก็สามารถพูด และเข้าใจทั้งภาษาปกาเกอะญอ  ภาษาไทยภาคกลาง และภาษาท้องถิ่นภาคเหนือได้ กล่าวได้ว่าชุมชนพระบาทห้วยต้มมีการใช้ภาษาปกาเกอะญอพูดคุยกันอยู่ตลอดเวลา รวมถึงเวลามีกิจกรรมต่างๆ ทั้งเวลาไปวัด ไปโรงเรียน เวลาซื้อขายของหรือประกาศเสียงตามสายก็จะใช้ภาษาปกาเกอะญอเป็นหลัก

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

พระบาทห้วยต้ม ชุมชนแห่งวิถีพอเพียง. (2556). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2566. https://thaiza.com/travel/

วรินทร์รัตน์ พุทธอาสน์ และเฉลิมพล คงจิตต์. (2563). คู่มือการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนให้มีศักยภาพและเป็นต้นแบบในการประกอบธุรกิจแบบมืออาชีพของผู้ประกอบการ บ้านพระบาทห้วยต้ม ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

วิถีชีวิตบ้านพระบาทห้วยต้ม. (2560). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2566. https://cbtthailand.dasta.or.th/

อบต.นาทราย โทร. 0-5309-2879